Group Blog
 
All blogs
 

นกยางควาย

นกยางควาย Bubulcus ibis (Cattle Egret) เป็นนกยางสีขาวๆที่ดูไม่ค่อยสง่าเหมือนบรรดานกยางสีขาวตัวอื่นๆเนื่องจากมีคอไม่ยาวมาก ขากรรไกรค่อนข้างใหญ่และขาสั้น มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง 51 เซนติเมตรเท่านั้น







ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ นกยางควายจะมีขนคลุมร่างกายสีขาวทั้งตัวเว้นบริเวณหน้าผากมีสีเหลืองทองจางๆ ปากค่อนข้างหนาสีเหลือง ขาและเท้าสีดำ คอค่อนข้างสั้นสำหรับนกยางและอวบหนา ในชุดขนนี้นักดูนกที่ไม่ชำนาญอาจจำแนกสับสนกับนกยางโทนน้อย(Intermediate Egret)ได้ เนื่องจากมีสีสันเหมือนกันแม้ขนาดจะแตกต่างกันมากก็ตาม (ยางควาย 51 ซม.ยางโทนน้อย 71 ซม.) จุดสังเกตนอกเหนือจากขนาดที่อาจวัดได้ยากเมื่อพบคนละทีแล้วก็คือนกยางโทนน้อยไม่มีสีทองจางๆที่หน้าผาก ขากรรไกรไม่อวบหนาเท่า และคอยาวกว่า







ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์นกชนิดนี้จะดูสวยและจำแนกได้ง่ายมากๆเพราะหัว คอ หน้าอก และหลังจะมีขนสีเหลืองทองสดใสปกคลุมไปทั่ว ขาที่เคยเป็นสีดำสนิทก็จะมีสีเหลืองหรือสีแดงมาแทนที่ ในช่วงนี้เมื่อจับคู่แล้วนกทั้งสองเพศจะช่วยกันทำรังโดยตัวผู้หาวัสดุซึ่งก็คือกิ่งไม้แห้งที่อาจจะหามาเองหรือขโมยเอาจากรังใกล้ๆ ตัวเมียสร้างรัง เมื่อวางไข่แล้วจะช่วยกันกกไข่ และหาอาหารมาป้อนลูก







แม้ว่าในปัจจุบันเราจะพบนกยางควายได้ในทุกทวีปเว้นแต่แอนตาร์กติกาเท่านั้น แต่จริงๆแล้วนกยางควายมีจุดกำเนิดที่ทวีปอาฟริกาและเอเชีย นกได้เดินทางทั้งด้วยตัวเองและโดยการนำพาของมนุษย์ไปยังที่ใหม่ๆและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีจนกลายเป็นนกที่หาได้ง่ายมากในทุกๆทวีป ตัวอย่างของความสามารถนี้ได้แก่ เมื่อปี พศ.2420 นกเดินทางจากอาฟริกาไปยังอเมริกาใต้ พอปี 2484 ไปถึงสหรัฐอเมริกา ปี 2496 ก็เริ่มทำรังวางไข่ นับจากนั้นมาอีกเพียง 50 ปี นกยางควายก็กลายเป็นนกยางที่มีมากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือไปแล้ว

นกยางควายไม่ได้กินปลาเป็นอาหารหลัก หรืออาศัยตามแหล่งน้ำเหมือนอย่างนกยางอื่นๆ แต่มักดำรงชีพด้วยตั๊กแตน และแมลงต่างๆในทุ่งหญ้า(ซึ่งก็มักไม่ค่อยไกลจากแหล่งน้ำนัก) แต่ถ้าไม่มีอะไรให้กินจริงๆ กบ เขียด หรือแม้กระทั่งนกเล็กๆก็เคยถูกนกยางชนิดนี้จับกินมาแล้ว ภาพนกยางควายยืนบนหลังควายหรือสัตว์ใหญ่อื่นๆเพื่อจับกินแมลงที่บรรดาสัตว์ใหญ่นั้นรำคาญและปัดออกเป็นภาพที่คนทั่วโลกเห็นจนชินตา ในสนามบินบางแห่งนกชนิดนี้จะยืนชิดขอบรันเวย์รอให้เครื่องบินบินผ่านทำให้บรรดาแมลงอาหารทั้งหลายปลิวหลุดออกมาจากกอหญ้าและจับกินอย่างอร่อย







สำหรับประเทศไทย เราสามารถพบยางชนิดนี้ได้เสมอตามท้องทุ่งท้องนาข้างทางทั่วประเทศ ภาพนกยางควายในบล็อกนี้ถ่ายมาจากท้องนาข้างถนนแถวลำลูกกาและจากพุทธมณฑลซึ่งเป็นอีกที่หนึ่งที่เราพบนกชนิดนี้ได้ง่ายๆ


ข้อมูล/ค้นเพิ่ม:

//www.enature.com/
//en.wikipedia.org/
//www.nhptv.org/




 

Create Date : 30 กันยายน 2549    
Last Update : 30 กันยายน 2549 15:04:06 น.
Counter : 3818 Pageviews.  

นกทะเลขาแดงลายจุด

นกทะเลขาแดงลายจุด Tringa erythropus (Spotted Redshank)เป็นนกชายเลนที่จำแนกได้ง่ายชนิดหนึ่งด้วยสีสันแดงสดใสของขา เท้าและจงอยปากที่แหลมยาวแม้จะมีคู่คล้ายที่คล้ายกันมากคือนกทะเลขาแดงธรรมดา(Common Redshank)







นกทะเลขาแดงลายจุดในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์อย่างที่พบในประเทศไทยนั้นมีขนคลุมลำตัวด้านบนสีเทาอมน้ำตาลมีขอบขนสีขาว หางมีลายขวางสีขาวๆเทาๆ ตะโพกและขนคลุมลำตัวด้านล่างสีขาว โคนปากล่างสีแดงปลายปากดำ ขาและเท้าสีแดง จงอยปากเล็ก ยาว และโค้งลงเล็กน้อยบริเวณปลาย จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ใช้จำแนกนกทะเลขาแดงลายจุดออกจากนกทะเลขาแดงธรรมดาได้อย่างง่ายๆและแม่นยำนอกเหนือไปจากขนาดตัวที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยและอาจไม่สามารถจำแนกด้วยตาโดยเฉพาะเมื่อพบนกคนละที (30 เซ็นติเมตรและ28 เซนติเมตรตามลำดับ) นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกทะเลขาแดงลายจุดในชุดขนฤดูผสมพันธุ์จะแตกต่างออกไป ขนคลุมตัวทั้งหมดจะเป็นสีดำและมีจุดสีขาวประปรายทั่วบริเวณขนคลุมลำตัวด้านบน

นกชนิดนี้จะอพยพหนีหนาวจากแหล่งทำรังวางไข่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสแกนดิเนเวียไปจนถึงไซบีเรีย ไปยังยุโรปตอนล่าง อาฟริกา จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในบางครั้งก็อาจไปจนถึงทวีปอเมริกาได้ด้วย สำหรับประเทศไทยจะพบได้ในช่วงฤดูหนาวราวเดือนตุลาคมถึงมีนาคม โดยพบได้ทั้งตามแหล่งน้ำจืดที่มีโคลนเลน ทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง บ่อปลา บ่อกุ้ง นาเกลือ หาดเลนตามชายฝั่ง จะเห็นว่านกชอบที่ที่เป็นโคลนเลนมากกว่าหาดทราย เพราะมีอาหารที่เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็กๆ กุ้ง หนอนอาศัยอยู่มากมาย







นกทะเลขาแดงลายจุดนี้เจ้าของบล็อกถ่ายภาพมาจากหลายที่ ทั้งที่นาเกลือที่ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร และที่โครงการฯแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ภาพที่เห็นยกปีกขึ้นนี้ถ่ายเมื่อราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นกเปลี่ยนชุดขนเป็นชุดขนผสมพันธุ์เป็นบางส่วนแล้วสังเกตจากลำตัวด้านล่างไม่เป็นสีขาวปลอดอย่างในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์







มีข้อมูลเกี่ยวกับนกชนิดนี้มากมายหลายที่ เช่น

//en.wikipedia.org/
//identify.whatbird.com/
//www.rspb.org.uk/







 

Create Date : 28 กันยายน 2549    
Last Update : 29 กันยายน 2549 7:43:25 น.
Counter : 3368 Pageviews.  

นกพริก

นกพริก Metopidius indicus (Bronze-winged Jacana) เป็นนกชนิดเดียวในโลกที่อยู่ในสกุลนกพริก(Genus Metopidius) และมีผู้ร่วมวงศ์ Jacanidae ในประเทศไทยเพียงอีกชนิดเดียวคือนกอีแจว (Pheasant-tailed Jacana)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 29 เซนติเมตร

ตัวเมียรูปร่างหน้าตาเหมือนแต่ตัวโตกว่าตัวผู้ ลำตัวส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นสีดำเหลือบ หลังและปีกสีบรอนซ์อมเขียวมะกอก ขนคลุมโคนหางด้านบน ด้านล่างและหางสีน้ำตาลแดงอมม่วง ซึ่งเห็นได้ไม่ชัดเจนนักในสนาม จุดเด่นคือแถบสีขาวเหนือตาไปจนเกือบถึงท้ายทอย ปากสีเหลือง โคนปากมีสีแดง มีแผ่นเนื้อหน้าผากสีเทา มีขายาวปานกลาง นิ้วเป็นนิ้วระดับ และยาวมาก ยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้ว ไปข้างหลัง 1 นิ้วโดยนิ้วหลังอยู่ระดับสูงกว่านิ้วหน้าเล็กน้อย เล็บเท้ายาวมาก และเล็บเท้าหลังยาวเป็นพิเศษ คือยาวกว่าตัวนิ้วเองเสียอีก นิ้วที่ยาวมากนี้ช่วยในการทรงตัวเมื่อเดินไปบนพืชน้ำเช่นจอกหูหนู สาหร่าย บังสาย และกระจับเป็นต้น







นกพริกเป็นนกที่หากินกลางวัน โดยจะเดินหากินบนแพพืชลอยน้ำได้โดยไม่จม ขณะเดินหากินก็กระดกหางขึ้นลงตามจังหวะไปด้วย เนี่องจากเป็นนกที่หากินในพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เราจึงอาจพบนกชนิดนี้เพียงครั้งละ1-2ตัวเท่านั้น เราจะพบนกพริกหากินแมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่นลูกปู ลูกกุ้ง หอยขนาดเล็ก และกินเมล็ดพืช หาอาหารโดยจิกพืชที่ลอยอยู่ให้พลิกขึ้นแล้วจับอาหารที่ติดมากับใบหรือรากพืช หรือจิกแมลงตามยอดพืชเช่นแมลงปอ โดยสถานที่ที่จะพบนกชนิดนี้มักเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ บึง คลอง ทุ่งโล่งที่มีน้ำขังตลอดปี มีพืชลอยน้ำหนาแน่น ตั้งแต่พื้นราบจนถึงที่ความสูง1000เมตรจากระดับน้ำทะเล







ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือน ตุลาคม เป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ของนกพริก นกชนิดนี้ทำรังบนพืชลอยน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆที่ตนเองอาศัยโดยนกตัวเมียจะใช้ปากจิกพืชน้ำมาวางซ้อนกัน2-3ชั้น ทำตรงกลางเป็นแอ่งวางไข่ มีน้ำซึมถึงแอ่งที่รองรับไข่

ดูภาพรังนกพริก คลิกที่นี่








เมื่อถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมียที่ตัวใหญ่กว่าจะมีสีสันสดใส เหลือบมันวาว และเป็นผู้เกี้ยวพาราสีตัวผู้ เมื่อจับคู่กันแล้ว ตัวเมียจะค่อยๆวางไข่วันละฟอง จนครบ 3-4 ฟอง นกตัวผู้จะกกไข่ทันทีตั้งแต่วันแรก แต่จะกกเฉพาะตอนกลางคืน เว้นในวันที่อากาศเย็นก็จะฟักตอนกลางวันด้วย ช่วงที่ยังไข่ไม่หมด นกตัวเมียจะอยู่ใกล้ๆรัง พอวางครบก็จะจากไปเพื่อจับคู่กับตัวผู้อื่นต่อไป

นกตัวผู้รับหน้าที่กลับไข่และฟักไข่ตามลำพังเป็นเวลา 24-26 วัน เมื่อลูกนกฟักออกจากไข่ 2-3 ชั่วโมงก็ออกเดินได้พ่อนกก็จะคาบเปลือกไข่ไปทิ้งให้ไกลจากรัง เมื่อลูกนกฟักครบทุกตัวพ่อนกก็จะพาลูกออกเดินหากินจนลูกนกโตพอที่จะหาอาหารและบินได้ ราว 6-8 สัปดาห์ ก็จะออกหากินเอง หรือรวมเป็นฝูงกับครอบครัวอื่นต่อไป

ดูภาพลูกนกพริก คลิกที่นี่








นกพริกเป็นนกประจำถิ่นของอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยเราจะพบนกพริกได้ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วไปทุกภาคเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับนกพริกตัวนี้ ถ่ายภาพมาจากแหล่งน้ำข้างทาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

ข้อมูลจาก:

www.bird-home.com

หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D. Round




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2549    
Last Update : 27 สิงหาคม 2549 20:15:34 น.
Counter : 8397 Pageviews.  

นกยางกรอกพันธุ์อินเดีย

นกยางกรอกพันธุ์อินเดีย Ardeola grayii (Indian Pond Heron) เป็นนกยางกรอกอีกชนิดหนึ่งนอกเหนือไปจากนกยางกรอกพันธุ์จีน( Chinese Pond heron)และนกยางกรอกพันธุ์ชวา(Javan Pond Heron)ที่พบได้ในประเทศไทย







นกยางกรอกพันธุ์อินเดียในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์มีขนาดและสีสันคล้ายคลึงกับนกยางกรอกอีกสองชนิดมากจนอาจไม่สามารถจำแนกได้เมื่อพบในสนาม จนเข้าฤดูที่นกเปลี่ยนเป็นชุดขนฤดูผสมพันธุ์จึงแยกออกจากกันได้ชัดเจน







นกยางกรอกพันธุ์จีนเป็นนกอพยพที่เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทยจะอยู่ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนตุลาคม และกลับในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ คือหัว คอ อกมีสีแดงสดใส หลังมีขนคลุมยาวสีเทาดำ ด้านล่างลำตัวสีขาวในราวเดือนมีนาคม เป็นนกที่ทำรังวางไข่ในประเทศจีน เมื่ออพยพมาเมืองไทยจะพบได้ในทุกภาค







นกยางกรอกพันธุ์ชวาเป็นนกประจำถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยมีการกระจายพันธุ์ทางภาคกลาง ทำรังวางไข่ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ชุดขนในฤดูผสมพันธุ์จะมีหัวสีน้ำตาลออกทองๆ ไล่ลงมาเป็นสีเข้มขึ้นจนเป็นสีส้มแดงบริเวณช่วงอก มีเปียสีออกนวลๆ ไหล่สีเทาปนดำ ขนคลุมตัวด้านล่างสีขาว







นกยางกรอกพันธุ์อินเดียมีชุดขนในฤดูผสมพันธุ์คล้ายคลึงกับนกยางกรอกพันธุ์ชวา แต่ขนคลุมหัวและไล่ลงมาถึงอกเป็นสีฟางข้าวอ่อนๆ ทั้งหมดไม่สดใสแบบของยางกรอกพันธุ์ชวามีเปียสีอ่อน และขนคลุมหลังเป็นสีแดงเห็นได้ชัดเจน


นกยางกรอกพันธุ์อินเดียเป็นนกประจำถิ่นของอินเดีย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกกลาง แถบอ่าวเปอร์เซียจนถึงอินเดีย มีการอพยพตามแหล่งอาหารจนมาถึงพม่าและไทย สำหรับไทยมักมีรายงานการพบทางใต้และภาคกลาง โดยนกอาจมาตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่เพิ่งมาเห็นว่าเป็นนกยางกรอกพันธุ์อินเดียเมื่อเปลี่ยนเป็นชุดขนฤดูผสมพันธุ์นี่เอง นกชนิดนี้มีรายงานการพบในเมืองไทยน้อยกว่าสองชนิดแรกมาก







นกยางกรอกพันธุ์อินเดียจะจับกลุ่มทำรังด้วยกันบนต้นไม้ในพื้นที่แฉะน้ำ วางไข่ครั้งละ3-5ฟอง เป็นนกที่หาง่ายมากๆในประเทศอินเดีย และมักเชื่องคน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของนกชนิดนี้ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอห์น เอ็ดเวิร์ด เกรย์ นักสัตววิทยาชาวอังกฤษ

ช่วงนี้มีข่าวพบนกยางกรอกพันธุ์อินเดียในหลายพื้นที่ เช่นที่สถานตากอากาศบางปู พบ 1 ตัว ซอยโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว 1 ตัว เจ้าของบล็อกพบที่ทุ่งนาลำลูกกา 2 ตัว และพบที่โคกขามซึ่งเป็นที่ที่ถ่ายภาพมานี้จำนวน 5 ตัว นกยางกรอกทั้ง 3 ชนิดยืนหากินอยู่ด้วยกันทำให้มีโอกาสได้เทียบเคียงลักษณะได้ง่าย
ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com

//en.wikipedia.org

อ่านเพิ่มเกี่ยวกับนกยางกรอกพันธุ์ชวาได้ที่บล็อกนี้




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 4 พฤษภาคม 2549 17:07:24 น.
Counter : 2249 Pageviews.  

นกเป็ดผีใหญ่

นกเป็ดผีใหญ่ Podiceps cristatus ( great crested grebe ) เป็นนกเป็ดผีหนึ่งในสองชนิดที่พบในประเทศไทย อีกชนิดคือ นกเป็ดผีเล็ก




นกเป็ดผีเล็ก



ในขณะที่นกเป็ดผีเล็กมีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง 25 เซ็นติเมตร นกเป็ดผีใหญ่มีขนาดถึง 48-51 เซ็นติเมตร เมื่อวัดจากปลายปีกข้างหนึ่งถึงปลายปีกอีกข้างหนึ่ง มีความยาว 59-73 เซ็นติเมตร ตัวใหญ่และคอยาว หน้าขาว คอขาว ปากยาวสีชมพู มีขนคลุมลำตัวด้านล่างสีขาว ด้านบนสีออกน้ำตาลเข้ม มีหงอนซึ่งเป็นขนสีน้ำตาลเข้มสองข้างบนหัว มีขาอยู่ค่อนไปทางด้านหลังมากทำให้เดินไม่สะดวก ถนัดที่จะอยู่ในน้ำมากกว่า นกทั้ง 2 เพศคล้ายคลึงกัน







ในช่วงฤดูผสมพันธุ์นกเป็ดผีใหญ่จะมีขนประดับบริเวณหัวและคอสีน้ำตาลแดงสวยงามมาก เป็นเหตุให้ถูกล่าเป็นเครื่องประดับหมวกจนเกือบสูญพันธุ์ไปจากประเทศอังกฤษ ในช่วงปี 1860 คาดว่ามีเหลืออยู่เพียง 42 คู่จนต้องมีองค์กรออกมาอนุรักษ์ ปัจจุบันเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่ายแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย เป็นนกหายากระดับvery rare winter visitor







นกเป็ดผีใหญ่มีพฤติกรรมคล้ายนกเป็ดผีเล็ก คือ มุดลงไปใต้น้ำเพื่อจับอาหาร(หลักๆเป็นปลา และสัตว์น้ำอื่น) และเพื่อหลบหนีจากศัตรู นกเป็ดผีสามารถดำน้ำลงไปและไปโผล่อีกที่หนึ่งไกลๆได้ เมื่อจะวางไข่ นกจะดึงต้นหญ้า สาหร่าย พืชลอยน้ำมาวางพาดๆกันเป็นรังลอยน้ำ วางไข่ครั้งละประมาณ 2-4 ฟอง ถ้าพ่อแม่จะไปหาอาหารระหว่างกกไข่ก็อาจทำได้โดยการเอาต้นหญ้าสาหร่ายเปียกๆมาปิดไข่ไว้ชั่วคราว เมื่อออกจากไข่แล้วลูกนกที่เพิ่งเกิดไม่นานมีตัวลายๆ มักขึ้นไปอยู่บนหลังพ่อแม่เหมือนนกเป็ดผีเล็ก ในการขึ้นไปบนหลังพ่อแม่ ลูกนกจะขึ้นโดยการขึ้นจากขาของพ่อแม่ซึ่งอยู่ค่อนไปทางด้านหลังมากและพาดขนานไปกับผิวน้ำนั่นเอง พ่อแม่หาอาหารจำพวกปลามาป้อนลูก

ดูภาพและอ่านเรื่องเกี่ยวกับการทำรังของนกเป็ดผีใหญ่คลิกที่นี่







ในทวีปยุโรปและทวีปเอเชียบางส่วน นกเป็ดผีใหญ่มักอาศัยและจับคู่ทำรังตามแหล่งน้ำจืดเช่นทะเลสาบ บึง สระ อ่างเก็บน้ำ สามารถพบได้ตามชายฝั่งในช่วงฤดูหนาว







สำหรับประเทศไทย นกเป็ดผีใหญ่จะเดินทางมาในช่วงฤดูหนาวจำนวนไม่มากตัวนัก มาอาศัยตาม อ่างเก็บน้ำ บึงขนาดใหญ่ นกเป็ดผีตัวที่ถ่ายภาพมานี้ มาอาศัยในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา เป็นการลงเรือถ่ายภาพเป็นครั้งแรกในชีวิต







ข้อมูลจาก:

//www.rspb.org.uk/

//en.wikipedia.org/wiki/Great_Crested_Grebe

//www.birdsofbritain.co.uk/

ฟังเสียงนกเป็ดผีใหญ่ตามลิงค์นี้

//www.mangoverde.com/





 

Create Date : 01 มีนาคม 2549    
Last Update : 8 มิถุนายน 2552 20:09:59 น.
Counter : 3891 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.