<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 สิงหาคม 2558
 

ว่าด้วย “กรอบความคิด” Mindset

ขออนุญาตนำข้อเขียนเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน
มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป ดังนี้
ว่าด้วย “กรอบความคิด” Mindset(ตอน 1)/โดย : 
“ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง”
//www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635442#sthash.elWaiVXt.dpuf

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540

การฝึกและบริหารความคิด เป็นหัวใจในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง

ครูบาอาจารย์ในพระพุทธศาสนา พร่ำสอนเราว่า 

“ให้คิดสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น”


ในอีกมุมของโลก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 

ก็ฟันธงว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”


อย่างไรก็ดี ความคิดและจินตนาการของคนทั่วไป มักไม่ค่อยมีอิสระ

 เพราะเขาถูกกะเกณฑ์ให้อยู่ใน “กรอบ” ที่กำหนดขอบว่า กรุณาอย่าออกนอกเขตครับ


กรอบ คือ สิ่งที่ตีขอบ แบ่งส่วนว่าอะไรอยู่ “ข้างใน” 

และส่วนใดอยู่ “ข้างนอก”นั่งในห้อง มองโลกผ่านหน้าต่าง 

จะเห็นความเป็นไปภายนอก แต่ เพียงส่วนที่ขอบตีกรอบไว้ให้เรามอง ฉันใด

กรอบความคิด ก็ทำให้ทั้งสายตา ทั้งจินตนาการของเรา อยู่ในขอบที่ครอบไว้ ฉันนั้น


ดิฉันและทีมงานที่ปรึกษา ที่ต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนและผลักดัน

ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ในองค์กรต่างๆ 

ตระหนักดีว่า คนเราถ้าไม่คิดจะเปลี่ยน ยากหนักหนาที่จะทำให้เขาเปลี่ยน

เพราะการกระทำ เป็นผลตรงไปตรงมาของความคิด


Dr.Carol Dweck เป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในด้านการพัฒนาเชิงจิตวิทยา 

จากมหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่ Columbia และ Stanford และเป็นเจ้าของทฤษฎี 2 มุมมอง

ของ Mindset คือ มุม Fixed จำกัด และ Growth เติบโต


Dr. Dweck ระบุว่า Mindset มีที่มาหลักจากความเชื่อ และค่านิยม 

ที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสม คนจำนวนไม่น้อยมี Fixed Mindset 

ซึ่งเชื่อว่า ความสามารถ ความเก่ง ความฉลาด เป็นสิ่งที่มีมาแต่อ้อนออก 

หาก “มี” ก็โชคดีไป “ไม่มี” ก็ต้องทำใจ ว่า “โชคร้ายจัง”


ขณะที่คนที่มี Growth Mindset  มีความเชื่อว่า ศักยภาพพัฒนาได้

หากเกิดมามีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและสมอง ย่อมดี 

แต่..พี่ๆเคยอ่านเรื่องเต่ากับกระต่ายไหมครับ

คนที่มี Fixed Mindset จึงมักท้อง่าย เพราะ หากทำไม่ได้ 

หากทำอะไรผิดพลาด มันเป็นเพราะฉันขาดความสามารถ ขาดสติปัญญา จบ.

คนที่มี Growth Mindset เมื่อล้ม มักลุกได้ง่ายกว่า เพราะเขาเชื่อว่า 

ทุกอย่างเป็นบทเรียน แม้ไม่สำเร็จ ก็ได้เรียนรู้ว่าอะไรไม่ใช่ ครั้งหน้าได้ไม่ทำ 

ไม่ผิดซ้ำไง จึงพร้อมลองใหม่ ไม่จบ.


ตัวอย่างที่โด่งดัง เช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน สุดยอดนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่

ทุ่มค้นคว้าและทดลองๆๆๆ เมื่อยังไม่ประสบความสำเร็จ เขามีมุมมองว่า

“ผมไม่ได้ล้มเหลว ผมเพิ่งค้นพบ 10000 วิธีที่ไม่ได้ผล”


Growth Mindset ทำให้ไม่ทิ้งความพยายามง่ายๆ

ผิดได้ ไม่แปลก ถือเป็นการแลกกับความรู้ และความเชี่ยวชาญ 

เพื่อสานต่อ มิใช่เพื่องอมืองอเท้า โทษฟ้าฝนและคนอื่น


คนที่มีมุมมองแบบ Fixed Mindset มุ่งมั่นที่เป้าหมาย ถ้าไม่ได้ คือ แพ้ !

หากไม่ถึงที่หมาย คือ ไม่สำเร็จ !


แต่คนที่มี Growth Mindset มีความสุขกับการทำงานกว่า 

เพราะเขาบอกว่า เอาน่า..แม้จะยังไปไม่ถึงจุดหมาย แต่การเดินทางก็เป็นสิ่งที่มีค่า 

ควรแก่การค้นหา การพัฒนา และเรียนรู้ พยายามต่อไป เส้นชัยรออยู่

แล้วคนเราสามารถเปลี่ยนมุมมองจาก Fixed เป็น Growth ได้ไหม


อาจารย์ตอบว่า ได้ซิค่ะ !

แค่รู้ว่า เราใช้วิธีหนึ่งในการมองโลก และมีอีกวิธีที่ดีกว่า 

ก็น่าจะทำให้เราเริ่มขยับ และปรับกรอบได้

สิ่งที่ต้องทำคือ หมั่นจับความคิดตนเอง เมื่อใดที่ท้อ ขอจำนนต่อชะตาและฟ้าฝน 

ให้คิดใหม่ให้ทันความคิดตนว่า

ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ที่เรียนรู้ได้ ให้ผิดเป็นครู สู้ๆต่อ

ตัวช่วย คือหาแรงบันดาลใจจากตัวอย่างรอบตัว อาทิ

หญิงที่ได้รับการยกย่องว่า “วิ่งเร็วที่สุดในโลก” คือ Wilma Rudolph 

ซึ่งได้เหรียญทอง 3 เหรียญจากการวิ่งในการแข่งขันโอลิมปิคที่กรุงโรม ในปี 1960

เธอไม่ได้เกิดมาพร้อม “โชค” และ “ความเก่ง” แต่ประการใด

เธอเป็นลูกคนที่ 20 ของแม่ที่มีลูกถึง 22 คน เป็นเด็กไม่แข็งแรง ป่วยตลอดวัยเยาว์ 

และเกือบเสียชีวิตเมื่ออายุ 4 ขวบ ด้วยโรคปอดบวมและโปลิโอ ที่ทำให้ขาซ้ายทำงานแทบไม่ได้ 

จนคุณหมอหมดหวัง บอกคุณแม่ว่าเด็กหญิง Wilma คงกลับมาเดินแบบคนธรรมดาไม่ได้

แต่หลังจากอึด อดทน ฝึกฝนเดินอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 

เธอก็สามารถเดินได้อีกครั้งตอนอายุ 12 ปี... และกลายเป็นราชินีเหรียญทองของการวิ่งในที่สุด!

สิ่งเหล่านี้มิใช่เรื่อง “มหัศจรรย์” ที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญ หรือเวทมนตร์ 

แต่เป็นเรื่องของ คน ความพยายาม และจิตใจที่มุ่งมั่น..ล้วนๆ


กลับมาที่คนทำงานและผู้บริหาร

คนที่ยังติดกับ Fixed Mindset ย่อมภูมิใจในความ “เก่ง” ความ “ฉลาด” 

เมื่อใดพลาดจะท้อง่าย หมดความมั่นใจ หรือไม่ก็โทษ โกรธหัวหน้าพี่น้าเพื่อนร่วมงาน พาลไปทั่ว

คนที่มองโลกแบบ Growth เน้นการเรียนรู้และพัฒนา 

เพราะเชื่อว่าความเก่งเติมได้ (และลดถดถอยได้)

เมื่อใดผิด เขาคิดหนัก เพื่อทบทวนว่า น่าจะปรับตรงใดในอนาคต

คนกลุ่มนี้จึงยินดีหากพี่หัวหน้าช่วยโค้ชและชี้แนะ ช่วย Feedback ว่าจะต้องปรับอะไร

ล้ม..ก็ลุกได้ เจ็บหน่อย เดี๋ยวก็หาย ไม่เคยสายที่จะเรียนรู้

มืออาชีพที่เติบโตก้าวหน้า

จึงมิยอมถูกกับดักกักไว้ ว่าเขา “เป็นอะไร” ในปัจจุบัน

แต่ “จะเป็นอะไรได้ในอนาคต!” ต่างหาก

“ความคิด” นั้น สำคัญประการฉะนี้/จบ

.................................................................................................................................

ขออนุญาตนำ้นื้อหาเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา ดังนี้

//www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635502#sthash.7Y73JdeO.dpuf


ว่าด้วย “กรอบความคิด” Mindset (2)/โดย : 


“ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง” 

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง เพื่อเป็นหลักน้อมนำในการคิดค่ะ

John C. Maxwell หนึ่งในกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้นำ ย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ มีเหมือนกันคือ

“How they think”

วิธีคิดของพวกเขา

ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุด ที่หยุดความสำเร็จของเราได้อย่างชะงักนัก คือ “กรอบความคิด” ของเรานั่นเอง

หากคิดว่า “ทำได้” หรือ “น่าจะลองทำดู” “น่าจะลองสู้ใหม่”

เท่ากับยังไม่จนหนทาง

หากคิดว่า “ทำไม่ได้”

คำตอบนี้ ฟันธงง่าย ว่าจะไปถึงไหน

เพราะหนทางที่แสนสั้นนั้น ลงเอยได้สองสถาน

คือ ทำไม่ได้! หรือ ไม่ได้ทำ!

แม้วงการแพทย์ อาทิ Mayo Clinic กลุ่มองค์กรชั้นแนวหน้าสุดของโลกในเรื่องการรักษาพยาบาลและการวิจัยด้านสุขภาพ ยังระบุว่า การคิดเชิงบวกสำคัญยิ่ง เพราะส่งผลดีมากมายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น

ระดับความเครียดที่ต่ำลง

สุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น

ลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือด

และแน่นอน ทำให้อายุยืนยาวขึ้น

Mayo Clinic และกูรูด้านจิตวิทยา แนะนำว่า เราต้องหมั่นฝึกทำลาย ANT ซึ่งย่อมาจาก Automatic Negative Thought นั่นคือ การคิดอะไรเป็นร้ายได้หมดจดอย่างอัตโนมัติจัดเต็ม คิดจนเครียดเพราะความทุกข์เบียดบัง

หากไม่มั่นใจว่ากรอบความคิดของฉัน มันไปอยู่แนวบวก หรือแนวลบแบบ ANT ให้ลองใคร่ครวญ ตั้งใจฟังความคิดของตนเอง ว่ายามมีปัญหา เราคิดอย่างไร พูดกับตนเองว่าอะไร โดยใช้หลัก 3 Ps

มาดูกันว่าเจ้า 3 Ps มีอะไรบ้างค่ะ

1. เราคิดว่าสิ่งที่เกิด Permanent ยืนยง ตลอดไป..หรือไม่

สำหรับมนุษย์กรอบลบ ยามที่พบความผิดพลาด หรือความยากลำบากในชีวิต เขามักฟันธงว่า ฉันไม่มีทางทำมันได้ ฉันไม่มีทางทำเป็น (ไม่ว่าเมื่อใด ไม่ว่าอย่างไร) 

เมื่อถูกต่อว่าในที่ประชุม เขาก็จะบ่นกับตนเองว่า “ฉันซวยตลอดชีวิต”

คนกรอบบวก จะบอกตนว่าไม่มีอะไรยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องร้าย เมื่อเจองานยากที่ไม่คุ้นเคย เขาบอกตัวเองว่า 

“แค่ยังทำไม่เป็น” “แค่ยังทำไม่ได้”

นั่นหมายถึงว่า ขอเวลา ขอโอกาส ครั้งหน้าไม่น่าพลาดเหมือนครั้งนี้

ถูกดุในที่ประชุม เขาคิดหาสาเหตุได้ว่า “เมื่อคืน พักผ่อนไม่พอ เลยตอบคำถามไม่ดี ครั้งหน้าต้องเตรียมการเนิ่นๆ จะได้ไม่ต้องนอนดึก”

2. เราคิดว่าสิ่งที่เกิด Pervasive ครอบคลุม เหมารวม..หรือไม่

คนกรอบลบ มักเหมารวม

ถูกน้อง Pretty เบี้ยวงาน ส่งผลให้คิดว่า “พวกสวยแบบหัวทั้งกลวงทั้งเก๊ไว้ใจไม่ได้”

ขณะที่คนกรอบบวก จะเว้นที่ไว้ให้โลกมีโอกาสสวยบ้าง

“ครั้งหน้าจะเลือกจ้างใครต้องเช็คผลงานให้ดี เพราะบางคนมีประวัติทิ้งงานกลางคัน”

เมื่อมีปัญหา เขาตระหนักว่า ย่อมมีสาเหตุ แยกแยะได้เป็นกรณีๆไป ไม่เหมารวมจนโลกเฉาเหงาตามไปด้วย

3. เราคิดว่าสิ่งที่เกิดเป็นเรื่อง Personal เป็นเพราะเรา..หรือไม่

คนกรอบลบ เมื่อเกิดความผิดพลาด จะเริ่มขลาดและหวาดหวั่น ว่าฉันดีไม่พอ

เช่น ยามมีปัญหาหย่าร้าง เขาจะบอกตนว่า “ฉันมันโง่จริงๆ (Personal) ปล่อยให้ผู้ชายทั้งโลก (Pervasive) หลอกตลอดชาติ (Permanent)..” กระหน่ำทั้ง 3Ps ให้เห็นในประโยคเดียวเลย!

ขณะที่คนมองบวก ไม่กระหน่ำซ้ำเติมตนยามมีปัญหา

เขาแยกแยะได้ว่า มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจรวมถึงตนเอง

“ผู้ชายคนนี้ไม่จริงใจ ขอยืมเงินแล้วไม่ใช้ตั้งแต่จีบกัน ฉันเองก็พลาดที่เร่งตัดสินใจ เป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่สำหรับครั้งหน้า (ถ้ามี)”

ลองหันไปดูวงการอื่น อาทิ มืออาชีพขั้นเทพ แบบนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิค ก็ต้องฝึกใช้ทักษะ 3Ps อย่างมีวินัย

จากการวิจัยเชิงจิตวิทยา พบว่า คนเราพูดหรือคิดกับตัวเอง หรือ Self Talk นาทีละ 300-1000 คำ!

หากคำเหล่านั้น ตอกย้ำความผิดพลาด ความโง่เง่า และทุกสิ่งที่อับเฉาในชีวิต

ลองคิดดูว่านักกีฬาที่ต้องผ่านอุปสรรคนานับประการ คงตัดสินใจได้ง่ายว่า ไปขายกาแฟ ปลอดภัยกว่า ไม่เหนื่อย ไม่หน้าแตก แถมไม่ต้องผิดหวัง

ดังนั้น นักกีฬาโอลิมปิค จึงถูกฝึกให้ Self Talk จากกรอบบวก ว่า “ฉันพร้อมที่สุดแล้ว” “ฉันจะทำอย่างเต็มที่” “วันนี้ฉันทำให้ดีที่สุดได้”

แม้ระหว่างการแข่งขันจะเริ่มเป็นรอง แต่ก็ต้องกลับมามีสติกับปัจจุบัน สั่งตัวเองได้ว่า “ต้องทำให้ดีที่สุด”

ที่ผ่านแล้ว ผ่านไป ที่ยังมาไม่ถึง ไม่ต้องกังวล แต่นาทีนี้ ต้องดีที่สุด

ตอนนี้ท่านผู้อ่าน Self Talk ว่าอะไร ได้ยินบ้างไหมคะ/จบ

..................................................................................................................................

ขออนุญาตกรุงเทพธุรกิจรายวันนำเนื้อหานี้มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป

จัดการความรู้ ด้วยสมองและสองมือ

การจัดการความรู้ มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะองค์กรที่กำลังขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปในทิศทางของธุรกิจสร้างสรรค์ ให้ทันเศรษฐกิจดิจิทัล  //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635555#sthash.Rr9zuc6U.dpuf

การจัดการความรู้ (knowledge management) มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะองค์กรที่กำลังขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปในทิศทางของธุรกิจสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือเร่งฝีเท้าเพื่อให้ทันกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีพลวัตรและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก เมื่อสำรวจตรวจสอบองค์กรต่างๆในไทย ว่าบริหารจัดการความรู้ภายในอย่างไรกันบ้าง มักหนีไม่พ้นกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ อาทิ Knowledge Forum (CoP) Knowledge corner Knowledge Base

ซึ่งกิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ มักจะเรียนรู้ต่อๆกันมาจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา ตำรา และงานสัมมนาต่างๆ แต่ถ้าองค์กรต่างๆจะคิดทำเพิ่ม โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิด แสดงความคิดเห็น ก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆที่หลากหลายขึ้น ที่สำคัญเป็นสิ่งที่สอดรับกับบริบทและจริตของคนในองค์กร ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงผลของการระดมสมองกลุ่มผู้บริหารและพนักงาน ว่ามีอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับความรู้ในแง่มุมต่างๆ (ที่มาจาก ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ) โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ ดังนี้

KR: Responsiveness to knowledge (ความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับรู้มา)

    พร้อมดำเนินการทันทีที่พบว่าลูกค้าไม่ได้รับความพึงพอใจในคุณภาพของการบริการ ตอบสนองในเชิงสร้างสรรค์ต่อความจำเป็นที่เปลี่ยนไปในสินค้าและบริการของลูกค้า ทุ่มเทความพยายามอย่างประสานสัมพันธ์กันในการตอบสนองต่อความจำเป็นที่กำหนดไว้โดยลูกค้า ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อคำร้องขอที่เกิดขึ้นจากลูกค้า ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อสิ่งที่พนักงานกังวล ดำเนินการจัดทำแผนการตลาดที่พัฒนาขึ้นมาอย่างมีประสิทธิผล พยายามที่จะปรับปรุงต้นทุนในการดำเนินงานบริการทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก้าวทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร มีการทบทวนผลของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีต่อลูกค้า ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อคู่แข่งหลักที่นำเสนอบริการแก่ลูกค้าในราคาที่ต่ำกว่า

KA: Knowledge acquisition(การแสวงหา หรือให้ได้มาซึ่งความรู้ที่ต้องการ)

    สนับสนุนให้พนักงานศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ สนับสนุนให้พนักงานได้เข้ารับการฝึกอบรมสัมมนาและการประชุมวิชาการสำคัญ จัดให้มีการประชุมร่วมกับพนักงานเพื่อหารือถึงแนวคิดทางธุรกิจเป็นประจำ ดึงดูดพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานมืออาชีพ ทำการประเมินศักยภาพของพนักงานเพื่อนำเอาความสามารถนั้นมาใช้ประโยชน์ รู้ว่าแต่ละการบริการในหน่วยงานของเรามีต้นทุนมากน้อยเพียงใด รู้ว่าแต่ละโครงการในหน่วยงานของเรามีต้นทุนมากน้อยเพียงใด มีข้อมูลแสดงผลประกอบการทางการเงินจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร มีการวิเคราะห์ผลลัพธ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการหรือการให้บริการ การเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดส่งผลต่อการกำหนดทิศทางของธุรกิจ มีการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดที่รวดเร็ว มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งที่รวดเร็วและทันการณ์ มีการจัดงานพบปะลูกค้าสำคัญเพื่อค้นหาความต้องการใหม่ๆในอนาคต มีการได้มาซึ่งแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆจากการทำงานร่วมกับบุคคล/หน่วยงานอื่นๆบ่อยครั้ง ดำเนินการวิจัยตลาดอย่างมีโครงสร้างแบบแผนและได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สำรวจความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อประเมินผลคุณภาพของโครงการสินค้าและบริการ

KD: Knowledge dissemination (การเผยแผ่ กระจาย ถ่ายทอด หรือแบ่งปันความรู้)

    เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคและผู้บริหารมีการหารือร่วมกันถึงแนวโน้มและความต้องการของตลาด มีการบันทึกวิธีการปฏิบัติที่ดีที่เกิดขึ้นภายในเป็นประจำ มีการย้อนกลับไปทบทวนมุมมองหลากหลายในด้านต่างๆของธุรกิจเป็นประจำ สนับสนุนให้มีการสื่อสารแบบเปิดกว้างภายในองค์กร สนับสนุนให้เกิดการชี้แนะชี้นำช่วยเหลือพนักงานอย่างแข็งขัน ใช้ซอฟท์แวร์เพื่อแลกเปลี่ยนสารสนเทศที่สำคัญอยู่เสมอ เวียนรายงานที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดการกระจายความรู้ มีการปรับปรุงแก้ไขนโยบายและคู่มือปฏิบัติงานอยู่เสมอ จัดให้มีการให้ข้อมูลป้อนกลับไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดอบรมสัมมนาและการประชุม จัดให้มีเอกสารเวียน (เช่นรายงานหรือจดหมายข่าว) เกี่ยวกับความสำเร็จทางธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอก

KU: Knowledge utilization(การใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด)

    มีกระบวนการสำหรับการประยุกต์ใช้ความรู้ที่เป็นบทเรียนจากข้อผิดพลาด มีกระบวนการสำหรับใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาใหม่ๆ มีการจับคู่แหล่งความรู้กับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ใช้ความรู้ในการปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถจัดวางหรือประยุกต์ใช้ความรู้ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการแข่งขัน

องค์กรของท่านก็ทำได้ โดยเริ่มต้นง่ายๆ จับเข่าคุยกันแบบไม่มีกำแพง ตำแหน่ง หรือแผนก/ฝ่าย ขวางกั้น ไม่แน่ท่านอาจจะได้ประเด็นหรือสิ่งที่น่าสนใจ ที่สำคัญเมื่อทำแล้วย่อมเกิดประโยชน์โดยตรง/จบ

..................................................................................................................................


ขออนุญาตนำข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา.

ทักษะในการเข้าใจผู้อื่น: Empathy/โดย : 

 //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635627#sthash.MaX2KTeu.dpuf

จากผลการวิจัยของกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาล่าสุด มีตัวเลขฟันธงว่า 46% 

ของคนทำงานที่ตัดสินใจลาออก มีเหตุผลสำคัญจากความไม่พึงใจเพราะ..

หัวหน้าไม่ฟัง! ไม่ใส่ใจ! ไม่ให้ความสำคัญ!

ดิฉันเชื่อว่าสถานการณ์ในองค์กรบ้านไหน ก็มีอะไรที่ไม่ต่างกัน

แม้ในบริบทคู่ครอง หรือคู่รักปักใจ ก็มีอะไรคล้ายๆกัน

ยามที่มีปัญหา มักมีอย่างน้อยหนึ่งคน ยืนยันว่า อีกฝั่งไม่เข้าใจ! ไม่ฟัง!

ในช่วงที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสจัดสัมมนาหารือกับผู้บริหารและมืออาชีพในหลากหลายวงการ

แม้งานจะต่างกัน แต่ความท้าทายคล้ายกันดังแกะ

..ลูกน้องทำตัวยาก บริหารแสนลำบากนักหนา

..ทีมงานดื้อตาใส รับปากไป แต่ไม่ทำ!

..ไม่ตักเตือนก็ไม่ได้ พูดไปก็ขัดแย้ง..

หนึ่งในทักษะที่สำคัญยิ่ง ที่จะเป็นจุดตั้งหลักในการแก้ปัญหาคาใจเหล่านี้ คือ...

Empathy หรือ ศิลปะในการจินตนาการมองโลกจากมุมของคนอื่น เพื่อที่จะสามารถเข้าใจได้ชัดขึ้น ว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างไร

Empathy ต่างจากคำที่ดูคล้ายกัน คือ Sympathy ที่หมายถึง สงสาร

เพราะการที่เราสงสารใคร บ่อยครั้งเป็นการมองโลกจากมุมเราล้วนๆ

เวทนาสงสาร เพราะเห็นเขาเป็นทุกข์ ตกงาน เป็นดีซ่าน ทะเลาะกับแฟน

แต่ Empathy คือการที่เราพยายามมองจากมุมเขาเป็นตัวตั้ง มุมเรายังไม่เกี่ยว การที่เราได้เห็นโลกจากมุมเขา ไม่จำเป็นว่าต้องเห็นด้วย ไม่จำเป็นว่าต้องสงสารเสมอไป

แต่เป็นการเริ่มไขปมปริศนา ว่าทำไมเราไม่เข้าใจกัน

ดังนั้น Empathy จึงเป็นหัวใจของคนทำงาน ตลอดจนคนที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กับมนุษย์รอบกาย

จะขาย..จะโน้มน้าว..จะแก้ปัญหา..จะเจรจา.. จะทำให้เขาเข้าใจ..จะคลายปมขัดแย้ง..

จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับความเก๋า ว่าเราเริ่มโดย “รู้เขา” เท่าใด

เพราะหลายครั้ง ปัญหาที่เราเห็น อาจมิใช่เป็นปัญหาที่ปรากฏในสายตาเขา

ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้มีโอกาสฟังคุณแม่เจ้าของเพิงผลไม้เจ้าประจำ แอบขำลูกตัวเล็กที่เพิ่งกลับจากโรงเรียน

หนูน้อยปีนลงจากรถสองแถว มือป้ายน้ำตาป้อยๆ

“พอแล้ว ลูกขอร้อง พอแล้ว ไม่ต้องเรียนแล้ว!”

แม่ทำท่าขึงขัง ดุดังว่า “ฟังนะ! ถ้าจบแค่ ป.2 ต้องกลับไปเลี้ยงควายสถานเดียว!”

หนูน้อยกลับลิงโลด สรุปในใจน้อยๆได้ว่า นอกจากไม่ต้องถูกครูดุ ยังได้ไปเลี้ยงควาย สนุกจริง!

ในมุมแม่ ลูกช่างดื้อ ไม่รักดี ขี้เกียจ

ย้ำ เป็นมุมแม่ หาใช่มุมมองของเด็ก ป.2 แต่ประการใด

โน้มน้าวอย่างไร เจ้าตัวเล็กย่อมโยเย มีแนวโน้มได้ขนม “เปี๊ยะ” สูงยิ่ง!

แล้วต้องทำอย่างไร เราจึงจะเข้าใจผู้อื่นได้

Dr. Roman Krznaric กูรูผู้ทำการวิจัยต่อเนื่องเรื่องนี้ มีข้อแนะนำ 3 ประการค่ะ

1. ลดอัตตา หยุดฟันธง เหมารวมว่าเราเข้าใจใครๆดี

..พวก Gen Y ก็ร้ายยังงี้!

..คนนี้เสียแรงสนับสนุน ไม่เคยเห็นบุญคุณฉัน!

ทั้งนี้ เมื่อเรารู้ว่า เรายังไม่รู้

ย่อมถือเป็นประตู เพื่อเปิดสู่ความพยายามเข้าใจ

2. สงบ นิ่ง เพื่อ “ฟัง” อย่างตั้งใจจริง

ฝรั่งเรียกทักษะนี้ว่า Empathic Listening ซึ่งมาจากคำ Empathy นั่นเอง

ตัวช่วยมีดังนี้

·ปรับมุมมองของตนว่า กำลังทำหน้าที่เป็น “นักสืบ” ขั้นเทพ ที่กระหาย สนใจ อยากฟังในทุกรายละเอียด เพื่อหาเบาะแสในการ “แก้คดี” การฟังจึงมีคุณค่า เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ไม่เคยรู้

·ฟังอย่างไม่ขัดจังหวะ อย่างตั้งใจ ทั้งนี้ แค่เงียบ แค่ไม่พูด ไม่พอ!

เพราะคนจำนวนไม่น้อย เงียบ เพียงเพื่อรอจังหวะตอบ หรือ เติมให้ล้น

..ถามผม ผมผ่านเรื่องนี้มาโชกโชน..

..สู้ฉันไม่ได้ ฉันเจอมาแย่กว่าเธออีก..

เมื่อฟังเพื่อตอบ จึงย่อมฟังได้ไม่เต็มที่ เพราะพี่กำลังคิดปั้นคำตอบระหว่างทำท่าเสมือนฟัง

ที่สำคัญ คนที่เราอยากฟัง ก็ต้องหยุดพูดไปโดยปริยาย

ฟังอย่าง Empathy จึงมิใช่เงียบ เพราะยังไม่ได้พูด

แต่เงียบ เพราะไม่มีอะไรจะพูด!

ยังไม่เข้าใจเต็มที่ จึงยังไม่มีคำตอบไง

·ถามคำถามที่เหมาะสม

Empathic Listening เป็นการฟังอย่าง Active

นั่นคือ มิใช่เงียบสนิท แต่ทั้งฟัง และถาม เพื่อความกระจ่าง ถามเพื่อให้อีกฝ่ายตระหนักว่าตั้งใจฟังอยู่ และอยากเข้าใจมากขึ้น อาทิ

..แล้วอย่างไรต่อ

..ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร

·สรุปจับใจความเพื่อให้เข้าใจตรงกัน

เช่น หลังจากเพื่อนจารนัยให้ฟังถึงเรื่องปัญหาที่ทำงาน เราสรุปว่า

..ฟังเหมือนเธอท้อๆใช่ไหม คนขาด งานก็ล้น แล้วทีมยังมีเรื่องกันอีก..

3. เพิ่มประสบการณ์ และใช้เวลากับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น

ให้เวลาแต่กับผู้บริหารด้วยกัน กลางวันก็กินข้าวห้องอาหารที่จัดไว้ให้เฉพาะผู้ใหญ่

..เมื่อไหร่ๆก็อาจมองจากมุมผู้น้อยได้ไม่ขาด

หัดไปใช้ห้องอาหารพนักงานกับทีมบ้าง จะได้เห็นกับตา ลิ้มกับลิ้นตนว่า คนตัวเล็กเขามีชีวิตอยู่อย่างไร

เกาะเกี่ยวแต่กับคนรุ่นน้าอาป้า เพื่อกระหน่ำเห็นใจกันเองว่า เรามีปัญหาเดียวกันกับมนุษย์ Gen Y ที่ทำงานแบบเล่นขายของ

..เมื่อไหร่ๆ ก็คงไม่เข้าใจเขา

จึงควรเพิ่มเวลาคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ เพื่อฟัง เพื่อเข้าใจวิธีคิด วิธีมองโลก

เมื่อเห็นประเด็นชัดขึ้น มีหรือรุ่นเก๋าอย่างเรา จะหากลวิธีที่ตอบโจทย์ทั้งเราและเขาไม่พบ

อย่าว่าแต่ใช้เวลากับเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่างจากเราเลยค่ะ

แม้ได้มีโอกาสใช้เวลากับเพื่อน 4 ขา ก็สามารถสร้างมุมมองที่แตกต่างได้

จากการศึกษาของ Dr. Vizek-Vidovic พบว่าเด็กที่มีสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง เมื่อโตขึ้น จะมีความสามารถในการเข้าใจคนอื่น สูงกว่าคนที่ไม่มีโอกาสนี้ ถึง 24%!

3 วิธีสู่ Empathy ให้พี่น้องทดลองดูค่ะ/จบ

..................................................................................................................................






Create Date : 31 สิงหาคม 2558
Last Update : 21 กันยายน 2558 7:42:04 น. 0 comments
Counter : 1107 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com