4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
สงคราม 6 วัน (การปฏิบัติการปัจฉิมบท)






เย็นวันที่ 1 มิถุนายน นายพล โมเช่ ดายัน รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล เรียก นายพล ยิสฮัค ราบิน ประธานเสนาธิการทหาร (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของอิสราเอล) พร้อมกับนายทหารที่เกี่ยวข้องเข้าพบเพื่อหารือถึง
แผนการรบ

การปฏิบัติการ:
การโจมตีทางอากาศ
อิสราเอลเปิดฉากการรุกก่อน ด้วยการโจมตีกองทัพอากาศอียิปต์ ที่ถือว่าเป็นกองกำลังทางอากาศใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุด ของกลุ่มชาติอาหรับ อียิปต์มีเครื่องบินรบถึง 450 เครื่อง ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตฝ่ายอิสราเอลกังวลกับการที่ฝ่ายอียิปต์อาจจะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางแบบ Tu-16 Badger ซึ่งมีอยู่ 30 เครื่อง สามารถทำความเสียหายอย่างมากให้กับที่ตั้งทางทหารและพลเรือนของอิสราเอลได้

เวลา 07:45 (เวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 5 มิถุนายน เสียงไซเรนดังก้องขึ้นทั่วทุกท้องถิ่นของอิสราเอล กองทัพอากาศอิสราเอล เริ่มเปิดยุทธการ Focus เครื่องบินของกองทัพอิสราเอลเกือบทุกเครื่อง (รวมที่เข้าปฏิบัติการนี้ทั้งหมด 196 เครื่อง) ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า มุ่งทำลายเครื่องบินของชาติอาหรับ คงเหลือเครื่องบินขับไล่อีก 12 เครื่องเท่านั้นที่ไม่ได้ร่วมเข้าโจมตี เพราะต้องทำหน้าที่คุ้มกันน่านฟ้าของอิสราเอล ฝูงบินโจมตีของอิสราเอล ทะยานออกสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ก่อนวกกลับมาอียิปต์ ทั้งนี้เพื่อหลบระบบป้องกันภัยทางอากาศของฝ่ายอียิปต์ ที่มีอาวุธหลักคือ จรวดต่อสู้อากาศยานแบบ SA-2 ของโซเวียต ซึ่งก็ให้ประจวบเหมาะกับวันนั้น ท่านจอมพล อาเมอร์ และพลตรี ซิดกิ มาหมุด เดินทางโดยเครื่องบินไปตรวจเยี่ยมผู้บัญชาการทหารในแนวหน้าที่ประจำการเตรียมพร้อมอยู่ที่ซีนาย หน่วยต่อสู้อากาศยานจึงถูกสั่งให้ปิดระบบป้องกันภัยทางอากาศชั่วคราว เพราะเกรงว่า จะมีใครเกิดกดปุ่มจรวดยิงเครื่องบินของท่านแม่ทัพ

เมื่อใกล้ถึงเป้าหมาย เครื่องบินอิสราเอลก็บินเรี่ยพื้นเพื่อหลบเรดาร์ตรวจการณ์ของฝ่ายอียิปต์ เป้าหมายแรกเป็นฐานทัพอากาศของอียิปต์ 11 แห่ง นักบินอิสราเอลพบว่า เครื่องบินรบของอียิปต์จอดเป็นแถวอยู่บนสนามบิน โดยไม่มีที่กำบังเลย เครื่องบินของอิสราเอลประเคนอาวุธแทบทุกอย่างเข้าใส่เครื่องบินรบอียิปต์ที่จอดเป็นเป้านิ่ง ผลก็คือถูกทำลายไม่เหลือ จากนั้นนักบินอิสราเอลก็รีบนำเครื่องกลับ ใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงและติดอาวุธใหม่เพียง 7 นาที 45 วินาที แล้วก็บินขึ้นมาโจมตีระลอกที่สอง เมื่อเวลา 09:30

เป้าหมายคราวนี้เป็นฐานบินของอียิปต์อีก 14 แห่ง คราวนี้เครื่องบินอิสราเอลมีการสูญเสียบ้าง เพราะฝ่ายอียิปต์รู้ตัวแล้ว เครื่องบินอิสราเอลรีบบินกลับฐาน เติมเชื้อเพลิงและติดอาวุธอย่างรวดเร็ว และบินขึ้นมาโจมตีเที่ยวที่ 3 ต่อเมื่อเวลา ๑๒๑๕ ในคราวนี้กองกำลังฝ่ายอาหรับเริ่มตอบโต้ เครื่องบินรบของจอร์แดน ซีเรีย และอิรัค บินเข้ามาโจมตีอสราเอล ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของพลเรือน ทำให้เครื่องบินส่วนหนึ่งของอิสราเอลต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปโจมตีฐานบินของจอร์แดนและซีเรีย เครื่องบินบางส่วนบินสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นของอิสราเอล ในวันแรกของสงคราม 6 วัน กองทัพอากาศอิสราเอลสามารถครองน่านฟ้าเหนือที่ราบสูงโกลาน คาบสมุทรซีนาย และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนได้อย่างเด็ดขาด เครื่องบินของกองทัพอากาศอียิปต์ถูกทำลายเกือบหมด

ผลการโจมตีที่ดีเยี่ยมของฝ่ายอิสราเอลครั้งนี้ต้องยกให้กับการฝึกอย่างหนัก ทั้งนักบิน, ฝ่ายซ่อมบำรุงและฝ่ายสรรพาวุธของกองทัพอากาศอิสราเอล ที่ทำการฝึกอย่างหนักโดยมีเป้าหมายให้เครื่องบินของอิสราเอลสามารถบินขึ้นโจมตีเป้าหมายได้ถึง 4 เที่ยวต่อวัน ทำให้ปฎิบัติการโจมตีทางอากาศของทหารอากาศอิสราเอล สามารถทำลายเครื่องบินฝ่ายอาหรับได้ 452 เครื่อง อิสราเอลเสียเครื่องบินไป 19 เครื่อง ส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องขัดข้อง

การรบภาคพื้นดิน
ฉนวนกาซ่า และคาบสมุทรซีนาย
ที่ซีนาย มีทหารอียิปต์ประจำการอยู่ 7 กองพล ประกอบด้วย 4 กองพลยานเกราะ 2 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลทหารราบยานยนต์รวม 100,000 นาย รถถังราว 900-950 คัน ยังมีรถหุ้มเกราะลำเลียงพลอีก 1,100 คัน ปืนใหญ่อีก 1,000 กระบอก ทั้งหมดวางกำลังตั้งรับแนวลึก ตามหลักนิยมของโซเวียต ที่ให้ทหารราบคอยปะทะกับข้าศึกเป็นส่วนหน้า หน่วยยานเกราะที่มีอำนาจการยิงสูงและไกลกว่าอยู่เบื้องหลังเป็นส่วนสนับสนุน

อิสราเอลวางกำลัง 3 กองพล แบ่งเป็น 6 กรมยานเกราะ 1 กรมทหารราบ 1 กรมทหารราบยานยนต์ 3 กรมทหารพลร่ม และรถถังอีก 700 คัน รวมกำลังพลทั้งหมดราว 70,000 คน แผนของอิสราเอลคือ การโจมตีแบบที่ฝ่ายอียิปต์คาดไม่ถึงด้วยการโจมตีฐานบินของอียิปต์ พร้อมกับทางภาคพื้นดินจะโจมตีโดยเปิดแนวรุก 2 แนวคือ ด้านเหนือ และแนวกลาง อย่างที่ฝ่ายอิสราเอลเคยใช้ในสงครามปี 1956 (วิกฤติการณ์คลองสุเอซ) ส่วนกองทัพอากาศจะโจมตีแนวกลางและแนวด้านใต้ ยุทธวิธีการรบจะใช้แบบกองกำลังผสมทำการตีโอบ มากกว่าจะใช้หน่วยรถถังเข้าตีตรงๆ (ยุทธวิธีการรบตามแบบโซเวียตนั้น เป็นการประยุกต์มาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งโซเวียตถูกหน่วยรถถังของเยอรมันบุก รถถังของเยอรมันมีประสิทธิภาพสูงกว่าของโซเวียต ดังนั้นการปะทะกันระหว่างรถถังกับรถถัง โซเวียตจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จึงนำการรบร่วมระหว่างทหารราบกับรถถังมาใช้)

กองพลด้านเหนือ มีกำลัง 3 กรมยานเกราะ บัญชาการโดยพลโท อิสราเอล ทัลหนึ่งในผู้บัญชาการหน่วยยานเกราะที่มีชื่อเสียงที่สุดของอิสราเอล หน่วยยานเกราะของอิสราเอลรุกคืบหน้าไปอย่างช้า ๆ ผ่านฉนวนกาซ่าและเอล อาริซ โดยมีการต่อต้านไม่มากนัก กองพลด้านกลาง อยู่ภายใต้การบัญชาการของพลโท อัฟราฮัม ย๊อฟเฟ่ และกองพลด้านใต้ ภายใต้การบัญชาการของพลโท แอเรียล ชารอน ที่มีการปะทะอย่างหนักจากทหารอียิปต์ที่ป้องกันพื้นที่อาบู-อกีล่า-คุซไซม่า จนเรียกการรบที่แห่งนี้ว่า การยุทธ์ที่อาบู-อกีล่า (Battle of Abu-Ageila) กำลังของอียิปต์มีทหารราบ 1 กองพล (พล.ร.2) หนึ่งกรมรถถัง (๒ พัน ถ.ธ-34/85) และหนึ่งกองพันปืนโจมตีต่อต้านรถถัง(SU-100, 30 คัน) นายพล ชารอน ต้องใช้ทั้งรถถังทหารราบ และทหารพลร่ม ร่วมกันโจมตีตัดแนวป้องกันของฝ่ายอียิปต์สำเร็จ ใช้เวลา 3 วันครึ่งจึงยึดอาบู-อากีล่าได้สำเร็จ การสูญเสียอาบู-อากีล่า ทำให้ท่านจอมพล อับเดล ฮาคิม อาเมอร์ รัฐมนตรีกลาโหม ค่อนข้างปริวิตก แม้ว่าหน่วยทหารบางหน่วยจะยังคงอยู่ในที่ตั้ง และยังไม่มีการปะทะกับทหารของอิสราเอล แต่ท่านจอมพล ก็สั่งการให้ทหารอียิปต์ทีเหลืออยู่ในซีนายถอนกำลังมาตั้งแนวรับใหม่ ทางฝั่งตะวันตกของคลองสุเอซ กองบัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอลตัดสินใจไม่ไล่ติดตามทหารอียิปต์ที่กำลังถอย แต่จะอ้อมไปดักที่ช่องเขาทางตะวันตกของซีนายที่เป็นทางผ่านสู่คลองสุเอซ

2 วันต่อมา กองพลทั้งสามกองพลของอิสราเอล (กองพลของนายพลชารอนและของนายพล ทัล ได้รับหน่วยยานเกราะเสริมอีก 1 กรม) และเร่งรีบมุ่งไปทางตะวันตกแต่ก็มิสามารถปิดช่องเขาที่เป็นทางผ่านสู่คลองสุเอซได้หมด ทหารอียิปต์ส่วนใหญ่เล็ดลอดข้ามคลองสุเอซไปได้ ใน 4 วันหลังปฏิบัติการ อิสราเอลสามารถเอาชนะกองทหารของอาหรับที่ใหญ่ที่สุด มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากที่สุดได้

วันที่ 8 มิถุนายน, อิสราเอลสามารถยึดคาบสมุทรซีนายได้ทั้งหมด ปัจจัยที่ทำให้อิสราเอลได้รับชัยชนะครั้งนี้น่าจะได้แก่:
1. ความเหนือกว่าของกองทัพอากาศอิสราเอล ทำให้สามารถครองน่านฟ้าได้อย่างสมบูรณ์
2. ความคิดริเริ่มและความสามารถในการประยุกต์แผนการรบให้เหมาะสมกับสถานการณ์
3. ความล่าช้าของทหารอียิปต์ในการประสานงานระหว่างหน่วยต่างๆ ตรงจุดนี้ทำให้อิสราเอลสามารถใช้เป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจสำหรับแนวรบด้านอื่นได้อย่างดี

ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
เป็นที่ทราบอยู่ว่า จอร์แดนไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมรบในสงครามคราวนี้เท่าใดนัก มีข่าวบางกระแสบอกว่า ประธานาธิบดี นัสเซอร์ บอกกษัตริย์ฮุสเซนว่า เขาได้รับชัยชนะ ภาพที่ปรากฏในจอเรดาร์คือ เครื่องบินอียิปต์ที่บินไปทิ้งระเบิดอิสราเอล (ที่จริงคือ เครื่องบินอิสราเอลกำลังบินกลับมาหลังโจมตีอียิปต์แล้ว) กษัตริย์ ฮุสเซนจึงตัดสินใจสั่งให้กองทัพจอร์แดนที่ประจำการอยู่ที่เวสท์ แบงค์ บุกเข้าไปในพื้นที่เฮบรอน เพื่อพบกับกองทัพอียิปต์ ก่อนสงคราม กำลังของจอร์แดนมี 11 กรม ประกอบด้วยทหาร 55,000 นาย รถถังรุ่นใหม่จากตะวันตก ในจำนวนนี้ 9 กรม (ทหาร 45,000 นาย รถถัง 270 คัน ปืนใหญ่ 200 กระบอก) ประจำการอยู่ในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งรวมทั้งกรมยานเกราะที่ 40 และกรมที่ 2 ซึ่งอยู่ในหุบเขาจอร์แดน กองทหาร Arab Legion เป็นทหารอาชีพ มีอาวุธที่ทันสมัย และมีการฝึกที่ดี แต่ก็ยังตามหลังอิสราเอลอยู่ครึ่งก้าว กองทัพอากาศจอร์แดน มีเครื่องบินขับไล่ Hawker Hunter ของอังกฤษ เพียง 24 เครื่อง ซึ่งมีสมรรถนะเทียบเท่ากับเครื่องบินขับไล่ Mirage III ที่ถือว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ดีที่สุดของอิสราเอลในเวลานั้น.

ฝ่ายอิสราเอลมีทหารที่เตรียมรับมือทหารจอร์แดนจากเวสท์ แบงค์ ประมาณ 40,000 นาย รถถัง 200 คัน (8 กรม) สังกัดกองกำลังส่วนกลาง กำลังทหาร 2 กรมประจำการอยู่ใกล้เยรูซาเล็ม ชื่อว่า กรมทหารเยรูซาเล็ม และกรมทหาร ฮาเรล (กรมทหารราบยานยนต์) กรมทหารพลร่มที่ 55 ของนายพล มอร์เดซาย เกอร์ เตรียมพร้อมตรงแนวด้านซีนาย กรมยานเกราะอีก 1 กรมสำรองไว้ที่ Latrun กรมยานเกราะที่ 10 ประจำการอยู่ทางเหนือของเวสท์ แบงค์ กองบัญชาการภาคเหนือของอิสราเอล มีกำลัง 1 กองพล (3 กรม) บัญชาการโดยพลโท อีล๊าด เปเลด ประจำการอยู่ทางเหนือของเวสท์ แบงค์ ใน Jezreel Valley แผนยุทธศาสตร์ของกองทัพอิสราเอลยังคงตั้งรับตลอดแนวรบด้านจอร์แดน, เพื่อรอดูสถานการณ์รบด้านอียิปต์ก่อน อย่างไรก็ตามในเช้าของวันที่ 5 มิถุนายน กำลังของจอร์แดนก็รุกล้ำเข้ามาในเยรูซาเล็ม และเข้ายึดสำนักงานซึ่งตอนนี้ใช้เป็นกองบัญชาการของเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ และฝ่ายจอร์แดนยิงปืนใหญ่มายังกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก กองทัพอากาศจอร์แดนก็ส่งเครื่องบินมาโจมตีสนามบินของอิสราเอล แต่ความเสียหายมีไม่มากเพราะอิสราเอลอยู่ในสภาพพร้อมรบ เครื่องบินอิสราเอลจึงบินไปโจมตีกำลังของจอร์แดนทางฝั่งเวสท์ แบงค์ ตอนบ่ายเครื่องบินอิสราเอลก็ไปถล่มฐานบินของจอร์แดนเรียบร้อย ตกเย็น กรมทหารราบเยรูซาเล็ม ก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่ทางใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม ขณะเดียวกัน กรมทหารราบยานยนต์ 'ฮาเรล' และทหารพลร่มของนายพล เกอร์ ก็เคลื่อนกำลังตีโอบมาจากทางเหนือ

วันที่ 6 มิถุนายน กำลังของอิสราเอลเข้าสู่ที่ตั้งตามแผนแล้วก็เข้าโจมตี กรมทหารพลร่มปะทะอย่างดุเดือดกับทหารจอร์แดนที่ Ammunition Hill กรมทหารราบเยรูซาเล็มก็เข้าตีทหารจอร์แดนที่บริเวณป่า แถบ Latrun และยึดพื้นที่ได้ตอนรุ่งเช้า จากนั้นก็รุกต่อไปตามเส้นทางที่เชื่อมระหว่าง Beit Horon ไปยัง Ramallah ทางด้านกรมทหารราบยานยนต์ 'ฮาเรล' ก็เข้าผลักดันกำลังของจอร์แดนที่อยู่ในเขตภูเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม ที่เชื่อมวิทยาเขต Mount Scopus ของมหาวิทยาลัยฮิบรู กับบริเวณตัวเมืองกรุงเยรูซาเล็ม ตกเย็นทหารอิสราเอลก็ถึง Ramallah เครื่องบินกองทัพอากาศอิสราเอลโจมตีกรมที่ 60 ของจอร์แดน ที่กำลังเดินทางมาจาก Jericho เพื่อเสริมกำลังทหารฝ่ายตนในเยรูซาเล็ม ทางด้านเหนือกองพลของนายพล เปเลด ส่งทหาร 1 กองพันไปหาข่าวการป้องกันของฝ่ายจอร์แดนในหุบเขาจอร์แดน (Jordan Valley) กำลังอีกกรมเข้ายึดด้านตะวันตกของเวสท์ แบงค์ไว้ได้ กำลังอีกส่วนยึด Jenin ได้เช่นกัน กรมที่ 3 ที่มีรถถังเบา AMX-13 ปะทะกับรถถังหนัก M48 Patton ของจอร์แดนอยู่ทางด้านตะวันออก

วันที่ 7 มิถุนายน มีการสู้รบอย่างรุนแรง กรมทหารพลร่มของนายพล เกอร์ รุกเข้าสู่เขตเมืองเก่าของเยรูซาเล็ม มุ่งไปสู่ Lion's Gate เข้ายึดกำแพงตะวันตกและ Temple Mount ได้แต่ก็สูญเสียไปพอสมควร กรมทหารราบเยรูซาเล็มเข้ามาเสริมกำลังและรุกต่อเนื่องไปทางใต้ ยึด Judea, Gush Etzion และ Hebron ได้อีก กรมทหาร 'ฮาเรล' รุกคืบหน้าไปทางด้านตะวันออกจนถึงแม่น้ำจอร์แดน ทางด้านเวสท์ แบงค์ ทหารของนายพล เปเลด ยึด Nablus ได้ และร่วมกับกรมยานเกราะจาก บก.ส่วนกลาง สู้รบกับกำลังของจอร์แดนที่มีอาวุธดีกว่าแต่จำนวนพอ ๆ กัน

ก่อนที่สถานการณ์จะย่ำแย่ พระเอกก็ขี่ม้าขาวมาช่วย กองทัพอากาศส่งเครื่องบินมาโจมตีทหารจอร์แดน จนในที่สุดทหารอิสราเอลชนะ แล้วก็ยึดหัวสะพานข้ามแม่น้ำจอร์แดนที่ฝ่ายจอร์แดนสร้างเอาไว้ ก่อนที่ทหารอิสราเอลจะรุกเข้าไปในดินแดนของจอร์แดนมากกว่านี้ สหรัฐอเมริกาก็เข้ามาปราม ๆ ไว้ก่อน

ที่ราบสูงโกลาน
แรงจูงใจที่ทำให้ผู้นำซีเรียตกลงใจทำสงครามครั้งนี้คือ รายงานของอียิปต์ที่กล่าวว่า ได้รับชัยชนะต่อกองทัพอิสราเอลในคาบสมุทรซีนาย และเมื่อเห็นปืนใหญ่ (จอร์แดน) ถล่มกรุงเทลอาวีฟ ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ซีเรียตัดสินใจทำสงคราม ฉากแรกของแนวรบด้านนี้คือ การที่ปืนใหญ่ของซีเรียเริ่มยิงถล่มด้านเหนือของอิสราเอล หลังจากเครื่องบินรบของอิสราเอลจัดการกับอียิปต์เรียบร้อยก็พุ่งเป้าไปจัดการกับกองทัพอากาศซีเรีย ถึงตรงนี้ ซีเรียก็เริ่มรู้ตัวว่า ข่าวที่ได้มาจากอียิปต์ไม่เป็นความจริง เย็นวันที่ 5 มิถุนายน กำลังทางอากาศของซีเรียถึง 2 ใน 3 ถูกเครื่องบินรบของอิสราเอลทำลาย ที่เหลือต้องย้ายไปตั้งหลักยังสนามบินที่ห่างไกลและปลอดภัยกว่า สรุปว่า เครื่องบินของซีเรียไม่มีบทบาทออกมาสนับสนุนกำลังภาคพื้นดินได้เลย กำลังทหารของซีเรียบางส่วนพยายามเข้ายึดแหล่งน้ำที่ Tel Dan ทำให้รถถังซีเรียหลายคันจมลงสู่ก้นแม่น้ำจอร์แดนหลังพยายามข้ามน้ำมาโจมตีอิสราเอล ในที่สุด ผู้บัญชาการของซีเรียก็ล้มเลิกความคิดที่จะบุกเข้าโจมตีอิสราเอล หันมาใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มชุมชนชาวยิวในหุบเขา Hula ดีกว่า 

วันที่ 7 และ 8 มีการหารือกันในระหว่างผู้บัญชาการระดับสูงของอิสราเอลว่า จะจัดการกับที่ราบสูงโกลานอย่างไร กองทัพซีเรีย มีกำลังประมาณ 75,000 นาย แบ่งเป็น 9 กรม สนับสนุนด้วยยานเกราะและปืนใหญ่ ส่วนอิสราเอลมีกำลังทั้งหมด 4 กรม แบ่งกำลัง 2 กรมอยู่ทางด้านเหนือของแนวรบ อีก 2 กรม อยู่ตรงกลาง อิสราเอลได้ข้อมูลเส้นทางที่จะใช้ตีโอบทหารซีเรียจากหน่วยสืบราชการลับ มอสสาด ก่อนเริ่มทำการบุก กองทัพอากาศอิสราเอล ทำการโจมตีฐานปืนใหญ่ของซีเรียถึงสี่วัน นักบินได้รับคำสั่งให้ถล่มทุกอย่าง แต่ปืนใหญ่ของซีเรียที่เจอกับการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลบ่อยๆ จึงมีการทำที่กำบังอย่างดี ปืนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกทำลาย แต่นอกเหนือจากนี้ได้รับความเสียหายมาก จนทำให้แนวป้องกันของซีเรียหมดประสิทธิภาพ

เย็นวันที่ 9 มิถุนายน ทหารอิสราเอลทั้ง 4 กรม ก็เข้าตีแนวรับของทหารซีเรีย (6 กรม จากทั้งหมด 9 กรม) ที่ตั้งมั่นอยู่บริเวณที่ราบสูงแตก ทหารซีเรียพยายามเสริมกำลังแต่เมื่อไม่มีอะไรดีขึ้น ทหารซีเรียก็ถอนกำลังวันต่อมา (10 มิถุนายน) กำลังด้านเหนือและด้านกลางของอิสราเอลรุกมาพบกันบริเวณที่ราบสูง, แต่ตอนนี้ทหารซีเรียถอนกำลังออกไปหมดแล้ว อิสราเอลยึดที่ราบสูงโกลานได้สมบูรณ์

สงครามทางอากาศ
ในระหว่างสงคราม 6 วัน กองทัพอากาศอิสราเอลแสดงให้เห็นความสำคัญของเวหานุภาพต่อวิกฤตกาลยุคใหม่, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมรภูมิทะเลทราย การเปิดฉากด้วยการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศอิสราเอลในช่วงรุ่งสาง ที่อาศัยความได้เปรียบทางทัศนวิสัย โดยมีพระอาทิตย์เป็นฉากหลัง ทำให้ฝ่ายข้าศึกสังเกตเห็นได้ยาก ผลจากการโจมตีกำลังทางอากาศของฝ่ายอาหรับทำให้ กองทัพอากาศอิสราเอลครองน่านฟ้าในทุกแนวรบ  ยุทธศาสตร์ทางอากาศทำให้กองทัพอากาศอิสราเอลสามารถให้การสนับสนุนกำลังรบภาคพื้นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การทำลายกรมยานเกราะที่ 60 ของจอร์แดน ใกล้ Jericho กำลังเดินทางมาสนับสนุนทหารจอร์แดนที่กำลังสู้รบอยู่ในเยรูซาเล็ม และการโจมตีกรมยานเกราะของอิรัค ที่กำลังเดินทางมาโจมตีอิสราเอลโดยผ่านจอร์แดน หากอิสราเอลไม่สามารถครองอากาศเหนือยุทธบริเวณได้ สถานการณ์ภาคพื้นดินคงหนักหนาสากรรจ์กว่านี้ ในทางตรงข้ามกองกำลังทางอากาศของฝ่ายอาหรับไม่สามารถขยายผลการโจมตีทางอากาศของฝ่ายตนได้ 

ในช่วง 2 วันแรกของการรบ เครื่องบินขับไล่ของจอร์แดนและเครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-16 ของอียิปต์ เข้าโจมตีทิ้งระเบิดแนวหลังของอิสราเอล แต่ได้ผลน้อยมาก เครื่องบินทิ้งระเบิดของอียิปต์ถูกยิงตก ส่วนเครื่องบินขับไล่ของจอร์แดนถูกอิสราเอลทำลายขณะจอดอยู่ในฐานบิน ปัจจัยที่สำคัญอื่น ๆ ที่ส่งผลให้อิสราเอลได้รับชัยชนะทางอากาศคือ ปากคำของนักบินอาหรับเกี่ยวกับปัญหาของเครื่องบิน MiG ของตน ซึ่งอิสราเอลได้นำเครื่องบิน MiG ที่ยึดได้มาทดสอบจนรู้จุดอ่อน และนำข้อมูลเหล่านี้มาฝึกนักบินของตนให้รับมือกับเครื่องบิน MiG ของฝ่ายอาหรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อิสราเอลได้เครื่องบิน MiG-21, 3 เครื่อง จากการที่นักบินอิรัคลักลอบนำเครื่องมาลงอิสราเอล เพื่อลี้ภัยการเมือง ได้เครื่องบิน MiG-17, 7 เครื่อง, 6 เครื่องจากนักบินอัลจีเรียที่ลี้ภัยทางการเมือง และอีก 1 เครื่องจากนักบินซีเรียที่ต้องการขอลี้ภัยเช่นกัน ทั้งหมดขอไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา)

สงครามทางทะเล
สงครามทางทะเลในระหว่างสงคราม 6 วัน ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีการปะทะกันของเรือรบทั้งสองฝ่าย เหตุการณ์ที่สำคัญคือ อิสราเอลส่งมนุษย์กบ 6 นาย ไปปฏิบัติการในอ่าวเมืองท่าอเล็กซานเดรีย (ทั้งหมดถูกจับ หลังจมเรือกวาดทุ่นระเบิดของอียิปต์ไปหนึ่งลำ) อีกด้านหน่วยปฎิบัติการพิเศษทางเรือของอิสราเอลยึด Sharm el-Sheikh ซึ่งอยู่ใต้สุดของคาบสมุทรซีนายในวันที่ 7 มิถุนายน วันที่ 8 มิถุนายนเรือหาข่าวทางอิเล็กทรอนิกส์ของนาวีสหรัฐฯ (USS Liberty) ถูกกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศของอิสราเอลโจมตี ขณะอยู่นอกฝั่ง Arish ของอียิปต์ ห่างจากฝั่ง 13 ไมล์ เรืออเมริกันได้รับความเสียหายอย่างหนักเกือบจะจม อิสราเอลแถลงว่า เป็นความเข้าใจผิด ซึ่งยังหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ได้ แต่สหรัฐฯ ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ

วันที่ 10 มิถุนายน การปะทะบนที่ราบสูงโกลานยุติ และมีการเซ็นสัญญาหยุดยิงในอีกวันต่อมา อิสราเอลยึดฉนวนกาซ่า คาบสมุทรซีนาย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (รวมทั้งพื้นที่ทางตะวันออกของเยรูซาเล็ม) และที่ราบสูงโกลาน ของแถมคือ ประชาชนอาหรับอีกราว 1 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในเขตที่อิสราเอลเพิ่งยึดมาได้ อิสราเอลได้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์จากการที่สามารถวางแนวป้องกันทางลึกได้อย่างดี ซึ่งส่งผลต่อสงครามระหว่างอาหรับ-อิสราเอล ในปี 1973 

สงครามครั้งนี้สอนอิสราเอลให้รู้ว่า การใช้ยุทธศาสตร์ที่เริ่มลงมือโจมตีก่อนสามารถเปลี่ยนดุลย์ทางทหารได้ อียิปต์และซีเรียเรียนรู้บทเรียนจากสงครามครั้งนี้เช่นกัน แต่ยังดำเนินยุทธศาสตร์แบบตัวใครตัวมันอยู่ การเปิดสงครามในปี 1973 เป็นความพยายามที่จะชิงพื้นที่ที่สูญเสียไปในการรบครั้งนี้

สรุป:
กำลังรบ
อิสราเอล มีกำลังพลทั้งสิ้น 264,000 นาย (รวมทหารประจำการ 50,000 นาย) เครื่องบินรบ 197 เครื่อง

ฝ่ายอาหรับ มีกำลังพลจากอียิปต์ 150,000 นาย ซีเรีย 75,000 นาย จอร์แดน 55,000 นาย ซาอุดิอารเบีย 20,000 นาย เครื่องบินรบ 812 เครื่อง

การสูญเสีย
อิสราเอล (ตัวเลขทางการ) เสียชีวิต 779 นาย บาดเจ็บ 2,563 นาย ถูกจับ 15 นาย

อาหรับ (ตัวเลขประมาณการ) เสียชีวิต 21,000 นาย บาดเจ็บ 45,000 นาย ถูกจับ 6,000 นาย เครื่องบินกว่า 400 เครื่องถูกทำลาย



ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/warofhistory?ref=ts&fref=ts


หมายเหตุ: ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวโดยย่อของสงคราม 6 วัน แหล่งที่มาของข้อมูลเผื่อมีท่านใดที่สนใจจะหาข้อมูลเพิ่มเติม
Six-Day War - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Six-Day_War
Straits of Tiran - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Straits_of_Tiran
Suez Crisis - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Suez_Crisis
Baath Party - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Ba%27ath_Party
Jordan River - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Jordan_River
National Water Carrier of Israel - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/National_Water_Carrier
Mount Hermon - Wikipedia, the free encyclopedia
//en.wikipedia.org/wiki/Hermon
Golda Meir
//en.wikipedia.org/wiki/Golda_Meir
Israel Border Police
//en.wikipedia.org/wiki/Six-Day_War
Palestine Liberation Organization
//en.wikipedia.org/wiki/PLO
Abba Eban
//en.wikipedia.org/wiki/Abba_Eban
Levi Eshkol
//en.wikipedia.org/wiki/Levi_Eshkol
United Nations Truce Supervision Organization
//en.wikipedia.org/wiki/United_Nations_Truce_Supervision_Organization
Yitzhak Rabin
//en.wikipedia.org/wiki/Yitzhak_Rabin
Operation Focus
//en.wikipedia.org/wiki/Operation_Focus
Second Battle of Abu-Ageila (1967)
//en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Abu-Ageila_%281967%29









Create Date : 24 กรกฎาคม 2557
Last Update : 24 กรกฎาคม 2557 9:47:42 น. 0 comments
Counter : 2240 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.