พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
12 พฤศจิกายน 2551

เยี่ยมชมวิถีชาวบ้าน อำเภอนางรอง เดินท่องปราสาทหินพนมรุ้ง (บุรีรัมย์)

..

เสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2551

ทุ่งนากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาในต้นเดือนพฤศจิกายนเริ่มเปลี่ยนจากท้องทุ่งเขียวขจี เป็นรวงข้าวสีเหลืองอร่าม


ท่ามกลางสายลมปลายฤดูฝนเย็นสบายผิว ชาวนาในหมู่บ้านลิ่มทองบางกลุ่มเริ่มทำการเก็บเกี่ยว


แม้ความเจริญเข้ามาถึงในหลายๆด้าน แต่วิถีชาวบ้านของหมู่บ้านเล็กๆยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก


ขณะที่ชาวบ้านกำลังเก็บเกี่ยวข้าว

ผมเองก็เก็บเกี่ยวความประทับใจไปพร้อมกัน




.

ด้วยภารกิจหน้าที่การงาน ทำให้ผมมีโอกาสเดินทางออกต่างจังหวัดอีกครั้งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา


ครั้งนี้ผมต้องไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโครงการในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์


หลังจากลงเครื่องบินที่ขอนแก่น คณะของผมเดินทางด้วยรถตู้ มุ่งสู่บุรีรัมย์
ผมมองผ่านกระจกรถตู้ออกไปข้างทาง ได้เห็นกับบรรยากาศที่แตกต่างไปจากที่คุ้นเคย จนอดไม่ได้ที่จะถ่ายภาพเก็บไว้ตลอดทาง


บ้านหลังเล็กๆชั้นเดียว ท้องทุ่งนาเขียวขจี ขณะที่บางแห่งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีทอง วัวเคี้ยวหญ้าอย่างสบายใจ ท้องฟ้าใสไร้หมอกควัน

...ภาพที่ได้ก็ดูสวยดี แต่ถ่ายจากในรถตู้เนี่ย เอียงทุกภาพเลยแฮะ...

.


ผมเดินทางไปที่หมู่บ้านลิ่มทอง ซึ่งอยู่นอกตัวอำเภอนางรองไปประมาณ 4 กิโลเมตร


แม้ความเจริญจะเข้ามาสู่หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ แต่วิถีชีวิตยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม


ผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ในหมู่บ้าน แบ่งเป็นทุ่งนา ปลูกผัก ทำสวน เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด ฯลฯ

... เป็นการผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง...





แต่ปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านกำลังประสบ คือ คลองส่งน้ำที่เป็นสายเลือดใหญ่ของวิถีเกษตรกรรมนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะกัดเซาะพังทลายหน้าดิน และหากปล่อยไว้ก็จะกินพื้นที่เกษตรกรรมเข้ามาเรื่อยๆ


โครงการที่ผมไปเยี่ยมชม จึงเป็นการแก้ปัญหาของแกนนำชาวบ้านร่วมกับกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้าน

...ด้วยการปลูกหญ้าแฝกเพื่อยึดหน้าดิน...

..

เช้าวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ จึงเป็นภาพที่ชินตา เมื่อบรรดาเด็กๆในหมู่บ้าน จะเดินเรียงแถวกันไปที่คลองส่งน้ำ

ช่วยกันปลูกหญ้าแฝกคนละไม้คนละมือ

...เป็นภารกิจที่ทุกคนทำด้วยความเต็มใจ ไม่ต้องบังคับ...

..

ความจริงแล้ว การเก็บข้อมูลของผม เกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านสิ้นสุดลงตั้งแต่บ่ายวันแรก


แต่บังเอิญว่า มีทีมงานบางส่วนจำเป็นต้องมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในเช้าวันรุ่งขึ้น ผมจึงไม่ปล่อยโอกาสทองให้หลุดลอยไป ด้วยการติดสอยห้อยตามมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง


เพียงแต่ว่า ผมไม่ได้ตามมาทำงาน แต่มีวัตถุประสงค์อื่น คือ การได้เยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน และถ่ายภาพทิวทัศน์ต่างๆ

...โอกาสแบบนี้ หาได้ง่ายๆที่ไหนกัน...

.
.

บรรยากาศยามเช้าในชนบทนั้น เป็นบรรยากาศที่สดชื่นของจริงครับ เพราะไม่มีรถติด ไม่มีเสียงแห่งความวุ่นวาย


มีเพียงวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย เนิบช้า แต่เต็มไปด้วยความขยันขันแข็ง


...แต่สงสัยว่า วันนี้จะมาเช้าไปนิด เพราะน้องหมาตัวนี้เพิ่งจะบิดขี้เกียจอยู่เลย...

..

ชาวบ้านลิ่มทองคนแรกที่ผมได้พูดคุยอย่างเป็นทางการ คือ ลุงสุนทร
ชายชราวัย 74 ปี เล่าให้ผมฟังว่า “ผมยังทำนาเองอยู่ครับ แก่แล้วแต่ก็ยังทำไหว”


“โอ้โห มิน่าล่ะครับ ลุงถึงยังดูไม่แก่เลย เพราะยังได้ออกกำลังกายทุกวันนี่เอง”

ลุงสุนทร ยังเล่าต่อว่า มีลูกทั้งหมด 10 คน ส่วนใหญ่ไปทำงานในกรุงเทพ และคนสุดท้องยังเรียนมหาวิทยาลัย

“ลูกๆก็จะกลับบ้านในช่วงเทศกาลครับ ปีใหม่บ้าง สงกรานต์บ้าง ผมเองก็ไปหาลูกๆที่กรุงเทพบ้าง ก็ยังได้เจอกันบ่อยๆ” แม้ฟังแล้ว อาจจะเป็นเรื่องเศร้าที่เราคุ้นเคย เมื่อหนุ่มสาวต่างจังหวัดต้องเดินทางไปทำงานในเมืองหลวง แต่ลุงสุนทร ก็เล่าด้วยรอยยิ้ม


ผมถ่ายภาพลุงสุนทรเอาไว้ ตอนแรกดูในกล้องก็ไม่ได้สังเกตอะไรมากนัก แต่เมื่อมาดูในจอคอมพิวเตอร์ผมพบรายละเอียดบางอย่างที่เห็นได้ชัดเจน

...ผมพบว่า รอยยิ้มของลุงสุนทรในภาพนั้น ช่างเป็นรอยยิ้มที่อบอุ่น จริงใจมากๆ...

..

ผมเดินสำรวจหมู่บ้าน เห็นคุณป้าคนนี้กำลังเก็บถั่วฝักยาวอยู่ในสวน
ผมเอ่ยคำทักทาย พร้อมคำชมว่า ถั่วฝักยาวงามมาก


คุณป้า ยิ้มพลางเล่าว่า ถั่วฝักยาวจะเก็บได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แต่ก็ปลูกสลับไปได้เรื่อยทั้งปี และช่วงหน้าฝนก็จะโตเร็วกว่าเดิม


...“ป้าไม่ใช้ยาฆ่าแมลงด้วยนะ”...

..

ในสวนนี้ มีคุณป้ากำลังเก็บถั่วฝักยาวกันอยู่ 2 คน คุณป้าอีกคนเก็บไป ก็พูดกับตัวเองว่า เมื่อวานฝนตกอีกแล้ว


ผมจึงถามกลับไปว่า “อ้าว ฝนตกไม่ดีเหรอครับป้า ถั่วฝักยาวจะได้โตไวๆ”

คุณป้าตอบกลับอย่างอารมณ์ดีว่า

...“ถั่วฝักยาวมันชอบฝนตก แต่ป้าไม่ชอบเดินลุยน้ำ”...



..


ถั่วฝักยาวที่คุณป้าทั้งสองเก็บนั้น จะถูกนำมามัดรวมเป็นกำ และตั้งขายด้านหน้าสวน โดยมีคุณยายกับหลานชายอีกคนหนึ่งนั่งเฝ้าไว้


ส่วนคุณน้า(เสื้อสีแดง) ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน จะมารับซื้อเพื่อนำไปขายต่อที่ตลาดในตัวเมือง ห่างออกไปอีกกว่า 60 กิโลเมตร


“ขายดีหรือเปล่าครับ ฝักยาวสวยมากเลย”

...“ขายดีจ้ะ คนซื้อเค้าชอบที่ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง”...

..

ผมย้อนกลับไปที่ทุ่งนาอีกครั้ง ระหว่างทางก็เจอวัวของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้ข้างทาง


ชาวบ้านผูกวัวไว้ด้วยเชือกยาวพอสมควร ทำให้วัวมีอิสระมากพอที่จะกินหญ้าในพื้นที่กว้างๆ


วัวบางตัว เมื่อเห็นผมเดินไปใกล้ๆ ก็วิ่งหนี บางตัวหันมามองแวบหนึ่งแล้วก็ไม่สนใจ

แต่ก็มีตัวนี้ น่ารักที่สุด เดินเข้ามาใกล้ๆให้ผมลูบหัวทักทาย

...จากนั้นก็ไปกินหญ้าต่ออย่างสบายใจ...

..

ที่ทุ่งนา ผมพบว่ามีตัวเองเพียงคนเดียวอยู่บริเวณนั้น


สาเหตุที่ท้องทุ่งนากว้างใหญ่แต่กลับไร้ผู้คน เพราะบริเวณนี้ ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว


รวงข้าวไม่เป็นสีทองอร่ามไปทั้งหมด ยังคงมีสีเขียวปนอยู่
เมื่อสังเกตใกล้ๆ ผมยิ่งรู้สึกว่า ต้นข้าวเป็นพืชที่สวยงามจริงๆ

...พืชซึ่งเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรามาตั้งแต่เด็ก...

..

เมื่อสำรวจท้องนาไปเรื่อย ก็เจอกับไข่อะไรซักอย่าง สีชมพูหวานแหวว


ผมเดาว่าอาจเป็นแมลงอะไรซักอย่างล่ะมั้ง ตามประสาคนเมือง


เมื่อมาสอบถามกับชาวบ้านอีกครั้ง เขาบอกว่านั่นเป็นไข่ของหอยเชอรี่ ซึ่งนับเป็นศัตรูตัวฉกาจของต้นข้าว


แต่ผมก็รู้สึกดี เมื่อชาวบ้านบอกว่า วิธีกำจัดของชาวนาในหมู่บ้าน คือ ใช้น้ำหมักชีวภาพ ไม่อยากใช้ยา หรือสารเคมี

...แม้กำจัดได้ไม่เด็ดขาด แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค...

..

จากทุ่งนาเงียบสงบ ผมกลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง


เห็นเด็กๆตัวเล็กๆ วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานในเช้าวันหยุด บางคนมองผมแบบหวั่นๆ ตามประสาเด็กๆที่เห็นคนแปลกหน้าเดินอยู่ในหมู่บ้าน แต่บางคนก็ส่งยิ้มทักทายให้อย่างอายๆ


ครู่หนึ่ง มีรถขายขนมจีบ ซาลาเปาเข้ามาในหมู่บ้าน ผมเห็นความน่ารักในสังคมชนบทอย่างหนึ่ง คือ เด็กๆแต่ละคนไม่มีเงินติดตัว แต่จะมาสั่ง และรับขนมไปก่อน จากนั้นจึงค่อยเดินเข้าบ้านไปบอกผู้ปกครองให้มาจ่าย

...การซื้อขายแบบนี้ คงหายากสักหน่อยในสังคมเมือง...

..

ดูเหมือนพี่คนขายซาลาเปาจะเป็นขวัญใจเด็กๆพอสมควร เพราะเด็กๆทุกคนในละแวกนั้น ต่างวิ่งกรูกันเข้าไปซื้อ


พี่คนขาย มีเสียงโฆษณาเปิดเรียกลูกค้า เป็นเสียงหวานๆของผู้หญิง
ผมพอจำประโยคคร่าวๆได้ว่า ซาลาเปาไส้เค็มของเรา ทำจากหมูเนื้อแดงรสชาติอร่อย

...ขนาดว่าผมเพิ่งทานอาหารเช้า ยังหิวขึ้นมาได้อีกรอบ นับประสาอะไรกับพวกเด็กๆ...

..

ขณะที่ผมเดินกินลมชมหมู่บ้านไปเรื่อย ก็มีเสียงทักทายดังขึ้น


“อากาศที่บ้านนอกเป็นไงบ้าง ร้อนไหม”

ผมมองไปยังต้นเสียงนั้น ก็เห็นคุณยาย 2 ท่าน กับหลานตัวน้อย ซึ่งนั่งอยู่บนเพิงเล็กๆริมถนน

“อากาศต่างจังหวัดสดชื่นมากครับ ผมชอบมากเลย”


แม้คุณยายจะใช้คำว่า “บ้านนอก” อย่างไม่เคอะเขิน แต่ผมก็ใช้คำว่า “ต่างจังหวัด” ตอบกลับไปทุกครั้ง

ความเห็นส่วนตัวผมมองว่า คำว่าบ้านนอก เหมาะสำหรับเป็นคำที่คนในท้องถิ่นใช้เท่านั้น แต่หากเราเป็นคนจากในเมือง การจะไปใช้คำว่าบ้านนอกกับคนท้องถิ่น ดูแล้วไม่ค่อยจะสุภาพเท่าไหร่ แม้เขาจะไม่ว่าอะไรก็เถอะ
คุณยาย ชักชวนผมไปนั่งคุยบนเพิงอย่างเป็นกันเอง

...มิตรภาพเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในสังคมแห่งนี้...

..

แม้ว่าผมจะไม่เข้าใจภาษาถิ่นของคุณยายได้ทุกคำ แต่เราก็คุยกันสารพัดเรื่อง ตั้งแต่ดินฟ้าอากาศ วิถีชีวิต ค่านิยมของคนในหมู่บ้าน การไปทำงานในเมืองของคนหนุ่มสาว ฯลฯ


คุณยายเล่าว่า “อยู่บ้านนอก ยังไงไม่อดตาย ถ้าฉันไปอยู่ในบางกอก ฉันก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร”


หลานตัวน้อยของคุณยาย ชื่อ น้องสายชล เป็นหลานสาวที่โดนโกนหัวซะเกลี้ยงเกลา ผมถามว่าทำไมถึงต้องโกนหัว คุณยายบอกว่า เป็นความเชื่อของชาวบ้าน ที่เด็กแรกเกิดจะไปให้พระทำพิธีโกนหัวให้ เพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง


เราคุยกันไปสักพัก คุณยายก็ถามผมขึ้นมาว่า เรียนจบหรือยัง เมื่อผมตอบกลับไปว่า ทำงานแล้ว คุณยายก็ถามต่อว่า แล้วแต่งงานหรือยัง

“ยังโสดอยู่เลยครับยาย ทำงานหาเงินก่อน ไม่รีบๆ”

...“คนบางกอก เค้าไม่รีบแต่งงานเหมือนคนบ้านนอกหร๊อกกก” คุณยายอีกท่านช่วยเสริม...

..

เมื่อถามถึงเรื่องการเกี่ยวข้าว ผมถามคุณยายว่า ชาวบ้านจะเริ่มเก็บเกี่ยวกันเมื่อไหร่


คุณยายบอกว่า บางบ้านก็เริ่มทำการเก็บเกี่ยวกันแล้ว แต่บางบ้านยังรอให้ฝนสั่งลาจริงๆ ซึ่งก็คงไม่เกินปลายเดือนพฤศจิกายนต้นฤดูหนาว


“ไปดูสิ เดินอ้อมไปทางถนนอีกด้าน เค้ากำลังเกี่ยวข้าวกันอยู่เลย”


ผมจึงร่ำลาคุณยายทั้งสอง และน้องสายชล เดินลัดเลาะไปตามถนน จนกระทั่งพบกับภาพที่สวยงามที่สุด


...ชาวนากำลังเกี่ยวข้าว อยู่ในท้องทุ่งสีเหลืองทองอร่าม กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา...

..

ผมยอมรับตามตรงว่า รู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่เคยเห็นการเกี่ยวข้าวในท้องนาที่ใกล้มากขนาดนี้ อย่างมากสุดก็แค่นั่งรถผ่านแล้วเห็นชาวนาอยู่ไกลลิบๆ
แต่สำหรับครั้งนี้ ผมเดินอยู่ในท้องทุ่งสีทอง และได้เห็นการทำงานอย่างใกล้ชิดของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ”


คุณป้าท่านหนึ่ง เห็นผมแล้วก็ยิ้มทักทาย พลางตะโกนบอกเพื่อนชาวนาคนอื่นๆว่า “โน้นๆ เค้ามาถ่ายรูปแน่ะ แอ็คท่ากันหน่อย”


จากนั้น คุณป้าก็หันมาทางผม แล้วตะโกนถามว่า “จะถ่ายหรือยัง พร้อมหรือยัง”

...แล้วผมก็ได้ภาพอันน่ารัก น่าประทับใจภาพนี้...

.

.
ขณะที่ผู้ใหญ่กำลังเกี่ยวข้าวกันอย่างขะมักเขม้น กองกำลังเสริมอย่างพวกเด็กๆ ก็คอยขนน้ำท่ามาให้


...แม้จะไม่ได้ลงมือเกี่ยวข้าวเอง แต่ก็เป็นหน้าที่สำคัญ...

..

ท้องนาที่เงียบสงบนั้น มีความสวยงาม ทว่าท้องนาที่มีชาวนา กลับสวยงามและมีสีสันยิ่งกว่า


นอกจากจะมีเสียงลมพัดให้รวงข้าวเสียดสีกันเป็นท่วงทำนองแห่งท้องทุ่งแล้ว เสียงเพลงลูกทุ่งจากวิทยุทรานซิสเตอร์ ที่ชาวบ้านนำมาตั้งไว้ปลายคันนา ก็เพิ่มอารมณ์สุนทรีย์ในการเกี่ยวข้าวไม่น้อย


มองไปทางไหน ก็พบแต่รอยยิ้มจริงใจที่ส่งมาให้คนต่างถิ่นอย่างผม

...ทำให้ท้องทุ่งแห่งนั้นยิ่งแลดูอบอุ่นขึ้นกว่าเดิม...



..
เสร็จสิ้นจากความประทับใจในหมู่บ้านเล็กๆอย่างหมู่บ้านลิ่มทอง

ผมต้องเดินทางไปพร้อมกับคณะที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอำเภอนางรองมากนัก

...สถานที่ท่องเที่ยวภาคบังคับของจังหวัดบุรีรัมย์...

.
.

ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองไทยอีกแห่ง โดยเป็นปราสาทตามความเชื่อของศาสนาฮินดู


คาดว่าน่าจะมีการสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 15 โดยสถาปัตยกรรมต่างๆ สร้างตามแบบขอม

...โชคดีที่ปราสาท อยู่ไกลจากเขมร...


ความจริงในวันนั้น คณะของผมจ้างมัคคุเทศก์ของอุทยานฯมาโดยตรง ซึ่งคอยบอกเล่าข้อมูลต่างๆของปราสาทได้อย่างละเอียด


ทว่าผมเองนั่นแหละ มัวแต่อยากถ่ายรูป ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง จนได้ข้อมูลมาน้อยนิด

...หากมีคนอย่างผมมากๆ มัคคุเทศก์คงตกงานกันหมด...

..

ตอนนี้ผู้เข้าชมอุทยานชาวไทย ยังเสียค่าเข้าชมคนละ 10 บาท โดยจะเพิ่มเป็น 20 บาทในอนาคตอันใกล้นี้


แต่ราคาขนาดนี้ ผมถือว่าคุ้มค่าครับ เมื่อแลกกับค่าซ่อมบำรุง และความสวยงามของปราสาท

...ปราสาทหินพนมรุ้ง นับเป็นปราสาทหินอันดับที่ 3 ของเมืองไทย ที่มีคนเข้าชมมากที่สุด...

..

บรรยากาศในบริเวณตัวปราสาท ค่อนข้างคึกคักครับ
มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมายที่มาชมความงาม


...แต่ผมก็ถ่ายมุมหลบคนซะหลายรูป...

..


ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นปราสาทที่สร้างมาจากหินทรายสีชมพู
ดูภายนอกอาจคิดว่ามันจะเปราะ เสื่อมไปตามกาลเวลา


...แต่ธรรมชาติของหินประเภทนี้ กลับจะยิ่งแข็งขึ้นเรื่อยๆ...

..

ก่อนเดินทางไป ผมก็นึกว่าปราสาทหินจะตั้งอยู่บนพื้นราบเหมือนวัดวาอารามทั่วไป


แต่ความเป็นจริง ปราสาทหินพนมรุ้งนั้น ตั้งอยู่บนปากภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
มีความสูงกว่า 300 เมตร ต้องเดินขึ้นบันไดชันๆไป 52 ขั้น


...ใครจะพาผู้สูงอายุไปเที่ยวชม ต้องดูแลกันดีๆหน่อยนะครับ...

..

ผมเดินทางไปเที่ยวชมในเวลาประมาณบ่ายโมง โชคดีที่เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว และพอจะมีเมฆบังแสงอาทิตย์เป็นระยะๆ


อากาศข้างบนนั้น แม้จะมีลมพัดเย็นสบาย แต่หากเป็นหน้าร้อนคงอบอ้าวน่าดู


...เตรียมน้ำเย็นๆ หรือขนมนมเนยขึ้นไปทานได้นะครับ...

..



หลังจากเดินเที่ยวชมอยู่ราวชั่วโมงเศษ ผมก็เดินกลับไปสมทบกับคณะเพื่อเดินทางกลับ


ผมคิดว่าคงต้องกลับมาหาข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทหินพนมรุ้งเพิ่มเติมสักหน่อย


...ได้ภาพมาตามที่ต้องการ แต่ไม่ได้ข้อมูลอะไรเล๊ยย เหอๆ...

..


การเดินทางมาบุรีรัมย์ในครั้งนี้ สร้างความประทับใจไม่น้อยครับ โดยเฉพาะการได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน นับเป็นประสบการณ์ล้ำค่าจริงๆ และจากการได้ไปสัมผัสผืนนากว้างใหญ่อย่างใกล้ชิด ทำให้ผมรู้ซึ้งกับความหมายของคำว่า กระดูกสันหลังของชาติ มากขึ้น พร้อมทั้งรับรู้ว่า กว่าที่จะได้ข้าวมาแต่ละเมล็ดนั้น ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของชาวนาแค่ไหน


ดังนั้น ....... อย่าลืมทานข้าวให้หมดจานนะครับ






Create Date : 12 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2551 18:45:35 น. 8 comments
Counter : 7076 Pageviews.  

 
รูปสวย...ดูแล้วอยากไปเก็บถั่วฝักยาว 5 5 5 5


โดย: ใสแจ๋วแหว๋ว วันที่: 13 พฤศจิกายน 2551 เวลา:1:30:45 น.  

 
เจ๋งมาเลยพี่ป๊อก
เซตนี้งามกว่าเชียงใหม่


วู้ๆๆ เยี่ยมๆ


โดย: ลมเอย IP: 118.172.52.111 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2551 เวลา:0:45:10 น.  

 
รูปสวย บรรยายเยี่ยมเลยค่ะ :D


โดย: jacu85 IP: 202.44.210.32 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2551 เวลา:9:33:17 น.  

 
ที่แท้ก็ชื่อพี่ป๊อกนี้เอง อิอิ

แอบมาเก็บรายละเอียดรีวิวที่บล็อกอีกที...พี่ป๊อกกี้


โดย: น า รี ส ร า ญ วันที่: 23 พฤศจิกายน 2551 เวลา:3:19:22 น.  

 
ตามมาอีกรอบ เห็นน้องหมาบิดขี้เกียจแล้วอยากบิดตาม 55


โดย: oub_ib IP: 58.137.45.113 วันที่: 3 ธันวาคม 2551 เวลา:14:03:17 น.  

 
อ่ะ เรื่องแรกจบแล้ว

นอนก่อน

พรุ่งนี้มาอ่านต่อ -*-


โดย: a€kz 7/7/2003 IP: 58.9.52.235 วันที่: 18 มกราคม 2552 เวลา:0:06:34 น.  

 
อ่านแล้วก็คิดถึงบ้านแฮะ.. อิอิ
..ช่วงมอง ช่างสังเกต ช่างคิด ช่างบรรยายเรื่องราวให้คนอ่านได้ยิ้มเรื่อยๆ เลยนะคะ

(ขอบคุณที่ไปเยี่ยม blog ค่ะ)


โดย: ดักแด้น้อยคอยรัก วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:20:50:00 น.  

 
ถูกใจ


โดย: นา IP: 183.89.71.26 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2555 เวลา:12:12:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POGGHI
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




..

บทความ และผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog นี้
สงวนลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ห้ามผู้ใดละเมิด ด้วยการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความ และ ผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog ไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร


POGGHI

..
[Add POGGHI's blog to your web]