แมวน้ำมึนมึน
 
6. ทรงให้พระราหุลทำใจเหมือนดินน้ำไฟลม

 

** ที่มา จากหนังสือพระไตรปิฏก ฉบับดับทุกข์ โดย ท่านธรรมรักษา(ฉบับไม่สงวนลิขสิทธิ์)**

 

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันเมืองสาวัตถี ได้ตรัสสอนพระราหุลถึงการพิจารณาธาตุ 5 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศโดยแยกเป็นส่วนๆ ตอนท้าย ได้ตรัสให้พระราหุลทำใจเหมือน ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศพอสรุปเป็นใจความได้ดังนี้

1. ราหุล! เธอจงมีจิตใจให้เหมือนแผ่นดินเถิดเพราะเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินเป็นประจำอยู่เสมอแล้ว เมื่อกระทบอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ดี อารมณ์เหล่านั้นจะไม่สามารถทำให้จิตหวั่นไหวได้

ราหุล! เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งสิ่งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ถ่ายอุจจาระรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง บ้วนน้ำลายรดบ้างเทสิ่งของสกปรกอื่นลงบ้าง ลงที่แผ่นดิน แต่แผ่นดินจะอึดอัดระอาหรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เสมอแผ่นดินฉันนั้นแลเพราะเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินอยู่ เมื่อมีการกระทบกับอารมณ์เกิดขึ้นความรักหรือความชัง ก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ฉันนั้น

 

2. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนน้ำเถิดเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนน้ำแล้ว จะไม่เกิดความชอบหรือความชัง ครอบงำจิตได้

ราหุล! เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย ล้างของหรือทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เสมอด้วยน้ำฉันนั้นแลเมื่อกระทบอารมณ์แล้ว ความรักหรือความชัง ก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ฉันนั้น

 

3. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนไฟเถิดเพราะไฟนั้น เมื่อมีผู้ทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ทิ้งอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้างฯไฟจะรู้สึกอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนไฟอยู่การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชัง ก็ย่อมไม่ปรุงแต่งให้จิตแปรปรวนได้ ฉันนั้น

 

4. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนลมเถิดเพราะลมนั้นย่อมพัดไปถูกต้องของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง พัดถูกอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้างฯลมจะรู้สึกอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนด้วยลมอยู่การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชัง ก็ย่อมไม่ปรุงแต่งให้จิตแปรปรวนได้ ฉันนั้น

 

5. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนอากาศเถิดเพราะอากาศนั้นไม่ตั้งอยู่ในที่ไหน ฉันใด?

     ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนด้วยอากาศอยู่ตลอดเวลาแล้วเมื่อกระทบกับอารมณ์ย่อมไม่เกิดความชอบและความชังขึ้นได้ ฉันนั้น

 

มหาราหุโลวาทสูตร 13/126

 

ผู้ที่มีทิฐิ มานะ อัตตา และโทสะจริต น่าจะลองนำเอาคำสอนในพระสูตรนี้ไปใช้เป็นประจำเพื่อลดความโทมนัส น้อยใจหรือขัดเคืองใจ เมื่อเห็นว่าผู้อื่นล่วงเกินแล้วทำให้เกิดความไม่สบายใจ หงุดหงิดหรือรำคาญใจ

แม้ทำไม่ได้ตามพระสูตรนี้ ถ้าได้หัดทำอยู่เสมอๆ มีสติสัมปชัญญะ ระวังจิตไม่ปล่อยไปตามอารมณ์ที่มากระทบ จิตของเราก็จะสงบ นั่นก็คือจุดหมายปลายทางของความสุขที่ทุกคนปรารถนา แม้ได้รับเพียงครั้งคราวก็นับว่าประเสริฐสุดแล้ว 




Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2563 13:14:15 น. 1 comments
Counter : 298 Pageviews.

 
แวะมาเยี่ยมยามค่ำคืน...หลับฝันดีครับ


โดย: **mp5** วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:22:30:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

แมวน้ำมึนมึน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add แมวน้ำมึนมึน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com