Group Blog
 
All blogs
 

นกยางโทนใหญ่

นกยางโทนใหญ่ Casmerodius albus (Great Egret) เป็นนกยางสีขาวๆที่ตัวโตที่สุดที่พบในประเทศไทยคือมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 91-104 เซนติเมตร ความกว้างจากปลายปีกถึงปลายปีก 131-145 เซนติเมตร และมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัม ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ขนคลุมตัวเป็นสีขาวปลอด ปากลักษณะคล้ายกริชเป็นสีเหลือง ขาและเท้าสีดำ นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกจะมีขนประดับสีขาวยาวยื่นออกมาจากบริเวณกลางหลัง ชุดขนนี้จะมีลักษณะคล้ายพู่คลุมชุดขนเดิมทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น เมื่อจะเกี้ยวพาราสี นกจะยกขนชุดนี้ขึ้นดูคล้ายนกยูง ปากเปลี่ยนเป็นสีดำ ขาเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีแดง ซึ่งสีแดงนี้อาจเป็นสีแดงเข้มหรืออ่อน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่พบนก หากพบตอนที่เปลี่ยนชุดขนเต็มที่ ก็จะแดงก่ำเลยทีเดียว หนังเปลือยเปล่าบนหน้าเปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนเป็นสีฟ้าอมเขียวสดใส ทำให้นกดูมีสีสัน สวยงามขึ้นมาก







นกยางโทนใหญ่มักถูกพบตามทะเลสาบ ทุ่งนา ป่าชายเลน หาดโคลน นาเกลือ หนองน้ำ บึง ที่มีอาหารชุกชุม ซึ่งอาหารของนกชนิดนี้ก็คือ ปลา แมลง สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กบ เขียด หรือแม้กระทั่งนกเล็กๆ ในประเทศไทยเป็นนกที่พบได้บ่อยมาก นกที่พบในภาคกลางมักเป็นนกประจำถิ่นและนกที่พบในภาคอื่นๆมักเป็นนกอพยพที่เข้ามาหากินในช่วงฤดูหนาว ในการหาอาหาร นกยางโทนใหญ่จะยืนนิ่งๆบนตลิ่ง ข้างร่องน้ำ หรือยืนในน้ำ เมื่อเห็นเหยื่อก็จะพุ่งคอลงไปและใช้ปากอันแหลมคมทิ่มเหยื่อ และยกขึ้นมากินเหนือน้ำ

นกยางโทนใหญ่เป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์เกือบจะทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นนกทิ่อพยพในฤดูหนาวไปยังประเทศที่อบอุ่นกว่า ทำรังเป็นกลุ่มก้อนร่วมกับนกยางอื่นๆ ทำรังจากกิ่งไม้นำมาวางสานกันและคลุมด้วยใบไม้ บนต้นไม้หรือพุ่มไม้ วางไข่สีฟ้าอมเขียวอ่อนๆครั้งละประมาณ3ฟอง







แม้ว่าจะเป็นนกที่มีปริมาณมากทั่วโลก แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกาเคยมีการล่าเอาขนประดับของนกชนิดนี้มาประดับหมวกจนนกมีจำนวนลดลงไปมาก จนกระทั่งมีกฎหมายออกมาคุ้มครอง นกจึงเพิ่มจำนวนขึ้นมาจนปัจจุบันอยู่ในภาวะที่เสี่ยงน้อยที่สุดต่อการสูญพันธุ์ และ นกชนิดนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ National Audubon Society ของสหรัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งคือเพื่อปกป้องนกที่ถูกฆ่าเพื่อเอาขน







การจำแนกนกชนิดนี้จากนกยางชนิดอื่นค่อนข้างง่าย เพราะมีขนาดตัวโตกว่านกยางชนิดอื่นที่พบในเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด คือ นกยางโทนใหญ่ 91-104 ซม. นกยางจีน(หาพบยาก) 69 เซนติเมตร นกยางโทนน้อย(นกอพยพ) 71 เซนติเมตร นกยางเปีย 61 เซนติเมตร และนกยางควาย(เฉพาะชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์เป็นสีขาวทั้งตัว) 51 เซนติเมตร นกที่มีขนาดและหน้าตาใกล้เคียงกับนกยางโทนใหญ่ที่สุดคือยางโทนน้อย Egretta intermedia(Intermediate Egret) ซึ่งมีปากเหลือง ขาและเท้าสีดำเหมือนกัน ข้อสังเกตคือนกยางโทนใหญ่มีคอที่ยาวกว่าและตัวใหญ่กว่า

นกยางโทนใหญ่นี้ถ่ายภาพมาจากอ่างเก็บน้ำบางพระ และบริเวณนาเกลือ ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร


ข้อมูลจาก :

//www.birds.cornell.edu
//en.wikipedia.org/




 

Create Date : 12 ธันวาคม 2549    
Last Update : 13 ธันวาคม 2549 8:24:10 น.
Counter : 2841 Pageviews.  

นกแขวก

นกแขวก Nycticorax nycticorax (Black-crowned Night-Heron) อยู่ในวงศ์นกยาง Family Ardeidae ซึ่งในโลกมี 62 ชนิด ในประเทศไทยพบ 19 ชนิด เป็นนกที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ดูจะไม่สับสนกับนกชนิดอื่นเด็ดขาดถ้าเป็นนกตัวเต็มวัย กล่าวคือ มีหัวสีดำ มีเปียสีขาวยื่นจากท้ายทอยลงมาทาบกับหลังซึ่งมีสีดำทำให้ดูเด่น ตาสีแดง หน้าสีขาว ปากสีดำ ลำตัวด้านล่างสีขาว ปีกกลมๆและหางสั้นๆสีเทา ขาสีเหลือง(ซึ่งจะออกแดงในช่วงฤดูผสมพันธุ์) นกสองเพศคล้ายคลึงกันแต่นกตัวเมียจะตัวเล็กกว่าเล็กน้อย







นกชนิดนี้เป็นนกยางที่มีขนาดกลางๆ คือมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง ราว 50-61 เซนติเมตร และมีความกว้างจากปีกถึงปีก ถึง 110 เซนติเมตร เป็นนกยางที่คอสั้นและมักอยู่ในท่าหดคออยู่เสมอ

นกแขวกวัยเด็กอาจดูสับสนได้กับลูกนกยางอื่นที่มีลายๆเหมือนกันโดยเฉพาะเมื่อมองผ่านๆ แต่เมื่อสังเกตดีๆแล้ว ลูกนกแขวกจะมีลายจุดๆขาวๆบนปีกเป็นจุดสังเกต ทำให้แตกต่างจากลูกนกยางอื่นๆพอสมควร นกแขวกจะผลัดขนเป็นชุดขนผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์เมื่อเข้าปีที่ 3 โดยนกจะค่อยๆผลัดขนให้คล้ายชุดขนผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นกในปีที่ 2 จะคล้ายตัวผู้ใหญ่มาก แต่สีสันจะยังอ่อนกว่าไม่เหมือนเสียทีเดียว







นกชนิดนี้ทำรังเป็นกลุ่มก้อน กล่าวคือ เราอาจพบรังของนกชนิดนี้บนต้นไม้เดียวกันได้ถึง 12 รัง อาจทำรังร่วมต้นกับนกยางอื่นๆหรือเฉพาะพวกเดียวกันก็ได้ และรังจะอยู่บริเวณที่เป็นง่ามกิ่ง ตัวผู้จะเป็นผู้เริ่มสร้างรัง โดยอาจทำรังใหม่เลย หรือซ่อมแซมรังเก่า เมื่อจับคู่ได้แล้วนกตัวผู้จะเป็นผู้หาวัสดุมาให้ตัวเมียเพื่อให้จัดวางขึ้นมาเป็นรัง เมื่อเสร็จแล้วนกจะวางไข่ราว3-5ฟอง นกทั้งคู่ช่วยกันกกไข่ราว24-26วัน พอออกจากไข่ได้2สัปดาห์ลูกนกก็จะออกจากรัง แต่ก็ไม่ได้ไปไหนไกล เมื่ออายุ6-7สัปดาห์นกก็จะหัดหาอาหารเองได้







นกแขวกกินปลาเป็นอาหารหลัก และเสริมด้วยสัตว์น้ำเล็กๆอื่นๆ ทาก หนอน แมลงต่างๆ โดยจะยืนนิ่งๆอยู่บนตอไม้เล็งหาปลาในน้ำ เมื่อจับได้ก็นำไปกินในที่ที่ปลอดภัยและสะดวก

เนื่องจากเป็นนกที่ยังชีพด้วยการกินปลา จึงมักพบนกชนิดนี้ตาม แหล่งน้ำต่างๆ บริเวณที่ที่มีหญ้าขึ้นริมน้ำข้างทาง บึงน้ำ สวนสาธารณะตามบริเวณชายน้ำ เป็นต้น นกที่พบทางภาคกลางเป็นนกประจำถิ่น ส่วนนกที่พบในบริเวณอื่นของประเทศมักเป็นนกอพยพในฤดูหนาว







นกแขวกสองวัยนี้ถ่ายภาพมาจากพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่นี่จัดเป็นแหล่งอาหารชั้นเยี่ยมของนกกินปลาหลายชนิด เช่นนกยางเขียว และนกแขวก เคยเห็นนกยางเขียวจดๆจ้องๆจับปลาขึ้นมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่มักเป็นปลาเล็กๆที่พอดีกลืน และได้เห็นลูกนกยางเขียวสำรอกเอาปลาออกมาทั้งตัวเพราะว่ากินผิดทางเอาด้านหางเข้าก่อนทำให้ติดครีบ แต่ในครั้งนี้นกแขวกจับได้ปลาสวายตัวเขื่องพอสมควร และใช้ปากรูปใบมีดแข็งแรงยึดเอาไว้ได้แน่นหนาดีเสียด้วย เสียดายไม่เห็นตอนนกกินปลาเพราะหลบไปกินที่อื่นเสียนี่ เลยมีแต่ภาพเกาะตอมาฝาก

ข้อมูลจาก :

//animaldiversity.ummz.umich.edu/




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 20:27:03 น.
Counter : 9366 Pageviews.  

นกชายเลนบึง

นกชายเลนบึง Tringa stagnatilis (Marsh Sandpiper)เป็นนกชายเลนขนาดค่อนข้างเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 25 เซนติเมตร มีขนคลุมลำตัวด้านบนสีเทาน้ำตาล ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีขาว ขาสีเขียวอมเหลืองยาว มีตะโพกสีขาวลามไปถึงบริเวณหลังเป็นรูปลิ่ม ขนหางด้านบนสีขาวมีลายขวางสีดำหลายๆเส้นเวลาบินจะเห็นขายาวเลยปลายหางออกไปมาก ปากดำแหลมยาวตรงคล้ายเข็ม มีคิ้วสีขาวพาดเหนือตาเห็นได้ชัดเจน ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ขนคลุมบริเวณคอหน้าอกลงมาถึงบริเวณสีข้างจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเข้ม นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







แม้จะมีขนาดเล็กกว่ามาก (35 เซนติเมตรและ 25 เซนติเมตร) แต่เมื่อมองในสนามโดยเฉพาะเมื่อพบคนละที นักดูนกอาจสับสนระหว่างนกชายเลนบึงและนกทะเลขาเขียวธรรมดา( Common Greenshank )ได้ เนื่องจากมีสีสันและลักษณะคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างอยู่ที่นกชายเลนบึงดูเพรียวกว่า ปากของนกชายเลนบึงไม่แอ่นขึ้นอย่างนกทะเลขาเขียว โคนปากก็ไม่หนาเท่าและเป็นสีดำตลอดทั้งปาก

นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในเขตที่ลุ่มมีน้ำขังในยุโรปตะวันออก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไซบีเรีย มองโกเลีย และตอนเหนือของประเทศจีน โดยอาจทำรังอยู่ลำพังหรือเป็นกลุ่มหลวมๆ รังของนกชายเลนบึงเป็นเพียงหลุมตื้นๆมีหญ้ารองรัง ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูกเล็ก







นกชนิดนี้จะเดินทางลงใต้ไปยังทวีปอาฟริกา เอเชีย และออสเตรเลียเพื่อใช้เวลาอันอบอุ่นที่นั่นตั้งแต่ราวเดือนสิงหาคมถึงเดือนเมษายนซึ่งนกชุดสุดท้ายจะเดินทางกลับไปยังสถานที่ทำรังวางไข่

อาหารของนกชายเลนบึงคือสัตว์เล็กๆที่อาศัยในน้ำ หรือโคลนเลน หอย ไส้เดือนดิน นกจะเดินท่องน้ำตื้นๆอย่างกระฉับกระเฉง และก้มลงจับอาหารจากผิวน้ำ ในบางครั้งก็จะก้มลงอ้าปากแล้วลากไปมาเพื่อหาเหยื่อ สถานที่ที่เราจะพบนกชนิดนี้ได้ก็คือตามแหล่งน้ำจืดหรือน้ำกร่อยที่เป็นโคลนเลนซึ่งมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เช่น ชายฝั่งทะเล หาดเลน บ่อกุ้ง นาเกลือ ทุ่งนา หนองบึงต่างๆ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค







ภาพนกชายเลนบึงนี้ถ่ายมาจากนาเกลือที่ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ที่สามารถพบนกชนิดนี้ได้ง่าย นกเดินหากินอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความรู้สึกกระฉับกระเฉงมากทีเดียว



ข้อมูลจาก :
//www.birdsinbackyards.net/




 

Create Date : 12 ตุลาคม 2549    
Last Update : 12 ตุลาคม 2549 20:26:01 น.
Counter : 4054 Pageviews.  

นกทะเลขาเขียวธรรมดา

นกทะเลขาเขียวธรรมดา Tringa nebularia (Common Greenshank)เป็นนกชายเลนตัวขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 35 เซ็นติเมตร หุ่นเพรียว คอค่อนข้างยาว โคนปากค่อนข้างหนาสีเขียวหรือเทาปลายปากสีเข้ม ปากค่อนข้างแอ่น วงรอบตาสีขาว ขายาวสีเขียวหรือเขียวอมเหลือง กระหม่อม หลังคอ ขนคลุมหู ขนคลุมหลังและข้างหน้าอกมีจุดประเป็นลายทาง ขนคลุมลำตัวด้านบนสีเทาเข้ม ด้านล่างเป็นสีขาว







นกชนิดนี้มีจุดที่ใช้แยกออกจากนกทะเลขาเขียวลายจุด Tringa guttifer(Nordmann’s Greenshank)ซึ่งแทบจะเป็นคู่แฝดได้อย่างง่ายๆคือนกชนิดนี้มีลายขวางๆสีดำหลายๆเส้นบนขนคลุมหางด้านบนซึ่งเป็นสีขาวขณะที่นกทะเลขาเขียวลายจุดจะมีขนคลุมหางด้านบนเป็นสีเทาเรียบๆ และมีขาส่วนบนก่อนถึงข้อพับขายาวกว่าชนิดหลังที่ขาส่วนบนก่อนถึงข้อพับสั้นมากจนสังเกตได้ ขณะบินขาของนกทะเลขาเขียวธรรมดาก็จะยื่นยาวออกมามากกว่านกทะเลขาเขียวลายจุดด้วย

ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ซึ่งพบได้บ่อยในประเทศไทย นกจะมีหน้าและหน้าผากสีขาว ข้างหน้าอกเป็นลายๆแต่ด้านหน้าของหน้าอกเป็นสีขาว ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ บริเวณหน้า หน้าผาก หน้าอกที่เคยเป็นสีขาวจะเป็นลายๆเช่นเดียวกับบริเวณอื่นทำให้มีสีเข้มกว่าชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์







นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในบริเวณต่ำกว่าเขตอาร์กติก ตั้งแต่ทางตอนเหนือของสก็อตแลนด์ ตอนเหนือของยุโรป ไปจนถึงตอนเหนือของเอเชีย และอพยพในฤดูหนาวไปยังอาฟริกา เอเชียทางตอนใต้ ไปจนถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

สำหรับประเทศไทย เราจะพบนกชนิดนี้ได้มากทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงเดือนเมษายน ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ชายหาดเลน นาเกลือ แม่น้ำสายใหญ่ที่มีอาหารซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็กๆ แมลง และปลาเล็กๆ อุดมสมบูรณ์ มักพบเพียงครั้งละ 1-2ตัว ไม่พบเป็นกลุ่มใหญ่







เมื่อถึงฤดูทำรังวางไข่ นกตัวผู้จะบินกลับไปถึงก่อน เพื่อหาทำเลสร้างรังซึ่งมักจะเป็นบริเวณใกล้ก้อนหิน หรือตอไม้ รังเป็นเพียงแอ่งตื้นๆรองรังด้วยวัสดุอ่อนนุ่มที่หาได้ใกล้ๆหรือขนนก นกตัวผู้จะสร้างรังไว้หลายรังเพื่อให้ตัวเมียเลือก เมื่อสร้างเสร็จก็จะบินขึ้นๆลงๆและอาจร้องเพลงด้วยเพื่อเกี้ยวพาราสี นกตัวเมียอาจร่วมบินด้วยก็ได้ เมื่อจับคู่และวางไข่แล้วนกทั้งสองเพศจะช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูก ซึ่งเมื่อลูกโตและแข็งแรงพอก็จะถึงเวลาที่จะเดินทางลงใต้อีกครั้ง

ภาพนกทะเลขาเขียวธรรมดานี้ถ่ายมาจากบริเวณนาเกลือที่ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร นกเดินหากินในนาเกลือที่มีน้ำขังร่วมกับนกน้ำชนิดอื่นเช่นนกยางโทน นกทะเลขาแดงลายจุดและนกตีนเทียน บางเวลาจะมุดหัวลงไปในน้ำเพื่อหากินพร้อมๆกันหลายๆตัวเห็นแต่บั้นท้ายแหลมๆชี้ขึ้นฟ้าดูน่ารักมาก


ข้อมูลจาก:

//www.birdsinbackyards.net/
//en.wikipedia.org/wiki/
หนังสือ A Guide to the birds of Thailand โดย นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D. Round
หนังสือ A Field Guide to the Birds of Thailand โดย Craig Robson




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2549    
Last Update : 10 ตุลาคม 2549 17:04:05 น.
Counter : 3339 Pageviews.  

นกหัวโตหลังจุดสีทอง

นกหัวโตหลังจุดสีทอง Pluvialis fulva (Pacific Golden Plover) เป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทยตั้งแต่ราวปลายเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนเมษายน







นกชนิดนี้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 23-26 เซนติเมตร ความกว้างจากปลายปีกถึงปลายปีกราว60เซนติเมตร หัวกลมโตกว่าคอซึ่งค่อนข้างเพรียวยาวปากค่อนข้างสั้นสีดำ ขายาวสีเทาดำ ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ซึ่งเป็นชุดขนที่พบเป็นส่วนใหญ่เมื่ออยู่ในประเทศไทยนั้น นกชนิดนี้จะเป็นนกที่ดูโดยรวมเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนๆ ขนคลุมลำตัวด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง เห็นเป็นจุดๆสีเหลืองทองกระจายทั่วไป เมื่อมองด้านข้าง หน้าจะเป็นสีออกน้ำตาลอ่อนมีขอบขาวไม่มีลายมองคล้ายคิ้วและดูตัดกันอย่างชัดเจนกับบริเวณกระหม่อมไล่ไปจนถึงหลังที่เป็นลาย หลังแก้มมีจุดสีน้ำตาลเข้ม มีตาดำโตจนหลายคนเรียกนกชนิดนี้ว่านกตาหวาน







ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ซึ่งเราจะพบได้(แบบไม่ค่อยเต็มรูปแบบนัก)ในช่วงต้นและปลายฤดูอพยพ นกชนิดนี้จะมีหน้า คอ อก ท้องสีดำสนิท ขนคลุมลำตัวด้านบนเหมือนเดิม มีแถบสีขาวไม่กว้างนักแบ่งแยกขนคลุมด้านบนและด้านล่างออกจากกัน ตั้งแต่โคนปากบน เหนือตา คอ สีข้างไปจนถึงขนคลุมโคนหางด้านล่าง เมื่อมองจากด้านข้างเหมือนนกสามสี นกตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน แต่ในชุดขนสีเข้มนี้ ตัวผู้จะดูเข้มกว่าและสีสันสดใสกว่าตัวเมีย







นกชนิดนี้ส่วนใหญ่แล้วจะทำรังวางไข่ที่ไซบีเรียแถบชายฝั่งอาร์กติก และบางส่วนทำรังบริเวณชายฝั่งของอลาสก้า นกจะสร้างรังด้วยไลเค่นส์และใบไม้บนพื้นดิน วางไข่จำนวนราว 4 ฟอง พ่อและแม่นกช่วยกันกกไข่ที่จะฟักใน23-24วันต่อมา เมื่อลูกนกซึ่งหนักราว 25 กรัม ออกมาจากไข่และขนแห้งแล้วก็ออกเดินหากินเองได้เลยโดยที่พ่อแม่ช่วยดูแลอยู่ห่างๆ และช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเท่านั้น
หากลูกนกอยู่รอดปลอดภัยมาได้ ช่วงฤดูหนาวก็จะเป็นเวลาที่จะต้องอพยพไปจากดินแดนอันหนาวเย็นนี้เช่นเดียวกับพ่อแม่ เรื่องที่น่าแปลกก็คือ พ่อและแม่นกจะออกเดินทางจากสถานที่ทำรังวางไข่ก่อน และพวกลูกๆจะออกเดินทางทีหลัง เด็กๆรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องไปที่ไหน โดยเส้นทางไหน







จุดหมายปลายทางของการอพยพของนกชนิดนี้คือเอเชียตอนใต้ ออสเตรเลีย บางส่วนไปทางแคลิฟอร์เนียและฮาวาย มีส่วนน้อยที่อาจซัดเซพเนจรไปจนถึงทวีปยุโรป โดยนกจะเลือกใช้เส้นทางแตกต่างกันไป

อาหารของนกหัวโตหลังจุดสีทองคือแมลง ปลา กุ้ง ปูเล็กๆ หนอน ตะขาบ กล่าวคือสัตว์เล็กๆอะไรก็ได้ตามแต่จะหาได้ สำหรับประเทศไทย เรามักพบนกชนิดนี้ตามหนอง บึง ท้องนา ชายฝั่งทะเล นาเกลือโดยมักอยู่เป็นกลุ่มกับนกชนิดเดียวกัน นกหัวโตหลังจุดสีทองนี้ถ่ายภาพมาจากบริเวณนาเกลือบ้านโคกขามจังหวัดสมุทรสาคร


ข้อมูลจาก :

//www.scsc.k12.ar.us/2001migration/Projects/CarpenterD/Default.htm

//en.wikipedia.org/




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2549    
Last Update : 3 ตุลาคม 2549 20:58:37 น.
Counter : 4259 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.