Group Blog
 
All blogs
 

นกกระแตหาด

นกกระแตหาด Vanellius duvaucelii river lapwing เป็นนกในสกุลนกกระแต ทั่วโลกมีนกในสกุลนี้ 24 ชนิด พบในประเทศไทย 4 ชนิด คือ นกกระแตแต้แว้ด (red-wattled lapwing) นกกระแตหัวเทา(grey-headed lapwing) นกกระแตหงอน(northern lapwing) และนกกระแตหาด (river lapwing)







นกกระแตหาดมีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหาง 29-32 เซ็นติเมตร นกทั้งสองเพศสีสันคล้ายคลึงกัน มีปากเรียวสีดำ หน้าเลยลงมาถึงคอและกระหม่อมสีดำ บนหัวมีพุ่มหงอนขนสีดำยาวเลยลงมาทางด้านหลังจนถึงท้ายทอย ด้านข้างของหน้าสีเทาอ่อนๆ คอสีเทาตัดกับท้องสีขาวอย่างชัดเจน มีแต้มสีดำที่บริเวณท้อง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ขอบขนหัวปีกสีดำ







นกกระแตหาดเป็นนกที่หากินเวลากลางวัน พบตามชายหาดและชายน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ๆ พบตั้งแต่พื้นราบจนถึงระดับความสูง 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยอยู่เป็นฝูงใหญ่ หนีศัตรูด้วยการบินและส่งเสียงร้อง หากจวนตัว สามารถว่ายและดำน้ำหนีได้

อาหารของนกกระแตหาดคือแมลง ตัวหนอน สัตว์น้ำเช่นปลา กุ้ง หอย กบ เขียดขนาดเล็ก โดยเดินหากินตามชายหาด หรือยืนนิ่งๆรอเหยื่อเข้าใกล้ฝั่งแล้วใช้ปากจิกและกลืนเหยื่อทั้งตัว ดังนั้นเหยื่อจึงต้องมีขนาดเล็กมากทีเดียว







นกกระแตหาดทำรังวางไข่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน โดยทำรังง่ายๆตามพื้นทรายชายหาดและชายน้ำ ขุดทรายให้เป็นแอ่งเล็กๆตื้นๆ นำก้อนหินมาวางโดยรอบ ไม่ต้องมีวัสดุรองรัง วางไข่ครอกละ3-4ฟอง ไข่เป็นรูปลูกข่างเปลือกไข่สีเขียวหรือเหลืองปนดำคล้ายสีก้อนหิน มีลายจุดสีดำและน้ำตาลกระจายทั่วฟอง ขนาดของไข่29.4x41.1มม. การฟักไข่มีทั้งที่ทั้งสองเพศช่วยกันฟักและตัวเมียฟักฝ่ายเดียว หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายก็จะเริ่มฟัก โดยใช้เวลา22-24วัน ลูกนกมีขนอุยปกคลุมลำตัว สามารถเดินได้เลยเมื่อขนแห้ง







สำหรับประเทศไทย นกกระแตหาดเป็นนกประจำถิ่น พบไม่มาก โดยพบทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกและภาคใต้ ในช่วงฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์นกกระแตหาดจะอพยพย้ายถิ่นหากินในประเทศ ทำให้มีรายงานการพบนกกระแตหาดในที่ที่แปลกออกไปจากแหล่งหากินได้ แต่บริเวณที่มีรายงานการพบเป็นปรกติคือริมฝั่งแม่น้ำโขง ช่วงที่มีน้ำน้อย มีหาดทรายหรือสันดอนทราย ช่วงอ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นที่ทำรังวางไข่ของนกด้วย โดยมีปริมาณพบน้อยลงเรื่อยๆเนื่องจากมนุษย์เก็บไข่และลูกนกเป็นอาหารและยังมาได้รับผลกระทบจากโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการค้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของสถานที่ทำรังวางไข่อีก







นอกจากประเทศไทยแล้ว นกกระแตหาดมีการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฐาน บังคลาเทศ จีนทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในบางพื้นที่







ภาพนกกระแตหาดนี้ถ่ายมาจากพุทธมณฑลในช่วงเดือนมกราคม2549ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยมีรายงานการพบที่นี่มาแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2543 โดยมีผู้รายงานการพบและนำมาฝากข้อความไว้บนเว็บบอร์ดพันทิพ ทำให้มีคนตามไปดูนกชนิดนี้ ซึ่งมีอยู่ 1 ตัว อาศัยรวมฝูงแบบห่างๆกับนกกระแตแต้แว้ดเจ้าถิ่นซึ่งเป็นนกในสกุลเดียวกัน การเข้าไปถ่ายภาพทำได้ยากมากเนื่องจากเป็นนกตาไวหากเดินเข้าหาก็จะบินหนีจากฝั่งนั้นไปฝั่งนี้ตลอดเวลา ต้องอาศัยการค่อยๆคืบคลานเข้าหานกเก็บภาพเป็นระยะๆ จนกระทั่งนั่งมองหน้ากันได้ ในระยะต่ำกว่า 10 เมตร



ข้อมูลจาก และอ่านเพิ่มที่:

//www.bird-home.com




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2552 10:47:57 น.
Counter : 3229 Pageviews.  

นกเด้าดิน

นกเด้าดิน Actitis hypoleucos (Common Sandpiper) เป็นนกอพยพที่พบได้ทั่วประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว ทั้งตามแม่น้ำ ลำธาร ทุ่งนา ป่าชายเลน และนาเกลือ แต่จะพบมากก็บริเวณที่เป็นนาเกลือหรือชายเลน เนื่องจากมีอาหารให้กินอย่างอุดมสมบูรณ์


มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 20 เซ็นติเมตร นกเด้าดินมีสีสันที่ไม่สะดุดตาด้วยสีออกโทนน้ำตาลด้านบนและสีขาวสะอาดตาด้านล่าง มีขาและเท้าสีเหลือง ตาสีดำมีวงรอบตาสีขาวและมีเส้นสีเข้มคาดผ่านตา แต่มีลีลาเฉพาะตัวที่ทำให้สามารถจำแนกออกจากนกชายเลนอื่นได้ทันที นั่นคือการกระดกหางขึ้นๆลงๆ หรือยกหัวขึ้นๆลงขณะเดินหากิน ซึ่งจะหาไปเรื่อยๆอย่างขยันขันแข็งและรวดเร็ว เมื่อยืนเฉยๆจะอยู่ในอาการกดหัวลงและยกหาง(หรือก้น)ขึ้น ตัวผู้และตัวเมียหน้าตาเหมือนกัน







ในช่วงเดือนเมษายน ถึงกรกฎาคม นกชนิดนี้จะทำรังวางไข่บริเวณตอนเหนือของทั้งยุโรปและเอเชีย จากมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น โดยมีประชากรอยู่ในยุโรปถึง550,000-600,000คู่ ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย นกเด้าดินจะเลือกทำรังใกล้แหล่งน้ำ วางไข่ครั้งละ 4 ฟอง ตัวผู้เป็นผู้กกไข่เป็นส่วนมาก ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 21-23 วัน







ในช่วงฤดูหนาวนกเด้าดินจะอพยพหนีหนาวลงใต้ โดยจะอพยพเป็นกลุ่มไม่ใหญ่นัก กล่าวคือ ไม่เกินฝูงละ 200 ตัว เป็นนกที่มีปริมาณมากและอพยพไปในหลายที่ในโลกมาก ลงไปถึงออสเตรเลีย แต่ไม่ค่อยพบว่าไปถึงนิวซีแลนด์ โดยที่ที่นกเลือกอยู่ในช่วงฤดูหนาวคือตามป่าชายเลน หนอง บึง แม่น้ำ ลำคลอง ที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์







อาหารของนกเด้าดินมีหลากหลายตั้งแต่หนอน สัตว์ที่อาศัยในโคลนเลน แมลง แมงมุม ไปจนถึงตะขาบทีเดียว นกเด้าดินหาอาหารกินแทบจะตลอดเวลา และมักไม่พบหากินเป็นฝูง มักอยู่ตัวเดียว หรือเป็นคู่ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลานอน จะไปนอนกันเป็นกลุ่ม และอพยพเป็นกลุ่ม







นกเด้าดินที่ถ่ายภาพมานี้กำลังหากินอย่างขะมักเขม้น และไม่หยุดหย่อน บริเวณบ้านของชาวบ้านซึ่งเป็นชายเลนที่บ้านพันท้ายนรสิงห์ ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร (ขอโทษที่ไปแอบส่องกั๊บ)



ข้อมูลจาก :

//www.naturia.per.sg/buloh/birds/Actitis_hypoleaucos.htm




 

Create Date : 04 มกราคม 2549    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2552 16:59:59 น.
Counter : 3275 Pageviews.  

นกหัวโตเล็กขาเหลือง

นกหัวโตเล็กขาเหลือง Charadrius dubius (little-ringed plover) เป็นนกชายเลนขนาดเล็ก มีขนาดความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 18 เซ็นติเมตร มีปากดำเรียวเล็ก วงรอบตาสีเหลือง มีกระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำตาล คอและรอบคอสีขาว หน้าอกสีน้ำตาลเข้ม ท้อง ก้นและขนคลุมใต้หางสีขาว ขาและเท้าสีเหลือง หรือน้ำตาลอมเหลือง ในประเทศไทยเราจะพบเค้าได้เฉพาะช่วงหน้าหนาวเท่านั้น






นกหัวโตเล็กขาเหลืองทำรังวางไข่ในช่วงฤดูร้อนในบริเวณพื้นที่ที่เป็นกรวดทรายใกล้แหล่งน้ำจืด ตามเกาะแก่ง ริมฝั่งแม่น้ำ หรือแม้กระทั่งในแหล่งน้ำทิ้งในทวีปยุโรปและทางตะวันตกของเอเชีย พวกเค้าวางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 24-25 วัน และมีอายุยืนยาวประมาณ 9 ปี ในช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้เค้าจะมีหน้าตาเป็นยังไง คลิกที่นี่


ประมาณเดือนมีนาคม-กรกฎาคมเป็นช่วงที่พวกเค้าอาศัยในประเทศที่ทำรังและวางไข่ และช่วงประมาณเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์เป็นช่วงที่พวกเค้าเดินทางหนีหนาวไปยังอาฟริกาและเอเชีย







สำหรับประเทศไทย นกหัวโตเล็กขาเหลืองเป็นนกอพยพที่มีปริมาณมาก พบได้ทั้งตามแหล่งน้ำจืดอย่างในนาข้าว หรือน้ำกร่อยถึงเค็มอย่างในนาเกลือและบริเวณหาดเลน โดยจะพบได้ทั่วประเทศไทย อย่างไรก็ตาม นกหัวโตเล็กขาเหลืองบางส่วน(เป็นจำนวนน้อย)ก็ทำรังวางไข่ทางตอนเหนือของประเทศไทยด้วย







ในช่วงฤดูหนาว เราจะได้พบเค้าเดินหรือวิ่งตามนาเกลือ นาข้าวข้างทาง หรือแหล่งน้ำตื้นๆอื่นๆ พลางหยุดก้มลงหาอาหารซึ่งเป็นพวกแมลง หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็กๆกินอย่างขมีขมัน







นกหัวโตเล็กขาเหลืองมีคู่คล้ายคือนกหัวโตเล็กขาสีส้ม Charadrius hiaticula(common ringed plover) ซึ่งมีขนาดและรูปร่างคล้ายคลึงกันแต่ชนิดหลังมีโอกาสพบได้น้อยกว่ามาก โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงที่เราจะพบได้ในประเทศไทย ข้อสังเกตคือ นกหัวโตเล็กขาเหลืองจะมีปากสีดำตลอด ขณะที่หัวโตเล็กขาสีส้มจะมีสีส้มประมาณครึ่งหนึ่งของโคนปากทั้งปากบนและปากล่าง และ นกหัวโตเล็กขาเหลืองมีวงรอบตาสีเหลือง ขณะที่นกหัวโตเล็กขาสีส้มไม่มีวงรอบตาสีเหลือง ดูภาพนกหัวโตเล็กขาส้ม คลิกที่นี่


ภาพนกหัวโตเล็กขาเหลืองเหล่านี้ถ่ายมาจากนาข้าวแถวลำลูกกาและนาเกลือที่โคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร


ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org/

//www.rspb.org.uk/

และ หนังสือนกชายเลนและนกทะเลในประเทศไทย โดย มงคล วงศ์กาฬสินธุ์





 

Create Date : 06 ธันวาคม 2548    
Last Update : 6 ธันวาคม 2548 16:52:08 น.
Counter : 2384 Pageviews.  

นกปากแอ่นหางดำ

นกปากแอ่นหางดำ Limosa limosa (black-tailed godwit) เป็นหนึ่งในสองชนิดของนกปากแอ่นที่พบในประเทศไทย อีกชนิดหนึ่งคือ นกปากแอ่นหางลาย (bar-tailed godwit) โดยทั้งสองชนิดเป็นนกอพยพที่ลงมาหากินในประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น







นกปากแอ่นหางดำที่พบในประเทศไทยมีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 36-38 เซ็นติเมตร ปลายปากยาวเรียวตรง ไม่แอ่นขึ้นมากอย่างนกปากแอ่นหางลาย ปากสีดำ โคนปากสีชมพูสด ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ขายาวสีเทาเข้ม ขนคลุมลำตัวสีน้ำตาลอมเทา อกสีน้ำตาลจางๆ คิ้วขาว ขณะบินจำแนกออกจากนกปากแอ่นหางลายได้ชัดเจนโดยดูจากแถบสีขาวขนาดใหญ่ที่ปีกด้านบนและที่ปลายหางมีแถบสีดำขนาดใหญ่







อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูผสมพันธุ์(ซึ่งเราอาจพบนกในชุดขนนี้ได้ในช่วงต้นฤดูอพยพ) คอและอกของนกปากแอ่นหางดำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง คางมีสีขาว กระหม่อมสีน้ำตาล ท้ายทอยสีน้ำตาลแดง และ มีจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเข้ม สะโพกและหางมีสีขาวและมีขีดประใหญ่สีคล้ำ ขนคลุมปีกสีเทาอมน้ำตาล ด้านใต้ปีกมีสีขาว นกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่านกตัวผู้และในช่วงฤดูผสมพันธุ์สีที่อกท้องและด้านบนลำตัวของตัวเมีย จะจางกว่าตัวผู้

ดูภาพนกปากแอ่นหางดำในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ คลิกที่นี่

นกปากแอ่นหางดำจะทำรังวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยจะทำรังในทุ่งหญ้ารกๆในพื้นที่ชื้นแฉะ หรือใกล้แหล่งน้ำ ทำรังในพงหญ้า หรือบนพื้นดินแต่ใช้หญ้ารองรัง วางไข่ครั้งละ 4 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันกกไข่ 22-24วันไข่จะฟักเป็นตัว เมื่อลูกนกอายุประมาณ 5 สัปดาห์ ขนขึ้นเต็มตัวพ่อแม่จะพาทิ้งรังไปอาศัยหากินตามปากแม่น้ำหรือทะเลสาบ พอเดือนสิงหาคม-กันยายนก็จะพากันอพยพหนีหนาวลงมาหากินทางตอนใต้ของทวีป






เมื่อลงมาถึงประเทศไทยแล้ว (ประมาณเดือนกันยายน-เมษายน) เราจะพบเค้าเดินหากินตามชายเลน ชอบวิ่งสลับเดินขณะหาอาหาร ใช้ปากทิ่มลงไปในเลนเพื่อจับสัตว์เล็กๆที่ไม่มีกระดูกสันหลังและสัตว์น้ำเล็กๆกิน นอกจากชายเลนแล้วเรายังพบเค้าได้ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในแผ่นดินอย่างบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ได้ด้วย

นกปากแอ่นหางดำฝูงนี้พบที่นาเกลือข้างทางที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี






ข้อมูลและอ่านเพิ่มที่ //www.bird-home.com




 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2548 10:54:53 น.
Counter : 1683 Pageviews.  

นกชายเลนปากโค้ง

นกชายเลนปากโค้ง Calidris ferruginea ( Curlew Sandpiper ) เป็นนกอพยพที่เข้ามาหากินในประเทศไทยและประเทศในเขตร้อนอื่นๆในช่วงฤดูหนาว จนถึงช่วงเริ่มฤดูร้อนปีถัดไป มีแหล่งสร้างรังวางไข่อยู่ทางตอนเหนือสุดของทวีปยุโรปและเอเซีย ตามแนวชายฝั่งและเกาะของมหาสมุทรอาร์คติก ในเขตทุนดราและไซบีเรีย ตอนกลางของประเทศรัสเซีย และเคยมีรายงานพบทำรัง ที่อลาสก้าด้วย







นกชายเลนปากโค้งเป็นนกชายเลนขนาดเล็ก มีขนาดความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 22 เซ็นติเมตร มีปากเรียวยาวสีดำส่วนปลายโค้งลงเล็กน้อย บางตัวโคนปากอาจมีสีเขียวหรือสีน้ำตาล ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ในช่วงฤดูหนาว หรือช่วงต้นฤดูอพยพ นกจะมีคิ้วยาวสีขาวและมีแถบบางๆสีดำตรงหัวตา ข้างหูมีแถบสีคล้ำ กระหม่อมและลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมเทา ขนคลุมปีกสีเทาปลายขอบขาว ลำตัวด้านล่างสีขาวเห็นได้ชัดเจน







อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูร้อนก่อนเดินทางกลับไปทำรังวางไข่ นกชายเลนปากโค้งจะเปลี่ยนชุดขนจากสีค่อนข้างจืดนอกฤดูผสมพันธุ์เป็นสีน้ำตาลแดงเข้มในฤดูผสมพันธุ์ โดยเมื่อกลับไปถึงแล้วในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม นกจะจับคู่ผสมพันธุ์ โดยจะเลือกทำรัง อยู่ตามริมหนองบึง หรือ ทุ่งหญ้า เมื่อทำรังบนพงหญ้าเตี้ยๆแล้ว นกตัวเมียจะวางไข่ประมาณ3-8ฟอง และกกไข่เพียงผู้เดียว ส่วนนกตัวผู้จะทิ้งรังไป








เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย เราจะพบนกชายเลนปากโค้งได้ตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคใต้ รวมทั้งหนองบึงทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาเกลือ นากุ้งที่มีน้ำตื้นๆ หาอาหารซึ่งเป็นสัตว์เล็กๆกิน








นกชายเลนปากโค้งที่ถ่ายภาพมานี้อยู่เป็นฝูงใหญ่ร่วมกับนกหัวโตทรายเล็กและนกสตินท์คอแดงที่นาเกลือที่โคกขามเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา







ข้อมูลจาก : //www.bird-home.com





 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2552 15:10:10 น.
Counter : 3014 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.