เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

“สะพานมอญ” สังขละ เคลียร์ไม่จบ! คาดซ่อมได้ต้นปี 57

สะพานลูกบวบที่สร้างขึ้นใช้แทนสะพานมอญชั่วคราว
หลังจาก “สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” ที่เป็นสัญลักษณ์ของ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ได้ถูกน้ำป่าและน้ำฝนพัดผ่าน ทำให้ช่วงกลางของสะพานพังลงมาเป็นระยะทางกว่า 50 เมตร เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา จนทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่สัญจรผ่านสะพานไม่ได้

       จากกรณีดังกล่าวได้มีการสร้างสะพานลูกบวบขึ้น จากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นสะพานชั่วคราวในการสัญจรไปมา แทนสะพานไม้มอญที่ขาดลงไป จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากสะพานลูกบวบนั้นสร้างใกล้กับสะพานไม้มอญมากเกินไป ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการซ่อมแซมสะพานไม้ (สะพานมอญ)

       หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการประชุมหารือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีมติว่า จะให้เคลื่อนย้ายสะพานลูกบวบให้ห่างจากสะพานไม้มอญ 15 เมตร และให้เคลื่อนย้ายแพล่อง (แพท่องเที่ยว) ออกไปจากจุดเดิม โดยให้มีระยะห่างจากสะพานลูกบวบ 6 เมตร

ชาวบ้านช่วยกันเก็บเศษไม้ที่พัดมาติดสะพานลูกบวบ
       ภายหลังจากมีมติแล้ว พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ได้นัดชาวบ้านและผู้ประกอบการแพมาเจรจาตกลงกันเพื่อให้เคลื่อนย้ายแพออกห่างจากจุดเดิม แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแพได้ เนื่องจากผู้ประกอบการแพไม่ยินยอม โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการแพของตน เนื่องจากต้องย้ายแพออกไปห่างจากที่เดิมมาก

       หลังข้อตกลงย้ายแพท่องเที่ยวไม่บรรลุผล ล่าสุดปัญหาดังกล่าวยังคาราคาซัง เพราะจากการลงพื้นที่สำรวจ ยังพบว่าสะพานลูกบวบนั้นยังอยู่ในระยะใกล้ชิดกับสะพานไม้มอญ โดยมีระยะห่างไม่ถึง 20 เมตร และแพท่องเที่ยวหลายเจ้ายังอยู่ติดกับสะพานลูกบวบมาก (ราว 2-3 เมตร) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการซ่อมสะพานไม้มอญที่จะเกิดขึ้นหลังน้ำลด (ราวต้นปี 2557)

       ทั้งนี้จากการสอบถามชาวบ้าน (ชาวมอญที่มาซ่อมสะพานลูกบวบ) ได้บอกว่า ในเรื่องของการซ่อมสะพานนั้นเป็นเรื่องของทางจังหวัดที่จะต้องจัดการ ส่วนกำหนดการในการซ่อมสะพานไม้นั้น ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดวันที่ที่แน่นอน เนื่องจากต้องรอให้น้ำในแม่น้ำลดลงก่อน เพราะตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงน้ำขึ้น ทำให้ยังซ่อมสะพานไม่ได้

แพท่องเที่ยวที่อยู่ติดกับสะพานลูกบวบ
       ด้านพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านก็มาช่วยกันกำจัดพวกเศษไม้ต่างๆ ที่พัดมาติดสะพานทุกวัน เนื่องจากเศษไม้พวกนี้จะทำให้ดูสกปรก และจะมาดันสะพานลูกบวบให้เกิดความเสียหาย ซึ่งตอนนี้ก็ต้องซ่อมแซมกันตลอด เพราะสะพานลูกบวบนั้นสร้างจากไม้ไผ่จึงทำให้ไม่แข็งแรงและชำรุดง่าย ทำให้ตอนนี้ก็มีการซ่อมแซมกันอยู่ตลอด จนกว่าจะมีการซ่อมสะพานไม้มอญเสร็จ

“ณ ตอนนี้ทางวัดมีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษา ส่วนเรื่องของระยะห่างของสะพานไม้มอญกับสะพานลูกบวบนั้น คิดว่าต้องมีระยะห่างระหว่างแพลูกบวบกับสะพานไม้ซัก 20 เมตร เพราะเวลาซ่อมจะได้สะดวก ส่วนเรื่องแพนักท่องเที่ยวนั้นยังตอนนี้ยังไม่ได้ขยับ และยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะตอนนี้ยังไม่ได้ซ่อมสะพาน แต่ถ้าถึงเวลาสร้างจริงแล้วแพท่องเที่ยวยังไม่ขยับ ทางจังหวัดจะเป็นฝ่ายเจรจาของร้องอะไรต่างๆ เอง” เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม กล่าว


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000122981




 

Create Date : 30 กันยายน 2556   
Last Update : 30 กันยายน 2556 21:31:50 น.   
Counter : 1207 Pageviews.  

ชมเสาอิฐแกนกลางเจดีย์หนึ่งเดียวแห่งรัตนโกสินทร์ ที่“วัดประยูรฯ” คุณค่าสมรางวัลอนุรักษ์ยอดเยี่ยมจากยู

       โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

พระบรมธาตุมหาเจดีย์แห่งวัดประยุรวงศาวาส
       หากใครเคยนั่งเรือหรือนั่งรถผ่านแถวสะพานพุทธยอดฟ้าฯ ถ้ามองไปทางฝั่งธนฯ ก็คงจะเคยเห็นเจดีย์สีขาวสะอาดชูยอดแหลมขึ้นสู่ท้องฟ้า เจดีย์องค์ที่เห็นนี้ก็คือ "พระบรมธาตุมหาเจดีย์" ของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่เมื่อปี 2550 เคยมีข่าวพบกรุพระบรมสารีริกธาตุและกรุพระต่างๆ ภายในองค์เจดีย์จนมีผู้ให้ความสนใจกันมากมาย

พรินทรปริยัติธรรมศาลาอยู่ติดกับองค์พระเจดีย์
       มาในปีนี้พระบรมธาตุมหาเจดีย์องค์นี้ก็มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อยูเนสโกได้ประกาศผลการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556 เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งปีนี้มีการส่งเข้าประกวดกว่า 47 โครงการ จาก 16 ประเทศ ผลปรากฏว่า โครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence ด้วยเหตุผลว่ามีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลานี้สะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง

ทางเดินระหว่างพระเจดีย์องค์ใหญ่และพระเจดีย์ราย
       วันนี้ฉันจึงต้องมาชมองค์พระเจดีย์ที่วัดประยูรฯ ดูเสียหน่อยว่าน่าสนใจอย่างไรจึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แต่ก่อนจะไปชมวัดมาทราบประวัติคร่าวๆ ของวัดเป็นพื้นฐานกันก่อน วัดประยูรฯ สร้างขึ้นเมื่อปี 2371 ผู้สร้างคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่าและสมุหพระกลาโหม ท่านได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้น และถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลาก่อสร้างวัดนาน 8 ปีด้วยกัน

พรินทรปริยัติธรรมศาลา ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด
       ในส่วนขององค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ก็สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เช่นกัน แต่สร้างภายหลังจากการสร้างวัด พระเจดีย์ไม่ทันแล้วเสร็จผู้สร้างก็ถึงแก่พิราลัยไปก่อน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงได้เป็นผู้สร้างต่อจนพระเจดีย์เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4

       พระบรมธาตุมหาเจดีย์เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง 60.525 เมตร และมีพระเจดีย์องค์เล็ก 18 องค์เรียงรายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ปี 2450 โดยพระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 10 ได้บูรณะพระเจดีย์องค์เล็ก ซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานในพระเจดีย์องค์ใหญ่

เสาแกนกลาง หรือเสาครูขององค์พระบรมมหาธาตุเจดีย์
       ภายหลังองค์เจดีย์ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนมาในยุคที่พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยูรฯ รูปปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2549 และทำให้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนพระเจดีย์เมื่อช่วงปลายปี 2550

ปัจจุบันเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมและลอดองค์เจดีย์กันได้
       ในช่วงนั้นข่าวกรุพระวัดประยูรฯ แตกเป็นข่าวโด่งดังอยู่ช่วงหนึ่ง ประชาชนผู้ศรัทธาต่างมุ่งหน้าไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุที่ทางวัดได้นำไปประดิษฐานไว้ในวิหารพุทธนาค และในปัจจุบันก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุบางส่วน พระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในกรุมาจัดแสดงไว้ในหอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์

       พรินทร์ปริยัติธรรมศาลาแห่งนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ศาลาแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งสร้างต่อจากมุขพระบรมธาตุมหาเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร สร้างเป็นตึกชั้นเดียวในสไตล์ตะวันตก ศาลาแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนแห่งแรกของไทย และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรอีกด้วย ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมของล้ำค่าที่พบในกรุบนองค์เจดีย์ และสิ่งของต่างๆ ที่มีผู้ถวายสมทบภายหลังด้วย คนที่มาเยือนวัดประยูรฯ ไม่ควรพลาดชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เด็ดขาด

พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์
       กลับมาต่อกันที่องค์เจดีย์กันอีกครั้ง โดยหลังจากการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ทางวัดยังได้บูรณะองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์อย่างยิ่งใหญ่ โดยคนทั่วไปอาจไม่รู้ว่า ภายในองค์เจดีย์นั้นมีเสาแกนกลาง หรือเสาครูขนาดใหญ่ มีขนาดกว้างด้านละ 2 ม. สูง 18 ม. หนักถึง 144 ตัน ก่อด้วยอิฐโบราณ สอด้วยปูนหมักน้ำอ้อยและกาวหนัง เสาแกนกลางดังกล่าวใช้เป็นศูนย์กลางรัศมีวงกลมของเจดีย์ และเป็นเสาหลักสำหรับวางพาดไม้นั่งร้านในขณะก่อสร้างองค์เจดีย์ และยังเป็นเสาค้ำบัลลังก์ปลียอดเจดีย์อีกด้วย ซึ่งเจดีย์ที่มีเสาอิฐเป็นแกนกลางเช่นนี้ นับเป็นหนึ่งเดียวของเจดีย์ในยุครัตนโกสินทร์เลยทีเดียว

       แต่จากที่ได้มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2535 พบว่าเสาแกนกลางนี้ได้ล้มเอียงพิงผนังภายในองค์เจดีย์ ทำให้เจดีย์เอียงไปทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทางวัดจึงเริ่มซ่อมแซมเสาแกนกลางนี้เมื่อปี 2553 หลังจากที่มีการศึกษาและออกแบบวิธีการบูรณะเสาแกนกลางมาเป็นปี

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์
       การซ่อมแซมจึงไม่มีการรื้ออิฐออกแต่อย่างใด แต่ใช้ก่ออิฐเสริมฐานเสาแกนให้เต็มฐานและเข้าเผือกที่แกนเสาก่อนบูรณะ แล้วจึงใช้แม่แรงดีดแกนเสาให้ตั้งตรง นับเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยอนุรักษ์โบราณสถานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการอนุรักษ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ได้รับรางวัลจากยูเนสโก

       และนอกจากนั้น การบูรณะและอนุรักษ์องค์เจดีย์ยังได้รับความร่วมมือที่สำคัญจากชุมชนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนกะดีจีน ชุมชนคลองสาน และชุมชนต่างๆ ใกล้เคียง ที่ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมบริจาคเงินและบริจาคข้าวของพระพุทธรูปต่างๆ ให้แก่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งถือว่าพวกเขามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การบูรณะครั้งนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี จนมีผลทำให้ชุมชนเองมีแหล่งเรียนรู้ ทั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งโบราณสถานอันงดงามสมบูรณ์ และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ยูเนสโกมองเห็นความร่วมมือนี้ จนนำมาสู่รางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในครั้งนี้

ภายในพระวิหารพระพุทธนาค
       มาในวันนี้ องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ได้รับการบูรณะจนสำเร็จงดงาม และเปิดให้ประชาชนเข้าไปชมภายในองค์เจดีย์กันได้ ซึ่งนอกจากจะได้เข้าไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุกันถึงภายในแล้ว ยังจะได้ชมภูมิปัญญาที่ผสมผสานกันระหว่างช่างสมัยเก่าและช่างสมัยใหม่ที่สร้างและอนุรักษ์ไว้ให้เราได้ชมกันถึงวันนี้

       นอกจากพระบรมธาตุมหาเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ของวัดที่ไม่ควรพลาดชมแล้ว ในวัดประยูรฯ ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถที่ประดิษฐาน “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่นำช่างฝีมือปิดทองเป็นชาวญี่ปุ่น ส่วนพระวิหาร ประดิษฐาน “พระพุทธนาค” พระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยคู่กับพระศรีศากยมุนี และยังมีภูเขามอ หรือเขาเต่า ซึ่งเป็นภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยหิน ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณด้านหน้าวัด ซึ่งในสระน้ำก็มีเต่าและตะพาบน้ำอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศสงบของวัดประยูรฯ แห่งนี้

ภูเขามอ (เขาเต่า)
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

       “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” ตั้งอยู่ใกล้เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดโทร. 0 2465 5592

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000121858




 

Create Date : 28 กันยายน 2556   
Last Update : 28 กันยายน 2556 16:38:19 น.   
Counter : 1345 Pageviews.  

“แม่วงก์” ป่าสมบูรณ์ เสือชุก นกยูงชุม...ไม่ใช่เขต“ปลอดสัตว์”!!!/ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

หินเรือใบ บนยอดเขาโมโกจู สัญลักษณ์แห่งป่าแม่วงก์
       ในบรรดาป่าในเมืองไทยที่เคยไปตะลุยมา ผมยกให้การไปพิชิตยอดเขา“โมโกจู”แห่งผืนป่าแม่วงก์ เป็นทริปที่โหดหินที่สุด

       แต่เมื่อขึ้นไปแล้วบอกได้เลยว่าบนนั้นสวยงามคุ้มค่าน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

       ที่สำคัญเหนือไปกว่าการพิชิตยอดเขาก็คือการได้“พิชิตใจ”ตัวเองที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคขึ้นไปยืนบนนั้นได้

เมื่อมองจากยอดโมโกจูจะเห็นทะเลบล็อกโคลี่ที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์
ทะเลบล็อกโคลี่

       ยอดเขาโมโกจูมี“หินเรือใบ”เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของป่าแม่วงก์ ตั้งอยู่บนความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเล สามารถชมวิวได้ 360 องศารอบทิศทาง บนนี้นอกจากจะเป็นจุดชมทะเลหมอก ชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกแล้ว ยังมี“ทะเลบล็อกโคลี่”ให้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน

       ทะเลบล็อกโคลี่เป็นคำที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ใช้เรียกขานทิวทัศน์ของผืนป่ายามเมื่อมองลงมาจากยอดโมโกจู เพราะมันดูเขียวขจีมองไกลๆคล้ายแปลงบล็อกโคลี่ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมอยู่เต็มผืนป่าเบื้องล่าง แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์ นับเป็นความภูมิใจของชาวพิทักษ์ป่าอช.แม่วงก์ที่สามารถดูแลรักษาป่าใหญ่ผืนนี้ให้คงความสมบูรณ์เอาไว้ให้ลูกหลาน

       แต่ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นอย่างเลือดเย็น นอกจากความภาคภูมิใจของเหล่าพิทักษ์ป่าในอช.แม่วงก์จะถูกทำลายลงโดยอดีตเจ้านายเก่าของเขาแล้ว

นี่ยังถือเป็นโครงการการทำลายป่าครั้งมโหฬารอีกครั้งหนึ่งของเมืองไทย

เสือโคร่งที่ถูกอช.แม่วงก์บันทึกได้ด้วยกล้องอินฟาเรด
เสือชุก

       ตลอดเวลา 5 วัน 4 คืนในเส้นทางพิชิตยอดโมโกจู(เดินขึ้น 3 วัน ลง 2 วัน) ระหว่างทางขึ้น-ลง ผมได้พบกับร่องรอยของสัตว์ป่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เก้ง กวาง หมูป่า หมาใน เม่น กระทิง สมเสร็จ ช้าง โดยเฉพาะร่องรอยของเสือโคร่งที่ปรากฏให้เห็นกันชุกทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น “รอยตีน”ที่มีให้เห็นเป็นระยะๆและเยอะเป็นพิเศษที่โป่งสัตว์ “ขี้เสือ”ที่มีทั้งกองใหม่-เก่า ขี้กองใหม่บางกองสดถึงขนาดยังเปียกชื้นแถมยังมีขนและกีบของเหยื่อที่มันกินติดปนมาด้วย “รอยข่วน”ที่ทิ้งไว้ตามต้นไม้เพื่อประการศักดาและลับเล็บไปในตัว “สเปรย์”(กลิ่นพิเศษของเสือปล่อยออกมาคล้ายฉี่)ที่ปล่อยทิ้งไว้เพื่อแสดงอาณาเขต

       อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่เรื่องชวนแปลกใจแต่อย่างใด เพราะป่าแม่วงก์ปัจจุบันถือเป็น “ดงเสือ”ที่สำคัญของเมืองไทย เนื่องจากที่นี่มีป่าดิบผืนใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า“อุ้มผาง”และป่ามรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า“ห้วยขาแข้ง” ซึ่งต่างชุกชุมไปด้วยสิงสาราสัตว์

คู่เสือโคร่งที่กล้องอินฟาเรดในโครงการสำรวจเสือบันทึกไว้ได้
โดยป่าแม่วงก์ปัจจุบัน จากการสำรวจของกรมอุทยานฯที่จับมือกับ WWF พบว่ามีเสือโคร่งมากถึง 11 ตัว นับเป็นเรื่องที่ชวนทึ่งไม่น้อยสำหรับป่าผืนนี้ เพราะในอดีตย้อนไปช่วงปี พ.ศ. 2543-2545 ผลการสำรวจไม่พบร่องรอยของเสือโคร่งเลย แต่กว่า 10 ปีผ่านมาที่นี่กลับมาเสือชุกอย่างไม่น่าเชื่อ นับเป็นผืนป่าที่หาไม่ได้ง่ายๆในโลกที่มีการเติบโตของประชากรเสือโคร่งอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

       สำหรับเสือโคร่งถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะในระบบนิเวศของผืนป่า เสือเป็นสัตว์นักล่าที่ที่อยู่บนยอดพีรามิด เมื่อมีเสือชุกก็แสดงว่ามีสัตว์อาหารของเสือ อย่างเช่น เก้ง กวาง กระทิง มาก นั่นหมายความว่าป่าแห่งนั้นต้องมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ให้สัตว์ในห่วงโซ่อาหารดำรงคงอยู่ไปตามวิถีของมัน ดังคำกล่าวที่ว่า

“เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง”

นกยูงตัวผู้รำแพนอวดตัวเมียระหว่างหากินที่ป่าแม่เรวา
นกยูงชุม

       สำหรับจุดที่คาดว่าจะถูกใช้สร้างเป็นสันเขื่อนแม่วงก์นั้นอยู่ที่ “แก่งลานนกยูง” แห่งป่า“แม่เรวา” ที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าแม่วงก์ ซึ่งนักการเมืองผู้ต้องการสร้างเขื่อนบางคนอ้างว่า บริเวณนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ความจริงที่นี่ยังมีต้นไม้ใหญ่อยู่มากหลาย โดยเฉพาะต้นกระบากยักษ์ อายุกว่า 200 ปี วัดรอบลำต้นได้กว่า 600 เซนติเมตร

       นอกจากนี้ที่แก่งลานนกยูงยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยอันสำคัญของ“นกยูง” อีกหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ซึ่งบริเวณนี้คือถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของนกยูง ดังจะเห็นได้จากชื่อแก่งลานนกยูงที่เรียกขานมาแต่ช้านาน แต่หลังจากที่ป่าแห่งถูกผู้คนบุกรุก มีการฆ่า ทำร้าย และทำลายแห่งอาหารนกยูง ทำให้นกยูงตามธรรมชาติสูญหายไปเป็นจำนวนมาก

ป่าที่นักการเมืองบางคนบอกว่าเสื่อมโทรมแต่มีนกยูงอาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่
       กระทั่งเมื่อมีการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ผืนป่าค่อยๆฟื้นคืนมา นกยูงก็เริ่มกลับมา กอปรกับมีการนำนกยูง(ป่า)ที่คนซื้อไปเลี้ยงมาปล่อยคืนสู่ป่า ก็ทำให้นกยูงปล่อยไปรวมกับนกยูงป่ากลายเป็นนกยูงฝูงใหญ่ที่ออกหากินตามธรรมชาติ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะป่าด้านนอกแม้เพิ่งฟื้นตัวแต่ป่าด้านในนั้นสมบูรณ์มาก

       นกยูงที่แม่เรวาส่วนใหญ่เป็นนกยูงไทย อีกหนึ่งพันธุ์สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ของโลกพบในไม่กี่ประเทศ ซึ่งปัจจุบันที่ป่าแม่เรวามีการสำรวจพบนกยูงอาศัยอยู่ประมาณ 20 ตัว แบ่งเป็น 2 ฝูง ฝูงละประมาณ 10 ตัว แต่ละฝูงมีตัวผู้ 1 ตัวเป็นหัวหน้าฝูง

นกยูงออกหากินที่ป่าแม่เรวา
       เหตุที่บริเวณนี้เป็นถิ่นอาศัย แหล่งหากินของนกยูงมานับแต่อดีต เพราะมีลำน้ำแม่เรวาใสสะอาด มีลานหิน หาดทรายเป็นแหล่งลงมาหากิน และมีต้นไม้ใหญ่ให้พวกมันได้อาศัยหลับนอน

       ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนขึ้นนกยูงเหล่านี้ไม่รอดแน่ เพราะพวกมันไม่สามารถบินสูงพอที่จะหนีมวลน้ำมหาศาลที่ท่วมสูงนับสิบเมตรได้ อีกทั้งแหล่งหากินของพวกมันยังถูกทำลายลงไปอีกด้วย

       ส่วนใครที่บอกว่า ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้ เพื่อทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปจากการสร้างเขื่อน เขาอาจจะเอาเสือเลี้ยงจากสวนเสือมาปล่อยได้ แต่มันจะอยู่ได้หรือเปล่าไม่รู้ ส่วนนกยูง(ไทย) และสัตว์อีกหลายชนิดที่ต้องตายลงจากการสร้างเขื่อน เขาจะสร้างอย่างไร? หรือว่าเขาจะลงมือผสมพันธุ์สัตว์ด้วยตัวเอง

       ขณะที่ความเป็นป่าสมบูรณ์นั้นชั่วชีวิตของเขาก็ไม่สามารถสร้างป่าสมบูรณ์อย่างป่าแม่วงก์ได้ เพราะช่วงที่เป็นเจ้ากรมป่าไม้ก็ไม่เห็นว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าในบ้านเราได้

สภาพป่าแม่วงก์อันสมบูรณ์ที่จะถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน
ป่าสมบูรณ์

       ป่าแม่วงก์มีเนื้อที่ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ กำแพงเพชร 279,050 ไร่ และนครสวรรค์ 279,700 ไร่ ป่าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งถ้าเชื่อมรวมกับผืนป่าในพม่าที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ป่าใหญ่ผืนนี้คือป่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นป่าใหญ่ในอันดับต้นๆของเอเชีย

       ป่าแม่วงก์มีสภาพของผืนป่าอันหลากหลาย อาทิ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขาสูง หรือป่าเมฆ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง อีกทั้งยังมีป่าสักธรรมชาติผืนใหญ่ มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 549 ชนิด นอกจากเสือโคร่ง นกยูงแล้ว แม่วงก์ยังมีสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์อย่าง สมเสร็จ เลียงผา และเก้งหม้อ และสัตว์หายากอย่าง ช้าง กระทิง วัวแดง เสือดาวเสือดำ หมีหมา หมีควาย เป็นต้น

กระทิงที่ทางกล้องโครงการสำรวจเสือถ่ายภาพไว้ได้
       ขณะที่ปลามี 64 ชนิด ส่วนนกที่นี่ก็มีมากถึง 305 ชนิด 53 วงศ์ นับเป็นแหล่งดูนกชั้นดีในอันดับต้นๆของเมืองไทย มีนกสำคัญหายากใกล้สูญพันธุ์ อย่าง นกเงือกคอแดง นกกก นกเงือกสีน้ำตาล นกลุมพูแดง นกกระทุง นกกระเต็นขาวใหญ่ เป็นต้น สำหรับนกในตระกูลนกเงือกนั้นคืออีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะนกเงือกต้องอาศัยต้นไม้ใหญ่เป็นบ้านอยู่อาศัย

       นับเป็นความหลากหลายทางชีวภาพของป่าแม่วงก์ ที่ในรายงาน EHIA กลับบอกว่าเป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มีแต่สัตว์เลื้อยคลาน ที่สำคัญคือสำรวจมาได้ว่าป่าแม่วงก์ไม่มีเสือ งานนี้สงสัยจะต้องให้ทีมสำรวจไปนอนในป่าสัก 3-4 คืน ณ บริเวณทางเสือผ่าน ที่ทางอุทยานฯตั้งกล้องอินฟาเรดบันทึกภาพเสือไว้ เผื่อจะได้เจอเสือตัวเป็นให้เผ่นกันป่าราบบ้าง

ลำน้ำแม่แรวาที่จะถูกทำลายหากมีการสร้างเขื่อน
ทำลายป่า สร้างเขื่อน

       จะเห็นได้ว่าป่าแม่วงก์เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีทั้ง ป่าสมบูรณ์ สัตว์อุดม ไม่ใช่พื้นที่ปลอดสัตว์ที่จะให้ใครบางคนมาหาผลประโยชน์สร้างเขื่อนแล้วโกงกินกันสะดือปลิ้น ซึ่งโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นไม่ได้มีเพิ่งไอเดียบรรเจิดมาในปีนี้ หากแต่มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2528

       แต่หลังจากการศึกษาผลดีผลเสียนับ 10 ปี ในปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการมากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น ทำให้โครงการนี้ต้องพับไว้

       จนกระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากความผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับจับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นมาเป็นตัวประกันปลุกผีโครงการ ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาใหม่ โดยมีมติ ครม.ในวันที่ 10 เม.ย.55 อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม

แก่งลานนกยูงจุดที่คาดว่าจะถูกสร้างเป็นแนวสันเขื่อน
       สำหรับโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในช่วงปี 2528 กรมชลประทานเสนอใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 3,187 ล้านบาท มีความจุของน้ำเหนือเขื่อน 380 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พอมาเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท โดยลดความจุของน้ำเหนือเขื่อนเหลือ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 2555 กลับมีการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างไปถึง 13,000 ล้านบาท และมีการผลักดันอย่างสุดลิ่มอันเนื่องมาจากรัฐบาลมีอภิมหาโปรเจคเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท

       อย่างไรก็ดีจากข้อมูลเชิงวิชาการและเชิงคุณภาพนั้นชี้ชัดว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นได้ไม่คุ้มเสีย(ข้อมูลหาอ่านได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต)

       สู้นำเงินนับหมื่นล้านที่จะใช้สร้างเขื่อนไปพัฒนาลุ่มน้ำ พัฒนาแก้มลิง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายชุมชน และมาใช้ลงทุนในการบริหารจัดการน้ำตามที่มีผู้เชี่ยวชาญได้สำรวจ วิจัย นำเสนอข้อมูลไว้แล้วเป็นอย่างดี

       ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะออกมาคัดค้านไม่เอาเขื่อนแม่วงก์

“หยุดเขื่อน No Dam!!!” คือพลังเสียงจากผู้ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ที่ส่งสารให้สังคมรับรู้

ส่วน “Damn It !!!” คือถ้อยคำที่ใครหลายๆคน ฝากส่งไปให้กับนักการเมืองชั้นเลวบางคนที่กระเหี้ยนกระหือรือ จ้องจะทำลายผืนป่าแม่วงก์


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000121685




 

Create Date : 26 กันยายน 2556   
Last Update : 26 กันยายน 2556 21:30:47 น.   
Counter : 1915 Pageviews.  

จัดระเบียบ “ฟูลมูนปาร์ตี้” ปลายทางในฝันของนักดื่ม-แดนซ์

“ฟูลมูลปาร์ตี้ (Full Moon Party)” ปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยว
“ฟูลมูนปาร์ตี้” (Full Moon Party) หรือ “งานฉลองพระจันทร์วันเพ็ญ” อันโด่งดังของไทยที่จัดขึ้นที่หาดริ้น บนเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากจะมาสัมผัสให้ได้สักครั้ง

       เทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้ มีจุดเริ่มต้นมาเกือบ 30 ปีก่อน ในช่วงปี 2528 เมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งประมาณ 20-30 คน ได้ชวนกันออกไปสังสรรค์และเต้นรำบนชายหาดในตอนกลางคืน ซึ่งมีเพียงแสงจากพระจันทร์เต็มดวงให้ความสว่าง ต่อมาได้มีการบอกเล่าเรื่องราวจากปากต่อปาก ส่งผลให้งานปาร์ตี้เล็กๆ กลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

หาดริ้น ในตอนกลางวันมีนักท่องเที่ยวมากมาย
       ปัจจุบันในทุกๆ ค่ำคืนที่พระจันทร์เต็มดวง บริเวณหาดริ้น เกาะพงัน จะมีการจัดงานเทศกาล “ฟูลมูนปาร์ตี้” (Full Moon Party) ขึ้น โดยจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาร่วมสนุกและสัมผัสบรรยากาศของงานฟูลมูนปาร์ตี้ ณ หาดริ้นแห่งนี้ และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานฟูลมูนปาร์ตี้คือ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งภายในงานจะเห็นการชงเหล้าถัง หรือ “Bucket” วางขายกันอยู่ทั่วทั้งหาด

บาร์เหล้าเรียงรายอยู่ริมชายหาดริ้น
       เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า เหล่านักท่องเที่ยวต่างก็เริ่มทยอยพากันออกมาที่ชายหาดริ้น และสนุกสนานกับปาร์ตี้ริมชายหาดแบบจัดเต็ม บนชายหาดจะมีบาร์เหล้าเรียงรายอยู่ตลอดทั้งแนว รวมถึงมีการเปิดเพลงให้ได้สนุกสนานกันทั่วทั้งชายหาด ชนิดที่ว่ากิน-ดื่มกันอย่างหัวราน้ำตั้งแต่ค่ำยันรุ่งสางของอีกวัน และนอกจากปาร์ตี้ริมชายหาดแบบสนุกสุดเหวี่ยงแล้ว จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของงานฟูลมูนปาร์ตี้ก็คือ การเพ้นท์ร่างกายด้วยสีสะท้อนแสง หรือสีนีออน ในรูปแบบต่างๆ ตามใจชอบ

       อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงของงานฟูลมูนปาร์ตี้นั้นเปรียบเสมือนพระจันทร์ที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ด้านหนึ่งนั้นงานฟูลมูนฯ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินและกระจายรายได้ให้กับชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้ไม่น้อย แต่อีกด้านหนึ่งกลับสร้างปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด อาชญากรรม เหล้าปลอม ขยะ การสัญจรทางบก ทางน้ำ ปัญหาการจัดการต่างๆ รวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

การเพ้นท์ร่างกายด้วยสีสะท้อนแสง
       ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรมการปกครอง นำโดยนายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมการปกครอง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามภารกิจของฝ่ายปกครองในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย และเกาะพงัน

นายทวีศักดิ์ อินทร์พรหม นายอำเภอเกาะพะงัน เปิดเผยว่าในช่วงเทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้นั้น ในการจัดงานแต่ละครั้ง จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เดินทางเข้ามาในงานถึง 20,000-30,000 คน/คืน โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังพื้นที่นั้น กว่า 90% ของนักท่องเที่ยวจะเป็นชาวต่างชาติ และอีก 10% จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยทางเกาะพงันก็มีมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันฟูลมูนปาร์ตี้ เพื่อรองรับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

ผู้คนมากมายในงานฟูลมูนปาร์ตี้
“นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในงานฟูลมูนฯ จะเริ่มดื่มกินกันตั้งแต่ในโรงแรมตั้งแต่ตอนเย็น พอได้เวลาประมาณ 3 ทุ่ม ก็จะพากันขึ้นรถมาเป็นกลุ่มๆ เมื่อเข้ามาภายในงานก็จะมีการตรวจตัวนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะนุ่งน้อยห่มน้อย ทางเราจึงต้องมีการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และในช่วงเทศกาลฟูลมูนฯ นี้ เราก็มีการจัดตั้งจุดตรวจไม่ให้ผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี เข้ามาภายในงาน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานต้องปลอดอาวุธ และปลอดยาเสพติดด้วย” นายอำเภอเกาะพงัน กล่าว

นักท่องเที่ยวสนุกสุดเหวี่ยงในฟูลมูนปาร์ตี้
       นอกจากนั้น ภายในงานจะมีการตรวจเข้มการจำหน่ายสุราปลอมแก่นักท่องเที่ยว และมีการจัดการตรวจตรายาเสพติดชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในงานฟูลมูนฯ โดยในช่วงนี้ยาเสพติดที่ระบาดก็คือ “เห็ดขี้ควาย” มีการนำเห็ดชนิดนี้มาประกอบเป็นอาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งไข่เจียวเห็ดขี้ควาย รวมถึงเอามาทำเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งอาการของคนเมาเห็ดขี้ควายนั้นก็จะทำให้คึกคัก และสนุกสนาน ลักษณะเหมือนเมาเห็ดทั่วไป ตรงนี้ก็มีการตรวจเข้มกับร้านค้าทุกร้าน

       นอกจากนี้แล้วทางเกาะพงันยังมีการตั้งเต้นท์เป็นจุดอำนวยความสะดวกตั้งอยู่ภายในงาน ภายจุดอำนวยความสะดวกจะมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยาบาล รวมถึงอาสาสมัคร ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ เช่นของหาย อุบัติเหตุ เพื่อนหาย รวมถึงมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็น Sleep Area (โซนนอนพัก) ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เมาสุราอีกด้วย

อาสาสมัครชายฝั่งดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
       ด้านนายกัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้บรรยายสรุปภาพรวมในการดำเนินงานของอำเภอเกาะสมุย พร้อมกล่าวถึงมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ในเรื่องของความปลอดภัยในการเดินทางมายังเกาะสมุย และเกาะพงัน ว่า

“ในช่วงเทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางโดยเรือสปีดโบตข้ามไปยังเกาะพะงัน ซึ่งเรื่องนี้ทางจังหวัดได้มีการกำหนดมาตรการการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด โดยกำชับผู้ประกอบการเรือให้บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินกว่าอัตราที่เรือกำหนด นอกจากนี้นักท่องเที่ยวเองก็ต้องสวมเสื้อชูชีพทุกคน ขณะที่พนักงานประจำเรือ ก็จะต้องมีใบนายท้ายเรือ ใบประกอบการในการขับเรือด้วย”

ทัศนียภาพเกาะสมุย
       “และสำหรับนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำตามชายหาดต่างๆ ทางเราก็มีการจัดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชายฝั่งที่จะคอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ให้มีการลงเล่นน้ำในบริเวณจุดเสี่ยงต่างๆ โดยจะมีการปักธงสีต่างๆ บริเวณชายหาด ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และเป็นการเตือนนักท่องเที่ยวว่าจุดใดสามารถลงเล่นน้ำได้หรือไม่” นายกัมปนาท กล่าว

       ถึงแม้ว่า “ฟูลมูนปาร์ตี้ (Full Moon Party)” ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากจะมาสัมผัสให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่หากการท่องเที่ยวไร้ซึ่งการควบคุมดูแล ปาร์ตี้สนุกสุดเหวี่ยงอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวก็ควรดูแลความปลอดภัยของตัวเองด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นเทศกาลเหล่านี้คงถูกมองในด้านลบมากขึ้น แล้วต่อไป ใครล่ะ จะมาเที่ยวบ้านเรา

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000120390




 

Create Date : 25 กันยายน 2556   
Last Update : 25 กันยายน 2556 21:04:44 น.   
Counter : 3273 Pageviews.  

“เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย” พักสบาย ผ่อนคลายในบรรยากาศเมืองมรดกโลก


       ห้องพักแบบดีลักซ์


“สุโขทัย” คือเมืองมรดกโลกที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยโบราณสถานอันทรงคุณค่าที่น่าภาคภูมิใจของชาวไทย และเป็นจุดมุ่งหมายที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต่างอยากมาเยือน

       ที่เมืองเก่าอันทรงเสน่ห์นี้ ไม่เพียงมีโบราณสถานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังมีที่พักที่มีทั้งความสะดวกสบายและมีบรรยากาศอันกลมกลืนกับแหล่งท่องเที่ยว ให้ผู้ที่มาพักได้ทั้งความผ่อนคลายและพร้อมที่จะดื่มด่ำกับความเป็นเมืองเก่ามรดกโลกอย่างเต็มที่ นั่นก็คือที่ “เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท”


       ห้องพักแสนสบายใน เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท

เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท (The Legendha Sukhothai Resort) เป็นรีสอร์ทที่ตกแต่งในสไตล์บูติคผสมผสานความเป็นไทย ด้วยบรรยากาศของเรือนไม้ทรงไทยร่วมสมัย ภายนอกเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหน้าจั่วแหลมแบบเรือนไทย แวดล้อมไปด้วยต้นไม้และสนามหญ้าเขียวขจี มีไม้หอมแบบไทยๆ อย่างต้นปีบ ลีลาวดี ส่งกลิ่นหอมสร้างบรรยากาศอันร่มรื่น อีกทั้งบริเวณรีสอร์ทยังมีคลองเล็กๆ ไหลผ่าน ชื่อว่าคลองแม่รำพัน เพิ่มความฉ่ำเย็นเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นไปอีก

       ห้องพักของ เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท มีให้เลือก 2 แบบ คือห้องพักแบบซูพีเรียและห้องพักแบบดีลักซ์ สำหรับห้องพักแบบซูพีเรียมีทั้งหมด 7 ห้อง ขนาดห้อง 28 ตร.ม. สามารถชมวิวเขียวขจีของสวนด้านนอกหน้าต่าง ส่วนห้องพักแบบดีลักซ์มีทั้งหมด 55 ห้อง ขนาดห้อง 32 ตร.ม. มีระเบียงส่วนตัวพร้อมด้วยวิวที่หลากหลายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นวิวสระว่ายน้ำ วิวสวน และวิวโบราณสถาน


       เรือนพักสไตล์เรือนไทย ร่มรื่นด้วยต้นไม้เขียวขจี


       ห้องพักทั้งสองแบบตกแต่งภายในแบบร่วมสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้อง อาทิ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ตู้เย็นและมินิบาร์ โต๊ะแต่งตัว/โต๊ะทำงาน มีมุมโซฟาให้นั่งเอนหลังอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์สบายๆ รวมทั้งมี Free Wifi ให้บริการ

       ภายในรีสอร์ทยังมีสระว่ายน้ำพร้อมจากุซซี่ ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เป็นสระว่ายน้ำที่ใช้เกลือธรรมชาติเพื่อรักษาความสะอาดแทนการใส่สารเคมี และยังมีบริการนวดผ่อนคลายบริเวณสระน้ำให้บริการตั้งแต่ 10.00-22.00 น. และนอกจากการว่ายน้ำแล้ว หากใครต้องการพักผ่อนแบบสงบๆ ด้วยการนั่งอ่านหนังสือในมุมสบายๆ ทางรีสอร์ทมีมุมนั่งเล่นในบรรยากาศของชานบ้านเรือนไทย มีเบาะรองนั่งและหมอนขวานให้เอนหลังนั่งอ่านหนังสือกันด้วย


       สระว่ายน้ำระบบน้ำเกลือ


       นอกจากนั้นภายในรีสอร์ทยังมี “ห้องอาหารน้ำค้าง” ให้บริการแก่แขกผู้เข้าพักตั้งแต่ 07.00-22.00 น. ให้บริการอาหารไทยรสชาติดั้งเดิม อาหารนานาชาติรสเยี่ยมและเครื่องดื่มต่างๆ สำหรับในช่วงเย็นจะมีบริการพิเศษสำหรับลูกค้าห้องอาหาร ด้วยการแสดงระบำสุโขทัยไทยทุกวันในเวลา 19.20 น. นอกจากนั้นยังมีห้องจัดเลี้ยงให้บริการ สามารถจัดเลี้ยงได้ทั้งงานแต่งงานในบรรยากาศแบบไทยๆ หรืองานเลี้ยงฉลองต่างๆ

       จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท คือความใกล้ชิดกับแหล่งโบราณสถานอย่าง “วัดช้างล้อม” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของรีสอร์ท แขกที่เข้าพักสามารถเดินชมบรรยากาศของวัดช้างล้อมได้ทุกเวลา และหากอยากท่องเที่ยวชมโบราณสถานด้วยจักรยาน ทางรีสอร์ทก็มีบริการจักรยานให้เช่าด้วยเช่นกัน


       บริเวณส่วนต้อนรับที่ตกแต่งอย่างสวยงาม


       หากใครมีโอกาสมาเยือนเมืองเก่าสุโขทัย และได้มาใช้เวลาพักผ่อนที่ “เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท” เชื่อแน่ว่าจะได้รับความประทับใจจนต้องหลงรักเมืองเก่าสุโขทัย และหลงเสน่ห์บรรยากาศของรีสอร์ทแห่งนี้แน่นอน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“เดอะ เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท” ตั้งอยู่ที่ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 5569 7249 แฟกซ์ 0 5569 7583 อีเมล์ info@legendhasukhothai.com หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.legendhasukhothai.com




//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000116104




 

Create Date : 24 กันยายน 2556   
Last Update : 24 กันยายน 2556 16:31:45 น.   
Counter : 1106 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]