<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
2 ธันวาคม 2552

โตเกียว หมุนรอบตัว ตอนที่ 3 : ความทรงจำหลากวัย

..

เด็กน้อยวัยเพิ่งหัดเดิน จับมือคุณพ่อคุณแม่ ค่อยๆก้าวเตาะแตะไปตามบาทวิถี

กลุ่มวัยรุ่นแต่งกายด้วยแฟชั่นทันสมัย เดินขวักไขว่ วุ่นวาย ในย่านแสงสีใจกลางเมือง

หนุ่มสาววัยทำงาน ก้าวเดินฉับๆ ข้ามถนนเส้นใหญ่ เข้าไปเบียดเสียดกันบนรถไฟเป็นกิจวัตร

หญิงชายวัยชรา เดินเคียงคู่ไปช้าๆ สอดส่ายสายตามองหาร้านอาหารสำหรับมื้อค่ำ

ทุกชีวิตล้วนก้าวเดินไปข้างหน้า พร้อมกับเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ในความรวดเร็ว เร่งรีบ ราวกับไม่รู้จักหลับใหลของมหานครโตเกียว

เมืองใหญ่แห่งนี้ เหมาะกับวัยใด ?

..




“Country For Old Men”

ภาพลักษณ์ของเมืองหลวงประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นเมืองซึ่งแออัดไปด้วยผู้คนมากมายมหาศาล โอบล้อมไปด้วยบรรยากาศของวิถีชีวิตที่ต้องแข่งขันกัน เฉกเช่นเมืองใหญ่ทั่วไปของโลก

หันมองซ้าย เหลียวมองขวา เรามักจะเจอแต่คลื่นมนุษย์ที่ต่างก็ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ฉับไว แข่งกับเวลา

แต่เมื่อได้มาเยือนโตเกียวด้วยตัวเอง ผมพบความจริงว่า


... ยังมีใครหลายคนก้าวเดินไปช้าๆ

..


..

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรสูงที่สุดในโลก

โดยคุณตาคุณยายชาวญี่ปุ่นนั้น มีอายุยืนยาวเฉลี่ยมากกว่า 82 ปีเลยทีเดียว แถมยังครองแชมป์ผู้สูงอายุระดับโลกอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ว่าจะด้วยพลังแห่งชาเขียว หรือปลาดิบก็ตาม ที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นครองสถิติโลกอันน่าภูมิใจ แต่อายุที่ยืนยาวขึ้นของชาวอาทิตย์อุทัย เริ่มกลายเป็นปัญหา เนื่องมาจากความไม่สอดคล้องกับอัตราการเกิดที่อยู่ในระดับต่ำ

ในปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุ มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 5 ของกำลังแรงงานในประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องเข็นมาตรการเพื่อรักษาสมดุลโครงสร้างแรงงานเอาไว้ ด้วยการขยายระยะเวลาการเกษียณออกไปเป็น 65 ปี รวมถึงนโยบายการจ้างงานต่อเนื่อง หรือ ไม่มีการเกษียณ ... เรียกว่า ทำงานกันไปเรื่อยๆจนคุณปู่เดินไม่ไหวนั่นล่ะ

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากเราจะเห็นผู้สูงอายุ สวมสูท ผูกไท แต่งกายเรียบร้อย เดินปะปนอยู่ท่ามกลางคนหนุ่มสาว เพื่อไปทำงาน

..


..

แต่ก็ใช่ว่า ผู้สูงอายุชาวโตเกียวทุกคน จะมีความสุขกับการทำงานไปเรื่อยๆ

ในละแวกโรงแรมที่พักของผม อย่าง Minami-Senju มีร้านอาหารเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ กิน ดื่มของเหล่าผู้สูงวัยกลุ่มใหญ่ในเวลากลางวัน

ขณะเดียวกัน ผมมักเห็นผู้สูงอายุ เดินเล่นบ้าง ปั่นจักรยานบ้าง นั่งพูดคุยกันบ้าง กระจายอยู่ทั่วไปตามร้านรวงเล็กๆริมถนน ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบของชานเมือง

..



โตเกียว เป็นเมืองแห่งความสมบูรณ์แบบด้านการคมนาคมอีกแห่งหนึ่งของโลก

แต่ด้วยจำนวนอันมากมายของสถานีรถไฟ เส้นทาง ป้ายแนะนำต่างๆ หรือ ความซับซ้อนของแต่ละสถานี ผสมกับบรรยากาศแสนวุ่นวายของผู้ใช้บริการ ชนิดที่คนหนุ่มสาวยังเดินหลงได้ง่ายๆ

ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วผู้สูงอายุจะมึนงงขนาดไหน ?




..

อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องที่เราคิดไปเองว่าเป็นเรื่องยาก อาจจะเป็นเรื่องปกติของผู้สูงวัยในโตเกียวก็เป็นได้

ในเมืองไทย เรามักจะเห็นลูกหลานจูงคุณตาคุณยาย หรือพ่อแม่ผู้ชราภาพ เข้าไปนั่งทานอาหารกันตามร้านต่างๆ นานๆครั้งที่จะเห็นผู้สูงอายุต้องไปนั่งทานอาหารกันเองเพียงสองคน แต่ในโตเกียว กลับเป็นภาพที่พบเห็นได้บ่อยๆ

ผู้สูงอายุที่นี่ เดินเคียงคู่กันไป มองหา เลือกร้านที่ถูกใจ แล้วสั่งอาหารเอง นั่งทานกันเอง จ่ายเงินเอง ทุกขั้นตอน

..


..

โดยส่วนตัวผมคิดว่า การที่ผู้สูงอายุในโตเกียว ต้องทำภารกิจหลายๆอย่างด้วยตนเอง อาจเป็นเพราะเมืองใหญ่แห่งนี้ มีเครื่องไม้เครื่องมือ และมีระบบต่างๆรองรับผู้สูงอายุเอาไว้อย่างครบครัน

ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน ถนนหนทาง สะพานลอย ห้องน้ำ หน่วยบริการ ป้ายบอกเส้นทาง ฯลฯ ล้วนมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการเอาไว้อย่างสมบูรณ์


แต่ในความสมบูรณ์ของวัตถุนั้น อาจเป็นสาเหตุให้ความห่างเหินระหว่างมนุษย์ต่างวัย
ขยายกว้างออกไปโดยปริยาย




..

ผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในมุมเล็กๆ ท่ามกลางความเจริญเติบโต และการพัฒนาของเมืองโตเกียว คือ กลุ่มคนเร่ร่อน หรือคนไร้บ้าน

แม้ในประเทศญี่ปุ่น มีบ้านพักคนชราไว้รองรับผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่ต่างจากเมืองไทย เพราะทุกอย่าง ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว

สำหรับผู้สูงอายุไร้บ้าน ... บริเวณสถานีรถไฟ JR Ueno ในยามค่ำคืน จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งแปรสภาพเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว


..

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังเดินเข้าสู่สังคมแห่งผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอนาคตอันใกล้

แต่การเติบโตตามรูปแบบของมหานครระดับโลก ก็ไม่อาจจะหยุดนิ่งเพื่อรอใครๆได้

พลวัตของสังคม และเศรษฐกิจ ยังคงขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

จนใครหลายคน ไม่อาจวิ่งตามเวลาของโตเกียวได้




..

ด้วยจังหวะเวลาในโตเกียว ที่อาจเร็วเกินกว่าทุกคนจะวิ่งตามทัน

ด้วยความเปลี่ยนแปลง แปรผันของวิถีชีวิตไปตามกระแสสมัยใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปรองรับโลกแห่งอนาคต

เกิดเป็นคำถามน่าสนใจว่า ... แล้วโตเกียว จะมีสถานที่ ที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยบ้างไหม

สถานที่ ที่มีความสงบ ไม่ต้องหวือหวา แต่ก็ไม่ถึงกับเงียบเหงา จนขาดสีสัน

สถานที่ ที่มีเพื่อนวัยเดียวกัน พบปะสังสรรค์ พูดคุยอย่างถูกคอ

สถานที่ ที่ขอให้จังหวะของชีวิต และจังหวะของเวลา สอดรับประสานกันพอดีๆ


คำตอบนั้น อยู่ที่ ... “Sugamo”



..
“เวลาเดินช้า ที่ Sugamo”

“Sugamo” เป็นย่านการค้าขนาดย่อม
ซึ่งมีความผสมผสานระหว่างความคึกคัก กับความเงียบสงบเอาไว้อย่างลงตัว

โดยสถานที่แห่งนี้ นับว่ามีชื่อเสียงโดดเด่นไม่แพ้กับย่านดัง แหล่งสีสันกลางเมืองอย่าง Harajuku

แต่ทว่าในความเหมือนนั้น มีความแตกต่าง คือ “Sugamo เปรียบเป็นฮาราจุกุสำหรับคุณยาย”



..

การเดินทางไป Sugamo สะดวกสบาย ด้วย 2 ตัวเลือก
ทั้งรถไฟยอดนิยมอย่าง JR Yamanote Line หรือ รถไฟเอกชน Toei Mita Line (I15)


ผมเลือกเดินทางโดยรถไฟ JR ... เพียงไม่กี่ก้าวจากสถานีรถไฟ ผมก็ได้สัมผัสกลิ่นอายแห่งความเป็น Sugamo

ผู้สูงอายุเดินกันเป็นกลุ่มๆ เมียงมองหาร้านอาหารสำหรับมื้อเที่ยง บ้างนั่งคุยกันที่ม้านั่งริมฟุตบาท บ้างนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อย่างตั้งอกตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม แก่นของความเป็น Sugamo นั้น อยู่ไกลออกจากสถานีรถไฟ JR ไปอีกหน่อย โดยต้องเดินข้ามไปอีกฟากถนน จากนั้นเดินไปทางขวาเรื่อยๆ ...


ประตูสู่ถนนสายอัศจรรย์แห่งวัย ห่างออกไปไม่ถึงร้อยเมตร



..

ถนนที่มีระยะทางประมาณ 800 เมตร มีขนาดความกว้าง พอๆกับถนนข้าวสารบ้านเรา

ตลอดสองข้างทางรายล้อมไปด้วยร้านค้ากว่า 200 ร้าน ... เส้นทางสายนี้ เรียกว่า Jizo-dori

แม้ย่าน Sugamo ได้รับการเปรียบเป็น ฮาราจุกุของคุณยาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานที่แห่งนี้ ไม่ได้จำกัดเพศ หรือ วัย ... เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายใหญ่ คือ ผู้สูงอายุ

บนถนนสายเล็กๆจึงมีทั้ง คุณปู่คุณตา คุณย่าคุณยาย และกระจัดกระจายไปด้วยคนหนุ่มสาว

ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ได้หงอยเหงา หรือไร้สีสัน ตรงกันข้าม กลับเต็มไปด้วยความสุข และรอยยิ้ม



..

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งช้อปปิ้งสำคัญของผู้สูงวัย
ร้านค้าต่างๆใน Jizo-dori จึงขายสินค้าเพื่อเอาใจกลุ่มเป้าหมายเต็มที่

ไม่ว่าจะ เป็นเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า รองเท้าเก๋ๆโดนใจคุณย่า สารพัดสินค้าเหมาะสำหรับคนวัยคุณปู่ หรืออาหารอร่อยหรู สูตรน้ำตาลน้อยของโปรดคุณตา

แต่สินค้าขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้ คือ ชุดชั้นในสีแดงสำหรับคุณยาย
ด้วยความเชื่อว่าสีแดงนั้นให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

แถมยังทำให้คุณยายมีพลังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

ผมไม่แปลกใจว่าเหตุใด สถานที่แห่งนี้จึงเป็นขวัญใจคนวัยชรา เพราะนอกจากสินค้าที่น่าจะถูกอกถูกใจแล้ว

จำนวนคนที่พูดจาภาษาเดียวกัน ก็น่าจะมีส่วนให้บรรยากาศการเดินเที่ยวบนถนนเส้นนี้
ยิ่งเต็มไปด้วยความประทับใจ




Jizo-dori ไม่มีตึกสูงระฟ้าหรือแสงสีแสบตา ไม่มีเสียงโฆษณาหรือดนตรีอึกทึกครึกโครม
ไม่มีสินค้าหรือนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยีล้ำสมัย ไม่มีใครรีบเดินจ้ำด้วยความเร่งรีบ

พื้นที่แห่งนี้ จึงมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้แต่คนวัยผม ยังหลงใหล

(เอ๊ะ ... หรือว่าผมมีอายุอยู่ในเกณฑ์กลุ่มเป้าหมายไปแล้ว - -“)

หากเปรียบอารมณ์ของวัยรุ่นในบ้านเรา ที่ต้องไปเดินเที่ยวสยามฯ อารมณ์ของผู้สูงวัยในโตเกียว
ก็ต้องไปเดินโฉบเฉี่ยวย่าน Sugamo




..

ปัจจุบัน ความมีชื่อเสียงของ Sugamo คือ ย่านช้อปปิ้งแหล่งรวมคนรุ่นใหญ่วัยมันส์

แต่หากย้อนกลับไปสู่อดีต จุดเริ่มต้นของความโด่งดังนั้น มาจากความศรัทธา

ศาสนสถานที่ตั้งอยู่ช่วงกลาง Jizo-dori อย่างวัด Konganji นั้น ที่แห่งนี้ คือ จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

ด้วยความเชื่อว่า หากใครเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องมาขัดถูทำความสะอาดรูปปั้นของเทพเจ้า Togenuki
อาการเจ็บปวดต่างๆก็จะหายไป

จากความเชื่อ ความศรัทธาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้คนเริ่มหลั่งไหลมายังย่าน Sugamo ซึ่งแน่นอนว่า ในกลุ่มของผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง เจ็บออดๆแอดๆ ส่วนใหญ่ คือ ผู้สูงอายุ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันซึ่งสุขภาพ กลายเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจของคนทุกวัย วัด Konganji จึงมีคนหนุ่มสาวแวะมานมัสการไม่น้อยไปกว่าผู้สูงวัย




..

ร้านอาหารที่ Jizo-dori มีมากมายหลายร้านให้เลือก

แต่ผมตัดสินใจเดินตรงไปร้านขนาดย่อมร้านหนึ่ง ซึ่งคุณป้าพนักงานบริการ ทักทายกับผมราวกับเป็นลูกค้าที่คุ้นเคย (จนกระทั่งเข้าไปนั่งในร้านแล้วนั่นล่ะ คุณป้าจึงทราบว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่น )

ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น ผมเคยได้ยินมาบ้างว่า

ผู้สูงวัยที่นี่ มักไม่ค่อยจะมีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติที่พูดภาษาอื่น แต่ประสบการณ์สั้นๆในโตเกียวที่ผมได้รับ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ข้อได้เปรียบส่วนหนึ่ง ซึ่งคนไทยทุกคนมีติดมาจากประเทศแม่ นั่นคือ “ยิ้มสยาม”

ด้วยรอยยิ้มที่ผมใช้แทนคำพูดจา ... คนต่างวัย ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา จึงสามารถสื่อสารกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

คุณป้า เอ่ยประโยคขนาดยาว พลางชี้ไปที่โต๊ะริมหน้าต่าง แล้วชี้ลงไปด้านล่าง ผมก็เดาได้ทันทีว่า
“พ่อหนุ่มมานั่งตรงนี้สิ มองเห็นถนนด้านล่างด้วยนะ”

ในวันนั้น ผมเป็นคนที่มีอายุน้อยที่สุดในร้านอาหาร แต่ก็ไม่ได้รู้สึกถึงความแปลกแยก แตกต่าง

กลับเป็นความรู้สึกที่เต็มไปด้วยอิ่มเอมในบรรยากาศรอบตัว
ซึ่งช่วยปรุงแต่งให้อาหารตรงหน้า ยิ่งมีรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น




..
ผมมองผ่านกระจกร้านอาหารลงไปยังถนนเบื้องล่าง เห็นคุณตาคุณยายเดินผ่านไปมา

จังหวะการก้าวเดินของผู้สูงวัย คล้ายกับเป็นจังหวะของนาฬิกาที่ Sugamo
บนถนนสายเล็กๆแห่งนี้ อายุไม่มีความหมาย และ อายุไม่ใช่ปัญหา
ในการไขว้คว้า เก็บเกี่ยวความสุขจากสองข้างทาง และร้านรวง

อาจจะเป็นเรื่องที่ผมคิดไปเอง ... ถูก หรือ ผิดไม่รู้

ผมคิดว่า Sugamo คือ “แดนมหัศจรรย์ ที่ทำให้ผู้สูงอายุทุกคน กลับมาเป็นคนหนุ่มสาวได้อีกครั้ง”



..
“เด็กน้อย ... ในโตเกียว”


ประชากรกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มของประเทศญี่ปุ่น คือ ประชากรวัยเด็ก

แต่ทว่าในปัจจุบันนับเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะประชากรกลุ่มนี้ มีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก เฉลี่ยประมาณปีละล้านเศษ ซึ่งน้อยกว่าปริมาณผู้เสียชีวิตในบางปีด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ มีผลสำรวจออกมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ว่าอัตราการแต่งงานของผู้หญิงญี่ปุ่นก็ลดลง โดยพบว่าผู้หญิงญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น ที่แต่งงานก่อนอายุ 30 ปี

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นไปตามสภาพสังคมเมืองใหญ่ ที่หลายคนมุ่งแต่ทำมาหาเลี้ยงตัวเอง วิถีแห่งการดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยการแข่งขัน จนเกิดภาวะเครียด

เท่าที่ผมสังเกตด้วยตนเอง ตามถนนหนทางในโตเกียว จึงมักเห็นคุณแม่ลูกหนึ่ง หรือลูกสองเท่านั้น



..
เด็กน้อย ในโตเกียว ความหมายแรกของผม คือ จำนวนเด็กที่น้อย

แม้ในบางสถานที่ อาจจะเป็นแหล่งรวมเด็กๆ

แต่หากมองในภาพรวม ประชากรที่เดินกันขวักไขว่เหมือนผึ้งแตกรัง เบียดเสียดกันเป็นปลากระป๋อง หรือต่อคิวยาวเป็นหางว่าวนั้น ส่วนมากเป็นประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

ในปี 2005 ดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ กลายเป็นสังคมที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ขณะที่ประชากรเด็กยังไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม



..
ส่วน เด็กน้อย ในโตเกียว ความหมายที่สอง

ผมมองว่าบางครั้ง โตเกียวก็เป็นสังคมที่มีช่วงเวลาของความเป็นเด็ก น้อยเหลือเกิน

เด็กน้อยเดินเตาะแตะ จับมือของคุณพ่อคุณแม่ ที่ประคับประคองไปด้วยความรักความทะนุถนอม มองแล้วก็เป็นภาพที่น่าประทับใจ

แต่เด็กน้อยโตเกียวในวันนี้ เพียงระยะเวลาไม่กี่ปี เมื่อเติบโตขึ้น ...

กลับก้าวเดินอย่างรวดเร็วไปตามจังหวะของสังคมเมืองหลวง สวนทางกับคุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มเดินช้าลง ตามวัย และกาลเวลา



..

“โลกของคนวัยมันส์”


มุมชีวิตที่หลากหลายของวัยรุ่นญี่ปุ่น น่าจะเป็นเรื่องคุ้นเคยสำหรับคนไทยพอสมควร ด้วยอิทธิพลของสื่อหลายช่องทาง
ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง ซีรี่ย์ การ์ตูน นิตยสาร พ็อคเก็ตบุ๊ค

แต่ไม่ว่าจะรับรู้สีสันเหล่านั้น ผ่านสื่อประเภทใดก็ตาม คงไม่สามารถรับรู้อรรถรสได้เต็มอิ่มมากเท่ากับเราเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเอง

(หมายถึง สัมผัส Life Style ของวัยรุ่นนะครับ ไม่ใช่สัมผัสวัยรุ่น )

อย่างน้อยการมาเที่ยวโตเกียว ผมก็จะได้กลับมาบอกหนุ่มๆวัยรุ่นบ้านเราได้ว่า
... นักเรียนชายที่นั่น ไม่ได้ทำทรงผมชี้ๆเป็นหนามทุเรียนทุกคน


..

อย่างไรก็ดี แฟชั่นเจ็บจี๊ด กระแทกใจคุณแม่ เป็นสิ่งที่เราเห็นได้เสมอจากวัยรุ่นโตเกียว

โดยเฉพาะในวันเสาร์ –อาทิตย์ บริเวณสะพานกว้าง หน้าสวน Yoyogi ซึ่งห่างจากสถานีรถไฟ JR Harajuku เพียงไม่กี่เมตร

... พื้นที่แห่งนี้ คือ ลานปล่อยจินตนาการของวัยรุ่นในโลกแห่ง Cosplay (Costume Playing)


..

น่าเสียดายว่า ผมเดินทางไปก่อน หรือ หลัง กิจกรรม Cosplay ทุกครั้ง

จึงพลาดโอกาสเก็บภาพแฟชั่นสุดจี๊ดของวัยรุ่นโตเกียวไว้เป็นที่ระลึก

(แต่ไม่เป็นไร ... กลับมาถ่ายรูปสาวๆ Cosplayไทย หน้ามาบุญครองแทนก็ได้ ยังไงก็น่ารักเหมือนกัน )


..

วัยรุ่นโตเกียวที่หลงรักในแฟชั่น เทคโนโลยี หรือสีสันในแบบฉบับความเป็นเมืองใหญ่ ต้องนับว่าเป็นคนที่โชคดี เพราะเมืองหลวงของญี่ปุ่นนั้น มีแหล่งรองรับรสนิยมดังกล่าวกระจายไปทั่ว

แต่แหล่งรวมพลคนวัยมันส์ ส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก ตามแผนที่

โดยแหล่งเที่ยวในโตเกียวที่เป็นดั่งศูนย์กลางแห่งอารยธรรมล้ำค่าของวัยรุ่นแดนปลาดิบ

ไล่ไปตั้งแต่ Shinjuku – Harajuku –Shibuya



..

วันหยุดสุดสัปดาห์ของย่าน Harajuku คลาคล่ำไปด้วยคลื่นมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นวัยรุ่น และหนุ่มสาววัยทำงาน

ย่านศูนย์การค้าที่เรียกว่า Omotesando เป็นถนนยาวราวกับไม่มีที่สิ้นสุด

ผมเดินเล่น ไปดู “คน” จำนวนมากมาย ที่ต่างก็เดินไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีจุดหมาย

... เป็นไปได้ไหมว่า คนโตเกียวออกจากบ้านมาเพื่อ

“เดิน”



..

บางมุมของย่าน Harajuku มีบรรยากาศคล้ายกับสยามสแควร์ในกรุงเทพอยู่บ้าง

เช่นว่า เป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งที่บรรดาแมวมอง จากนิตยสาร หรือโทรทัศน์ ออกส่องกล้องมองหาดารานายแบบ นางแบบหน้าใหม่ หรือหาใครสักคนมากรอกแบบสอบถามความคิดเห็น

วัยรุ่นหลายคนที่มา “เดิน” ก็อาจหวังลึกๆว่าจะมีแมวมองสักคนให้ความสนใจ



..

บางค่ำคืน ผมแวะไปเดินเล่น เตร็ดเตร่ชมชีวิตของวัยรุ่นโตเกียว ในย่านซึ่งไม่ไกลจาก Harajuku นั่นคือ Shibuya

... สถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งรวมห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ร้านค้าเก๋ๆ ร้านแบรนด์ดัง
มากมายนับกันไม่หวาดไม่ไหว

Shibuya จึงเป็นแหล่งการค้าสำคัญ เป็นสวรรค์สำหรับนักช้อป และเป็นย่านที่โดนใจวัยรุ่น ติดเป็นอันดับต้นๆของโตเกียวอีกแห่ง

ไม่ว่าจะกลางวัน หรือ กลางคืน

... สีสันของ Shibuya ย่อมสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้มาเยือนได้เสมอ



..
หากจัดอันดับนักช้อปดีเด่น ผมคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มรั้งท้าย เพราะโดยส่วนตัวมักจะหมดเปลืองไปกับค่าใช้จ่ายเรื่องการท่องเที่ยว หรืออุปกรณ์ทำมาหากินเสียมากกว่า

แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ว่า Shibuya มีอะไรน่าสนใจบ้าง

ผมจึงต้องทำตัวเสมือนเป็นนักช้อปคนหนึ่ง เดินสำรวจตามร้านค้าต่างๆ

เท่าที่สังเกตคร่าวๆ ผมคิดว่า เอกลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของสินค้าญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นสุภาพสตรีนั้น คือ การผสมผสานความน่ารัก สดใส ลงไปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ

จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไม เมื่อเอ่ยถึงสาวๆญี่ปุ่น
เราจึงมักจะนึกถึงภาพพจน์ของความน่ารัก กุ๊กกิ๊กๆ พ่วงเข้าไปด้วย



..
แม้ความสุดโต่งของวัยรุ่นญี่ปุ่นในย่านแหล่งการค้าสำคัญๆ ทั้งด้านการแสดงออก การแต่งกาย หรือบุคลิก ทำให้เราอาจมองภาพว่า วัยรุ่นโตเกียว คงเป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เน้นกิจกรรมแนวบันเทิงเริงใจ


แต่หากมองโตเกียวให้ละเอียดขึ้นอีกนิด

เราจะพบ วัยรุ่นโตเกียวอีกจำนวนไม่น้อย เลือกช่วงเวลาเดียวกัน ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่แตกต่าง



..
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองไปยังวัยรุ่นอีกกลุ่มตามรั้วสถานศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบุคลิกประเภทเด็กคงแก่เรียน

การแต่งกาย การแสดงออก หรือ การดำเนินชีวิต

อาจมีความแตกต่างไปจากกลุ่มวัยรุ่นซึ่งอยู่ตามใจกลางแหล่งแฟชั่นไม่มากก็น้อย



..
วัยรุ่นในโตเกียวอีกกลุ่ม ซึ่งผมชื่นชมมากเป็นพิเศษ คือ

“ศิลปินริมถนน”

ตามย่านซึ่งเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นทั้งหลายนั้น เราสามารถพบเจอศิลปินริมถนนได้ไม่ยาก

ศิลปินมือสมัครเล่นเหล่านี้ บางคนไม่ได้หวังอะไร นอกจากถ่ายทอดอารมณ์ดนตรีของตัวเอง

บางคนอาจหวังว่าเผื่อจะมีใครเห็นแววความสามารถ ชักชวนก้าวไปสู่เส้นทางแห่งสายบันเทิง

ขณะที่บางคนไม่รอความฝันระยะไกล
แต่ทำความฝันระยะใกล้ด้วยการ อัดแผ่นซีดีของตัวเองมาวางขายไปเลยก็มี

แต่ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันอย่างไร

สิ่งที่ศิลปินริมถนน มีตรงกัน คือ ดนตรีในหัวใจ




..
การเล่นดนตรีของบรรดาศิลปินริมถนนในโตเกียว นับว่าไม่เงียบเหงา แถมยังเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้ศิลปินอิสระมีกำลังใจมากขึ้นอีกด้วย

เพราะถึงแม้ว่าคนโตเกียวจะอยู่ในโลกส่วนตัวของตนเองมากเพียงไร แต่คนในเมืองแห่งนี้ ก็พร้อมเปิดรับ ให้ความสนใจกับคนที่มีความสามารถ

ทุกครั้งที่ผมเจอนักดนตรี –ศิลปินริมถนน

ไม่เคยมีใคร ต้องถ่ายทอดความงามของดนตรีอย่างเดียวดาย




..
จากบุคลิกของคนเมืองโตเกียว ที่ไม่ค่อยจะสนใจต่อสิ่งรอบข้างมากนัก

แต่เสียงดนตรีที่แว่วดัง คล้ายเป็นเครื่องมือทำลายกำแพง ให้คนโตเกียวบางคน มองออกมาจากโลกส่วนตัว

ขณะที่ ศิลปินริมถนน เริ่มต้นจัดแจงหาทำเลที่แสดง ปรับเตรียมอุปกรณ์ ... อาจไม่มีใครสนใจ

แต่ทันทีที่ท่วงทำนองแห่งดนตรี ส่งผ่านไปยังโสตประสาทของใครต่อใครที่เดินผ่านไปมา

โลกส่วนตัวของหลายๆคน ก็หลอมรวมกลายมาเป็นโลกใบเดียวกัน



..

หากแหล่งการค้าอย่าง Shinjuku – Harajuku –Shibuya
เปรียบเสมือนค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในกระแสหลักของวัยรุ่น

เมืองโตเกียว ก็มีแหล่งเที่ยว ซึ่งเปรียบเป็นค่ายเพลงอินดี้ เฉพาะกลุ่ม ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

แหล่งเที่ยวรอบนอกด้านทิศตะวันตก อาทิ “Shimo-kitazawa” “Daikan-yama” “Naka-meguro” กลายเป็นอีกทางเลือกสำหรับหนุ่มสาวชาวโตเกียว

อย่างที่เคยเกริ่นเอาไว้ว่า ผมรู้สไตล์การท่องเที่ยวของตัวเองดี จึงต้องจิ้มแผนที่เลือกไปแค่ที่เดียว

โดยผลการจิ้มแผนที่แบบมั่วๆ ปรากฏว่า นิ้วชี้ของผม หยุดตรง

“Shimo-kitazawa”



..

Shimo-kitazawa เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับวัยรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ที่พบเห็นได้มากที่สุดในย่านนี้

บรรยากาศของแหล่งรวมนักศึกษาอย่าง Shimo-kitazawa แตกต่างจากแหล่งเที่ยวกลางเมืองพอสมควร เพราะสถานที่แห่งนี้ คล้ายเป็นชุมชนเล็กๆ ที่รวมเอาร้านค้า ร้านอาหารน่ารักๆ ขนาดพอเหมาะ มาไว้ในพื้นที่เดียวกัน

โดยปราศจากถนนใหญ่ตัดผ่าน ไม่มีรถราวิ่งพลุกพล่าน หรือห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์

ด้วยความเรื่อยเปื่อย ให้เวลากับสถานที่อื่นมากไปหน่อย กว่าผมจะเดินทางมาถึง Shimo-kitazawa ก็เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว

แต่เสน่ห์ของสถานที่แหล่งนี้ ยังไม่เปลี่ยนไปจากเวลากลางวัน เพราะความเป็นแหล่งเที่ยว ซึ่งกระเถิบออกมาจากใจกลางเมือง

ในบรรยากาศที่ไม่พลุกพล่านวุ่นวาย มีแสงไฟจากร้านข้างทาง
คลอกับเสียงเพลงเบาๆจากร้านอาหารที่ไหนสักแห่ง

... ท่ามกลางสายลมหนาวที่กำลังจะมาเยือน Shimo-kitazawa จึงเป็นสถานที่ ที่เหมาะสำหรับจูงมืออุ่นๆของใครสักคนเดินเที่ยว เดินเล่น ไปเรื่อยๆ ...



..

“เพื่อนใหม่วัยรุ่น”


จุดมุ่งหมายในการเดินทางออกไปสู่โลกใบสีฟ้าของผมแต่ละครั้งนั้น นอกจากเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตให้กับตนเองแล้ว

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ “มิตรภาพจากเพื่อนใหม่”


ก่อนการเดินทางไปญี่ปุ่น ผมนึกกังวลอยู่บ้างเหมือนกันว่า ในประเทศที่คนไม่นิยมพูดภาษาอังกฤษ ผมจะมีโอกาสได้เจอเพื่อนใหม่ๆบ้างหรือเปล่า

แต่สุดท้ายแล้ว ชาวโตเกียวที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารนั้น อยู่ใกล้ๆตัวผมที่โรงแรม Juyoh นั่นเอง


โรงแรมเล็กๆแห่งนี้ มี Staff ผลัดเปลี่ยนมาดูแลตรงหน้าเคาท์เตอร์หลายคน โดยแต่ละคนนั้น สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

ผมจึงได้รู้จักกับเพื่อนรุ่นน้องชาวญี่ปุ่น ถึง 4 คน ได้แก่

สองหนุ่มโคชิ – คาเนโกะ และสองสาว มายุ – มายูริ

มายุ เป็นคนเดียวที่ทำงานอย่างเต็มตัว ขณะที่เพื่อนรุ่นน้องอีก 3 คน ต่างกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเมจิ ในชั้นปีสุดท้าย โดยแวะมาทำงานที่ Juyoh ในลักษณะงาน Part Time

ในแต่ละวัน ช่วงสายๆก่อนออกเดินทางไปเที่ยว และช่วงดึก ก่อนเข้านอน ผมจึงใช้เวลาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นตรงหน้าเคาท์เตอร์เสมอ


รูปประกอบ - มายุ และ โคชิ




..

นอกจากพูดคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไปแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งผมได้รับรู้จากเพื่อนชาวโตเกียว คือ

ข้อแรก ขณะที่คนไทยหลายคน อาจไม่รู้จักว่า “ใคร คือ วีระพล และ ใคร คือ บัวขาว ?”

แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว อดีตแชมป์โลกมวยสากลสถาบัน WBC อย่างวีระพล และสุดยอดนักชก K-1 ในตำนานอย่างบัวขาว

... นักสู้ไทยสองคนนี้ คือ ไอดอลของชาวอาทิตย์อุทัย


ข้อสอง แม้หนุ่มไทยจะคลั่งไคล้สาวญี่ปุ่น แต่สองหนุ่มชาวญี่ปุ่นอย่าง โคชิ กับ คาเนโกะ ก็ชื่นชอบความน่ารักของสาวไทยไม่น้อยเช่นกัน (แต่ผมไม่กล้าถาม มายุ กับ มายูริ ว่าชื่นชอบหนุ่มไทยบ้างหรือเปล่า ... ฮา)


นอกจากนี้ ผมคิดว่าชาวญี่ปุ่น ใช้คำว่า “สุโค่ย” ได้เปลืองมาก

สมมติเล่นๆว่า ถ้าเดือนหนึ่ง ชาวญี่ปุ่นถูกจำกัดให้พูดคำว่า “สุโค่ย” ได้ 1,000 ครั้ง พวกเขาอาจไม่เหลือคำนี้ไว้ใช้ ในช่วงปลายเดือน

... ทั้งนี้คงเป็นเพราะพื้นฐานนิสัยน่ารักๆที่คนชาตินี้ มักแสดงออกถึงความชื่นชมกันแบบสุดๆ เต็มที่นั่นเอง

โดยทุกครั้ง ที่ผมเปิดเว็บไซต์ อวดผลงานภาพถ่ายให้เพื่อนรุ่นน้องดู คำว่า “สุโค่ย” ก็พรั่งพรูออกมานับไม่ถ้วน



แม้การพูดคุยกับเพื่อนรุ่นน้อง นานนับชั่วโมงในแต่ละวัน ทำให้ผมเสียเวลาเที่ยว เสียเวลานอนไปบ้าง

... แต่เวลาที่เสียไป ก็ทดแทนด้วยมิตรภาพใหม่กลับมา




..
“รุ่นใหญ่ วัยทำงาน”


วัยซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น คือ วัยทำงาน

ซึ่งหากรวมกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ เข้าไปด้วย กำลังแรงงานของแดนซามูไร จะมีจำนวนมากกว่าคนไทยทั้งประเทศด้วยซ้ำ (ข้อมูลปี 2547 : ประมาณ 66 ล้านคน)

สำหรับโตเกียวในช่วงกลางวัน เราอาจจะไม่มองเห็นภาพชัดเจนนัก

แต่หากเป็นช่วงเช้าก่อนเข้างาน หรือช่วงค่ำหลังเลิกงาน ... ภาพคนวัยทำงานที่เดินกันเต็มท้องถนน ย่อมบอกได้ดีถึงจำนวนประชากรกลุ่มนี้



..

คนวัยทำงานของญี่ปุ่น ก็ไม่แตกต่างไปจากเมืองใหญ่ๆทั่วไป ที่ต้องมีการดิ้นรนแข่งขันกันมากกว่าเมืองเล็กๆในต่างจังหวัด

เมื่อมหานครโตเกียว เป็นเมืองใหญ่ระดับโลกที่มีตัวเลือกของทรัพยากรมนุษย์จำนวนมาก ... ความยากลำบาก และความเข้มข้นในการแข่งขันจึงย่อมสูงขึ้นไปด้วย


วิถีชีวิตของคนวัยทำงานในโตเกียว จึงนับว่าหนัก และเครียดพอสมควร



..

ในช่วงเวลาทำงานนั้น มีคนเดินทางจากพื้นที่รอบนอกเข้ามาในพื้นที่ชั้นในของโตเกียวเพิ่มขึ้นอีกราว 3 ล้านคน

ดังนั้น แม้ระบบขนส่งมวลชนของโตเกียวจะดีเยี่ยมเพียงใด ก็ยังไม่อาจลดความแออัดของผู้โดยสารได้ โดยเฉพาะในช่วงเช้า

แต่สำหรับช่วงเวลาหลังเลิกงานในแต่ละวัน ผมสังเกตว่า คนวัยทำงานในโตเกียวจำนวนไม่น้อย หลบเลี่ยงการโดยสารรถไฟปลากระป๋องออกนอกเมือง ด้วยการใช้เวลาทานข้าว พักผ่อน เตร็ดเตร่อยู่ตามสถานที่ต่างๆกับเพื่อนฝูง แล้วค่อยเดินทางกลับในช่วงค่ำ จนถึงดึก


..

จากการที่คนญี่ปุ่น ขยันขันแข็งในเรื่องหน้าที่การทำงานมาก

ดังนั้นหากพูดถึงการพักผ่อนหย่อนใจ ทุกคนก็พร้อมกิน - ดื่มเต็มที่ และ ปล่อยพลังความสุข ปล่อยอารมณ์กันแบบไม่มียั้ง

บ่อยครั้งที่ผมเห็นหนุ่มออฟฟิศ นั่งหลับใหลหมดเรี่ยวแรงอยู่ตามสถานีรถไฟ ซึ่งพอจะเดาสาเหตุได้ไม่ยากนักว่า ถ้าไม่ทำงานเต็มที่จนหมดแรง ... ก็คงเพิ่งกลับมาจากการฉลองจนหมดสภาพ



..
“โตเกียว วัยไหน ?”


ประชากรกว่า 12-15 ล้านคน ในโตเกียว มีคนทุกวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน

แต่ด้วยวิถีชีวิตของเมืองหลวงที่แสนจะเร่งรีบ วุ่นวาย เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ราวกับไม่มีเวลาให้หยุดพักผ่อน

เกิดเป็นคำถามที่ว่า ... เมืองใหญ่แห่งนี้ เหมาะกับวัยใด ?



..

จากคำถามข้างต้น ผมใช้เวลาสั้นๆของการเดินทางไปโตเกียว ... สัมผัส ค้นคว้า หาคำตอบ และพบว่า ...


ผมเห็นรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะอันบริสุทธิ์
ของเด็กน้อยอยู่ในอ้อมกอดพ่อแม่

ผมเห็นสีสันชีวิตที่หลากหลาย
จินตนาการอันไร้ขอบเขตในโลกของวัยรุ่น

ผมเห็นคนวัยหนุ่มสาว ทุ่มเทกับงานที่รับผิดชอบ
ก่อนจะปลดปล่อยอารมณ์สนุกสุดเหวี่ยงหลังเลิกงาน หรือในวันหยุด

ผมเห็นผู้สูงวัยหลายคน แม้จะก้าวเดินไปช้าๆ
แต่เมื่อสังเกตในแววตา ก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยความสุข



ทุกๆภาพที่ผมเห็น และสัมผัสด้วยตนเองจากมหานครแห่งนี้ จึงผสมผสานกันเป็นคำตอบโดยสมบูรณ์








- โปรดติดตามตอนต่อไป –

..





Create Date : 02 ธันวาคม 2552
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 23:52:24 น. 4 comments
Counter : 3131 Pageviews.  

 
ขอเอามาเจิมเป็นคนแรก


โดย: faisai วันที่: 4 ธันวาคม 2552 เวลา:9:33:43 น.  

 
แวะมาเยี่ยม อ่านบล็อกนี้ชอบมากๆๆข้อมลูแยอะดี
ผมขอ แอดไว้อีกหนึ่งบล็อกนะครับ ...สวัสดีอีกครั้งครับ


โดย: ชายเอ ทุ่งรังสิต วันที่: 9 ธันวาคม 2552 เวลา:9:10:31 น.  

 
พี่ป๊อกกี้ มาทักทาย
ผมเพิ่ง สร้าง บล๊อก อิอิ


โดย: นายฟ้าใส (นายฟ้าใส ) วันที่: 12 ธันวาคม 2552 เวลา:19:55:35 น.  

 
ค่อยๆอ่าน ค่อยๆซึมซับ
สัมผัสได้ถึงบรรยากาศ ณ ตรงนั้นเลยทีเดียว

ขอบคุณค่ะที่ทำให้สปีดท่องเนทของเรา เดินช้าลงชั่วคราว


โดย: ตี้ IP: 125.27.191.147 วันที่: 11 กรกฎาคม 2553 เวลา:21:37:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POGGHI
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




..

บทความ และผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog นี้
สงวนลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ห้ามผู้ใดละเมิด ด้วยการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความ และ ผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog ไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร


POGGHI

..
[Add POGGHI's blog to your web]