Group Blog
 
All blogs
 

นกยางเขียว

นกยางเขียว Butorides striatus (little heron) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 43-45 เซ็นติเมตร มีขนคลุมบริเวณกระหม่อมสีดำ ขนสีดำนี้จะยาวเลยออกมาบริเวณท้ายทอย ลำตัวด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง มีลายสีขาวลางลงมาบริเวณกึ่งกลางตัวจากคอลงมาถึงอก ปีกมีลาย ลำตัวด้านบนโดยรวมๆดูเป็นสีเขียวอมเทา ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ตัวเด็กจะมีลำตัวด้านบน สีออกน้ำตาล ลำตัวด้านล่าง มีลายขีดสีเข้ม กระจายทั่วไป







เรามักพบยางเขียวออกหากินตัวเดียว(ในบริเวณเดียวกันอาจพบหลายตัว แต่ไม่ได้หากินร่วมกัน) โดยเค้าจะเดินย่องๆ และไปหยุดนิ่งๆ ตาจ้องเหยื่อ หากพบเหยื่อจะยืดคอยาวออกไปเพื่อจับอาหารซึ่งอาจเป็นปลา กุ้ง กบ เขียดตัวไม่โตนัก ขนาดที่เค้าพอจะทานได้ทั้งตัว นกยางเขียวมักเดินท่องตามน้ำตื้นๆ ชายเลน บางครั้งเกาะต้นอ้อ ต้นกก ตอไม้ที่อยู่ริมน้ำ







นกยางเขียวมักอาศัยอยู่ตามบริเวณป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล ป่าโกงกาง หาดโคลน ตามเกาะที่อยู่นอกชายฝั่ง ตามชายน้ำของลำคลอง บางครั้งก็พบในแหล่งน้ำจืดด้วย ในสวนสาธารณะกลางเมืองอย่างสวนลุมพินีก็มีคนพบนกชนิดนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตามป่าชายเลน หาดโคลน ชายฝั่งทะเล จะเป็นที่ที่พบนกยางเขียวได้ง่ายกว่าแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน







นกยางเขียวทำรังวางไข่ได้ทั้งปี แต่จะทำมากที่สุดในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน โดยในช่วงนี้เค้าจะอยู่กันเป็นคู่ ช่วยกันเลือกวัสดุและสถานที่ทำรัง รังของเค้าทำอย่างง่ายๆเพียงใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนกันตามง่ามไม้ที่อยู่ริมน้ำ ทำตรงกลางเป็นแอ่งเพื่อวางไข่ นกยางเขียววางไข่ครั้งละ3-5ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ15-17วัน ช่วงแรกพ่อแม่จะสำรอกอาหารออกมาป้อนลูก พอลูกนกโตขึ้นจึงไปหาอาหารมาทิ้งไว้ในรังให้ลูกจิกกินเอง พออายุ 5-6 สัปดาห์ลูกนกจะโตพอที่จะทิ้งรังออกไปหากินเอง







นกยางเขียวตัวนี้ถ่ายภาพมาจากนาเกลือที่โคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ช่วงเวลาประมาณ5-6โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งที่นกชนิดนี้ชอบออกหากิน เท่าที่เห็น มีนกยางเขียวหลายตัว และนกยางกรอก หากินอยู่บริเวณใกล้ๆกัน นกยางเขียวตัวนี้ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้เล็กๆสักพักก็เดินออกมาเพื่อหาอาหาร โดยทิศทางการเดินของเค้า ออกมาทางริมถนนที่รถไปจอดอยู่ เมื่อถึงขอบคันนาก็หันซ้าย หรือขวา สอดส่ายสายตามองหาเหยื่อ หากพบก็จะยืดคอออกไปจับ บางทีก็เดินลงไปลุยน้ำระดับตื้นๆในนาเกลือ สักพักก็จะบิน หรือเดินกลับเข้าไปในพุ่มไม้ และเดินออกมาใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่หลายรอบทีเดียว







ข้อมูล : //www.bird-home.com





 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2548 9:28:49 น.
Counter : 2655 Pageviews.  

นกนางนวลธรรมดา

นกนางนวลธรรมดา Larus brunnicephalus (brown-headed gull) เป็นนกนางนวลที่เราพบได้มากที่สุดในบรรดานกนางนวลที่พบในประเทศไทย โดยจะพบที่ประเทศไทยได้ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคม ถึงประมาณเดือนเมษายนในปีถัดไป ในช่วงที่ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย นกเหล่านี้ทำรังวางไข่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของทวีปเอเชีย โดยในแหล่งทำรังแต่ละแหล่งจะมีนกทำรังประมาณ 50 คู่ และทำรังอยู่ใกล้กันมาก







ที่ที่เราจะพบนกนางนวลธรรมดาได้มากที่สุดคือที่สถานตากอากาศบางปู ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เราจะได้เจอพวกเค้าเป็นหลายพันตัว แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถพบเค้าได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ และในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ห่างจากฝั่งทะเลเข้ามามากก็มีนกนางนวลมาหากินอยู่ด้วยเช่นกัน







นกนางนวลธรรมดามีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 40-45 เซ็นติเมตร น้ำหนัก 450-700 กรัม ความกว้างจากปลายปีกถึงปลายปีกประมาณ 100-105 เซ็นติเมตร เราจะเห็นพวกเค้าได้ในชุดขน 3 ชนิด คือนกเด็ก นกผู้ใหญ่ และนกผู้ใหญ่ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์







นกเด็ก หมายถึงนกนางนวลที่เกิดในปีนั้น
หลังลูกนกออกจากไข่มาได้ประมาณ 2 เดือนพวกเค้าก็พร้อมแล้วที่จะออกเดินทางพร้อมผู้ใหญ่มาอยู่ในที่ที่อุ่นกว่าและมีอาหารอุดมสมบูรณ์เมื่อฤดูหนาวในบ้านเกิดมาเยือน นกเด็กจะมีลักษณะเด่นคือ มีม่านตาสีเข้ม มีลวดลายสีน้ำตาลบนปีกมาก ปลายขนปีกและขนหางมีสีเข้มเป็นแถบ ปลายปีกบินมีสีดำ ไม่มีจุดสีขาวสองจุดใต้และบนปีก







นกตัวเต็มวัยหมายถึงนกที่เกิดตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นไป เมื่อนกเด็กกลับบ้านไป พอฤดูหนาวมาเยือนและเดินทางลงใต้อีกครั้ง พวกเค้าก็จะถูกนับเป็นนกผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเด่นต่างจากนกวัยเด็กคือ มีม่านตาสีเหลือง หัวสีขาวสะอาด(แต่บางตัวก็ยังคงมีแถบสีเข้มของชุดขนฤดูผสมพันธุ์อยู่)ปีกด้านบนสีเทาอ่อน หางเป็นสีขาว ไม่มีแถบสีดำที่ปลายหางอีกต่อไป และปลายปีกสำหรับบินยังคงมีสีดำและมีจุดสีขาวสองจุดเห็นได้ชัดเจนทั้งด้านบนและด้านล่าง เป็นจุดสังเกตที่สำคัญอันหนึ่งของนกนางนวลธรรมดา







นกตัวเต็มวัยในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ เราจะได้เห็นเค้าค่อยๆเปลี่ยนสีขนที่หน้าและหัวเป็นสีน้ำตาลเข้มในช่วงปลายฤดูอพยพเมื่อเค้ากำลังจะเดินทางกลับ

ภาพของนกนางนวลในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ดูได้ที่นี่


นกนางนวลธรรมดามีคู่คล้ายคือนกนางนวลขอบปีกขาวซึ่งมีขนาดเล็กกว่านิดหน่อย (ดูด้วยตาอาจแยกไม่ออก) จุดสำคัญที่ใช้แยกพวกเค้าได้คือ สีม่านตาของนกนางนวลขอบปีกขาวจะมีสีเข้มทั้งนกเด็กและนกผู้ใหญ่ และสมชื่อของเค้า นกนางนวลขอบปีกขาวมีขอบปีกขาวสะอาด ไม่มีแถบสีดำและจุดสีขาว 2 จุดชัดเจนอย่างนกนางนวลธรรมดา

ภาพนกนางนวลขอบปีกขาว (black-headed gull) คลิกที่นี่



ข้อมูล หนังสือ บางปู นกนางนวลและผองเพื่อนนกน้ำอพยพของ พอพล นนทภา

//en.wikipedia.org/

เว็บแสตมป์นกอิสราเอล

ภาพนกนางนวลเพิ่มเติม คลิกที่นี่ "ดูนกนางนวลที่บางปู"





 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2548 18:59:33 น.
Counter : 2977 Pageviews.  

นกสตินท์นิ้วยาว

นกสตินท์เป็นหนึ่งในนกขนาดเล็กที่เดินทางไกลหนีหนาวมาจากไซบีเรียเพื่อหากินในแถบโอเรียนทอล
เมื่อพ้นหน้าหนาวอันโหดร้ายทางเหนือ นาฬิกาในตัวก็จะเตือนให้พวกเค้าบินกลับเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรไปเพื่อผสมพันธุ์วางไข่เพื่อสืบทอดสายพันธุ์ต่อไป

นกสตินท์นิ้วยาว Calidris subminuta ( long-toed stint ) เป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16 เซ็นติเมตร มีปากสีดำ ขาสีเหลือง นิ้วเท้ายาว ขนคลุมลำตัวด้านบนมีสีเข้มและมีลวดลายมากกว่านกสตินท์อีกสองชนิดคือ นกสตินท์อกเทา ( temminck's stint ) และสตินท์คอแดง ( red-necked stint )







คู่เหมือนของเค้าคือนกสตินท์อกเทาซึ่งมีขาสีเหลืองเหมือนกัน โดยนกสตินท์นิ้วยาวจะมีคอและนิ้วเท้ายาว มีลวดลายบนตัวเห็นได้ชัดเจนมากกว่า เราจะพบนกสตินท์นิ้วยาวตามนาเกลือ บ่อกุ้ง ริมบึงน้ำ เพราะมีนิ้วเท้าที่ยาวสามารถหากินบนพืชน้ำขนาดเล็กได้ แต่จะไม่ค่อยพบบนหาดเลนริมทะเล เมื่อตกใจจะยืนยืดคอตั้งซึ่งพฤติกรรมนี้จะไม่เหมือนสตินท์ชนิดอื่นๆ







นกสตินท์นิ้วยาวทำรังวางไข่ทางเหนือของทวีปเอเชียบริเวณตอนกลางและตะวันออก เมื่อผสมพันธุ์วางไข่จนลูกนกโตพอแล้ว ในช่วงหน้าหนาวซึ่งไม่มีอาหารและหนาวเย็น พวกเค้าจะอพยพลงใต้มายัง ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่นตอนใต้ ซุนดา ฟิลิปปินส์ นิวกินี และอาจลงไปถึงออสเตรเลีย







ช่วงที่จะพบนกสตินท์ได้เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจนถึงประมาณเดือนมีนาคม เมื่ออพยพมาใหม่ๆและช่วงที่จะอพยพกลับเราอาจได้พบเค้าอยู่ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ซึ่งมีน้ำตาลแดงสดใสกว่าชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์







สำหรับประเทศไทย นกสตินท์นิ้วยาวเป็นนกอพยพที่มีปริมาณมาก ถ้าเราออกไปดูนกตามแหล่งดูนกชายเลนบริเวณอ่าวไทย นาเกลือ เราจะได้พบนกสตินท์อยู่เสมอ โดยนกสตินท์คอแดงจะเป็นชนิดที่พบมากที่สุด รองลงมาก็น่าจะเป็นสตินท์นิ้วยาวนี่เอง

แต่ถ้าจะไปดูนกชายเลนก็อย่าลืมสวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันแดด และถ้ามีกล้องเทเลสโคปจะดีกว่าเนื่องจากสามารถจำแนกนกได้จากระยะที่ไกลกว่ากล้องสองตามาก หรือจะนั่งดูนกจากบนรถที่ใช้เป็นบังไพรเคลื่อนที่ก็อาจจะสามารถเห็นนกได้ใกล้ขึ้นเพราะนกจะระแวงน้อยลง


ข้อมูล : //www.thaiwaterbirds.com/

ข้อมูลเพิ่มเติม : ดูภาพวาดและฟังเสียง คลิกที่นี่

สตินท์นิ้วยาวจากwikipediaคลิกที่นี่






 

Create Date : 25 ตุลาคม 2548    
Last Update : 30 เมษายน 2555 15:49:25 น.
Counter : 2473 Pageviews.  

นกลอยทะเลคอแดง

นกลอยทะเลคอแดง Phalaropus lobatus (red-necked phalarope) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 18-19 เซ็นติเมตร นับว่าเป็นนกที่มีขนาดเล็ก ปากตรงเรียวแหลม มีจุดเด่นตรงปื้นสีดำจากหลังตาไปทางด้านหลัง หน้า แก้ม คอ อก เป็นสีขาว มีสีเทาเข้มถึงดำพาดจากกระหม่อมลงไปทางด้านหลัง ลำตัวด้านบนสีเข้ม ด้านล่างสีขาว ขาและเท้าสีดำ







นกลอยทะเลคอแดงตัวเมียในชุดขนฤดูผสมพันธุ์จะมีสีแดงบริเวณหลังแก้ม ข้างคอและหน้าอก มีแถบสีส้มแดงบนหลังและขอบขน ตัวผู้คล้ายตัวเมียแต่สีทึมกว่า และตัวเล็กกว่านิดหน่อย

เช่นเดียวกับนกจำนวนหนึ่ง(ซึ่งเป็นส่วนน้อย) นกตัวเมียซึ่งมีสีสันสดใสกว่าเป็นผู้เกี้ยวพาราสีตัวผู้ ป้องกันอาณาเขต คู่ซึ่งตัวเลือกแล้ว และรัง แต่เมื่อวางไข่แล้ว ตัวผู้จะเป็นผู้กกไข่และเลี้ยงลูกๆซึ่งสามารถบินได้หลังออกจากไข่เพียง 20 วัน นกลอยทะเลคอแดงจะวางไข่ครั้งละ3-7ฟองในรังที่อยู่บนพื้นดินใกล้ๆบริเวณที่เป็นโคลนเลน หลังจากภารกิจวางไข่เสร็จสิ้น นกลอยทะเลคอแดงตัวแม่จะบินอพยพย้ายถิ่นลงทางใต้ไปโดยไม่เหลียวแลสามีและลูกๆเลย







นกลอยทะเลคอแดงทำรังวางไข่ในแถบอาร์กติกของอเมริกาเหนือและแถบยูเรเชีย เมื่อเข้าหน้าหนาวจะเดินทางลงใต้ โดยมีลักษณะที่แตกต่างจากนกน้ำอื่นคือสามารถว่ายน้ำ(หรือลอยบนผิวน้ำได้)เหมือนเป็ด และอาศัยในทะเลมากกว่า







นกชนิดนี้มีลักษณะการหากินเฉพาะตัว คือ ว่ายน้ำวนเป็นวงกลมค่อนข้างเร็วเพื่อทำให้เกิดน้ำวน และอาหารซึ่งอยู่ใต้น้ำวิ่งขึ้นมาบนผิวน้ำและจับกินได้ง่าย อาหารของเค้าคือแมลงและสัตว์น้ำเล็กๆ







สำหรับประเทศไทย นกชนิดนี้เป็นนกอพยพผ่านซึ่งแวะเข้ามาหากินเพื่อสะสมพลังเพื่อเดินทางลงใต้ไปอีก โดยอาจบินลงไปถึงออสเตรเลียทีเดียว

เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลอพยพคือประมาณเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จนถึงประมาณเดือน มีนาคม แต่ก็เป็นนกอพยพผ่านที่มีรายงานการพบไม่มากนักในแต่ละปี โดยมักพบที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีและโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร


แหล่งข้อมูล ://en.wikipedia.org

//www.thaiwaterbirds.com





 

Create Date : 20 ตุลาคม 2548    
Last Update : 9 มิถุนายน 2552 9:55:36 น.
Counter : 2504 Pageviews.  

นกโป่งวิด

นกโป่งวิด Rostratula benghalensis ( greater painted - snipe ) เป็นนกที่น่าสนใจตรงที่ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า มีสีสันสวยงามกว่า เป็นฝ่ายเกี้ยวพาราสี และจับคู่กับตัวผู้หลายตัวในหนึ่งฤดูผสมพันธุ์ โดยตัวผู้มีหน้าที่สร้างรัง กกไข่ และเลี้ยงลูกเพียงลำพัง เช่นเดียวกับนกอีแจว และนกพริกซึ่งเป็นนกในวงศ์เดียวกัน







นกโป่งวิดตัวเมียมีหัวโต ปากยาวค่อนข้างแข็ง ตาโต มีวงรอบตาสีขาวกว้าง และยาวเลยไปทางด้านหลังคล้ายภาพวาดนัยน์ตาของชาวอียิปต์โบราณ ปีกกว้าง มน กลม ขนหางสั้นจนดูเหมือนไม่มีหาง หน้าผาก หัว และท้ายทอยเป็นสีน้ำตาลแกมเขียวคล้ำ มีเส้นสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนลากจากโคนปากผ่านกลางกระหม่อมไปจนจรดท้ายทอย ด้านข้างของหัว คาง ใต้คอ จนถึงหน้าอกตอนบนเป็นสีน้ำตาลแกมแดง หลังคอสีน้ำตาลแกมแดงเช่นกัน แต่จางกว่า มีแถบดำล้อมสีน้ำตาลแกมแดงของหน้าอกตอนบนด้วย

หลัง ไหล่ ปีก และ ตะโพก รวมทั้งขนคลุมบนโคนหางมีสีเทาเหลือบเขียวมีลายสีดำ หน้าอกตอนล่าง ท้องและขนคลุมใต้โคนหางสีขาว และยังมีแถบสีขาวต่อขึ้นมาจากด้านข้างของหน้าอกไปจนถึงไหล่อีกด้วย ขาและเท้าสีเขียวออกเหลืองมีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ23-26เซ็นติเมตร







นกโป่งวิดตัวผู้มีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่มีตัวเล็กกว่า นัยน์ตามีวงรอบสีขาวและลากเลยไปด้านหลัง มีเส้นสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนพาดจากปลายปากลากขึ้นไปจนถึงท้ายทอยเช่นเดียวกับตัวเมีย แต่มีคาง ใต้คอ และหน้าอกเป็นสีน้ำตาลปนเทา หน้าผาก หัว และท้ายทอยสีน้ำตาลแกมเขียวคล้ำ ส่วนบนของลำตัว ตั้งแต่หลังคอ หลัง ไหล่ ปีก ตะโพก จนถึงขนคลุมบนโคนหาง และ หาง เป็นสีน้ำตาลเป็นลายบั้งเล็กๆ บนหลังมีแถบสีเนื้อสองแถบ จากบนหัวไหล่ลากไปถึงหลัง ส่วนล่างของลำตัวทั้งหมดเป็นสีขาว







นกโป่งวิดทำรังวางไข่ในช่วงฤดูฝน แต่ถ้ามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ก็สามารถทำรังวางไข่ได้ตลอดทั้งปี เมื่อเข้าฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมียจะเดินร้องปู๊งๆๆเพื่อหาคู่ โดยมีเพียงตัวเมียเท่านั้นที่ทำเสียงดังกังวานเช่นนี้ได้ ตัวผู้จะส่งเสียงได้เพียงเสียงแหลมๆเบาๆเท่านั้นเพราะมีเส้นเสียงสั้น และตรง ตัวเมียจะเกี้ยวตัวผู้โดยการแผ่ปีกออก และตัวผู้ก็จะแผ่ปีกรับ เมื่อผสมพันธุ์แล้วตัวผู้จะทำรัง โดยเลือกทำรังบนที่ชื้นแฉะแต่ไปหาหญ้าแห้งมารองรังเพื่อไม่ให้ไข่เปียก เมื่อเสร็จตัวเมียจะขึ้นไปวางไข่ครั้งละประมาณ 4 ฟอง เมื่อวางไข่เสร็จก็จะจากไปเพื่อผสมพันธุ์กับตัวผู้อื่นต่อไป โดยจะเริ่มวางไข่ชุดใหม่ได้เมื่อวางไข่ชุดแรกไปแล้ว 12 วัน

ส่วนตัวผู้เมื่อตัวเมียจากไปแล้วก็ต้องกกไข่ไปราว 3 สัปดาห์ เมื่อลูกนกออกจากไข่ได้สักพักก็ตามออกไปหากินได้เลย







อาหารของโป่งวิดคือไส้เดือน หนอน หอยตัวเล็กๆ แมลง และ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เมล็ดพืช เมล็ดข้าวและส่วนอื่นๆของพืช

นกโป่งวิดเมื่อตกใจจะใช้วิธีหลบนิ่งๆให้ลวดลายบนปีกที่คล้ายคลึงและกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ หรือไม่ก็กางปีกออกกว้างและขู่ศัตรู


นกโป่งวิดเป็นนกที่มีเป็นปริมาณมากในประเทศไทย พบได้ทั่วทุกภาค แต่มักพบประปรายเป็นแห่งๆ เช่นตามทุ่งหญ้าสูงๆ นาข้าวข้างถนนที่มีน้ำขัง หนองน้ำตื้นๆ เค้ามักทำกิจกรรมต่างๆในช่วงเช้ามืดและเย็นๆ แต่ถ้ามองดีๆในตอนกลางวันก็จะพบพวกเค้าเดินหากินอยู่ในดงหญ้ารกๆได้เช่นกัน







นกโป่งวิดแห่งอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีที่ได้ไปถ่ายภาพมานี้ ได้ข่าวการพบมาจากน้องซิมเปิ้ลแมนแห่งห้องบีพี ซึ่งชอบใช้เวลาว่างในวันหยุดออกหานกตามทุ่งหญ้าและทุ่งนาข้างทางบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้มีข่าวนกโป่งวิดนี้มาทำให้ห้องดูนกคึกคัก เพราะถึงจะเป็นนกประจำถิ่นที่มีมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพบได้ง่ายนัก ช่วงที่พบประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนเป็นช่วงที่เค้าจับคู่ทำรัง จึงมีนักดูนกมีโอกาสได้พบพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี จับคู่สร้างรังของเค้าอย่างใกล้ชิด นับว่าเป็นโอกาสที่ไม่ได้พบง่ายๆ

คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราเก็บรักษาทุ่งนาและทุ่งหญ้าในบางที่ให้คงสภาพเอาไว้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและทำมาหากินของนกน้ำ ไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมกับธรรมชาติและได้เห็นสัตว์ดั้งเดิมของพื้นที่ที่หากินด้วยตัวเอง ไม่ใช่ต้องไปดูในสวนสัตว์ ซึ่งเค้าจะได้เห็นแค่หน้าตาของบรรดาสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีโอกาสได้สังเกตพฤติกรรมของเพื่อนร่วมโลกและสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ของท้องทุ่งเลย



ข้อมูล : //www.bird-home.com






 

Create Date : 12 ตุลาคม 2548    
Last Update : 23 มกราคม 2553 10:21:20 น.
Counter : 3175 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.