<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
2 พฤษภาคม 2553

ชีวิตที่เป็นไป ความเคลื่อนไหว ในเมืองปัตตานี

..




เสียงละหมาดยามรุ่งสางแว่วดังมาจากมัสยิด เป็นสัญญาณบอกเวลาในทุกเช้า

ท่ามกลางแสงแดดอันอบอ้าว คนงานบนเรือประมง นั่งๆนอนๆ เก็บเรี่ยวแรง ก่อนจะเริ่มงานหนักในวันรุ่งขึ้น

กลุ่มวัยรุ่น ตั้งวงสนทนากันอย่างออกรส ริมแม่น้ำปัตตานียามพลบค่ำ

เหล่าทหารกล้า ยืนประจำการ คอยดูแลความสงบให้พี่น้องประชาชน ไม่เว้นวันเวลา


แม้จังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ คือ หนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีสถานการณ์ความรุนแรงจากภัยก่อการร้าย

แต่ทุกชีวิตยังต้องเคลื่อนไหวดำเนินไป ... ตามวิถีของคนเมืองปัตตานี

..




“ริมน้ำปัตตานี”


พระจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่เหนือแม่น้ำปัตตานี ส่องแสงสว่างนวลตาชัดเจนกว่าทุกวัน

คงเป็นเพราะวันนั้น พระจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง จึงปรากฏตัวออกมาทักทายตั้งแต่เวลาแสงอาทิตย์ยังฉาบท้องฟ้าเป็นสีส้มจาง

ผมนั่งเล่น ชมบรรยากาศริมแม่น้ำปัตตานียามเย็น ที่แลดูเงียบสงบ
กลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มนั่งคุยกัน บ้างมาก็มาเป็นคู่ดูน่ารักดี

ส่วนผู้ใหญ่บางคนก็ใช้บาทวิถีริมน้ำเป็นพื้นที่เดินออกกำลังกาย

..

แม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี
ไหลผ่านลงสู่จังหวัดยะลา มาถึงใจกลางเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นสุดสายปลายน้ำก่อนออกไปสู่อ่าวไทย จึงเปรียบเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งภาคเกษตรกรรม และการประมง

บนผืนน้ำที่เงียบสงบ มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ

นานๆครั้งก็จะมีเรือหางยางรับจ้างล่องผ่านไปมา
บางครั้งก็เป็นเรือขนาดเล็กของชาวบ้าน

และหากเป็นช่วงใกล้เทศกาลแข่งเรือยาวประเพณี
เราก็จะได้เห็นบรรดาเหล่าฝีพายลงสนามฝึกซ้อม

สายน้ำไหลเอื่อยเบื้องหน้า สายลมที่พัดเบาๆ กับวิถีชีวิตริมแม่น้ำ
เป็นบรรยากาศสบายๆ ที่ผมนั่งปล่อยอารมณ์ลอยไปโดยไม่สนใจเวลา

..

“มัสยิดกลาง”




สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนเมืองปัตตานีต้องแวะชม
คือ “มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี”
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆว่า “มัสยิดกลาง”

สถานที่ประกอบศาสนกิจของพี่น้องชาวมุสลิมแห่งนี้ นับเป็นมัสยิดอีกแห่งที่มีความสวยงามติดอันดับต้นๆของประเทศไทย

ศาสนสถานประจำเมือง ริเริ่มที่จะก่อสร้างขึ้นในรัฐบาลยุค 2497
จากนั้นได้ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างราว 9 ปี จนกระทั่งวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 พี่น้องมุสลิมปัตตานี ก็มีมัสยิดซึ่งศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอันสวยงามไม่แพ้ที่ใด

ความงดงามของสถาปัตยกรรมของมัสยิดกลาง ไม่ได้สงวนไว้เพียงแค่พี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้น
แต่เปิดโอกาสให้คนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา แวะเข้ามาเยี่ยมชมได้
(เพียงแต่ในทุกวันศุกร์ อาจจะไม่สะดวกนัก เพราะจะมีพิธีละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์)

แต่ผู้มาเยือนก็ต้องพึงรู้ธรรมเนียมปฏิบัติของการเข้าชม
เช่น แต่งกายสุภาพ , ไม่ไปทำอะไรที่เป็นการรบกวนต่อการละหมาด หรือปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับศาสนสถาน เป็นต้น

..

ผมเดินทางฝ่าแดดร้อนๆยามบ่าย แวะไปชมความงดงามของมัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี และมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่น้องชาวมุสลิมที่นั่น
ซึ่งพบว่าไม่เพียงมีแค่ชาวมุสลิมในพื้นที่เท่านั้น แต่บางส่วนก็เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง เพื่อแวะมาละหมาดที่นี่

ชาวบ้านบอกผมว่า มัสยิดกลางแห่งนี้ แบ่งพื้นที่การละหมาดของชาย และหญิงเอาไว้อย่างเป็นสัดส่วน
ผู้ชายจะเข้าไปละหมาดทางฝั่งขวา ส่วนผู้หญิงไปฝั่งซ้าย และก่อนการละหมาด ยังต้องชำระล้างร่างกาย ล้างหน้า ล้างมือ ให้สะอาด ก่อนเข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนา

ในเวลาที่ผมไปนั้น เป็นจังหวะของการละหมาดช่วงบ่ายพอดี ...
ผมไม่ได้เข้าไปถ่ายภาพด้านใน ด้วยกลัวว่าเสียงชัตเตอร์ของกล้อง DSLR มันจะดังรบกวนสมาธิคนอื่น จึงเดินเก็บภาพความงามไปรอบๆเท่านั้น

หากมองโดยผิวเผิน รูปทรงสถาปัตยกรรมที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ
อาจไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างที่คุ้นตาชาวไทยนัก จนอาจนึกว่า ไปถ่ายมาจากประเทศอื่น

แต่ตัวอักษรภาษาไทย คำว่า “มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี” และธงชาติไทยผืนใหญ่ด้านบน
คงช่วยย้ำต่อผู้มาเยือนแล้วว่า สถานที่ซึ่งมีสถาปัตยกรรมอันงดงามเบื้องหน้านี้ ตั้งอยู่ที่ประเทศใด

..

“เขตรั้วสีบลู”




สถานที่อีกแห่งในจังหวัดปัตตานี ซึ่งแม้ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหลัก
แต่ก็น่าลองแวะเวียนเข้าไปชม คือ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี” หรือ “ม.อ.ปัตตานี”
หลายคนมีข้อสงสัยว่า ทำไมมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จึงไม่ใช้อักษรย่อว่า ม.ส. ?

คำตอบ คือ คำว่า สงขลานครินทร์ มาจาก “กรมหลวงสงขลานครินทร์” ซึ่งเป็นพระนามฐานันดรศักดิ์ ของ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก”จึงเป็นที่มาของอักษรย่อมหาวิทยาลัย “ม.อ.”

สำหรับ ม.อ.ปัตตานี นับเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในภาคใต้
แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ติดกับทะเล (ไม่เหมาะเครื่องไม้เครื่องมือด้านวิศวกรรมในขณะนั้น)
รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ และการเติบโตของเมือง ทำให้มหาวิทยาลัยต้องย้ายศูนย์กลางการบริหาร และคณะสำคัญๆไปอยู่ที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ปัจจุบัน ม.อ.ปัตตานี เปิดสอนทั้งหมด 6 คณะ กับอีก 1 วิทยาลัย และยังมีโครงการจัดตั้งคณะใหม่ๆเพิ่มขึ้นในอนาคต

แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่ยังเป็นข่าวให้คนต่างพื้นที่หวาดวิตก คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีส่วนทำให้ความหลากหลายของนักศึกษาในรั้วแห่งนี้ลดน้อยลงไปมาก ...
นักศึกษาส่วนใหญ่ จึงมักเป็นเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดน หรือเด็กภาคใต้ ขณะที่เด็กซึ่งมาจากต่างภาคต่างพื้นที่ มักเลือกเรียนในวิทยาเขตอื่นๆแทน

อย่างไรก็ตาม ม.อ.ปัตตานี ในอดีต ก็ผลิตลูกศิษย์ลูกหาออกมาเป็นบุคคลดังในแวดวงสังคมพอสมควร
อาทิเช่น รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน 2 ท่าน (ไปสืบกันเอาเองนะครับ อิอิ) , สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ นายใหญ่แห่งทีวีบูรพา และ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้ง a day เป็นต้น

..“หมู่บ้านชาวประมง”





ไกลจาก ม.อ.ปัตตานี ไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร มีถนนสายรองมุ่งตรงสู่หมู่บ้านที่มีชื่อว่า “รูสะมิแล”

หมู่บ้านชายทะเล ราวกับหลบซ่อนจากความเจริญของตัวเมืองปัตตานี ...
ถนนสายเล็กๆนั้น ไม่มี 7-11 ไม่มีร้านเกมส์หรืออินเทอร์เน็ต และนานๆครั้ง จึงมีรถราวิ่งผ่านไปมาสักคัน
ชาวบ้านรูสะมิแล ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และเกษตรกรรม

ผมเดินทางไปถึงหมู่บ้านในช่วงบ่าย แดดร้อนจัดที่สาดส่องมาเต็มที่ เหมือนเป็นเครื่องช่วยไล่ให้ชาวบ้าน หลบพักผ่อนกันอยู่ตามบ้านเรือน มากกว่าจะออกมาข้างนอก

ผมยืนมองเรือประมงขนาดเล็กที่แน่นิ่งอยู่ริมฝั่งซึ่งกลายเป็นทะเลโคลนไปแล้ว ... คงจะต้องรอให้ถึงเวลาน้ำขึ้น วิถีชีวิตของชาวประมงจึงจะเริ่มต้นอีกครั้ง

ท่ามกลางอากาศร้อนจัด ราวกับไม่มีความเคลื่อนไหวใด มีเพียงสายลมแรงที่พัดเอาผมยาวๆของผม มาปิดหน้าปิดตาตัวเอง (- _ -)”

..

แต่ท่ามกลางความอบอ้าว ผมเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างอยู่ในทะเลโคลน

สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆหน้าตาน่ารักน่าชังอย่าง “ปลาตีน” กำลังเกลือกกลิ้งไปมาอยู่บนพื้นผิวโคลนอุ่นๆ

ปลาชนิดนี้มีครีบอกที่ทรงพลัง สามารถใช้ดันตัวเองให้พุ่งกระโจนไปข้างหน้า
รวมทั้งยังใช้ปีนต้นไม้ ซึ่งครีบอกสารพัดประโยชน์ที่ทำหน้าที่คล้ายเท้านี่เอง จึงเป็นที่มาของชื่อน่ารักๆอย่าง ปลาตีน

ผมสังเกตปริมาณปลาตีนในบริเวณนั้น พบว่ายังมีอยู่จำนวนมาก ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่
ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องบอกได้ว่า ระบบนิเวศน์ของหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ยังเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตริมฝั่ง

..

หลังจากเพลินอยู่กับการมองดูปลาตีนกระโดดไปกระโดดมาอยู่บนปลักโคลน
(รวมทั้งการแกล้งให้มันตกใจเล่นอีกนิดหน่อย แหะๆ )
ผมจึงเดินสำรวจไปอีกฟากหนึ่งของหมู่บ้าน

ความเงียบสงบเมื่อครู่ ถูกทำลายลงด้วยเสียงหัวเราะของเด็กสองคน

เด็กชายมุสลิมลูกหลานชาวประมงสองคนเพิ่งเลิกเรียน และกำลังสนุกอยู่กับการปล่อยว่าวขึ้นไปบนฟ้า

เด็กๆไม่ได้เล่นว่าวอย่างที่เราเห็นกันตามท้องสนามหลวง แต่เป็นการปล่อยว่าวให้พุ่งสูงเฉยๆ เพราะด้วยลมที่พัดแรงมาก ฉุดว่าวให้พุ่งทะยานขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะดิ่งลงมาปักบนพื้นอย่างแรงจนน่าหวาดเสียว
(กลัวว่ามันจะปักลงบนหัวใครคนใดคนหนึ่ง ... ไม่เด็กสองคนนั้น ก็หัวผมนี่แหละ)

..

ผมมองดู เด็กๆเล่นสนุกสนานไปกับว่าวประดิษฐ์เอง ... เห็นแล้วนึกถึงบางฉากของวรรณกรรม และภาพยนตร์ชื่อก้องอย่าง “The Kite Runner”
โดยเฉพาะทิวทัศน์แปลกตาที่หาไม่ได้ง่ายนัก ยิ่งให้อารมณ์ราวกับว่า เด็กทั้งสอง คือ ตัวละครที่กำลังโลดแล่นอยู่ในฉากภาพยนตร์ต่างประเทศสักเรื่อง

แม้หมู่บ้านรูสะมิแล ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานี มีเพียงบ้านเรือนโทรมๆ เรือหาปลาเก่าๆจอดริมฝั่ง กับวิถีชีวิตห่างไกลความเจริญ

แต่ผมก็มองเห็นความสวยงามของหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้

ผืนดินแห้ง แตกระแหง เพราะอากาศร้อนจัดหลังจากน้ำลง ทอดยาวกว้างไกลไปสุดลูกหูลูกตาโดยมีผืนฟ้าครามเข้มโอบล้อม

ไกลออกไปสุดเส้นขอบฟ้า คือ อ่าวไทย ... ทะเลซึ่งคอยหล่อเลี้ยงชีวิต
นี่แหละ “บ้านของชาวประมง”


..

“รอยยิ้มของลูกเรือต่างด้าว”




สถานการณ์ความรุนแรง อาจทำให้สภาพเศรษฐกิจของเมืองปัตตานีซบเซาลงไป
แต่ทว่าฟันเฟืองขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนให้จังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ยังเดินหน้าต่อไปได้ คือ “อุตสาหกรรมการประมง”

ขึ้นชื่อว่า อุตสาหกรรมประมง ย่อมต่างจากการประมงพื้นบ้านของชาวบ้านแบบลิบลับ เพราะอะไรๆก็ดูขยายใหญ่โตไปหมด
ทั้งการลงทุน ขนาดเรือ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ จำนวนแรงงาน รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลบ่งชี้ความสำคัญของอุตสาหกรรมประมงในจังหวัดปัตตานี คือ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP
... มีสัดส่วนของการประมงมาเป็นอันดับหนึ่ง

..


ส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมการประมงเต็มรูปแบบนั้น มักใช้ลูกเรือเป็นชาวต่างด้าวแทบทั้งหมด
โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสุดที่รัก อย่างกัมพูชา และพม่า เพราะสู้งานหนัก แถมยังมีค่าจ้างถูกกว่าแรงงานชาวไทย
ส่วนคนไทยที่มีส่วนร่วมอยู่บนเรือประมงบ้างนั้น คือ ตำแหน่งใหญ่อย่างไต้ก๋ง หรือคนขับเรือ หากจะมีแรงงานชาวไทยที่เป็นลูกเรือบ้าง ก็คงนับเป็นส่วนน้อย

..

ผมเคยมีประสบการณ์แวะไปชมเรือประมงครั้งแรกเมื่อต้นปี 52 ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ซึ่งครั้งนั้นเป็นเรือประมงขนาดกลางที่มีสมาชิกบนเรือเพียง 4-5 คน

แต่สำหรับการมาเยือนปัตตานี ผมได้สัมผัสกับบรรยากาศเรือประมงขนาดใหญ่ขึ้น จ
ากที่ประมาณคร่าวๆด้วยสายตา น่าจะมีลูกเรือไม่ต่ำกว่า 20 ชีวิต
(หนุ่มผิวเข้ม ล่ำๆ แมนๆ เต็มลำเรือเลยนะเธอ !!)



“พี่ชา” ไต้ก๋งชาวประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้ผมฟังว่า
ลูกเรือทั้งหมดเป็นแรงงานชาวกัมพูชา ซึ่งในยามบ่ายวันนั้น เหล่าคนเรือแวะเข้ามาจอดพักผ่อนเอาแรง เตรียมอุปกรณ์ เตรียมเสบียง ก่อนจะออกไปสู้น้ำสู้ฟ้ากลางมหาสมุทรในอีกไม่กี่วันถัดไป

ผมคิดว่า การที่ใครสักคน จะคุมคนงานต่างชาติวัยฉกรรจ์ ในบรรยากาศการทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อยท่ามกลางชีวิตที่มีแต่ผืนน้ำและแผ่นฟ้านั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะทำได้

แต่ทว่า สำหรับผู้มีประสบการณ์ทำงานอยู่กับทะเลมากว่า 30 ปี
คงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า พี่ชา มีความเป็นชาวเรือเข้มข้นแค่ไหน ...
จึงไม่น่าแปลกที่ลูกเรือต่างด้าวทุกคน ต่างให้ความเคารพ และเชื่อฟัง ไต้ก๋งคนนี้อย่างเต็มใจ

..

ผมขึ้นไปบนเรือในวันนั้น เป็นจังหวะสำคัญพอดิบพอดี นั่นคือ
การจ่ายค่าแรงให้กับลูกเรือ

พี่ชา เรียกชื่อลูกเรือต่างด้าวแต่ละคน ซึ่งค่อยๆทยอยต่อแถวมารับค่าจ้างอย่างว่าง่าย และสุดจะนอบน้อม

ขณะจ่ายเงิน พี่ชาก็พูดเตือนไปพลาง ให้บรรดาลูกเรือทั้งหลายระมัดระวังในการใช้จ่าย
“หมดแล้วหมดเลยนะ จำให้ดี”




นาทีนั้น นับเป็นอีกช่วงเวลาแห่งความสุขสำหรับชาวเรืออย่างแท้จริง
แต่ละคนมีใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อตนเองได้ค่าตอบแทนจากความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมา
ผมสังเกตหลายคนเพิ่งอาบน้ำเสร็จ หวีผมเรียบแปล้ พร้อมจะออกไปตะลอนเที่ยวในยามเย็น
ขณะที่ริมฝั่งมีสาวๆอีกกลุ่ม มายืนรอแฟนหนุ่ม เพื่อที่จะได้ใช้เวลาในวันพักผ่อนร่วมกัน

..

“360 องศา สะพานปลาปัตตานี”






บรรยากาศบนเรือประมง ซึ่งจอดพักอยู่ใจกลางเมืองริมแม่น้ำปัตตานี เป็นบรรยากาศของการพักผ่อนเติมเรี่ยวแรงของชาวเรือ

แต่ไกลออกไปจากตัวเมือง ผ่านสายน้ำล่องตรงไปสู่อ่าวไทย หรือขับรถอ้อมถนนเส้นใหญ่ไปอีกฝั่งเมือง ที่นั่น
คือ “สะพานปลาปัตตานี”
ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะได้เห็นบรรยากาศการทำงานเต็มรูปแบบ จากบรรดาชาวเรือที่เพิ่งกลับเข้าฝั่ง

ในเมืองที่อุตสาหกรรมการประมง คือ รายได้หลักของจังหวัด คงเดาได้ไม่ยากเลยว่า บริเวณท่าเทียบเรือที่นำปลามาขึ้นฝั่งนั้นจะมีความคึกคักมากเพียงใด

..


ความจริงแล้ว ชีวิตในสะพานปลาแต่ละแห่ง ไม่เพียงแค่ที่ปัตตานี
... คงมีความคึกคักวุ่นวายมากที่สุดในช่วงเวลาเช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

แต่ผมเลือกเดินทางไปเก็บความเคลื่อนไหวของสะพานปลาในช่วงบ่ายแก่ๆ

เนื่องจากเหตุผลเรื่องความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งอยากได้ภาพวิถีชีวิตที่มีแสงแดดมาสร้างองค์ประกอบสวยๆในภาพ

(คนขี้เกียจตื่นเช้า ก็หาข้ออ้างไปเรื่อยล่ะครับ ... ฮา)




อย่างไรก็ดี บรรยากาศยามบ่ายของสะพานปลาปัตตานี ก็มีความคึกคักไม่น้อยเช่นกัน
เรือประมงขนาดใหญ่หลายลำเพิ่งจะเข้ามาจอดเทียบท่า แรงงานชาวต่างด้าว เริ่มทยอยขนอุปกรณ์ต่างๆลงมาชำระล้าง

ชีวิตริมท่าเรือสะพานปลาที่เงียบๆในช่วงหลังเที่ยง เริ่มเคลื่อนไหวคึกคักอีกครั้ง

..

..


เมื่อเรือเทียบท่าได้ไม่นาน การทำงานสำคัญก็เริ่มขึ้น

ปลาที่จับได้ จะถูกตักขึ้นมาจากห้องทำความเย็น ก่อนจะนำมาใส่ไว้ในตะกร้า หรือในลังพลาสติก
จากนั้นก็ค่อยๆลำเลียงลงไปให้กับคนงานริมฝั่งเพื่อคัดแยกประเภทต่อไป

..

สัญชาติของคนงานที่สะพานปลา ไม่ได้แตกต่างไปจากลูกเรือประมงริมแม่น้ำปัตตานีแต่อย่างใด
โดยกลุ่มหลักยังคงเป็นแรงงานชาวกัมพูชา และพม่า ส่วนแรงงานชาวไทยมักจะทำหน้าที่ในส่วนอื่น หรือไม่ก็เป็นเจ้าของกิจการ




แต่หน้าที่หนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ขยายโอกาสแก่คนท้องถิ่น คือ การคัดแยกประเภทปลา
โดยงานประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานหนักมากมาย แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการคัดแยก

ผมสังเกตเห็นกลุ่มแรงงานสตรีชาวมุสลิม หยิบปลาขึ้นมาจากลังปุ๊ป ก็จับโยนใส่อีกลัง แบ่งประเภทได้อย่างรวดเร็ว
... ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน(การกิน)ปลา อย่างผม
ดูไม่ออกว่า ปลาแต่ละตัวที่จับโยนๆลงไปนั้น มีความแตกต่างกันยังไง

.



หน้าที่การคัดแยกประเภทปลา ไม่เพียงแต่มีแรงงานเป็นคนในพื้นที่เท่านั้น
แต่ยังมีแรงงานต่างด้าวอย่างสาวๆชาวพม่า มาทำหน้าที่นี้อีกด้วย

ผมสังเกตถึงความน่ารักของแรงงานสาวพม่าได้อย่างหนึ่ง
คือ สาวๆแต่ละคนจะทาแป้งสีเหลืองๆ หน้าตาผ่องใส ก่อนที่จะเริ่มงาน
... คงเป็นนัยว่า งานจะเหน็ดจะเหนื่อยยังไง ชั้นก็ขอสวยไว้ก่อน




ผมเก็บภาพการทำงานของสาวๆประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่นาน ก็ได้รับรอยยิ้มหวานๆเป็นการตอบแทน

อืมมม ... ถึงสาวไทยจะไม่ค่อยมอง แต่ก็มีเสน่ห์ต่อสาวพม่าเหมือนกันนะนี่เรา

...

ปลามาตรฐานทั่วไป เช่น ปลาทู ปลาโอ หรือปลาขนาดเล็ก
จะถูกลำเลียงไปคัดแยกตามปกติ

แต่ผมสังเกตว่า หากเป็นปลาที่มีตัวขนาดใหญ่ (หรือใหญ่มาก)
ก็จะถูกคัดออกมาเพื่อชั่งกิโล คิดราคาค่าตัวกันตรงนั้นเลย

.



ปลาทู ที่เราเห็นๆกันตามตลาด หรือซื้อกินจากร้านข้าวแกง หลายคนอาจคิดว่าตัวก็เล็ก แถมราคาแพงอีกต่างหาก
... แต่สำหรับสะพานปลา ซึ่งเป็นจุดพักแรกเมื่อปลาขึ้นฝั่ง
ปลาทูซึ่งผมมองว่าตัวก็ไม่เล็กเท่าไหร่ กลับถูกแบ่งประเภทออกมาเป็นปลาขนาดเล็กเสียอย่างนั้น




อยากรู้จัง ว่าปลาทูตัวใหญ่ๆไปอยู่ไหนกันหมดนะ
ไม่เคยได้กินสักที (- - )“

..
.

ปลาอีกชนิดหนึ่งที่มูลค่าลดลงไปในทันทีที่ขึ้นฝั่ง เรียกว่า “ปลาท้องแตก”

จริงๆแล้ว ปลาท้องแตก ก็คือ ปลาทั่วไปได้ทุกประเภท
แต่ที่มาของชื่อ มาจากการขนส่งที่บางครั้งอาจกระทบกระแทกจนทำให้ปลาบางตัวท้องแตก ไม่สมประกอบ ชิ้นส่วนหลุดขาด หรือมีสภาพไม่สวยสมบูรณ์

ปลาท้องแตกจะถูกแยกไปอีกประเภทหนึ่ง โดยมีราคาลดลงไปจากเดิม
และปลาท้องแตกแทบทั้งหมดมักจะถูกนำไปแปรรูป มากกว่าจะไปวางขายเป็นตัวๆเหมือนปลาชนิดอื่น





ส่วนเศษซากชิ้นส่วนของปลา ที่เกิดจากความผิดพลาดในการขนส่งนั้น
ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการส่งไปโรงงานปลาป่น นำไปเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ได้ต่อไป

..

ปลาสดจากทะเล ที่แยกประเภทเรียบร้อยแล้ว
ส่วนหนึ่งจะนำมาแช่แข็ง และรีบนำขึ้นรถขนส่งต่อไปยังโรงงานทันที
โดยมีโรงงานทั้งในจังหวัดปัตตานี รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงมารับซื้อ

สำหรับจังหวัดปัตตานี นับว่าเป็นแหล่งที่ตั้งสำคัญของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทะเลในระดับประเทศ
และไม่เพียงแค่การแปรรูปเพื่อบริโภคภายในเท่านั้น
แต่ยังส่งออกไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีเป็นจำนวนเงินนับหมื่นล้านบาท




โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์แห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าชาวไทยทุกคนคุ้นเคย ... ก็มีสาขาตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี

นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ “Three Lady Cooks”

(ใช้ชื่อภาษาอังกฤษให้งงกันเล่นๆ ... ชื่อภาษาไทย ก็คือ “ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว” นั่นเอง)

.



ปลาอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้ถูกส่งตรงไปยังโรงงานอุตสาหกรรม จะถูกนำมาแบ่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลาง ที่เดินทางมาเลือกซื้อกันถึงท่าเรือ

แม้ในสายตาของคนนอกวงการอย่างผม มองว่าปริมาณปลาที่มาจากเรือแต่ละลำนั้น มีจำนวนมากมายมหาศาลแล้ว
แต่เจ้าของแพปลาท่านหนึ่ง บอกให้ผมทราบเป็นความรู้ใหม่ว่า
“นี่ยังถือว่าน้อยนะครับ เพราะช่วงนี้เป็นคืนเดือนหงาย ปลาไม่ค่อยมี ถ้าเป็นคืนเดือนมืดปลาถึงจะเยอะ บางครั้งได้มาเต็มลำเรือ ได้เงินเป็นแสนเลยล่ะครับ”

.


ผมใช้เวลาก่อนที่แสงอาทิตย์ของวันจะลาลับไปอีกครั้ง เก็บตกบรรยากาศรอบๆสะพานปลา

ไม่ไกลจากบริเวณที่เรือใหญ่เทียบท่า มีเรือหางยาวรับจ้างขนาดเล็ก จอดรอคอยผู้ใช้บริการ โดยเรือรับจ้างประเภทนี้ จะพาลูกค้าท่องเที่ยว ล่องแม่น้ำปัตตานี ทวนกระแสน้ำเข้าไปในตัวเมือง ก่อนจะกลับมายังจุดเดิม

ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ผมเห็นก็เป็นบรรดาแรงงานชาวต่างด้าว ที่อาศัยช่วงพักผ่อนระหว่างวัน นั่งเรือกันไปเป็นกลุ่ม หรือบางคนก็เดินทางกันไปเป็นคู่ ดูสวีทหวานแหววกันไปอีกแบบ

..

การเดินทางท่องเที่ยวของผมแต่ละครั้ง มักมีดวงสมพงษ์กับการได้ถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงน่ารักจากสถานที่ต่างๆเสมอๆ ไม่ว่าจะขึ้นเหนือเที่ยวดอย ลงใต้เที่ยวทะเล

ไม่เว้นแม้กระทั่งการเดินทางมายังสะพานปลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่น่าจะมีสัตว์เลี้ยงตัวไหนมาเดินเพ่นพ่านได้

แต่สำหรับเจ้ารูปหล่อตัวนี้ คงเป็นกรณีพิเศษ

เจ้ารูปหล่อไม่ได้มาเพ่นพ่านอยู่ริมฝั่ง หรือถูกใครมาปล่อยทิ้งเอาไว้ ... หากแต่มันคือหนึ่งในสมาชิกลูกเรือ ของเรือประมงลำหนึ่ง

..

ผมเองไม่อาจคาดเดาถึงตำแหน่งประจำเรือของมันได้
แต่เห็นคนงานหลายคนดูจะมีความสุข และรอยยิ้มกับการมีสมาชิกตัวนี้วิ่งไปวิ่งมาอยู่บนเรือ
... เป็นไปได้ไหมว่า ลูกเรือตัวนี้ อาจมีตำแหน่งเป็นนักกิจกรรมสันทนาการ

..

การเดินทางมาที่สะพานปลาปัตตานี คงไม่ใช่ตารางการท่องเที่ยวซึ่งต้องบรรจุไว้เมื่อมาเยือนเมืองปัตตานีแน่ๆ
เพราะสะพานปลาปัตตานี ไม่ใช่พื้นที่หรูหรา ไม่ได้เป็นตลาดปลาระดับโลกอย่าง ตลาดปลาซึคิจิ (Tsukiji) ในโตเกียว
ที่จะได้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับกับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้





ด้วยสภาพโทรมๆที่ไม่น่าดู ไร้สีสัน ไร้การตกแต่ง บางส่วนของพื้นที่เต็มไปด้วยขยะกระจัดกระจาย กลิ่นคาวปลาที่คละคลุ้งจนแสบจมูก
การทำงานหนักของแรงงานชาวต่างด้าวที่ไม่ได้แต่งตัวสวยๆงามๆชวนมอง ...
บรรยากาศเหล่านี้ เป็นคำถามว่า ทำไม ผมจึงเดินทางไปสะพานปลาปัตตานี

อาจจะตอบแบบพระเอกหนังไทยไปหน่อย แต่ผมก็รู้สึกจริงๆว่า ...
บรรยากาศเหล่านั้น คือ ความงดงามที่ไม่ต้องปรุงแต่งของวิถีชีวิตในเมืองเล็กๆแห่งนี้

..

เรือประมงขนาดใหญ่ที่เพิ่งจะเทียบท่าเอาปลาลงฝั่งเมื่อยามบ่าย
เพียงระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เคลื่อนกลับไปสู่ผืนน้ำอีกครั้ง

ผมไม่แน่ใจว่า บรรดาลูกเรือจะได้หยุดพักผ่อนก่อน หรือว่าจะต้องกลับไปเริ่มงานครั้งใหม่ในทะเลกว้าง

แต่ในแววตา พร้อมสีหน้าเปื้อนยิ้มจากบนเรือคล้ายบ่งบอกว่า พวกเขายังมีความสุขกับการทำงาน

เรือใหญ่ค่อยๆเคลื่อนออกไปช้าๆ ขณะที่ผมยืนเก็บภาพจากบริเวณท่าเรือ
คนบนเรือ กับ คนริมฝั่ง กำลังสื่อสารกันด้วยรอยยิ้ม

วิถีชีวิตของชาวสะพานปลายังดำเนินไป ตราบเท่าที่ลมหายใจแห่งความสมดุลของธรรมชาติยังคงอยู่

.



“สำรวจตลาด”




จังหวัดปัตตานี เป็น 1 ใน 5 จังหวัดมีพื้นที่ใกล้กับประเทศมาเลเซีย
จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มาวางขายปะปนอยู่กับสินค้าคุ้นหน้าคุ้นตาทั่วไป
ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบของพี่น้องชายแดนใต้ ที่มีสินค้าหน้าตาแปลกๆ แตกต่างจากเดิมๆมาให้ลองเลือกใช้ดูบ้าง อย่างเช่น ครีมอาบน้ำ และแชมพูนมแพะ เป็นต้น

..

เมื่อพูดถึง แพะ ... ในตัวเมืองปัตตานี ชาวบ้านนิยมเลี้ยงสัตว์อย่างแกะ หรือแพะ ไว้จำนวนไม่น้อย

แม้เกษตรกรบางกลุ่ม ทำเป็นฟาร์มปศุสัตว์อย่างเป็นสัดส่วน
แต่การเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะพื้นบ้าน แบบครัวเรือนก็ยังมีให้เห็นได้ทั่วไป

แกะ หรือแพะ เหล่านี้ ชาวบ้านมักไม่เข้มงวด และปล่อยให้เดินออกหากินไปตามถนนหนทาง
กลายเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

เพราะ “แกะ – แพะ” พวกนี้ ไม่นิยมเส้นทางของสัตว์ประเภทอื่น
พวกมันจึงไม่ยอมข้าม “ทางม้าลาย”


.
..

ปลายธันวา ปี 52 มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในตัวเมืองปัตตานี
บริเวณหน้าร้านขายบะหมี่เกี๊ยว ข้าวหมูแดง เคราะห์ดีที่อานุภาพระเบิดไม่รุนแรง จึงมีเพียงแค่ผู้บาดเจ็บไปคนละเล็กละน้อย

หากวิเคราะห์แบบผิวเผิน ผู้ก่อการร้ายนอกศาสนา
(ผมไม่ขอนับคนประเภทนี้ว่านับถือศาสนาใด)
คงต้องการสร้างสถานการณ์เหตุร้ายในทุกพื้นที่ที่มีชาวพุทธอยู่อาศัย

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา คือ
ร้านที่โดนระเบิดนั้น มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานเข้าไปทานอยู่ด้วย
จึงกลายเป็นว่า ร้านขายข้าวหมูแดง ซึ่งตั้งขายมานมนานหลายปี
และไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ใด ต้องพลอยได้รับผลกระทบจากความรุนแรง






แม้ผมไม่มีโอกาสแวะไปร้านดังกล่าว แต่ก็ได้ไปทานข้าวหมูแดงอีกร้านหนึ่งใกล้ตลาดกลางเมือง ...
(หมูแดง หมูกรอบ น้ำราดรสเด็ดนั้น มีราคาย่อมเยาชนิดที่หาไม่ได้ในกรุงเทพ)

แน่นอนว่า ข่าวการระเบิดหน้าร้านอื่น เมื่อปลายปีก่อน คงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ขายร้านนี้ไม่น้อยเช่นกัน
... แต่ในเมื่อร้านนี้ คือ อาชีพเลี้ยงครอบครัว เสียงระเบิดครั้งนั้น จึงไม่อาจหยุดวิถีเลี้ยงชีพของพวกเขาได้

..

ไม่ต่างจากบรรยากาศของตลาดใจกลางเมือง ที่ชาวปัตตานีทุกคนรู้จักกันในนาม
“ตลาดโต้รุ่ง”




ตลาดแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการค้าขายสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในตัวเมืองปัตตานี
โดยนอกจากจะมีร้านค้าต่างๆในบริเวณนี้เป็นจำนวนมากแล้ว ลานกว้างในเวลากลางวันยังเป็นตลาดสด
และเปลี่ยนเป็นตลาดขายอาหารในช่วงเย็นจนถึงดึก ซึ่งมีทั้งชาวพุทธ และชาวมุสลิม ออกมาจับจ่าย ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นตลาดของคนศาสนาใด

พื้นที่ลานกว้างตรงนั้น ราวกับเป็นดินแดนแห่งสันติภาพและความสุข ที่ทุกคนต่างมาเติมเรี่ยวแรง มาจับจ่ายใช้สอย มาพูดคุยพบเจอเพื่อนฝูง มาหาซื้อของอร่อยๆกลับไปฝากใครสักคนที่รออยู่ที่บ้าน

แต่ทว่าในคืน 30 เมษายน ปี 50
เสียงระเบิดกึกก้องกัมปนาทบริเวณหน้าตลาดโต้รุ่ง ฝีมือจากคนนอกศาสนา ก็สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับทุกคน และหนึ่งในเหยื่อเหตุการณ์ครั้งนั้น คือ นักศึกษาจาก ม.อ.ปัตตานี ผู้เดินทางมาไกลจากเชียงใหม่

เด็กหนุ่มอนาคตไกลจากต่างถิ่น ต้องมาจบชีวิตลง ณ สถานที่แห่งนี้
... ผมคงไม่ต้องบรรยายว่า พี่น้องชาวปัตตานีเอง จะรู้สึกเสียใจไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
และมันส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ทำมาหากินบริเวณนั้นอย่างไร




เหตุการณ์ความสูญเสียดังกล่าว ส่งผลให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากกล้องวงจรปิด และทหารที่ต้องประจำการในจุดล่อแหลมแล้ว รถมอเตอร์ไซค์ทุกคัน ต้องไปจอดริมเกาะกลางถนน แทนการจอดประชิดริมบาทวิถีเช่นเดิม ขณะเดียวกันต้องเปิดเบาะเอาไว้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และง่ายต่อการตรวจสอบ

..

อย่างไรก็ตาม ในคืนที่ผมเดินทางไปตลาดโต้รุ่ง
... เป็นช่วงเวลาที่ผ่านเหตุการณ์อันน่าสลดมาแล้วเกือบ 3 ปี

บรรยากาศของตลาดแห่งนี้ ดูมีสีสัน คึกคัก ไม่เงียบเหงาอย่างที่คิด

ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังเชื้อสายจีน มีคนยืนออรอคิวกันอย่างเนืองแน่น

ร้านอาหารตามสั่งมีลูกค้าเบียดเสียดจนแคบไปถนัดตา

ขณะที่ร้านอาหารมุสลิม ก็มีลูกค้าเดินซื้อกันขวักไขว่

ผมคิดว่า แม้เหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต
อาจเป็นบาดแผลในจิตใจของชาวปัตตานี และอาจยังเต็มไปด้วยความวิตกกังวลถึงเหตุร้าย ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด

แต่ทุกชีวิต คล้ายกับต้องปรับสภาพจิตใจให้ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น
เพราะการทำมาค้าขายโดยสุจริต คือ วิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านี้
... หากจิตใจยังเข้มแข็ง ร่างกายยังมีเรี่ยวแรง ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป
..

ตลาดอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองปัตตานี เรียกว่า “ตลาดมะกรูด”
ตลาดเล็กๆแห่งนี้ไม่ไกลจากที่ตั้งของหน่วยงานราชการสำคัญ โดยเป็นตลาดสดในเวลากลางวัน ถึงช่วงเย็น




เมื่อเรามองแล้ว ตลาดมะกรูด ก็ไม่ได้แตกต่างจากตลาดสดแห่งอื่นในประเทศไทย ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยน

..

แต่ในความเหมือน ก็มีความแตกต่าง

ด้วยสถานการณ์อันไม่ปกติ ที่เกิดจากคนนอกรีต นอกศาสนา
... ตลาดมะกรูด จึงไม่ต่างจากตลาดโต้รุ่ง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยตรวจตราความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน

ฝั่งตรงข้ามตลาดมะกรูด มีกองกำลังผสม 3 ฝ่าย ได้แก่ ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครทหารพราน ยืนประจำการอยู่ 3 จุด คอยระแวดระวังภัย และสังเกตความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น


..

เหล่าทหารกล้าที่มายืนประจำการอยู่ ณ จุดนั้น เป็นทหารหนุ่ม 3 นาย
เดินทางไกลมาจากจังหวัดอุดรธานี ขณะที่กองกำลังอีก 2 ส่วน เป็นคนในพื้นที่ปัตตานี

กองกำลังผสม 3 ฝ่าย ที่แต่ละคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
แต่ก็มาร่วมแรงร่วมใจ ร่วมมือกันในการปกป้องความสงบสุขให้กับผืนแผ่นดิน

ขณะที่เวลาค่อยๆเดินไปเรื่อย และแสงอาทิตย์กำลังจะลับฟ้าลาหายไปอีกวัน
แต่แววตาของความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ของทหารทุกนายยังไม่เปลี่ยนแปลง

ช่วงเวลานั้น ผมอาจจะตกอยู่ในภวังค์ หรือคิดไปเองว่า

... บางส่วนในเนื้อหาของเพลง “ราตรีสวัสดิ์”**
ราวกับดังก้องอยู่ในหูชัดเจนกว่าทุกครั้ง

**เพลงราตรีสวัสดิ์ โดยศิลปิน ฟักกลิ้ง ฮีโร่ และ ธีร์ ไชยเดช

https://www.youtube.com/watch?v=JFCooDPQZns


.

.

“ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”


ใครที่รู้จักปัตตานีผ่านเพียงแค่ข่าวสถานการณ์ความรุนแรงจากสื่อหลัก อาจนึกไปว่า จังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ เป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว หรือเป็นจังหวัดที่มีแต่คนนับถือศาสนาอิสลาม
... แต่ในความเป็นจริง ปัตตานีเป็นเมืองที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมเห็นได้เด่นชัด ทั้งวัดวาอาราม และชุมชนชาวคริสต์

รวมถึง “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” หรือ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”
ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่ง ที่บ่งบอกความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเมืองปัตตานี




ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ย่านเก่าแก่ กลางเมืองปัตตานี ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดว่า เป็นสถานที่เดียวกันกับ ‘สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’
บริเวณมัสยิดกรือเซะ ที่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่อหลายปีก่อน

สำหรับศาลเจ้าเก่าแก่กลางเมือง เป็นดั่งศูนย์รวมแห่งความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยเชื้อสายจีน ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน

แม้ทุกวันนี้จะเงียบเหงาไปบ้างตามสภาพเศรษฐกิจ และผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ความศรัทธาก็ไม่เคยจางหาย

โดยในแต่ละปี จะมีการจัดงานสมโภชฯ สร้างเป็นจุดขาย และเทศกาลท่องเที่ยวประจำปีของจังหวัด
โดยเฉพาะในปีนี้ จังหวัดปัตตานีมีการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า “เทศกาลสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว 130 ปี และมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานี 2553”


..


งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดปัตตานี

น่าเสียดายที่ผมเดินทางไปไม่ตรงช่วงเวลานั้น
แต่ก็พอจะเริ่มเห็นบรรยากาศของการเตรียมพร้อมบ้างแล้ว เช่น การเริ่มตกแต่งสถานที่ ทาสีใหม่ และมีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนมาซ้อมการแสดง

งานสมโภชอันยิ่งใหญ่ ไม่เพียงแค่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะมาร่วมงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งพุทธ และอิสลาม ไว้ในกิจกรรมต่างๆที่พอสามารถมาร่วมจัดด้วยกันได้ เช่น เทศกาลอาหาร การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาวบ้าน และการแสดงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

เหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความสันติสุข ความสมานฉันท์ของคนเมืองปัตตานีส่วนใหญ่ ที่แม้จะต่างความเชื่อ ต่างศาสนา แต่ก็ได้อาศัยอยู่ร่วมบนผืนแผ่นดินเดียวกัน

..

“ความสุขไม่แบ่งแยก”


ถัดจากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปไม่กี่ร้อยเมตร เป็นสถานที่ตั้งของ
“วัดนิกรชนาราม” หรือ “วัดหัวตลาด” ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ได้อยู่ในตารางการแวะชมของผมมาก่อน

แต่ด้วยสีสันสดใส สะดุดตา กับเสียงเพลง สะกิดหู ก็เป็นแรงดึงดูด
ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะต้องลองแวะเข้าไปเก็บบรรยากาศความสุขเหล่านั้น

.



แม้บรรยากาศของความสุข ยังไม่คึกคักมากนัก
แต่ผมก็ได้ทราบคำตอบจากชาวบ้านแถวนั้นว่า เครื่องเล่นต่างๆ นำมาจัดตั้งเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อรองานเทศกาลสมโภชฯ ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์
... ซึ่งหากถึงวันนั้น มหกรรมวันเด็กย่อยๆคงเกิดขึ้นที่ลานวัดแห่งนี้





แสงไฟนีออนหลากสีสันของเครื่องเล่นชนิดต่างๆ เคล้าเสียงเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่จังหวะคึกคักที่ดังกระหึ่ม
ล้วนเป็นความสุขเรียบง่าย เหมือนกับชีวิตของคนต่างจังหวัดทั่วไป

เครื่องเล่นแบบงานวัดที่เรายังพอเห็นได้ตามต่างจังหวัด
ไม่ว่าจะเป็น ม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์ สไลเดอร์ลมยาง ฯลฯ ต่างขับเคลื่อนไปตามจังหวะ สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้กับเด็กๆทั้งพุทธ และมุสลิม


...

สีสันแห่งความสุขกลางลานวัดที่กำลังหมุนวน
... ทุกคนต่างได้รับไปร่วมกัน โดยไม่มีเส้นกั้นแบ่งแยกศาสนา


..

“ชีวิตที่เป็นไป ในเมืองปัตตานี”


จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง

แต่แก่นแท้ของความเป็นเมืองปัตตานี คือ ความสันติสุขของการอยู่ร่วมกันของคนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา

ผมเชื่อว่า ชาวปัตตานีส่วนใหญ่ ไม่แตกต่างจากคนไทยทั่วไป ที่อยากเห็นความสงบสุขของผืนแผ่นดินเกิด เพียงแต่ด้วยบริบทโครงสร้างของปัญหา มันอาจซับซ้อนเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีคำตอบว่า ปัญหาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

แต่ชาวเมืองแห่งนี้ก็ยังคงหมุนวงล้อของชีวิตให้เคลื่อนต่อไปบนดินแดนที่พวกเขาเติบโต

.


หากวันใดไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง จังหวัดเล็กๆชายแดนใต้แห่งนี้ ก็เป็นพื้นที่แห่งความสงบไม่ต่างจากจังหวัดอื่นของประเทศ

แม้กลุ่มก่อการร้ายนอกศาสนา พยายามสร้างสถานการณ์ เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม

แต่ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า พี่น้องชาวปัตตานี จะไม่ยอมให้ใครมาทำลายความสงบสุขของบ้านเมืองเก่าแก่ที่มีมาช้านานเป็นแน่

ภาพของเมืองปัตตานีวันนี้ อาจกระจัดกระจายไปด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือด่านตรวจ

แต่สำหรับชาวเมือง คงไม่ได้มองว่าเป็นความแปลกแตกต่างอีกแล้ว
ตรงกันข้าม บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่

คงไม่มีเจ้าหน้าที่รายใด อยากทำร้ายพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์
เฉกเช่นเดียวกันกับพี่น้องชาวปัตตานีผู้รักสันติ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะรังเกียจ หรือไม่ไว้ใจเหล่าทหารผู้เสียสละเหล่านั้น

ทุกชีวิตที่ก้าวเดิน จึงไม่ต่างกับวัฒนธรรมอันหลากหลาย
แต่สุดท้าย ก็สามารถหลอมรวมร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองปัตตานี

.
.
.

ในวันที่พระจันทร์ลอยเด่น ส่องแสงนวลเหนือแม่น้ำปัตตานี
ขณะเวลาแสงอาทิตย์ยังฉาบท้องฟ้าเป็นสีส้มจาง

ผมยืนอยู่ริมฝั่ง มองความเป็นไปของชีวิตเมืองสงบๆแห่งนี้

เสียงประกาศจากลำโพงหน่วยงานราชการ บอกเวลา 18 นาฬิกา

ชาวเมืองปัตตานีหยุดยืนตรง รถบนถนนหยุดวิ่ง

เสียงเพลงชาติไทย ดังก้องกังวานไปทั่วบริเวณ


“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน.....”






ผมมองไปบนสะพานเดชานุชิต ใจกลางเมืองปัตตานี

ธงชาติไทย และธงเฉลิมพระเกียรติ ปลิวไสว อยู่เหนือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บรรยากาศที่ได้สัมผัสในนาทีนั้น ช่วยตอกย้ำว่า ...

ผมกำลังยืนมองชีวิต และความเคลื่อนไหวที่เป็นไปในดินแดนปลายด้ามขวาน

อันเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินที่เรียกว่า “ประเทศไทย”




-จบบริบูรณ์-
..





Create Date : 02 พฤษภาคม 2553
Last Update : 2 พฤษภาคม 2553 20:38:04 น. 20 comments
Counter : 10580 Pageviews.  

 
ถ่ายรูปสวยมากๆเลยค่ะ ชอบ ปรบมือให้ แปะๆๆๆๆๆ


โดย: A-La-Belle วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:02:53 น.  

 
ได้เห็นมุมมองนี้ เป็นเมืองที่น่าอยู่มากครับ


โดย: คนถ้ำ IP: 124.121.21.116 วันที่: 2 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:54:04 น.  

 


โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:50:19 น.  

 
ตามมาดูภาพสวยๆ จากกระทู้บ้านยางค่ะ


โดย: Still Alive วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:8:12:33 น.  

 

" ขอให้ปลอดภัย...และมีความสุข...น๊ะครับ "


โดย: ตาติ๊ก.............เองน๊ะครับ (สกุลเพชร ) วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:53:52 น.  

 
บ้านเกิดผมครับ


โดย: panwat วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:2:59:58 น.  

 
เป็นคนปัตตานีเหรอคะ
ชอบบรรยากาศ บ้านเมืองของปัตตานี
ถ้าสงบเมื่อไหร่ จะไปเที่ยวแน่ๆ
เคยไปแค่พังงา และกระบี่เอง ประทับใจมากๆ


โดย: amoderndog วันที่: 14 มิถุนายน 2553 เวลา:15:42:54 น.  

 
พี่ป๊อก ทำให้คิดถึงปัตตานี และเห็นทุกมุมที่นึกถึงจากบทความนี้ ขอบคุณคับ


โดย: รุ่นน้อง มว และ มอ. ปัต IP: 124.157.221.191 วันที่: 16 มิถุนายน 2553 เวลา:12:46:23 น.  

 
ขอบคุณที่มาเล่าเรื่องราวดีๆให้รับรู้นอกจากข่าวระเบิดรายวัน ถ่ายรูปสวยมากค่ะ


โดย: แม่น้องเกรซ IP: 117.47.160.83 วันที่: 24 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:51:42 น.  

 
ครั้งหนึ่งของชีวิต อยากไปเที่ยวปัตตานีซักครั้ง หัวใจอยู่ที่นั่นค่ะ


โดย: Aam IP: 222.123.67.3 วันที่: 25 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:28:18 น.  

 
ผมไปทำงานด้านความปลอดภัยที่ชายแดนใต้บ่อยมากๆ
จนกระทั่งต้องเสียเพื่อนร่วมงานไป 1 คน
เห็นภาพจากบล็อคคุณแล้ว คิดถึงภาพบรรยากาศดีๆ ที่ผมเคยเจอะเจอมา ขอบคุณมากๆครับ


โดย: aodbu วันที่: 6 สิงหาคม 2553 เวลา:3:12:43 น.  

 
ละเอียดดีจังครับ
ทำให้สงขลากับสุราษฎร์ธานีด้วยสิครับ

เพื่อนผมหลายคนมาจากที่นั่นปัตตานี

ตอนมอสี่เคยไปสอบด้วย สาธิต ม.อ.ปัตตานี

ทุกคนเป็นคนไทยครับ รักกันมากๆ นะครับ ชีวิตไม่ได้ยืนยาวนัก


โดย: คนขับช้า วันที่: 15 สิงหาคม 2553 เวลา:9:36:41 น.  

 
ขอบคุณมาก กับภาพสวยสวย วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ผมจะกลับบ้าน เพื่อไปลุยไฟ งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนียว ทุกปีครับ และภาพเจ้าหน้าที่ศาลเจ้าฯ กำลังทาสีนั้นเป็นภาพพ่อผมเองครับ ชื่อ อ๊อด ร้านสุวลัยครับ เราเป็นตระกูลจีนในปัตตานี รุ่นที่ 7 ถ้าพี่อยากรู้ก็เข้าไป GOOGLE พิมพ์ชื่อผม ภาณุศักดิ์ เวชชอุโฆษณ์ (นุ) ขอบคุณที่ให้หลายท่านเข้าใจ เมืองปัตตานีมากขึ้น (ลังกาสุกะ)ขอบคุณครับ แล้วเจอกัน


โดย: นุ ปัตตานี IP: 61.47.10.78 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:22:38:03 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: มนูศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ IP: 223.206.169.148 วันที่: 24 พฤษภาคม 2554 เวลา:9:17:43 น.  

 
ชมเชยท่าน อุตสาห์เขียนใก้อ่าน


โดย: วี IP: 118.174.44.221 วันที่: 13 กันยายน 2554 เวลา:15:25:55 น.  

 
ขอบคุณนะคะที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆและภาพสวยๆของจังหวัดปัตตานีให้ได้เห็นอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้กลับไปที่นั่นหลังจากเรียนจบแล้ว คงจะประมาณ 10 ปีได้ ^_^
ตอนนี้กำลังคิดถึง โหยหา และอยากกลับไปที่บ้านหลังที่สองของตัวเองอยากมาก แต่ไม่รู้จะมีใครเห็นด้วยรึเปล่า
ปล.ยังไงขออนุญาตแชร์บล็อคคุณ POGGHI ในเฟซของตัวเองนะคะ ขอบคุณค่ะ


โดย: suting IP: 172.16.2.118, 101.109.245.72 วันที่: 19 พฤษภาคม 2555 เวลา:16:05:33 น.  

 
เห็นแบบนี้แล้ว ค่อยมีกำลังใจ ที่จะไปเรียนต่อปัตตานีหน่อยค่ะ มีแต่คนไม่เห็นด้วย... ตอนนี้มั่นใจแล้ว น่าอยู่มาก


โดย: ป้อน IP: 115.67.33.71 วันที่: 8 กันยายน 2555 เวลา:22:34:19 น.  

 
ผมคนนึงล่ะครับ ที่เคยไปใช้ชีวิตที่นั่นอยู่ช่วงหนึ่ง
ยอมรับว่าปัตตานีเป็นเมืองที่สวยงามมากๆในทุกๆแง่
เป็นความทรงจำที่ลืมไม่ลงเลยจริงๆ
ขอความสงบสุขจงกลับคืนสูเมืองนี้และทุกๆที่นะครับ
รักมาครับ..............ที่นั่น...............ปัตตานี


โดย: หนุน ร้อยศพ IP: 61.19.151.140 วันที่: 27 กันยายน 2555 เวลา:14:46:02 น.  

 
ผมคนนึงล่ะครับ ที่เคยไปใช้ชีวิตที่นั่นอยู่ช่วงหนึ่ง
ยอมรับว่าปัตตานีเป็นเมืองที่สวยงามมากๆในทุกๆแง่
เป็นความทรงจำที่ลืมไม่ลงเลยจริงๆ
ขอความสงบสุขจงกลับคืนสูเมืองนี้และทุกๆที่นะครับ
รักมากครับ..............ที่นั่น...............ปัตตานี


โดย: หนุน ร้อยศพ IP: 61.19.151.140 วันที่: 27 กันยายน 2555 เวลา:14:46:43 น.  

 
ดีใจ ภูมิใจ ซึ้งใจ ปลื้มใจ เหนือคำบรรยาย......ที่ยังมีใครหลายๆคนยังเห็นความสมบูรณ์แบบและความสวยงามของเมืองปัตตานี ปัตตานีเคยสงบ เคยน่าอยู่ เคยสร้างความสุขให้กับใครหลายๆคนที่มาเยี่ยมเยือน บางครั้งผมก้รู้สึกเจ็บปวดน่ะครับ ว่ามีบางคนคอยแต่พูดว่าปัตตานีมีอะไรดีไม่รู้ๆ ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรน่าเที่ยวเลย แถมยังน่ากลัว....บางครั้งผมฟังแล้วก็อยากร้องไห้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพียงแค่ภาวนาให้ปัตตานีกลับมาสวยงามและสงบอีกครั้งๆ.....


โดย: คนรักปัตตานี เมืองบ้านเกิด IP: 118.175.161.246 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2557 เวลา:1:16:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POGGHI
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




..

บทความ และผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog นี้
สงวนลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ห้ามผู้ใดละเมิด ด้วยการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความ และ ผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog ไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร


POGGHI

..
[Add POGGHI's blog to your web]