ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจมันพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข.. Don't worry.. Be happy..
Group Blog
 
All Blogs
 

ชินคันเซน รถด่วนทะลุอนาคต.. ถึงตอนจบของไตรภาคชินคันเซนแล้วครับ

สวัสดีครับ..

บล็อดแก๊งปิดย้าย Server ไป 3 วัน นึกว่าจะไม่ได้มา Up ตามที่สัญญาไว้ซ่ะแล้ว

มาถึงตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบของการโม้เรื่องชินคันเซน อุตส่าห์ลากยาวมาถึงตอนที่ 3 จนกลายเป็นไตรภาคไปแล้ว

หวังว่าคงไม่เบื่อกันซ่ะก่อนนะครับ


ถ้าใครพึ่งเข้ามาอ่านแล้วรู้สึกว่าคุ้น ๆ ว่าเหมือนรีวิวของผมที่ลงไว้ที่ห้องบลู เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ขอบอกว่า ผมกำลังเอาเรื่องเก่ามาเหลาใหม่ใส่ไข่ใส่หมูเพิ่มเล็กน้อยครับ

อยากลงไว้ตรงนี้อีกครั้ง เพราะมีหลายคนขอมาว่าอยากให้รวมเรื่อง เหมือนการ์ตูนรวมเลม เพราะอยากอ่านรวดเดียว ไ่ม่ให้เสียอารมณ์

แต่ผมก็จะไม่เอาเปรียบมากนัก ถ้ามีข้อมูลใหม่ ๆ ก็เอามาแทรกไว้เรื่อย ๆ
ไม่งั้นจะหาว่าเอาแต่ก๊อปของเก่ามาปะอย่างเดียว บ่ ได้มีอะไรใหม่


ไม่ให้เสียเวลา ต่อกันเลย..





ภาคที่แล้วเอา Notebook ไปนั่ง Up ที่ร้านกาแฟ ไม่มีที่เสียบปลั๊กไฟ อัพกันจนแบ็ตฯ จะหมด เลยเร่งจบไปหน่อย ยังมีประเด็ดตกค้างที่ยังเล่าไม่หมดของ E4 Series อีกนิดหน่อย


เอา E1 กับ E4 Series มาเปรียบเทียบให้ดูหน้าตากันชัดชัด ถ้าไปเจอที่สถานีโตเกียว จะได้แยกออกว่าคันไหนเป็นคันไหน


สังเกตง่าย ๆ

- E4 หน้าจะยาวกว่า E1 และไฟหน้าไปห้อยอยู่ตรงปลายจมูกด้านหน้า
- ระดับของห้องพนักงานขับรถ E4 จะอยู่ต่ำกว่า E1
- กระจกหน้าของ E4 ก็ยาวน้อยกว่า เหมือนกระจกห้องคนขับรุ่น N700 Series
- สีที่ทา ของ E1 จะคาดด้วยแถบสีชมพู ส่วน E4 จะเป็นแถบสีเหลือง


ผมเห็นเจ้า E4 ทีไร นึกถึงกิ้งก่า พันธ์ที่มันกางครีบที่หัวได้ ทุ้กที...





E4 จะเพิ่มอุปกรณ์ตัวจับยึดขบวนรถอัตโนมัติ สำหรับต่อพ่วงขบวนรถ เพื่อเพิ่มความจุผู้โดยสารต่อขบวน

ซึ่งปกติ ในรุ่น E1 ถ้าต้องต่อเชื่อมขบวนรถเพิ่มความจุผู้โดยสาร ต้องใช้ช่างเทคนิคมาเชื่อมต่อแบบ Manual ให้

แต่ E4 สามารถเปิดฝาหน้า เช้าจุ๊บกัน ด้วยฝีมือคนขับรถแต่ละขบวน


ถ้าไปที่สถานีโตเกียว แล้วเจอ E4 Series 2 ขบวน ต่อเชื่อมกัน วิ่งไปด้วยกัน ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพราะที่จอดไม่พอนะ เนื่องจากว่ารถชินคันเซน เป็น EMU ที่ออกแบบมาให้แต่ละขบวนมีจำนวนโบกี้คงที่ 6, 8, 10, 12 หรือ 16 ตู้ ไปตัดหัวออก แล้วต่อห้องโดยสารเพิ่มระหว่างกลางขบวนไม่ได้

การจะเพิ่มความจุผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เลยต้องเอารถ 2 ขบวนมาต่อกัน

พอวิ่งไปถึงกลางทาง ก็ปลดออกซ่ะขบวนนึง
เหมือนรถไฟไทยสายเหนือ ที่ต้องไปปลดตู้โดยสารออกบางตู้ที่ เด่นชัย ไม่งั้นขึ้นขุนตาลไม่ไหว






เคยเจอการต่อเชื่อมขบวนรถ E4 Series 2 ขบวน แบบจะ ๆ ที่สถานี Takasaki (ทาคะซะกิ) จังหวัด Gunma (กุนมะ) ตอนขากลับจากการไปแวะแช่อนเซนกลางหิมะที่ Kusatsu (คุซาทสึี) Onsen

คันที่เห็นในรูป เป็น โจเอทสี ชินคันเซน ชื่อขบวน Max Tanigawa (แม็คซ์ ทานิงะวะ) ต้นทางอยู่สถานีทาคาซาคิ ปลายทางที่โตเกียว

จอดรอเชื่อมขบวนอยู่ก่อนแล้ว

มีเจ้าหน้าที่สถานี คอยประสานงานดูแลความปลอดภัยอยู่ 2 คน
พร้อมแผงกั้นคนเรียบร้อย



แล้วผมไปทะลึ่งยืนถ่ายรูปได้ไงเนี้ยะ....






อีกคันที่กำลังวิ่งเข้าสถานีมา เป็นโจเอทสึชินคันเซน เหมือนกัน แต่เป็น ขบวน Max Toki (แม็คซ์โทกิ)

วิ่งมาจากจังหวัด Niigata (นีงาตะ) ปลายทางอยู่ที่โตเกียวเหมือนกัน





ตัวเชื่อมต่อขบวนรถ ที่ซ่อนอยู่หลังฝาปิด

หน้าตาเหมือนปืนกลต่อสู้อากาศยานเลย...




จุ๊บกันเรียบร้อย
พร้อมจูงกันวิ่งเข้าวิวาห์ เอ๊ย! เข้าโตเกียวแล้ว....





โม้จบไปทุกรุ่นที่มีใช้วิ่งรับ-ส่ง ผู้โดยสารในปัจจุบันนี้แล้ว

ถามว่า มีรุ่นใหม่กว่านี้อีกใหม่ นอกจากที่เคยบอกว่า รุ่นล่าสุดคือ N700 Series ของ JR Central ร่วมมือพัฒนากับ JR West ที่กำลังทยอยส่งมอบ

มีครับ!
กำลังพัฒนาและทดสอบการวิ่ง คาดว่าจะออกใช้งานภายในไม่กี่ปีนี้แหละ
เป็นว่าที่ E5 Series ของ JR East ที่จะได้เห็นตัวจริง ๆ กันไม่นานเกินรอนี้แหละ

คาดว่าน่าจะออกมาให้ยลโฉมในปี 2554 ที่จะถึงนี้แล้ว


ตั้งชื่อรุ่นของตัวทดสอบว่า Fastech 360 Series

เพราะตอนแรกตั้งใจว่า จะให้ชินคันเซนรุ่นใหม่ วิ่งด้วยความเร็วเชิงพาณิชย์ที่ 360 กม./ชม. ในการรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบัน ชินคันเซนทั้งหลายจะวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 270 กม./ชม. เท่านั้น

รถทดสอบล้ำยุคคันนี้ เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2547 แล้วปรับปรุงมาเรื่อย ๆ
ทำความเร็วสูงสุดตอนทดสอบได้ถึง 405 กม./ชม. (จะเร็วกันไปไหน )


แต่คาดว่าจะเอามาวิ่งจริงที่ 320 กม./ชม. เพราะถ้าเร็วกว่านี้ เสียงจะดัง สร้างมลภาวะให้ชุมชนใกล้รางรถไฟไปซ่ะก่อน


รถทดสอบเป็นของ JR East โดยตรง ก็เลยทำสีเขียวปีกแมงทับ ให้คล้ายกับสีบริษัทซ่ะ.... คนออกแบบช่างกล้ามาก

ไม่รู้ว่าพอออกมาเป็น E5 Series จริง จะยังใช้สีแนว ๆ แบบนี้อยู่รึเปล่า





FastTech 360 รุ่นแรก ๆ มีจุดกิ๊ปเก๋ยูเรก้า จุดนึงคือ เบรคอากาศฉุกเฉิน รูปหูแมวสีเหลือง ซึ่งได้แนวคิดมาจากเบรคอากาศของเครื่องบิน เอาไว้จัดการกับความเร็วสูงของรถ

FastTech รุ่นแรก ๆ เลยมีชื่อเล่นว่า Nekomimi Shinkansen (Cat-eared Shinkansen)

ตามชื่อหูแมวบนหลังคารถ





เนะโคมิมิ นี่จริงๆ แล้วเป็นไอเดียหื่น ๆ ขำ ๆ ของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะชาวเผ่า Hentai ( //en.wikipedia.org/wiki/Hentai ) ที่ชอบทำมาเป็นการ์ตูน Anime หรือ ของเล่น หรือไม่เอามาแต่งเป็น cosplay ให้ดูอะฮ่า... กึ๋ย เล่น ๆ

ฝรั่งมี Bunny Girl สุดเซ็กซี่
ญี่ปุ่นเลยทำ Nekomimi สุดอินโนเซ็นท์ มาแข่งบ้าง


เอามาเรียกเป็นชื่อเล่นรถไฟ ก็เลยดูคิกคุหายเครียดขึ้นเยอะ




แต่จากข้อมูลคำชี้แนะของท่านพี่หมาดำ (ลาบราดอร์สีดำ) และจากรูปของฝากจากคุณหมอ MedicinePath ที่พึ่งไปเห็นมาเมื่อต้นปี ปรากฎว่า FastTech 360 รุ่นสุดทัายก่อนกลายเป็น E5 กลายเป็นเหมียวหูหุดไปซ่ะแล้ว ..

เพราะวิศวกรญี่ปุ่นทดสอบแล้วพบว่าระบบเบรคที่มีอยู่ ก็สามารถจัดการความเร็วของรถได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งหูแมวมาให้ต้องเพิ่มค่าตัวรถ และยุ่งยากต่อการบำรุงรักษาเข้าไปอีก

รูปตัวล่าสุดที่คุณหมอ MedicinePath ไปเจอกำลังวิ่งทดสอบอยู่ที่ไหนซักที่ในโทโฮะคุ (ขออภัยคุณหมอด้วยผมจำสถานีไม่ได้)





Fastech 360 ทำออกมาเป็น 2 ประเภทย่อย คือ

360S (E954 Series) เป็นรถทดสอบขนาดปกติ 8 ตู้ต่อขบวน ใช้วิ่งทดสอบในเส้นทาง โทโฮะคุ ชินคันเซน เป็นตัวที่คาดว่าจะกลายมาเป็น E5 Series

360Z (E955 Series) เป็นรถทดสอบขนาด Mini-Shinkansen 6 ตู้ต่อขบวน ใช้วิ่งทดสอบในเส้นทาง Yamagata หรือ Akita sinkansen คาดว่าจะทำไว้เผื่อเป็นเจนเนอเรชั่นถัดไปของ E3 Series (E3 ตอนนี้ยังเดินสายการผลิตอยู่นะ)




แม้จะเป็นรุ่นทดลอง แต่ก็ยังแอบทำ Logo ประจำรุ่นมาด้วย

ใช้ Font ลีบ ๆ เล็ก ๆ เหมือนคนออกแบบ วาดไปหิวข้าวไป
Space เยอะชมัด แถมมีการสะบัดสีชมพู ลงไปให้ดูอาร์ต (แต่ผมว่ารก)หน่อย ๆ ด้วย

ดีนะที่เป็นแค่โลโก้ของรถทดสอบ
น่าจะทำแก้คันไม้คันมือของทีมออกแบบซ่ะมากกว่ามั้ง???

ถ้าเอามาใช้จริง ผมว่าขี้เหร่เนะ เลยนะ


เป็นความเห็นและความชอบส่วนตัวของผมคนเดียวนะครับ ถ้าขัดใจใครขออภัยด้วย





ข้อมูลล่าสุดจากเว็ปของ JR East ( //www.japanrail.com/JR_news.html#0203c )ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ปีนี้ว่า ได้สรุปแบบร่างสุดท้ายของ E5 Series ออกมาเรียบร้อยแล้ว หน้าตาและสีสันก็คล้ายกับเจ้า Fastech 360 เลยนั่นแหละ

แต่เหมือนหน้าจะยาวกว่า และมีแถบสีด้านข้างเป็นสีชมพู เหมือนกับแถบสีของ E2 ที่ใช้เป็นขบวน Hayate ในปัจจุบัน

คา่ดว่าจะเปิดตัวตอนปลายปี 2553 ปลายปีหน้านี้แล้ว+++ รับกับการขยายทางรถไฟชินคันเซนจาก ฮาจิโนเฮะ ไปอาโอโมริ ที่จะเสร็จภายในปี 2555 พอดี

(จริง ๆ กำลังสร้างลอดทะเลข้ามไปเกาะฮอกไกโด แต่ยังทำอุโมงค์ส่วนขยายไม่เสร็จ จะเสร็จทั้งเส้นทางยาวไปถึงฮาโกดาเตะประมาณปี 2558)

โดยด้วยความเร็วที่ออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยถึง 300 กม./ชม. จะทำให้่ชินคันเซนฮายาเทะ ที่ใช้ E5 รุ่นใหม่ วิ่งจากโตเกียวถึงอาโอโมริได้ภายในในเวลา 3 ชั่วโมงนิด ๆ จากปกติ ที่ต้องนั่ง E2 Hayate ไปลงที่ฮาจิโนเฮะ แล้วเปลี่ยนไปนั่งรถด่วนพิเศษ Tsugaru นั่งไปอาโอโมริ อีกที ซึ่งใช้เวลารวมกันถึง 4 ชั่วโมง

ทุ่นเวลาไปได้บาน..




เป็นที่น่าตะลึงพรึงเพริดว่า ประเทศเวียดนาม ประกาศจะสั่งซื้อเจ้า E5 ตัวนี้ ไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ ระหว่าง กรุงฮานอย ทางเหนือ วิ่งลงใต้ไป โฮจิมินท์ ซิตี้ แล้ว!!

ถ้าทำได้จริง ก็ให้นึกละห่อยน้อยใจกับ รฟท. และนักการเมือง ของบ้านเราซ่ะเหลือเกิน เค้าจะพัฒนาไปไกลอีกขึ้นแล้ว..





พูดถึงเรื่องรถไฟญี่ปุ่นส่งออก ณ ตอนนี้มี 2 ประเทศที่สั่งซื้อรถไฟความเร็วสูงจากญี่ปุ่นไปใช้แล้วเรียบร้อย คือ จีน กับ ไต้หวัน

จีนตั้งชื่อรุ่นว่า CRH2 เอาต้นแบบและเทคโนโลยีมาจาก E2 Series
แต่ทาสีขาวทั้งคัน มีคาดแถบสีน้ำเงินนิดหน่อยตรงกลางลำ

CRH2 รุ่นแรกประกอบที่ญี่ปุ่น ส่งมอบไปเมื่อปี 2549 จำนวน 3 ขบวน ๆ ละ 8 ตู้

และทางจีน ก็สั่งซื้อชิ้นส่วนมาประกอบที่เมืองจีน โรงงานเมือง Sifang อีกกว่า 50 ขบวน ตามแนวจีนเลย สั่งต้นแบบไปก่อน แล้วล็อตหลังจะขอก๊อปแล้วผลิตเอง


เริ่มเปิดเดินรถเส้นทาง เซี่ยงไฮ้-Hangzhou (ชื่ออ่านเป็นไทยไม่ออก) กับ เซี่ยงไฮ้-นานกิง เมื่อ 28 มกราคม 2550 นี่เอง





แต่รถไฟความเร็วสูงรุ่นแรกที่ส่งออก จริง ๆ แล้วไม่ได้ส่งไปจีนเป็นชาติแรก
แต่เป็นการส่งออกไปไต้หวัน

เรียกว่ารุ่น 700T Series ผลิตและพัฒนาให้กับ Taiwan High Speed Rail หรือ THSR

ต้นแบบและเทคโนโลยีเอามาจาก 700 Series รุ่นหัวเป็ด แต่ปรับปรุงพัฒนาหน้าตาให้โฉบเฉี่ยวมากกว่า ทาสี 2 Tone สีส้มแป๊ดกับขาวนวล ชวนให้คึก

หน้าจะสั้นกระทัดรัดกว่า 700 Serie เพราะไม่ต้องคำนวณเผื่อผลกระทบของแรงกดอากาศ เวลาวิ่งเข้าอุโมงค์ด้วยความเร็วสูง เนื่องจากอุโมงค์รถไฟที่ไต้หวัน สร้างที่หลัง เลยทำขนาดกว้างตามมาตรฐานยุโรป วิ่งอัดเข้าไปได้เต็มที่

ความ เร็วสูงสุดของรถ เลยอนุญาตให้วิ่งได้ถึง 300 กม./ชม. เพราะอุโมงค์ใหญ่และรางใหม่กว่าของญี่ปุ่น ที่ให้วิ่งได้สูงสุดแค่ 285 กม./ชม.


รับรถไปก่อนจีน แต่กว่าจะทดสอบวิ่งสำเร็จ เสียเวลาไปค่อนข้างมาก
ก็เลยต้องรีบเปิดใช้บริการตัดหน้า CRH2 นิดเดียว ในวันที่ 5 มกราคม 2550 นี่เอง






ห้องพนักงานขับรถ 700T ให้อารมณ์เหมือนห้องบังคับการหุ่นรบกันดั้มเลยฮิ




แต่ที่เป็น "อนาคต" ของรถไฟญี่ปุ่นจริง ๆ ก็ต้องขบวนนี้ โดย JR Central

กำลังพัฒนา ทำรถต้นแบบทดสอบการวิ่งอยู่ที่ รางทดสอบของ Railway Technical Research Institute ที่จังหวัดยามานาชิ

Maglev Train หรือ Magnetic Levitation Train System ครับ
แปลเป็นไทยว่า รถไฟพลังแม่เหล็กไฟฟ้า

เป็น รถไฟที่ใช้แรงยกของพลังแม่เหล็กไฟฟ้า ยกรถให้ลอยเหนือราง เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 150 กม./ชม. ขึ้นไป ทำให้รถสามารถเร่งความเร็วได้สูงสุดเกินกว่า 500 กม./ชม. เำพราะไม่มีความฝืดจากราง

ความเร็วในจิตนาการจากการคำนวนสามารถทำไปได้ถึง 900 กม./ชม. เท่ากับความเร็วเครื่องบินขับไล่เลยนะ

ใน โลกแห่งความเป็นจริง ญี่ปุ่นสร้างรถต้นแบบเอามาทดสอบวิ่งจริง ได้ความเร็วสูงสุดเป็นสถิติโลกอยู่ที่ 581 กม./ชม. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2546

ตอนนี้แข่งกันอยู่ 2 เจ้า ญี่ปุ่น กับ เยอรมัน (ประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งคู่!!!) แต่เยอรมันขายเทคโนโลยีไปให้จีน เอาไปสร้างวิ่งทดสอบได้แล้วที่สถิติสูงสุด 501 กม./ชม. แต่วิ่งจริงอยู่ที่ไม่เกิน 431 กม./ชม. จากตัวเมือง Pudong (ผู่ตง) ไปสนามบิน

รายละเอียดของ Maglev ของจีน ดูตามนี้นะครับ //en.wikipedia.org/wiki/Shanghai_Maglev_Train

Maglev ญี่ปุ่น ตามนี้ครับ //en.wikipedia.org/wiki/JR-Maglev

ส่วนรายละเอียดของเทคโนโลยี Maglev อ่านเอาตามนี้นะ //en.wikipedia.org/wiki/Maglev_train




ตัวทดสอบล่าสุดที่ทำได้ของ Maglev ญี่ปุ่น มีชื่อว่า MLX01 มี 3 ตู้ต่อขบวน แต่ต่อเพิ่มได้อีก 2 ตู้

เริ่ม สร้างและทดสอบมาตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน แต่ก็ยังไม่ได้ทำออกมาวิ่งจริงซ่ะที เพราะตัวรางและส่วนประกอบของรถต้องใช้ โลหะที่เป็นตัวนำยิ่งยวด (Superconductor) ราคาแพงนรกมาก

JR Central พึ่งประกาศออกมาเมื่อ 25 ธันวาคม 2550 ว่า จะสร้างทางรถไฟที่เป็น Maglev และเปิดใช้บริการจริงระหว่าง โตเกียว กับ นาโงย่า ในปี 2568 นู่น.... ตอนนี้กำลังก่อสร้างรางอยู่


รอกันไหวมั้ยครับ?




สุดท้ายแล้ว..... เอาแผนที่เส้นทางในอนาคตของชินคันเซนมาให้ดู

เส้นทางในปัจจุบัน คือ เส้นทางที่ใช้สี ส้ม น้ำเงิน เขียว ฟ้า ชมพู ม่วง และ แดง เอาไว้

ส่วนเส้นทางสีเทา เป็นเส้นทางที่กำลังอยู่ในแผน

สีเทาแก่ คือ กำลังก่อสร้าง
สีเทาอ่อน คือ วางแผนไว้ว่าจะทำ

ทางเหนือ ปัจจุบันวิ่งไปสุดแค่ ฮาจิโนเฮะ กำลังสร้างรางต่อไปที่ ฮาโคดาเทะ

เริ่ม สร้างเมื่อเดือน พ.ค. 2548 คาดว่าจะเสร็จปี 2558 นานหน่อย เพราะต้องขยายอุโมงค์รถไฟ เซคัง (Seikan) ที่เชื่อมระหว่างเกาะฮอนชู กับ ฮอกไกโด ให้สามารถวางรางชินคันเซนเพิ่มได้ และต้องสร้างสถานีรถไฟใหม่ชื่อ Shin-Hakodate กับ Shin-Aomori ด้วย

แล้วในอนาคต มีแผนจะขยายรางชินคันเซนให้ยาวไปถึงซัปโปโร่ด้วย
ที่นี้จะได้มีรถไฟความเร็วสูงวิ่งไปถึงฮอคไคโดซ่ะที


ส่วน ทางภาคกลาง ก็กำลังต่อขยายรางชินคันเซน สายนางาโน่ จากจังหวัดนางาโน่ วิ่งเรียบชายฝั่งด้านตะวันตกไปที่จังหวัดคานาซาว่า คาดว่าน่าจะเสร็จไล่ ๆ กับสายเหนือ

และในอนาคตจะสร้างเรียบทะเล อ้อมต่อไปบรรจบกับสายโทะไคโด ที่โอซาก้าด้วย


ส่วน ที่เกาะคิวชู ตอนนี้กำลังสร้างทางเชื่อมระหว่างสถานีฮาคาตะ เมืองฟุคุโอคะ กับ สถานี Shin-Yatsushiro จังหวัด Kumamoto ปี 2554 จะต่อเชื่อมกันเสร็จ

และในอนาคตมีแผนจะขยายเส้นทาง แยกออกไปที่นางาซากิอีก


ส่วน สายใหม่ที่เกริ่นไปแล้วเรื่อง Maglev ตอนนี้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว ระหว่างโตเกียวไปนาโงย่า คาดว่าจะเสร็จให้ใช้งานในอีก 17 ปีข้างหน้า (รอกันไหวป่ะ) นานหน่อย เพราะเป็นรางแม่เหล็กไฟฟ้า สร้างยาก


อนาคต ทางสาย Maglev ที่ตั้งชื่อไว้แล้วว่า Chou Shinkanen จะยิงยาวไปจนถึง โอซาก้า คาดว่าจะลดเวลาในการวิ่งจากเกือบ 3 ชั่วโมง ลงเหลือแค่ 40 นาที!!!


แล้วผมจะตั้งใจรอจนถึงวันนั้นด้วยใจระทึกครับ





ที่จะได้ใช้กันแน่ ๆ เร็ว ๆ นี้ (ถ้าใครไปเที่ยว หรือทำธุระที่คิวชู) คือ เส้นทางชินคันเซนสายใหม่ที่เชื่อมระหว่างสถานีฮาคะตะ จังหวัดฟุคุโอกะ กับ สถานีชินยาทสึชิโระ จังหวัดคุมาโมโต้

ตอนผมไปเที่ยวคิวชูเมื่อต้นปีนี้ นั่งรถไฟออกจากฮาคะตะไป เจอเส้นทางรถไฟสายต่อเชื่อมนี้ สร้างเสร็จเกือบตลอดสายแล้ว น่าจะเปิดได้ทันกำหนดแน่นอน





แผนที่เส้นทางชินคันเซนที่จะต่อเืชื่อมบนเกาะคิวชู




แถมท้ายให้อีกนิด..

JNR เคยเริ่มต้นก่อสร้างทางรถไฟสาย นาริตะ ชินคันเซน
จากโตเกียว ไปสนามบินนาริตะ เมื่อปี 2515 หรือเมื่อ 36 ปีที่แล้ว

แต่ก็ต้องหยุดโครงการในปี 2526 เพราะมีปัญหากับชุมชน เรื่องการเวรคืนที่ดิน

เหลือตอหม้อที่สร้างขึ้นมาระยะทาง 9 กม. ใกล้ ๆ กับสนามบินนาริตะ เหมือนโครงการ โฮบเลส เอ๊ย! โฮบเวล ที่บ้านเราเลย

ทาง Keisei Electric Railway หรือ รถไฟ Keisei เลยชุบมือเปิบ เอารถ Skyliner ที่เทียบเท่าชินคันเซน มาวิ่งแทนซ่ะเลย โดยขอเช่าตัวสถานีในชั้นใต้ดินของสนามบินจาก JR


ใครว่าญี่ปุ่นเนี๊ยบจนไม่มีของแบบนี้.....


รูปตอหม้อชินคันเซน แถว ๆ ใกล้สนามบินนาริตะ ที่ยังเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ครับ






จบชุดชินคันเซนพอดี แต่ไม่ได้จบเรื่องรถไฟญี่ปุ่น
ยังมีให้เล่าอีกเยอะ


แล้วถ้าโอกาสอำนวย จะเอามาเหลาให้อ่านกันอีก..

ไม่นานเกินรอ



ขอบคุณทุกท่านมากมายครับที่มาติดตามและทักทายตั้งแต่ตอนแรก


ถ้าผมมีข้อมูล Update อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าชินคันเซนนี้ จะีรีบเอามาลงตรงนี้ไว้เป็นที่แรกเลย


กราบสวัสดีครับ









 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 11 พฤษภาคม 2552 22:10:55 น.
Counter : 6059 Pageviews.  

ชินคันเซน รถด่วนทะลุอนาคต ตอนที่ 2

มาต่อแล้วกับตอนที่ 2 วันนี้จะมาว่าให้จบ Series ชินคันเซนทุกรุ่นทุกแบบ ที่มีกัน (ถ้าผมไม่อู้ซ่ะก่อนนะ)

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมและทักทาย


ไม่ให้เสียเวลา ไปกันต่อเลย






ก่อนไปต่อ ขอสรุปเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือให้เห็นภาพกันก่อน เด๋วพูดถึง โทโฮะคุ โจเอ็ทสี อาคิตะ หรือ ยามางาตะ จะได้ไม่งง


JR East รับผิดชอบการเดินรถชินคันเซน 5 สาย


สายแรก Tohoku (โทโฮะคุ) Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป ฮาชิโนเฮะ (632 กม.) แบ่งขบวนรถออกเป็น 3 แบบ ตามระยะทาง และจำนวนสถา่ีีนีที่แวะจอด

-Hayate (ฮายาเทะ) วิ่งตรงยาวจากโตเกียว ไปถึง ฮาชิโนเฮะ

-Yamabiko วิ่งจากโตเกียว ไปถึง เซนได หรือ โมริโอคะ
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ ยามะบิโกะ กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Yamabiko

-Nasuno วิ่งจากโตเกียว ไปแค่ไม่เกินสถานี Koriyama ก่อนถึงเมือง Fukushima
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ นาซุโนะ กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Nasuno



สายที่สอง Joetsu (โจเอะซึ) Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป นิอิงาตะ (334 กม.) มีรถอยู่ 2 แบบ

-Toki วิ่งจากโตเกียว ไป นิอิงาตะ
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ โทคิ กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Toki

-Tanigawa วิ่งจากโตเกียว ไปสุดแค่เมืองตากอากาศเล่นสกี Yuzawa
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ ทานิงาว่า กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Tanigawa


สาย ที่สาม Hokuriku หรือ เรียกอีกชื่อว่า Nagano Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป นางาโน่ (222 กม.) มีรถประเภทเดียว ชื่อ Asama (อาซามะ)


สายที่สี่ Yamagata Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ผ่าน ยามางาตะ สุดสายที่ Shinjo (421 กม.) มีรถวิ่งประเภทเดียว ชื่อ Tsubasa (สึบาสะ)


สายที่ห้า Akita Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป อาคิตะ (662 กม.) มีรถวิ่งประเภทเดียวเหมือนกัน ชื่อ Komachi (โคมะฉิ)





ตอนที่แล้ว เล่าไปตั้งแต่ 000 series ไล่ไปจนถึง 800 series
ยังไม่ได้เล่า Series 200 กับ 400

เพราะ 2 ตระกูลนี้ใช้อยู่ในเส้นทางชินคันเซนสายอีสาน (ตอนเหนือของเกาะฮอนชู) ในการดูแลของ JR East

สมัย ที่ JR East ยังไม่เกิด การรถไฟญี่ปุ่น พัฒนา 000 Series กับ 100 Series ไว้สำหรับสายโทะไคโดและซันโย เป็นรุ่นที่เหมาะใช้วิ่งตามที่ราบ

ต่อมาเมื่อปี 2525 การรถไฟญี่ปุ่นเดิม (JNR) เปิดเส้นทางใหม่ ที่ส่วนใหญ่จะวิ่งผ่านหุบเขาสูง และ ในหน้าหนาวจะเจอหิมะตกหนัก 2 เส้น คือ Tohoku และ Joetsu Shinkansen

รถไฟที่จะใช้วิ่งได้ ต้องสร้างให้อึดกว่าปกติ


200 Series จึงเกิดขึ้นมา สำหรับใช้งานหนัก ไต่เขา ลุยอากาศหนาวโดยเฉพาะ

เริ่มเปิดสายการผลิตตั้งแต่ปี 2523 จนถึง 2529
ผลิตออกมาจำนวนพอ ๆ กับ 100 Series ที่ใช้วิ่งพื้นราบถึง 66 ขบวน
แต่ขบวนนึงมีแค่ 12 ตู้ ไม่ใช่ 16 ตู้ เหมือนกับรุ่นปกติ เดี๋ยวไต่เขาไม่ไหว

รุ่นแรก ๆ ก็เอาโครงสร้างและรูปแบบก็มาจาก 000 Series นั่นแหละ หน้าตาเลยคล้ายกันอย่างกับฝาแฝด

แต่เปลี่ยนตัวถังจากเหล็ก เป็น อลูมินัม อัลลอย เพื่อให้ตัวเบาขึ้น
เปลี่ยนมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังแรง ๆ ใส่เข้าไปแทนลูกเดิม
เพิ่มฉนวนป้องกันอากาศหนาวและหิมะให้กับอุปกรณ์ที่ติดอยู่ใต้ท้องรถ และ อุปกรณ์ป้องกันหิมะตกใส่ช่องดูดอากาศที่หลังคารถ

ภายนอกก็ทาสีเขียวคาดเอาไว้ ให้ดูต่างจาก 000 Series ที่ทาลายคาดเป็นสีน้ำเงิน


ความเร็วสุงสุดทำได้ถึง 240 กม./ชม. แต่วิ่งจริง ต้องไต่เขาเป็นระยะ ๆ แค่ 200 เท่าชื่อรุ่น ก็หรูแล้ว





ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด ๆ ของชินคันเซนแบบปกติ (000 Series) กับแบบไต่เขา (200 Series) นอกจากสีตัวรถที่ทาไม่เหมือนกันแล้ว

เค้าให้สังเกตตรงชายขอบด้านล่างที่บริเวณหน้ารถครับ

000 Series จะเรียบ ๆ

แต่ 200 Series จะดัดเหล็กจับจีบเป็นครีบรูปโค้ง เหมือนพานไถ เอาไว้กวาดหิมะบนรางรถไฟ





เมื่อมีการผลิต 100 Series ออกมาแล้ว
ก็เลยผลิต 200 Series รุ่นปรับปรุง โดยไม่เปลี่ยนชื่อรุ่นตามมาบ้าง
ใช้โครงสร้างตาม 100 Series อีกนั่นแหละ

ข้อแตกต่างให้สังเกตยังเหมือนเดิม คือ ตรงชายชอบหน้ารถ จะทำเป็นครีบพานไถ ไว้กวาดหิมะเหมือนกัน

200 Series ยุคแรก เลยมีหน้าตาหลากหลายมาก มีทั้งที่เป็นฝาแฝดของ 000 และ 100 Series

ยังมีเหลือใช้มาถึงตอนนี้เลยนะ





รูป 200 Series สีเขียวดั้งเดิม ที่พี่ฟ้า Skybox ไปเจอที่ญี่ปุ่น เมื่อปีก่อนนู้น เอามารวมไว้ให้อยู่ใน ชุดเดียวกัน





ท่าทางพี่ฟ้าแกจะชอบรถไฟญี่ปุ่นมากเหมือนกัน ขนาดห้องคนขับ ยังแอบสอดกล้องเข้าไปถ่าย

ขอบคุณสำหรับภาพสวย ๆ นะครับท่านพี่





แม้ว่าสายการผลิต 200 Series จะหยุดลงไปเมื่อปี 2529
แต่ทาง JR East ก็ยังใช้วิ่งมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุับัน

จนถึงปี 2540 ทาง JR East เห็นว่าสภาพ 200 Series ดูจะเก่าเกินกระป๋องนมผุแล้ว เลยจับมาแต่งหน้าทาปากใหม่
ปรับตัวถัง เปลี่ยนอุปกรณ์บางตัว
เปลี่ยนสี ไปเป็น 2 Tone ขาว-น้ำเงิน
เหมือนกับขบวนรถสกุล E Series ตัวอื่นๆ ของ JR East
แล้วเรียกว่า 200 Series รุ่นขัดใหม่ (Refurbishment) หรือ K Sets


ตอนนี้ตามข้อมูลที่มี เห็นว่าใช้วิ่งในสายโทโฮะคุ ขบวนยามาบิโกะ และ นาซุโนะ กับสายโจเอะซึ ขบวนโทคิ และ ทานิงาว่า


หน้าตาอ้วนกลมหน้ารักเหมือนโดราเอมอน แบบนี้...





ตัวนี้เป็น K Sets ที่ใช้งานอยู่ ณ บัดเดี่ยวนี้

ลองนั่งมาเมื่อเดือนมีนาคม ปี 51
ช่างญี่ปุ่นเซียนมาก สามารถรักษาสภาพให้ดูเหมือนใหม่ได้ตลอด 10 ปีได้ไงเนี้ยะ...

ใครอยากนั่ง ต้องรีบหน่อยนะ

JR East มีแผนจะปลดระวาง 200 Series ทุกรุ่น ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นขัดใหม่ทั้งหมดภายในในปี 2556

ใครไปญี่ปุ่น แล้วเจอตัวเป็น ๆ รีบถ่ายรูปไว้ก็ดี เพราะอีกไม่กี่ปี ทั้่ง 100 และ 200 Series ก็จะตามรุ่นพี่ซีรีย์ 000 เข้าพิพิธภัณฑ์กันหมดแล้ว





ส่วน 400 Series เริ่มพัฒนาและผลิตเมื่อปี 2533
ตามแผนการของ JR East ที่กำลังสร้างรางรถไฟสาย Yamagata Shinkansen

เป็นชินคันเซนสายรอง ที่แยกจาก Tohoku Shinkansen ตรงเมืองฟุคุชิม่า ผ่านยามางาตะ ไปสุดสายที่เมืองชินโจ

รุ่นนี้เอามาใช้เป็นชินคันเซนสายยามากาตะ ให้ชื่อขบวนรถว่า Tsubasa

หน้าตาเหมือนหัวเครื่องบินขับไล่ไอพ่น
ผลิตออกมาแค่ 12 ขบวน โดย 1 ขบวนมี 7 ตู้

ความ เร็วสูงสุดทำได้ถึง 240 กม./ชม. บนพื้นราบ แต่วิ่งจริงบนเส้นทางไต่เขาพันโค้ง จากเมืองฟุคุชิม่า ถึง ยามางาตะ ได้แค่ไม่เกิน 130 กม./ชม.





400 Series มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า Mini-Shinkansen

เนื่องจากมีขนาดมิติตัวรถ เท่ากับขบวนรถไฟญี่ปุ่นทั่วไป
แต่ฐานล้อจะกว้าง 1.435 เมตร ตามมาตรฐานรางรถไฟชินคันเซ็น

ดูเผิน ๆ เลยเป็นรถล้อใหญ่ ตัวเล็ก

ที่ ต้องทำรถให้ตัวเล็กเพราะทางรถไฟชินคันเซนสายนี้ ช่วงที่แยกออกจากเมืองฟุคุชิม่า ถึง ชินโจ ดัดแปลงเพิ่มจากรางรถไฟปกติ (รู้สึกจะเป็นรางรถไฟสายโออุ) ซึ่งทำให้เสาไฟ สะพาน ชานชลา อุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของรางรถไฟ ยังใช้ของรถไฟปกติ

คือรางรถไฟแถวนั้น ใช้วิ่งทั้งชินคันเซน และ รถไฟปกติ (มีรางซ้อนกัน 3 เส้น)

ศัทพ์เทคนิคในวงการรถไฟเค้าเรียกว่า เขตบรรทุก (Loading Gauge) ในสายยามางาตะมันเล็ก ไม่พอให้ชินคันเซนขนาดปกติวิ่งเข้าไปได้ เลยต้องย่อขนาดตัวถังรถลงมาเท่าขนาดรถไฟปกติ


หมายเหตุอารมณ์ดี:
Loading Gauge ของ ชินคันเซน กว้าง 3.8 เมตร
ของรถไฟญี่ปุ่นปกติรู้สึกจะกว้างแค่ประมาณ 3 เมตร
รถไฟไทย กว้าง 2.92 เมตร
รถไฟฟ้า BTS กว้าง 3.2 เมตร
ส่วนรถไฟใต้ดิน จะกว้างน้อยกว่าแค่ 3.12 เมตร เพราะยิ่งกว้างยิ่งต้องเจาะอุโมงค์ขนาดใหญ่ ค่าก่อสร้างจะแพง





โลโก้ของ 400 Series รุ่นแรก

เหลี่ยม ๆ แข็ง ๆ ชืด ๆ ตามแนวนิยมของหัวหน้าแผนกออกแบบในยุคนั้น




ภายในรุ่น 400

ออกมานานแล้ว เลยดูเก่า ๆ เบาะก็ยังไม่ใช่ผ้าสังเคราะห์ เป็นแนวบุผ้านุ่ม ๆ เหมือนกำมะหยี่ตามสมัยนิยม





ใครอยากเห็น อยากนั่ง 400 Series ตัวเป็น ๆ ต้องรีบแล้วนะ
เพราะตั้งแต่ต้นปีหน้า 2552 เป็นต้นไป JR East จะทยอยปลดระวางรุ่นนี้เสียเร้ว...
เพราะใช้มาครบอายุ 15 ปี และยังไม่เห็นมีแผนจะเอามา ปัดฝุ่น หรือ ขัดใหม่ เหมือนกับ 200 Series เสียด้วย


รถ Tsubasa สายยามางาตะ ตอนนี้ เริ่มนำรุ่น E3 Series ออกมาใช้แทนแล้วตั้งแต่ปี 2550 และจะทยอยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ภายในปีหน้า

เดี๋ยวตอนพูดถึงชินคันเซนตระกูล E-Series จะเอารูปรุ่น E3 มาให้ดูนะ

ตอนนี้ขอพูดถึงเรื่องชินคันเซนจูบปากกันก่อน

ใครไปสถานีโตเกียว ตรงชานชลาชินคันเซน สายโทโฮะคุ จะเห็นภาพแบบนี้เป็นเรื่องปกติ

คู่แรก ทางซ้ายมือ เป็น E3 Series ชื่อ โคมาฉิ (สายอาคิตะ) จุ๊บกันกับ E2 Series ชื่อ ฮายาเตะ (สายโทโฮะคุ)

ส่วนคู่ที่สอง ทางขวามือ เป็น 400 Series สายยามางาตะ ชื่อ สึบาสะ จุ๊บกันกับ E4 Series สายโทโฮะคุ ชื่อ แม็คซ์ ยามาบิโกะ




ที่ชินคันเซนสายอีสาน ต้องจูบกัน แล้ววิ่งจากโตเกียวเป็นคู่ ๆ ไม่ใช่เพราะชานชลาจอดรถไม่พอนะครับ

แต่เป็นเพราะรางไม่พอต่างหาก

เอาตัวอย่างกรณีสายยามางาตะกันก่อน

เพราะชินคันเซนสายยามางาตะ เป็นเส้นทางย่อยที่แตกออกจากสายโทโฮคุ ต้นทางจากโตเกียวมีรางคู่เดียว แต่วิ่งกันหลายสาย

เพื่อให้สามารถบริการเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
รถไฟสายยามางาตะ เลยต้องเอาไปจุ๊บกับสายโทโฮคุ แล้วควงกันวิ่งออกจากโตเกียว ถึง ฟุคุชิม่า

พอถึงสถานีฟุคุชิม่าแล้วค่อยแยกทางกัน ต่างคนต่างไปทางของตัวเอง แล้วเที่ยวกลับค่อยกลับมาจุ๊บกันที่เมืองเดิม

รถ แม็กซ์ ยามาบิโกะทุกขบวน เลยถูกกำหนดให้ต้องพ่วงรถ สึบาสะ ติดไปด้วยกันทุกครั้ง เมื่อออกจากโตเกียว

รูปนี้เป็น 400 Series ชื่อขบวน สึบาสะ จุ๊บกับ E4 Series ชื่อขบวน แม็กซ์ ยามาบิโกะ





แล้ว 600 Series มันหายไปไหน???
ใครลักพาตัวไป!!!

600 Series หน้าตาแบบนี้.. แต่ไม่ได้ใช้ชื่อนี้ครับ





เจ้ายักษ์สีหวานเหมือนไอติมคันนี้ ใช้ชื่อว่า E1 Series Max

เริ่ม ผลิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 หลังจากที่ JR East เลิกผลิต 400 Series รุ่นหัวเครื่องบินขับไล่ มาได้ 2 ปี พร้อม ๆ กับที่ JR West กำลังซุ่มผลิต 500 Series รุ่นหนอนอวกาศ

สมัยแรกที่ยังเป็นแบบร่าง ใช้ชื่อว่า 600 Series

แต่หลังจากการแปรรูปเป็นเอกชนของ JNR เป็น JR เมื่อปี 2530
ทาง JR East ที่มีชินคันเซนอยู่ในมือมากสายที่สุด และไม่ได้พัฒนาตัวรถร่วมกับบริษัทอื่น เลยแอบเท่ห์

ขอเปลี่ยนชื่อรุ่นจาก 600 Series เป็น E1 Series ซ่ะ


คงอยากสร้างเอกลักษณ์ให้ต่างจากซีรีย์เลข 3 ตัว ของ JR อีก 3 บริษัท





คำว่า Max ย่อจากคำว่า Multi Amenity Express
คือ ชินคันเซนที่ทำที่นั่ง 2 ชั้นทั้งขบวน

เหมือนรถเมล์ที่ลอนดอน

คิดขึ้นเพื่อเพิ่มความจุของผู้โดยสารต่อขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน
แล้วยังสามารถดัดแปลงตู้ชั้นล่าง เป็นห้องโดยสารส่วนตัว (Compartment) หรือ ตู้เสบียงก็ได้ แล้วแต่จะทำ

ชินคันเซนแบบ Max มีชื่อทางเทคนิคอีกอย่างว่า DDS หรือ Double-Decker Shinkansen

โลโก้ E1 Series Max สมัยแรกออกแบบให้ เรียบ ๆ เขียว ๆ ตามสีบริษัท
ตั้งใจให้ตัดกับสีพื้นของรถ ที่เป็นสี 2 Tone ขาวสลับเทาคาดด้วยเขียว





สมัย แรก ๆ ชินคันเซนมีตู้นั่ง 2 ชั้นให้บริการเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็น 2 ชั้นทั้งหมด ทั้งขบวนมีแค่ 2-4 ตู้ โดยใช้รถรุ่น 100 Series ต่อตู้ 2 ชั้นเพิ่มเข้าไป แล้วเรียกชื่อขบวนว่า Grand Hikari วิ่งให้บริการระหว่าง โตเกียว กับ ฟุคุโอคะ

พึ่งเลิกให้บริการไปเมื่อเดือน พ.ย. 2545 นี่เอง






E1 Series ผลิตออกมาแค่ 6 ขบวน (ขบวนละ 12 ตู้) แค่ 2 ปี ก็หยุดผลิต

ตอนนี้เอามาใช้วิ่งเสริมในเส้นทาง Joetsu Shinkansen จาก โตเกียว ไป นิอิงาตะ โดยใช้ชื่อขบวนว่า Max Toki กับ Max Tanigawa

ถ้าไปมองหา E1 สีฟ้า คงจะหาไม่เจอแล้ว
เพราะเมื่อปี 2546 ทาง JR East ได้เอา E1 Series มาทำสีและปรับปรุงภายในใหม่หมด

ทาสี 2 Tone ขาวนวลตัดกับน้ำเงินเข้ม ให้เหมือนกับชินคันเซนสายอื่น ๆ ของ JR East แล้วแอบหวานด้วยแถบสีชมพูตรงกลาง

เบาะนั่ง ก็เปลี่ยนเอาเบาะที่ใช้ในรุ่น E4 มาติดแทน ให้นั่งสบายก้นมากขึ้น





ทาสีใหม่ แล้วดูสวยสง่าไปอีกแบบ เพราะสีเดิมดูเหมือนรถของเล่นที่ยังประกอบไม่เสร็จยังไงก็ไม่รุ

ลืมบอกข้อมูลทางเทคนิคไป

แม้ว่าโครงสร้างจะทำจากเหล็ก และรูปร่างจะใหญ่โตเหมือนตอหม้อทางด่วนขนาดนี้ แต่ก็ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 240 กม./ชม. เชียวนะ
แต่วิ่งจริง น่าจะอยู่ที่ 150-200 นิด ๆ ซ่ะมากกว่า เพราะพอเลย สถานี Takasaki ไป ก็วิ่งขึ้นเขาตลอด


สูงจากพื้น 4 เมตรครึ่ง ความยาวประมาณตู้ละ 25 เมตร (ตู้ที่เป็นหัวขบวนยาว 26 เมตร)

1 ขบวนมี 12 ตู้ จุผู้โดยสารได้ 1,235 คน...





ไม่ได้เปลี่ยนแค่สีรถอย่างเดียว

โลโก้ Max ก็มีการปรับโฉมใหม่ตามไปด้วย

เพิ่มขีดให้เหมือนเงาสะท้อน ดูมีความเคลื่อนไหว
พร้อมนกสีชมพูอีก 1 ตัว

นกที่เห็นในโลโก้ คือ นกโทคิ หรือ นกช้อน (Ibis) เพราะช่วงแรก ใช้เป็นขบวน Max Toki ของ โจเอทสึ ชินคันเซน เลยต้องมีโทคิมาบินร่อนอยู่ด้า่นบนด้วย





ขบวนต่อไป E2 Series

เป็นรถชั้นเดียวแบบปกติ ผลิตขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 2538 และมีการปรับปรุงเป็นรุ่นย่อย ๆ ยาวไปอีก 10 ปี จนถึงปี 2548 ถึงจะหยุดผลิต

ตอนแรก สร้างขึ้นเพื่อใช้วิ่งขึ้นเขาไปจังหวัดนางาโน่ แทน 200 Series ที่แก่แล้ว วิ่งขึ้นเขาช่วงต่อขยายจาก Takasaki ถึง Nagano ไม่ค่อยไหว

ต้องใช้รุ่นใหม่ มอเตอร์แรงๆ น้ำหนักเบา ๆ ไปสู้

ต่อมาประมาณซักเดือน ธ.ค. ปี 2545 ก็ปรับปรุงเป็นรุ่นย่อย เอามาวิ่งเพิ่มในสาย โทโฮะคุ จาก โตเกียว ไป ฟุคุชิม่า เซนได โมริโอกะ และ ฮาชิโนเฮะ ในชื่อขบวน ฮายาเตะ , ยามาบิโกะ หรือ อาซามะ แล้วแต่จะจัดการกัน


ความต่างอยู่ที่ E2 Series ที่วิ่งอยู่ในสาย Nagano Shinkansen ที่เป็นต้นตำหรับแท้ ๆ จะทาสีที่แถบคาดกลางตู้ ด้วยสีแดงเลือดหมู 1 ขบวนมี แค่ 8 ตู้





ส่วน E2 Series ที่ใช้วิ่งอยู่ใน Tohoku Shinkansen ชื่อขบวน ฮายาเทะ (Hayate) จะทาสีแถบคาดกลางตู้ เป็นสีชมพู

1 ขบวนจะยาวว่าสายนางาโน่ ชินคันเซนหน่อย เพิ่มเป็น 10 ตู้ต่อขบวน เพราะไม่ได้วิ่งขึ้นเขามากเท่า

รุ่นล่าสุดก่อนเลิกผลิต คือ E2-1000 Series





โลโก้ แต่ละสายก็จะทำไม่เหมือนกัน

ยุคแรก E2 ขบวน Asama (นางาโน่ ชินคันเซน)
จะออกแบบเป็นรูปลายเส้นพริ้วไหว
สลับสีด้วยเฉดอ่อน ๆ ละมุนละไมละม่อม ราวกับสายลมพริ้วผ่านใบหน้า





ส่วน E2 ที่วิ่งในสาย Tohoku Shinkansen (ฮายาเทะ) จะทำโลโก้เป็นรูป แถบวงกลมซ้อนกัน 5 วง

ทำเก๋ เฉือนให้เป็นรอยแหว่ง คล้ายโลโก้ แอปเปิ้ลโดนแทะ ของ Mac
ไล่เฉดสีจากชมพู มาเหลือง ตบท้ายด้วยเขียวจาง ๆ

คงกะให้นึกถึงชินคันเซนตอนวิ่งฉิวฝ่าสายลม
เพราะ Hayate แปลว่า ลม


แต่ผมเห็นโลโก้อันนี้แล้ว คิดถึงแต่ ตัวแพ็คแมนวิ่งกลับหลัง นะ
(บอกกันซ่ะรู้อายุเลย อิอิ)






E2 Series สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 315 กม./ชม. เฉพาะตอนทดสอบ

แต่วิ่งจริงในสายนางาโน่ จะไม่เกิน 260 กม./ชม. เด๋วตกเขาตาย
ส่วนสายโทโฮะคุ วิ่งเรียบทะเล จะวิ่งได้เร็วกว่านิดหน่อย ให้ไม่เกิน 275 กม./ชม.

คงอยากวิ่งเร็วกว่านี้ แต่สภาพราง เทคโนโลยีระบบเบรค และ การทรงตัวคงยังไม่ล้ำพอ กับการใช้งานจริงตอนนี้


รูปหายากจากมุมสูงของ E2 ขบวน อาซามะ จาก Nagano Shinkansen
กล้าฟันธงเพราะขบวนนี้มีแค่ 8 ตู้ และ คาดแถบสีแดง




คันต่อไป เจ้าหน้าดำ E3 Series
โชว์ตัวอย่างให้ดูไปแว้บ ๆ แล้ว ตอนพูดถึง 400 Series

เป็น Mini-shinkansen รุ่นใหม่ที่พัฒนาต่อจาก 400 Series รุ่นหัวเครื่องบินขับไล่


ย้อนความกันนิดนึง....

มินิชินคันเซน คือ ชินคันเซน ตัวเล็ก ฐานล้อกว้าง ที่ใช้วิ่งในสาย Yamagata กับ Akita Shinkansen

เนื่อง จากรางรถไฟทั้ง 2 เส้นทาง สร้างขยายขนาดจากรางรถไฟ(ญี่ปุ่น)สายปกติที่กว้างแค่ 1.067 เมตร มาเป็น 1.435 เมตร ตามมาตรฐานชินคันเซน โดยออกแบบให้รถไฟปกติ กับรถไฟชินคันเซนวิ่งในรางเดียวกัน

พวก เสา สะพาน อุโมงค์ ชานชลา ป้ายสัญญาณ จึงไม่ได้ขยายขนาดตามไปด้วย ใช้ Facilities พวกนี้ร่วมกับรถไฟสายปกติเหมือนเดิม

ก็เลยต้องสร้างเป็นรถไฟชินคันเซนขนาดตัวรถเท่ากับรถไฟปกติ

(หมายเหตุ: ชินคันเซนเป็นรถไฟความเร็วสูง ต้องใช้ฐานล้อกว้าง ๆ เพราะฐานล้อรถไฟปกติแค่ 1 เมตรกว่า ๆ วิ่งที่ความเร็วสูงเกิน 200 กม./ชม. ไม่ได้)


E3 รุ่นแรก ๆ ที่ผลิตช่วงปี 2538 ถึง 40 กว่า ๆ ไฟหน้าจะติดอยู่เหนือกระจกห้องคนขับ เจาะช่องใส่ไฟหรี่ ไว้แค่ช่องเดียว




รูปเมื่อกี้ อาจดูไม่ชัด ว่าไฟหน้า E3 (รุ่นแรก ๆ) อยู่ตรงไหน

ต้องดูรูปข้างล่างนี้ ตอนวิ่งเปิดไฟ




สมัยแรกมีแค่ 5 ตู้ต่อขบวน
แต่ ที่เห็นต่อเป็นสายยาวยืดอยู่ด้านหลัง คือ E2 Series ขบวน ฮายาเทะ (โทโฮะคุ ชินคันเซน) ที่ต้องพ่วงกันไปด้วยทุกครั้งก่อนออกจากโตเกียว

เพราะอาคิตะ ชินคันเซน (ขบวนโคมาฉิ) ที่ใช้ E3 นี้
จะใช้รางช่วงระหว่างโตเกียว ถึง โมริโอกะ ร่วมกับรางของ โทโฮะคุ ชินคันเซน เลยต้องพ่วงกันไป

ปกติโทโฮคุ ชินคันเซน จะมีวิ่งออกจากโตเกียวถี่ยิบถึงวันละร้อยกว่าเที่ยว (10 นาที ออก 1 ขบวน) รางแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว


เอารูปเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือของ JR East มาให้ดูอีกที กันงง

สายยามางาตะ กับ อาคิตะ ชินคันเซน เป็นเส้นทางสายรอง ที่สร้างจากการขยายรางรถไฟสายปกติ ที่เรียกว่า มินิชินคันเซน
แยกแตกแขนงจากรางรถไฟสาย โทโฮะคุ ชินคันเซน

แต่สายโจเอะสึ กับ นางาโน่ ชินคันเซน เป็นทางสายหลัก ที่สร้างใหม่ต่างหาก แยกรางจาก โทโฮะคุ ชินคันเซน เลยไม่ต้องพ่วงกับใคร




E3 Series รุ่นหลังปี 40 ( E3-1000 กับ E3-2000 ) นอกจากอุปกรณ์และสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น ยังแต่งหน้าตาให้หล่อขึ้นอีกเล็กน้อย

ย้ายไฟทั้งไฟหน้า ไฟหรี่ มาไว้ตรงช่องใต้กระจกห้องคนขับ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม 2 อัน เหมือนรูจมูกเรืองแสง

ทำความเร็วสูงสุดได้ 275 กม./ชม. วิ่งเร็วขนาดนี้ได้เฉพาะช่วงที่เกาะอยู่กับ โทโฮะคุ ชินคันเซน

แต่ พอถึงสถานีที่ต้องแยกร่าง ไปวิ่งจริงในเส้นทางของตัวเอง ทั้ง ยามางาตะ และ อาคิตะ จะเหลือความเร็วสูงสุดแค่ไม่เกิน 130 กม./ชม. เท่ากับความเร็วรถไฟปกติของญี่ปุ่น เพราะสภาพความมั่นคงของสิ่งก่อสร้างและวัสดุที่อยู่รอบราง มันไม่ปลอดภัยพอให้วิ่งเร็วกว่านี้





รถ Tsubasa สายยามางาตะ ตอนนี้ เริ่มนำรุ่น E3 Series ออกมาใช้แทนแล้วตั้งแต่ปี 2550 และจะทยอยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ภายในปีหน้า

รุ่นใหม่สวยมั้ยครับ?





Yamagata Shinkansen ออกแบบโลโก้ประจำสายไว้ด้วย

เป็นรูปปีก และ คำว่า Tsubasa สีเขียวเหลือง รองพื้นด้วย ดำ-เทา ติดอยู่ข้างตัวรถรุ่น E3 Series ที่เอามาใช้แทน 400 Series


ชอบ++++




ส่วนโลโก้ของ Akita Shinkansen บนสีข้าง E3 Series

จะชื่อ โคมาฉิ (แปลว่า สาวสวย)

จำลอง ลายเส้นปลายภู่กันของตัวอักษรญี่ปุ่น คำว่า โคมาฉิ เล่นกับสี น้ำเงิน แดง และ น้ำตาลอ่อน

ง่าย เก๋ แต่ผมว่าเล่นสีมากไปหน่อย

คาดว่าคนออกแบบคงอยากให้จิตนาการเห็นเป็น สาวสวยที่เปี่ยมด้วยสีสรรวัยแรกแย้ม

ผมชอบโลโก้อักษรสีเดียวของ สึบาเมะ (Kyushu Shinkansen) มากกว่า

มองแล้วเห็นเป็นภาพสาว(บ้านนอก)ญี่ปุ่น สวมยูคาตะสีน้ำเงิน ปล่อยผมยาวสลวย ยืนตากผ้าอยู่หน้าบ้าน แล้วหันมายิ้มพร้อมแสงอาทิตย์ยามอรุณเป็นฉากหลัง


คิดเป็นตุเป็นตะไปนู่น.....





เอารูป E3 สายยามางาตะ (สึบาสะ) มาให้ดูแบบเต็มคัน


ครึ่งบนเป็นสีเงินเมทาลิค ครึ่งล่างเป็นสีเทาอ่อน คาดด้วยแถบสีเขียว พร้อมโลโก้รูปปีก (สึบาสะ) สีเขียว





แถมด้วยรูป E3 Series อาคิตะ ชินคันเซน ขบวน โคมาฉิ (คันทางขวามือ)
ที่พ่วงกับ E2 Series โทโฮะคุ ชินคันเซน ขบวน ฮายาเทะ (คันทางซ้าย)

จอดจุ๊บกัน มาให้ดูชัดชัด




ที่บอกว่า E3 Series ขนาดความกว้างของตัวรถจะเล็กกว่าชินคันเซนทั่วไป

กว้างแค่ประมาณ 2.9 เมตร เท่าขนาดรถไฟปกติของญี่ปุ่น
แต่ชินคันเซนทั่วไป ตู้จะกว้างประมาณ 3.4 เมตร

แล้วถ้ามันมาจอดในชานชลาของชินคันเซน
จะเกิดอะไรขึ้น???

ก็จะเกิดช่องว่างระหว่างตัวรถ กับชานชลาแบบนี้ครับ....
เอามาเทียบกับ E2 ให้ดู ซึ่ง E2 จอดแล้วแนบกับชานชลาพอดี
ไม่ต้องคอย Please mind the gap between train and platform... เหมือนที่ได้ยินบ่อย ๆ จากรถไฟฟ้าบ้านเรา

ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ ผู้โดยสารมีเดินตกชานชลาหัวทิ่มแน่





เพื่อป้องกันผู้โดยสาร E3 Series เดินตกชานชลา

เลยต้องออกแบบให้มีสะพานเหล็กขนาดเล็ก อยู่ใต้ประตูรถ
พนักงานขับรถจะเปิดให้กางออกมารับกับปากประตู เฉพาะตอนรถจอดเทียบชานชลาชินคันเซนปกติ

ตอนรถวิ่งก็พับเก็บ แนบกับตัวรถไว้ ตามรูป

เรื่องคิดมาก คิดลึก เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของลูกค้า นี่ของถนัดของคนญี่ปุ่นเค้าอยู่แล้ว




ภายในห้องโดยสาร E3
เบาะจะมีแค่ 4 ตัวต่อแถว เหมือนกับรถไฟปกติ

แต่การตกแต่งภายในดูทันสมัยขึ้ันมากมาย





ถึงคิวเจ้ายักษ์ E4 Series Max แล้ว

เห็นชื่อ Max ก็แน่นอน ต้องเป็นรถ 2 ชั้น เริ่มผลิตเมื่อปี 2540 หยุดผลิตไปเมื่อปี 2546 นี่เอง

รุ่น นี้พัฒนาต่อจาก E1 เพิ่มความทันสมัยของมอเตอร์ และ ระบบการควบคุมรถ รวมถึงการเกลารูปร่างให้มีส่วนโค้งส่วนเว้า ดูลู่ลมมีแอโรไดนามิคเพิ่มขึ้น

ความเร็วสูงสุดยังคงทำได้เท่ากับ E1 คือ 240 กม./ชม. แต่อัตราเร่งดีกว่า

เพราะ ตัวยักษ์ขนาดนี้ ทำมาเพื่อใช้บรรทุกคนให้ได้มาก ๆ ระหว่างเมืองใหญ่ 2 เมือง ช่วงเวลาเร่งด่วน ในเส้นทางที่ไกลไม่มาก (สายโทโฮะคุ สุดทางแค่เซนได) เลยไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็วปรูดปร๊าดมากนัก

มวลมันเยอะ เด๋วจะเบรคไม่อยู่เอา

ตอนนี้ใช้วิ่งในหลายเส้นทาง ทั้ง Tohoku , Joetsu และ Nagano Shinkansen ที่มีคนใช้บริการกันหนาแน่

สังเกตง่าย ๆ ว่ารถขบวนไหนเป็นแบบ 2 ชั้น ก็จะมีคำว่า Max นำหน้า เช่น Max Yamabiko , Max Nasuno, Max Toki, Max Tanigawa


ล่าสุดที่เปิดตัวเมื่อปี 2544 เป็น Max Asama
แต่ขบวนนี้มีวิ่งเป็นบางช่วง เฉพาะฤดูท่องเที่ยวเท่านั้น





ดูรูป E4 แล้วเหมือนว่าจะคันเล็ก ๆ

แต่ตัวจริงใหญ่หยั่งกะต่อหม้อทางด่วนเลยครับ
ตัวรถสูง 4 เมตรครึ่ง กว้างเกือบ 3 เมตรครึ่ง ยาว 25 เมตร

พอจอดเทียบสถานี ชั้นล่างจะอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นชานชลา
เลยเหมือนรถมันคันไม่ใหญ่


ใครนั่งอยู่ชั้นล่าง พอรถเทียบชานชลา วิวจะเป็นระดับพื้นพอดี
สาว ๆ ใส่กระโปรงสั้น ๆ อย่าไปยืนติดขอบชานชลาชินคันเซนนะจ๊ะ
ขอเตือน!!!





เอารูปมุมมองจากตู้นั่งชั้นล่างของ E4 ที่คุณหมอ MedicinePath ถ่ายมาแปะในกระทู้ผม มาให้ดูกันชัด ๆ ว่ามันเป็นระดับเดียวกับพื้นชานชลาเลย




เบาะให้ห้องโดยสารชั้นปกติ ชั้นบนจะเป็นสีม่วง มีแถวละ 5 ตัว
ส่วนGreen Car มีแค่แถวละ 2 ตัว

แต่ในตู้ที่เป็น Non-reserved Seat ชั้นบน เบาะจะเล็กหน่อย วางอัดกันแถวละ 6 ตัว และปรับเอนไม่ได้

ก็เน้นจุคนให้เยอะ และนั่งกันไม่ไกลนี่

1 ขบวน จะมี 8 ตู้ จุผู้โดยสารได้ 817 คน
ช่วงเวลาเร่งด่วน ถ้าที่นั่งไม่พอกับความต้องการ (แต่ชินคันเซนห้ามตีตั๋วยืน) ก็จะเอา E4 Series 2 ขบวนมาต่อกันได้
กลายเป็น 16 ตู้ จุได้ 2 เท่าเห็นเห็น

ถ้าทำตู้เยอะเหมือน E1 ที่มี 12 ตู้ต่อขบวน ช่วงเวลาที่ไม่เร่งด่วน คนนั่งจะโหรงเหรง เปลืองไฟ เปลืองเที่ยว


ลืม บอกไปว่า รถไฟญี่ปุ่นเค้าจะล็อคจำนวนตู้ต่อขบวนเอาไว้แน่นอนตายตัว ถ้าจะเพิ่ม ลด จำนวนตู้ ถ้าไม่ประกอบมาจากโรงงาน หรือศูนย์ซ่อม ก็ต้องเอารถอีกขบวนมาต่อกันเพื่อเพิ่มความจุ

ไม่ได้ให้ต่อเพิ่มตู้ได้เรื่อย ๆ เหมือนรถไฟแบบที่ใช้หัวรถจักรอย่างบ้านเรา




เบาะชั้นล่างเป็นสีออกน้ำตาล จะได้แยกออกว่าเดินอยู่ชั้นไหน




โลโก้ของ E4 ก็ทำคล้ายกับของ E1
เปลี่ยนแต่สี เป็นโทนน้ำเงิน-เหลือง แล้วปล่อยนกโทคิบินเข้าป่าไป

เพราะไม่ได้ใช้วิ่งกับขบวน Max Toki อย่างเดียวแล้ว




ว้า.. จบไม่ทันจนได้


ขอไปต่อสัปดาห์หน้านะครับ
หมดชุด E Series แล้ว

สัปดาห์หน้า จะแนะนำชินคันเซนรุ่นส่งออกไปขายต่างประทศ
และชินคันเซนที่กำลังวิจัย จะผลิตออกใช้ในอนาคต

รวมถึงรถรางแม่เหล็กไฟฟ้า Maglev


สัปดาห์หน้าเจอกันครับ




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 17:56:33 น.
Counter : 6188 Pageviews.  

ชินคันเซน รถด่วนทะลุอนาคต

อาทิตย์นี้เป็นช่วงเอาของเก่ามาเล่าใหม่

เคยเขียนกระทู้แนะนำรถไฟญี่ปุ่นไว้หลายตอน ในห้อง Blue Planet
ตอนนี้กระทู้ทั้งหลายตกไปอยู่ในคลังกระทู้เก่าหมดแล้ว

และเนื่องจากเป็นกระทู้ ที่จะมีการปาด แซว และถามกันตลอดเวลา เคยจะอ่านไม่ค่อยประติดประต่อเท่าไหร่

วันนี้ได้โอกาสอู้ เลยรวบรวมเอามาฉายหนังซ้ำกันอีกรอบ
แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบคนที่เคยอ่านกระทู้นี้มาแล้ว
จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลลงไปหลายเรื่อง เช่น หน้าตาห้องโดยสาร อุปกรณ์อำนวยความสะดวก


เพราะอยากเก็บความทรงจำดี ๆ ที่ผมรัก ไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ในเว็ปของตัวเองบ้าง



รักรถไฟ(ญี่ปุ่น) เลยอยากเข้าใจเค้าให้มากที่สุด..... ก็เท่านั้นเอง

======================================



(รูปนี้โหลดมาจาก //www.japanrailpass.net/eng/en010.html )

คำว่า Shinkansen ไม่ได้แปลว่ารถไฟหัวกระสุน

แต่แปลว่า ทางรถไฟสายใหม่
(Shin แปลว่า ใหม่ ส่วน Sen แปลว่าเส้นทาง)

ใน ญี่ปุ่น คำนี้ใช้เรียกรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นชั้นสูงที่สุดของรถไฟญี่ปุ่น ที่เรียกเป็นทางการว่า Super Express กันจนติดปาก เหมือนบ้านเราเรียกผงซักฟอกว่า แฟ้บ หรือ เรียกผ้าอนามัยว่า โกเต็ก ประมาณนั้น

แล้วด้วยความที่ หน้าตาชินคันเซนรุ่นแรก มันกลมมนเหมือนหัวกระสุนปืน และวิ่งเร็วสุดสุด (ในสมัยนั้น)
ชินคันเซ็นเลยมีชื่อเล่นว่า Bullet Train
แล้วบ้านเราก็แปลตรงตัวไปเลยว่า รถไฟหัวกระสุน

คน ญี่ปุ่นเริ่มคิดสร้างชินคันเซนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ยุคที่เมืองไทยอันพาลกำลังครองเมือง ตอนนั้นที่ญี่ปุ่นรถไฟกำลังจะครองใจคนทั้งประเทศ

เค้าฝันอยากจะมี Dream Super Express ที่สามารถวิ่งจาก โตเกียว ถึง โอซาก้า ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ได้ภายใน 3 ชั่วโมง

โอ้ว! ยามาโมโต้.... มันขี้โม้มาก

สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน ใครมาพูดเรื่องนี้คงขำก๊าก และอุทานแบบนี้กันไปทั้งบาง

สมัยนั้นรถไฟญี่ปุ่นใช้ความเร็วไม่ต่างจากรถไฟไทย ที่วิ่งจากกรุงเทพถึงลำปางในเวลาสิบกว่าชั่วโมง (ตอนนี้ก็ยังวิ่งเท่านี้อยู่)

ดูแผนที่ญี่ปุ่นประกอบไปด้วยนะ จะได้นึกภาพออก

โตเกียวอยู่ในเขตคันโต ตรงกลางประเทศ
ส่วนโอซาก้าอยู่ในเขตคินคิ (หรือคันไซ) อยู่ถัดมาทางใต้ของเกาะฮอนชู
ห่างกันประมาณ 500 กม.




ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ตั้งใจทำอะไรแล้ว ต้อง(บ้าคลั่ง)ทำจนสำเร็จ

2 ปีต่อมาหลังจากคิดฝันโครงการใหญ่
พ.ศ. 2502 ก็เริ่มลงมือสร้างทางรถไฟจากโตเกียว ไป โอซาก้า ทันที
และ เริ่มวิจัยพัฒนา กับ สร้างรถทดสอบ (Class 1000) ทดลองวิ่งไปพร้อม ๆ กัน

เรียกเส้นทางรถไฟชินคันเซนสายแรกนี้ว่า Tokaido Shinkansen (โทะไคโด ชินคันเซน) ได้ชื่อมาจาก ชื่อถนนโบราณระหว่างเมืองเกียวโต กับเอโดะ (หรือโตเกียวในปัจจุบัน)

เปิดตัววิ่งรถเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ด้วย 000 Series (ศูนย์สามตัว) วิ่งระหว่างโตเกียว กับ โอซาก้า

มีรถวิ่งเข้าวิ่งออก ณ ปีที่เปิดตัว วันละ 60 เที่ยว!!

ปัจจุบันสายโทะไคโด มีชินคันเซนวิ่งเข้า-ออก 200 กว่าเที่ยวต่อวัน เกือบทุก 7 นาทีจะมีรถออกขบวนนึง


สมัยนั้นแบ่งขบวนรถเป็น 2 แบบ คือ

1. Hikari (ฮิคาริ แปลว่า แสง) วิ่ง Tokyo-Osaka ในเวลา 4 ชั่วโมง จอดแต่สถานีหลัก

2. Kodama (โคดามะ แปลว่า เสียงสะท้อน) ถึงโอซาก้าในเวลา 5 ชั่วโมง เพราะจอดดะทุกสถานี เป็นชินคันเซนหวานเย็น

ส่วนขบวนที่ชื่อ Nozomi (โนโซมิ) กว่าจะเกิดก็ต้องรอไปจนถึงปี 2535 นู่น


รูปนี้เป็น 000 Series ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2509 ไม่ได้บอกว่าถ่ายที่ไหน
วิวคุ้น ๆ เหมือนจะเป็นเกียวโต




รุ่นแรก ชื่อรหัส 000 Series

เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ผลิตกันต่อเนื่องยาวนานมาถึง 22 ปี หยุดผลิตไปเมื่อปี 2529

หน้าตาอ้วนกลมน่ารัก และคลาสสิคซ่ะ...
ตรง หัวรถเห็นว่าลอกแบบมาจากเครื่องบินรุ่น DC-8 ที่ใช้บินส่งคนสมัยนั้น เพราะคนออกแบบคงอยากสื่อให้เห็นว่า การเดินทางด้วยชินคันเซ็นสะดวกรวดเร็วเหมือนนั่งเครื่องบิน

ความเร็วสูงสุดทำได้ถึง 220 กม./ชม. แต่วิ่งจริงเฉลี่ยจะไม่ถึง 200 เพราะเทคโนโลยียังไม่ดี ทำเสียงดังหนวกหูชาวบ้าน

รถแรงต้องฐานล้อกว้าง ๆ ด้วยความเร็วขนาดนี้เลยทำให้ต้องสร้างรางของใหม่หมด ให้เป็นมาตรฐาน European Standard Gauge ที่ 1.435 เมตร

ซึ่งรางรถไฟของ JR แบบปกติ จะเป็น Caps Gauge กว้าง 1.067 เมตร เลยเอารถไฟความเร็วสูงกว่า 200 กม./ชม. มาวิ่งไม่ได้

ส่วนรถไฟไทยรางเป็นแบบประหยัดต้นทุน เป็น Meter Gauge กว้าง 1 เมตร เพื่อให้เข้ากับรางรถไฟเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


000 Series แบบมาตรฐาน 1 ขบวนจะมีตู้โดยสารประมาณ 12 หรือ 16 ตู้ แล้วแต่รุ่น




ตอนนี้ 000 Series ที่ยังเหลืออยู่นอกพิพิธภัณฑ์ ถูกเอามาปรับปรุง และลดชั้นลงมาเป็นรถด่วน (Limited Express) วิ่งอยู่ที่ Fukuoka

โดยตัดตู้ออก เหลือ 6 ตู้ต่อขบวน ใช้วิ่งระยะทางสั้น ๆ แค่ 8.5 กม. ใช้เวลาวิ่ง 10 นาที จากสถานี Hakata ไปสถานี Minami-hakata

ใช้ชื่อสายว่า Hakata Minami line บริหารโดย JR West
กลายเป็นสายอนุรักษ์ให้นั่งชื่นชมบรรยากาศเก่า ๆ ไปซ่ะงั้น

ถ้าใครอยากนั่ง 000 Series หมดโอกาสซ่ะแล้ว
เพราะเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 JR West ได้ยกเลิกการใช้งาน 000 Series ทั้งหมด หลังจากคุณปู่ 000 Series ถูกปลุกชีพปั๊มหัวใจอยู่ให้บริการมายาวนานกว่า 40 ปี

สมควรแก่เวลาต้องเชิญแกไปนั่งดูหลาน ๆ ในพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว

หลังจากนี้คนที่อยากย้อนอดีตใช้บริการนั่ง ฮาคาตะ มินามิไลน์ จะได้นั่ง 100 Series รุ่นปัดฝุ่น แทน


ทาง JR West จะจัดงานซาโยนาระ 000 Series กันที่ Hakata อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 51 นี่เอง




ขบวนที่ถูกปลอดระวาง ก็จะทยอยนำไปทาสีเดิม (น้ำเงิน-ขาว) แล้วส่งให้มิวเซี่ยมทั่วโลก เปลี่ยนของขวัญบ้าง ต่างตอบแทนบ้าง ขายให้ก็มีบ้าง

ขบวนนี้กำลังลำเลียงลงเรือ ส่งไปพิพิธภัณฑ์เมือง York ประเทศอังกฤษ




สีขบวนรถตอนที่ยังอยู่ภายในการดูแลของ JR West ก่อนปลดระวาง
เป็นลายดำเขียว





ภายใน 000 Series จะแคบกว่าชินคันเซนรุ่นอื่น ๆ ชั้นปกติ (Ordinary Car) จะมีเบาะแค่ 4 แถว และพื้นปูด้วยกระเบื้องยางสังเคราะห์ ไม่ได้ปูพรม



หลังจากประสบความสำเร็จด้วยดีกับทางรถไฟสาย Tokaido
(ตามรูปหมายเลข 1 สีแดง)

เดือนมีนาคม ปี 2510 ทาง Japanese National Railways (JNR) หรือ การรถไฟญี่ปุ่น สมัยยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็เริ่มก่อสร้าง ต่อขยายรางชินคันเซนจากโอซาก้า ลงใต้ไปเป็นช่วง ๆ ไปถึง Okayama, Hiroshima จนสุดทางที่ Fukuoka เมื่อปี 2518

สร้างนานหน่อย เพราะต้องทำ Shin-Kanmon Tunnel อุโมงค์ลอดใต้ทะเลยาว 18.7 กม. ระหว่างเกาะฮอนชูกับคิวชู ก่อน

JNR ตั้งชื่อทางรถไฟสายใหม่นี้ว่า Sanyo Shinkansen (ซันโย ชินคันเซน) ตามรูปเส้นทางหมายเลข 2 สีน้ำเงิน

ขบวนรถที่วิ่งเส้นทางใหม่นี้ ยังใช้ชื่อว่า ฮิคาริ กับ โคดามะ เหมือนกับสายโทะไคโด
เพียงแต่โคดามะของสายโทะไคโด จะวิ่งจากโตเกียวไปสุดสายที่โอซาก้า แยกจากโคดามะของซันโย ที่เริ่มวิ่งจากโอซาก้าลงไปถึงฟุคุโอกะ

ชื่อเหมือนกันแต่ต่างคนต่างวิ่งในเส้นทางของตัวเอง




รุ่นต่อไป ต้องรออะไรหลายอย่าง จนถึงปี 2527 หลังจากผลิต 000 Series ออกมากว่า 20 ปี JNR ถึงจะเปิดตัว 100 Series ขึ้นมาแทน

100 Series ใช้วิ่งในเส้นทาง โทะไคโด และ ซันโย เป็นขบวนฮิคาริ
ส่วน 000 Series ก็ให้เป็น โคดามะ อย่างเดียว คันไหนเก่ามาก ก็ก็ปลดระวาง

รูปทรงหัวรถ 100 Series ลดความอ้วนกลม และเหลามุมให้เป็นทรงรี กลมกลืนกับตัวรถ ลดแรงต้านอากาศ

ไฟหน้าจากทรงกลม ก็เปลี่ยนเป็นทรงรีให้เข้ากับหน้ารถ คนญี่ปุ่นเค้าบอกว่า ดูแล้วเหมือนจมูกฉลาม

รุ่นนี้ช่วงล่างดีขึ้น และมอเตอร์ไฟฟ้าแรงกว่าเดิม จนทำความเร็วสูงสุดในการทดสอบได้ถึง 270 กม./ชม. ไม่มีเสียงดังรบกวนชาวบ้านแล้ว

แต่วิ่งจริงสูงสุดจะให้ไม่เกิน 220 กม./ชม. เพราะเทคโนโลยีระบบเบรคและการทรงตัวยังดีไม่พอให้เอาไปบรรทุกผู้โดยสารไปวิ่งเร็วเท่านั้น

1 ขบวนจะมีตู้โดยสาร 16 ตู้ แต่ความกว้างของตู้โดยสารยังไม่มาก 1 แถวยังมีที่นั่งได้ 2+2 เหมือน 000 Series

ผลิตมาค่อนข้างยาวนาน จนถึงปี 2534 ก็เลิก
ไปเริ่มผลิต 300 Series แทน




ตอนนี้ 100 Series เหลือวิ่งเป็นชินคันเซนหวานเย็น ขบวน Kodama ในเส้นทาง Sanyo Shinkansen และตัดเหลือ 6 ตู้ต่อขบวน

พอวิ่งถึง Hakata ก็เปลี่ยนชื่อขบวนเป็น LEX (Limited Express) ชื่อขบวน Hakata Minami line วิ่งระยะทางสั้น ๆ ไปเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงชินคันเซนที่สถานีฮาคาตะมินามิ


รูปนี้เป็น 100 Series ที่เอามาปรับปรุงเป็นขบวน โคดามะ จอดรับผู้โดยสารที่เมืองฮิโรชิม่า




100 Series ผมเคยลองไปนั่งมาแล้วจากสถานีฮาคาตะ ไป ฮาคาตะมินามิ
ถึงจะเก่าแต่ก็นิ่ง และวิ่งฉิว อาจมีเสียงดังลอดเข้ามาในห้องโดยสารนิดหน่อย และช่วงล่างไม่นุ่มเท่ารุ่นใหม่ แต่ก็ถือว่ายังเยี่ยม กับรถที่อายุ 20-30 ปีขนาดนี้

ภายในเบาะเป็นสีน้ำตาล ตกแต่งเรียบ ๆ บรรยากาศเหมือนกับนั่งรถบัสปรับอากาศ แบบ ป.1 ทั่วไป




ขอข้าม 200 Series ไปก่อนนะครับ

เพราะ รุ่นนี้ผลิตขึ้นมาพร้อม ๆ กับ 100 Series แต่ใช้วิ่งขึ้นเขาฝ่าหิมะ ในเส้นทาง Tohoku กับ Joetsu Shinkansen ซึ่งรถจะมีคุณสมบัติที่ อึด ทน และแรง มากกว่ารุ่นปกติ

อยากเล่าให้จบทีละเส้นทาง จะได้ไม่งง

ก่อนจะเล่าถึง 300 Series ขอปูพื้น เล่าเหตุการณ์สำคัญอย่างนึงก่อน
จะได้ไม่มึนเวลาพูดถึง ตัวย่อ JNR , JR East หรือ JR West


อย่างที่บอกไปแล้ว รถไฟญี่ปุ่นตอนแรกเป็นรัฐวิสาหกิจ ชื่อว่า Japan National Railways หรือ JNR

ต่อมารถไฟชักเยอะ ระบบชักซับซ้อน
แถมรถไฟเอกชนเจ้าอื่นๆ ก็พัฒนาไล่บี้มาติด ๆ
ทางรัฐบาลเลยให้แปรรูปเป็นเอกชนซ่ะ เพื่อความคล่องตัวและรวดเร็วในการบริหารและพัฒนาการเดินรถ

เดือนเมษายน ปี 2530 JNR เลยถูกแปรรูปเป็นเอกชน ตั้งเป็น JR Group มี 9 บริษัทย่อย คือ

1. Hokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido (สีเขียวอ่อน) รับผิดชอบเขตเกาะฮอคไคโดทั้งหมด สำนักงานอยู่ที่ ซัปโปโร่

2. East Japan Railway Company หรือ JR East (สีเขียวแก่) รับผิดชอบงตอนบนของเกาะฮอนชู สำนักงานอยู่ที่โตเกียว

3. Central Japan Railway Company หรือ JR Central (สีส้ม) รับผิดชอบเขตภาคกลาง (Chubu) ของเกาะฮอนชู อยู่ที่นาโงย่า

4. West Japan Railway Company หรือ JR West (สีน้ำเงิน) รับผิดชอบตอนล่างของเกาะฮอนชูทั้งหมด สำนักงานอยู่ที่โอซาก้า

5. Shikoku Railway Company หรือ JR Shikoku (สีฟ้า) รับผิดชอบเขตเกาะชิโคะคุทั้งหมด สำนักงานไม่แน่ใจว่าอยู่ที่ไหน เพราะ website เป็นภาษาญี่ปุ่น อ่านม่ะออก

6. Kyushu Railway Company หรือ JR Kyushu (สีแดง) รับผิดชอบเขตเกาะคิวชูทั้งหมด สำนักงานอยู่ที่ฟุคุโอคะ

7. Railway Technical Research Institute หรือ RTRI รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนารถไฟทุกประเภทของ JR

8. JR Freight Railway Company หรือ JR Freight ดูแลรถ และการขนส่งสินค้าทางรางทั้งหมดทั่วประเทศ

9. Railway Information Systems Company ดูแลระบบข้อมูลการจองตั๋วรถ และการเดินรถทั้งหมดทั่วประเทศ

พอแบ่งเป็นบริษัทย่อย ๆ ก็ต้องมีการแบ่งสมบัติกัน

Tokai Shinkansen ให้ JR Central ดูแล
ส่วน Sanyo Shinkansen ก็ให้ JR West ดูแล




พอ JNR แปลรูปเป็นเอกชนแล้ว
การพัฒนาชินคันเซนก็เริ่มว่องและถี่ราวกับโด๊ปยา

ปี 2532 JR Central กับ JR West ก็ร่วมกันพัฒนาและสร้าง 300 Series ออกมาให้บริการ ในสาย โทะไคโด และ ซันโย

เปิดตัวเมื่อ 8 มีนา 2533 ประกาศตัวอย่างกึกก้องว่า นี่คือ Super Hikari (ตอนนั้น Nozomi ยังไม่เกิด)

ความเร็วสูงสุดตอนทดสอบ ทำไปได้ถึง 300 กม./ชม. เท่าชื่อรุ่น
แต่วิ่งจริงสูงสุดไม่เกิน 270 กม./ชม. เฉลี่ยอยู่ที่ 225 กม./ชม.
เร็วพอที่จะทำให้วิ่งจากโตเกียวถึงโอซาก้าได้ในเวลา 3 ชั่วโมงนิด ๆ จากรุ่นแรก ๆ ที่ต้องนั่งกันก้นด้านถึง 4 ชั่วโมง

หน้าตาดูหล่อและทันสมัย หน้าสั้นกระทัดรัดรูป ไม่ยาวยื่นจนคนขับชะโงกมองไม่เห็นหน้ารถ

ดูไปคล้ายหน้านินจาใส่ชุดสีขาวคาดหน้ากากสีเทาเหมือนกันเนอะ

1 ขบวนแบบมาตรฐาน จะมี 16 ตู้ ยกเว้นจะเอาไปดัดแปลงตัดต่อให้สั้นลงเพื่อวิ่งระยะใกล้

มอเตอร์แรงขึ้น
ตัว รถเบาขึ้น เพราะเปลี่ยนตัวถังจากเหล็ก เป็น อลูมินัมอัลลอยด์
พร้อมระบบช่วงล่างสมัยใหม่ และเบรค ที่นิ่มและสนิทกว่าเดิมหลายขุม เห็นเค้าบอกว่าเป็น AC Regenerative Break System

Spec ของ 300 Series ดูตามนี้นะครับ //en.wikipedia.org/wiki/Shinkansen_300_Series



ภายในของ 300 Series




เดือนมีนา 2535 JR Central กับ JR West ก็ประกาศชื่อขบวนรถใหม่ แทน Super Hikari ที่ฟังแล้วดูไม่เป็นญี่ปุ่นเท่าไหร่

ชื่อขบวนใหม่ คือ Nozomi (แปลว่า ความหวัง)
จึงเกิดมาตั้งแต่ตอนนั้น

Nozomi เป็นชื่อขบวนรถซุปเปอร์ด่วน ที่จะวิ่งรวดเดียวจาก โตเกียว ไปถึง ฟุคุโอคะ ควบสองเส้นทางจาก โทะไคโด ถึง ซันโย ไม่ต้องแวะเปลี่ยนรถที่โอซาก้าอีก (เฉพาะช่วงเวลาเร่วด่วนอาจมีขบวนเสริมวิ่งระยะสั้น)

ส่วน ฮิคาริ กับ โคดามะ ยังคงแบ่งวิ่งช่วงใครช่วงมัน Tokaido / Sanyo ไม่ปนกัน (แต่อาจมีแถมนิดหน่อย) มาจนถึงเดี๋ยวนี้

ดัง นั้นถ้าใครใช้ JR Rail Pass แล้วจะนั่งชินคันเซนจากโตเกียว ไป ฟุคุโอคะ ต้องแวะเปลี่ยนรถที่ สถานีชินโอซาก้าก่อนนะจ๊ะ เพราะ JR Rail Pass ใช้นั่งรถ โนโซมิ ม่ะได้


รถที่ทันสมัยต้องวิ่งในระดับที่ดีที่สุด
300 Series ยุคแรกทั้งหมด เลยเอามาวิ่งเป็น Nozomi

แต่รุ่นนี้หยุดผลิตไปแล้วเมื่อปี 2541 ตอนนี้ 300 Seeris เลยถูกลดชั้นลงมาวิ่งเป็น Kodama กับ Hikari จนเกือบหมดแล้ว
เหลือวิ่งเป็น Nozomi เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนที่รถไม่พอเท่านั้น


ชินคันเซ็น 1 คัน เพื่อความปลอดภัย เค้าจะใช้งานแค่ประมาณ 15-20 ปี เท่านั้น

เลยต้องมีการผลิตรุ่นใหม่ออกมาเรื่อย ๆ




เมื่อแยกเป็นบริษัทย่อย แต่ละบริษัทก็อยากจะสร้างผลงานเป็นของตัวเอง

JR West เลยไปซุ่มผลิต 500 Series ขึ้นมาเมื่อปี 2538
กะจะเอามาใช้เป็นรถ Nozomi ประจำสายซันโย

หน้าตาล้ำสมัยสุดสุด เหมือนไม่ไช่รถไฟ ไปเหมือนหนอนอวกาศ

ไม่ได้สวยแต่รูป แต่ปราดเปรียวเซี้ยวสุดขีดที่ความเร็วสุงสุดตอนทดสอบร่วม 320 กม./ชม.
เอามาวิ่งจริง ถ้าเป็นสายโทะไคโด รางมันเก่า จะวิ่งได้แค่ไม่เกิน 270 กม./ชม.
แต่พอเอาไปวิ่งบนสายซันโย รางสร้างทีหลัง ระหว่างฮิโรชิม่า กับ ฟุคุโอคะ พุ่งไปได้ถึง 300 กม./ชม.

แต่ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ลดเวลาวิ่งจากโตเกียว ถึง ฮาคาตะ (ฟุคุโอคะ) จาก 5.40 ชั่วโมง ที่เคยทำได้โดย 300 Series ลงเหลือแค่ 4.49 ชั่วโมงกับเจ้าหนอนอวกาศตัวนี้

เป็นความเร็วสูงที่สุดของชินคันเซน ที่ให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่ในญี่ปุ่นตอนนี้


ความที่จมูกมันยาว เลยทำให้ความยาวของรถตู้แรก งอกออกมาเป็น 27 เมตร ยาวกว่าชินคันเซนรุ่นอื่น ที่โดยเฉลี่ยวจะยาวแค่ 25 เมตร

พนักงานขับรถรุ่นนี้เลยต้องไปฝึกจอดรถกันใหม่หมด!




500 Series อาจจะหานั่งยากซักหน่อยนะครับ
เพราะผลิตออกมาแค่ 9 ขบวน (ขบวนละ 16 ตู้) เนื่องจากต้นทุนการสร้างแพงนรกมาก

ขบวนละ 5 พันล้านเยน!!! คิดเป็นเงินไทยก็จิ๊บ... คร่อก ที่ หนึ่งพันหกร้อยกว่าล้านบาท++++ (อ้าก!)

ด้วยเพราะมันเป็นรถทันสมัย และ สมรรถนะสูงส่งเกินยุคมาก

เดินสายการผลิตแค่ 4 ปี ก็เลยเลิกเมื่อ พ.ศ. 2541 พร้อมกับการเลิกผลิต 300 Series

มาทีหลัง แต่ม้วยไปพร้อมกัน สงสัยคนออกแบบจะไม่ได้ดูฮวงจุ้ยก่อนทำ


ถ้าใครมีโอกาสไปนั่งชินคันเซนสายซันโย อาจมีโอกาสได้สัมผัสกับ 500 Series เพราะมีการลดชั้น 500 Sereis จากการเป็น โนโซมิ เหลือแค่โคดามะ โดยตัดตู้ออกจาก 16 ตู้ เหลือครึ่งเดียว 8 ตู้


เป็นหนอนน้อยที่คอยรับส่งผู้คน ระหว่าง ชินโอซาก้า กับ ฮาคาตะ




ชินคันเซนทุกรุ่นที่เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา จะมีการทำ Logo หรือ ตราสัญลักษณ์ประจำรถแต่ละรุ่น ติดไว้ที่ด้านข้างซ่ะใหญ่โตเห็นเด่นชัดแต่ไกล

เป็นอิมเมจประจำรุ่นเอาไว้ทำการตลาด.. ว่างั้น

เรื่องใช้สัญลักษณ์ หรือ ตัวมาสคอต ญี่ปุ่นเค้าถนัดนัก


ของ 500 Series เป็นยุคแรกที่เริ่มคิดทำโลโก้ข้างรถ
คน ออกแบบเลยยังเกร็งๆ อยู่ จะทำให้เฟี้ยวๆ แนวๆ ชะโจ กับ ชิโจ คงจะเบิดกระโหลกเอา (ญี่ปุ่นเวลาลูกน้องทำงานไม่ถูกใจ เอาจะตบหัวกันเลยนะ)

เลยออกมาเรียบ ๆ แข็ง ๆ ไม่มีลูกเล่นอะไรมาก

ช่างขัดกับภาพลักษณ์อันทันสมัยของตัวรถเหลือเกิน!




ภายใน 500 Series การตกแต่งคล้ายกับ 300 Series แต่เพดานสูงกว่า ให้ความโปร่งโล่งกว่า และเปลี่ยนสีพรมที่พื้นให้ห้องโดยสารดูสว่างมากขึ้น ส่วนสีเบาะัยังม้วง.. ม่วง เหมือนเดิม





จากความแพงโครตของ 500 Series
ทำให้ JR West ต้องหันกลับมาจับมือกับ JR Central อีกครั้ง เพื่อพัฒนาชินคันเซ็นรุ่นต่อไป เอาไว้ใช้เป็นขบวนโนโซมิแทน 300 Series

ได้ออกมาเป็น 700 Series เปิดสายการผลิตในปี 2540

ต้นทุนถูกกว่า 500 Series อยู่ที่ 4 พันล้านเยน เท่านั้น..... !!!
(โทรสั่งตอนนี้แถม 000 Series ให้ทำแปลงสะระแหน่ด้วย)

700 Series สมรรถนะ จะต่ำกว่า 500 Series
ความ เร็วจะพอ ๆ กับ 300 Series แต่ปรับปรุงเรื่องความนุ่มนวลในการขับขี่ และการยึดเกาะรางเวลาเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ทำให้นั่งแล้วนุ่มเหมือนขี่เมฆสีทองของโงกุนนั่นเชียว

ระบบเก็บเสียงในห้องโดยสารทำได้ดีถึงดีมาก เงียบกริบ ไม่มีเสียงลมข้างนอกเล็ดลอดเข้ามาได้ เหลือแต่เสียงลมจากโรงสีของคนในรถ

หน้ารถจะออกแบบให้ยื่นออกเหมือน 500 Series แต่ตีโป่งให้ป้อม ๆ บาน ๆ ดูยังไงก็เหมือนเป็ด


ผมเลยเรียก เจ้าปากเป็ด




ใครมีโอกาสไปนั่งชินคันเซนสายโทะไคโดตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นไป จะได้สัมผัสกับ 700 Series แน่นอน

เพราะผลิตออกมาแล้วมากถึง 91 ขบวน
ก่อนนี้จะใช้เฉพาะขบวน โนโซมิ แต่ตอนนี้ถูกทยอยปรับชั้นลงมาเป็นฮิคาริเกือบทั้งหมดแล้ว

เพราะมีรุ่นใหม่กว่าออกมาวิ่งเป็น โนโซมิ แทนแล้ว
700 Series เลยพึ่งหยุดผลิตไปเมื่อปี 2548 นี่เอง

ต่อไป ฮิคาริ ทั้งหมด ก็จะใช้ 700 Series
ส่วน โคดามะ ก็จะใช้ 300 Series ตกทอดกันไปเรื่อย ๆ


ส่วนรุ่นใหม่ N700 Series ที่จะมาใช้เป็น โนโซมิ แทน เด๋วจะเล่าใหัฟัง






โลโก้ของ 700 Series เริ่มมีสีสันและลูกเล่นแล้ว
แต่ Hard Sales เหลือเกิน

ให้อารมณ์แล้วเหมือนดูโฆษณาโทนาฟเลย




ห้องโดยสารของ 700 Series นะ เปลี่ยนวัสดุและสีเบาะใหม่
ดูสดใสกว่า 300 Series เยอะ





ถึงแม้ว่า 700 Series จะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง JR West กับ JR Central แต่ภาพที่ออกมาก็ยังดูเหมือนเป็นรถของ JR Central อยู่ดี

ทาง JR West ยังไม่หายแล้วใจ จากกรณี 500 Series รุ่นแพงโครตเศรษฐี
และด้วยความที่รถชั้นฮิคาริ ที่ใช้วิ่งสายซันโย ซึ่งใช้ 100 กับ 300 Series มีไม่พอใช้ ก็เลยสั่งทำ 700 Series รุ่นไมเนอร์เชนจ์มาใช้งาน

เพื่อไม่ให้ล่มจม เลยสั่งทำแค่ 8-12 ตู้ต่อขบวน
จากปกติชินคันเซนจะมี 16 ตู้ต่อขบวน

ทาสีดำที่รอบกระจกหน้า
เหมือนเป็ดหัวดำปากขาว
ตัวรถเป็นสีออกเทาๆ ไม่ขาวมุกเหมือนกับ 700 Series รุ่นปกติ
ด้านข้างทาสีดำคาดเหลือง แล้วตกแต่งภายในใหม่

ตั้งชื่อว่า Hikari Rail Star




ด้านข้าง มีโลโก้คำว่า Rail Star พร้อมดาวหางสีเหลือง คาดอยู่ข้างตัวรถ

อันนี้ผมชอบแฮะ
ค่อยดูเข้าทีมีสไตล์หน่อย




จะให้ดูกันชัด ๆ ว่า ระยะห่างระหว่างเบาะในรถไฟชินคันเซนรุ่นใหม่ ๆ ตั้งแต่ 300 Series ขึ้นไป มันกว้างขนาดไหน

มีระยะห่างระหว่างเบาะเหลือเฟือสำหรับคนขายาว ที่ 1.04 เมตร

ระยะห่างระหว่างเบาะขนาดนี้ ขนาดฝรั่งตัวโต ๆ สูงเกิน 175 เซ็นแถมลงพุงด้วย ยังนั่งสบาย แถมเอนเบาะแล้วไม่รบกวนคนข้างหลังด้วย





ชินคันเซนตัวใหม่ล่าสุดของสาย โทะไคโด และ ซันโยชินคันเซน มาแว๊วววววววว

ด้วยความร่วมมือจาก JR Central และ JR West เหมือนเดิม
แยกกันพัฒนาเดี๋ยวจะพากันเจ๊งอีก

เริ่มเปิดสายการผลิตเมื่อ พ.ศ. 2548
ณ ตอนนี้ผลิตรถและส่งมอบไปได้แล้วประมาณ 40 กว่าขบวน จากยอดสั่งจองทั้งหมด 97 ขบวนที่จะต้องส่งมอบให้เสร็จภายในปี 2554

JR Central กับ JR West มีแผนกะเอาไปใช้เป็นขบวนโนโซมิ วิ่งระหว่าง โตเกียว กับ ฟุคุโอคะ แทน 700 Series ทั้งหมด ให้ได้ภายในปี 2552 เป็นต้นไป ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไปแล้วประมาณ 50%


ผลิตและคิดออกมาได้เร็ว เพราะรุ่นนี้พัฒนาต่อยอดจาก 700 Series เลยได้ชื่อว่า New หรือ N700 Series

ความเร็วสูงสุดเท่ากับ 500 Series แต่ปรับปรุงระบบการควบคุม ช่วงล่างและกำลังมอเตอร์ใหม่หมด

ตัวรถจะสวย เริ่ด เชิดหน้าขึ้นอีก 1 องศา เพื่อให้รับกับระบบซับแรงสั่นสะเทือนแบบถุงลม สามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้แบบชิวชิว..

ระบบ การควบคุมรถมีความแม่นยำมากขึ้น จนสามารถลดเวลาวิ่งจาก โตเกียว ถึง ฟุคุโอคะ ได้อีก 13 นาทีจาก 700 Series รุ่นเดิม ทำเวลาได้เท่ากับ 500 Series รุ่นสุดแพงที่เลิกผลิตไปแล้ว

วิ่งจาก โตเกียว ถึง โอซาก้า ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง 25 นาที!

หน้าตาก็ยังเป็นพี่น้องตระกูลเป็ดเหมือนกับ 700 Series อยู่ดี...


เป็น New Duck ครับ




ดูด้านข้างจะคล้ายกับ 700 Series มั่กๆ
จนหลายคนสับสน (ผมก็ด้วย)




พอมองเห็นโลโก้ข้างตัวรถ แล้วถึงจะรู้ว่าไม่ใช่ 700 Series รุ่นเก่า

รุ่นนี้ออกแบบได้เข้าทีดีแล้ว เส้นสายทันสมัยตามตัวรถ
แถมมีลูกเล่น เอารูปรถไฟเข้าไปวิ่งในตัวอักษร N700 ด้วย




วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าคันไหนเป็น 700 หรือ N700 ให้ดูจาก

1. ไฟหน้า 700 Series ไฟหน้าจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่ใต้กระจกหน้า ตรงกลางตัวรถ ส่วน N700 จะย้อนยุค กลับไปใช้ไฟรูปวงกลม ติดอยู่ที่ปลายปากเป็ด ที่หัวขบวนรถ

2. กระจกห้องคนขับ ของ 700 แนวกระจกจะยาวแต่แคบกว่า N700

3. หน้ารถ 700 จะกลมป่องเป็นเป็ดการ์ตูน ส่วน N700 จะเหลาให้ตรงแก้มเว้าเหมือนหัวลูกศร ลดแรงเสียดทานอากาศ


หน้าตาดูเป็นเป็ดนักบู๊มากขึ้น


N700 Series คนที่ใช้ JR Rail Pass คงจะไม่มีโอกาสได้ลองนั่งกันง่าย ๆ
เพราะกว่ารถจะเก่าจนเริ่มลดชั้นจาก โนโซมิ เป็น ฮิคาริ ได้ ก็อาจต้องร้องเพลงรอไปจนหลังปี 2554 นู่นแหละมั้ง





ห้องโดยสารของ N700 ในชั้น 1 (Green Car) หรูมาก เหมือนนั่ง Business Class บนเครื่องบินเลย เบาะปรับไฟฟ้าเสียด้วย
ไม่แน่ใจว่ามีระบบหนวดด้วยรึเปล่า เห็นมีปุ่มเยอะมาก

วันหลังถ้าได้ลองนั่ง จะเอามาเหลาให้อ่านกันใหม่




ส่วนห้องโดยสารชั้นปกติ ก็ยังดูเรียบเรียบ เหมือนตัว 700 Series เดิม
เพียงแต่เปลี่ยนสีเบาะให้เข้มขึ้น และใช้วัสดุทำเบาะที่เป็นใยสังเคราะห์พิเศษ นั่งโปร่งโล่งสบาย ไม่อับ ระบายอากาศได้ดี

(คุณสมบัติเหมือนพวกผ้าอนามัยเรยยยฮิ 555)




ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป เที่ยววิ่งชินคันเซนโนโซมิ N700
จะเปลี่ยนเป็นเที่ยววิ่งปลอดบุหรี่....

ถ้าจะสูบบุหรี่ ก็ต้องมารมควันตัวเองในห้องกระจกห้องนี้ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ตู้ใน 1 ขบวนเท่านั้น




ของ(เมา)แถม..




ข้ามไปคิวชู เกาะใหญ่ทางใต้ของญี่ปุ่น

ดู 800 Series กัน

เป็นของ JR Kyushu
เป็นชินคันเซนรุ่นแรก และรุ่นเดียวของเกาะ ในเส้นทาง Kyushu Shinkansen


เริ่มผลิตเมื่อปี 2546 ออกมาแค่ 6 ขบวน (ขบวนละ 6 ตู้) แค่ 3 ปีก็หยุดผลิต เพราะพอกับการใช้งาน(ตอนนี้)แล้ว




Kyushu Shinkansen เป็นสายสั้น ๆ แค่ 137.6 กิโลเมตร
จากสถานี Shin-Yatsushiro (ชินยาทซึชิโระ) จังหวัด Kumamoto (คุมะโมโตะ) ถึง สถานี Kagoshima-Chuo (คาโงะชิมะชูโอะ) จังหวัด Kagoshima (คาโงะชิมะ)

เปิดเดินรถเมื่อเดือนมีนา ปี 2547

จริง ๆ แล้วเส้นทางนี้มีแผนจะต่อเชื่อมกับชินคันเซนสายซันโย จาก จังหวัดฟุคุโอคะ จนถึง จังหวัดคาโงชิม่า

แต่ ตอนนี้เปิดใช้งานแค่ช่วงเดียว จากเมืองยาสึชิโระ จังหวัดคุมาโมโต้ มาสุดทางที่ จังหวัดคาโงชิม่า (เมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่อง หมูดำคุโรบูตะ ที่อร่อยขั้นเทพ)

เส้นทางส่วนที่เหลือจาก สถานีฮาคาตะ มาที่ สถานีชินยาสึชิโระ กำลังก่อสร้างอยู่ คาดว่าจะเสร็จในปี 2554

โดยใช้ชื่อว่าเส้นทางสาย Sakura

ว้าวววววววววววววว




ผมพึ่งไปคิวชูกลับมา พบว่า
เส้นทางชินคันเซนสายซากุระ สร้างเป็นสะพานลอยฟ้าไปเกือบเส้นทั้งเส้นทางแล้ว

กำลังอยู่ในระหว่างการทำอุโมงค์ระหว่างภูเขา

น่าจะเสร็จทันตามกำหนดแน่นอน เรื่องทำงานให้ทันตามกำหนดเวลา ญี่ปุ่นไม่ค่อยจะพลาดอยู่แล้ว




800 Series มีชื่อขบวนว่า Tsubame (ซึบาเมะ) ที่แปลว่า นกนางแอ่น

แต่หน้าตาดูไปผมว่าคล้ายเป็ดมากกว่านกนางแอ่นนะ
ไฟหน้าทำเป็นรูปวงรีแนวตั้ง เหมือนจมูกเป็ด หัวก็มน ๆ แบน ๆ เหมือนปากเป็ด

คงเพราะพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ใช้ในรถ 800 Series ถอดมาจาก 700 Series ปากเป็ด ที่ผลิตในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน

ความเร็วสุงสุดที่ทดสอบไว้ ทำได้ถึง 285 กม./ชม. แต่วิ่งจริงแค่ 260 กม./ชม. ก็พอแล้ว ใช้เวลาวิ่งทั้งสายแค่ 35 นาทีเอง

เร็วมากจะบินถลาตกทะเลเอา





โลโก้ประจำขบวนซึบาเมะ มี 2 ส่วน

ส่วนแรกทางซ้ายมือ เป็นตัวอักษรญี่ปุ่นสีดำตัวโต ที่ออกแบบ Font ได้เก๋มั่ก ๆ

ชอบ...

ส่วนที่สองทางขวามือ เป็นโลโก้รูปวงกลม มีนกนางแอ่น 2 ตัวบินวนรอบคำว่าซึบาเมะ


ขาวหมวย เอ๊ย! ขาวสะอาด เรียบง่าย แต่ดูดีมีสกุลที่ซู๊ด...




ยิ่งเข้าไปดูการตกแต่งภายในห้องโดยสาร
ก็แทบจะอยากอาร์ตแตกกระจาย....

มันช่าง OTOP ซ่ะนี่กระไร
เห็นแล้วอยากลงนั่งคุกเข่าจิบชาเชียวแกล้มโมจิไปด้วยจังเลย

เป็น เบาะผ้าขนาดใหญ่ แบบ 2+2 ที่นั่งต่อแถว กว้างและนุ่มเหลือเฟือ ไม่ว่าคุณจะเพรียวบางร่างเล็ก หรือ Big Buttock แค่ไหน ก็นั่งได้สบายตรู๊ด




ระหว่างที่เส้นทางชินคันเซ็น จาก สถานีฮาคาตะ (ฟุคุโอคะ) กับ สถานีชินยาซึชิโระ ยังสร้างไม่เสร็จ JR Kyushu ได้จัดรถไฟ Limited Express ไว้คอยบริการรับส่งผู้โดยสาร เชื่อมระหว่างทั้ง 2 สถานีไปก่อน

เรียกชื่อว่าขบวน Relay Tsubame

ใช้เวลาวิ่งนานหน่อย ประมาณชั่วโมงครึ่ง
เพราะเป็นรถไฟแบบปกติ ที่จะวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 140 กม./ชม.




หน้าตา LEX Relay Tsubame ดุดันสะใจคนรักความบึกมาก

ดำสนิททั้งคัน ให้มันล้อกับสีขาวมุกของ Tsubame ซ่ะงั้น
ช่างขี้เล่นกันเหลือเกินนะ คนออกแบบรถไฟญี่ปุ่นเนี๊ยะ

และสงสัยคนออกแบบถ้าจะเป็นแฟนพันธุ์แท้สตาร์วอร์
เพราะมองเผิน ๆ หน้ารถเหมือนกับหน้ากาก Darth Vader ไม่มีผิด


แต่ มาคิดดูอีกที หน้ากากของ Darth Vader เค้าได้แรงบันดาลใจมาจากหมวกของชุดเกาะนักรบซามูไรนี่หว่า..... ใครเลียนแบบใครกันแน่เนี๊ยะ....





โลโก้ของ Relay Tsubame จะออกแนว Retro ดูมะกันยุคซิกตี้จ๋า....

แค่เรื่องการออกแบบโลโก้รถไฟ
ก็ทำเอาผมบ้าได้เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว




ข้างใน LEX Relay Tsubame ตกแต่งด้วยโทนสีม่วงดำ
หน้าต่างกว้าง เบาะใหญ่ นั่งเหยียดแข้งเหยียดขาสบาย

ระยะห่างระหว่างเบาะเหลือเฟือตามมาตรฐานญี่ปุ่นที่ 1 เมตร กะอีก 4 เซ็นฯ




จบไปแล้ว 3 เส้นทาง
ขอสรุปกันอีกที เด๋วบางคนท่าทางจะตาลอยด้วยความงงกันไปใหญ่

เล่าไปแล้ว 3 สาย...
1. Tokaido Shinkansen จาก โตเกียว ไป (ชิน)โอซาก้า
2. Sanyo Shinkansen จาก (ชิน)โอซาก้า ไป ฟุคุโอคะ
3. Kyushu Shinkansen จาก ฟุคุโอคะ ไป คาโงชิม่า

สายโทะไคโด (552 กม.) กับ ซันโย (623 กม.) มีรถอยู่ 3 ประเภท คือ

Nozomi เร็วสุด จอดน้อยที่สุด เฉพาะสถานีสำคัญ วิ่งจาก โตเกียว รวดเดียวไม่ต้องต่อรถ ยาวถึง ฟุคุโอคะ ใช้ N700 Series กับ 700 Series ปนกัน (เป็นรถชินคันเซนชนิดเดียว ที่ใช้ JR Rail Pass ไม่ได้นะครับ)


Hikari เร็วปานกลาง จอดบ้างตามสถานีที่สมควร แบ่งวิ่งเป็น 2 ส่วน
-ฮิคาริ ของ JR Central วิ่งจากโตเกียว ไป (ชิน)โอซาก้า
ใช้ 700 Series ปนกับ 300 Series อีกนิดหน่อย
-ฮิคาริ ของ JR West วิ่งจาก (ชิน)โอซาก้า ไป ฟุคุโอคะ
ใช้ 700 Series รุ่น Hikari Rail Star ปนกับ 500 Series


Kodama รถหวานเย็น ช้าที่สุดในบรรดาชินคันเซนสายนี้ทั้งหมด เพราะจอดแวะทุกสถานี แบ่งวิ่งเป็น 2 ส่วนเหมือนฮิคาริ
-โคดามะ ของ JR Central วิ่งจากโตเกียว ไป (ชิน)โอซาก้า
ใช้ 300 Series
-โคดามะ ของ JR West วิ่งจาก (ชิน)โอซาก้า ไป ฟุคุโอคะ
ใช้ 500 Series รุ่นตัดเหลือ 8 ตู้ ปนกับ 100 Series รุ่นปัดฝุ่น


ส่วนสายคิวชู (137 กม.) บนเกาะคิวชู ตอนนี้เปิดใช้แค่ช่วงสั้นร้อยกว่ากิโลเมตร มีรถประเภทเดียว คือ Tsubame เป็นรุ่น 800 Series




ส่วนชินคันเซนสายตะวันออกเฉียงเหลือ ที่เหลือ
ขอยกยอดไปเล่าสัปดาห์หน้านะ

ยังเหลืออีกหลายรุ่นเหลือ

เอารูปมาให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วสัปดาห์หน้าจะมา Up Blog ให้อ่านกันใหม่ครับ


จากรูปจากซ้ายไปขวา E3 Series , 400 Series , 200 Series โฉมเก่า , 200 Series โฉมขัดใหม่ , E2 Series , E4 Series Max และสุดท้าย E1 Series Max โฉมเก่าก่อนเปลี่ยนสี




.




 

Create Date : 25 เมษายน 2552    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 16:15:44 น.
Counter : 6411 Pageviews.  


NumAromDee
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




แค่หนุ่มใหญ่(โรค)จิตอ่อนไหว
ไปตามสายลม เสียงเพลง
ที่ผันแปรได้ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

ใครที่คิดว่าผมมีสาระ และวิชาการ อาจผิดหวังได้

แต่ถ้าอยากได้ความเรื่อยเปื่อย เจื้อยแจ้ว และหวังดี ที่เซเว่นใกล้บ้านคุณไม่มีขายให้

ก็เข้ามาสนทนาธรรมกันได้เร้ยยยย


ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม Blog ของผมน๊า....


ใครที่เขียนอีเมล์ หลังไมค์ หรือ ส่งจดหมายน้อยมาทักทายหรือถามเรื่องญี่ปุ่น ถ้าผมตอบช้า ไม่ได้หมายความว่าหยิ่งหรือไม่สนใจ

แต่..

ข้อความและจดหมายมันเข้ามาเยอะมากเลยคร้าบบบบ ผมมีเวลาตอบที่จำกัดเสียด้วย อาจจะช้าหรือโดนดองกันไปหลายท่าน ขออภัยด้วยเน้อออออออ
Friends' blogs
[Add NumAromDee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.