รู้กาย รู้ใจ ใครๆ ก็รู้ได้
เมื่อเรามารู้จักการรู้กาย-ใจของตน แต่กลับไม่สามารถหักห้ามความรู้สึกนึกคิด และการกระทำของกาย-ใจตนได้ การรู้กาย-ใจนั้น ก็ไม่ต่างไปจากคำสั่งสอนของศาสนาอื่นที่มีทั่วๆ ไป หรือของนิกายต่างๆ ที่มีอยู่ทุกวันนี้

คำสอนที่มีปรากฏอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ เรามักได้ยินจนเจนหู ฟังจนขึ้นใจว่า ให้หันมารู้กาย-ใจของตนก็เพียงพอแล้วสำหรับการปฏิบัติธรรม โดยมักอ้างไปว่า นี่คือธรรมอันเป็นสายกลาง ไม่หย่อนยานไป ไม่เคร่งเครียด หรือแข็งๆ ทื่อๆ จนเกินไป เป็นสำนวนที่คนรุ่นใหม่ยอมรับได้แบบง่ายๆ ว่าสบายๆ และลัดสั้น ไม่ทำให้ตนเองต้องเกิดความลำบากกาย-ใจ เพียงแค่รู้ทันกาย-ใจก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา หรือเดินจงกรมให้เกิดความยุ่งยากลำบากกาย-ใจตนเอง

ทั้งๆ ที่การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาและการเดินจงกรม ด้วยความพากเพียรพยายามนั้น เป็นหลักธรรมสำคัญต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ย่อมทำให้จิตของตน มีสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวซัดส่ายไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ

ใครๆ ก็มักชอบอ้าง "วลี" แค่ "รู้กาย-ใจ" เพราะรู้สึกว่าเป็นคำที่ "ใช่" ฟังแล้วเท่ดี ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาหรือเดินจงกรมให้ยากลำบากเลย เนื่องจากมีอาจารย์บางท่าน ชอบแอบอ้างนำมาใช้ในเวลาเทศน์สอน เพื่อเป็นการประกาศตนว่าได้เข้าถึงธรรมแล้ว อันเป็นธรรมสายกลาง

เมื่อผู้ใหม่ได้รับฟังคำสั่งสอนนั้น แล้วทดลองนำมาปฏิบัติดู ก็ให้รู้สึกเป็นเช่นนั้นจริง ยิ่งในช่วงแรกๆ รู้สึกว่า เบากาย เบาใจ ได้ดีตามสมควรแก่ธรรมนั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้ "วลี" นี้ฮิตติดตลาด เป็นเพราะความมักง่าย ติดสบาย ชอบลัดสั้น เพิ่มขึ้น อันเป็นปรกติของปุถุชนบุคคลทั่วไป

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ความหมายของคำว่า "รู้กาย-ใจตนเอง" โดยความเป็นจริงแล้ว การรู้กาย-ใจตนนั้น ล้วนเป็นคำสอนที่มีปรากฏอยู่ทั่วไปของทุกๆ ศาสนา และลัทธิต่างๆล้วนสั่งสอนให้รู้จักการสำรวมระวัง ในกาย วาจา ใจของตน ที่เรียกว่า "สังวรอินทรีย์" อันเป็นสภาวะธรรมขั้นพื้นฐานทั่วไปที่ทำให้บุคคลเป็นคนดี

ซึ่งแตกต่างไปจากศาสนาพุทธโดยสิ้นเชิง ในพระพุทธพจน์ ทรงใช้คำว่า "พิจารณากายในกาย" โดยอาศัย "ใจพิจารณา" ซึ่ง "ใจ" เป็นหนึ่งในอายตนะภายใน ๖ ประการ อันเป็นช่องทางในการรับรู้ธรรมารมณ์ต่างๆ

การ "พิจารณากายในกาย" นั้นคือ การกำหนดรู้ลงไปที่กาย ซึ่งเป็น "สติปัฏฐาน" คือการระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ จนเข้าถึงระดับฌาน ใน "สัมมาสมาธิ" เมื่อกำหนดรู้แล้วว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ควรละเหตุแห่งทุกข์นั้น เป็นสภาวะธรรมแท้ที่ละเอียด ลึกซึ้ง เข้าถึงได้ยาก เป็นการ "รู้เท่าทันกาย-รู้เท่าทันใจ" ตนเอง ย่อมดีกว่าการรู้ทันกาย-ใจ ของตน แบบที่ยังหยุดไม่เป็น ทำให้เย็นไม่ได้

การกำหนดรู้ลงไปที่ฐานที่ตั้งของสติ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ที่เรียกว่า "สติปัฏฐาน ๔" นั้น เป็นการสร้างสัมมาสติแบบต่อเนื่องเนืองๆ ด้วยการเพียรเพ่งภาวนากรรมฐาน (ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต) กำหนดรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เพื่อให้จิตเข้าถึงระดับฌาน อันเป็น "สัมมาสมาธิ" หนึ่งในอริยมรรค ๘

การจะเข้าถึง "ฌาน" อันเป็น "สัมมาสมาธิ" ดังกล่าวนั้น เราต้องมีความพากเพียรพยายามปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา โดยการนั่งคู้บัลลังก์ หรือการเดินจงกรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง ถึงขั้นอดนอน ผ่อนอาหารเพื่อความก้าวหน้าในทางปฏิบัติธรรม เพียรทบทวนทางเดินของจิต ในการเข้าสมาธิ อยู่ในสมาธิ และออกจากสมาธิ

จิตของผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เห็นสิ่งแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไม่เที่ยง ในขันธ์ทั้งหลาย ว่าล้วนเป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จิตของผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมสงัดจากกาม และสงัดจากอกุศลกรรมทั้งหลาย เข้าสู่ฌาน

ขณะนั้นจิตมีสติ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เพราะสลัดคืนความยึดมั่นถือมั่นได้ชั่วคราว เป็นกิริยาจิตที่รู้เท่าทันกาย-ใจ ไม่ซัดส่ายหวั่นไหวไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ประชิดจิตตน เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องฝึกฝนอบรมจิตด้วยความพากเพียรพยายาม เพื่อให้จิตมีความชำนาญในการเข้า-ออกฌาน จนเป็นวสี

ความพากเพียรพยายาม เป็นสภาวะธรรมที่ขาดไม่ได้เลยในพระพุทธศาสนา ความพากเพียรพยายาม หรือการเพียรเพ่งที่ถูกต้อง เราเรียกว่า "สัมมา" นั้น เป็นสภาวะธรรมที่อยู่ท่ามกลางระหว่าง "กามสุขัลลิกานุโยค" กับ "อัตตกิลมถานุโยค"

เราสามารถตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงได้จากพระพุทธพจน์ ใน "อริยมรรค ๘" อันมี "สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ" ซึ่งล้วนเป็นความพากเพียรพยายาม หรือการเพียรเพ่งทั้งสิ้น ไม่ใช่ "อัตตกิลมถานุโยค" อย่างที่มีบางคนเคยกล่าวอ้างไว้

พระพุทธองค์ยังทรงเน้นย้ำไว้ในพระสูตรต่างๆ อีกมากมาย ดังนี้
"ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท(เกียจคร้าน)
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง
นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ"


ในบางครั้งท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านมักอบรมบุคคลผู้ยังใหม่อยู่ว่า ถ้ายังไม่สามารถเข้าถึงธรรมแท้ที่ทำให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นแล้ว ก็ให้พยายามรู้ทันกาย-ใจของตนไว้เท่าที่จะระลึกได้ เมื่อถึงคราวอันสมควร ให้กำกับโดยความเพียรพยายามเต็มที่ใน อินทรีย์ ๕ พละ ๕ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ซึ่งเป็นสภาวะธรรมเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค

ผิดไปจากปัจจุบันนี้ ที่นำเอาการรู้ทันกาย-ใจมาแอบอ้างกัน ให้รู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้นง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ฟังดูเหมือนใช่แต่ไม่ใช่ มีการสอนเพียงว่า การรู้ทันกาย-ใจตนเองนั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับการหลุดพ้น ไม่ต้อง ไม่ตั้ง ไม่สร้างอะไรทั้งสิ้น เพราะเหตุใกล้จะทำให้สติเกิด แล้วปัญญา (สัญญา) ก็เกิดขึ้นตามมาเอง

ฟังดูแล้วน่าจะ "ใช่" แต่แท้จริงแล้ว "ไม่ใช่" เป็นแค่การสะดุ้งต่อเหตุใกล้ รู้ว่าตนเองได้เผลอตัวไปแล้ว เป็นเพียงแค่ "สัญญาอารมณ์" ตัวหนึ่งเท่านั้น ในช่วงแรกๆ นั้นมีการสะดุ้งต่อเหตุใกล้บ่อย แต่พอเริ่มคุ้นชินต่อเหตุใกล้นานเข้า จนกลายเป็น "ถิรสัญญา" จะรู้สึกว่าเฉยได้ เกิดจากการเปลี่ยนอารมณ์ ไม่ใช่ปล่อยวางอารมณ์ เป็น "เฉยโง่" ที่ยังมีอารมณ์ครุกรุ่นอยู่ภายในจิตตน

สรุปว่า การรู้ทันกาย-ใจ หรือที่เรียกว่าสำรวม กาย วาจา ใจนั้น มีการสอนกันในทุกๆ ศาสนา ทุกๆ ลัทธิ เป็นเรื่องดีที่สอนให้บุคคลเป็นคนดีในสังคมคนหนึ่ง

แต่ไม่ควรนำมาปนเปเข้ากับพระพุทธศาสนา ที่เป็นสภาวะธรรมอันละเอียด ลึกซึ้ง เข้าถึงได้ยาก จะเข้าถึงได้แต่บัณฑิตผู้มี "ปัญญา" เท่านั้น

ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการตรึก จนความรู้สึกนึกคิดนั้นตกผลึก ผลที่ได้เป็นเพียงแค่ "สัญญา" ไม่ใช่ "ปัญญา" เป็นแค่ความรู้สึกนึกคิดที่หลอกตนเองว่า "เฉย" ได้แล้ว

ย่อมแตกต่างจาก "อุเปกขา สติปาริสุทธิง" ฌานที่ ๔ แห่ง "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรค ๘ อันเป็นสภาวะธรรมที่จิตบริสุทธิ์ มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวกุมเฉยอยู่ เป็นการวางเฉยที่เป็นผลอันเกิดจากจิตปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ออกไปหมดในขณะนั้น ... สาธุ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:57:37 น.
Counter : 677 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์