<<
มีนาคม 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
27 มีนาคม 2552

อิ่มอุ่นชาชั้นดี วิถีชีวิตเรียบง่าย สุขสันต์วาเลนไทน์ ประทับใจดอยวาวี (เชียงราย) ตอนที่ 2

..

แม้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน อาจทำให้ผมยังใกล้ชิดกับวิถีชีวิตแห่งดอยวาวีได้ไม่มากนัก


แต่วันเวลาสั้นๆเพียงเท่านี้ กลับมีเรื่องราวอันน่าประทับใจมากมาย ให้ผมเก็บไว้ในพื้นที่ความทรงจำ


นับตั้งแต่นาทีแรกที่เดินทางขึ้นสู่ดอย จนกระทั่งนาทีสุดท้ายของการเดินทางกลับ


ในสายตาของผม สิ่งสวยงามที่สุดของดอยวาวี ไม่ได้อยู่ที่ธรรมชาติ หลบซ่อนอยู่ในไร่ชา หรือปรากฏบนใบหน้าของหญิงสาวคนไหน


หากแต่เสน่ห์อันงดงามที่สุดนั้น คือ วิถีชีวิตของชุมชน และมิตรภาพ ที่รอให้ผู้มาเยือนไปสัมผัสด้วยตัวเอง
..



..

“เส้นทางแห่งชาอูหลง”


เย็นวันนั้น คุณลุงพังโก นั่งอยู่ตรงหน้าร้านค้าชาวาวีพอดี เมื่อผมเข้าไปทักทาย คุณลุงไม่พูดพร่ำทำเพลงใดๆ นำผมมายังโต๊ะชงชาอีกฟากหนึ่งของร้าน แล้วเริ่มสาธิตการชงชาด้วยความชำนาญ ก่อนจะรินชาอูหลงร้อนๆให้ได้ลองลิ้มชิมรส 1 จอก เสิร์ฟพร้อมกับอีก 1 เหยือกขนาดย่อม


จากนั้น ชายชราดอยวาวี ผู้มากด้วยประสบการณ์แห่งชา กับ เจ้าหนุ่มต่างถิ่น ผู้ไม่ประสีประสาเรื่องชาแม้แต่น้อย จึงได้เริ่มต้นการสนทนา


คุณลุงพังโก เล่าเรื่องราวต่างๆด้วยภาษาไทยปนสำเนียงจีนแบบคนรุ่นก่อน นำผมย้อนกลับไปในอดีตครั้งเมื่อบรรพบุรุษเพิ่งเดินทางมาเมืองไทย

“เตี่ยของผมเป็นคนจีน ท่านอพยพจากแผ่นดินใหญ่มาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และพบกับคุณแม่ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาที่ดอยวาวีนี่แหละครับ”

.

สำหรับจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้กำเนิดชาเลิศรสบนผืนแผ่นดินไทยนั้น คุณลุงพังโก ยอมรับว่า เกิดจากการเป็น “หัวขโมย”


ด้วยความที่สนใจเรื่องชามาโดยตลอด คุณลุงพังโกเพียรพยายามเสาะหาพันธุ์ชาต่างๆที่มีมากกว่า 12 สายพันธุ์ จนกระทั่งพบว่า สุดยอดแห่งชา คือ “ชาอูหลงก้านอ่อน” สายพันธุ์ชาแห่งไต้หวัน


แม้คุณลุงพังโก จะนำชาจากไต้หวันมาปลูกในประเทศไทยได้ แต่สุดท้ายเมื่อกาลเวลาผ่านไป เขาค้นพบว่า ต้นชาที่นำมาปลูก เกิดการกลายพันธุ์ และมันยังไม่ใช่สุดยอดสายพันธุ์ที่ต้องการ


คุณลุงพังโก ยกจอกน้ำชาขึ้นมาจิบครู่หนึ่ง ใบหน้าเปื้อนยิ้มของคุณลุง บ่งบอกว่า ไม่เคยเบื่อที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตแก่ผู้อื่น

“ผมกู้เงินจาก ธกส. เป็นค่าเครื่องบิน บินไปๆมาๆไต้หวันอยู่ 8 ปี เพื่อตีสนิทกับเพื่อนเจ้าของไร่ชา ชาวไต้หวัน ไปนั่งคุย ไปดื่มเหล้ากับเค้า จนครั้งสุดท้าย ผมแอบขโมยเอากิ่งชาอูหลงพันธุ์ที่ต้องการมาได้ โดยซ่อนเอาไว้ในเสื้อสูท”

.
.

จากวันนั้น ชาอูหลงในเสื้อสูทไม่กี่กิ่งก้าน ได้ปลูกลงบนผืนดอยวาวี ... จนกระทั่งถึงวันนี้ พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เต็มไปด้วยคลื่นสีเขียวของชาอูหลงนับพันไร่ และกลายเป็นแหล่งผลิตชาชั้นดีระดับโลก

..



..

หากย้อนอดีตมากไปกว่านั้น การค้นพบชาอูหลง ก็มีสีสันไม่แพ้กัน

คุณลุงพังโก เล่าถึงตำนานนี้ว่า ในอดีตหลายพันปีก่อน ฮ่องเต้องค์หนึ่งชื่อเฉิ่งโนว เป็นนักเดินทางเสาะแสวงหาพืชสมุนไพรต่างๆ เพื่อมาทำเป็นยารักษาโรค ปรากฏว่าไปกินพืชที่มีพิษเข้า จึงสลบหมดสติไป 1 คืน

ฮ่องเต้องค์นั้น นอนสลบอยู่ใต้ต้นชา เมื่อน้ำค้างจากใบชา หยดลงไปสู่ปาก พระองค์จึงฟื้นคืนสติ และคิดว่า ใบชาน่าจะมีคุณสมบัติในการล้างพิษ

แต่ปรากฏว่า ชาต้นนั้น มีงูดำอาศัยอยู่ เมื่อได้ใบชามาแล้ว เบื้องต้นจึงตั้งชื่อว่า “ชางูดำ” แต่ธรรมเนียมชาวจีน ไม่พิสมัยกับงูนัก ซ้ำยังเป็นชื่อที่ไม่ไพเราะ จึงเปลี่ยนให้เข้ากับความเชื่อ ให้เป็น “ชามังกรดำ” หรือ “อูหลง”

.

ในยุคนั้น คนที่จะดื่มชาได้ ต้องเป็นฮ่องเต้ หรือคนในราชสำนักเท่านั้น จนกระทั่งในช่วงปลายราชวงศ์ คนทั่วไปจึงมีโอกาสได้ลิ้มลองชารสดีนี้บ้าง

ผมฟังตำนานเรื่องเล่าแห่งชาอูหลงพร้อมจิบชาร้อนๆไปด้วย รสชาติหอม กลมกล่อม ชุ่มคอและปลายลิ้น นี่เอง ที่ทำให้อูหลงก้านอ่อน กลายเป็นยอดแห่งชา

.
.

ในปี 2538 ชาอูหลงของคุณลุงพังโก เป็นเครื่องเสวยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระองค์ทรงโปรดในรสชา และตรัสชมกับคุณลุงพังโกว่า ชาอูหลงมีรสชาติดีสม่ำเสมอ


รูปประกอบ – ต้นชาพันธุ์อูหลงขนาดใหญ่สูงกว่า 2 เมตร ต้นนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้หลังบ้านของคุณลุงพังโก เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อครอบครัว พิทักษ์วาวี

..



..

คุณลุงพังโก นำผมเข้าไปชมโรงงานใบชาศิริพรรณ ซึ่งเป็นโรงงานขนาดย่อมหลังบ้าน


ผมชมโรงงานผลิตชาไปพลาง ฟังคุณลุงพังโก เล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชาไปเรื่อยไม่รู้สึกเบื่อ ยิ่งฟังยิ่งได้รู้ว่า ชายชราผู้นี้ เป็นพหูสูตแห่งชาอย่างแท้จริง

“ราว 6 ปีก่อน ผมไปฝูเจี้ยน ไปคุนหมิง สิบสองปันนา เพราะไปศึกษาเรื่องชา ไปดูความแตกต่างของชาพันธุ์ต่างๆ แล้วก็ไปดูการวิจัยชาเพิ่มเติม”


รูปประกอบ- เครื่องบดใบชาแบบโบราณทำจากไม้ วิธีใช้ คือ ใส่ใบชาลงไปตรงกลาง แล้วปิดฝา ก่อนจะต้องอาศัยแรงคนในการโยกเครื่องบด

ปัจจุบันเครื่องบดใบชาชนิดนี้เลิกใช้ไปแล้ว กลายเป็นของโบราณหายาก คุณลุงพังโก ยังคงเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ไม่คิดจะขายให้ใคร

..



..

ผมถามคุณลุงพังโกว่า “เพื่อนของคุณลุงที่ไต้หวัน เคยมาเที่ยวที่นี่ไหมครับ”

คุณลุงพังโกยิ้ม พลางตอบว่า “เคยมาครับ เค้าก็ไม่ได้โกรธอะไร นอกจากนี้ยังเคยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา มาชมไร่ชาที่นี่ แล้วบอกว่า คุณได้คัมภีร์จากเมืองไต้หวันมาแล้ว”

.

นอกจากได้คัมภีร์มาแล้ว ชาอูหลงที่เมืองไทย ยังได้เปรียบเรื่องสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศอีกด้วย เพราะพื้นที่ทางภาคเหนือไม่ติดกับทะเล และไม่มีมรสุม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากชาอูหลงของไทย จะไปตีตลาดเจ้าถิ่นได้ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ หรือไต้หวัน


รูปประกอบ – เครื่องบดชาสมัยใหม่ ที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นสมัยก่อน อุปกรณ์ขนาดใหญ่ทั้งหลายนั้น ต้องใช้ช้างลากขึ้นมา เพราะถนนหนทางยังไม่มีเหมือนทุกวันนี้ แต่สำหรับเครื่องบดชาในรูป เป็นเครื่องรุ่นใหม่ๆที่ขนส่งด้วยรถบรรทุก

..



..

ผมกล่าวคำอำลาคุณลุงพังโก และบอกว่าในวันรุ่งขึ้น จะแวะมาซื้อชาก่อนเดินทางกลับ

.

จากนั้นผมโทรศัพท์ไปหามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตามหมายเลขที่จดไว้จากศาลาตรงข้ามตลาด ยืนรออยู่ราว 10 นาที คนขับมอเตอร์ไซค์ก็มารับผมขึ้นไปยังเลาลี รีสอร์ท ท่ามกลางอากาศที่เริ่มเย็นลงอีกครั้งยามค่ำคืน


รูปประกอบ - ระหว่างรอรถมอเตอร์ไซค์อยู่บนเนินทางขึ้นไปยังรีสอร์ท ผมมองกลับไปยังหมู่บ้าน มองเห็นหอประชุมโรงเรียนกวงฟูวิทยาคมตั้งตระหง่านดูโดดเด่น

พระอาทิตย์ในวันวาเลนไทน์ลับขอบฟ้าไปแล้ว เหลือเพียงแสงสุดท้ายที่กระทบท้องฟ้ากลายเป็นสีม่วงอมชมพู



..

“เลาลี รีสอร์ท ในคืนวาเลนไทน์”


โดยปกติแล้ว ผมเป็นคนไม่ค่อยทานอะไรหนักๆในมื้อค่ำ แต่อ่านเรื่องเล่าของใครต่อใครที่มาเยือนเลาลี รีสอร์ท มักไม่พลาดเมนูยำปลากระป๋องยอดอ่อนใบชา จึงขอตามกระแสกับเขาบ้าง ไม่ให้เชย (อ้างไปงั้น ใจจริง ก็หิวนั่นแหละ)


นอกจากยำปลากระป๋องที่ว่าแล้ว ผมสั่งเมนูง่ายๆ คือ ข้าวผัดธรรมดาๆ (ไม่มีโอเลี้ยง) นั่งทานหนาวๆอยู่คนเดียว อิ่มคนเดียว อร่อยคนเดียว สบายท้อง

..

..

เพื่อรูปร่างที่ดี หลังรับประทานอาหาร ผมจึงเดินย่อยเดินการถ่ายภาพรอบๆรีสอร์ท

ถัดจากเคาท์เตอร์ไปไม่กี่เมตร มีจุดขายผลิตภัณฑ์ชาประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นโต๊ะสาธิตการชงชาแบบเดียวกันกับร้านของคุณลุงพังโก

แต่หากทราบข้อมูลมาไม่ผิด การสาธิตชงชา หรือชิมชา บนรีสอร์ท น่าจะมีราคาค่างวดอยู่บ้าง

..

..

เดินไปเดินมา อากาศเริ่มเย็นลง ผมจึงวกกลับมาบริเวณหน้าเคาท์เตอร์ เด็กๆและคนงานในรีสอร์ทกำลังชมละครหลังข่าว (เหมือนอย่างที่เป้าเคยบอกไว้จริงๆ)

ผมนั่งดูละครอยู่กับเด็กๆประมาณตอนสองตอน ก็ขอตัวกลับห้องพักไปอาบน้ำเย็นๆจากเครื่องทำน้ำอุ่นที่ใช้การไม่ได้ (ผมบอกผ่านตาหวานไปแล้วว่า ไม่ต้องเปลี่ยนห้อง เพราะขี้เกียจวุ่นวาย ขออาบน้ำทั้งเย็นๆแบบนั้นแหละ ... ดูแมนๆดี ..ฮา)

.

เมื่ออาบน้ำอาบท่าเสร็จเรียบร้อย ผมควรจะได้หลับสบาย ซุกตัวอยู่ภายใต้ผ้าห่มอันแสนอบอุ่นในคืนวาเลนไทน์


แต่...


ประมาณเกือบ 4 ทุ่ม มีเสียงร้องเพลงแว่วมาจากบรรดาพนักงานทั้งหลาย ซึ่งคงฉลองวาเลนไทน์ด้วยการเปิดห้องคาราโอเกะ และด้วยความที่ห้องพักของผม คือ ห้องแรก ใกล้ที่สุด จึงได้ยินเสียงร้องเพลงเพี้ยนๆนั้นได้อย่างชัดเจน


เพลงที่พวกเขาร้องนั้น หาใช่เพลงชาวเขา หรือเพลงจีนไม่ หากแต่เป็นเพลงของ “บ่าววี”

“ดอยวาวี” กับ “บ่าววี” อืม.... มีความเกี่ยวข้องกันอยู่นะ

.

ประมาณ 5 นาทีแรก ผมยอมรับว่าอารมณ์เสียทีเดียว และคิดว่าตัวเองย่อมมีสิทธิ์อย่างเต็มที่แน่นอน หากจะเดินออกไปบอกว่า

“เงียบๆหน่อยครับ ลูกค้าจะหลับจะนอน!”


แต่แล้ว มีชุดความคิดบางอย่างแล่นเข้ามาในสมอง ข้อแรก ขณะนั้นเป็นเวลายังไม่ถึง 4 ทุ่มด้วยซ้ำ ข้อสอง พนักงานหลายคน อาจเป็นคนที่เราเคยยิ้มทักทาย พูดคุยกันอย่างเป็นมิตร และข้อสาม คือ วันนั้นยังเป็นวันวาเลนไทน์ - วันแห่งความรัก

.

เมื่อตรองดูแล้ว ผมจึงเริ่มทำใจปล่อยวาง ค่อยๆปรับโสตประสาทของตัวเอง เพื่อค้นหาความไพเราะของบทเพลงสำเนียงแปร่งๆนั้น พยายามคิดขำๆว่า ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ถือซะว่า ในคืนแห่งความรักคืนนี้ พนักงานเลาลี รีสอร์ท มีบริการพิเศษขับกล่อมบทเพลงให้ลูกค้าฟังก่อนนอนแล้วกัน


“เอ้า!!.... เปรียบ กั๊บ ผี๋ เปน แค่ ขอนม้ายย ต่อ ให้ ร๊าก เจ่า มาก เพียง ไหน๊ ........”


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เมื่อทำใจปล่อยวางแบบนั้นแล้ว ผมใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็หลับสนิทไปพร้อมกับบทเพลงของ “เลาลี รีสอร์ท แบนด์”

..

..

“ยามเช้า ในเลาลี”


คืนที่ผ่านมา อากาศไม่หนาวมากนัก ผมจึงหลับได้เต็มอิ่ม (หรือจะเป็นเพราะมนต์เพลงคาราโอเกะของเลาลี รสอร์ท แบนด์ ก็ไม่รู้)


ราว 6 โมงเศษ ผมออกมาริมระเบียงห้องพัก สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเต็มปอด ทอดสายตามองออกไปไกลๆ ปล่อยจิตใจให้ว่างเปล่า แม้ทะเลหมอกที่คาดหวังไว้ ไม่ได้มีมากมาย และค่อนข้างกระจัดกระจายไปสักหน่อย แต่ก็ได้ภาพแสงแดดอ่อนๆยามเช้า สาดทอคลอเคล้ากับทิวเขา และไร่ชามาทดแทน


..

..

อุณหภูมิเช้านั้น ราว 12 องศา ผมตัดสินใจได้เลยว่า ประหยัดน้ำช่วยชาติดีกว่า แค่แปรงฟัน ล้างหน้า ก็พอแล้ว

.


เมื่อเสร็จภารกิจ ผมออกมาที่เคาท์เตอร์เป็นคนแรก เพื่อทานอาหารเช้า ซึ่งเป็นข้าวต้มง่ายๆ เสิร์ฟพร้อมกาแฟ

ข้าวต้มร้อนๆ กับอากาศหนาวๆ ช่างเป็นความเข้ากันอย่างลงตัว


.

ในวันสุดท้ายที่เลาลี รีสอร์ท ผมได้เจอกับพนักงานหน้าใหม่หน้าตาน่ารัก


แม้เราไม่ได้พูดคุยกัน แต่ผมพยายามสบตาไปหลายครั้ง จนพอจะรู้ว่าเธอขี้อ้อน ขี้อาย ขี้ระแวง


เมื่อขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เธอกลับไม่ยอมอยู่นิ่งๆให้ถ่ายได้ง่ายๆ


.
.


แต่สุดท้าย ก็แอบถ่ายมาได้ 1 รูป

..

..

“แวะชมโรงเรียนจีน”


เมื่อได้เวลาเช็คเอาท์ออกจากที่พัก “เฉ่าเจง” ชวนไปชมโรงเรียนที่เขาสอน ผมตอบรับในคำเชิญทันทีเพราะยังมีเวลาอีกเหลือเฟือสำหรับเช้าวันนี้

แต่น่าเสียดายไปนิด เพราะในวันอาทิตย์นั้น ไม่มีการเรียนการสอน โรงเรียนประถมเล็กๆจึงเงียบสงบ ร้างผู้คน


โรงเรียนของคุณครูเฉ่าเจง มีชื่อเป็นทางการว่า “ศูนย์การศึกษาหัวเซี่ย” โดยเป็นโรงเรียนในระดับประถมศึกษา ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาแห่งไร่ชาในหมู่บ้านเลาลี มีการเรียนการสอนเป็นภาษาจีนทั้งหมด

ผมเดินเข้าชมอาคารสถานรอบๆ พบว่าศูนย์การศึกษาหัวเซี่ย คล้ายกับโรงเรียนตามชนบททั่วไป ทว่าเต็มไปด้วยบรรยากาศแบบเมืองจีน

..

..

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆเลย เพราะความจริงแล้ว ในเช้าวันอาทิตย์นี้ เฉ่าเจง เกณฑ์เด็กๆกลุ่มหนึ่งมาถางหญ้า พรวนดิน รดน้ำต้นไม้


ผมได้คุยกับเด็กๆ ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ช่วงฤดูหนาว ถือเป็นช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งไม่มีการเรียนการสอนในช่วงเช้า เพราะอากาศหนาวเกินไป แต่จะมีสอนพิเศษในช่วงเย็นแทน


ผมเองพอจะจินตนาการออกว่า เหตุใดเด็กๆจึงไม่สามารถมาเรียนในเวลาเช้าของฤดูหนาวได้ เพราะขนาดวันนั้น เป็นช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 8 โมงเช้า แต่ลมหายใจยังมีควันออกมา


โดยสาเหตุที่มีอากาศหนาวจัดมากกว่าในหมู่บ้านวาวี ส่วนหนึ่งคงเพราะโรงเรียนแห่งนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา และยังมีพื้นที่ป่ารายล้อม

..

..

“อิ่มอุ่นในรสชา (อีกครั้ง)”


หลังจากเดินชมศูนย์การศึกษาหัวเซี่ยได้ครู่ใหญ่ เฉ่าเจง สั่งให้เด็กคนหนึ่งขับมอเตอร์ไซค์มาส่งผมยังหมู่บ้านวาวี โดยจุดหมาย คือ ร้านค้าชาวาวี ของคุณลุงพังโก นั่นเอง

.

คุณลุงพังโก ซึ่งยังอยู่ในเสื้อยืดสีขาวตัวเดิม (ผมได้แนวร่วมประหยัดน้ำเพื่อชาติอีกคนแล้ว)

ความตั้งใจของผมในเช้าวันนั้น คือ แค่แวะมาซื้อชาอูหลง แต่แล้วเหตุการณ์รูปแบบเดิมเหมือนเย็นวาน ย้อนกลับมาอีกครั้ง

.

คุณลุงพังโก ไม่สนใจเรื่องขายของ แต่กลับเชิญไปนั่งคุยที่โต๊ะชงชา แล้วเริ่มต้นชงชาอูหลงร้อนๆให้ผม

“ไม่เป็นไรๆ มานั่งจิบชากันก่อน” คุณลุงพูดพลาง ชงชาไปพลาง


หากวัดปริมาณน้ำใจของคุณลุงพังโกได้ ผมคิดว่าคงมีมากพอๆกับไร่ชาบนดอยวาวี เพราะหลังจากนั่งคุย นั่งจิบชากันไปครู่หนึ่ง ผมเอ่ยถามด้วยความสงสัยขึ้นมาว่า

“ลุงบอกว่าชาอูหลงก้านอ่อนมีรสชาติดีที่สุด แล้วชาชนิดอื่นที่ลุงขาย มีรสชาติแตกต่างกันยังไงบ้างครับ”


หลังคำถามนั้น คุณลุงพังโก ไขข้อสงสัยอย่างละเอียด ด้วยการชงชาทุกชนิดที่มีอยู่ในร้าน มาวางให้ผมได้ชิม และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง


..

..

เรื่องเล่าเกี่ยวกับชาของคุณลุงพังโก ยังคงฟังได้ไม่เบื่อ

ผมนั่งคุยอยู่อีกครู่ใหญ่ จึงขอตัวไปเก็บตกบรรยากาศในหมู่บ้านวาวี


คุณลุงพังโก แนะนำว่า ก่อนเดินทางกลับ ให้ลองเดินขึ้นไปดูไร่ชาวาวีของคุณลุง ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของหมู่บ้าน

.

..

“ซาลาเปาไส้หวานของพี่ดารินทร์”


แม้ผมยังไม่หิว แต่ด้วยคำสัญญาที่รับปากพี่ดารินทร์เอาไว้แล้วว่า จะมาทานซาลาเปาอีกครั้งให้ครบทุกไส้

วันแรกไส้มะพร้าว วันที่สองไส้เค็ม วันนี้ผมจึงต้องลองไส้หวาน หรือไส้ถั่วดำ


.


เมื่อไปถึงร้านข้าวซอย พี่ดารินทร์จัดซาลาเปาไส้หวานให้ 3 ลูก พร้อมน้ำชา โดยบอกว่า
“ทานไม่หมดก็ไม่เป็นไร ลองชิมดู ไส้นี้ขายดีที่สุดนะ”


ซาลาเปาไส้หวาน หรือไส้ถั่วดำของพี่ดารินทร์นั้น รสชาติอร่อยสมกับที่ขายดีที่สุด แม้จะไม่หิวนัก แต่ด้วยความเกรงใจ ผมจึงทานหมดทั้ง 3 ลูก

เมื่อเดินไปจ่ายเงิน พี่ดารินทร์พูดว่า “ไม่เป็นไรๆ ไม่ต้องจ่ายจ้ะ มื้อนี้พี่ไม่คิดเงิน พี่เตรียมไว้ให้น้องทานฟรีๆอยู่แล้ว”

.

ผมไม่มีสิ่งใดมอบให้พี่ดารินทร์นอกจากคำขอบคุณจากใจ ซึ่งไม่ได้มีเหตุผลมาจากการทานฟรี แต่คำขอบคุณนั้น มาจากความซาบซึ้ง ที่ได้เรียนรู้ และค้นพบความหมายในบางสิ่งบางอย่างที่มีค่ามากเกินกว่าจะซื้อหาได้ด้วยเงินตรา

..

..

“ระหว่างทางไปไร่ชา”


เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมมุ่งหน้าสู่ไร่ชาวาวี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวหมู่บ้านออกไปอีกฟากฝั่ง

ถนนสายเล็กๆ มีผู้คนมากมายให้ได้ทักทาย และพบปะระหว่างทาง


.


ที่ร้านขายอาหารร้านหนึ่ง พี่เจ้าของร้านเพิ่งกลับมาเปิดร้านในหมู่บ้านได้ไม่นาน หลังจากออกไปทำงานในเมืองมาหลายปี เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คงเพราะมีสาวน้อยตัวเล็ก สมาชิกใหม่ที่ต้องเลี้ยงดู


สาวน้อยคนนี้ ชื่อ “น้องแก้ม”


ด้วยความที่ไม่บ่อยนัก ที่จะมีคนแปลกหน้าแวะมาทักทายพูดคุย น้องแก้ม จึงยังดูหวาดๆ ระคนสงสัยว่า “เจ้าหนุ่มผมยาวคนนี้ มายุ่งอะไรกับชั้นนักหนานะ”

..

..

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ดอกสุพรรณิการ์ บานสะพรั่งเหลืองอร่ามไปทั้งต้น

แต่สำหรับชาวบ้านที่วาวี คงไม่เรียกชื่ออย่างเป็นทางการ เต็มยศขนาดนั้น

ชาวดอยเรียกดอกไม้เหลืองสดใส ต้นนี้ว่า ดอกฝ้ายคำ

..

..

ในหมู่บ้านวาวี มีร้านขายของชำสะดวกซื้อตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วไป

ตรงหน้าร้านหนึ่ง ผมพบกับคุณยาย และคุณป้า กำลังนั่งคุยกันอย่างออกรส
ผมทักทายพลางขออนุญาตถ่ายภาพ จังหวะนั้นคุณยายรีบโบกไม้โบกมือ

ผมคิดในใจว่า คุณย่าคุณยายบางคน อาจไม่คุ้น และไม่ชอบให้ใครมาถ่ายภาพนัก


แต่เปล่าเลย...


คุณยายโบกมือเพื่อเป็นสัญญาณว่า อย่าเพิ่งถ่ายนะ ขอยายถอดแว่นตาออกก่อน เดี๋ยวจะดูไม่สวย

..

..

ผมเดินทะลุหมู่บ้านออกมาสู่ถนนใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางมุ่งสู่ไร่ชาวาวี

.

เมื่อเดินออกมา ก็เจอกับม้าตัวหนึ่งกำลังทำอะไรสักอย่าง

สังเกตดูอยู่ครู่เดียวจึงรู้ว่า เวลาม้าคันคางมันช่างลำบากเหลือเกิน

เพราะจะให้เจ้านายช่วยเกาคาง เหมือนหมา เหมือนแมว คงไม่สะใจ ไม่หายคัน


สุดท้ายจึงต้องหาอุปกรณ์เสริมในการเกาด้วยตัวเอง

..

..

เมื่อข้ามฟากถนนจากหมู่บ้านมาแล้ว มีสะพานข้ามธารน้ำเล็กๆ ก่อนจะขึ้นเนินไปยังไร่ชาวาวี

ผมเจอเด็ก 2 คน กำลังนั่งเกาะราวสะพานรอพ่อมารับ


รอยยิ้มทักทายระหว่างทาง หาได้ง่ายยิ่งนักในหมู่บ้านแห่งนี้

..

..

“ไร่ชาวาวี”


จากสะพาน เดินขึ้นถนนสูงชันไปอีกประมาณ 50 เมตร พอเหงื่อซึม เป็นทางเข้าไร่ชาวาวี ซึ่งเป็นไร่ชาของคุณลุงพังโก


.


ปัจจุบันชาอูหลงกลายเป็นสินค้าเกษตรกรรมสร้างรายได้มหาศาล ส่งขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และสามารถปลูกได้อย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคเหนือ


แต่สำหรับผืนไร่ชาขั้นบันไดที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้า นี่คือ จุดเริ่มต้น

..

..

ไร่ชาวาวียามเที่ยงวันเงียบสงบ แทบไร้ความเคลื่อนไหว


ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ยังถือเป็นระยะเวลาพักฟื้นคืนกำลังของต้นชา โดยกว่าที่ชาวไร่จะได้เก็บเกี่ยวกันอีกครั้ง เริ่มต้นประมาณปลายเมษายน ลากยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม

..

..

ผมลัดเลาะไปตามแนวต้นชา เก็บภาพบรรยากาศในมุมต่างๆ

เดินไปเดินมาจนพบกับ รปภ.ประจำไร่ ซึ่งกำลังนอนหลบร้อนในช่วงพักเที่ยง


รปภ. ประจำไร่ มีหน้าที่ง่ายๆ คือ ช่วยกินหนอน หรือแมลงที่มารบกวนการเจริญเติบโตของต้นชา

..

..

ผมเดินอ้อมไร่ชาจากประตูทางเข้า ไปจนถึงเนินเขาอีกฝั่ง มองเห็นบรรยากาศของหมู่บ้านจากมุมกว้าง


ไร่ชาขนาดใหญ่เป็นคลื่นสีเขียวทอดยาวอยู่เบื้องหน้า โดยมีหมู่บ้านวาวีอยู่เบื้องหลังไกลลิบ


เป็นมุมที่บ่งบอกความสำคัญได้ดีว่า ชุมชนวาวี ดำรงอยู่ได้ด้วยวิถีแห่งชา

..

..


“วัดจีน”



หากมองจากหมู่บ้าน ถัดขึ้นไปจากไร่ชาวาวี ไม่ไกลนัก มีวัดจีนเล็กๆตั้งอยู่ ผมจึงลองเดินขึ้นไปชม

เมื่อเข้าไปแล้วพบว่า เป็นวัดขนาดเล็ก จนคล้ายกับเป็นศาลเจ้า ที่มีบรรยากาศราวกับอยู่ในเมืองจีน

ในวันนั้น ทั้งวัดมีนักบวชหญิง 1 รูป และ เณรอีก 1 รูป ซึ่งการแต่งกายเหมือนกับที่เราเห็นได้จากภาพยนตร์จีนกำลังภายในทั่วไป

..

..

เมื่อเข้าไปด้านใน มีพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ตามความเชื่อของชาวจีน ให้สักการะ

ทั้งหมดดูเรียบง่าย ไม่หรูหรา ไม่ตื่นตาตื่นใจ


แต่อย่างไรก็ตาม วัดแห่งนี้เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่ดำรงไว้ในความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมแห่งชุมชนชาวดอย

..

..

สถาปัตยกรรมตามรูปแบบชาวจีน ที่เต็มไปด้วยมังกร


ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปในคำบอกเล่าของคุณลุงพังโกเรื่องที่มาของชื่อ ชาอูหลง

..

..

แม้การเดินขึ้นมายังวัดจีนเล็กๆแห่งนี้ ไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจนัก นอกจากถือซะว่า ได้ขึ้นมาสักการะพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล


แต่หากเดินมาด้านหน้าวัด ก็พอจะมีมุมสวยๆให้ผมได้เห็นถนนหนทางเส้นหลักของหมู่บ้านวาวี ซึ่งทอดยาวลงมาจากหมู่บ้านเลาลี โดยมีหุบเขาเขียวครึ้มโอบล้อมอยู่เบื้องหลัง

..

..

“ไร่ชามีชีวิต”


เมื่อลงมาจากวัด ผ่านไร่ชาวาวีของคุณลุงพังโกอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มีแค่ไร่ชาเงียบสงบ

แม้ไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว แต่ไร่ชายังต้องได้รับการดูแลเสมอ


.


ความเคลื่อนไหวของไร่ชา จึงเกิดขึ้นจากคนงานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการถางวัชพืช


แนวทางเดินของไร่ชา ที่ได้รับการแผ้วถางวัชพืชแล้ว เห็นเป็นแนวดินสีน้ำตาลแดงตัดกับสีเขียวเข้มของใบชา

..

..

ขณะกำลังถ่ายภาพ บรรดาคนงานหันมาให้ความสนใจเป็นระยะๆ


น้าๆป้าๆ ถามว่า “ถ่ายรูปไปทำอะไรเหรอ”

ผมอธิบายไปว่า “ถ่ายเก็บเอาไว้ เผื่อสักวันเรื่องราวของทุกคนจะได้ลงหนังสือ แล้วจะได้มีคนแวะมาเที่ยวดอยวาวีเยอะๆไงครับ แต่ที่แน่ๆผมจะเอารูปพวกนี้ไปอวดให้เพื่อนๆดูในอินเตอร์เน็ตก่อน”

.

กลุ่มคนงานยิ้มตอบ ก่อนจะเริ่มแซวกันเอง

“ถ้าอยากได้นางแบบลงหน้าปก ก็ถ่ายป้าคนนั้นเลยนะ”

“ปกหนังสืออะไร หนังสือดาราหรือเปล่า”

“ถ่ายเยอะจัง สงสัยนางแบบจะไม่สวย”


.
.

บ่ายนั้น ไร่ชาวาวีเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

..

..

ช่วงเดือนพฤศจิกายน จนถึงมีนาคม เป็นเวลาแห่งการบำรุงฟูมฟัก เพื่อให้ต้นชาอูหลง พร้อมจะออกยอดอ่อนๆเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว


การถางหญ้าในไร่ชา ดูแลรดน้ำ ขจัดศัตรูพืช ไม่เพียงเฉพาะในไร่ชาวาวีเท่านั้น


แต่หมายถึง ไร่ชากว้างไกลทั่วทั้งดอยวาวี นับเป็นงานปิดทองหลังพระที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานอื่น

..

..

ผมตั้งใจไว้ว่า วันสุดท้ายจะถ่ายรูปในหมู่บ้านวาวีให้เสร็จสรรพ อย่าให้เกินเที่ยง เผื่อจะได้มีเวลาเหลือสำหรับไปตะลอนๆในตัวเมืองเชียงรายบ้าง

.


แต่ด้วยความน่าสนใจในชีวิตของไร่ชา จึงถ่ายรูปไปเรื่อยๆจนถึงบ่ายโมงครึ่ง
เมื่อเห็นว่าเกินเวลาที่ตั้งใจไว้มาพอสมควร จึงกล่าวคำอำลากับกลุ่มคนงานในไร่ชา ซี่งแต่ละคนโบกไม้โบกมือลาพร้อมคำอวยพรขอให้โชคดี

.

ช่างเป็นนาทีที่มีแต่มิตรภาพและรอยยิ้ม ท่ามกลางคลื่นสีเขียวของไร่ชาอูหลง

..

..

“ความบันเทิงของเด็กวัยรุ่น”


หมู่บ้านวาวี ไม่มีร้านเกมส์ออนไลน์ ไม่มีห้างดัง ไม่มีโรงหนัง ไม่มีแหล่งเที่ยวกลางคืน


แต่กลุ่มเด็กวัยรุ่น ยังพอมีความบันเทิงเล็กๆให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ

.

ผมเดินกลับจากไร่ชาวาวี เข้ามาที่หมู่บ้าน บริเวณปั๊มน้ำมันเล็กๆ ติดถนนใหญ่ เป็นเหมือนแหล่งบันเทิงขนาดย่อมประจำชุมชน

ข้างปั๊มน้ำมัน มีร้านเช่าหนัง ไม่ต่างจากในเมือง และพื้นที่ติดๆกัน เป็นโต๊ะพูล ที่มีกลุ่มเด็กๆกำลังเพลิดเพลินไปกับเกมการแข่งขัน


ผมแวะเข้าร่วมชมการแข่งขันครู่หนึ่ง โดยส่งสัญญาณว่าจะขอถ่ายภาพเอาไว้ด้วย


เด็กๆยิ้มตอบรับ แต่เราไม่ได้คุยอะไรอีก เพราะแต่ละคนมุ่งมั่น ทำสมาธิอยู่ในเกมกันเหลือเกิน

..

..

“การเดินทางที่ลืมไม่ลง”


หลังจากเพลินไปกับการถ่ายรูปชีวิตในไร่ชา และแหล่งบันเทิงวัยรุ่นจนเกินเวลาที่วางไว้มาพอสมควร ผมเดินกลับมาที่ตลาดวาวี และแวะเข้าไปหาคุณลุงพังโกอีกครั้ง

ตั้งใจเอาไว้ว่าจะไปบอกคุณลุงว่าไปดูไร่ชาวาวีมาแล้ว พร้อมทั้งกล่าวคำอำลาก่อนเดินทางกลับ

.

แต่เหตุการณ์เดิมๆที่ร้านค้าชาวาวี ก็วนกลับมาซ้ำเป็นครั้งที่ 3 คุณลุงพังโก เชิญผมไปที่โต๊ะชงชาอีกครั้ง พร้อมจัดแจงต้มชาอูหลงร้อนๆให้

“ดื่มชาก่อนกลับสักหน่อยนะครับ”


แววตาของคุณลุงพังโก ซึ่งแสดงถึงความยินดี ที่ได้ต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือน ทำให้ยากเกินกว่าจะปฏิเสธน้ำใจได้ลง


เราจึงนั่งจิบชา คุยกันเรื่องไร่ชาวาวี อีกครู่ใหญ่ จนกระทั่งผมเห็นรถสองแถวสีเหลืองวิ่งผ่านไปคันหนึ่ง จึงต้องขอตัวเดินทางกลับ ด้วยเกรงว่า หากช้าไปกว่านี้ อาจต้องรอรถสองแถวคันต่อไปอีกนาน


หลังจากกล่าวคำอำลาคุณลุงพังโกแล้ว ผมเดินมานั่งรอในศาลาหน้าตลาดวาวี บรรยากาศยามบ่ายวันอาทิตย์ช่างดูเงียบสงบ


.
.


หลังนั่งรออยู่ราวครึ่งชั่วโมง ยังไม่มีทีท่าว่ารถสองแถวสีเหลืองถัดไปจะมาถึง ทั้งที่เวลาในขณะนั้นใกล้บ่าย 3 โมงเต็มที จากที่นั่งเล่นปล่อยใจสบายอารมณ์ ผมเริ่มเปลี่ยนเป็นความกระวนกระวายใจเล็กน้อย


สุดท้ายผมจึงเดินไปถามเด็กสาววัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนั่งจับกลุ่มคุยกันละแวกนั้น ว่ารถสองแถวคันถัดไปจะมากี่โมง


“รถสองแถวลงจากดอยคันสุดท้าย บ่าย 2 โมงนะคะพี่”


คำตอบนั้น ไม่ต้องมีคำอธิบายใดอีก


รถสองแถวสีเหลืองที่วิ่งผ่านหน้าร้านคุณลุงพังโกไป ขณะที่ผมกำลังนั่งคุยอยู่ในร้าน นั่นคือ รถลงจากดอยวาวีคันสุดท้ายของวันนี้

..

..

เมื่อรู้ว่าตกรถแน่นอนแล้ว ผมจึงทำใจยอมรับชะตากรรม ว่าต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายในการเหมารถ หรือจ้างมอเตอร์ไซค์ เพราะหากจะไปวัดดวงด้วยการโบกรถ ก็นับว่าเสี่ยงเกินไป

เนื่องจากเวลาประมาณบ่าย 3 โมงนั้น คงมีชาวบ้านน้อยราย ที่จะขับรถลงจากดอยวาวีไปจนถึง ที่ว่าการอำเภอแม่สรวย

.

ผมปรึกษาน้องๆกลุ่มนั้น ถึงอัตราค่าจ้างของรถประเภทต่างๆ ได้ความว่า หากเหมารถสองแถวสีเหลืองลงดอย ประมาณ 800 – 1,000 บาท หรือหากจ้างรถมอเตอร์ไซค์ ราคาประมาณ 600 – 800 บาท


แม้ราคาจะแพงจนเหงื่อตก แต่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีไปกว่านั้น ผมจึงขอให้น้องๆช่วยโทรศัพท์ตามหาคนที่คิดว่า น่าจะรับจ้างในการเดินทางลงจากดอยครั้งนี้

.

น้องๆช่วยกันโทรศัพท์ตามหาผู้กล้าในภารกิจ ส่งนักท่องเที่ยวลงดอย อยู่ครู่หนึ่ง

ผมสังเกตว่า กลุ่มสาวๆกำลังปรึกษาอะไรกันสักอย่าง จากนั้น หนึ่งในเด็กสาววัยรุ่น จึงเดินมาบอกกับผมว่า


“เดี๋ยวพวกหนูไปส่งพี่ก็ได้ค่ะ ไม่คิดตังค์หรอก”


.
.


“กิ้ว” “ชิง” และ “ฮวา” คือ 3 วีรสตรีผู้กล้าในภารกิจครั้งนี้

เด็กสาววัยรุ่นจากโรงเรียนกวงฟูวิทยาคมตัดสินใจร่วมกัน พร้อมกับขออนุญาตจากคุณพ่อคุณแม่เรียบร้อยว่า จะไปส่งผมยัง ที่ว่าการอำเภอแม่สรวย โดยไม่ยอมคิดค่าจ้างใดๆ

.

การเดินทางของคณะ 1 หนุ่ม 3 สาว มีมอเตอร์ไซค์ 2 คันเป็นพาหนะ ซึ่งแม้ว่าผมจะขับมอเตอร์ไซค์ได้ก็ตาม แต่ด้วยถนนหนทางที่คดเคี้ยว พร้อมทั้งสัมภาระพะรุงพะรัง จึงขอยอมเป็นคนนั่งซ้อนให้ “ชิง” เป็นคนขับ ส่วน “กิ้ว” กับ “ฮวา” ขับร่วมทางไปด้วยกันอีกคันหนึ่ง


ระหว่างทาง ผมได้คุยกับ ชิง และถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้
ชิง เล่าว่า เย็นวันนี้พี่สาวของ ฮวา เดินทางกลับมาจากเชียงใหม่พอดี จึงถือซะว่าขับรถลงไปรับเสียเลย แล้วก็เป็นโอกาสได้ขับรถเล่นไปในตัว

.
.

เส้นทางลงจากดอยวาวี กว่า 50 กิโลเมตร ผมชวน ชิง คุยไปสารพัดเรื่อง ตั้งแต่วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน วัฒนธรรมชาวจีน การเรียนที่โรงเรียนกวงฟู การศึกษาต่อ ชีวิตวัยรุ่นบนดอยวาวี การท่องเที่ยว ฯลฯ


เมื่อการเดินทางผ่านไปได้ประมาณค่อนทาง กิ้ว ขับมาเทียบข้างๆ แล้วตะโกนบอกว่า หากผมต้องการแวะถ่ายรูปตรงไหน ก็จอดได้เลย


รูปประกอบ – หลังขับรถผ่านมาจนเกือบถึงที่หมาย ผมบอกสาวๆจากดอยวาวีให้จอดรถถ่ายภาพบริเวณสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำแม่สรวยเพื่อเป็นที่ระลึก

..

..

ความจริงแล้วทิวทัศน์ระหว่างทางลงจากดอยวาวี มีความน่าตื่นตาตื่นใจไปตลอดเส้นทาง

แต่ผมเลือกจอดถ่ายภาพเพียง 2-3 จุด เพราะต้องคำนึงถึงการเดินทางกลับของน้องๆ ไม่ให้เป็นเวลาค่ำมืดเกินไป

.

จุดสุดท้ายของการแวะถ่ายภาพ คือ เนินเขาเหนืออ่างเก็บน้ำแม่สรวย


ภาพแสงอาทิตย์ตกกระทบกับผืนน้ำกว้างใหญ่ที่ไหลเอื่อยไปตามขุนเขาไกลสุดลูกหูลูกตา คือ ความงดงามแห่งเส้นทางสู่ดอยวาวี ซึ่งเป็นความงดงามที่ไม่แตกต่างจากรอยยิ้มและน้ำใจของเด็กสาว 3 คน ที่อยู่ตรงหน้า

..


..

วันวาเลนไทน์ คงเป็นวันที่ใครต่อใคร ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในช่วงเทศกาลแห่งความรัก

.

ผมกลับเลือกเดินทางไปไกลๆเพียงลำพังยังดอยวาวี

การเดินทางไปสถานที่ไกลแสนไกล ไม่เคยรู้จักใครมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าผมหลบหนีบรรยากาศแห่งความรัก


ตรงกันข้าม ผมกลับได้พิสูจน์ว่า


“ความรัก หมุนวน อยู่รอบตัวเรา”....เป็นเรื่องจริง



-จบบริบูรณ์-

..






Create Date : 27 มีนาคม 2552
Last Update : 27 มีนาคม 2552 18:20:33 น. 15 comments
Counter : 6778 Pageviews.  

 
ว๊าว อ่านแล้วเห็นภาพตามเลย

ชอบจังกับคำว่า “ความรัก หมุนวน อยู่รอบตัวเรา”....เป็นเรื่องจริง



โดย: OyK_MiXeR วันที่: 27 มีนาคม 2552 เวลา:17:09:04 น.  

 
แวะมาเยี่ยมบล็อคค่ะ
เป็นคนใต้จังหวัดไหนเอ่ย พ่อพี่เป็นคนคอน


โดย: พี่เด็กศิลป์ Artiste IP: 124.120.252.143 วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:13:52:45 น.  

 
สวัสดีคะ
ติดตามมาจากห้องBP
ถ่ายภาพสวยมาก
ชอบตัวอักษรที่บรรยายของคุณมากเลย

ดอยวาวี เริ่มเป็นหนึ่งในหลายที่ที่อยู่ในแพลนการเดินทางของเรา
นักเขียนที่เราชื่นชอบ(คุณโดม วุฒิชัย) เค้าไปซื้อที่ที่ดอยวาวี
ด้วย ภาพถ่าย ความน่ารักของผู้คนที่นั่น..ทำให้อยากไป

ยิ่งมาอ่านบล็อกของคุณแล้่ว กระตุ้นต่อมอยากเที่ยวคะ

ไว้จะเข้ามา...ตามไปเที่ยวบ่อยๆนะคะ





โดย: pangz วันที่: 15 เมษายน 2552 เวลา:19:44:01 น.  

 
สวัสดีค่ะ
ชอบมากๆทุกเรื่องที่เขียนนะคะ
เป็นคุณแม่ลูกสองแล้วหล่ะ
ตอนนี้เริ่มเทียวได้แล้ว เลยมาอ่านเจอของคุณที่รีวิวเกาะลันตาในพันทิพ
เคยไปมาตอนสาวๆ แต่กะจะไปอีกครั้งเลยยิ่งทำให้หวนคิดถึงความสงบของเกาะลันตา
ขอบคุณนะคะ สำหรับบทความดีดี...


โดย: นุชแม่พลอยเพลง IP: 124.120.197.108 วันที่: 18 เมษายน 2552 เวลา:6:25:31 น.  

 
วิเศษ


โดย: caiyu IP: 202.28.45.20 วันที่: 29 มิถุนายน 2552 เวลา:11:17:59 น.  

 
เคยไปแล้ววาวีชอบมากบรรยากาศดี คนก็น้ำใจงามเต๋าชอบ ช็อบ


โดย: เต๋า0801954438 IP: 114.128.114.211 วันที่: 6 ตุลาคม 2552 เวลา:17:56:37 น.  

 
เสียอย่างเดียวเดี๋ยวนี้คนวาวี(แม่โมงเย้า) ติดต่อยากมาก ๆ ๆ ๆ เจ้าไปอยู่ไสโทรหายามใดบ่เคยติด ตั้งแต่โรงงานปิดเจ้าก็หายเข้าสวนชา ปล่อยให้อ้ายรอฟังข่าวด้วยใจจดจ่อ คึดเติงหาสูบะเฮ้ย ๆ ๆ ๆ ๆ


โดย: เต๋า0801954438 IP: 114.128.114.211 วันที่: 6 ตุลาคม 2552 เวลา:17:59:34 น.  

 
ตามมาจาก ผู้จัดการออนไลน์
"แพ้กระแส Twitter Facebook … บล็อกกำลังจะตาย?"

อ่านสบายๆ ภาพสวย...
ได้น้ำใจ ธรรมะ ธรรมชาติ


โดย: jankrapib IP: 117.47.29.26 วันที่: 16 มกราคม 2553 เวลา:19:31:50 น.  

 
อิจฉาคุณจัง เที่ยวเหนือสุด ถึง ใต้สุดของประเทศเลย



โดย: Aam IP: 222.123.67.3 วันที่: 25 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:43:40 น.  

 
สมัครเป็นผู้ติดตามหน้าใหม่ค่ะ
ภาพเเละภาษา..เกินบรรยายจริงๆค่ะ


โดย: ทานตะวัน_ธันวา IP: 119.46.125.235 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2553 เวลา:16:47:01 น.  

 
วาวีบ้านผมเองนะ
ผมเปณคนวาวีอ่ะนะ
วาวีน่าเที่ยวนะ
ว่างๆใครๆมีโอกาสไปเที่ยวก้อจะรู้เองนะว่า
บรรยากาศดีแค่ไหน
อิอิอิ
0806644523


โดย: อาฝง IP: 118.172.241.125 วันที่: 7 ธันวาคม 2553 เวลา:1:19:47 น.  

 
ภาพสวย บรรยากาศดีจังเลยค่ะ

จะไปแถวนั้นช่วงตรุษจีนนี้น่ะค่ะ ไม่ทราบว่าสามารถใช้รถเก๋ง เกียร์ ออโต้ เครื่อง 1.6 ขึ้นดอยวาวีไหวไหมคะ ถนนดีตลอดทางหรือเปล่าค่ะ


โดย: Uriko IP: 124.120.137.238 วันที่: 14 มกราคม 2554 เวลา:9:22:56 น.  

 
วาวีก็บ้านหนูเหมือนกัน ไม่ได้กลับบ้านมาปีกว่าแล้ว คิดถึงจัง


โดย: นิว IP: 61.91.20.73 วันที่: 9 ธันวาคม 2555 เวลา:10:55:27 น.  

 
อ่านแล้วก็อยากไปอีก ไปแล้วไปอีก ชาพังโกสุดยอดไปเลยค่ะ
เรื่องเหล้าก็เด็ดค่ะ แกดองเองใส่หลายอย่าง พี่ที่ไปชิมเล่ามา
ถ้าครบๆ คงเมาไปก่อน
จิบชาดีกว่าค่ะ 555


โดย: อุ๊กอุ่น IP: 27.55.166.254 วันที่: 19 ธันวาคม 2555 เวลา:10:20:00 น.  

 
แวะมาเที่ยวครับ อยากบอกว่า รูปงามมากๆๆๆๆ


โดย: Sleeping_prince วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:20:24:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POGGHI
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




..

บทความ และผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog นี้
สงวนลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ห้ามผู้ใดละเมิด ด้วยการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความ และ ผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog ไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร


POGGHI

..
[Add POGGHI's blog to your web]