การให้นมและอาหารเสริมในเด็กทารก
การให้นมและอาหารเสริมในเด็กทารก

การให้นมและอาหารเสริมในเด็กทารก
ในช่วงแรกน้ำนมแม่อาจจะออกมาไม่เพียงพอสำหรับลูกน้อย ถ้าจะให้นมผสมสำหรับทารก เสริมควรป้อนด้วยถ้วยเล็กให้ลูกดื่ม ไม่ควรให้ดูดจุกนม เพราะเด็กจะไม่ยอมดูดนมแม่อีก การเลี้ยงดูในช่วงแรกนี้ง่ายเพราะ ลูกจะกินอิ่มแล้วนอนหลับไปเป็นส่วนใหญ่



หลักการให้นม
- ควรเลี้ยงทารกแรกเกิดถึงอายุ 3 เดือน ด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะนมแม่เป็นอาหารทีดี่ที่สุด มีสารอาหารครบถ้วนทางโภชนาการ รวมทั้งให้จุลินทรีย์สุขภาพซึ่งช่วยให้ภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ และป้องกันการดูดซึมสารแปลกปลอมต่างๆ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ไม่มีอยู่ในนมชนิดอื่น ลดความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ และเพิ่มความผูกพันใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูก รวมทั้งช่วยสะอาดและประหยัด แม่ทุกคนจึงควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

- การเริ่มให้นมลูกนั้นจะ ประสบความสำเร็จด้วยดีโดย ให้ลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง 3-4 สัปดาห์ต่อมาให้นมทุก 3-4 ชั่วโมง แต่ละครั้งประมาณ 5-15 นาที เราจะรู้ได้ว่ามีน้ำนมแม่ให้ลูกเพียงพอ โดยสังเกตเห็นว่าขณะที่ลูกดูดนมข้างหนึ่ง จะมีน้ำนมพุ่งออกจากหัวนมอีกข้างหนึ่ง เมื่อลูกกินอิ่มจะหลับสบาย กินนมแม่จะถ่ายบ่อย อุจจาระสีเหลืองทอง ลักษณะเหลวเป็นฟองมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เติบโตดี

- แม่ที่ทำงานนอกบ้านควรให้นมแม่อย่างเต็มที่ในระยะพักหลังคลอด เมื่อกลับไปทำงานก็จะให้นมแม่ได้ ในเวลาเช้ากับกลางคืน และบีบนมใส่ขวดสะอาดไว้ให้ลูก สำหรับช่วงกลางวัน หากจำเป็นต้องใช้นมผงดัดแปลง สำหรับทารกจะต้องผสมให้ถูกส่วน และดูแลทำความสะอาดด้วยการนึ่งหรือต้มขวดนม และจุกในน้ำเดือดนาน 10 นาที

- เมื่อทารกอายุครบ 3 เดือนแล้วจึงเริ่มให้อาหารอื่นนอกจากนม เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เริ่มให้ข้าวบดใส่น้ำแกงจืด สลับกับกล้วยครูดครั้งละประมาณ 1-6 ช้อนชา วันละครั้งแล้วให้ดูดนมตามจะอิ่ม



การให้นม
ทารกที่กินนมแม่ ควรจะให้นมแม่ต่อไป สำหรับทารกที่กินนมผสม ก็ยังคงใช้นมดัดแปลงสำหรับทารกที่มีธาตุเหล็ก ซึ่งอาจจะให้มื้อละ 4-6 ออนซ์ วันละ 5-6 มื้อ หรือทุก 3-4 ชม. หลังอายุ 4 เดือน ควรจะค่อย ๆ ลดนมมื้อกลางคืนในช่วงตี 2 ถ้าลูกไม่ตื่นให้นอนจนถึงเช้า และเพิ่มปริมาณนมในแต่ละมื้อ อย่าใช้นมข้นหวานหรือนมวัวธรรมดาเลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี

อาหารตามวัย

ระยะ นี้ทารกต้องการอาหารที่มีธาตุเหล็กและวิตามินต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อทารกอายุครบ 4 เดือน ควรเริ่มให้ข้าวบดกับกล้วย ไข่แดงต้มสุก หรือข้าวบดกับตับ สลับกับข้าวบดกับถั่วต้มเปื่อยหรือเต้าหู้ขาว โดยเริ่มให้มื้อละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ควรให้อาหารวันละมื้อเพิ่มจากนม ทารกควรได้รับอาหารมื้อหลัก 1 มื้อ แทนนมเมื่ออายุ 6 เดือน

อาหารสำหรับทารกวัยนี้ควรทำให้อ่อน สับ บดละเอียด ต้ม และควรมีรสจืด ไม่ควรเติมสาร ปรุงรสใด ๆ

อาหารชนิดใหม่ ควรเริ่มที่ละชนิดเดียวและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อดูว่าลูกมีอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น ถ่ายเหลวหรือไม่ ถ้าทารกปฎิเสธเพราะไม่คุ้นเคย ควรจะงดไว้ก่อน แล้วลองให้ใหม่ที่ละน้อย อีกใน 3-4 วันต่อมาจนทารกยอมรับ

เมื่อทารกอายุครบ 5 เดือน เริ่มข้าวบดกับเนื้อปลา อาจเติมฟักทอง หรือ ผักใบเขียว เช่นตำลึงหรือผักบุ้งที่ล้างให้สะอาดสับละเอียดต้มสุก สัดส่วนของอาหารเด็กประมาณอย่างคร่าว ๆ ว่าให้มีข้าว 3 ส่วน เนื้อสัตว์หรือถั่ว 1 ส่วน ( เช่นข้าว 3 ช้อน ไก่บด 1 ช้อน ) เมื่อเริ่มป้อนอาหารมื้อแรกลูกอาจใช้ลิ้นดุนออกไม่ยอมกลืน ความจริงแล้วลูกอยากกิน แต่ตะหวัดลิ้นไปด้านหลังให้ลงสู่คอยังทำไม่เป็น จึงกลายเป็นดุนอาหารออก ควรป้อนต่อไปโดยใช้ช้อนเล็กป้ายไปที่เพดานปาก จะได้ฝึกกลืน

อายุ 6-9 เดือน
การให้นม
ทารกที่กินนมแม่ ควรจะให้นมแม่ต่อไป
ทารกที่กินนมผสมอาจ จะใช้นมดัดแปลงสำหรับทารก ( Infant formula ) ต่อไปก็ได้ หรือจะเปลี่ยนเป็นนมสูตรต่อเนื่อง ( Follow – on formula ) ซึ่งเป็นนมวัวดัดแปลงสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 3 ปีก็ได้ ควรผสมให้ถูกต้องตามคำแนะนำข้างกระป๋องหรือคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ให้นมมื้อละ 6-8 ออนซ์ ให้นมวันละ 4-5 มื้อ เมื่อรวมทั้งวัน 24 ชม. แล้วทารกไม่ควรได้รับนมวัวดัดแปลงเกิน 32 ออนซ์ ในระยะนี้ทารกส่วนใหญ่จะหลับตลอดคืน อาจงดดื่มนมมื้อดึกได้

อาหารตามวัย
- ทารกอายุ 6 เดือน ควรได้อาหารมื้อหลัก 1 มื้อ ซึ่งเป็นข้าวบดใส่ไข่แดง เนื้อปลา ตับ ถั่วต้มเปื่อยหรือเต้าหู้ขาวอย่างใดอย่างหนึ่งผสมผักใบเขียว รวมหนึ่งถ้วยเล็ก ก็จะทำให้ทารกอิ่มพอดี ควรใช้ช้อนเล็ก ๆ ขอบมนตักป้อนให้ช้า ๆ

- เมื่อทารกอายุได้ 7 เดือน เริ่มให้เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู หรือเนื้อปลา บดหรือสับละเอียดต้มสุกผสมกับข้าวและผักใบเขียว หรือฟักทอง 1-2 ช้อน นอกจากจะได้อาหารมื้อหลัก 1 มื้อ แล้วอาจให้อาหารว่างแก่ทารกได้อีก 1 มื้อ เช่น กล้วยสุกครูด มะละกอสุกในปริมาณ 2-4 ช้อนโต๊ะ

- ทารกอายุ 8 เดือน ควรได้อาหารมื้อหลัก 2 มื้อโดยให้อัตราส่วน ข้าว 3 ส่วน เนื้อสัตว์ หรือถั่ว เต้าหู้ 1 ส่วน ผักอีกต่างหาก 1-2 ช้อนโต๊ะ

อายุ 9-12 เดือน
การให้นม

นมแม่ในระยะนี้จะมีปริมาณลดลงแต่คุณภาพยังดีอยู่ จึงควรจะให้ทารกกินนมแม่ตอ่ไป

สำหรับทารกที่กินนมผสมนั้นใช้นมวัวดัดแปลงสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 3 ปี ( Follow-on formula) ในปริมาณไม่เกินวันละ 32 ออนซ์ และในระยะนี้ทารกควรจะหลับตลอดคืนโดยไม่ตื่นขึ้นมากินนมมื้อเด็ก

เพื่อให้เด็กกินอาหารได้ตามวัย ควรลดมื้อนมลงเพื่อทดแทนด้วยอาหาร รวมทั้งนมและอาหารควรเป็นประมาณ 6 มื้อใน 24 ชั่วโมง เช่น ถ้าให้อาหาร 2 มื้อ ควรให้นมอีก 4 มื้อ

อาหารตามวัย
อายุ 9 เดือน ทารกในวัยนี้ควรจะได้อาหารมื้อหลัก 2 มื้อมื้อละ 1 ถ้วย โดยเตรียมจากข้าวบดผสมไข่แดงทั้งฟอง ตับ หรือเนื้อสัตว์ ถั่วต้มเปื่อย กับผักใบเขียว นอกจากนี้อาจจะเริ่มให้ไข่ต้มสุกทั้งฟอง บดละเอียดแก่ทารกได้ยกเว้นเด็กที่มีประวัติแพ้อาหาร

อายุ 10-12 เดือน
ทารกควรได้อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และให้อาหารว่างวันละ 1 มื้อ เช่น กล้วยสุกครูด มะละกอสุก ฟักทองนึ่งในปริมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ



Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2554 9:36:41 น.
Counter : 4582 Pageviews.

1 comment
การเตรียมตัวเมื่อแม่จะไปทำงาน
เริ่มเก็บน้ำนมเมื่อลูกอายุ 1 เดือนไปแล้ว และเก็บอย่างสม่ำเสมอหัดบีบเก็บหรือปั๊มนมให้ชำนาญก่อนไปทำงานอยู่ที่ทำงาน ปั๊มน้ำนมให้เกลี้ยงเต้าทุก 3 ชั่วโมง แช่ตู้เย็น หรือกระติกน้ำแข็งไว้ใส่กระติกน้ำแข็งขนกลับบ้าน แล้วรีบแช่ตู้เย็นเลยค่ะ
ช่วงที่คุณแม่อยู่ระหว่างลาคลอด ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนแรก เพื่อให้สร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น อย่าให้นมผสมหรือดูดจุกนมเพื่อหวังให้ลูกชินนะคะ เพราะลูกอาจจะติดจุกนมจนไม่ยอมดูดนมแม่เลยก็ได้
การเก็บสต๊อคนม
โดยทั่วไปแล้วน้ำนมคุณแม่จะอยู่ตัว เริ่มเก็บน้ำนมได้เป็นเรื่องเป็นราวเมื่อลูกอายุครบ 1 เดือนไปแล้ว จากนั้นหัดบีบเก็บหรือปั๊มนมให้ชำนาญ เมื่อมีน้ำนมมากพอ อาจเริ่มเก็บนมบีบในตู้แช่แข็งเพื่อตุนไว้ ถ้าที่บ้านมีตู้เย็นประตูเดียว อาจเก็บล่วงหน้าได้ 2 อาทิตย์ แต่ถ้าเป็นตู้เย็น 2 ประตู ก็เตรียมเก็บไว้ล่วงหน้า3 เดือนได้เลยค่ะใหม่ ๆ ก็เริ่มปั๊มหรือบีบเก็บหลังจากลูกดูดนมอิ่มแล้ว ถ้าน้ำนมไหลดีขึ้น ระหว่างที่ลูกดูดข้างหนึ่ง มีน้ำนมไหลจากอีกข้าง ก็จะปั๊มไปด้วยก็ได้ ระยะแรกอาจจะยังปั๊มไม่ได้มากนัก แต่ทำไปสักพักร่างกายจะปรับตัวสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้นถ้าลูกไม่ทานนมนานเกิน 3 ชั่วโมง หรือรู้สึกว่านมกำลังจะคัด ให้ปั๊มน้ำนมเก็บไว้ได้ อย่ารอให้นมคัด เพราะเมื่อนมคัด ร่างกายจะลดปริมาณการสร้างน้ำนมลง ถ้าน้ำนมที่ได้แต่ละครั้งมีปริมาณน้อย ให้เก็บไว้ใต้ช่องแช่แข็งก่อน อย่าเพิ่งฟรีส รวมนมที่เก็บในวันเดียวกันใส่ในถุงหรือภาชนะเดิมให้มากพอสำหรับ 1 มื้อ แล้วแช่ฟรีสค่ะ แต่ต้องระวังเรื่องความสะอาดระหว่างเติมนม และอย่าเอาออกมาข้างนอกนานด้วยนะคะ

ฝึกลูกให้กินนมด้วยวิธีอื่นจากคนเลี้ยง
1-2 อาทิตย์สุดท้ายก่อนคุณแม่ไปทำงาน ฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับพี่เลี้ยงเด็ก และให้พี่เลี้ยงเป็นคนป้อน ถ้าพี่เลี้ยงเป็นคนที่ลูกไม่คุ้นเคยมาก่อน ก็มีวิธีฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป - วันแรก ในช่วงที่ยังไม่ใช่เวลาให้นมลูก ปล่อยให้ลูกอยู่กับคนเลี้ยงนานประมาณ 1 ชั่วโมง โดยแม่ต้องไม่อยู่ใกล้จนได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นนะคะ เพราะลูกจะหาแต่แม่แน่นอน- วันต่อๆ มา ให้ลูกอยู่กับคนเลี้ยงนานขึ้นๆ และให้ป้อนนมแม่ที่เก็บไว้จากแก้ว ซึ่งจะช่วยให้ลูกกับพี่เลี้ยงค่อยๆ คุ้นเคยกันมากขึ้นอาจจะ ให้พี่เลี้ยงไปฝึกป้อนนมจากแก้วที่คลินิกนมแม่ของโรงพยาบาลก็ได้ค่ะ ศึกษารายละเอียดจากหัวข้อ “ แม่จะต้องไปทำงานแล้ว ลูกยังไม่ยอมดูดนมแม่จากขวด หรือจากถ้วย ” และหัวข้อ “ วิธีกินนมจากแก้วและหลอด + ข้อดี ”
เมื่อไปทำงาน- ก่อนจะไปทำงานให้ลูกดูดนมแม่ให้ได้มากที่สุด- ขณะคุณแม่อยู่ในที่ทำงาน ให้บีบนมเก็บน้ำนม ถ้าได้ทุก 3 ชั่วโมงก็จะดี ในช่วงสาย หลังอาหารเที่ยง และบ่าย หากทิ้งไว้นานกว่านั้น จะทำให้กระบวนการสร้างน้ำนมลดลงเรื่อย ๆ เป็นผลให้นมสต๊อคไม่พอกินนะคะ ควรบีบเก็บให้เกลี้ยงเต้า ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที แต่ถ้ามีเวลาน้อย อาจใช้สูตร 5-15-5 คือเวลาสายและบ่าย บีบนมนาน 5 นาที เพื่อป้องกันนมคัด (อาจบีบทิ้งหรือบีบเก็บก็ได้) ช่วงพักกลางวัน บีบนาน 15-20 นาทีเพื่อเก็บ และเมื่อลูกโตขึ้น เริ่มกินอาหารอื่น กินนมแม่น้อยลง ก็อาจลดเหลือวันละ 2 ครั้ง- ให้คนเลี้ยงป้อนนมมื้อสุดท้ายก่อนเวลาที่แม่จะกลับสัก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกหิวพอดีกับเวลาที่แม่กลับบ้าน- ในเวลาที่อยู่กับลูกให้นมลูกจากอกอย่างเดียว เพราะการที่ลูกดูดจากอกเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมที่ดีที่สุดค่ะ
เทคนิคการเก็บน้ำนมแม่
สถานที่สามารถเก็บน้ำนมนอกบ้านได้
- สถานประกอบการที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมี ห้อง / มุมนมแม่ ไว้ให้คุณแม่เก็บน้ำนมได้ในระหว่างวันค่ะ ห้อง / มุมนมแม่นี้ ควรประกอบด้วย ห้องที่เป็นสัดส่วน มิดชิด สงบเงียบ คนไม่พลุกพล่าน โต๊ะ เก้าอี้ที่นั่งสบาย ปลั๊กไฟ อ่างล้างมือ และสบู่ กระดาษหรือผ้าเช็ดมือ +ตู้เย็น- หากไม่มีห้อง / มุมนมแม่ ลองมองหาสถานที่สงบ เช่น ห้องพยาบาล ห้องประชุม ห้องเก็บของ หรือบางท่านจะนั่งหันหลังเข้าฝาผนังและปั๊มน้ำนม- ห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะก็สามารถใช้ได้ (เมื่อจำเป็น) โดยคุณแม่ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝาส้วม ประตูโดยตรง (จับผ่านกระดาษทิชชูแทน)- คุณแม่ที่เดินทางเป็นเวลานานอาจปั๊มน้ำนมในรถได้

การเก็บรักษาน้ำนมระหว่างวัน
- มองหาตู้เย็นไว้แช่น้ำนมนะคะ ปกติแล้วสถานประกอบการจะมีตู้เย็นใน ห้องนมแม่ ห้องพยาบาล ห้องเตรียมอาหาร ส่วนใหญ่จะไม่มีของสกปรก (เหม็น) สามารถใช้ได้ค่ะ- หากหาตู้เย็นที่แยกเป็นสัดส่วนไม่ได้ ลองมองดูตู้แช่น้ำดื่ม (น้ำอัดลม) ตู้แช่ไอติม ตู้แช่น้ำแข็ง จะพบได้ในร้านอาหาร ลองเจรจาดูนะคะส่วนใหญ่จะอนุญาตค่ะ แนะนำว่าให้แช่ทั้งกระติก โดยใส่ถุงเก็บน้ำนมลงไปในกระติกแล้วเปิดแง้มไว้ เพื่อให้ได้รับความเย็น แต่หลบจากสายตาคนค่ะ (คนจะสงสัยและมาจับ)- หากไม่มีตู้แช่จริง ๆ ให้ใส่ถุงเก็บน้ำนมลงในกระติก และใส่น้ำแข็ง +เกลือ น้ำแข็งแห้ง หรือ ice pack (ระวังอย่าให้สัมผัสถุงโดยตรง)- ใส่กระติกน้ำแข็ง นำกลับบ้าน แล้วรีบเข้าตู้เย็นโดยเร็วค่ะ



Create Date : 11 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 11:07:35 น.
Counter : 946 Pageviews.

2 comment
เมนูนมแม่
ข้าวตุ๋นกับไข่แดง
อาหารยอดฮิต สำหรับเด็ก เพิ่งเริ่มอาหารเสริม อย่าลืมว่า อาหารแต่ละอย่างที่จะให้น้องเริ่มทาน เมนูละ 3 วันนะคะ เพื่อดูอาการแพ้อาหารว่าแพ้หรือเปล่า ไข่ขาว ถั่ว อาหารทะเล ข้าวโพด น้ำส้ม ให้เริ่ม ช้าที่สุด ตอน 1 ขวบค่ะ ( น้ำส้ม เด็กบางคนจะแพ้ ที่ความเปรี้ยวกับ ยางที่เปลือก จะขึ้น ผื่นแดงเม็ดเล็กๆๆ บริเวณปาก )

ฟักทองนึ่งราดนมแม่ เอาฟักทองมานึ่งให้สุก แล้วเอานมแม่ที่อุ่นตามขั้นตอน มาผสม บดให้ละเอียด ถ้าใส่นมเยอะจะป็นซุป ถ้าใส่นิดนึงก็จะข้นๆๆค่ะ อร่อยดี หอมหวาน รสฟักกับ นมแม่

ข้าวตุ๋นนมแม่
ใช้ปลายข้าวหอมมะลิตุ๋นกับนมแม่เลยก็ได้ หรือจะตุ๋นข้าวให้นิ่มก่อน ข้าวจะร้อนแล้ว เอานมแม่มาผสมคนให้เข้ากัน คล้ายๆๆโจ๊ก แต่ได้รับนมแม่ด้วย

ไอติมนมแม่เอานมแม่ใส่ พิมพ์น้ำแข็ง ปอจะใช้พิมพ์ที่เป็น 2 ชิ้นประกบกัน น้ำแข็งที่ออกมาเป็น ทรงกลมเล็กๆๆค่ะ แต่ใช้ ครึ่งเดียว เอานมแม่ใส่ แล้วฟรีซตามปกติ พอแข็งแล้วแกะออกมา ใส่กระปุกแช่ฟรีซต่อ เอามาให้ลูกอมเล่นๆๆ เย็นๆๆ แก้คันเหงือกได้ด้วยจ้า

กล้วยสมูตี้
กล้วยสุกๆๆครูดออกมา แล้วผสมนมแม่ ถ้ากลัวจะหยาบให้ผ่านกระชอนอีกที แล้วเอานมแม่ผสม ลูกอร่อย จะใช้นมที่เย็นๆๆเลยก็ได้( อย่าเย็นจัด) เป็นการฝึกทานของเย็นด้วย

ซุปข้นปลา
ใช้ปลาเนื้อขาว จะนึ่งหรือต้มก่อนก็ได้ พอได้ออกมาแล้วผสมกับนมแม่แบบอุ่นๆๆ ปั่นๆๆๆให้ละเอียด กรองด้วยกระชอนอีกที ออกมาเป็นซุปข้น ได้โปรตีนจากเนื้อปลาด้วย

ตับบด
ใช้ตับไก้ต้มพอสุกใส่ หอมหัวใหญ่ลงไปต้มด้วย จะได้ความหวานจากหอม อย่าให้แข็งนะคะ แล้วเอามาบดผ่านกระชอน แล้วผสมนมแม่ลงไป จะใส่มากใส่น้อย แล้วแต่จะชอบ ข้นหรือเหลวจ้า

ซุปบล๊อคโครี่
บล๊อคโครี่ต้มสุก ต้มน้ำซุปกระดูก ใส่หอมหัวใหญ่ด้วย เพิ่มความหวาน เอาบล๊อคโครี่ ใส่น้ำซุปนิดนึง แล้วใส่นมแม่ ปั่นให้ละเอียด กรองออกมา ได้ซุปข้นอีกเมนูจ้า

แอปเปิ้ลซอส
แอปเปิ้ล ปอกเปลือก หั่นชิ้นเล็กๆๆ แล้วเอาใส่หม้อ ใส่น้ำสะอาด พอดีกับแอปเปิ้ล ตั้งไฟอ่อนๆๆ จนสุกแอปเปิ้ลจะเป็นสีใส แล้วบดละเอียด ถ้าใช้ไม่หมด เก็บเข้าตู้เย็น กินเย็นๆๆก็อร่อยนะ เหมือนของเกอร์เบอร์เลย ลองทำดูนะคะ

ปลาอบซอสนมแม่
เนื่อปลา ทาเนยโรยกลือนิดเดียว เอาเข้าเตาอบจนสุก
ซอส เอาหอมใหญ่สับละเอียด ผัดกับเนยหรือ น้ำมันมะกอก จนสุกนิ่ม ใส่แป้งสาลีนิดนึง มันจะเป็นก้อนไม่ต้องตกใจ ใส่นมแม่ลงไป คนเบาๆๆ จนละลายหมด มันจะข้นนิดๆๆ เอาไปราดบนปลา หรือจะเพิ่มชีสเข้าไป เอาไปอบอีกนิดนึง ได้เนื่อปลาซอสยืดๆๆจ้า

มันบด เกรวี่ไข่แดง
มันต้มสุก ยีละเอียด กวนบนกระทะ ใส่นมแม่ลงไป ใส่เนยนิดหน่อย กวนให้เข้ากันดี พักไว้

เกรวี่ไข่แดง -- ผัดหอมใหญ่จนนิ่ม ใส่ไข่แดงยี ผสมนมแม่ลงเคียวสักพัก เอามาราดบนมันบดจ้า เพิ่มกลิ่นซอสแม๊กกี่นิดๆๆได้

ซุปข้นแครอท
แครอทผัดกับหอมใหญ่ กระเทียม นิดนึง พอนิ่ม ใส่น้ำซุปไม่เยอะเคี่ยวจนแครอทนิ่มสุก เอาขึ้นมาปั่น ผสมนมแม่ลงไป จะได้ซุปข้นจ้า --เมนูนี่ เปลี่ยนจากแครอท เปนบล๊อคโครี่ หรือ ฟักทองได้จ้า

มักกาโรนีอบ
ผัดหอมใหญ่สับ กับเนื้อไก่ หรือ ปลา ใส่มักกาโรนีลงไป ใส่นมแม่ลงไปพอขลุกขลิก เติมชีส นิดหน่อย เอาเข้าอบ

สมูตตี้สตรอเบอรี่ กล้วย หรือ สัปปะรด
สตอเบอรี่แช่แข็ง ปั่นกับนมแม่


ข้าวมันปลาผัดคื่นไช่
ปลายข้าวสารหุงกับน้ำซุปผสมนมแม่ไปนิดนึง ถ้าเพิ่มความหอม ให้ผัดข้าวกับกระเทียมสับเล็กน้อย หุงออกมาคล้ายๆๆข้าวมันไก่

ผักนึ่งราดซอสขาว
ผักที่ชอบ แครอท บล๊อคโคลี่ เผือก ฟักทอง นึ่งจนสุก
ซอสขาว ผัดหอมใหญ่จนสุก ใส่ แป้งสาลีเล็กน้อย ใส่น้ำซุปกะนมแม่ ลงไปเล็กน้อย เคี่ยวพอข้น ให้ราดไปบนผัก

ซุปข้นไก่
ผัดหอมใหญ่ กะเนย ใส่ไก่สับผัด จนสุกใส่แป้งสาลี เล็กน้อย ใส่น้ำซุป และนมแม่ เคียวจนข้นและเนื่อไก่นิ่ม พร้อมเสริฟ

ไอติมน้ำผลไม้
น้ำผลไม้ทีแม่คั้น เอามาหยอดลงในที่ทำน้ำแข็ง เข้าฟรีส ให้เขากินระหว่างมื้อ หรือ ช่วงคันฟัน ช่วยได้จ้า น้ำผลไม้บางชนิด ผสมนมแม่ลงไปด้วย จะรสชาดคล้ายนมเปรี้ยว แต่ทำจากนมแม่จ้า

ซุปข้าวโพด
เครื่องปรุง ข้าวโพด นมสดหรือนมแม่ เนยละลาย น้ำซุปไก่ แป้งข้าวโพด เกลือป่น
1.ข้าวโพดต้มสุกยีผ่านกระชอน หรือ ใส่เครื่องปั่น
2.นำข้าวโพด นมสดหรือนมแม่ เนยละลาย น้ำซุปไก่ และเกลือป่นเล็กน้อย ตั้งไฟอ่อน ๆ จนเดือด
3.ละลายแป้งข้าวโพดกับน้ำเย็นใส่ในหม้อซุปต้มต่อจนแป้งสุกใส
หมายเหตุ อาจดัดแปลงโดยใช้ผักอื่น เช่น ถั่วลันเตา แทนก็ได้ ใส่ไข่แดงต้มสุกเพิ่มเติม ถ้าซุปใส่อาจเติมแป้งข้าวกล้องลงไป



Create Date : 11 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 10:48:17 น.
Counter : 641 Pageviews.

1 comment
ปั้มยังไงให้พอลูกกิน
สต็อคเท่าไหร่ถึงจะพอ

ถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดยไม่ต้องใช้นมผสมนั้น ในช่วงที่ลาสามเดือนนั้น ต่อให้เร่งทำสต็อคได้เป็นพันออนซ์ก็จะไม่พอสำหรับลูก ถ้าคุณแม่ไปทำงานแล้วปั๊มได้แค่วันละครั้งหรือสองครั้ง

ในทางกลับกัน ถึงแม้จะมีสต็อคแค่สิบยี่สิบออนซ์ก่อนไปทำงาน แต่คุณแม่สามารถหาเวลาปั๊มหรือบีบนมให้ลูกได้เท่ากับจำนวนออนซ์และมื้อที่ลูกกินตอนที่แม่ไปทำงาน (ลูกกินที่บ้าน 3 มื้อ รวม 12 oz. แม่ก็ปั๊ม 3 มื้อ กลับมาส่งลูก 12 oz. ถ้าลูกกิน 4 มื้อ รวม 16 oz. แม่ก็ปั๊ม 4 มื้อ รวม 16 oz มาให้ลูก) ถ้าทำได้แบบนี้ จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานแค่ไหนก็ได้ค่ะ

ปัญหาหลักที่หลายคนทำผิดพลาดเมื่อกลับไปทำงานก็คือ

ไม่ได้ปั๊มเท่ากับจำนวนมื้อที่ลูกกิน วันแรกที่กลับไปทำงานใหม่ๆ แม้ว่าบางคนจะปั๊มแค่ครั้งเดียวตอนเที่ยง ก็อาจจะได้น้ำนมมากเป็นสิบออนซ์ เพราะนมสะสมมากจากที่เคยให้ลูกดูดตอนอยู่บ้าน3-4 ครั้ง แต่พอไม่กี่วัน ก็จะปั๊มนมได้น้อยลงจนตกใจ และถ้ายังคงปั๊มวันละครั้งไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะลดลงเรื่อยๆ จนไม่พอในที่สุด เพราะร่างกายจะตอบสนองกับความต้องการที่ลดลงนี้โดยอัตโนมัติ

บีบไม่เป็น หรือใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถปั๊มนมออกมาได้เท่ากับที่ลูกเคยดูดในแต่ละมื้อ เมื่อเราเริ่มให้ลูกกินนมแม่ที่ปั๊ม ก็จะรู้เองว่าปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการแต่ละมื้อนั้นเท่าไหร่ (แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ไม่ต้องเมล์มาถามนะคะว่าลูกตัวเองต้องการนมเท่าไหร่ สังเกตเอาเองค่ะ) ถ้าลูกกิน 3 ครั้ง รวม 12 oz แล้วเราก็ปั๊มได้ 3 ครั้ง รวมแล้ว 12 oz หรือมากกว่า ก็ถือว่าเครื่องปั๊มนมนั้นใช้ได้ โดยปกติ ถ้าในช่วงลา 3 เดือน แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดยไม่ใช้นมผสม เมื่อกลับไปทำงาน ถ้าบีบด้วยมือได้คล่องและชำนาญ หรือใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี บีบหรือปั๊มเท่าจำนวนครั้งที่ลูกกินที่บ้าน ส่วนใหญ่จะปั๊มได้มากกว่าที่ลูกต้องการนิดหน่อยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคุณแม่ที่โชคร้าย ที่ทำงานไม่สะดวกให้ปั๊มนมได้วันละ 3-4 ครั้ง ขอบอกว่าถ้าวันละครั้งเดียวนี่ยากมาก แต่ถ้าได้อย่างน้อย 2 ครั้ง พอมีลุ้นค่ะ สมมติว่าลูกอยู่บ้านกินนมวันละ 4 มื้อ แม่ปั๊มได้แค่ 2 ครั้ง เที่ยงกับบ่ายสาม ก็ขอให้มาปั๊มชดเชยตอนตีห้า กับ ห้าทุ่มเที่ยงคืนเพิ่มค่ะ ในมื้อที่จะปั๊มชดเชยนี้ พยายามให้ลูกกินข้างเดียว แล้วปั๊มเก็บอีกข้าง ทำแบบนี้สักอาทิตย์ ร่างกายก็จะรับรู้ว่ามีความต้องการในเวลานั้นๆ มากกว่าเวลากลางวัน มันก็จะปรับการผลิตให้เองค่ะ แบบนี้แม้ว่าจะปั๊มได้แค่วันละสองครั้งที่ทำงาน ก็พอได้ค่ะ

จำนวนสต็อคน้ำนมที่น่าจะพอดีๆ ก่อนไปทำงาน โดยส่วนตัวคิดว่าสัก 30-50 ถุง (ถุงละ 2-4 oz) ก็น่าจะกำลังดี เพราะอาจจะมีบางวันเครียดๆ ปั๊มได้น้อยกว่าปกติ ก็ยังมีเผื่อเหลือเผื่อขาด วันไหนอารมณ์ดี เจ้านายชม ปั๊มได้เกินกว่าที่ลูกกินก็มาชดเชยวันที่ได้น้อยไป

สต็อคที่มากเกินไปสร้างความไม่สะดวก คือ ไม่มีที่เก็บ และยังทำให้นมที่ต้องนำมาใช้ต้องย้อนหลังไปเป็นเดือน ซึ่งไม่ตรงกับวัยของลูกอีกต่างหาก

ถ้าใครโชคดีไม่ต้องทำงานประจำ ให้ลูกดูดจากได้เต้าทุกมื้อ ทุกวันนี่ถือว่า สุดยอดแล้วค่ะ แบบนี้มีสต็อคไม่ถึง 10 ถุงก็พอ เผื่อเวลาแอบหนีลูกไปชอปปิ้งสัก 3-4 ชม. อย่างเก่งก็แค่มื้อเดียว กลับมาบ้านลูกกินนมไปแล้ว ก็มาปั๊มเก็บไว้แทนที่ใช้ไป 1 มื้อ

เป็นเรื่องธรรมดานะคะ ถ้าบางวันจะปั๊มได้มากบ้าง น้อยบ้าง สลับกันไป ปกติลูกกินวันละ 12 อาจจะมีบางวันได้ 10 บางวันได้ 14 การผลิตน้ำนมก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของเราล่ะค่ะ วันไหนอารมณดี กินอิ่ม นอนเยอะ ก็ปั๊มได้เยอะ วันไหนเครียด กินน้อย นอนไม่พอ ก็ปั๊มได้น้อยไปบ้าง ไม่ต้องตกอกตกใจ ยิ่งเครียด ยิ่งน้อยค่ะ ขอให้ยึดหลักความสม่ำเสมอ ทำให้ได้ทุกวัน ดูแลร่างกายให้ดี เดี๋ยวก็กลับมาเหมือนเดิมค่ะ
สำหรับคุณแม่ลูกอ่อน โดยเฉพาะคุณแม่ประเภทมือใหม่หัดขับนั้น ถ้าใครตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด แต่กลับมีอุปสรรคในเรื่องของการทำงานและเวลาที่ต้องให้นมลูกนั้น หลายคนอาจมองหาผู้ช่วยอย่างที่ปั๊มนม ซึ่งอำนวยความสะดวกในการให้นมลูกได้อย่างมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม ช่วยรักษาปริมาณน้ำนมให้คงอยู่ในกรณีที่ลูกดูดไม่ได้ ช่วยทำสต๊อกน้ำนม ถ้าต้องกลับไปทำงาน

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่า จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หรือเปล่า (ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าคุณได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากพอ ทั้งจากการอ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ต หรือปรึกษาผู้มีประสบการณ์) คุณก็อาจจะยังไม่ควรซื้อ ที่ปั๊มนม เพราะที่ปั๊มนมดีๆ ราคาค่อนข้างแพง มีแม่จำนวนมากที่ซื้อไปแล้วไม่ได้ใช้ ซึ่งเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุ

ทั้งนี้ เบรสฟีดดิ้งไทย ดอท คอม ได้แนะวิธีก่อนจะตัดสินใจซื้อที่ปั๊มนมมีสิ่งที่ควรพิจารณาดังนี้

1.คุณจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่

ถ้าคุณเป็นแม่ที่ไม่ได้ทำงานประจำ เลี้ยงลูกอยู่กับบ้านตลอดเวลา ลูกเป็นเด็กแข็งแรง ดูดนมบ่อยสม่ำเสมอทุก 1-3 ช.ม. กรณีนี้คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ ถ้าจะมีบางครั้งที่ต้องอยู่ห่างลูกบ้าง ก็สามารถบีบน้ำนมด้วยมือเก็บไว้ให้ลูกได้


2.ถ้าจำเป็นต้องใช้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงประการต่อมาก็คือ ต้องใช้บ่อยแค่ไหน

เพราะ เครื่องปั๊มนม แต่ละรุ่น ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานแตกต่างกัน ถ้าคุณไม่ได้ทำงานประจำ แต่มีช่วงเวลาที่ต้องห่างจากลูกบ้างสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละไม่กี่ช.ม. เครื่องปั๊มนมที่คุณจะเลือกใช้ได้ก็อาจจะเป็นแบบใช้มือ (manual) หรือแบบไฟฟ้ารุ่นเล็ก (mini electric)

แต่ถ้าคุณต้องทำงานประจำเต็มเวลา คุณจะต้องปั๊มนมวันละ 3 ครั้ง (เป็นอย่างน้อย) สัปดาห์ละ 5-6 วัน กรณีนี้ เครื่องปั๊มนมไฟฟ้ารุ่นใหญ่ หรือแบบเช่าใช้จะเหมาะกว่า เพราะสามารถเลือกใช้แบบปั๊มคู่ (double pump) ได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการปั๊มแต่ละครั้ง นอกจากนี้ เครื่องรุ่นใหญ่จะมีประสิทธิภาพดีกว่ามาก จังหวะการปั๊มจะใกล้เคียงทารกดูด ช่วยกระตุ้นกระสร้างน้ำนม และรักษาปริมาณน้ำนมให้คงอยู่สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตามข้อเสียของเครื่องปั๊มนมรุ่นใหญ่ก็คือ ไม่สะดวกต่อการพกพา นอกจากนี้บางรุ่นก็ไม่สามารถใช้ถ่านได้ ต้องใช้ไฟอย่างเดียว คุณต้องพิจารณาด้วยว่า ในที่ทำงาน มีสถานที่ให้คุณทำการปั๊มนมได้อย่างสะดวกหรือไม่ ถ้าต้องปั๊มในห้องน้ำ อาจจำเป็นต้องใช้แบบมือ หรือมอเตอร์รุ่นเล็กแทน

3. เครื่องปั๊มนม แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น มีคุณภาพไม่เหมือนกัน

ที่ปั๊มนมดีๆ ช่วยให้คุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ง่ายขึ้น ที่ปั๊มนม แย่ๆ ทำให้คุณเจ็บและเสียเงินเปล่า อย่าซื้อโดยไม่หาข้อมูลสอบถามจากผู้ที่เคยใช้ แล้วพิจารณาให้ดีว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเองมากที่สุด

ถ้าคิดว่าเครื่องปั๊มนมมีราคาแพง ให้เปรียบเทียบกับเงินที่คุณจะประหยัดได้จากการไม่ต้องซื้อนมผสม ขวดนมจำนวนมาก ที่นึ่งขวดนมและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งค่าใช้จ่าย ในการรักษาลูกที่ป่วยบ่อยจากการไม่ได้กินนมแม่

อย่างรไก็ตาม อย่าเลือกซื้อ เครื่องปั๊มนม ยี่ห้อที่ผลิตและจำหน่ายโดยผู้ผลิตสินค้าประเภทอื่นๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะ ขวดนมสารพัดรุ่น จุกนมหลายแบบ ของเล่น ฯลฯ เพราะนอกจากผู้ผลิตเหล่านั้น จะไม่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องปั๊มนมคุณภาพดีแล้ว บางบริษัทยังเจตนาผลิตที่ปั๊มนมไม่มีคุณภาพมาจำหน่าย เพื่อที่คุณแม่ที่ซื้อไปแล้ว จะได้ปั๊มนมไม่ออก และเข้าใจว่าตนเอง ไม่มีน้ำนม และหันไปเลี้ยงลูกด้วยนมขวดแทน เพราะบริษัทเหล่านั้นสามารถทำกำไรได้มากกว่าจากการขายขวดนม จุกนม และอุปกรณ์ต่างๆ

4. คุณสมบัติของเครื่องปั๊มนมที่ควรพิจารณา

เครื่องปั๊มนมที่ดีจะต้องมีแรงดูด (Suction Strength) อย่างน้อย 200 มม.ปรอท จังหวะในการดูดอย่างน้อย 40-60 รอบต่อนาที จึงจะใกล้เคียงการดูดของทารก

ในช่วง 6-12 สัปดาห์แรก ถ้าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปด้วยดี ร่างกายมักจะผลิตน้ำนมได้เกินกว่าความต้องการของทารก การปั๊มนมในช่วงนี้จะค่อนข้างง่าย และได้ปริมาณมาก แม้ว่าจะใช้เครื่องปั๊มนมที่มีจังหวะในการดูดต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาทีก็ใช้ได้ แต่เมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวแล้ว เครื่องปั๊มนมที่มีจังหวะการดูดต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาที จะทำให้ปั๊มนมไม่ออก ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องปั๊มนมนานกว่า 4 เดือนขึ้นไป ควรเลือกซื้อเครื่องปั๊มนม ที่มีจังหวะในการดูดมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป

ขอขอบคุณ : เบรสฟีดดิ้งไทย ดอท คอม




Create Date : 11 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 10:44:35 น.
Counter : 3191 Pageviews.

0 comment
ตารางเปรียบเทียบนมแม่
ย้ำว่าสารอาหารในนมแม่เป็นสารอาหารที่มีปริมาณที่เหมาะสมสำหรับลูกที่สุดนะคะ อะไรที่มีมากในนมอื่นไม่ได้หมายความว่าจะดีกว่า เพราะการดูดซึมของนมแม่นั้น เยี่ยมที่สุดค่ะ




นมแม่ – อาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย

บางคนบอกว่า “นมก็คือนม” ลูกสัตว์ทุกตัวก็กินนมทั้งนั้น แต่หารู้ไม่ว่า นมของสัตว์ถูกสร้างขึ้นโดยธรรมชาติเพื่อการเจริญเติบโตของสัตว์แต่ละชนิด เพื่อให้เติบโตและอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น แม่แมวน้ำจะสร้างน้ำนมที่มีไขมันสูงมาก เพื่อสร้างชั้นไขมันให้กับร่างกายของลูกแมวน้ำ ทำให้ลูกแมวน้ำอยู่รอดท่ามกลางความหนาวเย็นได้ เช่นเดียวกัน พัฒนาการทางสมองเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับมนุษย์ นมแม่จึงมีคุณประโยชน์ในการเจริญเติบโตของสมองของลูกน้อย โดยพื้นฐานแล้วนั้น น้ำนมของสัตว์มีคุณค่าทางอาหารที่ประกอบไปด้วย ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและแร่ธาตุ หากเมื่อเปรียบเทียบคุณค่าของนมผงดัดแปลง (นมวัว) กับน้ำนมคน (นมแม่) แล้วนั้น แม่ๆหลายท่านจะยิ่งรักนมแม่ เพราะว่า…

โภชนาการแสนพิเศษ เพื่อคนพิเศษหลังคลอด ระดับฮอร์โมนในตัวแม่จะเปลี่ยนแปลงและร่างกายจะสร้างน้ำนมขึ้น หัวน้ำนมสีเหลือง (Colostrum) จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นน้ำนมสีขาวซึ่งอุดมไปด้วยไขมัน โปรตีนต่างๆ น้ำตาลแล็คโตส วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ และน้ำ ซึ่งในน้ำนมแม่นั้น สารอาหารต่างๆมีอยู่ในระดับที่พอเหมาะ เหมาะสมสำหรับทารกแต่ละวัย โปรตีนและไขมันก็แตกต่างไปจากไขมันและโปรตีนจากนมสัตว์อื่นๆ นี่คือเหตุผลหลักว่า ทำไมนมวัวหรือนมผงดัดแปลงไม่สามารถเทียบกับนมแม่ได้


** โปรตีนคุณภาพ

โปรตีนในนมแม่แตกแต่งไปจากนมสัตว์อื่น แม้ว่านมแม่มีโปรตีนต่ำกว่านมวัว แต่ก็มีอยู่ในระดับที่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองทารก การเจริญเติบโตของลูกคนจะช้ากว่าลูกสัตว์อื่น ซึ่งเป็นการให้เวลาให้สมองและร่างกายแข็งแรงพอ และมีการพัฒนาการทางสังคมโดยการได้ใกล้ชิดกับแม่ ลูกวัวต้องโตเร็วและหากินด้วยตนเองในทุ่งหญ้า แต่ลูกคนต้องค่อยๆเติบโต ค่อยๆพัฒนาและเรียนรู้การดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่น

แม้ว่านมแม่มีโปรตีนต่ำกว่านมวัว กรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบของโปรตีนในนมแม่นั้นสำคัญยิ่ง กรดอะมิโน “ทอรีน” พบได้มากในนมแม่ ช่วยอย่างยิ่งในการสร้างสมองและจอตาของทารก การให้ทารกกินนมแม่จึงเป็นการช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตของสมองลูก นี่คือเหตุผลหลัก ที่ผู้ผลิตนมผงพยายามเติมทอรีนสังเคราะห์ในนมผงดัดแปลง เพราะนมสัตว์ไม่เหมือนนมแม่!!

นมทั่วไปมีโปรตีนชนิดเวย์ (whey) และ casein protein เป็นส่วนประกอบ ซึ่ง casein proteins จะย่อยยากและจับตัวเป็นก้อนในกระเพาะ นมวัวมี casein protein เป็นส่วนมาก แต่ในทางกลับกัน นมแม่จะมี whey protein มากกว่า อีกทั้ง casein protein ในนมแม่ก็จะย่อยง่ายกว่า และดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้ทารกที่กินนมแม่หิวเร็วกว่าทารกที่กินนมวัว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว การที่ทารกต้องหิวบ่อยเป็นกลไกที่จะทำให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับแม่


** ไขมันที่ย่อยสลายได้เอง

เอ็นไซม์ไลเปส (Lipase) ในนมแม่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นมแม่ย่อยง่าย ไลเปสจะช่วยในการย่อยสลายไขมันในนมแม่ ทำให้การดูดซึมของสารอาหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไลเปสจะช่วยแปลงไขมันในนมแม่ให้เป็นพลังงานกับทารก ทำให้ได้พลังงานสูงแต่ย่อยง่าย นมแม่จึงดีที่สุดสำหรับเด็กเกิดก่อนกำหนด เพราะเด็กที่เกิดก่อนกำหนดนั้นต้องการพลังงานมาก แต่ระบบการย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์


** สารอาหารที่เปลี่ยน เมื่อความต้องการเปลี่ยน

ไขมันในนมแม่จะเปลี่ยนแปลงตลอดไม่เหมือนเดิม เมื่อลูกเริ่มต้นดูดนม น้ำนมส่วนหน้า (foremilk) จะมีไขมันต่ำแต่มีปริมาณน้ำสูง ช่วยดับกระหายได้ดี แต่น้ำนมส่วนหลัง (hind milk) จะมีไขมันสูง ทารกที่ได้ดูดนมบ่อยจะได้รับน้ำนมส่วนหลังมากกว่า ปริมาณแคลลอรี่ที่สูงในน้ำนมส่วนหลังจะทำให้ร่างกายโตเร็วในช่วง growth spurt ดังนั้นตามหลักชีววิทยาแล้ว ทารกควรที่จะได้ดูดนมบ่อยๆเมื่อต้องการ ไม่ใช่ตามตารางที่ตั้งไว้


** ไขมันอันชาญฉลาด


ไขมันที่พิเศษในนมแม่ช่วยเสริมสร้างสมองของลูก ในช่วงที่ทารกเติบโต เส้นประสาทที่ประกอบด้วย myelin จะรับส่งสัญญาณระหว่างสมองและร่างกาย myelin จะสมบูรณ์แข็งแรงเมื่อได้รับกรดไขมัน linoleic และ linolenic มีมากในนมแม่


** วิตามันและแร่ธาตุ


ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุที่ระบุข้างกระป๋องนมผงนั้นไม่สามารถที่จะเทียบสิ่งที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาติในนมแม่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงเป็นอย่างยิ่งคือ ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายของทารกสามารถดูดซึมจากนมแม่และสามารถนำไปใช้ได้ ไม่ใช่ปริมาณที่มีอยู่ในนม

เมื่อนึกถึงแร่ธาตุหลักที่สำคัญ แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส และ เหล็ก ในนมแม่มีปริมาณที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับนมผงดัดแปลง แต่แร่ธาตุเหล่านี้ในนมแม่สามารถดูดซึมได้ถึง 50 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแตกต่างจากแร่ธาตุสังเคราะห์ในนมผง ที่สามารถดูดซึมได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นผู้ผลิตนมผงจึงต้องเพิ่มแร่ธาตุเหล่านี้ เพราะการดูดซึมนั้นต่ำกว่า ส่งผลให้ราคาต่อหนึ่งประป๋องสูงขึ้นด้วย

ลำไส้อันบอบบางของทารกจะต้องถูกทำงานอย่างหนักเพื่อขจัดสิ่งที่ “เกิน” ความต้องการ ในขณะเดียวกัน การได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปกลับกระตุ้นให้แบคทีเรียชนิดไม่ดี (ก่อให้เกิดโรค) เจริญพันธุ์ได้ดีมากขึ้น นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่อุจจาระของทารกที่กินนมผง แข็งกว่าและมีกลิ่นที่รุนแรงกว่าทารกที่กินนมแม่

ในขณะเดียวกัน นมแม่มี “ตัวช่วย” ที่จะเพิ่มความสามารถในการดูดซึม เช่น วิตามินซีในนมแม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็ก และสังกะสี (Zinc) ทั้งนี้สารอาหารที่มีในนมแม่จะได้ถูกดูดซึมได้มาก แทนที่จะถูกขับถ่ายออกมาเสียเปล่า


** ฮอร์โมนและเอ็นไซม์

เอ็นไซม์อื่นๆ นอกจากไลเปส (lipase) ที่มีอยู่ในนมแม่จะช่วยให้ร่างกายของทารกย่อยอาหาร epidermal growth factor ยังสามารถช่วยให้การสร้างเนื้อเยื่อในระบบย่อยอาหาร และในส่วนอื่นของร่างกาย อีกทั้งฮอร์โมนอื่นๆ ที่มีอยู่ในนมแม่จะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ การเจริญเติบโต และสรีรวิทยาของทารก ทั้งนี้ผลของการศึกษาแม้จะไม่ยังเด่นชัดแต่ก็มีผลประทบอย่างมีนัย นอกจากนี้ ทารกที่ได้รับนมแม่จะได้รับทั้งประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งทางกายและจิตใจ



Create Date : 11 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 10:21:34 น.
Counter : 4318 Pageviews.

0 comment
1  2  

Watrin&Uro
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



ครอบครัวของเรา เคยมีแค่เจ้าปอมอ้วน ชื่อ..ยูโร

วันนี้ เรามีสมาชิกใหม่เป็นสาวน้อย...ชื่อ ยูริ (ตั้งชื่อคล้องกะพี่ยูโร)

LOvE U *-* (มาจาก...รักจ๊ะ ทั้งยูริและยูโร)