มาเถลิงศกใหม่ด้วยนิสัยดีๆ กันดีกว่า: Self-regulation ภาคปฏิบัติ

สำหรับคนปกติธรรมดา เรามักจะเป็นอย่างนี้กันมากใช่ใหม (ชิมิ?) รู้น่าว่าควรต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ แต่มันขี้เกียจนี่นา รู้นะว่าดื่มเบียร์สังสรรค์กับเพื่อนแล้วจะอ้วน แต่มันอดไม่ได้ก็มันสนุกดีนี่นา รู้ตัวนะว่าเงินกำลังจะขาดมือ แต่อยากได้รองเท้าคู่นี้มันถูกใจนี่นา ถึงจะแพงไปหน่อยก็ตามนะ หรือรู้น่าว่าต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานให้ทัน แต่แหมมันอยากนอนต่ออีกนิดหน่อยเท่านั้นเอง ฯลฯ

อาการแพ้ใจตัวเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้กระทำพฤติกรรมที่รู้ว่าควรทำนี้เป็นกันทุกคนในชีวิตของเรา ดังที่ผมอ้างสโลแกนท้ายรถแท๊กซี่เสมอว่า ไม่ใช่ใจง่ายแต่ร่างกายมันยอม ชั่วดีรู้หมดแต่มันอดใจไม่ไหว

บัดนี้ได้มีข่าวดีบ้างแล้วที่จะช่วยเให้เอาชนะใจตัวเอง สามารถสร้างสมนิสัยดีๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเองได้ แต่ตามประสานักวิชาการ ผมคงต้องเตรียมความรู้เบื้องต้นให้กับผู้อ่านเสียก่อน เพื่อที่จะได้อ่านต่อไปอย่างเข้าใจเรื่องราวที่เขาทำการทดลองได้

ในทางจิตวิทยานั้นมีมโนทัศน์สำคัญอย่างหนึ่งเรียกว่า การกำกับหรือควบคุมการแสดงพฤติกรรมของตัวเอง (Self Regulation) หมายถึงการที่คนเราสามารถควบคุมและกำกับการแสดงพฤติกรรมด้วยตนเองให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในความสามารถของตนเอง (Perceived Self efficacy)

หมายความว่า ถ้าคนเราเชื่อว่าตนเองมีความสามารถเพียงพอที่จะแสดงพฤติกรรมให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ คนเราก็จะมีการควบคุมกำกับการแสดงออกของตนเอง (Self regulation) เข้มข้นพอที่จะกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมออกไป เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่ถ้าหากไม่เชื่อในความสามารถของตนเองว่าจะมีพอ คนเราจะกำกับการแสดงออกของตนเอง (Self regulation) น้อย อันจะส่งผลให้ขาดการกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมออกไปให้ได้ตามเป้าหมาย

ที่กล่าวมานี้เป็นความรู้พื้นฐานที่จะต่อยอดไปยังการทดลองของ รอย บอมมิสเตอร์ (Roy Baumeister) ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาเสตท ซึ่งได้พบผลที่น่าจะทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆ นี้ได้นำไปใช้ในการสร้างนิสัยดีๆ ได้หลากหลาย และมีกำลังใจมากขึ้นที่จะเปลี่ยนนิสัยไม่ดีของตนเอง

ในการทดลองที่หนึ่ง ศาสตราจารย์บอมมิสเตอร์ได้ให้ผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองคอยระวังการวางท่าทางของร่างกายตนเองให้ถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์อยู่ 2 สัปดาห์ และให้ปรับท่าทางของตนเองเมื่อท่าทางไม่ถูกต้อง ส่วนผู้รับการทดลองในกลุ่มควบคุมนั้นไม่ได้ให้ทำอะไร หลังจากนั้นให้ผู้รับการทดลองทั้งสองกลุ่มตอบมาตรวัดการควบคุมกิจกรรมที่ตนเองทำ (Self-control activity test) ผลปรากฏจากการเปรียบเทียบคะแนนจากการตอบมาตรวัดสรุปได้ว่า ผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองนั้นควบคุมตนเองได้ดีกว่าผู้รับการทดลองในกลุ่มควบคุม การทดลองนี้คงทำให้บรรดาแม่ๆ และครูทั้งหลายดีใจนะครับ เพราะมันบอกให้รู้ว่า การฝึกควบคุมตนเองอยู่เสมอนั้นส่งผลดีต่อการควบคุมตนเองมากกว่าการไม่ได้ฝึก

ดังนั้นบอมมิสเตอร์จึงได้เสนอแนวคิดว่า การควบคุมกำกับพฤติกรรมตนเอง (Self Regulation) นั้นเหมือนกับการออกกำลังเพื่อสร้างกล้ามเนื้อนั่นคือ ประการที่หนึ่ง ยิ่งออกกำลังใช้กล้ามเนื้อมาก กล้ามเนื้อยิ่งแข็งแรง ประการที่สอง ถ้ากล้ามเนื้ออ่อนแอ จะหมดแรงได้ง่าย คนเราจึงควรฝึกควบคุมกำกับความคิด ความรู้สึก และการแสดงออกของตนเองบ่อยๆ เพื่อให้มีความคิด ความรู้สึก และการแสดงออกของเราเข้มแข็งดังใจที่เราต้องการ เปรียบเหมือนเรายกน้ำหนักทุกวัน กล้ามเนื้อเราย่อมแข็งแรง

ตัวอย่างเช่น กรณีมีการออกกำลังเสมอทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง สำหรับคนที่ฝึกควบคุมตนเอง ควรคิดและพูดกับตนเองบ่อยๆ ว่า ดื่มเบียร์แล้วขับรถอาจจะมีอุบัติเหตุ ดื่มไปแล้วสุขภาพเสื่อม ดื่มแล้วจะติดลม เสียการเสียงานกลับมาอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ถ้าขับรถอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ฯลฯ การคิดและพูดกับตนเองอย่างนี้บ่อยๆ ก็เหมือนกับการได้ใช้กล้ามเนื้อบ่อยๆ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ดังนั้นเมื่อมีคนชวนไปดื่มเบียร์ มีความเป็นไปได้สูงกว่าที่เขาจะปฏิเสธได้ เพราะเขาได้ฝึกซ้อมการปฏิเสธมามากแล้ว

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึก เมื่อมีคนชวนไปดื่มเบียร์ อาจจะพูดกับตนเองว่า แก้วเดียวน่า ไม่เป็นไรหรอกน่า ในที่สุดก็จะยอมแพ้เพราะหมดแรงต้าน คล้ายกับข้อเสนอประการที่สองที่ว่ากล้ามเนื้ออ่อนแอย่อมหมดแรงได้ง่ายกว่า


บอมมิสเตอร์ยังได้ทำการทดลองซึ่งได้ผลน่าสนใจในแง่ที่ว่า ถ้าเราแก้นิสัยไม่ดีอย่างหนึ่งให้ดีขึ้นแล้วมันจะทำให้นิสัยอื่นดีไปด้วย

การทดลองที่บอมมิสเตอร์นำมาเสนอนั้นมี 2 การทดลอง
การทดลองแรกนั้นเขาแบ่งผู้รับการทดลองเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ในกลุ่มทดลองนั้นให้ออกกำลังด้วยการยกน้ำหนัก (Weight Lifting) เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมนั้นไม่ได้ให้ทำอะไร หลังจากนั้นให้ตอบมาตรวัดการควบคุมกำกับกิจกรรมที่ตนเองทำ เพื่อเอาคะแนนจากแบบวัดมาเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มทั้งสอง ผลปรากฏว่าผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองนั้นได้คะแนนสูงกว่าผู้รับการทดลองในกลุ่มควบคุม ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังดื่มกาแฟน้อยกว่า ดื่มแอลกอร์ฮอร์น้อยกว่า สูบบุหรี่ลดลง กินอาหารขยะ (Junk foods) น้อยกว่า นี่ยังไม่น่าแปลกใจเท่ากับว่า พวกเขาดูทีวีน้อยกว่า อ่านหนังสือมากกว่า แถมด้วยการรักษาความสะอาดห้องพักบ่อยกว่าด้วย

ในการทดลองอีกครั้งหนึ่ง บอมมิสเตอร์ได้ให้ผู้รับการทดลองในกลุ่มทดลองดูแลเรื่องเงินของตนตามระบบที่สอนให้เป็นเวลา 4 เดือน ผลปรากฏว่า พวกเขาสามารถเพิ่มเงินออมได้จาก 8% กลายเป็น 38% นอกจากนั้นพวกเขายังปรับปรุงนิสัยการเรียนได้ดีขึ้น สูบบุหรี่น้อยลง ทำความสะอาดห้องพักบ่อยขึ้นด้วย

แสดงว่า เมื่อคนเราสร้างนิสัยดี (คือการออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักในการทดลองที่หนึ่ง และการดูแลเงินตามระบบที่ได้รับการสอนมาในการทดลองที่สอง) อย่างหนึ่งแล้ว นิสัยดีๆ อย่างอื่นก็จะติดตามมาเอง

นี่ก็เป็นการยืนยันข้อเสนอของบอมมิสเตอร์ที่บอกว่า การควบคุมกำกับพฤติกรรมตนเองนั้นเหมือนกล้ามเนื้อ ยิ่งฝึกออกกำลังมากเท่าไรยิ่งทำให้แข็งแรงมากขึ้น

ขอเสริมด้วยความเห็นของนักจิตวิทยาพีเตอร์ ฮอลล์ (Peter Hall) แห่งมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู เขาบอกว่า สมองส่วนที่อยู่ด้านหน้า (Frontal Lobe) นั้นทำงานควบคุมกำกับการแสดงพฤติกรรมของตนเอง การฝึกสมองส่วนนี้ให้ทำงานบ่อยๆ จะทำให้คนเรามีความเข้มแข็งในการควบคุมกำกับตนเอง เขายกตัวอย่าง Stoop Test (วิธีการคือให้อ่านคำที่หมายความถึงสี เช่น แดง น้ำเงิน ฯลฯ แต่พิมพ์คำที่ให้อ่านด้วยสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีแดง น้ำเงิน) ถ้าคนเราฝึกอ่านบ่อยๆ จะฝืนได้ดีกว่าไม่ได้ฝึก

ดังนั้นคาถาสำหรับการควบคุมกำกับการแสดงพฤติกรรมของตนเองคือการฝึกทำนิสัยดีๆ ให้เกิดขึ้นก่อน แล้วมันจะเหมือนกับการออกกำลังครับ คือทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง นิสัยดีที่ทำบ่อยเข้าจะแข็งแรงเหมือนกันกับการออกกำลัง ซึ่งทำเป็นประจำแล้วจะแข็งแรง

ที่สำคัญคือ พอนิสัยดีอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว มันจะมีนิสัยดีๆ อย่างอื่นตามมาเป็นพรวนเลยครับ เหมือนกับที่ได้เล่าการทดลองให้อ่านนั่นแหละครับ

คำแนะนำของผม (ซึ่งผมเองคงต้องทำตามนี้ด้วยเหมือนกัน) คือ เราต้องหมั่นคิดและพูดกับตนเองในสิ่งที่ดีๆ ว่า เราจะต้องทำ ๆ และเราต้องหมั่นคิดและพูดกับตนเองว่าจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีนั้น ยิ่งถ้าเราเอาแนวคิดของนักพฤติกรรมนิยมที่ใช้ สัญญาพฤติกรรม (Behavior Contract) มาร่วมกำกับ โดยทำสัญญาแล้วให้ใครสักคนที่เราไว้วางใจมารับรู้ จะยิ่งกำกับพฤติกรรมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นอย่างแน่นอน

ในวาระอันเป็นศุภฤกษ์แห่งปีใหม่ 2554 ที่กำลังจะเวียนมาถึง ผมขออำนาจคุณพระรัตนตรัยดลบันดาลให้ทุกท่านประสพแต่สิ่งที่ดี ปราศจากความทุกข์ โรค ภัย อันตรายทั้งปวง

สวัสดีปีใหม่ 2554 ครับ



Create Date : 15 ธันวาคม 2553
Last Update : 15 ธันวาคม 2553 23:54:54 น. 5 comments
Counter : 725 Pageviews.  
 
 
 
 
ตั้งใจเข้ามาอ่านรื่องวิชาการ แบบเข้าใจง่ายได้สาระ ไม่ผิดหวังเลยครับ แถมได้เกินคาดคือได้คำอวยพรจากอาจารย์ด้วย นับเป็นศิริมงคลแห่งชีวิตแท้ ๆ ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ
 
 

โดย: ตุ้ย MIOP 3 IP: 202.90.6.36 วันที่: 22 ธันวาคม 2553 เวลา:10:31:17 น.  

 
 
 
คงไม่แปลกนะคะ ที่จะขอบอกว่าหนูชอบแนวคิดของอาจารย์เป็นการส่วนตัวตั้งแต่อบรม SD2 ของเครือ CPF (รุ่น22) ปีใหม่นี้หนูขอให้อาจารย์มีความสุข สุขภาพแข็งแรงนะคะ สวัสดีปีใหม่ 2554 ค่ะ
 
 

โดย: วิจิตตรา SD2 CP IP: 203.121.167.241 วันที่: 30 ธันวาคม 2553 เวลา:11:51:13 น.  

 
 
 
ผมจำไม่ได้ว่า ฟังเรื่องเล่านี้มาจากวิทยากรท่านใด เรื่องมีอยู่ว่า ชายคนหนึ่งรักปลาทองที่เขาเลี้ยงเอาไว้มาก มีความผูกพันถึงขั้นที่ไม่อาจแยกกันได้เลย แม้ไปทำงานก็ต้องนำเอาปลาทองตัวนี้ไปด้วย ซึ่งก็ได้รับความไม่สะดวกเป็นอย่างมากเพราะต้องคอยระมัดระวังไม่ให้น้ำกระฉอกหกหรือต้องระวังไม่ให้ขวดโหลแตก ครั้งหนึ่งเขาได้มีโอกาสฟังเรื่องเกี่ยวกับการฝึกให้เกิดความเคยชินหรือนิสัยใหม่ ด้วยความรักและปรารถนาจะได้อยู่กับปลาทองที่เขารักตลอดเวลา จึงตัดสินใจว่าจะฝึกปลาทองให้เปลี่ยนแปลงนิสัยความเคยชิน จึงได้เริ่มลดปริมาณน้ำในขวดโหลลงทีละน้อยๆ ในที่สุดปลาทองก็สามารถอยู่ในน้ำขลุกขลิกที่ก้นขวดโหลได้ เขายังคงเดินหน้าฝึกปลาต่อไปอีก ในที่สุดของที่สุดปลาก็สามารถอยู่บนผิวพื้นได้โดยปราศจากน้ำ (โปรดอย่าเพิ่งถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะนั่นไม่สำคัญ) ชายผู้นี้มีความสุขมาก เพราะเขาสามารถพาปลาที่รักยิ่งของเขาไปกับเขาได้ทุกหนแห่ง แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเรื่องขึ้น เจ้านายโทรฯ มาตามตัวเขาให้ไปพบที่ที่ทำงานโดยด่วน เขารีบเร่งจนลืมเอาปลาทองไปด้วยอย่างเคย เขาทำธุระให้เจ้านายด้วยความกังวลใจจนเสร็จภารกิจ จึงรีบกลับบ้าน เมื่อกลับไปถึงตกใจมากที่คนใช้ที่บ้านยืนหน้าเศร้าอยู่ บอกกับเขาว่า ปลาทองเดินเล่นอยู่ในบ้านตามปกติคิดว่าคงไม่มีอันตรายอะไร แต่โชคร้ายมาก มันเดินพลาดตกลงไปในอ่างน้ำ จมน้ำตายเสียแล้ว ผมชอบเรื่องนี้มากเพราะเป็นเรื่องสุดโต่งชนิดหนึ่งที่กล้าระบุความเป็นไปได้ ที่เราโดยสามัญสำนึกแล้วไม่อาจยอมเชื่อได้ทั้งในขั้นที่ฝึกให้ปลาไม่ต้องอยู่ในน้ำ และความเคยชินหรือนิสัยใหม่ที่มีอำนาจถึงขนาดที่เมื่อกลับไปทำแบบเดิม ทำให้ “ปลา” ถึงกับ “จมน้ำตาย” ผมเชื่อจริงๆว่าการฝึกเพื่อเปลี่ยนนิสัยการทำงานนั้น สามารถทำให้เราถึงกับไม่อาจกลับไปมีวิถีชีวิตแบบเดิมๆที่ล้มเหลวได้อีกแล้ว และนี่คือความมั่นคงปลอดภัยที่สุดสำหรับเราในฐานะคนทำงานอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆ

ขอบพระคุณอาจารย์ สำหรับบทความเถลิงศกใหม่ที่ทรงคุณค่าและน่าอ่านอย่างมากนี้ เรื่องที่นำมาเล่าเม้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่อาจทำให้ผู้อ่านอยาก “ฝึกตน” กันขึ้นมาบ้างนะครับ ด้วยความเคารพ-ภรต ยมจินดา //bharot.wordpress.com/
 
 

โดย: ภรต IP: 124.121.172.166 วันที่: 30 ธันวาคม 2553 เวลา:13:46:45 น.  

 
 
 
ขอขอบคุณบทความดีดี จากอาจารย์นะคะ
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาจารย์เคารพนับถือ อำนวยพรให้อาจารย์และครอบครัว มีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรงตลอดไปนะคะ
 
 

โดย: ชนิดา MIOP21 IP: 10.226.17.228, 203.185.131.97 วันที่: 6 มกราคม 2554 เวลา:14:36:02 น.  

 
 
 
ิติดตามบทความอาจารย์มาอย่างต่อเนื่องค่ะ รออยู่นานสองนาน จึงได้เห็นฉบับใหม่ ต้อนรับศักราช 2011 อ่านบทความอาจารย์แล้ว รู้สึกดีมาก มากเลยค่ะ

ทุกครั้ง ต้องเก็บสำเนา ไปฝากน้องๆ ที่บริษัทได้อ่านกัน จะได้รู้สึกดี ดี เหมือนที่ดิฉันได้รับค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ ที่กรุณาส่งความรู้สึกดี ดี ให้กับผู้คนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ
 
 

โดย: ิีิbunphen miop20 IP: 223.205.64.76 วันที่: 21 มกราคม 2554 เวลา:19:50:54 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

sithichoke
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




[Add sithichoke's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com