งาสาร ฤาห่อนเหี้ยน หดคืน คำกล่าว สาธุชนยืน อย่างนั้น
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2558
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 สิงหาคม 2558
 
All Blogs
 
อาณาจักรรัตนโกสินทร์

อาณาจักรรัตนโกสินทร์ 

                 ตอนต้นรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์นั้นบ้านเมืองยังอยู่ในสภาพทรุดโทรม เสียหายมาก หลังจากพระองค์ตัดสินพระทัยย้ายราชธานีมาตั้งใหม่ที่บางกอกทางฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยาก็โปรดให้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการแข็งแรงมั่นคงสำหรับป้องกันข้าศึกและทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสนดารามขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นหลักพระนครเพื่อให้เป็นมิ่งขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนว่า ไทยเราได้ฟื้นฟูขึ้นแล้วเหมือนเมื่อครั้นสมัยบ้างเมืองดีทรงฟื้นฟูประเทศทุกด้านทุกสาขา โดยเฉพาะทางด้านศาสนาโปรดให้ทำการสังคายนาสอบสวนพระโตรปิฏกให้ถูกต้องสมบูรณ์เช่นเดียวกับกฎหมายก็โปรดให้ชำระเรียบร้อยใหม่ให้ถูกต้องดังเดิมเพราะทั้งสองอย่างนี้ถูกพม่าเผาทำลายไปเสียมากส่วนการรักษาเอกราชและความมั่นคงของประเทศนั้นได้ทรงทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่มุ่งรุกรานไทย และได้เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่เริ่มจะเข้าติดต่อกับไทยด้วยการฟื้นฟุชาติบ้านเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงเป็นการฟื้นฟูในทุกด้าน พอสรุปเป็นหัวข้อได้ ดังนี้

1. การดำเนินการด้านการเมือง

                การดำเนินการด้านการเมืองในสมัยฟื้นฟูบ้านเมือง(รัชกาลที่ 1-2-3) มีหัวข้อควรศึกษา ดังนี้

                 1.1 การสงครามกับพม่า

                 1.2 ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

                 1.3 ความสัมพนธ์กับประเทศตะวันตก

2. การดำเนินการด้านการปกครอง

                 ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่พระบาทสมเด้จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงใช้ในการปกครองประเทศนั้นทรงเอาแบบอย่างซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยากล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดในการปกครองประเทศมีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง ที่เรียกว่า จตุสดมภ์ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาโดยตรงที่แตกต่างออกไป คือทรงแบ่งการปกครองพระราชอาณาเขตออกเป็น 3 ส่วนได้แก่การปกครองส่วนกลาง การปกครองหัวเมือง และการปกครองประเทศราชโดยให้มีการบังคับบัญชา ดังนี้

                 การปกครองส่วนกลาง

                 สมุหพระกลาโหมมียศและราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งมีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งด้านการทหารและพลเรือน

สมุหนายกราชทินนามไม่ทรงกำหนดแน่นอน ที่ใช้อยู่ก็มี เจ้าพระยาจักรี บดินทร์เดชานุชิตรัตนาพิพิธ ฯลฯ ใช้ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งด้านการทหารและพลเรือน

จตุสดมภ์มีดังนี้

กรมเวียง หรือ กรมเมือง เสนาบดี คือเจ้าพระยายมมราช มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร

กรมวัง เสนาบดี คือ พระยาธรรมาใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิการ (พระโค) เป้นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ดูแลพระราชวังและตั้งศาลชำระความ

กรมคลัง หรือ กรมท่าใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งมีเสนาบดีดำรงตำแหน่งตามหน้าที่รับผิดชอบ คือ

ฝ่ายการเงิน ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาราชภักดี

ฝ่ายการต่างประเทศ ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาศรีพิพัฒน์

ฝ่ายตรวจบัญชีและดูแลหัวเมืองชายทะเลตะวันออกตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาพระคลัง

กรมนาเสนาบดีมีตำแหน่าง พระยาพลเทพ ใช้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ดูแลที่นาหลวง เก็บภาษีข้าวและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับที่นา

                การปกครองหัวเมือง

                การปกครองหัวเมืองคือการบริหารราชการแผ่นดินในหัวเมืองต่างๆซี่งแบ่งออกเป็นหัวชั้นในกับหัวเมืองชั้นนอก

 หัวเมืองชั้นใน(เดิมเรียกว่าเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน) ได้แก่หัวเมืองที่กระจายรายล้อมอยุ่รอบเมืองหลวง ถือเป็นเมืองบริวารของเมืองหลวงไม่มีศักดิ์เป็นเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มี เจ้าเมือง มีเพียงผู้รั้งซึ่งไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง จะต้องฟังคำสั่งจากเมืองหลวง

หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองทั้งปวง (นอกจากเมืองหลวง เมืองชั้นใน และเมืองประเทศราช)เมืองเหล่านี้จัดแบ่งระดับเป็นเมืองชั้น เอก โท ตรี ตามขนาด จำนวนพลเมืองและความสำคัญแต่ละเมืองยังอาจมีเมืองเล็กๆ (เมืองจัตวา) อยู่ใต้สังกัดได้อีกด้วยเจ้าเมืองของเมืองเหล่านี้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมืองของตนแต่ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการและนโยบายของรัฐบาลที่เมืองหลวงตามเขตการรับผิดชอบ คือ

                 หัวเมืองเหนือและอีสาน อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก

                 หัวเมืองใต้ (ตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไป)อยู่ในความารับผิดชอบของ สมุหพระกลาโหม

                 หัวเมืองชายทะลตะวันออก (นนทบุรี สมุทรปราการสมุทรสงคราม สาครบุรี ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี และตราด)อยุ่ในความรับผิดชอบของ เสนาบดีกรมพระคลัง คือ พระยาพระคลัง)

การแต่งตั้งเจ้าเมืองเมืองเอก พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเอง (พิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ถลางและสงขลา)

เมืองโทตรี และจัตวา เสนาบดีผู้รับผิดชอบเป็นผู้แต่งตั้ง

                  การปกครองประเทศราช

ประเทศราชของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้แก่

                 1. ล้านนาไทย (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงแสน)

                 2. ลาว (หลวงพระบาง เวียงจันทน์จำปาศักดิ์)

                 3. เขมร

                 4. หัวเมืองมลายู (ปัตตานีไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู)

                 ประเทศราชเหล่านี้มีเจ้าเป็นผู้ปกครองกันเองความผูกพันที่มีต่อกรุงเทพฯ คือ การส่งเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองตารมกำหนดเวลา และช่วยราชการทหารตามแต่กรุงเทพฯ จะมีใบบอกแจ้งไป ภารกิจของกรุงเทพฯคือ ปกป้องดูแลมิให้ข้าศึกศัตรูโจมตีประเทศราชเหล่านี้

3. การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

                 เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใหม่ๆนั้น การค้าขายกับต่างประเทศยังมีน้อยเนื่องจากมีปัญหาภายในและยังต้องทำสงครามรบพุ่งกับพม่าครั้นภายหลังที่กองทัพไทยเอาชนะพม่าได้อย่างเด็ดขาดในสงครามท่าดินแดนใน พ.ศ. 2329 แล้ว ขวัญและกำลังใจของประชาราษฎร์ก็อยุ่ในระดับสูงยิ่งบรรดาหัวเมืองมลายู เช่น ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูซึ่งได้กิตติศัพท์แสนยานุภาพของกองทัพไทยต่างพากันสวามิภักดิ์ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาจึงเป็นที่เชื่อถือของประเทศใกล้เคียงและเข้ามาติดต่อค้าขายด้วย ทำให้การเศรษฐกิจของกรุงรัตนโกสินทร์แจ่มใสขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2330 เป็นต้นมา การค้าขายทางสำเภากับจีนอินเดีย ชวา มลายู และญวน เป็นไปอย่างกว้างขวาง และต่อมาก็มีชาติตะวันตกต่างๆเข้ามาติดต่อค้าขาย สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจการค้าเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็คือได้มีการปรับปรุงจัดทำเงินตราขึ้นใหม่ให้มีจำนวนเพียงพอที่จะใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนค้าขายเงินตราที่ใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นเงินพดด้วงเช่นเดียวกับที่เคยใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา (โลหะเงินทำเป็นแท่งกลมม้วนเข้าหากัน มีลักษณะเหมือนกับตัวด้วง)

4. การฟื้นฟูและพัฒนาด้านสังคมวัฒนธรรม

                  โครงสร้างของสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังมีลักษณะเหมือนกับสังคมอยุธยาคือ มีการแบ่งชนชั้น ถึงแม้จะไม่มีการแบ่งวรรณะอย่างอินเดีย แต่ฐานะความเป็นอยู่ของผู้คนก็แตกต่างกันเช่น ไพร่ (สามัญชน) จะมีโอกาสเลื่อนฐานะของตนจนกระทั่งเป็นขุนนางได้จะต้องเป็นผู้มีการศึกษาหรือมีความสามารถพิเศษ หรือมีความดีความชอบ จนเจ้านายยอมรับเท่านั้น สภาพสังคมสังคมไทยแบ่งประชาชน เป็น 4 ชนชั้น เช่นเดียวกับสมัยอยุธยาได้แก่

เจ้านาย ได้แก่ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

ขุนนางและข้าราชการต่างๆ พวกนี้มีความเป็นอยู่ดีฐานะร่ำรวย มิสิทธิพิเศษหลายอย่าง

ไพร่ เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

ทาส เป็นผู้ที่ไม่มีอิสระในตัวเอง แบ่งเป็นประเภทต่างๆ คือ ทาสเชลย ทาสในเรือนเบี้ยทาสสินไถ่ ทาสได้มาจากบิดามารดา ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัยทาสที่ช่วยมาจากทัณฑ์โทษ และทาสท่านให้ ทาสคนใดที่ทำความดีความชอบต่อบ้านเมืองก็สามารถเลื่อนฐานะตนเองสูงขึ้นเป็นขุนนางได้ส่วนขุนนางถ้าทำความผิดร้ายแรงก็อาจถูกลดฐานะลงเป็นทาสได้เช่นนั้น แม้สังคมไทยจะมีการแบ่งเป็นชนชั้นต่างๆดังกล่าวแล้ว ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน เพราะสังคมไทยมีความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นพี้นฐานทำให้การฟื้นฟูและพัฒนาสังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นไปได้อ่างราบรื่น การฟื้นฟูและพัฒนาสังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีหัวข้อควรศึกษา ดังนี้

การทำนุบำรุงพระศาสนา

                 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 ได้ทรงประกาศเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ว่า........ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา......... ซึ่งการก็เป็นดังพระราชปฌิธานพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับการฟิ้นฟูและทำนุบำรุงอย่างดียิ่งโดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้

การสังคายนาพระไตรปิฎก     พระไตรปิฎก คือคัมภีร์บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนาเมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง คัมภีร์เหล่านี้ได้ถุกทำลายสูญหายไปบ้างมีผู้คิดทำซ่อมแซมขึ้นใหม่ก็ไม่ลงรอยกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 จึงมีพระราชดำรัสให้มีการชำระพระไตรปิฎก คือมีการทำสังคายนาขึ้นที่วัดมหาธาตุ ใช้เวลาประมาณ 5 เดือนเมื่อจดหมวดหมู่พระธรรมดำสั่งสอนได้แล้วก็ให้จาร (จารึก) ลงบนใบลานคัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ปิดทองทั้งปกหน้าและด้านข้างเรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ หรือ ฉบับทองทึบแล้วอัญเชิญประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุกในหอพระมนเทียรธรรมกลางสระวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง

การกวดขันพระธรรมวินัย ในสมัยธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงศึกษาพระธรรม และได้เข้าไปจัดการทางศาสนาจนเกิดความวุ่นวายขึ้น เล่ากันว่าพระองค์ได้ทำโทษพระสงฆ์ที่ไม่ยอมรับว่าทรงบรรลุโสดาบันการพระศาสนาในสมัยของพระองค์จึงสับสน พระสงฆ์เกิดแตกหมู่คณะเกิดหย่อนยานพระธรรมวินัย พระสงฆ์บางส่วนไม่สนใจเล่าเรียนพระไตรปิฎกนอกจากนั้นยังมีการเทศน์ด้วยคำหยาบตลกคะนอง ไม่เป็นไปตามเนื้อหาของธรรมะและเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของฆราวาส เกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วไปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายสำหรับสงฆ์ขึ้นหลายฉบับ ช่วยให้การศาสนาดีขึ้นถึงรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของพระสงฆ์เมื่อพบว่ารูปใดไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัยก็ให้จับสึกเสีย ทำให้คณะสงฆ์มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยดีขึ้นเรื่อยมา

การสถาปนาธรรมยุตินิกาย เมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์นั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ(ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) ได้เสด็จออกผนวชและศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉานทรงพบว่าคำสอนและข้อปฏิบัติต่างๆที่มีมาแต่โบราณวิบัติไปเป็นอันมากพระภิกษุสงฆ์ก็มิได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านจึงมีพระประสงค์จะสังคายนาคณะสงฆ์เสียใหม่ประจวบกับมีพระเถระรามัญรูปหนี่งผู้ฉลาดในวินัยและรู้พุทธวจนะดีทั้งชำนาญในอักขรวิธีมาแสดงชี้แจงให้เกิดความเลื่อมใสพระองค์จึงรับเอาวินัยวงศ์นั้นไว้เป็นข้อปฏิบัติรวมถึงเรื่องการครองจีวรด้วยและได้ทรงประกาศศาสนพรหมจรรย์ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผุ้มีศัทธา ทรงตั้งฝ่ายคณะสงฆ์ขึ้นใหม่เป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2372 แต่มิได้ให้เลิกคณะสงฆ์เดิมและเรียกคณะเดิมว่า ฝ่ายมหานิกาย หลักธรรมของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกายซึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎได้ทรงตั้งขึ้นใหม่นี้มีผลทำให้คณะสงฆ์ไทยมีการปรับปรุงการปฏิบัติเพิ่มขึ้นพระพุทธศาสนาวงศ์ซึ่งเสื่อมมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงเก่าได้ค่อยๆกลับเข้าสู่ความถูกต้อง ทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้

การส่งสมณทูตไปลังกา    สมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีพระภิกษุชาวลังกา ชื่อ พระสาสนวงศ์อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและต้นโพธิ์ลังกามาถวายใน พ.ศ. 2357ไทยได้ส่งสมณทูตออกไปยังลังกาทวีป เพื่อสอบสวนพระศาสนา ทั้งหมด 9 รุปด้วยกัน มีพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพเป็นหัวหน้าและได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา 6 ต้นถือว่าเป็นต้นโพธิ์ที่สืบเชื้อสายมาจากต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่พุทธคยาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกที่นครศรีธรรมราช 2 ต้น ที่กลันตัน 1 ต้น วัดสุทัศนเทพวราราม 1 ต้น วัดสระเกศ 1 ต้น และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 1 ต้นสมัยรัชกาลที่ 3 พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2385 ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2387 พระไตรปิฎกสมัยนึ้จึงเป็นที่ยอมรับว่ามีความถูกต้องมากที่สุด

การสร้างและบูรณะวัดวาอาราม      ศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย พระราชกรณียกิจส่วนหนี่งของพระมหากษัตริย์เกือบทุกรัชกาลในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือ การสร้างและปฎิสังขรณ์วัด วัดที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยอยุธยา และวัดมหาธาตุสมัยสุโขทัยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรวัดนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “วัดพระแก้ว”

    วัดสุทัศน์เทพวราราม    เป็นวัดกลางพระนคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นมีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิงสมัยอยุธยาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนีหรือพระโต หล่อด้วยโลหะซี่งอัญเชิญมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย วัดนี้เดิมรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามเดิมว่า วัดมหาสุทธาวาส ชาวบ้านเรียกว่า “วัดพระโต”

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  เดิมชื่อ วัดโพธาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ใช้เวลา 12 ปี (พ.ศ. 2332 – 2344) และได้พระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่จากวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยาและพระพุทธสาวกปฏิมากร วัดคูหาสวรรค์ กรุงธนบุรี ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ใช้เวลา 16 ปี โปรดเกล้าฯให้ประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิตและช่างทุกสาขาให้ช่วยกันชำระตำราในแขนงวิชาแพทย์แผนโบราณ ยาแก้โรค ตำราหมอนวด กวีนิพนธ์ ฯลฯโดยจารึกไว้บนแผ่นศิลาตามเสาและผนังรายรอบบริเวณวัดเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าวัดนี้จึงจัดว่าเป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

วัดอรุณราชวราราม  เป็นวัดโบราณซึ่งสร้างแต่ครั้งอยุธยา เดิมเรียก วัดมะกอก แล้วเปลี่ยนเป็นวัดแจ้งในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร (ต่อมาคือพระพุทธเลิศหล้านภาลัย )ได้ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่และเมื่อขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่าวัดอรุณราชธาราม ภายหลังเปลี่ยนเป็น วัดอรุณราชวราราม วัดนี้ มีพระปรางค์ใหญ่ที่เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและงดงามมาก

การฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี

                   ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นสิ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมความเจริญรุ่งเรืองของชาติพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงทรงฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฎิบัติมาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยานำมาปรับใช้ในทุกด้าน พอสรุปได้ดังนี้

ประเพณีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์       มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (พิธีขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์) พระราชพิธีโสกันต์(พิธีโกนจุกของพระราชวงศ์) พระราชพิธีพระเมรุมาศ (พิธีเผาศพ) พระราชพิธีฉัตรมงคล(พิธีฉลองพระเศวตฉัตรในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก) พระราชพิธีสมโภชช้างเผือก ฯลฯ

ประเพณีเกี่ยวกับบ้านเมือง    มีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีอาพาธพินาศ(พิธีปัดเป่าโรคภัยมิให้เบียดเบียน) พระราชพิธีพืชมงคล (พิธีปลูกพืชเอาฤกษ์ชัย)ฯลฯ

ประเพณีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา   มีพิธีวิสาขบูชาพิธีอาสาฬหบูชา พิธีมาฆบูชา พิธีเข้าพรรษา-ออกพรรษา พิธีบวชนาค เทศน์มหาชาติสวดภาณยักษ์ ฯลฯ

ประเพณีพราหมณ์ มีพิธีโล้ชิงช้า พิธีวางศิลาฤกษ์พิธีโกนจุก ฯลฯ

  ประเพณีชาวบ้าน   มีพิธีในโอกาสสำคัญๆ เช่นแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ทำขวัญนาค เผาศพ พิธีตรุษสงกรานต์ พิธีสารท การละเล่นต่างๆเช่น การเล่นเพลงสักวา เพลงเรือ เพลงฉ่อย ลิเก ลำตัด ฟ้อนเล็บ หนังตะลุง หมอลำ

การส่งเสริม วรรณกรรม ศิลปกรรม และการศึกษา

วรรณกรรม สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นราชสำนักจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและเป็นที่ชุมนุมบรรดากวีทั้งหลายซึ่งมีทั้งองค์พระมหากษัตริย์ เจ้านาย และบุคคลธรรมดาวรรณคดีที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราชและสามก๊ก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2ในฐานะที่ทรงเป็นกวี ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครไว้หลายเรื่องแต่ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ บทละครเรื่องอิเหนา กวีเอกสมัยนี้คือ สุนทรภู่ซึ่งมีผลงานชั้นเยี่ยมหลายประการด้วยกัน มีทั้งบทละคร เสภา นิราศ บทเห่ และกลอนอาทิเช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นิราศภูเขาทอง กลอนสุภาษิตสอนหญิงที่ดีเด่นที่สุด คือ พระอภัยมณี

สถาปัตยกรรมศิลปะต่างๆ ได้รับการฟื้นฟูอย่าง จริงจังจนกลับเจริญรุ่งเรืองเหมือนดังสมัยอยุธยาสถาปัตยกรรมที่สร้างอย่างประณีตงดงาม ทรงคุณค่ายิ่งของชาติ ได้แก่ พระบรมหาราชวังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรารามและวัดราชโอรสาราม ซึ่งทั้ง 3 วัดหลังนี้เป็นวัดประจำพระองค์รัชกาลที่ 1, 2, และ 3ตามลำดับ นอกจากนี้แล้ว พวกช่างสิบหมู่ ยังร่วมกันสร้างผลงามไว้มากมาย อาทิเครื่องราชูปโภคของพระองค์พระมหากษัคริย์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ และเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ เป็นต้น

   จิตรกรรม งานจิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา เช่น ภาพวาดในพระอุโบสถ หรือพระวิหารตั้งแต่เหนือระดับหน้าต่างขึ้นไปจนถึงเพดาน มักจะเป็นภาพเทพชุมนุมส่วนช่วงระหว่างช่องหน้าต่างจะวาดภาพพุทธประวัติ หรือทศชาติชาดก ผนังด้านหลังพระประธานวาดภาพเรื่องไตรภูมิและผนังตรงหน้าพระประธานวาดภาพพระพุทธเจ้าตอนมารผจญ เช่นภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล และภาพจิตรกรรมที่วัดระฆังโฆษิดารามและวัดดุสิดาราม ธนบุรี ฝาผนังด้านตะวันออกและตะวันตกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามผลงานในรัชกาลที่ 1

ในรัชกาลที่2 ผลงานด้านจิตรกรรมไม่มีให้เห็นเด่นชัดเนื่องจากงานก่อสร้างที่สำคัญจะแล้วเสร็จ ในรัชกาลที่ 3ผลงานด้านจิตรกรรมในรัชกาลที่ 3 จึงมีปรากฏเป็นอันมากจัดเป็นรัชสมัยที่รุ่งเรืองด้านจิตรกรรมที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นงานจิตรกรรมในรัชกาลนี้มีอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากทั้งนี้เพราะในขณะนั้นมีการติดต่อค้าขายกับจีน ประกอบกับรัชกาลที่ 3 เองก็ทรงนิยมด้วย เห็นได้ชัดจากพระอารามหลวง ซึ่งสร้างในรัชกาลนี้อาคารจะสร้างแบบจีนเป็นส่วนมากจิตรกรเอกที่มีฝีมือชั้นครูมีผลงานดีเด่นในรัชกาลนี้ คือ หลวงวิจิตรเจษฎาหรือที่เรียกทั่วไปว่า ครูทองอยู่ และ ครูคง หรือที่เรียกทั่วไปว่า คงเป๊ะผลงานของท่านทั้งสองนี้ถือว่าเป็นมรดกทางจิตรกรรมที่ล้ำค่าอย่างยิ่งภาพจิตรกรรมที่สำคัญในรัชกาลนี้ได้แก่ ภาพเขียนในพระอุโบสถและพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม และในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม และที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดพระสรีรัตนศาสดารามวัดอรุณราชวราราม วัดบางยี่ขัน เป็นต้น

การศึกษา      ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นลักษณะระบบการศึกษายังคงคล้ายคลึงกับในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรีศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัง และ วัดพวกขุนนางหรือผู้ดีมีตระกูลมักส่งบุตรหลานของตนเข้าไปฝึกอบรมตามวังและราชสำนักถ้าเป็นชายมักฝากตัวเข้าเป็นมหาดเล็กเพื่อจะได้ศึกษาวิชาการต่างๆและเรียกรู้การใช้อาวุธในยามสงคราม ผู้หญิงฝึกอบรมวิชาแม่บ้านแม่เรือน การเย็บปักถักร้อยสำหรับการศึกษาในวัด พวกสามัญชนมักนำลูกหลานที่เป็นผู้ชายไปฝากตัวไว้กับพระตามวัดเป็นลูกศิษย์สำหรับใช้สอย หรือบวชอยู่กับพระที่วัดแล้วแต่ความเหมาะสมส่วนพระจะเป็นผู้สอนให้หัดเขียนอ่าน วิชาหนังสือ วิชาด้านพระศาสนา เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต และขอม และฝึกอบรมให้รู้จัก ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ด้วยสำหรับเด็กผู้หญิงนิยมให้ได้รับการฝึกอบรมที่บ้าน การเรียนหนังสือภาษาไทยเดิมยังใช้หนังสือ จินดามณี เป็นแบบเรียน ต่อมาหมอบรัดเลย์ (Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3ได้พิมพ์หนังสือ ประถม ก กา ออกจำหน่าย ระยะนี้ยังไม่มีโรงเรียนเป็นหลักแหล่งต้องไปศึกษาตามสำนักต่างๆ เช่น สำนักเจ้าพระยาศรีธรรมราชสำนักพระพุทธโฆษาจารย์แห่งวัดพุทไธสวรรย์ การเรียนที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง คือการศึกษาวิชาชีพตามบรรพบุรุษสืบตระกูลถ่ายทอดกันต่อๆ มา เช่น แพทย์ นักกฎหมายครุอาจารย์ หรือมีการสืบทอดอาชีพกันเป็นกลุ่มตามอาชีพของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ช่างถมช่างทอง ช่างปั้น ช่างแกะสลัก โดยจะอยู่กันเป็นแหล่งๆ เช่น บ้านหมอ บ้านบาตรบ้างช่างหล่อ เป็นต้น สำหรับการศึกษาสมัยใหม่โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ เริ่มมีปรากฎบ้าง โดยพวกมิชชั่นนารี ซึ่งเจ้ามาสอนศาสนาเป็นผู้ดำเนินการแต่จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงพระราชววงศ์และขุนนางข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น

อาณาจักรรัตนโกสินทร์

                 รัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 6 ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจากพระเชษฐาธิราช(พระนั่งเกล้าฯ) ใน พ.ศ. 2394 นั้นประเทศมหาอำนาจตะวันตกสองชาติ คือ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น(อังกฤษส่งทูตเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 2อเมริกาเข้ามาในรัชกาลที่ 3) ในช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 3 ครองราชย์อยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ออกผนวช ระหว่างผนวชได้ทรงศึกษาทั้งพระธรรมวินัยและวิทยาการสมัยใหม่รวมทั้งได้ศึกษาภาษาละตินกับบาทหลวงคาทอลิกและศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีชาวอเมริกัน ดังนั้นนอกจากจะทรงแตกฉานในวิทยาการสมัยใหม่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ยังทรงสนิทสนมกับชาวตะวันตกรวมทั้งพวกพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายเป็นอย่างดีทำให้ทรงทราบเหตุการณ์และอิทธิพลของชาวตะวันตกที่กำลังเข้าครอบงำประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย และอาณาบริเวณอื่นๆ ของโลกทรงเห็นความจำเป็นที่เกิดขึ้น 2 ประการ คือ

  ประการแรก วิทยาการและความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคตของประเทศคนไทยควรจะได้เรียนรู้ไว้ เพื่อจะได้เข้าใจความคิดของชาวตะวันตกและนำความรู้นั้นมาพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมกัน

ประการที่สอง  เนื่องจากทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย พม่า และจีนทำให้พระองค์ตระหนักว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมกำลังแผ่ขยายเข้ามาในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องยอมรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย

                 ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์จึงทรงรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ปรับปรุงบ้านเมืองทั้งยังทรงสนับสนุนให้ขุนนาง ข้าราชบริพารและพ่อค้าประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้วิทยาการและความคิดใหม่ๆ จากชาวตะวันตกอีกด้วยการมองการณ์ไกล ซึ่งเป็นพระราชวิจารณญาณอันชาญฉลาดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นี้จะเห็นได้จากการทรงเตรียมการอย่างดีเลิศในการให้การศึกษาแบบตะวันตกแก่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์จนเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5จึงทรงสืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดานำประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่สร้างความเจริญและรักษาชาติบ้านเมือง คงความเป็นเอกราชไว้ได้จนสามารถพัฒนาให้เป็นชาติที่เจริญก้าวหน้าชาติหนึ่งในปัจจุบัน

นโยบายผ่อนหนักเป็นเบา

สนธิสัญญาเบาริง สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย (QueenVictoria) แห่งอังกฤษได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาริง (Sir JohnBowring)เป็นหัวหน้าคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีและเจรจาการค้าถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2398ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4ก็ทรงจัดการต้อนรับอย่างสมเกียรติยิ่ง เทียบได้กับการต้อนรับคณะฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราชสร้างความพอใจให้แก่ เซอร์จอห์น เบาริง มาก ทำให้การเจรจาไม่ยาวนานนัก สามารถลงนามในสนธิสัญญาได้ในวันที่ 18 เมษายน 2398 เรียกกันทั่วไปว่า สนธิสัญญาเบาริงซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

           - อังกฤษขอตั้งสถานกงสุลในไทยเพื่อคอยดูแลผลประโยชน์ของคนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษถ้าเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกับคนไทยหรือกระทำความผิดให้คนเหล่านี้ขึ้นศาลกงสุลอังกฤษเท่านั้น

          - คนอังกฤษมีสิทธิเช่าที่ดินในไทยได้แต่ถ้าจะซื้อที่ดินต้องอยู่ในเมืองไทยมาแล้ว10 ปีขึ้นไป

          - อังกฤษมีสิทธิเช่าสร้างวัดและเผยแผ่คริสต์ศาสนาได้อย่างเสรี

          - ให้ไทยยกเลิกการเก็บภาษีปากเรือให้เก็บแต่เพียงภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3 ส่วน ภาษีขาออกให้เสียเพียงครั้งเดียว

          - เปิดโอกาสให้พ่ออังกฤษกับราษฎรไทยค้าขายกันอย่างเสรี

          - สินค้าต้องห้ามมี 3 อย่าง คือ ข้าว ปลา เกลือ และอังกฤษสามารถนำฝิ่นเข้ามาขายให้แก่เจ้าภาษีโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเจ้าภาษีไม่ซื้อให้นำกลับออกไป ถ้าลักลอบขายจะถูกริบฝิ่น

                 - ถ้าไทยทำสนธิสัญญากับชาติอื่นโดยยกประโยชน์ให้ชาตินั้นๆ นอกเหนือจากที่ทำให้อังกฤษในครั้งนี้ก็ต้องทำให้อังกฤษด้วย

ภายใน 10 ปี จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสนธิสัญญานี้ไม่ได้เว้นแต่จะยินยอมทั้งสองฝ่ายและต้องบอก แก้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1ปี

การเสียดินแดน

                 การเสียดินแดนของไทยเป็นการเสียให้แก่ชาติตะวันตกเพียง2 ชาติ คือ ฝรั่งเศสและอังกฤษรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการเสียให้แก่ฝรั่งเศสครั้งแรกเสียไปในตอนปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4หลังจากนั้นเป็นการเสียดินแดนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทั้งสิ้น การเสียดินแดนเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายในการรักษาเอกราชของชาติการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ทรงเร่งปรับปรุงชาติบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศและการเสด็จประพาสยุโรปเพื่อผูกมิตรกับชาติมหาอำนาจในยุโรปถึง 2 ครั้งของพระองค์ เป็นเครื่องยืนยันพระราชวิริยะอุตสาหะของพระองค์ที่จะรักษาเอกราชของชาติไว้ทุกครั้งที่ทรงยินยอมเสียดินแดนไปนั้นล้วนแล้วแต่เป็นกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทิ้งสิ้น

ครั้งที่1 – 5 เสียให้แก่ฝรั่งเศส

                  ครั้งที่ 1เสียเขมรทั้งประเทศให้แก่ฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2410 (ปลายรัชกาลที่ 4) เมื่อได้ญวนแล้วฝรั่งเศสเห็นว่าแม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศเขมรหากได้เขมรอีกประเทศหนึ่งก็อาจใช้แม่น้ำโขงติดต่อค้าขายกับประเทศจีนได้จึงเข้าตีสนิทกับเขมร ซี่งเป็นประเทศราชของไทย และบังคับให้สมเด็จพระนโรดมพระเจ้าแผ่นดินเขมร ทำสัญญายกเขมรให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งเศสอ้างว่าเขมรเคยเป็นของญวน เมื่อญวนเป็นของฝรั่งเศสแล้วเขมรก็ต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย สมเด็จพระนโรดมทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ว่าทรงถูกบังคับ แต่ไทยก็ไม่สามารถทำอะไรได้ในที่สุดไทยก็ต้องลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศสยอมรับว่าเขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ในวันที่ 15กรกฎาคม 2410

                  ครั้งที่2 เสียแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2431 (รัชกาลที่ 5) พ.ศ. 2431ฝรั่งเศสขอทำสนธิสัญญากับไทย เพื่อตั้งสถานกงสุลที่หลวงพระบาง โดยให้ นายปาวี (MonsieurAugust Pavie) เป็นกงสุลประจำต่อมาพวกฮ่อเข้าปล้นเขตแดนไทยจนถึงหลวงพระบางไทยจึงรีบยกทัพไปปราบปรากฏว่าสามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเขตแดนไทยได้ทั้งหมดแต่ฝรั่งเศสยังคงยึดแคว้นสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหกไว้ไม่ยอมยกทัพกลับไปโดยอ้างว่าจะคอยปราบปรามพวกฮ่อ

                  ครั้งที่3 เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ในพ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) การเสียดินแดนใน ร.ศ.112 เป็นการเสียดินแดนที่สร้างความเจ็บซ้ำน้ำใจให้แก่ไทยมากเพราะถูกรังแกจากชาติมหาอำนาจโดยไม่อาจป้องกันตัวเองได้ ฝรั่งเศสใช้วิธีการเดิมคือ อ้างว่าญวนและเขมรเคยมีอำนาจเหนือลาวมาก่อนเมื่อญวนกับเขมรเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสดินแดนต่างๆ เหล่านี้ก็ควรตกเป็นของฝรั่งเศสด้วยใน พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112)ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ มาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาทหารได้ทำการยิงสู้ไม่สำเร็จ มีคนได้รับบาดเจ็บและเรือเสียหายมากนายปาวีซึ่งเป็นกงสุลฝรั่งศสประจำกรุงเทพจึงยื่นคำขาด ซึ่งไทยยอมปฏิบัติตามบางส่วนทำให้นายปาวีไม่พอใจ จึงถอนทูตออกจากไทยและใช้กองเรือปิดล้อมอ่าวไทยทันทีรัฐบาลไทยจึงต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทุกประการ วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นี้นับว่าไทยสูญเสียดินแดนครั้งสำคัญมากที่สุดโดยต้องยอมยกอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส

               ครั้งที่ 4เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2446ขณะที่เกิดข้อพิพาทเป็นวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นั้นฝรั่งเศสถือโอกาสส่งกองทัพไปยึดจันทบุรีไว้อ้างว่าเพื่อเป็นประกันให้ไทยปฏิบัติตามเงื่อนไข ครั้นไทยปฏิบัติตามเงื่อนไข คือยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ไปแล้ว ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมถอนออกไปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ทรงเห็นว่า เมืองจันทบุรีอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญจึงเจรจาขอแลกเปลี่ยนดินแดนที่อยู่ห่างไกลให้แทนโดยยอมยกเมืองมโนไพรและเมืองจำปาศักดิ์ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองปากเซ (ในลาวตอนใต้)กับเมืองไชยบุรีและเมืองแก่นท้าวซี่งเป็นดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง (ในลาวตอนเหนือ)ให้ฝรั่งเศสแทน ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี แต่ด้วยเล่ห์เพทุบายทหารที่ยกออกไปนั้นกลับไปยึดเมืองตราดไว้แทนซี่งเป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนครั้งที่ 5 การเสียดินแดนครั้งนี้ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนลาวทั้งหมดให้ฝรั่งเศส

                 ครั้งที่5 เสียมณฑลบูรพาให้แก่ฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2449 มณฑลบูรพา คือ ดินแดนเขมรส่วนใน ซึ่งไทยปกครองเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร(แยกต่างหากจากประเทศเขมร) ได้แก่ ดินแดนที่เป็นเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐและเมืองศรีโสภณไทยต้องยอมทำสัญญายกให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกเปลี่ยนกับเมืองตราดและเกาะต่างๆที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดที่ฝรั่งเศสยึดไว้โดยฝรั่งเศสยอมผ่อนผันให้คนเอเชียซึ่งจดทะเบียนอยู่ในบังคับของฝรั่งเศสภายหลังวันลงนามในสัญญามาขึ้นอยู่ในอำนาจศาลไทย(แต่ศาลกงสุลของฝรั่งเศสก็ยังคงสามารถพิจารณาคดีความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนฝรั่งเศสได้เหมือนเดิม)ดินแดนที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสครั้งนี้ เมื่อถึงรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ยึดคืนมาได้ แต่เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2ก็ต้องคืนให้ฝรั่งเศสอีก

               ครั้งที่ 6 เสียรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสให้แก่อังกฤษ พ.ศ. 2452 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2452 นายเอ็ดเวิร์ด สโตรเบลซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกันเสนอให้ไทยแลกหัวเมืองมลายูกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษในประเทศไทยและขอกู้เงินสร้างทางรถไฟสายใต้ การดำเนินงานนี้ประสบผลสำเร็จมีการลงนามในสนธิสัญญา วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452 มีใจความสำคัญ คือ รัฐบาลไทยยอมยกดินแดนรัฐมลายู คือ ไทรบุรี กลันตันตรังกานู ปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษฝ่ายอังกฤษยอมให้คนในบังคับอังกฤษทั้งยุโรปและเอเชีย ซึ่งได้จดทะเบียนไว้กับกงสุลก่อนทำสัญญานี้ให้ไปขึ้นกับศาลต่างประเทศส่วนคนในบังคับอังกฤษที่จดทะเบียนหลังทำสนธิสัญญาฉบับนี้ให้ไปขึ้นศาลไทยโดยมีที่ปรึกษาทางกฎหมายเป็นชาวยุโรปเข้าร่วมพิจารณาด้วยแต่ศาลกงสุลของอังกฤษก็ยังมีสิทธิจะถอนคดีของคนไทยในบังคับอังกฤษไปพิจารณาได้

                       ในสงครามโลกครั้งที่2 ญี่ปุ่นยึดคาบสมุทรมลายูทั้งหมดได้และได้คืนดินแดนส่วนนี้ให้ไทย และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ดินแดนนี้จึงถูกยึดกลับคืนไปให้อังกฤษ

รัชกาลที่ 7 – ปัจจุบัน

                  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายนพ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ขณะดำรงพระยศเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาก็เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบต่อเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์นั้นเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนในเมืองหลวงและข้าราชการผู้มีการศึกษาทั่วไปได้รับข่าวสารและแนวคิดสมัยใหม่จากสื่อสารมวลชนในสมัยนั้นอย่างกว้างขวางมีหนังสือพิมพ์รายวันออกจำหน่ายหลายสิบฉบับและยังมีวารสารต่างๆ อีกกว่าร้อยฉบับประชาชนสามารถทราบเรื่องราวเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รู้เห็นวิธีแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวิธีการแบบตะวันตกที่ประชาชนทั่วไปมีสิทธิมีส่วนในการปกครองประเทศโดยที่ทุกคนสามารถปกครองประเทศได้ตามความคิดหรือแนวนโยบายของตนเองด้วยการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนการต่างๆมีสมเหตุสมผลน่าเลื่อมใส กระแสความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงแพร่ไปในหมู่ประชาชนอย่างรวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้นแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยได้ก่อตัวมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เนื่องจากบ้านเมืองเริ่มพัฒนาตามแบบอารยธรรมตะวันตกผู้คนมีการศึกษามากขึ้นมีชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายและพำนักอยู่ในประเทศไทยมากขึ้นมีนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นคนสามัญเขียนบทความเรียกร้องประชาธิปไตย เช่น เทียนวรรณและ ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นต้น ทำให้คนไทยบางส่วนเริ่มสนใจกิจการบ้านเมืองตามแนวคิดตะวันตกและผู้สนใจเหล่านี้ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นต้น พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงตระหนักในความจริงข้อนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5แม้จะยังไม่ทรงเห็นความเพราะทรงเห็นว่ายังไม่เหมาะสมและยังไม่ถึงเวลาอันควร แต่ก็เคยทรงมีพระราชปรารภกับบรรดาขุนนางข้าราชการอยู่บ่อยๆถึงคำว่า ปาร์เลียเมนต์ (รัฐสภา) และ คอนสติติวชัน (รัฐธรรมนูญ) แสดงให้เห็นว่าความคิดเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อยู่ในพระราชดำริของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วมีหลักฐานแสดงว่าพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาได้ทรงปูพื้นฐานเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ด้วยกันทุกพระองค์(ประวัติศาสตร์ชาติไทย”. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : //th.wikipedia.org/wiki 2551)

                               - - - - - - - - - - - - - - - - - - 




Create Date : 15 สิงหาคม 2558
Last Update : 15 สิงหาคม 2558 15:59:42 น. 1 comments
Counter : 8971 Pageviews.

 
คืออยากถามว่ารัชกาลที่ 1 ทรงแก้ปัญหาแตกแยกและหย่อนยานพระธรรมวินัยในหมู่พระสงฆ์โดยการ......คือเราอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจอ่ะคือเราเป็นสมองเข้าใจยาก


โดย: นุ้ย IP: 27.55.77.145 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2563 เวลา:22:00:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sathit 1
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add sathit 1's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.