bloggang.com mainmenu search
หลวงพ่อธี วิจิตฺตธมฺโม เขียน
พระมหายาจินต์ ธมฺมธโร ป.ธ.๙,สส.ม. แปล


จันทรวารสิริสวัสดิ์-โสมนัสปรีดิ์เขษม ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ ค่ะ


๖. สมาธิสัมโพชฌังคะ ซึ่งมาจากคำว่า

สมาธิ - ความตั้งมั่น
สัมโพชฌังคะ - การบรรลุมรรคผล
อังคะ - เตรื่องมือ

หมายถึง สมาธิ อันเป็นเครื่องมือแห่งการบรรลุมรรคผล

คำว่า "สมาธิ" มี ๒ ประเภท คือ โลกิยสมาธิและโลกุตรสมาธิ
โลกิยสมาธินี้ มี ๓ ระดับ คือ บริกรรมสมาธิ อุคคหสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่อาฬารดาบสและอุทกดาบสเคยประพฤติมาก่อน ซึ่งเป็นการฝึกจิตให้จดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียวจนจิตตั้งมั่น เกิดเป็นฌานขึ้นมา

โลกิยะสมาธินี้ เป็นสมาธิที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มั่นคง และไม่ทำให้พ้นจากวัฏสงสาร ส่วนสมาธิในโพชฌงค์เป็นสมาธิที่ประกอบร่วมกับสัมมาสังกัปปะ เรียกว่า เป็นสมาธิของอาจาระมรรคอริยะ (ผู้เตรียมจะเป็นพระอริยเจ้า) เป็นจอมพลแห่งสมาธิทั้งหลาย

ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ยัมพุทธเสฏโฐ ปริวัณณยี สุจิง" ซึ่งหมายถึงสมาธิที่ประกอบร่วมกับอนาคามิผล อรหัตมรรค และอรหัตผล และเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญยิ่ง

๗. อุเปกขาสัมโพชฌังคะ มาจากคำว่า

อุเปกขา - วางเฉย
สัมโพชฌะ - การบรรลุมรรคผล
อังคะ - เครื่องมือ

เมื่อรวมกันจึงหมายถึง ความวางเฉยเป็นเครื่องมือแห่งการบรรลุมรรคผล

อุเบกขาอันเป็นเครื่องมือของพระอริยเจ้านี้มี ๓ ประเภท

๑. อุเบกขาทุกขเวทนา ความวางเฉยในความทุกข์
๒. อุเบกขาสุขเวทนา ความวางเฉยในความสุข
๓. อุเบกขาเวทนา ความวางเฉยในอารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์

คำว่า "ทุกข์" นี้ เป็นโทสเจตสิก เรียกว่า "ใจโทสะ" อัตตาเป็นเหตุแห่งโทสะ โทสะเป็นเหตุแห่งทุกข์ หากว่าทุกข์หรือทุกขเวทนาเกิดขึ้นมาเวลาใด จงพิจารณาว่าเป็นอนัตตา วางเหตุเสียในทันที ณ เวลานั้น

คำว่า "สุข" นี้เป็นโสมนัสที่ประกอบด้วยโลภะ สุขนี้มีโลภะเป็นเหตุ เมื่อสุขหรือสุขเวทนาเกิดขึ้นมาเวลาใด จงพิจารณาว่าเป็นอนัตตา วางเหตุเสียในทันที ณ เวลานั้น

คำว่า "อุเบกขา" หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ หรือเรียกว่าอารมณ์เฉย หากว่าอุเบกขาเวทนานี้เกิดขึ้นมา ณ เวลาใด จงพิจารณาว่าเป็นอนัตตา วางเหตุเสียในทันที ในเวลานั้น

อนึ่ง คำว่า "อุเบกขา" ความวางเฉย หรือความว่างนี้ มีหลายประเภท กล่าวคือ

๑. การที่สังขารคือการปรุงแต่ง "อนิจจัง" คือการเกิดดับ "ทุกขัง" คือความแปรปรวนเป็นทุกข์ เข้าถึงจุดเงียบเฉย ว่าง สงบเย็นอยู่ และปัญญาก็รู้ถึงสภาวะอนัตตาที่เป็นปรมัตถ์อยู่อย่างนี้ เรียกว่า "สังขารเปกขาญาณ" เป็นอุเบกขาของรองพระอริยเจ้า คือผู้กำลังเจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่

๒. อุเบกขาของพระอริยเจ้าผู้กำลังเจริญมรรคขั้นสูงต่อไป

๓. อุเบกขาของพระอริยเจ้าผู้เสวยผล คือผู้เข้าผลสมาบัติอยู่ อุเบกขาชนิดนี้เรียกว่า "ผลสมาบัติ" และมีลักษณะ ๔ ประการ

...๓.๑ มีอยู่ (มีสภาวะปรมัตถ์อยู่)
...๓.๒ รู้อยู่ (รู้สภาวะปรมัตถ์อยู่)
...๓.๓ เห็นอยู่ (เห็นสภาวะปรมัตถ์อยู่)
...๓.๔ เงียบสงบอยู่ (รูป จิต และเจตสิก เป็นอสังขตะ คือไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เงียบเฉยอยู่)

อุเบกขาที่มีลักษณะ ๔ ประการดังกล่าวนี้ เป็นการเสวยผล หรือการเข้าผลสมาบัติของพระอริยเจ้าประเภทปกติสามัญ คำว่า "ผลสมาบัติ" ประกอบด้วย ศัพท์ ๓ คำ ได้แก่

ผล - ใจผลทั้ง ๔ ประการ
สมะ - สงบเย็น
อาปัตติ - บรรลุถึง

เมื่อรวมกันจึงได้ความว่า "เข้าถึงใจผลทั้ง ๔ ที่สงบเย็นอยู่"

ส่วนผลสมาบัติประเภทพิเศษเรียกว่า "นิโรธสมาบัติ" ซึ่งมีลักษณะ ๕ ประการ ดังนี้

๑. ดับลมหายใจ
๒. ดับวิญญาณ
๓. ดับเจตสิกและสัมผัสต่างๆ
๔. ดับจิตสังขาร การนึกคิดปรุงแต่ง
๕. ดับทุกขเวทนา สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา

เพราะฉะนั้น "นิโรธสมาบัติ" นี้ หมายถึงการที่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดเงียบสงบเย็นอยู่ ผู้สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้นั้น มีพระอัครสาวกและพระมหาสาวกบางองค์เท่านั้น การเข้านิโรธสมาบัติแต่ละครั้ง สามารถเข้าได้นานที่สุดไม่เกิน ๗ วัน


กราบนมัสการมาด้วยความเคารพ


จันทรวารสิริสวัสดิ์-โสมนัสสวัสดิ์ปรีดิ์ที่มาอ่านอุดมมงคลนี้ค่ะ
Create Date :12 ตุลาคม 2552 Last Update :12 ตุลาคม 2552 0:01:19 น. Counter : Pageviews. Comments :0