ความสุขในหมู่มิตร


ยิ่งสูงวัย ยิ่งสูงค่า เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงของ สูงวัยใจอาสา ที่อุทิศตนเพื่อสังคม และแวดวงผู้สูงอายุมายาวนาน “ป้านา”  นางจันทรารัตน์ หล้าปิงเมือง ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ประจำจังหวัดปทุมธานี

เป็นการแอบเซอร์ไพรส์ เงียบๆ ของเพื่อนสนิททั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ ที่มีความชื่นชอบในความเป็นผู้ใหญ่ใจดี ของป้านา ที่คอยให้กำลังใจ และผลักดันกิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุอยู่ข้างหลัง อย่างเงียบๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มสูงวัยใจอาสา และวงดนตรีไทย ที่ป้านาก่อตั้งขึ้นมาในเวลาไร่เรี่ยกัน


ช่วงหลังๆ ป้านา มีงานมากขึ้น ทั้งสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการของไทยพีบีเอส และกิจกรรมต่างๆ ของวัดชัยสิทธาวาส และโรงเรียนฯ ถึงกระนั้นป้านาก็ยังยินดีต้อนรับขับสู่ ทุกๆ คน ที่มาเยี่ยม มาติดต่อ ที่สำนักงานเป็นประจำ ใครต้องการปรึกษาเกี่ยวกับชมรมผู้สูงอายุ เชิญได้ เหมือนเดิมครับ

ป้านาฝากขอบคุณ ทุกๆ คนที่เป็นกำลังใจให้กัน อยากให้ผู้สูงวัยรักกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน และร่วมกันนำความรู้ ความสามารถ ออกมาช่วยกันทำประโยชน์ให้สังคม ให้คนรอบข้างรู้ว่า “ผู้สูงวัย มีคุณค่า และศักดิ์ศรี”

พวกเราจะเป็นกำลังใจให้กันและกัน และผู้สูงอายุ ทุกๆ คน ที่ได้ทำความดีเพื่อสังคม และขอปฏิญาณว่า “จะสานต่อทำความดีเพื่อพ่อ” เช่นนี้ตลอดไป


พิสุทธิ์ สมประสงค์
ประธานชมรมสูงวัยใจอาสา
15 พฤศจิกายน 2559




Create Date : 25 มิถุนายน 2560
Last Update : 25 มิถุนายน 2560 14:28:25 น.
Counter : 275 Pageviews.

0 comment
ชุมชนกับคนสูงวัย3



ในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนผ่าน สังคมผู้สูงอายุก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจ สังคมและการดำรงชีพ กลายเป็นหัวข้อใหญ่ของครอบครัว และชุมชน

การครอบงำประเทศด้วยระบบการค้าเสรีแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้เกษตรกรรม และอาชีพชุมชน ต้องลุกขึ้นมาปลุกกระแสเพื่อความอยู่รอด และมีแนวโน้มสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

กลุ่มสูงวัยใจอาสา จึงจัดประชุมเครือข่ายอาชีพชุมชนครั้งที่ 1/2559 ที่บ้านธรรมชาติบำบัด โดยเชิญสมาชิกเครือข่าย มาให้ความรู้และช่วยกันจัดทำโครงการฝีกอาชีพผู้สูงวัย เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับสมาชิกผู้สูงวัยและครอบครัว

แกนนำกลุ่มอาชีพชุมชนที่เสนอตัวเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย

ป้านา แห่งหมู่บ้านเกษตรพอเพียง / ลุงปรีชา แชมพูมะกรูดไวท์เฮ้าส์ / ครูนิ หัตถกรรมไทย / ป้าต้อย ขนมไทยพื้นบ้าน / ลุงยักษ์ ชาดาวอินคา / ป้าเพ็ญ หนองเสือ / ลุงแดง ใจอาสา / ครูจง บ้านธรรมชาติบำบัด และ คุณลูกจันทร์ วัฒนธรรมชุมชน

วัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อให้ความรู้สมาชิกในเครือข่าย ทราบถึงแหล่งทุนเพื่อการสร้างอาชีพ และการเขียนโครงการฯ การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผลิต และจำหน่าย ตลอดจนการรวมตัวกันของเครือข่ายเพื่อขยายโอกาสของสินค้าชุมชน

พ่อสอนให้เราพึ่งตัวเอง บนพื้นฐานความพอเพียง และร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในรูปของกลุ่มอาชีพ เครือข่ายชุมชน และสหกรณ์ออมทรัพย์ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องกอดคอกัน สร้างความสามัคคี ร่วมมือกัน เอื้อเฟื้อต่อกัน และรวมกันเป็นเครือข่าย “สานต่อเพื่อพ่อของแผ่นดิน”

คุณลูกจันทร์
ประชาสัมพันธ์กลุ่มสูงวัยใจอาสา
29 ตุลาคม 2559




Create Date : 25 มิถุนายน 2560
Last Update : 25 มิถุนายน 2560 13:08:05 น.
Counter : 111 Pageviews.

0 comment
การประชาสัมพันธ์ชุมชน


สื่อสารภาพลักษณ์

การมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงถือเป็นสิ่งที่ดี อีกทั้งยังช่วยส่งผลดีต่อการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากชุมชนจะมีการเคลื่อนไหวภายในชุมชนที่สามารถสื่อสารถึงบุคลภายนอกได้อีกหลายทาง

–   องค์กรควรมีการเข้าไปส่งเสริมหรือให้ความร่วมมือกับชุมชนที่มีการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ใกล้เคียงกับองค์กร

–   ชุมชนเองก็ต้องการพัฒนาในด้านต่างๆ องค์กรควรมีการเข้าไปตรวจสอบความต้องการของชุมชน หากสามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนในด้านใดได้บ้างก็ควรทำ

–   ผู้นำขององค์กรควรมีบทบาทการเป็นผู้นำด้านความคิดให้กับชุมชน เพื่อชี้แนะแนวทางในการพัฒนาชุมชน หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกรรมการของชุมชน แต่หากเป็นเช่นนั้น ควรเป็นองค์กรที่มีที่ตั้งมั่นคงอยู่ในบริเวณชุมชนนั้นๆ

–   ผู้นำขององค์กรต้องเข้ากับบุคคลระดับต่างๆ ของชุมชนได้ อย่ามองว่าเป็นอีกกลุ่ม อีกชนชั้น ควรมองในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

–   องค์กรท้องถิ่นควรมีการศึกษาทำความเข้าใจกับชุมชนใกล้เคียง มีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องทำอย่างจริงใจ และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะ ทัศนคติของชุมชนต่อองค์กรของตนเองว่ามีกิจกรรม และบริการเป็นอย่างไรบ้างไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือว่าด้านที่ไม่ดีก็ตาม

–   ควรมีการเผยแพร่กิจกรรมที่หน่วยงานนั้นได้ทำกับชุมชนไปแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสร้างชุมชนสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ควรมีการประเมินผลการทำกิจกรรมกับชุมชนด้วย เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขในกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนครั้งต่อไป

ควรคำนึงอยู่เสมอว่า การเป็นสมาขิกของชุมชนคือเพื่อนบ้านที่ดี !

ขอขอบคุณ
//www.drphot.com/multimedia/

ติดตามคอลัมน์ชุมชนกับคนสูงวัย ครั้งต่อไป จะนำประสบการณ์ การประชาสัมพันธ์ของกลุ่มสูงวัยใจอาสา กับกิจกรรมของบ้านธรรมชาติบำบัด และชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านกระแชง มาเล่าสู่กันฟัง ค่ะ

คุณลูกจันทร์
ประธานกลุ่มดนตรีบำบัด
20 ตุลาคม 2559




Create Date : 25 มิถุนายน 2560
Last Update : 25 มิถุนายน 2560 13:05:27 น.
Counter : 131 Pageviews.

0 comment
ชุมชนกับคนสูงวัย


ถ้าความเจริญของบ้านเมืองเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศ ชุมชนก็คือเป้าหมายหลักของความเจริญที่กระจายไปในทุกภูมิภาค แต่ด้วยศักยภาพของแต่ละภาคส่วนมีความพร้อมที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถพัฒนาให้ทุกชุมชนก้าวไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมกัน

ผลลัพธ์ของการพัฒนาชุมชนจึงต้องอาศัยความพร้อมของหลายๆ ภาคส่วนประกอบกัน ในหลายๆ ชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ที่ถูกหยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่าง ให้ชุมชนอื่นๆ นำมาเป็นแนวทางเพื่อปรับใช้ให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะของตัวเอง

การพัฒนาชุมชนเล็กๆ ต้องอาศัยความร่วมมือของชาวบ้าน และผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ ชุมชนบ้านกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

ชุมชนบ้านกระแชง เหมือนกับชุมชนอื่นๆ ของจังหวัดปทุมธานี มีความเป็นอยู่แบบไทยๆ ที่พัฒนาตามความเจริญของบ้านเมือง จากพื้นที่เกษตรกรรม ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม อาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนจึงต้องเปลี่ยนตาม

ชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่กับสายน้ำ เปลี่ยนเป็นถนน คลองที่ไหลผ่านหน้าบ้านจึงกลายเป็นเพียงที่ระบายน้ำเสียจากครัวเรือน และเริ่มตื้นเขิน บางแห่งมีผักตบชวา ขึ้นปกคลุมจนไม่เห็นน้ำ

ภาพการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาหุงหาอาหาร เตรียมใส่บาตรพระที่หัวกระไดหน้าบ้าน แม่ค้าขายขนมที่นำพืชผลในสวน ขนมตาล และน้ำตาลสด พายเรือมาขาย เลือนหายไปนานแล้ว กลายเป็นร้านค้าริมถนน

ภาพชาวบ้านพายเรือนำอาหารใส่สำรับไปวัด ในวันพระใหญ่ก็หายไป เปลี่ยนมาเป็นหิ้วปิ่นโต ซ้อนมอเตอร์ไซต์ หรืออาศัยติดรถลูกๆ แวะส่งที่วัด ก่อนไปทำงาน ชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ความเป็นครอบครัวและชุมชนที่สมัครสมานสามัคคีก็ห่างๆ กันไป

ปัจจุบันชีวิตติดขอบเมืองเปลี่ยนไปมาก การร่วมกลุ่มทำกิจกรรมของชุมชนไม่เหมือนเดิม ต่างคนต่างมีภาระ ต่างคนต่างอยู่ หนุ่มสาวต้องออกไปขายแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทิ้งให้พ่อแม่อยู่เลี้ยงหลาน ดูแลบ้านแต่เพียงลำพัง เป็นปัญหาใหม่ ของสังคมผู้สูงวัยที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สังคมผู้สูงวัยในชุมชนบ้านกระแชง คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และพัฒนา ที่จะนำมาเล่าในครั้งต่อไปค่ะ

คุณลูกจันทร์
ชมรมสูงวัยใจอาสา

8 กันยายน 2559



Create Date : 25 มิถุนายน 2560
Last Update : 25 มิถุนายน 2560 13:03:49 น.
Counter : 109 Pageviews.

0 comment
สูงวัยกับสิ่งแวดล้อม


โครงการสานต่อภูมิปัญญาสู่สังคม ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันที่เสาร์ที่ 23กรกฎาคม 2559 ซึ่งในปีนี้ การจัดงานมุ่งส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือกันของบ้าน วัด และโรงเรียน ที่เรียกว่า “บวร” ชื่อ โครงการผู้สูงวัยรักษ์สิ่งแวดล้อม


รองนายก สจ. ปทุมธานี ประธานเปิดงาน และป้านา ประธานจัดงาน

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้กับคุณครู และนักเรียนโรงเรียนชัยสิทธาวาส เพื่อปลุกจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด รักษ์โรงเรียนและรักษ์วัด ที่ให้การอุปการะ สนับสนุนส่งเสริมด้านการศึกษา และจริยธรรมตามวิถีพุทธมาตลอด


การอบรมให้ความรู้ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กลุ่มสูงวัยใจอาสา ได้เชิญเพื่อนๆ จิตอาสาที่ใกล้ชิดมาร่วมออกบูท นำผลิตผลของชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม มาเป็นตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีผู้ใหญ่พินิจ หัวเรือใหญ่ของงานในนามเจ้าของพื้นที่ ร่วมกับกรรมการศูนย์ประสานงานผู้สูงอายุ จังหวัดปทุมธานี


ปลูกต้นไม้ร่วมกัน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างแก่เยาวชน

คุณชมบุญ และคุณอัมพร เจ้าบ้านตำบลกระแชง อำเภอสามโคก ครูบรรจง ประธานชุมชนบ้านกระแชง  อำเภอเมือง ครูติ่ง ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตำบลสนั่นรักษ์ อำเภอธัญบุรี


ชุมชนกระแชงสามโคก กับกิจกรรมฝีกอาชีพและกวนข้าวทิพย์ 

พี่ชะลอ และกำนันละมูล เจ้าของผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ จากอำเภอลำลูกกา กลุ่มอาชีพสมุนไพรชุมชนไวท์เฮ้าส์ อำเภอคลองหลวง ผกามาส อำเภอลาดหลุมแก้ว และ ครูพิสุทธิ์ ประธานชมรมสูงวัยใจอาสา เป็นตัวแทนเครือข่าย อำเภอหนองเสือ


เพื่อนๆ ตัวแทนจากอำเภอต่างๆ นำผลิตผลของชุมชน มาร่วมออกบูท

เป็นการนับหนึ่งอีกครั้งของความพยายามที่จะหาพื้นที่ สำหรับโครงการสืบสานภูมิปัญญาให้ผู้สูงอายุในเครือข่ายสูงวัยใจอาสา ได้นำความรู้ความสามารถมาถ่ายทอดให้ลูกหลาน และสร้างความเจริญในชุมชน ผลของงานในวันนี้ทำให้หลายฝ่ายได้มองเห็นความตั้งใจจริงของผู้สูงอายุ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและอาชีพอันเป็นเป้าหมายหลักของพวกเรา


ผอ. ศส.ปชต.ได้เข้าร่วมงาน และส่งมอบการเผยแพร่ประชาธิปไตยให้กับ ผอ.โรงเรียนวันชัยสิทธิ์

ความสำเร็จของงานอาจยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมในวันเดียว เพราะจากการได้พบปะพูดคุยกันของ ผอ.โรงเรียน และประธานชมรมสูงวัยใจอาสา มีแนวทางที่จะร่วมกันจัดทำโครงการสร้างโอกาสฝึกอาชีพในโรงเรียน และการสร้างทีมงานสานต่อจินตนาการ เพื่อเตรียมส่งผลงานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ เข้าประกวดในโครงการของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในครั้งต่อไป


ผลงานศิลปะไม้ไอติม สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน อยากเรียนรู้และเข้าร่วมประกวด

ขอขอบคุณคณะรำวงย้อนยุคของท่านนายก อบต.บ้านกระแชง ที่สร้างสีสันต์ให้กับงานในวันนี้ เป็นตัวอย่างของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่รวมตัวกันทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และอนุรักษ์ของเก่าให้ตกทอดถึงคนรุ่นใหม่ แล้วหน่วยงานในพื้นที่ให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้เป็นของดีของชุมชน

เครือข่ายสูงวัยใจอาสา ได้สานต่อเจตนาที่จะเผยแพร่ภูมิปัญญาผู้สูงวัยของชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดปทุมธานี และพร้อมเป็นต้นแบบเปิดห้องเรียนผู้สูงวัย ให้สังคมรู้ว่า ผู้สูงวัยไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังปัญญาที่พร้อมถ่ายทอดสู่สังคม เพื่อสืบสานของดีของไทยให้อยู่ไปนานๆ

พิสุทธิ์ สมประสงค์  รายงาน
25 กรกฎาคม 2559




Create Date : 25 มิถุนายน 2560
Last Update : 25 มิถุนายน 2560 13:01:41 น.
Counter : 126 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  

idea4thai
Location :
ปทุมธานี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]



ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเยาวชนและชุมชมไทย

All Blog