bloggang.com mainmenu search

ธีววารสิริสวัสดิ์ - โสมนัสสวัสดิ์ปรีดิ์ค่ะ


กินติสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.

พึงทราบวินิจฉัยในกินติสูตรนั้น ดังต่อไปนี้.

บทว่า กุสินารายํ ได้แก่ในมณฑลประเทศที่มีชี่ออย่างนี้ บทว่า พลิหรเณ ความว่า ชนทั้งหลายนำพลีมาเซ่นสรวงภูตทั้งหลายในไพรสณฑ์นั้น เพราะฉะนั้นไพรสณฑ์นั้น จึงเรียกว่า เป็นที่นำพลีมาเซ่นสรวง.

บทว่า จีวรเหตุ แปลว่า เพราะเหตุจีวร อธิบายว่า หวังได้จีวร.

บทว่า อิติ ภวาภวเหตุ ความว่า พวกเธอได้มีความคิดอย่างนี้หรือว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมด้วยความหวังว่า เราจักอาศัยบุญกิริยาวัตถุอันสำเร็จด้วยการแสดงธรรมแล้ว จักได้เสวยสุขในภพนั้น ๆด้วยประการอย่างนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีว่าสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้เป็นต้น ทั้งโลกิยะและโลกุตระทีเดียว.
บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในธรรม ๓๗ ประการนั้น.

บทว่า สิยุํ แปลว่า พึงเป็น.
บทว่า อภิธมฺเม ได้แก่ ในธรรมอันวิเศษยิ่ง. อธิบายว่า ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเหล่านี้

บทว่า ตตฺร เจ แม้นี้ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่า โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายเท่านั้น.
ในคำนี้ที่ว่า อตฺถโต เจว นานํ พฺยญฺชนโต จ นานํ ดังนี้ เมื่อกล่าวว่า กายสติปัฏฐาน เวทนาสติปัฏฐาน เป็นการต่างกันโดยอรรถ

แต่เมื่อกล่าวว่า (กาย เวทนา) ในสติปัฏฐาน ดังนี้ ย่อมชื่อว่าต่างกันโดยพยัญชนะ.

บทว่า ตทิมินาปิ ความว่า พึงเทียบอรรถและพยัญชนะแล้ว ชี้ถึงความที่อรรถถือเอาความเป็นอย่างอื่น และพยัญชนะที่ลงไว้ผิดว่า ท่านทั้งหลายจงทราบ (ความต่างกัน) นั้น

ด้วยเหตุแม้นี้ อรรถและพยัญชนะเป็นเหตุให้เข้าใจความนั่นแล เป็นธรรมและวินัย ในคำว่า โย ธมฺโม โยวินโย นี้.

ในคำว่า อตฺถโต หิ โข สเมติ นี้ ท่านถือเอาว่าสตินั่นแล เป็นสติปัฏฐาน.
บทว่า ต่างกันโดยพยัญชนะ ความว่า พยัญชนะอย่างเดียวเท่านั้นลงไว้ผิดว่า สติปัฏฐาโน หรือ สติปัฏฐานา ดังนี้.

บทว่า อปฺปมตฺตกํ โขความว่า ครั้นพอถึงพระสูตร พยัญชนะย่อมชื่อว่าไม่เป็นประมาณเลย แม้ในการยกพยัญชนะที่มีเสียงเบา ทำให้มีเสียงหนัก (คือพยัญชนะที่เป็นธนิต)อาจกลายเป็นพยัญชนะดับได้.

ในข้อนี้ มีเรื่องต่อไปนี้เป็นตัวอย่างได้ฟังมาว่า พระเถระขีณาสพรูปหนึ่ง อยู่ในวิชยารามวิหาร เมื่อนำเอาพระสูตรมาบอกกรรมฐานแก่พระภิกษุ ๒ รูป กล่าวให้มีเสียงหนักไปว่า

" ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าวว่า สมุทธะ สมุทธะ ดังนี้.
ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า อะไร ชื่อสมุทธะขอรับ.
พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุเมื่อกล่าวว่า สมุทธะก็ดี สมุทธะก็ดี พวกเราก็ย่อมรู้ว่า (หมายถึง) ทะเลน้ำเค็มนั่นแหละ.

ก็พวกเธอไม่ค้นหาเนื้อความ ค้นหาแต่พยัญชนะ พวกเธอจงไปพิสูจน์พยัญชนะ ในสำนักของภิกษุผู้ชำนาญเรื่องพยัญชนะในมหาวิหารเถิด ดังนี้แล้ว ไม่บอกกรรมฐานเลย ลุกไปเสีย.

ครั้นต่อมาท่านพระเถระขีณาสพองค์นั้น ให้ตีกลองในมหาวิหาร (เป็นสัญญาณให้มาประชุมกัน) แล้วกล่าวปัญหาในมรรค ๔ แก่หมู่ภิกษุแล้วก็นิพพาน.

พอถึงพระสูตร พยัญชนะชื่อว่าไม่เป็นประมาณอย่างนี้.

แต่พอถึงพระวินัย จะชื่อว่าไม่เป็นประมาณไม่ได้. เพราะแม้การ
บวชเป็นสามเณรต้องบริสุทธิ์ ๒ อย่าง (คืออรรถและพยัญชนะ) จึงจะควร.

แม้กรรมมีการอุปสมบทเป็นต้น ก็ย่อมกำเริบได้ ด้วยเหตุเพียงทำเสียงเบา
ให้เป็นเสียงหนักเป็นต้น.
แต่ในที่นี้ท่านกล่าวคำนี้โดยหมายถึงพยัญชนะในพระสูตร.

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ในจตุตถวาร กล่าวแย้งกันเพราะเหตุไร ?
ตอบว่า กล่าวแย้งกันเพราะสัญญาว่า เราย่อมกล่าวสตินั่นแหละว่าสติปัฏฐาน ท่านผู้นี้กล่าวว่า กายสติปัฏฐาน. แม้ในพยัญชนะก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า น โจทนาย โจทิตพฺพํ ได้แก่ อย่าเพ่งโจทด้วยความต้องการโจท เพราะบุคคลบางคนถูกเขาพูดทักว่า มีต่อมเท่าเมล็ดผักกาดที่หน้าผาก (ของท่าน) ก็กล่าวว่า ท่านเห็นต่อมเท่าเมล็ดผักกาดที่หน้าผากของเรา (แต่) ไม่เห็นหัวฝีใหญ่เท่าลูกตาลสุกที่หน้าผากของตัว ดังนี้.

เพราะฉะนั้น ตัวบุคคลควร (จะต้อง) สอบสวน.
บทว่า ไม่มีทิฏฐิมั่น คือไม่มีทิฏฐิในการยึดถือ คือไม่ถือมั่น เหมือนใส่จระเข้ไว้ในหัวใจ.
บทว่า อุปฆาโต ความว่า ก่อความทุกข์ เพราะความเป็นคนดุ เหมือนถูกเสียดสีที่แผล.

บทว่า สุปฏินิสฺสคฺคี สละคืนได้ง่าย ความว่า แม้กล่าวหนึ่งวาระสองวาระว่า ผมต้องอาบัติชื่อไร ต้องเมื่อไร ดังนี้ หรือว่า ท่านต้องอาบัติแล้ว อุปัชฌาย์ของท่านต้องอาบัติแล้ว ดังนี้

แล้วเตือนให้ระลึกว่า ท่านขอรับ ท่านต้องอาบัติชื่อโน้น ในวันชื่อโน้น ท่านจงค่อยๆนึกเถิด ดังนี้ จักสละได้เพียงนั้นทีเดียว.

บทว่า วิเหสา ความลำบาก ได้แก่ ความลำบากกายและใจ ของบุคคลผู้ชักเอาความและเหตุเป็นอันมากมา.

บทว่า สกฺโกมิ ความว่า ก็บุคคลเห็นปานนี้ได้โอกาสแล้ว เมื่อใครกล่าวว่าท่านต้องอาบัติแล้วขอรับ จะกล่าวว่าต้องเมื่อไร ในเรื่องอะไร เมื่อเขากล่าว
ว่า ในวันโน้น ในเรื่องโน้น จะกล่าวว่า ผมนึกไม่ได้ดอกคุณ.

แต่นั้นอันคนอื่นกล่าวมากมายให้ระลึกว่า ท่านจงค่อย ๆ นึกเถิดขอรับ ดังนี้ พอระลึกได้ก็ย่อมสละเสีย (คือปลงอาบัติ).
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สกฺโกมิ ดังนี้ พึงทราบเนื้อความในทุก ๆ บทโดยนัยนี้.

บทว่า อุเปกขา นาติมญฺญิตพฺพา ไม่พึงละเลย อุเบกขา ความว่า ไม่พึงล่วงเลยอุเบกขา อธิบายว่า พึงทำ พึงให้อุเบกขาเกิดขึ้น.
ก็บุคคลใดแม้เห็นบุคคลปานนี้ ยืนถ่ายปัสสาวะก็พูดว่า ควรนั่งมิใช่หรือคุณ
ดังนี้ บุคคลนั้น ชื่อว่า ล่วงเลยอุเบกขา.

บทว่า วจีสงฺขาโร แปลว่า พูดยุแหย่ อธิบายว่า ชักนำคำที่คน พวกนี้กล่าวในระหว่างคนพวกโน้น ชักนำคำที่คนพวกโน้นกล่าวในระหว่างคนพวกนี้ว่า ท่านทั้งหลายถูกคนพวกนี้กล่าวอย่างนี้ ๆ.

ตรัสภาวะที่จิตไม่ยินดีด้วยบททั้งหลาย มีอาทิว่า ทิฏฺฐิปลาโส ดังนี้. บทว่า ตํ ชานมาโน สมาโน ครเหยฺย ความว่า พระบรมศาสดาเมื่อทรงทราบเรื่องนั้นพึงทรงตำหนิพวกเรา.

บทว่า เอตํ ปนาวุโส ธมฺมํ ได้แก่ ธรรม คือความทะเลาะเบาะแว้งกันนั้น.
บทว่า ตญฺเจ ได้แก่ ภิกษุผู้กระทำสัญญัติ (การประกาศให้รู้) รูปนั้น.

บทว่า เอวํ พฺยากเรยฺย ความว่า เมื่อจะแสดงเหตุที่ภิกษุกระทำสัญญัติ ไม่พูดว่าภิกษุเหล่านั้น เราให้ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์แล้วดังนี้ นั่นแหละ พึงพยากรณ์อย่างนี้.

สาราณียธรรมท่านหมายว่า ธรรมในคำที่นี้ว่า ตสฺสาหํ ธมฺมํ สุตฺวา ดังนี้.
ก็ในบทมีอาทิว่า น เจ อตฺตานํ ดังนี้ ภิกษุผู้กล่าวว่า ไฟประมาณเท่าพรหมโลกนี้ ตั้งขึ้นแล้ว เว้นเราเสีย ใครจะสามารถให้ไฟนั้นดับได้ ดังนี้ ชื่อว่า ยกตน.

ภิกษุผู้พูดว่า คนประมาณเท่านี้เทียวพูดกันไปก็ไม่ได้โอกาส ชื่อว่าผู้สามารถจะยังเรื่องราวประมาณเท่านี้ให้ดับลง ย่อมไม่มีแม้สักคนเดียว ดังนี้ ชื่อว่า ข่มคนอื่น ภิกษุนี้ย่อมไม่ทำแม้ทั้งสองอย่าง.

ก็การพยากรณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่า ธรรม ในที่นี้. การกระทำสัญญัติของภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่า ธรรมอันสมควร. ภิกษุนี้ชื่อว่า พยากรณ์ ธรรมอันสมควรแก่ธรรมนั้น

คำว่า น จ โกจิ สหธมฺมิโก ความว่า การกล่าวของอาจารย์หรือการกล่าวตาม
ของศิษย์ไร ๆ อื่นอันสมแก่เหตุที่ภิกษุนั้นกล่าวด้วยบททั้งหลาย ไม่น่าจะต้องตำหนิ บทที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถากินติสูตรที่ ๓


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ธีววารศุภสวัสดิ์ - มานมนัสรมเยศ ที่มาอ่านอุดมมงคลนี้ค่ะ
Create Date :05 พฤศจิกายน 2552 Last Update :5 พฤศจิกายน 2552 21:19:45 น. Counter : Pageviews. Comments :0