งาสาร ฤาห่อนเหี้ยน หดคืน คำกล่าว สาธุชนยืน อย่างนั้น
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2558
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
9 สิงหาคม 2558
 
All Blogs
 
อาณาจักรฟูนัน

อาณาจักรฟูนัน

                    อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรเก่าแก่ ของขอมโบราณ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรเขมรยุคแรก ที่สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่๖ โดย ชาวจีนเรียกว่า อาณาจักรฟูนัน โดยเพี้ยนมาจากคำว่า พนม หมายถึง ภูเขา มีเมืองหลวงชื่อ วยาธปุระ ถ้าจะเทียบเคียงกับอาณาจักรร่วมสมัยก็น่าจะเป็นยุคเดียวกับ อาณาจักรยวนเชียง(พ.ศ.๕๙๐-๑๑๕๐)ซึ่งมีพื้นที่อิทธิพลอยู่ทางเหนือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำละว้านที หรือแม่น้ำสายและที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำกุกนที หรือแม่น้ำกก

                    ความเป็นมา แรกเริ่มตามที่มีข้อมูลปรากฏของอาณาจักรฟูนันคือเมื่อเจ้าชายจากอินเดียชื่อ “โกญทัญญะ”(จีนว่าโกณฑิยะ) เดินทางโดยทางเรือมาถึง ดินแดนแห่งนี้แล้ว จะด้วยวิธีการใดไม่ปรากฏแต่สามารถยึดครองดินแดนบริเวณปากแม่น้ำโขง และได้ประมุขของชาวพื้นเมืองเป็นชายา (จีนเรียกว่าพระนางลิวเย่) พระชายาผู้นี้น่าจะเป็นเชื้อสายกษัตริย์ในราชวงศ์ของฟูนัน จึงได้ตั้งอาณาจักรฟูนันขึ้นตามชื่อของราชวงศ์กษัตริย์ฟูนันเดิม

                   กษัตริย์ องค์ต่อๆมาของอาณาจักรฟูนันได้มีการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในยุคของขุนพลฟันซีมัน(FanShihman)ได้ขึ้นเป็นเจ้าครองนครฟูนันทรงขยายอาณาจักรฟูนัน โดยสามารถยึดครองอาณาจักร ฉูตูคุณ จิวจิ และเตียนซุน

                  อาณาจักรฟูนันมีความเจริญสูงสุดประมาณ พ.ศ. 800-900 โดยมีอิทธิพลเหนืออาณาจักรต่างๆในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและอาณาจักรทางใต้ไปจนถึงปลายแหลมมลายู นอกจากนี้อาณาจักรฟูนันยังมีอำนาจไปถึงดินแดนบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนใต้ของเวียดนาม

                   ศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนันปัจจุบันนักวิชาการยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนันอยู่บริเวณใดมีข้อสันนิษฐานดังนี้ คืออยู่ทางใต้ของเขมรในปัจจุบันบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เมืองออกแก้วหรือบาพนม หรืออาจจะอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี)หรือนครปฐมโบราณ

                   สันนิษฐานว่าเมืองสำคัญของอาณาจักรฟูนัน ในประเทศ เวียตนามคือ เมืองออกแก้วหรือเมืองออกแอว ในประเทศไทยคือ เมืองจันเสน(นครสวรรค์)เมืองอู่ทอง(สุพรรณบุรี) เมืองนครชัยศรี(นครปฐม) เมืองศรีมโหสถ(ปราจีนบุรี)เมืองโนนสูง(นครราชสีมา)เมือง ศรีเทพ(เพชรบูรณ์) และเมืองละโว้(ลพบุรี)โดยเฉพาะที่เมืองอู่ทองและศรีมโหสถทั้งสองเมืองอาจเป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อค้าขายทางทะเลเพราะปรากฏร่องน้ำใหญ่ที่เรือเดินทะเลสามารถเข้าจอดได้

                     ลักษณะการเมืองการปกครองของอาณาจักรฟูนันได้รับอิทธิพลจากอินเดียตามคติ เทวราชา ถือว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้า มีลักษณะการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระมหากษัตริย์มีสถานภาพเป็นสมมติเทพ มีอำนาจสูงสุดในการปกครองบัญชาการทางทหารและการพิพากษาคดีเลียนแบบกฎหมายมนูธรรมศาสตร์ของชาวอินเดียมาใช้เป็นแบบอย่างกฎหมายของตน

                   สภาพสังคมและวิถีชีวิตของชาวอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรฟูนันมีความเจริญทางอารยธรรมมากที่สุดผู้ปกครองของฟูนันมีรายได้มาจากการค้าทางเรือสินค้าของฟูนันคือสินค้าพื้นเมือง ชาวฟูนันมีฝีมือทางแกะสลักไม้ ทำเครื่องทองรูปพรรณ ได้สวยงามมาก เศรษฐกิจของฟูนันขึ้นอยู่กับการค้าและการเกษตร

                    ลักษณะการประกอบอาชีพของชาวอาณาจักรฟูนันชาวเมืองมีอาชีพกสิกรรม รู้จักการชลประทาน ขุดคลองเพื่อทดน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกรู้จักทำเครื่องปั้น ดินเผา การแกะสลัก ทำเครื่องประดับและเครื่องใช้ต่างๆรู้จักการต่อเรือ ราษฎรต้องเสียภาษีให้รัฐเป็นทองคำ ไข่มุก และเครื่องหอมพืชที่ปลูกคือ ข้าว ฝ้ายและอ้อย กีฬาที่สำคัญ คือ ชนไก่และชนหมู

                   ฟูนันมีการส่งทูตติดต่อกับจีนครั้งแรกในสมัย ของฟันซิมัน “ใน พ.ศ. ๗๘๖ อาณาจักรฟูนันได้ส่งคณะทูตไปประเทศจีน พร้อมกับส่งนักดนตรีและพืชผลในประเทศเป็นเครื่องราชบรรณาการ”  ตรงกับสมัยจีนแบ่งเป็น 3ก๊ก พวกก๊กทางใต้สุดแถบกวางตุ้งเห็นความสำคัญในการติดต่อกับทางแหลมอินโดจีนทางการค้ามากจึงมีไมตรีอันดีต่อกันอยู่เสมอ จีนได้ส่งทูตมาฟูนันด้วยแต่เป็นการติดต่อทางการค้ากันเป็นส่วนใหญ่

                   ลักษณะความเป็นอยู่ของอาณาจักรฟูนันชาวฟูนันมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ มีความซื่อสัตย์ ไม่ลักเล็กขโมยน้อยมีการแบ่งชนชั้น ของสังคม พวกชนชั้นสูงจะสวมโสร่ง ผู้หญิงใช้ผ้าคลุมศีรษะประชาชนทั่วไปใช้ผ้าพันกายเพียงผืนเดียว ไม่นิยมสวมรองเท้าแต่นิยมใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ทองคำ และไข่มุกลักษณะหน้าตาของชาวฟูนันได้แก่ ตัวเล็ก ผิวดำผมหยิก สันนิษฐานว่าคงเป็นพวกผสมกับคนพื้นเมืองดั้งเดิม

                   ความเจริญด้านวัฒนธรรมศาสนาและภาษาของอาณาจักรฟูนันชาวฟูนันนับถือศาสนาหลายนิกายมีทั้งพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและมหายาน ศาสนาพราหมณ์ไศวะนิกาย มีการบูชาพระมเหศวร (พระศิวะ) และไวษณพนิกาย บูชาพระนารายณ์(พระวิษณุ) ชนชั้นปกครองของฟูนันนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนิกายไศวะที่บูชาพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด พวกชนพื้นเมืองนับถือนิกายไวษณพที่บูชาพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด และนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และยังมีการนับถือบูชาเทพเจ้าอีกหลายองค์เช่น เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าเทพเจ้าแห่งฝน

                    อาณาจักรฟูนันแห่งนี้มีความเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่๙ แล้วเริ่มเสื่อมในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ต่อมาอาณาจักรแห่งนี้ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเจนละ(ในเขมร)เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จากนั้นอาณาจักรฟูนัน ก็สูญหายไป เนื่องจากได้เกิดมีอาณาจักรขอมขึ้นมาแทนในดินแดนของอาณาจักรฟูนันเดิม

                   ในยุคของอาณาจักรฟูนันนี้ได้มีการถ่ายทอดความเชื่อถือเกี่ยวกับการนับถือภูเขาว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และผู้ปกครองนั้นอยู่ในฐานะเจ้าแห่งภูเขาให้กับพวกในหมู่เกาะอินโดนีเซียความเชื่อนี้ฟูนันรับมาจากอินเดียเรื่องเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลดังนั้นผู้ปกครองของฟูนันและผู้ปกครองอาณาจักรอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการจ้างพราหมณ์ไว้ในราชสำนักในฐานะที่พราหมณ์เป็นผู้รู้ความเป็นไปของสุริยจักรวาลเป็นผู้ที่สามารถตั้งศูนย์กลางของจักรวาล (สัญลักษณ์ของจักรวาลคือภูเขา)และประกอบพิธีกรรมการสถาปนากษัตริย์ให้อยู่ในฐานะเทวดาผู้สิงสถิตอยู่บนยอดเขาทำให้ฐานะของกษัตริย์มีความมั่นคงทางการเมืองเพิ่มขึ้น พวกเขมรใช้คำว่า พนมนำหน้าชื่อเมืองหลวง

                     ความเสื่อมของอาณาจักรฟูนัน เกิดจากพวกเขมรที่อยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรฟูนันได้มีกำลังเข้มแข็งขึ้นจึงทำให้อาณาจักรฟูนันเสื่อมลงกษัตริย์เขมรชื่อ ภววรมัน ยกทัพมาตี จนอาณาจักรฟูนันต้องได้รับความพ่ายแพ้ เมืองขึ้นของอาณาจักรฟูนันได้ตั้งตนเป็นอิสระและตั้งแต่นั้นมาฟูนันก็ถูกเขมรกลืนชาติจนหมดอย่างไรก็ตามเขมรก็ได้รับเอาอารยธรรมต่างๆมาจากอาณาจักรฟูนัน

                    มรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรฟูนัน มีการสืบทอดรูปแบบทาง สถาปัตยกรรมการก่อสร้างหลังคาอาคารที่เป็นชั้นซ้อนกันเตี้ย ๆ ตัวอย่างเช่นการทำหลังคาโบสถ์และวิหารในปัจจุบัน

                    ดินแดนซึ่งที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันนี้แต่เดิมนั้น เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ดังนั้น ก็สามารถถือได้ว่าบรรดาผู้คน ศิลปะ วัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมาของคนไทยส่วนหนึ่งก็สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จากอาณาจักรฟูนัน เหมือนกัน ในขณะเดียวกัน ก็ถือได้ว่าคนเขมรบางส่วนและคนไทยบางส่วนก็ มีความเป็นมาร่วมกันเกี่ยวพันกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเปรียบเสมือนคนชั้นลูกหลานเหลน ที่มีบรรพบุรุษเดียวกันและบรรพบุรุษของไทยและเขมรก็มีทรัพย์สมบัติมากมายที่สืบทอดมาให้ลูกหลานจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาใคร่ครวญว่า ลูกหลานควรหรือไม่ที่จะมาทะเลาะเบาะแว้งเพื่อแย่งชิงมรดก หรือควรจะสมัครสมานสามัคคีกันช่วยกันทะนุบำรุงรักษามรดกต่างๆของบรรพบุรุษในอดีต อย่างรู้คุณค่าสืบไปตราบนานเท่านาน

- -- - - - - - -- - - - - - 




Create Date : 09 สิงหาคม 2558
Last Update : 9 สิงหาคม 2558 15:01:58 น. 0 comments
Counter : 22458 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sathit 1
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add sathit 1's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.