สติสัมปชัญญะเป็นสันตติธรรมนำไปสู่ปัญญา
สืบเนื่องจากปัจจุบันนี้ มีความพยายามที่จะแยกข้อธรรมที่ไม่อาจแยกเป็นสองได้ ให้แยกจากกันในทางปฏิบัติธรรม ข้อธรรมที่ว่านั้นคือ "สัมมาสมาธิ"

โดยองค์ประกอบแห่ง "สมาธิ" ตามพระพุทธวจนะคือ "สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ" จิตรวมลงเป็น "สมาธิ" จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว รู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ชัดเจนว่า "สมาธิ" ในอริยมรรค ๘ นั้น ต้องประกอบไปด้วย "ปัญญา"

ได้พยายามแยก "สัมมาสมาธิ" ออกเป็น "สมถะและวิปัสสนา" โดยเน้นให้ปฏิบัติเพียง "วิปัสสนา" เป็นหลักก็พอ เดี๋ยวสติจะเกิดขึ้นมาเอง ไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกาย เพียรเพ่งภาวนาประคองจิตของตน เพื่อเจริญสติสงบเป็นสมาธิ มีสติตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ...ซึ่งมิอาจเป็นไปได้

โดยความเป็นจริงแล้ว การพิจารณา "วิปัสสนา" เพียงอย่างเดียว เพื่อให้บรรลุผล ในทางปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อจิตของบุคคลที่ไม่สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ยังหวั่นไหวซัดส่ายไปมาอยู่นั้น ให้พิจารณารู้ทันกาย-ใจอย่างไร คงช่วยให้เกิดวิปัสสนาญาณ ที่เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" ขึ้นมาไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้พยายามแยก "สติและสัมปชัญญะ" ออกจากกัน ในทางปฏิบัติธรรมไปด้วย ทั้งที่เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน ในเมื่อ "สติและสัมปชัญญะ" นั้น เป็นข้อธรรมที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น "หนึ่งเดียว" มีพระพุทธพจน์อุปมา-อุปมัย ข้อธรรมเรื่อง "สติสัมปชัญญะ" ไว้ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน
อาศัยน้ำมันและไส้จึงโพลงอยู่ได้
เพราะสิ้นน้ำมันและไส้
ประทีปนั้นไม่มีเชื้อพึงดับไป ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน"


จากพระพุทธพจน์ พระพุทธองค์ทรงเปรียบไว้ชัดเจนว่า "สติสัมปชัญญะ" นั้น เปรียบเหมือน "ประทีปน้ำมัน มีไส้และอาศัยน้ำมัน" ซึ่งขาดจากกันไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อเราระลึกรู้ โดยไม่รู้สึกตัวนั้น ข้อนี้มิอาจเป็นไปได้ และเมื่อเรารู้สึกตัว โดยไม่ระลึกรู้อยู่ ย่อมไม่อาจเป็นไปได้อีกเช่นกัน

จากข้อธรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่า "สติสัมปชัญญะ" ก็เช่นเดียวกับ "สมถะและวิปัสสนา" สมถะและวิปัสสนาที่เป็นพระพุทธพจน์นั้น พระพุทธองค์ทรงยกเอาหมวดแห่ง "สมาธิ" ในอริยมรรคซึ่งมีองค์ประกอบรวมเป็น "สมถะและวิปัสสนา"

ส่วน "สมถะ" ที่อาจารย์บางท่านกล่าวตำหนิไว้ว่า ดูแข็งๆ ทื่อๆ ไม่มีปัญญานั้น เป็น "สมถะ" ที่ไม่ได้อยู่ในหมวดของสมาธิแห่งอริยมรรค จึงไม่ต้องกล่าวถึง "วิปัสสนา" (รู้เห็นตามความเป็นจริง) ใดๆ เลย

แม้ "สมถะ" อันมีมาก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมานั้น ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว อย่าง "รูปฌาน อรูปฌาน" ที่มีอยู่ในครั้งกระนั้น ก็ยังทำให้กิเลสของผู้ปฏิบัติเบาบางลง แต่ไม่อาจวิมุตติหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เนื่องเพราะไม่สามารถรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้

จากพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสอุปมา-อุปมัย "สติสัมปชัญญะ" เปรียบดัง "ประทีปน้ำมันมีไส้ โดยอาศัยน้ำมัน ไส้จึงโพลงอยู่ได้นั้น" ก็แสดงชัดแล้วว่า ความสว่างไสวของประทีปน้ำมัน (เปรียบดังปัญญา) ที่เกิดจากไส้และอาศัยน้ำมัน (สติ-ระลึกรู้, สัมปชัญญะ-รู้ชัด โดยต้องอาศัยความจดจ่อต่อเนื่องเนืองๆ) จนเกิดประกายไฟขึ้นมา (สัมมาสมาธิ) ให้ความสว่างไสว (คือตัวปัญญา) ฉะนั้น สัมปชัญญะจึงเป็นตัวตั้งต้นของปัญญานั่นเอง

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการเจริญสติอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่า "สัมมาสติ" ตรงตามพระพุทธวจนะของพระพุทธองค์ เป็นไปเพื่อความสงบ (สันติ) ตั้งมั่นอย่างสืบต่อเนืองๆ ไม่ขาดสาย

แล้ว "สันตติธรรม" มาเกี่ยวข้องอย่างไรกับสติสัมปชัญญะ?

"สันตติธรรม" เป็นลักษณาการของการ มีสติ (ระลึกรู้) มีสัมปชัญญะ (รู้ชัด) ที่บริบูรณ์ต่อเนื่องเนืองๆ คือระลึกรู้อยู่ที่ไหน ก็รู้ชัดลงที่นั้น ที่เรียกว่า "มหาสติ"

เมื่อนำมาพิจารณาตริตรองตามหลักเหตุผลให้เห็นตามความจริง จะเห็นความสอดคล้องระหว่าง "สติปัฏฐาน ๔ " กับ ลักษณะ 4 ประการของ "สันตติธรรม"
1. มีการเจริญอยู่ เป็นลักษณะ
2. มีการสืบต่อ เป็นกิจ
3 .มีการไม่ขาดจากกันเป็นผล
4. มีรูปที่ยังให้ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุใกล้


ลักษณะเริ่มต้นของ "สันตติธรรม" มีการเจริญอยู่เป็นลักษณะ ก็ตรงกับ "อริยมรรค" ที่เป็น "ภาเวตัพพธรรม" คือ ต้องเจริญ ต้องกระทำให้มาก โดยเฉพาะตัวสติ ที่ต้องรวมเอาสัมปชัญญะเข้าไปด้วย มีความเพียรประคองจิตให้คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ คือ มีการสืบต่อเป็นกิจ จึงจะต่อเนื่องเนืองๆ มีการไม่ขาดจากกันเป็นผล และรู้ชัด มีอารมณ์ (รูป) เป็นสภาวะธรรมที่ต่อเนื่องกันเป็นเหตุใกล้ ทำให้เกิด "ปัญญา" รู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้

"สัมปชัญญะ" เป็นตัวตั้งต้นของ "ปัญญา"
"สัมปชัญญะ" ทำให้เรารู้ว่า อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรมีสาระ อะไรไม่สาระ อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์

เป็นการรู้ชัดใน "สันตติธรรม" ที่ระลึกรู้อยู่ ต้องเจริญให้มาก เจริญให้ยิ่งๆ ขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญเป็นวสี จนเกิด "ปัญญา" รู้เห็นตามความเป็นจริง

"รู้ชัดว่า" อะไรใช่-รู้แล้ววาง อะไรไม่ใช่-รู้แล้วละ
"รู้ชัดว่า" อะไรควร-รู้แล้ววาง อะไรไม่ควร-รู้แล้วละ
"รู้ชัดว่า" อะไรมีสาระ-รู้แล้ววาง อะไรไม่มีสาระ-รู้แล้วละ
"รู้ชัดว่า" อะไรมีประโยชน์-รู้แล้ววาง อะไรไม่มีประโยชน์-รู้แล้วละ

เมื่อมี "ปัญญา" ย่อม "รู้เห็นตามความเป็นจริง" หรือ "รู้ชัดว่า" อะไรที่ "ใช่" "ควร" "มีสาระ" "มีประโยชน์" เมื่อรู้แล้ววาง แต่เมื่อต้องการใช้ก็หยิบมาใช้ได้ ใช้แล้ววาง ส่วนอะไรที่ "ไม่ใช่" "ไม่ควร" "ไม่มีสาระ" "ไม่มีประโยชน์" เมื่อรู้แล้วควรละ สละคืนเสีย

ปัญญา "รู้ชัดว่า" อุปมาดังแสงสว่าง
ส่วนสติสัมปชัญญะ อุปมาดังน้ำมันและไส้ อันเป็นองค์ประกอบของประทีป


ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดกันไปเองว่า จิตเกิดๆ ดับๆ การเปลี่ยนแปลงของจิตไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น-ดับไปแต่ละขณะ ได้อย่างรวดเร็วแบบต่อเนื่องนั้น เป็น "สันตติธรรม" ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เป็นสภาวะธรรมที่จะเกิดขึ้นร่วมกันไม่ได้เลย เพราะสภาวะธรรมที่เกิดๆ ดับๆ ของอารมณ์นั้นจะบดบังสภาวะธรรมของ "สันตติธรรม"

ท้ายสุดนี้ บทความที่เขียนขึ้นมา เพียงเพื่อเปิดธรรมทัศน์ให้กว้างขว้างมากยิ่งๆขึ้น ไม่ได้ชี้ผิดชี้ถูก โดยนำหลักเกณฑ์และเหตุผลที่ตริตรองได้ตามความเป็นจริง นำมาสอบสวนเทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ที่นำมาอ้างอิง อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ลองศึกษาทบทวนดูสักหลายๆรอบ แล้วลองนำไปสมาทานดูว่าเป็นไปตามนั้นจริงหรือไม่? สงสัยสอบถามได้ด้วยเหตุผล ที่ชวนให้ผู้ฟังนำไปปฏิบัติจริงได้ ให้เห็นผลที่เกิดขึ้น เพื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงดังนี้ สาธุ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:58:03 น.
Counter : 723 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์