4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
เพชฌฆาตผู้พิชิตรถถังเอ็ม 1 อับบรามส์





ในห้วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อปี 1991 รถถัง เอ็ม1 เอ1 อับบรามส์ (M 1 A 1 Abrams) ของสหรัฐอเมริกา ได้รับการกล่าวขานเป็นอย่างมากว่า เป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกรุ่นหนึ่ง และเชื่อ
กันว่าไม่มีอาวุธชนิดใดในโลกนี้สามารถทำลายรถถังดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริง เพราะตลอดห้วงเวลาของยุทธการ “พายุทะเลทราย” (Operation Desert Storm) ไม่มีรถถัง เอ็ม 1 แม้แต่คันเดียวถูกทำลายจากฝ่ายอิรัก จะมีก็แต่ได้รับความเสียหายจากการยิงของรถถังฝ่ายเดียวกัน ที่เหลืออีก 18 คันได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย

แต่ในช่วงสงครามอิรักครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ยุทธการ “Iraqi Freedom” เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมายอดความสูญเสียของ รถถังเอ็ม1 อับบรามส์ ทั้งรุ่น เอ็ม1 เอ 1 และ เอ็ม 1 เอ 2 ที่มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธปืนใหญ่ประจำรถที่มีความกว้างปากลำกล้อง 120 ม.ม.กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยแรก ๆ ที่ประสบกับความเสียหายได้แก่ กองพันที่  2 กรมยานเกราะที่ 70 กองพลยานเกราะที่ 1 ของสหรัฐฯ ที่เคลื่อนที่เข้าสู่กรุงแบกแดด ซึ่งพลประจำรถต่างประหลาดใจเป็นอย่างมากกับอาวุธที่ทำความเสียหายให้กับรถ ถังของพวกเขา โดยอาวุธลึกลับดังกล่าวเจาะทะลุป้อมปืนของรถถัง ทำให้ผู้บังคับรถได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่แขนและขา ส่วนพลประจำรถคนอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ในช่วงแรก ๆ ที่ รถถังเอ็ม 1 ถูกโจมตีได้รับความเสียหายนั้น ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าอาวุธพิเศษชนิดใด ที่มีอานุภาพในการทำลายรถถังที่มี น้ำหนักกว่า 67 ตันนี้ได้เพราะลำพังจรวดต่อสู้รถถัง อาร์พีจี 7 ที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 40 ปี คงไม่มีพิษสงอะไรกับรถถังเอ็ม 1 เนื่องจากอาร์พีจี 7 สามารถเจาะเกราะได้เพียง 360 มิลลิเมตรเท่านั้น ในขณะที่เอ็ม 1 มีเกราะหนาถึง 610 มิลลิเมตร

บางคนถึงกับพยายามหาเหตุผลโน้มน้าวให้เห็นว่า เป็นการยิงของฝ่ายต่อต้านที่บังเอิญอย่างที่สุดบ้าง lucky shot บ้างก็กล่าวว่าเป็นอาวุธลับที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนประดิษฐ์คิดค้นขึ้น อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในช่วงแรกนั้นสหรัฐฯ ยอมรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรถถังชั้นยอดของพวกเขา ส่งผลให้เกิดการศึกษาและวิเคราะห์ถึงอาวุธต่างๆที่สามารถหยุดยั้งรถถังที่ดีที่สุดในโลกอย่างเอ็ม 1 ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อการรบก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 และปีที่ 3 จำนวนของ รถถังเอ็ม 1 กลับถูกทำลายเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับยอดการเสียชีวิตของพลประจำรถที่เพิ่มสูง ขึ้นตามมา อย่างเช่น ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2005 รถถังเอ็ม1 เอ1 สังกัดกรมทหารราบที่ 110 กองพลทหารราบที่ 28 ถูกฝ่ายต่อต้านโจมตีขณะทำการลาดตระเวนในเมืองคาลิดิยา (Khalidiya) ทำให้พลประจำรถคือ จ่าสิบเอกไมเคิล ซี แพรอทท์ อายุ 49 ปี และจ่าสิบตรีโจชัวร์ เอ เทรานโด อายุ 27 ปี เสียชีวิตทั้งสองนาย

ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม รถถังเอ็ม1 เอ1 สังกัดหมวดที่ 3 กองพลน้อยที่ 2 กองพลทหารราบที่ 3 ก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรงขณะปฏิบัติการรบในกรุงแบกแดด ทำให้จ่าสิบเอกเคอร์ติส เอ ไมเคิล อายุ 28 ปี พลประจำรถเสียชีวิต และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 25 ธันวาคม รถถังเอ็ม 1 เอ 1 สังกัดกองร้อย ดี กองพันที่ 1 กรมยานเกราะที่ 64 กองพลทหารราบที่ 3 ก็ถูกโจมตีในกรุงแบกแดดอีก ทำให้พลทหารเซอร์จิโอ กูดิโน อายุ 22 ปี เสียชีวิตในซากของรถถัง

จากข้อมูลจากศูนย์ยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตนอกซ์ (The Army's Armor Center at Fort Knox) ระบุว่า มีรถถังเอ็ม 1 กว่า 80 คันที่ปฏิบัติภารกิจในอิรักได้รับความเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ ต้องขนส่งกลับมายังสหรัฐฯ และยังมีรถถังเอ็ม 1 อีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับความเสียหายตั้งแต่น้อยมาก ไปจนถึงปานกลางแต่สามารถซ่อมแซมได้ในโรงงานซ่อมยานเกราะของกองทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรักเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

นักวิเคราะห์หลายคนมอง เห็นตรงกันว่า”การรบในเมือง” (Urban warfare) เป็นการรบที่ไม่เหมาะกับการใช้รถถังซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการรบในสมรภูมิ โล่งแจ้ง โดยในห้วงเวลาปี 2004 -2006 เป็นห้วงเวลาที่พลประจำรถถังเอ็ม 1 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่มากที่สุด จากสถิติพบว่าพลประจำรถถังเอ็ม 1 ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ภายในตัวรถมากกว่า 15 นายเสียชีวิต ทั้งๆที่รถถังรุ่นนี้ได้ชื่อว่า เป็นรถถังที่สามารถปกป้องพลประจำรถได้อย่างยอดเยี่ยม (extraordinary crew protection) รวมทั้งยังมีพลประจำรถอีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะปฏิบัติ ภารกิจอีกด้วย

ทำให้มีการปรับปรุงรถถังเอ็ม 1 อย่างขนานใหญ่เพื่อลดจุดอ่อนต่างๆ โดยในปี 2007 General Dynamics Lands System ได้ผลิตอุปกรณ์สำหรับการรบในเมือง (TUSK – Tank Urban Survivability Kits) เพื่อนำไปประกอบกับรถถังเอ็ม 1 ให้สามารถปฏิบัติการรบในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น เสริมเกราะป้องกันด้านข้างและด้านหลังของตัวรถที่มักถูกโจมตีจากเครื่องยิง จรวดต่อสู้รถถังในระยะประชิด รวมไปถึงการติดตั้งเกราะกำบังให้กับปืนกลหนักขนาด 7.62 ม.ม. เหนือป้อมปืนของพลบรรจุกระสุน (Loader) ส่วนปืนกลขนาด 12.7 ม.ม. ของผู้บังคับรถนั้นก็สามารถบังคับได้ด้วยรีโมทคอนโทรลจากภายในรถ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องออกมาทำการยิงนอกตัวรถ เป็นต้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตของพลประจำรถถังเอ็ม 1 ลดลง จากห้วงเวลาที่ ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์ว่าอาวุธที่ใช้ทำลายรถถังเอ็ม 1 ของฝ่ายต่อต้านในอิรักนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ..

- 1. จรวดต่อสู้รถถังรุ่นใหม่ของรัสเซียที่มีประสิทธิภาพสูง
- 2. จรวดต่อสู้รถถังรุ่นเก่าทั่วไปที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น อาร์พีจี 7 (RPG – Rocket-propelled Grenade)
- 3. การใช้ระเบิดแสวงเครื่อง (IED –Improvised Explosive Device) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายยานยนต์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ในอิรัก

สำหรับเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังประเภทแรกนั้น มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ากลุ่มต่อต้านในอิรักได้ใช้อาวุธจรวดต่อสู้รถถังประทับบ่าของรัสเซียรุ่นใหม่ที่มีความรุนแรงและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจรวดต่อสู้รถถังเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ที่เพิ่งเผยโฉมในอิรักเป็นครั้งแรก แต่ได้ถูกใช้ในการรบมาแล้วหลายครั้งในตะวันออกกลางและในเชคเนีย (Chechnya) โดยเฉพาะเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 ที่ประเทศซีเรียจัดซื้อจากรัสเซียแบบ “เหมาหมด” ในปี 1999-2000 แล้วจัดสรรให้กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ (Hezbollah) นำไปต่อสู้กับรถถังเมอคาว่า (Merkava) ของอิสราเอลในเลบานอนเมื่อปี 2006 มาแล้ว ส่งผลให้อิสราเอลได้รับรู้ถึงพิษสงของจรวดต่อสู้รุ่นใหม่นี้เป็นอย่างดี หากย้อนกลับไปศึกษาข้อมูลการพัฒนาเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังของรัสเซีย จะพบว่าเมื่อประมาณปี 1988 รัสเซียได้ทำการพัฒนาจรวดต่อสู้รถถังที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทัดเทียมกับการพัฒนายานเกราะของฝ่ายตะวันตกที่มีความก้าวหน้าไป อย่างมาก

เริ่มต้นจากการผลิตจรวดหรือหัวรบ (warhead) รุ่นใหม่สำหรับยิงจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ที่มีใช้การอย่างแพร่หลาย นั่นคือ จรวดแบบ “พีจี 7 วีอาร์” (PG-7VR) ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถเจาะเกราะที่มีความหนาได้ถึง 600 มม. เจาะเหล็กได้หนา 500 ม.ม. และทำลายกำแพงอิฐที่มีความหนา 1.5 เมตรได้ โดยกลุ่มต่อต้านในอิรักจะใช้จรวดแบบพีจี 7 วีอาร์ นี้ ยิงจากเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 7 ไปที่บริเวณด้านซ้ายของรถถังเอ็ม 1 ค่อนไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นที่ตั้งของเครื่องยนต์ส่วนหนึ่ง จะสามารถสร้างความเสียหายให้กับรถถังได้

ตัวอย่างของความสำเร็จของ จรวดชนิดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2004 เมื่อกลุ่มต่อต้านใช้จรวดพีจี 7 วีอาร์ ยิงจากเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ใส่รถถังเอ็ม1 เอ1 จนเกิดไฟลุกท่วมทั้งคันขณะทำการรบในกรุงแบกแดด นอกจาก พีจี7 วีอาร์ แล้วรัสเซียยังมีการพัฒนาเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบประทับบ่ารุ่นใหม่คือ “อาร์พีจี 22” ซึ่งเป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก “อาร์พีจี 18” ที่มีความคล้ายคลึงกับเครื่องยิงจรวดแบบ “เอ็ม 72” ของสหรัฐฯ ที่ตัวจรวดจะบรรจุอยู่ในเครื่องยิงเรียบร้อยแล้ว เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบพร้อมยิง พลยิงเพียงแต่ยืดลำกล้องเครื่องยิงออก ก็สามารถทำการยิงได้เลย โดยใช้เวลาในการเตรียมเครื่องยิงเพียง 10 วินาทีเท่านั้น โดยอาร์พีจี 22 ใช้กระสุนจรวดขนาด 72.5 ม.ม. เจาะเกราะที่มีความหนาได้ 400 ม.ม. ระยะยิงหวังผล 150 - 200 เมตร ซึ่งจากข้อมูลไม่ปรากฏว่ากลุ่มต่อต้านในอิรักใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ชนิดนี้แต่อย่างใด อันอาจเป็นผลเนื่องมาจากเครื่องยิงจรวดแบบนี้ ไม่สามารถบรรจุกระสุนใหม่ได้ เป็นการ “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” จึงไม่เกิดความคุ้มค่าในการซื้อหามาใช้ปฏิบัติการในสภาวะที่เต็มไปด้วยความขาดแคลน

อีกอย่างคือ เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังที่มีการพูดถึงมากที่สุดใน ปัจจุบันคือ “อาร์พีจี 29” (RPG 29) ซึ่งได้รับสมญาจากโลกตะวันตกว่า “แวมไพร์” (Vanpire) เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังที่มีการคาดการณ์กันว่า เป็นอาวุธที่ฝ่ายต่อต้านใช้ทำลายรถถังเอ็ม1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ (CIA-Central Intelligence Agency) ประกาศให้จรวดต่อสู้รถถังแบบ อาร์พีจี 29 เป็นอาวุธร้ายแรงที่ทหารสหรัฐฯในอิรัก จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษซึ่งจากรายงานของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราห์ ระบุว่า มีกลุ่มต่อต้านในอิรัก 2 กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่านและกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในปาเลสไตน์ ใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังชนิดนี้ ซึ่งเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 29 เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบประทับบ่าขนาด 105 มม. ที่ใช้พลยิงเพียงคนเดียว มีอานุภาพในการเจาะเกราะที่มีความหนาถึง 750 มม. เพียงพอที่จะเจาะเกราะของรถถังเอ็ม 1 ที่มีความหนา 610 มม.ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเจาะกำแพงอิฐได้หนา 1,500 มม.และที่สำคัญคือมีระยะยิงหวังผลสูงถึง 500 เมตร ผู้ยิงจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสี่ยงเข้าไปยิงเป้าหมายในระยะใกล้

อนึ่ง มีวิดีโอที่กลุ่มต่อต้านในอิรักที่ชื่อ “คาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์” (Kata’ib Hezbollah) นำออกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ในการโจมตีรถถังเอ็ม 1 ของสหรัฐฯ บริเวณ Umm Al-Kebr ในกรุงแบกแดด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 แสดงให้เห็นว่าอาร์พีจี 29 มีอานุภาพสูงมาก สามารถทำลายรถถังเอ็ม 1 ได้ แม้จะเป็นการยิงตรงหน้าค่อนไปทางตอนล่างของรถถัง ซึ่งเป็นบริเวณที่พลขับปฏิบัติหน้าที่อยู่ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้พลขับรถถังเอ็ม 1 ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการโจมตี

ด้าน พันเอก รัส โกลด์ (Col. Russ Gold) ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการรบในอิรักและปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย เสนาธิการของศูนย์ยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ วิเคราะห์ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นว่า..“มันเป็นเรื่องปกติในการรบ สหรัฐฯ ใช้รถถังเอ็ม 1 เป็นจำนวนมากในการรบในสมรภูมิอิรักทั้งปริมาณรถ และปริมาณภารกิจ จึงทำให้มันตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายต่อต้าน และเมื่อข้าศึกรู้ว่าจุดอ่อนของเราอยู่ที่ไหน เขาก็จะโจมตีตรงจุดอ่อนนั้นเหมือนที่เรากระทำอยู่เช่นเดียวกันอย่างไรก็ตามเรากำลังมีการพัฒนาเกราะของรถถังเอ็ม1 อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเกราะป้องกันบริเวณเครื่องยนต์และเกราะด้านข้างให้มีความหนามากกว่า ที่เป็นอยู่เพื่อป้องกันจุดอ่อนดังกล่าว”..

อาวุธประเภทที่ 2 ที่กลุ่มต่อต้านใช้ทำลาย รถถังเอ็ม 1 ก็คือเครื่องยิงอาวุธจรวดต่อสู้รถถังแบบธรรมดาทั่วไป คือ อาร์พีจี 7 ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในอิรัก รวมทั้งมีขายในตลาดมืดกลางกรุงแบกแดดและเมืองใหญ่ๆทั่วอิรัก อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการควบคุมคลังอาวุธของอิรักในช่วงแรกของการยึดครองในปี 2003 ทำให้เกิดการขนถ่ายอาวุธชนิดนี้ออกจากคลังได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ที่พบว่า ในปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ จัดส่งอาวุธจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 จำนวน 7,500 กระบอกไปให้กองกำลังทหารอิรักที่สหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น ได้เกิดการรั่วไหลของอาวุธดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งระหว่างการจัดส่งและจากคลังจัดเก็บอาวุธในอิรัก อันเนื่องมาจากความด้อยประสิทธิภาพของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ ที่รับจ้างดำเนินการขนส่งดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2004 มีการขนส่งเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 7 จำนวน 2,389 กระบอก แต่มีเพียง 499 กระบอกเท่านั้นที่ส่งถึงมือกองกำลังทหารอิรักที่สหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น ส่วนที่เหลือถูกส่งเข้าตลาดมืดและกลายเป็นอาวุธกลับมาทำลายกองทัพสหรัฐฯ ในอิรักต่อไป การโจมตีด้วยอาวุธจรวดแบบธรรมดานี้ ได้ถูกประยุกต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการโจมตีจุดอ่อนของรถถังพร้อมกันหลายๆเครื่องยิง เช่นโจมตีจากด้านหลังของรถซึ่งเป็นบริเวณเครื่องยนต์ที่มีเกราะบาง หรือโจมตีจากมุมสูงหรือจากบนอาคาร โดยอาศัยข้อจำกัดที่ว่า รถถังเอ็ม1 นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้ในการต่อสู้กับรถถังด้วยกันจึงมีเกราะหนามากเฉพาะบริเวณด้านหน้า เพื่อป้องกันกระสุนจากรถถังฝ่ายตรงข้าม แต่สำหรับในอิรักนั้น รถถังเอ็ม 1 ถูกนำมาใช้ในการรบในเมือง (urban warfare) ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้รถถังในการปฏิบัติการ และทำให้กลุ่มต่อต้านสามารถใช้อาคารสถานที่ต่างๆ ในเมืองเป็นจุดซุ่มโจมตีรถถังได้ในมุมอื่นๆ ที่เป็นจุดอ่อน เช่น ด้านหลังหรือด้านข้าง

อาวุธประเภทที่ 3 ที่ฝ่ายต่อต้านสหรัฐฯ ในอิรักใช้ในการทำลายรถถังเอ็ม 1 ก็คือการใช้ ระเบิดแสวงเครื่อง (IED- Improvised Explosive Device) ที่มีความรุนแรงสูง เช่น ใช้กระสุนปืนใหญ่ขนาดตั้งแต่ 100 ไปจนถึง 155 มม. จำนวนหลายนัดจุดระเบิดในคราวเดียวกัน หรือใช้ระเบิดของอากาศยานขนาดตั้งแต่ 250-500 ปอนด์ ฝังไว้บริเวณใต้ผิวถนน เพื่อหวังผลในการทำลายบริเวณใต้ท้องรถที่มีความเปราะบางมากที่สุด รวมทั้งอาจโจมตีด้วยการสนธิกำลังกันระหว่างการใช้ระเบิดแสวงเครื่องเพื่อทำให้ รถถังเกิดความเสียหายก่อน แล้วระดมยิงซ้ำบริเวณที่เป็นจุดอ่อนด้วยจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 7 หรือแม้กระทั่งระเบิดมือ ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายรถถังเอ็ม 1 อันทรงประสิทธิภาพนี้

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การพัฒนาอาวุธขนาดเล็กแต่มีศักยภาพการทำลายล้างสูงดังเช่น เครื่องจรวดต่อสู้รถถังแบบต่างๆนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาเทคนิคการต่อสู้แบบกองโจร เช่นการใช้ระเบิดแสวงเครื่องที่ฝ่ายต่อต้านในอิรักนำมาใช้ ได้กลายเป็นการปฏิบัติการที่มีราคาถูกแต่ได้ผลคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรถถังเอ็ม 1 และยานยนต์หุ้มเกราะต่างๆ ตลอดจนบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีราคาแพงมหาศาลจนไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลควบคู่ไปกับการพัฒนาดังกล่าวก็คือ อาวุธและแนวคิดในการปฏิบัติการต่างๆ ดังกล่าวได้กลายเป็นเขี้ยวเล็บของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆทั่วโลก ที่ปฏิบัติการท้าทายมหาอำนาจ ตลอดจนท้าทายอำนาจรัฐต่างๆ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ในสังคม โลกอย่างโหดเหี้ยม อำมหิตต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ที่มา: //www.bloggang.com/viewblog.php?id=vuw&group=4&page=3




บทความนี้ เป็นสิทธิ์ของ : พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
ลงพิมพ์ในนิตยสาร Topgun ประจำเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ของผู้ที่สนใจ จึงขออนุญาตท่านเจ้าของ นำออกเผยแพร่เพื่อเป็นเกียรติและประโยชน์สาธารณะมา ณ โอกาสนี้










Create Date : 22 กรกฎาคม 2557
Last Update : 22 กรกฎาคม 2557 11:34:29 น. 0 comments
Counter : 2452 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.