bloggang.com mainmenu search

 



สภากรรมการองคมนตรี เป็นพระราชกรณียกิจประการหนึ่ง ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชดำริที่จะต้องเตรียมการให้ประชาชน รู้เรื่องประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ถ้าประชาชนใช้รัฐธรรมนูญไม่เป็น ก็จะเกิดปัญหายุ่งยาก พระราชดำรินี้อยู่ในพระราชบันทึก เรื่อง “Democracy in Siam” ว่า

"เราต้องเรียนรู้และทดลองเพื่อที่จะมีความคิดว่า ระบอบการ ปกครองแบบรัฐสภา จะเป็นไปได้อย่างไรในสยาม เขาต้องพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชน ให้มีความสำนึกทางการเมือง ถ้าเราจะต้องมีรัฐสภา เราต้องสอนประชาชนว่า จะออกเสียงอย่างไร และจะเลือกผู้แทนอย่างไร ที่จะมีจิตใจฝักใฝ่กับผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างแท้จริง"

ดังนั้น พระองค์จึงทรงปรับปรุงสภาองคมนตรี ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ ที่มีมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 277 คน

ด้วยการออกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 ให้มีสภากรรมการองคมนตรี ทรงคัดเลือกผู้ที่มีคุณวุฒิและความสามารถพิเศษ จำนวน 40 คนจากองคมนตรี เข้าเป็นสมาชิกสภากรรมการองคมนตรี

มีหน้าที่ประชุมปรึกษาข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาให้ปรึกษา แต่พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีมากกว่านั้น

พิจารณาได้จากกระแสพระราชดำรัสในการเปิดประชุมสภากรรมการองคมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ตอนหนึ่งว่า

"เราขอให้ท่านเข้าใจว่า สภากรรมการขององคมนตรีที่เรา ตั้งขึ้น ต้องเป็นไปตามสภาพที่เหมาะแก่ประเทศเรา กล่าวคือ เรามีความประสงค์ที่จะทดลอง และปลูกฝังการศึกษา ในวิธีการศึกษาโต้เถียงให้สำเร็จเป็นมติตามแบบอย่างที่ประชุมใหญ่

ถ้าหากถึงเวลาอันควร ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองประเทศต่อไป ก็จะได้ทำได้โดยสะดวก การที่เราได้เลือกท่านเป็นกรรมการองคมนตรีนั้น ควรเห็นว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง

และท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า เรามิได้เลือกท่านมาเป็นผู้แทนชนคณะใดหรือเหล่าใดโดยเฉพาะ ท่านทั้งหลายจงออกความเห็นโดยระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมส่วนใหญ่ของแผ่นดิน และประชาชนชาวสยามโดยทั่วไปเป็นสำคัญ

เราเชื่อว่าท่านคงจะดำเนินการประชุม ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง แม้มีสิ่งไรที่ท่านเห็นว่าจะยังความผาสุก ให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชน ก็ให้ท่านถวายความเห็นได้ทุกเมื่อ เรายินดีที่จะฟังเสมอ"

จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งสภากรรมการองคมนตรี ตลอดจนวิธีการประชุมมีลักษณะคล้าย สภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่จะไม่ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรง

ในทางปฏิบัติ สภากรรมการองคมนตรีประสบความล้มเหลว ที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง ตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ ผลงานของสภามีเพียงพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ตามพระบรมราชโองการเท่านั้น

และเวลาในการที่จะประชุมถกเถียงกันก็มีน้อย สมาชิกขาดประชุมและไม่กระตือรือร้นในการปฏิบัติงานเท่าที่ควร

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงแสวงหาแนวทางอยู่นั้น การแสดงความคิดเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องประชาธิปไตยมีมากขึ้น

เช่นใน บางกอกการเมือง ผู้ใช้นามว่า พระจันทร เขียนว่าไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ยังคงใช้การปกครองในระบอบพระราชาอยู่เหนือกฎหมาย ราษฎรไม่มีเสียงเลยในการปกครอง ซึ่งทำให้คนมีเงินได้เปรียบคนจน

แล้วยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ว่ามีการปกครองแบบรีปับลิค ซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จนเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง

ส่วนหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว ได้ลงพิมพ์บทความเรื่อง “ราษฎรตื่นแล้ว” โดยเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้ความรุนแรง และยกตัวอย่างกรณีพระเจ้าชาร์นิโคลาสแห่งรัสเซียถูกปลงพระชนม์ รัฐบาลสมัยนั้นได้ทำการสอบสวนหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว และก็สั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

หนังสือพิมพ์ราษฎร ลงบทความเห็นว่าจ้าวเป็นลูกถ่วงความเจริญ ยกตัวอย่างการปฏิวัติจีน ที่ซุนยัดเซ็นล้มจักรพรรดิจีน และสถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นแทน เสนอแนวคิดว่า การที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าเก่าได้นั้น จะต้องทำลายสังคมเดิมลงไปก่อน

ถ้าจะให้สังคมเสมอภาค ก็ต้องทำเหมือนเครื่องบดยา ก่อนถูกบดให้ละเอียดนั้น เครื่องยาย่อมมีขนาดไม่เสมอกัน เมื่อบดละเอียดแล้วจึงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือประเทศใดที่เกิดศึกสงครามมาก ประเทศนั้นย่อมเจริญมาก ไฟไหม้ที่ใดที่นั้นจะสวยงามขึ้น เป็นต้น

ความกดดันจากหนังสือพิมพ์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ที่จะให้เตรียมตัวประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้พอสมควรที่จะมีระบอบรัฐสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พระราชดำริของพระองค์ คือให้มี “Municipal Council” (สภาเทศบาล) “Local Government” (การปกครองท้องถิ่น) เป็นการสอนให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น

นับเป็นการเตรียมการในการปูพื้นฐานประชาธิปไตยระดับฐานราก เรื่องนี้ได้มีกรรมการร่างพระราชบัญญัติเทศบาลเสร็จในปี พ.ศ. 2473 แต่ก็มิได้มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

ต่อมาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเตรียมการจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ประชาชนชาวไทย จึงทรงมอบหมายให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ให้ศึกษาระบบการปกครองแบบมีผู้แทน ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดในชวาในคราวที่กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยตามเสด็จประพาสชวาใน พ.ศ. 2472

ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตร นักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ชื่อ นายแฮโรลด์ เคนนี ได้รับพระราชทานโอกาสให้สัมภาษณ์ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2474

มีข้อความว่า พระองค์จะทรงจัดให้มีการปกครองระดับท้องถิ่นก่อนเพื่อเป็นการให้การศึกษา และฝึกการปกครองในระบบผู้แทนในระดับรากฐาน

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จนิวัติกลับสู่พระนครแล้ว ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ ผู้สำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ

และนายเรมอนด์ บีสตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเป็นผู้แทนราษฎรรัฐนิวแฮมเชียร์ สังกัดพรรคดีโมแครต รองประธานการเดินเรือแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้แทนอเมริกันในสภาการขนส่งทางทะเล ของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

พระยาศรีวิศาลวาจา และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 ร่างเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “An Outline of Changes in the Form of Government” ได้กำหนดรูปแบบการปกครองสัมพันธ์ ระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรไว้ด้วย

การเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แรกทีเดียวมีพระราชดำริว่า จะพระราชทาน ในวาระที่มีงานพระราชพิธีฉลองกรุงเทพมหานคร ครบรอบ 150 ปีในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อนำเข้าประชุมอภิรัฐมนตรีสภา พร้อมบันทึกความเห็นของนายสตีเวนส์ และพระยาศรีวิศาลวาจา

ซึ่งมีความเห็นว่า ยังไม่ควรใช้ระบอบการปกครองโดยรัฐสภาในตอนนั้น เนื่องจากประชาชนยังไม่พร้อม

ไม่ปรากฏเอกสารรายงานการประชุมอภิรัฐมนตรีครั้งนั้น แต่หลักฐานของอุปทูตอังกฤษกล่าวว่า อภิรัฐมนตรีสภาไม่เห็นด้วย ทีจะให้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริไว้

ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญที่ได้เตรียมการไว้ ก็ยังไม่ถึงประชาชนในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็ก่อการปฏิวัติ


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย วสรสนุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์ภุมวาร สิริมานปรีดิ์เกษมนะคะ

Create Date :15 กุมภาพันธ์ 2554 Last Update :3 กรกฎาคม 2556 19:41:55 น. Counter : Pageviews. Comments :2