แมวน้ำมึนมึน
 

6. ทรงให้พระราหุลทำใจเหมือนดินน้ำไฟลม

 

** ที่มา จากหนังสือพระไตรปิฏก ฉบับดับทุกข์ โดย ท่านธรรมรักษา(ฉบับไม่สงวนลิขสิทธิ์)**

 

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันเมืองสาวัตถี ได้ตรัสสอนพระราหุลถึงการพิจารณาธาตุ 5 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศโดยแยกเป็นส่วนๆ ตอนท้าย ได้ตรัสให้พระราหุลทำใจเหมือน ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศพอสรุปเป็นใจความได้ดังนี้

1. ราหุล! เธอจงมีจิตใจให้เหมือนแผ่นดินเถิดเพราะเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินเป็นประจำอยู่เสมอแล้ว เมื่อกระทบอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ดี อารมณ์เหล่านั้นจะไม่สามารถทำให้จิตหวั่นไหวได้

ราหุล! เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งสิ่งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ถ่ายอุจจาระรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง บ้วนน้ำลายรดบ้างเทสิ่งของสกปรกอื่นลงบ้าง ลงที่แผ่นดิน แต่แผ่นดินจะอึดอัดระอาหรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เสมอแผ่นดินฉันนั้นแลเพราะเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินอยู่ เมื่อมีการกระทบกับอารมณ์เกิดขึ้นความรักหรือความชัง ก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ฉันนั้น

 

2. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนน้ำเถิดเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนน้ำแล้ว จะไม่เกิดความชอบหรือความชัง ครอบงำจิตได้

ราหุล! เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย ล้างของหรือทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เสมอด้วยน้ำฉันนั้นแลเมื่อกระทบอารมณ์แล้ว ความรักหรือความชัง ก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ฉันนั้น

 

3. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนไฟเถิดเพราะไฟนั้น เมื่อมีผู้ทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ทิ้งอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้างฯไฟจะรู้สึกอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนไฟอยู่การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชัง ก็ย่อมไม่ปรุงแต่งให้จิตแปรปรวนได้ ฉันนั้น

 

4. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนลมเถิดเพราะลมนั้นย่อมพัดไปถูกต้องของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง พัดถูกอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้างฯลมจะรู้สึกอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด?

ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนด้วยลมอยู่การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชัง ก็ย่อมไม่ปรุงแต่งให้จิตแปรปรวนได้ ฉันนั้น

 

5. ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนอากาศเถิดเพราะอากาศนั้นไม่ตั้งอยู่ในที่ไหน ฉันใด?

     ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนด้วยอากาศอยู่ตลอดเวลาแล้วเมื่อกระทบกับอารมณ์ย่อมไม่เกิดความชอบและความชังขึ้นได้ ฉันนั้น

 

มหาราหุโลวาทสูตร 13/126

 

ผู้ที่มีทิฐิ มานะ อัตตา และโทสะจริต น่าจะลองนำเอาคำสอนในพระสูตรนี้ไปใช้เป็นประจำเพื่อลดความโทมนัส น้อยใจหรือขัดเคืองใจ เมื่อเห็นว่าผู้อื่นล่วงเกินแล้วทำให้เกิดความไม่สบายใจ หงุดหงิดหรือรำคาญใจ

แม้ทำไม่ได้ตามพระสูตรนี้ ถ้าได้หัดทำอยู่เสมอๆ มีสติสัมปชัญญะ ระวังจิตไม่ปล่อยไปตามอารมณ์ที่มากระทบ จิตของเราก็จะสงบ นั่นก็คือจุดหมายปลายทางของความสุขที่ทุกคนปรารถนา แม้ได้รับเพียงครั้งคราวก็นับว่าประเสริฐสุดแล้ว 




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2556    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2563 13:14:15 น.
Counter : 293 Pageviews.  

5 ธรรมะเหมือนแพข้ามฟาก

5 ธรรมะเหมือนแพข้ามฟาก

** ที่มา – จากหนังสือพระไตรปิฏก ฉบับดับทุกข์ โดย ท่านธรรมรักษา (ฉบับไม่สงวนลิขสิทธิ์)**

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย เป็นใจความพอสรุปได้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงธรรม มีอุปมาดังเรือ หรือ แพข้ามฟาก แก่พวกเธอ เพื่อต้องการให้สลัดออก ไม่ใช่ต้องการให้ยึดถือ

ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบุคคลผู้เดินทางไกล พบแม่น้ำขวางหน้า แต่ฝั่งข้างนี้มีภัยอันตราย ส่วนฝั่งข้างโน้นเป็นที่สบาย ปลอดภัย เรือหรือสะพานจะข้ามฝั่งก็ไม่มี บุคคลนั้นคิดว่าจะอยู่ช้าไม่ได้ อันตราย

เขาจึงรวบรวมกิ่งไม้และใบไม้ เอามาผูกเป็นแพให้ลอยน้ำ แล้วใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำด้วยความพยายาม จนข้ามแม่น้ำนั้นได้โดยปลอดภัย

เขาจึงคิดว่า แพนี้มีคุณค่าแก่เรา เราอาศัยแพนี้จึงข้ามพ้นอันตรายได้ อย่ากระนั้นเลย เรายกเอาแพนี้ขึ้นทูนหัวไปด้วยเถิด แล้วเขาก็เอาแพนั้นทูนหัวเดินไป

ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำของบุคคลนั้น ชื่อว่าทำไม่ถูกในหน้าที่ ทางที่ถูกนั้นเมื่อเขาอาศัยแพข้ามฝั่งได้แล้ว พึงยกแพขึ้นบก หรือ เอาลอยไว้ในน้ำนั่นแหละ แล้วเดินไปแต่ตัว จึงชื่อว่าทำถูกหน้าที่ในแพนั้น แม้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! เราแสดงธรรมมีอุปมาด้วยแพ เพื่อต้องการให้สลัดออก ไม่ใช่เพื่อให้ยึดถือก็ฉันนั้นแล เธอทั้งหลายรู้ถึงธรรมมีอุปมาด้วยแพ ที่เราแสดงแล้ว พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปใยถึงฝ่ายอธรรมเล่า”

อลคัททูปมสูตร 12/219

พระสูตรนี้ อยากจะขอร้องให้นักปฏิบบัติธรรม ช่วยกันอ่านหลายๆ เที่ยว แล้วจับประเด็นหลักสำคัญให้ได้ว่า เป้าหมายอันสูงสุดของพระพุทธดำรัสนี้ อยู่ตรงไหน?

ถ้านักปฏิบัติจับได้ และตีปัญหาแตกแล้ว การปฏิบัติธรรมก็จะง่ายยิ่งกว่าการ “พลิกฝ่ามือ” เสียอีก ที่บางท่านปฏิบัติธรรมยิ่งมากขึ้เท่าไร ทั้งที่อยู่และจิตใจ ก็ดูเหมือนจะยิ่งรกรุงรัง และจิตขุ่นมัว หรือสกปรกลามกมากขึ้นเท่านั้น นั่นแสดงว่า การปฏิบัติธรรมเกิดการผิดพลาดขึ้นแล้ว

การปฏิบัติธรรมต้องมีขั้นตอน คือ ละความชั่ว ทำความดี แต่พอถึงขั้นสูงสุด ทั้งความชั่วและความดีก็ต้องละให้หมด จึงจะพบพระนิพพาน


** จบบทความ**





 

Create Date : 23 ตุลาคม 2553    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2563 13:14:57 น.
Counter : 130 Pageviews.  

4. ปัญหาที่ไม่ควรสนใจ

4. ปัญหาที่ไม่ควรสนใจ

** ที่มา – จากหนังสือพระไตรปิฏก ฉบับดับทุกข์ โดย ท่านธรรมรักษา (ฉบับไม่สงวนลิขสิทธิ์)**

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี พระมาลุงกยบุตร ได้ไปเฝ้าทูลถามปัญหา เรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เรื่องสัตว์ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ เรื่องชาติหน้ามีหรือไม่มี เป็นต้น พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบเรื่องนี้ไว้น่าคิด พอสรุปได้ว่า

“มาลุงกยบุตร! ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องสนใจก่อน ขึนมัวไปสนใจจะตายเสียเปล่า

มาลุงกยบุตร! เปรียบเหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศร ซึ่งอาบด้วยยาพิษร้ายแรง พวกญาติได้พาคนเจ็บไปหาหมอผ่าตัดที่ชำนาญเพื่อผ่าเอาลูกศรออก แต่คนเจ็บได้พูดว่า “ช้าก่อนหมอ ! เรายังไม่รู้จักคนยิงเรานั้น ว่าเป็นใคร ชื่ออะไร สูงต่ำ ดำขาว อย่างไร บ้านเรือนเขาอยู่ที่ไหน ธนูที่ยิงเราเป็นชนิดไหน สายที่ยิงทำด้วยอะไร ลูกธนูทำด้วยไม้อะไร หางธนูทำด้วยขนสัตว์อะไร ถ้าเรายังไม่รู้ปัญหาเหล่านี้ก่อน เราจะไม่ยอมให้ท่านผ่าเอาลูกศรออก” ดังนี้ ฉันใด?

มาลุงกยบุตร ! คนผู้นั้นจะต้องตายเสียก่อนก็ฉันนั้น ปัญหาเรื่องโลกเที่ยงไม่เที่ยง เรื่องสัตว์ตายเกิดหรือสูญ เรื่องชาติหน้ามีหรือไม่มีนี้ เป็นปัญหาที่จะทำให้ผู้ขบคิดตายเสียก่อน

มงลุงกยบุตร ! ปัญหานี้เราไม่ตอบ เพราะเหตุใด? เพราะว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบ เพื่อบรรลุนิพพาน ส่วนความเห็นที่ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ อย่างนี้เป็นปัญหาที่เราตอบ”

จูฬมาลุงโกยวาทสูตร 13/132

พระสูตรนี้ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดี สำหรับคนที่มักชอบทำตัวเป็นคน “ห่วงหลัง หวังหน้า” แล้วละทิ้ง “ประโยชน์” ที่จะได้ใน “ปัจจุบัน” ไปเสีย

การ “จัดลำดับงาน” และการ “รู้หน้าที่” ว่า “อะไรควรทำก่อน อะไรควรทำหลัง” เป็นทางหนึ่ง ที่จะช่วยย่นระยะของงาน และชีวิตลงไปได้มาก

เพราะชีวิตนี้ เป็นของเล็กน้อย และทั้งไม่รู้วันตายอีกด้วย ถ้ามัวไปสนใจในสิ่งที่ไม่ควรสนใจ ก็อาจจะตายเสียก่อน สูญจากสาระที่ควรจะได้ อย่างในพระสูตรนี้

** จบบทความ**





 

Create Date : 28 สิงหาคม 2553    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2563 13:15:27 น.
Counter : 120 Pageviews.  

3. เรื่องของคนเกียจคร้าน

3. เรื่องของคนเกียจคร้าน

** ที่มา – จากหนังสือพระไตรปิฏก ฉบับดับทุกข์ โดย ท่านธรรมรักษา (ฉบับไม่สงวนลิขสิทธิ์)**

ในบรรดาอุปสรรคของความเจริญที่มีในโลกนี้ทั้งหมดนั้น ความเกียจคร้านนับว่าเป็นลูกตุ้ม ที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าในทุกรูปแบบ ไม่ว่าคนโง่หรือคนฉลาด ถ้าปล่อยให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ย่อมจะหาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตไม่ได้เลย

พระพุทธองค์ทรงแสดงความเกียจคร้านไว้ 8 ประการ คือ
1. ภิกษุที่จะต้องทำการงาน เธอมีความคิดว่า เมื่อเราทำการงาน กายจะลำบากจึงนอนเสียก่อน แล้วไม่ปฏิบัติธรรม
2. ภิกษุที่ทำการงานแล้ว เธอมีความคิดว่า เราทำการงานแล้ว กายลำบากแล้ว จึงนอนเสียไม่ปฏิบัติธรรม
3. ภิกษุจะต้องเดินทาง เธอมีความคิดว่า เมื่อเราเดินทาง กายจะลำบาก จึงนอนเสียก่อน แล้วไม่ปฏิบัติธรรม
4. ภิกษุที่เดินทางแล้ว เธอมีความคิดว่า เราได้เดินทางแล้ว กายลำบากแล้วจึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม
5. ภิกษุจะไปบิณฑบาต เธอมีความคิดว่า เมื่อเราบิณฑบาต กายจะลำบาก จึงนอนเสียก่อน แล้วไม่ปฏิบัติธรรม
6. ภิกษุบิณฑบาตกลับมาแล้ว เธอมีความคิดว่า เราได้บิณฑบาตมาแล้ว กายลำบากแล้ว จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม
7. ภิกษุเจ็บป่วยเล็กน้อย เธอมีความคิดว่า เราเจ็บป่วยเล็กน้อยแล้ว มีข้ออ้างเพื่อจะนอนได้แล้ว จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม
8. ภิกษุหายจากเจ็บป่วยแล้ว เธอมีความคิดว่า เราหายอาพาธยังไม่นาน กายยังอ่อนเพลีย จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม

กุสีตวัตถุสูตร 23/305

เรื่องของคนขี้เกียจ ก็มักจะมีข้ออ้างต่างๆ นานาร้อยแปด เรื่องนี้จึงมิใช่ว่าจะมีในปัจจุบัน แม้ในครั้งพุทธกาลก็มีมาแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า เป็นความเสื่อมของคนหนึ่งในหกข้อ ที่เรียกว่า “อบายมุข” คือช่องทางของความเสื่อม หรือเหตุเครื่องฉิบหาย

ดังนั้น ผู้หวังความเจริญ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม จะต้องรีบกำจัด “ตัวขี้เกียจ” ออกไปให้เร็วที่สุด เพราะเจ้าตัวขี้เกียจมีขึ้นแล้ว มันจะพาเอาเจ้า “ตัวเสนียด” พ่วงเข้ามาด้วย ผู้หวังความสุข และความเจริญแก่ตนและส่วนรวม จึงไม่ควรที่จะเลี้ยงตัวขี้เกียจ ให้เป็นมิตรกันอีกต่อไป

** จบบทความ**





 

Create Date : 28 สิงหาคม 2553    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2563 13:15:58 น.
Counter : 76 Pageviews.  

2. การถือฤกษ์ยามตามหลักพระพุทธเจ้า

** ที่มา – จากหนังสือพระไตรปิฏก ฉบับดับทุกข์ โดย ท่านธรรมรักษา (ฉบับไม่สงวนลิขสิทธิ์)**

เรื่องของการถือฤกษ์งามยามดี เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชาวบ้าน ที่ยังเข้าไม่ถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า มักจะคล้อยตาม หรือเชื่อตามๆ กันมา โดยปราศจากเหตุผล และตราบใดที่คนเรายังไม่มีความเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรมของพระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่นแล้ว ก็ยากที่จะเลิกละได้ พระพุทธองค์ทรงวางหลักการถือฤกษ์ยามไว้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย! คนเหล่าใดทำความดี ด้วยกาย วาจา และใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็จะเป็นเวลาเช้าที่ดี ของคนเหล่านั้น

คนเหล่าใดทำความดี ด้วยกาย วาจา และใจ ในเวลาเที่ยงวัน เวลาเที่ยง ก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของคนเหล่านั้น

คนเหล่าใดทำความดี ด้วยกาย วาจา และใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็น ก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของคนเหล่านั้น

คนทั้งหลายปฏิบัติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี”

สุปุพพัณหสูตร 20/335

หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เน้นเรื่องการกระทำเป็นใหญ่ ถือว่าใครทำดีเวลาใด เวลานั้นก็เป็นเวลาที่ดี เป็นฤกษ์ที่ดี เป็นเวลาที่เป็นมงคล ทำให้เกิดโชคดี มีความสุขความเจริญตามมา

แต่ทั้งนี้จะต้องมีปัญญากำกับด้วย คือ ต้องประกอบด้วยกาลเทศะ และบุคคลร่วมด้วย ถ้าทำกรรมใดโดยขาดปัญญา กาละและเทศะ เช่นหว่านข้าวในทะเล หรือทำนาหน้าแล้ง มันก็ย่อมจะเหนื่อยเปล่า และเสียของเปล่าแน่นอน

และสิ่งประกอบสำคัญ ที่ไม่ควรลืมคือ อกุศลกรรมเก่า จะตามมาให้ผล ในขณะที่เรากำลังทำความดี ให้เราได้รับความทุกข์ แต่เหตุที่เราทำกรรมดีไว้ ผลก็จะต้องดีเสมอไป ไม่กลับกลายเป็นอื่น

เรื่องกฏแห่งกรรม เป็นเรื่องลึกซึ้งและซับซ้อน ค่อนข้างจะเข้าใจยาก ควรที่จะศึกษาให้แจ่มแจ้ง มิฉะนั้นอาจเห็นผิดว่า “คนทำดีได้ชั่วก็มี คนทำชั่วได้ดีก็มี” ซึ่งตามกฏแห่งกรรมของพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีทางจะเป็นไปได้

แต่เพราะการให้ผลของกรรม บางครั้งต้องข้ามภพชาติ จึงทำให้ผู้อ่อนปัญญาเห็นผิดไป เพราะไปเพ่งแต่กรรมในปัจจุบัน ไม่เห็นกรรมชั่วในอดีต ที่กำลังให้ผลอยู่ในปัจจุบัน

ในฐานะชาวพุทธที่ดี ก็ควรจะดำเนินตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นแนวคำสอนของผู้รู้แจ้งโลกทุกโลกแล้ว ไม่มีทางที่จะผิดพลาดได้ อย่าได้ฝากความหวังไว้กับหมอดู ซึ่งมักจะคู่กับหมอเดา จะพาเศร้าใจ

** จบบทความ**




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2563 13:16:33 น.
Counter : 111 Pageviews.  

1  2  3  
 
 

แมวน้ำมึนมึน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add แมวน้ำมึนมึน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com