bloggang.com mainmenu search



แอปเรียกแท็กซี่ปูพรมบุกตลาด งัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้งาน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


"แอปแท็กซี่" โหมโปรโมต-ระดมโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้ "แกร็บ แท็กซี่" ส่งบริการพรีเมี่ยมตอบโจทย์คนเมือง "อีซี่แท็กซี่" ระดมทีมงานตั้งจุดรับสมัครในปั๊มแก๊ส ชูราคาถูกจูงใจดึงแท็กซี่เข้าระบบ เตรียมเจาะกลุ่มองค์กร ขณะที่ "อูเบอร์" ยันไม่ยกเลิกบริการ


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า การเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นกำลังเป็นรูปแบบบริการที่ได้รับความนิยม เพราะผู้บริโภคได้รับความสะดวกมากกว่าการ โทร.เข้าศูนย์แบบเดิมที่มักมีปัญหาไม่มีรถมารับตามนัดบ้าง หรือไม่มีพนักงานรับสาย โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน การเรียกผ่านแอปพลิเคชั่นดีกว่าการยืนรอโบกรถข้างทาง

ล่าสุดเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อกรมการขนส่งทางบกออกมาระบุว่า บริการรถรับส่งผู้โดยสารในลักษณะรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นด้วยรถบริการ (ป้ายเขียว) และรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ที่มีอัตราค่าโดยสารไม่เป็นไปตามที่กำหนด กระทำผิด พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 เนื่องจากใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้, ค่าโดยสารไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และผู้ขับไม่มีใบขับขี่สาธารณะ อีกทั้งการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตอาจเกิดความเสี่ยงแก่ผู้ใช้บริการด้วย หากตรวจพบจะเปรียบเทียบปรับสูงสุด เช่น ปรับ 2,000 บาท เมื่อใช้รถยนต์ผิดประเภท และ 1,000 บาท ถ้าไม่มีใบขับขี่สาธารณะ เป็นต้น

แอปพลิเคชั่นที่เข้าข่ายข้างต้น คือ อูเบอร์ (Uber) ไม่ว่าจะเป็นการเก็บค่าบริการที่สูง รวมถึงแท็กซี่และผู้ขับไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบกแต่อย่างใด

ต่อกรณีดังกล่าว อูเบอร์ ประเทศไทยออกแถลงการณ์ระบุว่า เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงผู้โดยสารและคนขับรถผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยการสัมผัสหน้าจอ ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย และให้บริการที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ แก่ผู้คนหลายล้านคนในกว่า 250 เมืองทั่วโลก รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้พันธมิตรที่เข้าร่วมเป็นคนขับอีกหลายแสนคน แต่ให้ความเคารพ และยินดีกับโอกาสที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในคุณค่าที่อูเบอร์สร้างสรรค์แก่ระบบคมนาคมขนส่งในประเทศไทย

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไปยัง"อูเบอร์" ได้คำตอบว่า บริษัทไม่ได้ทำแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้เรียกแท็กซี่ แต่เป็นแอปพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้บริโภคไปยังสถานที่ต่าง ๆ

ด้วยรถของบริษัท และรถอื่น ๆ ที่เข้าร่วมอยู่ในเครือข่าย ความปลอดภัยของผู้ใช้บริการจะการันตีโดยการตรวจงานบริการ และสภาพรถยนต์ของบริษัทที่มีระบบจีพีเอส

ติดตามการขับโดยตลอด ทั้งการเรียกใช้บริการแต่ละครั้งยังมีชื่อ, ภาพถ่าย และรถของผู้ขับส่งไปให้ผู้ใช้บริการ

มีบริการสองรูปแบบ คือ Uber Black จะใช้รถลิมูซีน มีรถโตโยต้า คัมรี่ และเบนซ์ อีคลาส เป็นรถหลัก ใช้ทะเบียนสีเขียว ราคาเริ่มต้น 45 บาท และคิดเพิ่มนาทีละ 2.5 บาท และ กม.ละ 9.2 บาท จำกัดค่าบริการขั้นต่ำ 75 บาท (เมื่อยกเลิกเสีย 75 บาท) อีกแบบคือ Uber X เป็นบริการที่เปิดให้คนทั่วไปที่มีรถนำมาให้บริการ (ทะเบียนสีดำ) รถ 4 ประตู ค่าบริการเริ่มต้น 25 บาท คิดเพิ่มนาทีละ

1 บาท และ กม.ละ 4.50 บาท จำกัดค่าบริการขั้นต่ำ 45 บาท เรียกใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น และชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

"ปัญหาทางกฎหมายเกิดขึ้นในทุกประเทศที่เราเข้าไปให้บริการ แต่เมื่อเราบอกว่าเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทาง เรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะเราแค่อยากให้ผู้บริโภคมีความสะดวกที่สุด จึงยืนยันที่จะให้บริการ และเร่งทำตลาดในประเทศไทยต่อไป"

ด้านนายวีร์ จารุนันท์ศิริ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แกร็บ แท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เริ่มให้บริการในประเทศไทยปลายปีที่แล้ว เทียบกับคู่แข่งยังมีรถแท็กซี่ในระบบไม่มากนัก จึงจะเร่งทำตลาดเพื่อเชิญชวนให้ผู้ขับแท็กซี่เข้ามาอยู่ในระบบ ด้วยการให้เงินค่าเรียกใช้บริการ 25 บาทแก่ผู้ขับทั้งหมด รวมกับค่าบริการตามมิเตอร์ปกติ

"การเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคขั่นในประเทศไทยเริ่มไม่ใช่เรื่องใหม่ มีผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางนี้มากขึ้น แต่เราเองยังมีแท็กซี่ในระบบน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เป้าหมายหลักจึงอยู่ที่การเพิ่มแท็กซี่ให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้าให้ได้มากที่สุด การแข่งขันในไทยเป็นช่วงที่ผู้ให้บริการทุกรายเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจ และกล้าใช้บริการ"

ปัจจุบันให้บริการในหลายประเภทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ เป็นต้น มีรถแท็กซี่รวมกัน 20,000 คัน มีการดาวน์โหลดแอป GrabTaxi กว่า 2 ล้านครั้ง ในแต่ละเดือนมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 5 แสนราย ค่าบริการเรียกรถครั้งละ 25 บาท ค่ารถคิดตามมิเตอร์ปกติ และจ่ายเป็นเงินสดให้คนขับแท็กซี่

ล่าสุดเปิดบริการ "แกร็บคาร์" ค่าบริการเริ่มต้น 45 บาท สูงกว่าแท็กซี่ปกติ 40-50% ในระยะทางเท่ากัน แต่ใช้รถระดับพรีเมี่ยมเช่น โตโยต้า คัมรี่ เป็นต้น รถทุกคันจะเป็นรถบริการทะเบียนเขียวจึงไม่มีปัญหาทางกฎหมาย

"แกร็บคาร์ยังมีรถน้อย เริ่มให้บริการเมื่อกลางปี จำกัดเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน เช่น สยาม, อโศก และสีลม แต่จะขยายบริเวณให้กว้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนเมือง รวมถึงไปให้บริการในต่างจังหวัด เหมือนแกร็บ แท็กซี่ ที่เปิดใช้ในตัวเมืองพัทยาแล้ว"

ด้านนายณัฐภัค อติชาตการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ แท็กซี่ ประเทศไทยกล่าวว่า ผู้ให้บริการแอปเรียกแท็กซี่ต่างเร่งสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการแก่ผู้บริโภค รวมถึงมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เข้ามาใช้บริการ เช่น ให้ส่วนลดเมื่อใช้บริการครั้งแรก หรือมีโปรโมชั่นลดราคาพิเศษในช่วงเทศกาลต่าง ๆ แต่คาดว่าในปีหน้าจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น เพราะแต่ละรายจะเริ่มมีเครือข่ายที่แข็งแรงขึ้น มีเป้าหมายธุรกิจที่ชัดเจนกว่าเดิม

"ปีหน้าแต่ละเจ้าจะมีความชัดเจนขึ้น เช่น เน้นตลาดพรีเมี่ยม หรือขยายบริการในต่างจังหวัด สำหรับเราจุดเด่นอยู่ที่ค่าบริการถูกสุดแค่ 20 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคที่มีสมาร์ทโฟนหันมาเรียกใช้แท็กซี่ผ่านแอปมากขึ้น จ่ายได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต มีเป้าหมายเพื่อก้าวไปสู่การเป็นเบอร์หนึ่งแอปเรียกแท็กซี่ในไทย เรามีแท็กซี่อยู่ในระบบกว่า 8 พันคัน

ทุก 10 นาทีจะเพิ่มขึ้นหนึ่งคัน มีผู้ดาวน์โหลดแอป EasyTaxi กว่า 5 แสนราย"

โดยบริษัทจะตั้งจุดเปิดรับสมัครแท็กซี่ในปั๊มแก๊สตามโซนต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ มีพนักงานตรวจสอบรถ, ใบขับขี่ และสมาร์ทโฟนของผู้ขับ เมื่อผ่านก็เข้ามาอยู่ในเครือข่ายได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แท็กซี่แต่ละคันจะมีรายได้เสริม 20 บาท (ค่าเรียกใช้บริการผ่านแอป) นอกจากรายได้ที่มาจากค่ามิเตอร์ปกติ และปีหน้าบริษัทเตรียมรุกตลาดองค์กรเพิ่มเติม โดยนำระบบเข้าไปให้บริการในบริษัทต่าง ๆ ที่มีการจ่ายค่ารถให้กับพนักงานเป็นรายเดือน



Create Date :07 ธันวาคม 2557 Last Update :7 ธันวาคม 2557 18:30:54 น. Counter : 920 Pageviews. Comments :0