การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรสังเกตุ คำเตือนบนฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง
Group Blog
 
All Blogs
 

อ่านอนาคตของเงินดอลลาร์ผ่านมุมมอง"ดร.โกร่ง"หรือเงินดอลลาร์สหรัฐจะถึงกาลอวสาน!!

อ่านอนาคตของเงินดอลลาร์ผ่านมุมมอง"ดร.โกร่ง"หรือเงินดอลลาร์สหรัฐจะถึงกาลอวสาน!!

กำลังวิตกกันทั่วโลกถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทองคำพุ่งทำสถิติใหม่รายวัน ทำไมธนาคารกลางและนักลงทุนทั่วโลกถึงกระจายความเสี่ยงลดการถือครองสินทรัพย์ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ อนาคตของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะเป็นอย่างไร "ดร.โกร่ง"คนเดินตรอกมีคำตอบ...

คอลัมน์ คนเดินตรอก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

อนาคตของเงินดอลลาร์

ในระยะครึ่งหลังของปี 2552 มีการกล่าวถึงค่าเงินดอลลาร์กันมากว่า ค่าเงินดอลลาร์อาจจะดิ่งลงไปอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ ในระยะยาว บางคนออกจะมีความรู้สึกไม่ดีต่อค่าเงินดอลลาร์ ถึงขนาดออกมาคาดการณ์ว่าเงินดอลลาร์อาจจะถึงกาลอวสานในอนาคตอันใกล้ บางคนดีหน่อยก็ออกมากล่าวว่าไม่ช้าหรือเร็ว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง

อย่างแรก เศรษฐกิจของอเมริกาที่รัฐบาลอเมริกันและสื่อมวลชนตะวันตก รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่อยู่ตามบริษัทห้างร้านต่าง ๆ รวมถึงที่อยู่ในสถาบันการเงินอเมริกันและสถาบันการเงินระหว่างประเทศในอาณัติของกระทรงการคลังของสหรัฐได้ออกมาตีฆ้องร้องป่าวว่า เศรษฐกิจของอเมริกาเริ่มฟื้นตัวแล้ว เพราะบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก 500 บริษัทแรก มีอยู่กว่า 400 บริษัทที่ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ดีกว่าไตรมาสที่สอง แต่ภาพดังกล่าวที่จริงแล้วเป็นภาพลวงตา ตามขั้นตอนของวัฏจักรเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่เป็นอยู่ในอเมริกา จะมีบางช่วงที่เศรษฐกิจอาจจะดูเหมือนฟื้นตัว
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีการปรับตัวของสินค้าคงคลัง เมื่อปริมาณลดลงจนต่ำสุด ราคาก็ตกต่ำถึงที่สุดตามการลดลงของสินค้าคงคลัง การสะสมสินค้าคงคลังก็จะกลับมาใหม่ ประกอบกับสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ที่มีมากขึ้นจากการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามา ในขณะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ
ความต้องการลงทุนที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่การลงทุนในสินค้าคงคลังก็ยังไม่เกิด สังเกตได้จากการจ้างงานที่ยังไม่เพิ่มขึ้น หรือพูดกลับกันก็คืออัตราการว่างงานยังไม่ลดลง
เมื่อถึงจุดหนึ่ง การลงทุนเพื่อสร้างสต๊อกของสินค้าคงคลังก็จะหยุดลง ผลประกอบการของธุรกิจก็จะซบเซาลงไปที่เดิมพร้อมกันไปอย่างนี้ จนกว่าการลงทุนที่แท้จริงจะเกิดขึ้น
สถานการณ์ที่เห็นได้ชัดก็คือการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกายังขาดดุลเป็นอัตราส่วนต่อรายได้ประชาชาติของอเมริกามากขึ้น

เรื่องที่สอง การที่ปริมาณเงินถูกปั๊มออกมาอย่างมาก ไม่สมดุลกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางด้านความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ กล่าวคือเกิดการคาดการณ์กันไปทั่วว่าเงินดอลลาร์อาจจะกลายเป็นเศษกระดาษ หรือค่าเงินดอลลาร์จะยังลดค่าของตนต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ ของโลก ยิ่งทำให้ผู้ถือเงินดอลลาร์ อันได้แก่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ พยายามลดความเสี่ยงจากการถือเงินดอลลาร์ หันไปถือทองคำ เงินยูโร เงินเยน หรือเงินสกุลอื่นในยุโรป รวมทั้งเงินออสเตรเลียและเงินแคนาดา
การที่ธนาคารกลางจีน อินเดีย รัสเซีย และอาจจะรวมทั้งธนาคารกลางของสหภาพยุโรป ทำเช่นนั้น ก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลงไปอีก

เรื่องที่สาม การที่สหรัฐไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐบาล หรือภาคเอกชน เงินที่ขออนุมัติรัฐสภาเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็มิได้นำไปลงทุนอะไรใหม่ ส่วนใหญ่นำไปลงทุนในการซื้อกิจการของเอกชน หลังจากให้เอกชนลดทุนลงไปแล้ว เพื่อพยุงราคาหุ้น ผลประกอบการที่ดูดีขึ้นก็เกิดจากการลดทุน เป็นกำไรทางการเงิน ไม่ใช่เป็นเพราะผลประกอบการที่ดีขึ้นจริง
การลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตอันจะก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานจริงจึงยังไม่เกิดขึ้น
การขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากจึงยังคงดำเนินต่อไป ผลประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไปตกอยู่กับประเทศที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย และประเทศเอเชียอื่น ๆ

วิธีแก้ไขปัญหาการขาดดุลกับจีนและประเทศอื่น ๆ โดยการลดการขาดดุลงบประมาณ ก็ดูจะเป็นมาตรการที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ กำลังทำอยู่ตามมติของที่ประชุมเศรษฐกิจในเวทีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ประชุม G-20 หรือ APEC หรือ ASEAN

เมื่ออเมริกาไม่มีเครื่องมืออันใดในการแก้ปัญหาการขาดดุลของตนก็กลับมาใช้วิธีการเก่า คือบังคับข่มขู่จีนให้ขึ้นค่าเงินหยวน ซึ่งจีนก็ประกาศอยู่ตลอดเวลาว่าจะไม่ยอมทำตาม แม้ว่าความจริงแล้ว จีนเองก็แอบทำอย่างช้า ๆ กล่าวคือในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนเพิ่มค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐถึง 21 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาทางเศรษฐกิจของอเมริกาจึงวนกลับมาที่เดิม แถมยังมีความเสี่ยงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป กล่าวคือ

เรื่องที่สี่ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่ส่วนมากมาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ มีความเป็นห่วงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกู้เงินมาอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจของอเมริกา นอกจากจะเป็นภาระแก่รัฐบาลและผู้เสียภาษีในอนาคต ยังอาจทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาไม่ปรับตัว หรือต้องใช้เวลาปรับตัวที่มีระยะยาวนานออกไป การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจอเมริกาอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย เหมือนกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ฟุบตัวลงไปตั้งแต่ปี 1990 เพราะถูกอเมริกาให้ขึ้นค่าเงินเยนอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1980 ตั้งแต่นั้นมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่เคยฟื้นตัวอย่างจริงจังอีกเลย มีขึ้น ๆ ลง ๆ บ้างก็เล็ก ๆ น้อย ๆ อันเป็นภาพลวงตาอย่างที่ว่า

เรื่องที่เขาห่วงกันมากคือ เรื่องที่ห้า เพราะมีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันหลายคนคิดเลยเถิดไปถึงว่า นโยบายปั๊มเงินกันออกมาพยุงเศรษฐกิจกันอย่างมโหฬารทั่วโลก จะเป็นสาเหตุให้ปริมาณเงินดอลลาร์และเงินทุกสกุลทะลักออกมามากเกินไป เมื่อเทียบกับผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผลผลิตที่มาจากทรัพยากรของโลก ไม่เฉพาะแต่แร่ธาตุอย่างทองคำ แต่จะรวมไปถึงน้ำมัน ทองแดง อะลูมิเนียม และอื่น ๆ เมื่อสินค้าเหล่านี้มีราคาต่ำลงเทียบกับปริมาณเงินที่ถูกปั๊มเข้ามาในระบบเศรษฐกิจทั่วโลก

ผลก็คือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นอย่างรุนแรงทั้งโลก ระบบตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ที่จัดระเบียบไว้ทั้งในตลาดปัจจุบันและในตลาดล่วงหน้า อาจจะพังทลายลงถ้าเกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyperinflation) เช่น ราคาสิ่งของเพิ่มขึ้นทุกวัน สินค้าก็จะหายไปจากตลาด เศรษฐกิจทั้งโลกก็จะตกต่ำ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศละตินอเมริกาในทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นเรื่องของภาพที่ถูกวาดขึ้นอย่างน่ากลัวและมากเกินกว่าที่ควรจะเป็นมากมาย ในกรณีอย่างนี้ค่าเงินดอลลาร์จะถูกกระทบมากที่สุด เพราะถูกปั๊มออกมามากที่สุด

ระยะนี้จึงเป็นระยะที่นักเศรษฐศาสตร์ออกมาเสนอความเห็นแปลก ๆ กันมากมาย หากติดตามข่าวดู ซึ่งก็ดีทำให้ไม่เหงา ความเห็นเหล่านี้น่าจะเป็นความเห็นที่สุดโต่งเกินไป แม้ว่าเที่ยวนี้ทั้งโลกจะถูกสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปทางเดียวกันหมด อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเหมือนกันเมื่อทุกคนคิดเหมือนกันและทำเหมือนกันหมด ก็ต้องคอยดูต่อไปว่าอนาคตของเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าดูในขณะนี้ผลก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น การขาดดุลของอเมริกาขนาดหนักก็ยังขาดดุลต่อไป เศรษฐกิจก็ดูยังไม่ฟื้นตัว ยุโรปก็ยังเหมือนเดิม จีน อินเดีย เอเชียก็ยังเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดต่อไป เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าการขึ้นราคาน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ และปริมาณเงินที่มีมากขึ้นในเกือบทุกประเทศ

เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้ว่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะมีความกังวลต่อค่าเงินดอลลาร์ว่า ค่าเงินดอลลาร์ใน 2-3 ปีนี้น่าจะมีค่าอ่อนตัวลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ เมื่อเทียบกับทองคำ เช่น ยูโร หรือเงินเยนญี่ปุ่น ส่วนจะไปหยุดลงที่ไหนคงไม่มีใครคาดได้ถูก

ส่วนที่ห่วงใยกันว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง หรือเมื่อเศรษฐกิจที่แท้จริงของโลกฟื้นตัวแล้ว จะเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงนั้นก็ยังมองไม่เห็น ตราบใดที่ภาวะเศรษฐกิจแท้จริงของสหรัฐอเมริกายังไม่ฟื้นตัวอย่างจริงจังจนทำให้อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นในระยะที่เศรษฐกิจอเมริกายังคงอ่อนแออยู่อย่างนี้ อันตรายจากภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงอันเกิดจากการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบทั่วโลกก็ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น
สำหรับประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์และสื่อมวลชนตะวันตกออกมาตีข่าวว่า เงินดอลลาร์กำลังถูกท้าทายจากเงินสกุลอื่น เช่น เงินยูโร เงินเยน หรือเงินอื่น ๆ ในยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา หรือแม้แต่เงินหยวน ในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้า เงินดอลลาร์ก็ยังคงความสำคัญในฐานะที่เป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศ เป็นทุนสำรอง และเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรในตลาดการเงิน ตราสาร และสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ ยังมองไม่เห็นว่าจะมีเงินสกุลใด หรือเงินสกุลหลาย ๆ สกุลรวมกัน แล้วจะมีสภาพคล่องมากพอที่จะมาทดแทนเงินดอลลาร์ได้

แต่อย่างไรก็ตามความพยายามของผู้คนที่เกี่ยวข้องก็คงพยายามกระจายความเสี่ยงจากการถือสินทรัพย์ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐออกไปเป็นรูปแบบอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นทองคำ และเงินตราสกุลอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น
ราคาทองคำ และค่าเงินสกุลอื่น ๆ ก็คงจะค่อย ๆ สูงขึ้น ๆ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อค่าเงินสหรัฐอ่อนตัวลงเรื่อย ๆ ก็คงคาดได้ว่า ราคาน้ำมัน แร่ธาตุ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็คงจะมีราคาแพงขึ้น ๆ แต่ราคาสินค้าสำเร็จรูปยังไม่ฟื้นตัว ปัจจัยดังกล่าวนี้แหละจะเป็นตัวดึงเศรษฐกิจกลับลงมาที่เดิมอีก
เหมือนกับโอบามาพูดเกือบตายแต่ก็กลับมาที่เดิมเหมือนที่บุชเคยทำคือ เดินทางไปปักกิ่งขอให้จีนขึ้นค่าเงินหยวน
ในที่สุดก็กลับมาที่เดิม ยกเว้นยอดหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมหาศาล

วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 08:35:35 น.




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2552 15:28:09 น.
Counter : 500 Pageviews.  

"การอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐ"

"การอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐ"ที่มา กรุงเทพธุรกิจ โดย ดร.ศุภวฺุฒิ สายเชื้อ
การอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐเป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายในขณะนี้ และมีความกังวลว่าอาจจะเกิดวิกฤติเงินดอลลาร์ได้ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าเงินดอลลาร์น่าจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่น่าจะพัฒนาไปสู่วิกฤติ ซึ่งผมจะขอนำเอาแนวคิดของทั้งสองฝ่ายมาสรุปให้อ่านกันครับ

นิตยสารอีโคโนมิสต์ฉบับวันที่ 22 ตุลาคมสรุปว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่ไม่น่าจะตกต่ำลงอย่างรุนแรง (crash) เพราะยังเป็นเงินสกุลหลักของโลกที่ทุกคนต้องการถือครองเมื่อขาดความมั่นใจ เช่นช่วงเดือนกันยายน 2008 ถึงมีนาคม 2009 ที่เกิดการล่มสลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brother และส่งผลให้เกิดความระส่ำระสายของระบบการเงินของโลก ทำให้นักลงทุนทิ้งตราสารหุ้น ตราสารหนี้และเงินสกุลอื่นๆ กลับมาถือเงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 13% ดังนั้น การอ่อนตัวของเงินดอลลาร์ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นการอ่อนตัวเมื่อความตื่นตระหนกของนักลงทุนเริ่มคลี่คลาย และหันกลับไปรับความเสี่ยงจากการลงทุนประเภทต่างๆ ได้มากขึ้น และลดการถือเงินดอลลาร์ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำมาก แต่ประเด็นสำคัญ คือ เมื่อเกิดความตื่นตระหนก นักลงทุนก็ยังมองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ที่ให้ความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด

แปลว่าไม่น่าจะมีการทิ้งเงินดอลลาร์จนทำให้เกิดวิกฤติ แต่อีโคโนมิสต์ก็ยอมรับว่าเงินดอลลาร์น่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังมีความอ่อนแออยู่ กล่าวคือเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางย่อมจะได้ประโยชน์จากเงินที่อ่อนค่า อันจะทำให้ส่งออกได้ดีขึ้นและนำเข้าลดลง เราจึงเห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าแม้รัฐมนตรีคลังสหรัฐและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ จะออกมายืนยันว่า สหรัฐต้องการเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าไม่ใช่อ่อนค่า แต่ตลาดกลับมองว่าเมื่อเศรษฐกิจยังอ่อนแอ นโยบายการเงินก็ต้องผ่อนปรน (พิมพ์เงินออกมามาก) และนโยบายการคลังก็ต้องขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารกลางสหรัฐนั้นก่อนวิกฤติจะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาประมาณ 9 แสนล้านดอลลาร์ ให้เป็นสภาพคล่องหลัก (ฐานเงิน) แต่ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐปล่อยกู้ให้กับระบบการเงินเพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวต่างๆ ในตลาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐปล่อยสภาพคล่องเพิ่มจาก 9 แสนล้านดอลลาร์เป็น 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลโอบามาก็ขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ แปลว่ารวมกันแล้วธนาคารกลางกับรัฐบาลสหรัฐมีบทบาทเข้าไป "อุ้ม" เศรษฐกิจสหรัฐรวมกันประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 20% ของจีดีพี และมีแนวโน้มว่ามาตรการต่างๆ จะต้องทำต่อเนื่องไปอีกในปีหน้า โดยจะต้องเริ่มดึงสภาพคล่องออกบางส่วน แต่ตลาดกำลังเป็นห่วงว่าหากถอนตัวช้าไปก็จะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ แต่หากถอนตัวเร็วไปเศรษฐกิจก็อาจยุบตัวลงได้ ความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะทำให้เงินดอลลาร์ มีโอกาสอ่อนมากกว่าแข็งค่า

สำหรับอีโคโนมิสต์นั้นความเสี่ยงของการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์มี 3 ประการคือ
1. ประเทศเอเชียไม่ยอมให้ค่าเงินของตนแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ (อาทิเช่น จีนผูกค่าเงินหยวนกับดอลลาร์) ซึ่งจะทำให้เอเชียเกิดปัญหาฟองสบู่ได้ในอนาคต และสร้างภาระให้กับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิเช่น เงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากจนอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่สามารถฟื้นตัวได้
2. นโยบายการเงินการคลังของสหรัฐปัจจุบันไม่ยั่งยืน คือ กู้เงินและปล่อยสภาพคล่องมากเกินไป จะต้องปรับลดลง และ
3. เศรษฐกิจสหรัฐจะลดความสำคัญทางเศรษฐกิจลงในระยะยาว (เพราะเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ จะขยายตัวเร็วกว่าเศรษฐกิจสหรัฐ) ทำให้เงินดอลลาร์จะต้องถูกลดบทบาทลงในที่สุด (แต่กระบวนดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี)
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ไม่น่าจะนำไปสู่วิกฤติเงินดอลลาร์ในความเห็นของอีโคโนมิสต์ซึ่งสะท้อนความเห็นหลักของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป

ในอีกด้านหนึ่ง ดร. Allan Meltzer ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Carnegie Melton ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและธนาคารกลางของสหรัฐเขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมได้เริ่มต้นบทความ ว่า "สหรัฐกำลังเดินสู่วิกฤติการเงินครั้งใหม่" เพราะดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณสูง จนจะไม่สามารถรักษาวินัยทางการคลังได้ พร้อมกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป ซึ่งเคยมีหลายกรณีในอดีตที่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินและวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

ดร. Meltzer ยอมรับว่าปัจจุบันรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ (โดยเฉพาะเอเชีย) กำลังปล่อยกู้ให้กับสหรัฐโดยการซื้อตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ แต่การซื้อดังกล่าวย่อมมีขอบเขต และประเทศอื่นๆ ก็จะต้องมีภาระที่จะจัดการกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นของตนในที่สุด กล่าวคือ สหรัฐไม่ควรคิดว่าต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนจะยินยอมซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ออกใหม่อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไปเรื่อยๆ ตรงนี้ผมขอขยายความว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวโดยการกู้ยืม เพราะประชาชนสหรัฐใช้จ่ายเกินตัวก็จะกลับเข้าสู่วัฏจักรเดิมในช่วง 2003-2007 คือ สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 4-6% ของจีดีพี (ในปีนี้ จะขาดดุลเพียง 3% ของจีดีพี) แต่สิ่งที่จะแตกต่าง คือ ก่อนหน้านี้ การขาดดุล (การใช้จ่ายเกินตัว) นั้น กู้เงินจากต่างประเทศโดยการที่ภาคเอกชนสหรัฐขายตราสารหนี้ซีดีโอ (Collateralized Debt Obligation) แต่ในปัจจุบันและอนาคตจะทดแทนการใช้จ่ายเกินตัวโดยการขายตราสารหนี้ของรัฐบาล กล่าวคือ เปลี่ยนจากการกู้เงินโดยภาคเอกชนมาเป็นการกู้เงินโดยภาครัฐนั่นเอง

ในส่วนของผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เพิ่มสภาพคล่องมากเกินไปนั้น ดร.Meltzer อธิบายว่าปัจจุบันที่ธนาคารกลางสหรัฐรับซื้อตราสารประเภทต่างๆ มูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้นทำให้ธนาคารพาณิชย์ (ที่ไม่กล้าซื้อตราสารดังกล่าวเพราะเสี่ยงเกินไป) มีเงินส่วนเกินฝากเอาไว้กับธนาคารกลางมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ (idle reserves) เช่นกัน และหากรัฐบาลขาดวินัยทางการคลังโดยกู้เงินจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการออกตราสารหนี้ก็จะผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์นำเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ดังกล่าวไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลที่จะตามมา คือ เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงอย่างมาก เพราะปริมาณเงินในระบบจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความมั่นใจของนักลงทุนที่สรุปว่าเงินเฟ้อจะไม่เป็นปัญหาในอนาคตนั้น ดร.Meltzer เชื่อว่าเป็นข้อสรุปที่ผิดพลาด โดยนักลงทุนสรุปจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับลดลง และส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปกติและพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับราคาตามอัตราเงินเฟ้อ กล่าวคือเมื่อส่วนต่างต่ำก็แปลว่าตลาดเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ต่ำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว แต่ ดร.Meltzer เห็นว่าเครื่องบ่งชี้ดังกล่าวถูกบิดเบือนโดยการที่ธนาคารกลางปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารพาณิชย์โดยเกือบจะไม่คิดดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารพาณิชย์ซื้อพันธบัตรรัฐบาลในราคาที่สูง (ซึ่งทำให้ผลตอบแทนต่ำ) นอกจากนั้น ธนาคารกลางก็ยังเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรงอีกด้วย ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น จึงเป็นการบิดเบือนให้ผลตอบแทนของพันธบัตรต่ำกว่าความเป็นจริงอีกด้วย ในทำนองเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐก็ยังเข้าไปซื้อตราสารหนี้ระยะยาวของสถาบันการเงินที่รัฐบาลมอบหมายให้ปล่อยกู้ให้กับผู้ซื้อบ้าน ซึ่งเป็นการกดดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ที่ระดับต่ำเกินจริงอีกทางหนึ่งด้วย

ประเด็นหลัก คือ การกดดอกเบี้ยให้ต่ำเกินจริงจะส่งเสริมให้สหรัฐขาดวินัยทางการคลังและกู้ยืมเงินมากเกินไปจนในที่สุดจะนำไปสู่การสร้างหนี้สินและปัญหาเงินเฟ้อที่จะนำสหรัฐกลับเข้าไปสู่ยุคศตวรรษ 70 ซึ่งเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงเกิน 2 หลัก และในที่สุด ก็ต้องแก้โดยการปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงถึง 20% และเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยที่รุนแรง ทำให้การว่างงานปรับเพิ่มขึ้นไปสูงถึง 10.5% ในปี 1982

ดร. Meltzer สรุปว่ารัฐบาลสหรัฐจะต้องรีบปรับนโยบาย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในอนาคตโดยเร็วพร้อมกับการปรับลดการขาดดุลงบประมาณลงอย่างรีบด่วน ซึ่งจะนำไปสู่เสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของเงินดอลลาร์ หากไม่รีบดำเนินการก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตได้




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2552 13:11:50 น.
Counter : 424 Pageviews.  

เขาบอก ตลาดหุ้นจะมี Bear Market Rally ….

เขาบอก ตลาดหุ้นจะมี Bear Market Rally ….


ต้องถามก่อนนะครับ ว่าผู้อ่านมีความเชื่อหรือยังว่า ตอนนี้เราอยู่ในช่วง Recession หรือภาษาไทยก็คือ เศรษฐกิจถดถอย? ถ้าคำตอบคือเชื่อ บทความนี้จะช่วยขยายลักษณะ และพฤติกรรมตลาดหุ้นในช่วงนี้ให้ท่านเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าใครยังไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ แนะนำว่าให้รอดูผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไทยของไตรมาส 4 ที่กำลังจะทยอยออกมาเรื่อยๆหลังเดือน ม.ค. นี้นะครับ แล้วจะได้คำตอบเอง
ผมได้นั่งอ่าน Research ของโบรกเกอร์ต่างชาติหลายฉบับ ทั้งรายงานอดีตปัจจุบัน และพยากรณ์อนาคต ตอนนี้ทุกคนยอมรับว่าโลกจะแย่ขึ้นไปอีกในอีก 6 เดือนถึง1 ปีข้างหน้า แต่คำว่าแย่นี้ เขาดูที่ Real Sector หรือเศรษฐกิจภาคการผลิตและการบริโภคจริงๆนะครับ ไม่ใช่ว่าตลาดหุ้นจะแย่ตามไปอีก 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า สาเหตุก็เพราะ ตลาดหุ้นจะมีการพยากรณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทเหล่านั้นไปข้างหน้า 6 เดือนขึ้นไป ข่าวดีข่าวร้าย ที่จะเกิดขึ้น อะไรก็ตาม จะถูกนำไปคำนวนในมูลค่าของบริษัทเหล่านั้นตามความคิดเห็นของนักลงทุน และนักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ



เคยสงสัยไหมครับ ออกข่าวร้าย หุ้นวิ่ง พอมีข่าวดี ซื้อไปดันเจอตอ ไม่รู้ใครมาขายให้เราจังเลย (ไม่เห็นรึไงว่าข่าวดีออกมาเยอะแยะ?) นั้นเป็นเพราะข่าวเหล่านี้ บางครั้งก็อยู่ในการวิเคราะห์ของนักลงทุนที่เข้าถึงข้อมูลได้ดีกว่าเรา เช่นผู้จัดการกองทุนเข้าทำ Company Visit บริษัทนั้นๆมาแล้ว เป็นต้น ดังนั้น... การหาจังหวะ หาราคาซื้อ ราคาขาย จากการเล่นข่าว จึงเป็นวิธีที่ไม่ทำให้นักลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้กำไรจากตลาดอย่างยั่งยืนเลย



แล้ว Bear Market Rally นี่คืออะไร? เอา 2 คำแรกก่อนนะครับ Bear Market หรือ ตลาดหมี ก็คือช่วงตลาดขาลงนั้นเอง ปกติถ้ากางตามตำรา ตลาดหมีนี่จะมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป บางครั้งก็กินเวลา 2-3 ปีก็มีในตลาดต่างประเทศ คราวนี้เวลาตลาดลง ไม่ใช่ว่าจะลงอย่างเดียวแบบแย่งกันขายทั้งกองทุน ต่างชาติ และรายย่อย (Panic Sell) นะครับ ตลาดจะมีการสลับการขึ้นลงปรับฐานระหว่างทางตลอดเวลา ในมุมของผู้จัดการกองทุนนั้น เมื่อตลาดลง ก็เป็นโอกาสให้ผู้จัดการกองทุนปรับพอร์ต เปลี่ยนสัดส่วนการถือครองหุ้น หรือลดความเสี่ยงไปถือเงินสดเพิ่มขึ้นเมื่อเห็นว่าหุ้นมีโอกาสลงได้อีก ในช่วงเริ่มต้นเปลี่ยนแนวโน้ม จากตลาด Bull Market เป็น Bear Market นี่ สังเกตุไหมครับ ว่าเราจะไม่ค่อยจะรู้ตัวทันว่าตลาดเปลี่ยนเทรน  และไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ไม่รู้นะครับ ผู้จัดการกองทุนเองก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะทัศนคติที่เราทุกคนมีต่อตลาด Bull Market  เราจะมองปัญหาว่า เดี๋ยวมันก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆยังดี (ถึงแม้มันจะเป็นข้อมูลในอดีตก็เหอะ)
เมื่อตลาดเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้น เป็นขาลง ในระยะแรกๆ ผู้ขายส่วนใหญ่จึงเป็นนักลงทุนต่างชาติ ส่วนกองทุนและรายย่อยจะเป็นผู้เก็บของเข้าพอร์ตครับ เมื่อตลาดทำท่ายืนไม่ไหว ไม่สามารถทำราคาดัชนีไปสูงกว่าราคาเดิมได้ซักระยะ กองทุนก็จะเป็นผู้ขายผสมโรงเข้ามา รายย่อยอย่างเราๆ พอเห็นหุ้นลงแรง ก็โทรสั่งซื้อกองทุน ทำรายการผ่านอินเตอร์เน็ต เพราะยังหวังเห็น High เดิมอยู่ ต่อเมื่อเรารู้ตัวว่า เอ...ทำไมยิ่งซื้อยิ่งลงนั้นล่ะครับ นักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนระยะกลางและระยะสั้นจะเริ่มหันมาเป็นผู้ขาย แต่เป็นการขายแบบกำไรน้อย และเริ่มขาดทุน เมื่อนั้นเราจะเห็นนักลงทุนต่างชาติ และกองทุน สลับกันกลับมาเป็นผู้ซื้อบ้าง ซึ่งก็อธิบายได้ว่าเป็นการปรับพอร์ต หรือการซื้อหุ้นคืนหลังจากขายทิ้งที่ราคาข้างบนมาเยอะแล้ว
เวลาของตลาดหมีจะเริ่มอย่างจริงจังเมื่อมีข่าวร้ายแรงเกิดขึ้น แล้วทำให้นักลงทุนทั้งตลาดตระหนักแล้วว่า ตลาดเข้าสู่ภาวะ Bear Market แล้ว เมื่อนั้นจะเกิด Panic Sell อย่างรวดเร็ว ราคาจะลงแรงอย่างมาก และผู้รับหุ้นต่อ ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนรายย่อยระยะยาว กับนักลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นที่เน้นทำกำไรในส่วนตลาด Rebound ระยะสั้นๆ



 ถึงตอนนี้ แม้นักลงทุนต่างชาติ (ซึ่งน่าจะมีข้อมูลที่ดีกว่าเรา) เขาจะรู้ว่าตลาดจะเลวร้ายไปกว่านี้ แต่การขายหุ้นตอนนี้ จะมีคนแย่งขายด้วยตลอด ถ้าจะขายจริงๆคงขายไม่ได้ราคาแน่ๆ ถ้าอยากได้ราคา อยากขายได้ปริมาณมาก เพื่อกลับไปรับในราคาที่ต่ำกว่า ต้องทำยังไงล่ะครับ ช่วยผมคิดหน่อย.... เฉลย เขาต้องพยายามทำให้นักลงทุนกลุ่มอื่นในตลาดเชื่อว่า ขาลงหมดไปแล้ว หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเชื่อว่า ตลาดมีโอกาสรีบาว์นในระยะสั้นๆได้ เรียกอีกอย่างว่า “ซื้อเรียกแขก” นั้นเอง ในช่วงตลาดแบบนี้ ไม่ว่าข่าวร้ายจะมากแค่ไหน แต่ราคาหุ้นก็ไม่ลงแรงเท่าช่วงก่อนหน้า หนำซ้ำยังมีวิ่งขึ้นให้เราขายของได้อีกต่างหาก ขึ้นจนทำให้เราเชื่อว่า สงสัยมันจะขึ้นจริงๆ และเมื่อเราคิดว่าหุ้นจะขึ้นจริงๆ เมื่อนั้น แค่ข่าวร้ายนิดหน่อยๆออกมาเท่านั้นล่ะครับ ตลาดก็พร้อมลงทันที ยุทธการนี้ เราเรียกว่า Bear Market Rally
เล่ามาทั้งหมดนี้ รู้สึกคุ้นๆกันไหมครับว่าเหมือนกับตลาดหุ้นบ้านเราในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเลย นี่ล่ะครับ Bear Market Rally บ้านเมืองเราเจอปัญหารุมเร้า แต่ SET Index ก็ไม่หลุด 380 จุดซักที แถมยังเด้งขึ้นได้หน้าตาเฉย อาจจะมีข่าวดีก็เรื่อง เปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง ลดความตรึงเครียด แต่แท้จริงปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการแก้ไขนะครับ
สรุป ผมกำลังพยายามบอกว่า ราคาหุ้นนั้นสร้างกันได้ด้วยทัศนคติของนักลงทุนในตลาดในระยะสั้นๆ แต่พื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง จะมีอิทธิพลกับราคาหุ้นในระยะยาว และจริงแท้กว่า แต่ ณ ตอนนี้ ความเห็นส่วนตัวของผม ยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีจากอะไรเลย และกว่าจะเห็นก็คงจะเป็นครึ่งปีหลังไปแล้ว การลงทุนในกองทุนหุ้นช่วงนี้ จึงต้องระมัดระวังและมีวินัยเป็นพิเศษ



โชคดีในการลงทุนครับ






Free TextEditor




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2552 23:41:20 น.
Counter : 1645 Pageviews.  

หาโอกาสที่มีอยู่ในวิกฤตให้เจอ

เมื่อพูดถึงโลกแห่งการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวม ในขณะที่ทั่วทั้งโลกกำลังตื่นตระหนกกับความเสี่ยงที่จะเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกา (Recession) ผู้ที่ทำงานในสายการเงิน การลงทุน ที่ปรึกษา หรือนักวิเคราะห์ทั้งหลาย ก็ดูเหมือนว่าต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 2 เท่าจากสภาวะตลาดปกติ ทั้งนี้ เพราะเขาเหล่านั้นจะต้องรับกับอารมณ์อันแกว่งไปแกว่งมาของลูกค้า หรือนักลงทุนมากหน้าหลายตา ต้องอธิบายถึงปัญหา สาเหตุต่างๆที่เกิดขึ้น และกลยุทธ์ต่างๆที่ต้องทำเมื่อยามตกอยู่ในวิกฤต

หนึ่งในกลยุทธ์ Intelligent Investor โดย Benjamin Graham ผู้ซึ่ง Warren Buffett เรียกเต็มปากว่าอาจารย์ ได้ยึดเป็นหลักการในยามเกิดวิกฤตกับตลาดหุ้นก็คือ “Stay Calm, Stay Invest” แปลเป็นไทยง่ายๆก็คือ ใจเย็นๆ แล้วก็ลงทุนกันต่อไป ฟังดูแล้วก็เหมือนการตอบแบบกำปั้นทุบดินนะครับ แต่สิ่งที่นักลงทุน (ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย) ชอบปฏิบัติ กลับตรงกันข้ามกับคำกล่าวข้างต้น ตื่นตระหนก และหนีตาย ... สิ่งนี่ล่ะครับ ที่ทำให้เป้าหมายทางการเงินของนักงทุนทั้งหลายพังทลายลงไปทันที

เมื่อใจเย็น แล้วลงทุนกันต่อ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องลงทุนแบบหลับตาจิ้มเลือกหุ้นลงทุนกันไปนะครับ ทำอย่างนั้น ที่เราอุตส่าห์ใจเย็นไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร สิ่งที่ต้องทำตามมาก็คือการวิเคราะห์ถึงโอกาส และมองที่ปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจเป็นหลัก รวมถึงตั้งเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวเกิน 2-3 ปีขึ้นไป ว่าแล้วคำถามก็ถูกยิงมาเป็นชุดๆ การเมืองไทยยังเอาแน่เอานอนได้ยาก ปัญหา Subprime ที่อเมริกาก็ดูเหมือนจะกระทบกับ Sentiment ของตลาดหุ้นทั่วโลก หากคิดจะลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้น ควรทำอย่างไรในช่วงนี้ดี?

กลับไปที่ข้อมูลในอดีต ย้อนไปช่วงปี 1996-2005 ที่ผ่านมา แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ (ดูที่ GDP) ของอเมริกาเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ก็พบว่ามีความผูกพันกันพอสมควร แต่หลังจากปี 2006 เป็นต้นมานั้น กลับพบว่า เศรษฐกิจอเมริกา เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ลดลง อีกทั้งทาง IMF ได้เคยประเมินไว้ว่า กลุ่มตลาดเกิดใหม่น่าจะสามารถมี GDP เติบโตได้ในระดับ 7% ในขณะที่ทางอเมริกาจะโตเพียง 1.4% และเฉลี่ยทั่วโลกแล้วจะอยู่ที่ 4.1% ในปี 2008 นี้ เป็นตัวเลขที่น่าสนใจครับ นั้นหมายความว่า อเมริกามีอิทธิพลต่อโลกเศรษฐกิจและการเงินน้อยลง เมื่อเป็นเช่นนี้นักลงทุนทั้งหลายก็ต่างมองหาแหล่งลงทุนแหล่งใหม่ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนเมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงแล้วเป็นที่น่าพอใจ เมื่อดูจาก GDP แล้วก็คงพอรู้นะครับ ว่านักลงทุนส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่ใด แน่นอนว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก แต่ที่ๆได้รับความสนใจมากที่สุดอยู่ใกล้ๆเรานี่เองครับ “ประเทศจีน” ไม่ขอพูดถึงราคาหุ้นในตลาดหุ้นเซิ้นเจิ่น หรือเซี่ยงไฮ้ แต่ขอพูดตัวเลขอื่นๆที่นอกเหนือจากราคาหุ้น ซึ่งเป็นตัวเลขและข้อมูลที่น่าสนใจ และน่าตกใจไม่แพ้ราคา หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นจีนเลยทีเดียว
ในปี 2547 ที่ผ่านมา จีนมีการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือมากถึง 220 ล้านข้อความ และจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น่าจะต่ำกว่า 10% ทุกปี ตัวเลขนี้น่าจะบอกอะไรเราได้ว่าคร่าวๆว่า ธุรกิจสื่อสารในประเทศจีนมีอนาคตเป็นอย่างไร ตัวเลขต่อมานะครับ ปัจจุบันประเทศจีนมีประชากรอายุ 10-14ปี จำนวนไม่น้อยกว่า 320 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากกว่าประชากรทั้งหมดของประเทศอเมริกา!! ตัวเลขนี้บอกถึงโครงสร้างทางประชากร และอุปสงค์ต่อสินค้าในอนาคตอันมหาศาล (แต่ก็อาจหมายถึงปัญหาอีกหลายด้านเหมือนกัน) .... ต่อมาครับ ปัจจุบันประเทศจีนมีคนที่สามารถพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง มากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของอเมริกาที่พูดภาษาแม่เป็นภาษาอังกฤษเสียอีก เมื่อรวมกับข้อมูลตัวต่อไปก็ทำให้จีนมีความน่ากลัวมากขึ้นเยอะเลย แรงงานด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอในอเมริกาได้รับค่าจ้าง 9.56 เหรียญต่อ ช.ม. ในเอล ซาวาดอร์ ได้รับ 1.65 เหรียญต่อ ชม. แต่ในประเทศจีน คนงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างเพียง 88 เซนต์ต่อชม. นับไม่ถูกเลยว่าต่างกันเท่าไหร่ ตัวเลขนี้ บอกถึงความน่ากลัวที่อาจกระทบต่อฐานการผลิตสินค้าของประเทศต่างๆ และไม่น่าแปลกใจที่บริษัทข้ามชาติกล้าย้ายฐานการผลิต และปิดโรงงานที่บ้านเกิดตนเองอย่างไม่ลังเล เพื่อเข้ามาทำธุรกิจในจีน ก็ในเมื่อแรงงานถูกและมีความรู้ ในขณะที่อุปสงค์ในตลาดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดในระยะยาว มันก็เป็นการลงทุนที่คุ้มเสี่ยงล่ะครับ ไม่ว่าจะเอาส่วนไหนของสมองมาคิด

พูดถึงตัวเลขที่เกี่ยวกับคนไปพอสมควร มาดูที่ต่างออกไปซักอัน ปัจจุบันประเทศจีนใช้ปูนซีเมนต์ประมาณ 40% และเหล็กกล้าอีกประมาณเกิน 20% ของโลก ประเทศที่ครั้งหนึ่งต้องต้องสู้กับความยากจนมาตลอด มังกรใหญ่ซึ่งหลับใหลอยู่ในพื้นโลกได้ตื่นจากการนอนอันยาวนานเรียบร้อยแล้วครับ น่าจะพอเห็นอะไรกันบ้างว่า ในวิกฤต หากเราใช้ความมีเหตุผล และพิจารณาอย่างรอบคอบ โอกาสในการลงทุนยังคงมีอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ขอเพียงอย่างเดียวครับ อย่าเลิกไปซะก่อนแค่นั้นเป็นพอ

บทความโดย Mr.Messenger จากนิตยสาร Smartfund ฉบับเดือน มี.ค. 51




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 5 พฤษภาคม 2551 15:09:06 น.
Counter : 501 Pageviews.  

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุน

What is the most important thing if you want to invest ?


ไม่ใช่แค่ตัวของผู้ที่เริ่มต้นลงทุน หรือ เริ่มต้นออมเงินอย่างจริงจังเท่านั้น ที่เกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ ในระหว่างทางของการลงทุนนั้น ตัวเราเองก็จะถามตัวเองไปตลอดทางว่า อะไรที่ทำให้เราอยู่รอดในการลงทุนไปได้ตลอดรอดฝั่ง สิ่งใดจะมาลดความเสี่ยง หรือขจัดความเสี่ยงนี้ออกไปจากใจของนักลงทุนได้

..... คำตอบคือ "ไม่มี" ครับ ไม่ได้แค่ตั้งหัวข้อการลงทุนขึ้นมากวนบาทาใครเล่นๆ แล้วตอบแบบกำปั้นทุบดินให้คนอ่านรู้สึกเจ็บใจเล่นเลย ความจริงก็คือ ตลอดระยะทางแห่งการลงทุนนั้น เราไม่สามารถขจัดความเสี่ยงออกไปให้พ้นจากตัวเองได้เลย แม้กระทั่งการฝากเงินไว้กับธนาคาร ทำไมนะหรือ?? ก็เพราะว่า เมื่อดอกเบี้ยที่ธนาคารให้เรานั้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในตลาด นั้นก็หมายถึงเรากำลังมีอำนาจการซื้อที่ลดลง ถึงแม้ตัวเงินจะเพิ่มขึ้นทุกปีๆก็ตาม นี้คือความเสี่ยง ซึ่งมาในรูปแบบอื่น นอกเหนือจากความผันผวนของผลตอบแทนที่คนส่วนใหญ่ลืมนึกไป และหากนักลงทุนเป็นพนักงานเงินเดือนซึ่งรอวันเกษียญ ถามตัวเองดูครับว่า เงินเดือนเรา ณ ปัจจุบัน ขึ้นเงินเดือน และเก็บเงินไปเรื่อยๆ เรามีโอกาสจะเป็นอิสระทางการเงิน (Financial Freedom) ได้หรือไม่? ด้วยเงินเก็บจากงานประจำ และการฝากเงินในธนาคาร ทำให้อัตราการเติบโตของเงินออม ไม่สร้าง Wealth ให้กับนักลงทุนแม้แต่น้อย แล้วลองนึกถึงวัยเกษียญในบั้นปลายชีวิตของเราสิครับ ถ้าลูกหลานไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด หรือคนที่ไม่คิดจะมีลูกหลาน... เราจะทำอย่างไรดี

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุน นั้นก็คือ "เราต้องเข้าใจว่า การลงทุนนั้นสำคัญกับเราอย่างไร"

สำคัญมากครับ เป้าหมายการลงทุนที่เราต้องวาดไว้ ย้ำว่าทุกๆคนเลย ก็คือ ความเป็นอิสระทางการเงิน ซึ่งหมายความว่า เราสามารถหลุดออกมาจากชีวิตของงานประจำ โดยสามารถจับจ่ายใช้สอย และดำเนินชีวิตประจำวัน มีเงินออมฉุกเฉิน ซึ่งมาจากรายได้จากการลงทุน ที่สร้างให้เราทุกเดือน ทุกปี ต่อเนื่องกันไป

เมื่อเป้าหมายทางการเงินของเราชัดเจนแล้ว เราจะลงทุนอย่างมีระบบ และรอบคอบมากขึ้น นี้คือสิ่งที่จะตามมาครับ ทุกวันนี้ หลายคน ลงทุนเพราะอยากได้ผลตอบแทนที่สูง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่พอขาดเป้าหมายใหญ่ในการลงทุนไป เราก็มีความลังเลในการออม การลงทุน และบ่อยครั้ง เราก็ถามตัวเองว่า ที่เราทำอยู่นั้น ถูกหรือเปล่า หรือ จริงๆแล้วเราควรจะทำอย่างไรกับเงินลงทุนของเราดี จนทำให้เราพลาดโอกาส หรือตัดสินใจผิดพลาดได้

ตั้งเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน และหนักแน่น นี้คือจุดเริ่มต้นของการลงทุนที่แท้จริง




 

Create Date : 07 สิงหาคม 2550    
Last Update : 7 สิงหาคม 2550 18:19:30 น.
Counter : 492 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

Mr.Messenger
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 61 คน [?]




Head, Investment Consultants Citigold Citibank N.A. (Thailand)
free hit counter
click here
free hit counter
Friends' blogs
[Add Mr.Messenger's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.