bloggang.com mainmenu search


เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวร่างกายก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะอากาศที่เย็นสบายเป็นตัวการชั้นดีในการกระจายของไวรัสจึงต้องระวังโรคที่มากับฤดูหนาว

มารู้จัก 7โรคที่จะทำให้คุณป่วยได้ในฤดูหนาว

1. โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันเชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสอินฟลูเอ็นซาไวรัส (influenza virus) มีอาการหนาวสะท้านมีไข้ คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะรุนแรง การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควรดื่มน้ำให้มาก รับประทานยาหรือฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หยุดพักผ่อน ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อและใช้ยาที่ถูกต้องจากแพทย์

2. โรคไข้หวัด (Common cold) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจมีลักษณะอาการใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจามคันคอเป็นอาการเด่นการป้องกันโรคไข้หวัดยังไม่มีวัคซีนป้องกันเนื่องจากมีเชื้อไวรัสหลายชนิดแต่เบื้องต้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานยาตามอาการ เช่น หากมีอาการเจ็บคอเลือกรับประทานยาแก้ไอขับเสมหะ

3. โรคปอดบวม (Pneumonia) หรือภาวะการอักเสบของปอดสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยและสามารถแพร่กระจายออกมาเวลาไอ จามนอกจากนี้ยังเกิดจากการดมสารเคมี เช่น แอมโมเนีย ไนโตรเจน ไดออกไซด์หรือการสำลักน้ำลายเศษอาหารและน้ำย่อย เบื้องต้นจะมีอาการไอคัดจมูกก่อนและจะเริ่มด้วยไข้สูง มีอาการหนาวสั่น หายใจหอบมีการเจ็บหน้าอกบริเวณที่อักเสบการป้องกันโรคปอดบวมทำได้โดยหลีกเหลี่ยงจากคนปอดบวม ดื่มน้ำมากๆและฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรคที่ทำให้เกิดปอดบวม

4. โรคหัด (Measles) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่ารูบีโอราไวรัส(rubeola virus) เกิดจากการไอจามรดกันโดยตรงหรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป มีอาการไข้ มักไอแห้งตลอดเวลา มีน้ำมูกมากปากและจมูกแดง เด็กอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3-4 วันจึงเริ่มมีผื่นจากหลังหูลามไปยังหน้าและร่างกายโรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพียงครั้งเดียวในช่วงที่เด็กมีอายุ9-12 เดือน

5. โรคหัดเยอรมัน (Rubella) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลลาไวรัส(Rubella virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัดหรือหัดที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้และออกผื่นคล้ายหัดแต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัดมีลักษณะเฉพาะคือผื่นเป็นเม็ดละเอียดสีแดง กระจัดกระจาย ทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน24 ชั่วโมงเท่านั้น และจะหายไปภายใน 3วัน ซึ่งโรคนี้สามารถ/data/content/26276/cms/e_bfhimnrsyz13.jpgป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

6. โรคไข้สุกใส (Chickenpox/Varicella) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาไวรัส(Varicella virus) หรือ Human herpesvirus type 3ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นสุกใสหรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ

โรคอีสุกอีใส มักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำ ๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัวโดยเริ่มมีผื่นขึ้นทั่วร่างกายเป็นผื่นแดงราบ แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วัน จากนั้น ตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ดหลุดออกเองประมาณ 5-20 วัน เด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียนประมาณ 1สัปดาห์ เด็กเล็กที่ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการอักเสบจากการเกาที่ผื่น

โดยปกติโรคไข้สุกใสสามารถหายได้เองหลีกเลี่ยงการแกะเกา ดื่มน้ำให้มากรับประทานอาหารตามปกติและพักผ่อนให้เพียงพอหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใสสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ1 ปี

7. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Gastroenteritis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรตาไวรัส(Rota virus) มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2ปี ติดต่อโดยการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไปโดยเด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงแต่เด็กบางคนจะมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และมักมีอาการไข้ และอาเจียนอาจขาดน้ำรุนแรง

การป้องกันเบื้องต้นทำได้โดยรับประทานอาหารที่สุกล้างมือให้สะอาด จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้

หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลวควรให้กินอาหารเหลวบ่อย ๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้นหากยังถ่ายบ่อยให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อย ๆอาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที



5 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในฤดูหนาว

ห้ามดื่มสุราแก้หนาว โดยเฉพาะผู้ที่ไปเที่ยวตามดอย ตามภูเขาหรือในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เพราะหากเมาสุราและหลับไปโดยไม่มีเครื่องนุ่งห่มอาจเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้

อย่าผิงไฟในที่อับ เช่นในห้องหรือในเต็นท์เพราะหากมีการเผาผลาญที่ไม่สมบูรณ์สิ่งที่จะตามมาก็คือการเกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ คาร์บอนมอนอกไซด์ผลก็คือจะทำให้เกิดการง่วงซึมและหลับ ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน

การหายใจเอาควันไฟและสารจากควันไฟเข้าไปในปอดจะไปกระตุ้นให้อาการหอบหืดกำเริบได้นอกจากนั้นยังทำให้ระบบภูมิต้านทานของทางเดินหายใจลดลง ส่งผลให้ติดเชื้อต่าง ๆได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ระมัดระวังอย่าให้เด็กเล็ก ๆ เข้าใกล้ควันไฟเนื่องจากในเด็กเล็กยังมีภูมิต้านต่ำ หากให้เข้าใกล้ควันไฟอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ นอกจากนั้นก็ไม่ควรเอาผ้าคลุมศีรษะให้เด็กเล็ก ๆ โดยเฉพาะบริเวณจมูกและปากด้วยเนื่องจากอาจทำให้เด็กขาดอากาศหายใจได้

อย่านอนในที่โล่งแจ้ง ลมโกรกโดยไม่ได้สวมเสื้อผ้าป้องกัน

หลีกลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และผู้ที่ป่วยก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่นด้วย



โรคที่พบบ่อยในฤดูหนาวในประเทศไทย

ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล

ฤดูหนาวถึงแม้จะเป็นฤดูที่หลายๆ คนชอบแต่ก็เป็นฤดูที่อาจนำความเจ็บป่วยบางอย่างมาให้กับคนเราหลายอย่างโดยเฉพาะถ้าเราดูแลสุขภาพไม่ดี ถึงแม้ประเทศไทยอากาศจะไม่หนาวเท่ากับหลาย ๆ ประเทศแต่อุณหภูมิในฤดูหนาวบางปีและ ในบางพื้นที่ก็สามารถทำให้เราเจ็บป่วยได้ตัวอย่างโรคที่มาพร้อมฤดูหนาว ได้แก่

โรคไข้หวัด

ในโลกเรามีเชื้อไวรัสหวัดเป็นร้อยชนิดซึ่งเราสามารถติดต่อได้จากการสูดอากาศที่มีเชื้อโรคนี้ปนอยู่อาการประกอบด้วยไอ จาม คัดจมูกน้ำมูกไหล ระคายคอ มีไข้ โดยทั่วไปจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ โรคนี้จะหายได้เองโดยธรรมชาติไม่มีภาวะแทรกซ้อนการดูแลรักษาตอนที่ไม่สบายได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอหลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่จำเป็น ดื่มน้ำมาก ๆโดยเฉพาะน้ำผลไม้ รับประทานยาลดไข้พาราเซตตามอล ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอ อย่างไรก็ตามการรับประทานยาเหล่านี้ไม่ได้ลดจำนวนวันของอาการไม่สบายลง

โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดใหญ่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาวเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่3 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดเอ บีและซี เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซีนั้นพบน้อยในวงแคบและไม่รุนแรงส่วนชนิดบีพบเฉพาะในคน ไม่ค่อยทำให้ เกิดอาการ รุนแรงแต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นพบได้ในคนและสัตว์นานาชนิดสามารถก่อโรคได้รุนแรงและเป็นปัญหาของโลก เกือบทุกปี เพราะแพร่ระบาดในหลายพื้นที่

เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจซึ่งเชื้อโรคจะมาจากน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อมีการไอ จามทำให้เชื้อแพร่กระจายในอากาศ แล้วเราสูดเข้าไปในทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคภายใน 1-3 วัน นอกจากนั้นอาจติดต่อโดยการ ที่เราไปจับสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้นแล้วเรามาจับบริเวณใบหน้าเรา ทำให้เชื้อเข้าไปในร่างกายทางจมูกได้

โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ได้อันตรายร้ายแรงอันใดกับคนทั่วๆไปแต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น หอบหืดถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจวาย เบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้นอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้มาก เช่น เกิดปอดอักเสบติดเชื้อ ทั้งจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เองหรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 20,000-50,000 รายทุกปี แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 10 รายต่อปีโดยส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุ

อาการของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการมากในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาจมี เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ คัดจมูกน้ำมูกไหลโดยทั่วไปมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วันผู้สูงอายุอาจมีอาการไม่ชัดเจน (atypical presentations) ได้บ่อยบางครั้งอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ซึมสับสนหรือการช่วยเหลือตนเองได้ลดลง

การรักษาเมื่อมีอาการไม่สบายแล้วก็เหมือนกับการรักษาไข้หวัดดังกล่าวแล้วในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินลดไข้เนื่องจากอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการไรย์ ( Rye syndrome) ได้ สำหรับยากดการเพิ่มจำนวนของไวรัส ได้แก่ Amantadine,Rimantadine และ Neuraminidase inhibitors (oseltamivir และ zanamivir) นั้นมักไม่ต้องใช้และไม่ค่อยมีในโรงพยาบาลทั่วไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้และปัจจุบันไวรัสมีการดื้อยามากขึ้นส่วนใหญ่ใช้ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง

อาการหอบหืดในผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดเรื้อรังกำเริบ

ผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดเรื้อรังบางรายอาจมีอาการกำเริบหอบเหนื่อยมากขึ้นในฤดูหนาวได้โดยเฉพาะหากติดเชื้อไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวจึงต้องดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อไม่ให้ติดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้มียาแก้หอบติดตัวและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย

โรคภูมิแพ้

ช่วงฤดูหนาวคนที่มีโรคภูมิแพ้อากาศอยู่เดิมอาจมีอาการมากขึ้นได้โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยนใหม่ ๆ หรือบางคนที่แพ้ตัวไรในฝุ่นซึ่งอยู่ตามที่นอนแพ้ควันบุหรี่ แพ้ขนสัตว์ ในช่วงฤดูหนาวอาจมีอาการมากขึ้น เนื่องจากเรามีโอกาสอยู่ในบ้านมากขึ้นร่วมกับคนที่สูบบุหรี่และสัตว์เลี้ยง ซึ่งก็มักอยู่ในบ้านในช่วงฤดูหนาวทำให้คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิมมีโอกาสได้รับการกระตุ้นจากสิ่งที่แพ้มากขึ้นโดยอาจมีอาการคันจมูก คันตา จามมีน้ำมูกใสๆ คัดจมูกอยู่ตลอดได้ผู้ป่วยบางรายมีผื่นนูนคันเวลาอากาศเย็น (cold-induced urticaria) โดยมักมีอาการในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนอาจมีตุ่มนูนคันขึ้นในบริเวณที่ถูกอากาศเย็นได้ ในช่วงนี้ควรดูแลสุขภาพให้ดีหลีกเลี่ยงอากาศที่หนาวจัด สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่อบอุ่นบางรายถ้ามีอาการมากอาจต้องรับประทานยาแก้แพ้อากาศเพื่อลดอาการลง

อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป (Hypothermia)

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อาจเกิดปัญหาอุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป (hypothermia)ขึ้นได้ง่ายโดยเฉพาะในบางราย ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อยในบางพื้นที่ของประเทศที่มีอากาศหนาวมาก โดยเฉพาะถ้าต่ำกว่า 15-18 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ การดูแลป้องกันคือการพยายามรักษาความอบอุ่นของร่างกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบถ้วนและพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศหนาวจัด

ผิวหนังแห้ง ลอกและคัน

ในช่วงอากาศหนาวความชื้นในอากาศมักลดลง ความชื้นที่ผิวหนังของเราก็จะลดลงไปด้วย อาจทำให้ผิวแห้งคันและลอกได้ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหากับคนที่ผิวแห้งหรือผู้สูงอายุที่มีต่อมไขมันทำงานลดลงและความชื้นของชั้นผิวหนังน้อยอยู่แล้ว การป้องกันและแก้ไข คือ การใช้สบู่อ่อน ๆไม่ขัดผิวมาก ไม่ควรแช่น้ำอุ่นนาน ๆ อาจอาบน้ำลดลงเป็นวันละครั้ง และทาครีมหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำขณะที่ผิวยังหมาด ๆ อยู่

จะเห็นได้ว่าในฤดูหนาวนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้หลายอย่างการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและการหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคหรือตัวกระตุ้นโรคภูมิแพ้ ดังกล่าวแล้ว เป็นสิ่งที่สามารถลดโอกาสความเจ็บป่วยลงได้ครับ


โรคอันตรายที่มากับฤดูหนาว

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว...นอกจากลมหนาวที่รอคอยแล้ว ยังมีสิ่งที่เราไม่ได้รอคอยแฝงมาด้วย สิ่งนั้นคือ"โรคอันตราย"ที่ต้องพึงระวังในช่วงที่อากาศเย็นเป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัสทราบไหมว่าโรคอันตรายที่ว่า มีโรคอะไรกันบ้าง?

1. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันเชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่ เรียกว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส (influenzavirus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2ชนิดคือ influenza A และ B ส่วนไวรัส influenzaอีกชนิดหนึ่งคือ influenza C มีความรุนแรงน้อยและไม่มีความสำคัญในการแพร่ระบาดจึงอาจไม่นับอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดใหญ่

ความสำคัญของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่การที่ไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางได้บ่อยบางครั้งเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก (pandemic) การแพร่ระบาดมักเกิดในช่วงฤดูหนาวโดยทั่วไปทุกฤดูหนาวจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ ในแต่ละปีมีการประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกสูงถึง 10-15%ของประชากรทั้งหมด

การที่ไวรัสมีการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางนี้เนื่องจากลักษณะที่สำคัญของไวรัสชนิดนี้ที่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมที่กระจายอยู่ในอาร์เอ็นเอระหว่างไวรัสด้วยกันที่เอื้อให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีความสามารถแตกต่างจากเดิมและเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโปรตีนสำคัญที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ง่ายเมื่อลักษณะของโปรตีนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ทำให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกดังนั้นเมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปครั้งหนึ่งจึงมักมีการระบาดตามมาเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ควรรับวัคซีน ได้แก่ เด็กเล็ก คนชราแพทย์ และพยาบาลโดยต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกปีเนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมทำให้มีไวรัสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่และร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

2. ไข้หวัด (Common cold)

ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายๆไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ข้อแตกต่างก็คือไข้หวัดธรรมดามักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจามคันคอ เป็นอาการเด่น ไม่ค่อยมีอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ

ความสำคัญที่ต้องแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดานั้นไข้หวัดใหญ่มีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าและโดยทั่วไปอาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดาไข้หวัดธรรมดามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้น้อยมากแต่ไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้เช่นปอดบวมดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยแยกอาการไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดาได้ก็จะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ดีขึ้น

เชื้อหวัดเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจแบ่งเป็นกลุ่มไวรัสหลักๆ ประมาณ 9 ชนิด แต่ละชนิดยังแยกไปอีกนับสิบสายพันธุ์รวมกันแล้วจึงมีเกิน 100 ชนิดเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดอาการของโรคต่างกันไปขึ้นกับสายพันธ์และภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ เช่น ไรโนไวรัส ( Rhinovirus)อาจทำให้เกิดหวัดธรรมดา คันจมูกน้ำมูกไหล ไอ จามในผู้ใหญ่แต่เชื้อเดียวกันนี้อาจทำให้เป็นปอดอักเสบติดเชื้อ คือมีไข้ ไอหอบเหนื่อยและอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในเด็กเล็กๆ เป็นต้นไวรัสบางตัวก็ทำให้เป็นหวัดคัดจมูกธรรมดา อาจมีเจ็บคอ คออักเสบหรืออาจมีหลอดลมอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไอมากตลอดเวลาซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบด้วย ไวรัสบางชนิดเช่นเชื้อไข้หวัดใหญ่อินฟลูเอนซ่าไวรัสบี (Influenza virus) อาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเพลียลุกไม่ไหว หรืออาจมีแค่เจ็บคอมีน้ำมูกเฉยๆ ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุดโดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็กสำหรับผู้สูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัดเนื่องจากมีเชื้อไวรัสสาเหตุมีมากชนิดมีรายงานบางชิ้นระบุว่าวิตามินซีอาจช่วยป้องกันโรคหวัดได้ ในขณะที่ รายงานอีกหลายชิ้นระบุว่าวิตามินซีไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถทำได้คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงรับประทานอาหารที่มีคุณค่า เท่านี้ก็เพียงพอต่อการป้องกันไข้หวัด

3. โรคปอดบวม (Pneumonia)

โรคปอดบวมหมายถึงภาวะปอดซึ่งเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเชื้อไวรัส ซึ่งในสภาวะที่ผิดปกติอาจเกิดจากเชื้อรา และพยาธิ เมื่อเป็นปอดบวมจะมีหนองและสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และอาจถึงแก่ชีวิตได้

ปอดเป็นแหล่งที่ปราศจากเชื้อโรคอวัยวะที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจที่อยู่ต่ำกว่ากล่องเสียงจะเป็นที่ที่เราไม่พบเชื้อโรคอยู่เลยหากปอดบวมเกิดขึ้นได้ก็แปลว่าเราอาจสูดหายใจเอาไวรัสผ่านเข้าไปจนกระทั่งถึงเนื้อปอดหรือแบคทีเรียที่อยู่ในลำคอร่วงหล่นลงไปทำให้เกิดอาการอักเสบในเนื้อปอด ส่วนปอดบวมที่เกิดจากการที่แบคทีเรียพลัดหลงเข้าไปในกระแสเลือดแล้วลอยไปติดอยู่ในเนื้อปอดแล้วทำให้เกิดอาการอักเสบก็พบได้บ้าง แต่น้อยมาก

การที่บางคนไม่เป็นโรคปอดบวมก็เนื่องจากร่างกายของเราได้สร้างระบบป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ปอดไว้อย่างสลับซับซ้อน(ด่านกักและทำลายเชื้อโรค) ก่อนที่มันจะเข้าไปยังปอดเริ่มต้นด้วยประตูทางเข้าของทางเดินหายใจในจมูกมีขนเพื่อกรองเอาฝุ่นละอองเชื้อโรคไม่ให้พลัดหลงลงไปในทางเดินหายใจส่วนที่อยู่ลึกลงไป รอบ ๆคอของเรามีต่อมน้ำเหลืองเรียงกันเป็นวง ทำหน้าที่เป็นป้อมยามคอยดักเอาเชื้อโรคไม่ให้รุกล้ำเข้าไปต่อมกลุ่มนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือต่อมทอนซิล นอกจากนี้เรายังมีลิ้นปิดเปิดกล่องเสียงอันเป็นทางผ่านของทางเดินหายใจโดยอัตโนมัติหากว่าสิ่งแปลกปลอมยังหลงเข้าไปในหลอดลมได้อีก ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาไอเพื่อขย้อนเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ออกมานอกร่างกายทางเดินหายใจตั้งแต่ระดับใต้กล่องเสียงลงไปจนถึงหลอดลมขนาดเล็กยังบุด้วยเซลล์ที่มีขนกวัดไปตลอดระยะทางเซลล์พิเศษนี้มีหน้าที่พัดเอาสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กออกมา

นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาเรายังมีทหารที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะคอยกำจัดเชื้อโรคที่อาจจะพลัดหลงเข้าไปได้ สารจำพวกนี้เป็นโปรตีนในทางเดินหายใจส่วนบนเราจะพบ IgAอยู่หนาแน่นเป็นพิเศษ IgA มีหน้าที่ทำลายไวรัสที่จะพลัดหลงเข้าไปแล้วยังมี IgG ที่อยู่ในซีรั่มและอยู่ในทางเดินหายใจส่วนล่างทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อาจจะเข้าไปในเนื้อปอดทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเม็ดเลือดขาวบางตัวเมื่อพิจารณาจากระบบป้องกันของร่างกายทั้งหมดนี้แล้วจะเห็นได้ว่าโรคปอดบวมไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เลย ในคนที่ระบบป้องกันดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

4. โรคหัด (Measles)

โรคนี้เป็นโรคของเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 2 ถึง 12 ขวบ มักไม่พบในเด็กเล็กกว่า 8 เดือน เพราะมีภูมิคุ้มกันจากแม่ ติดต่อกันได้ง่ายมาก จากการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไปโรคหัดมักเกิดระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อนหากชุมชนมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด (herd immunity) สูงกว่าร้อยละ94 ก็อาจป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้

โรคหัด เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่ารูบีโอราไวรัส(rubeola virus) เป็นอาร์เอ็นเอไวรัสที่พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วยอาการของโรคหัดคล้ายคลึงกับอาการของหวัดธรรมดา คือ มีไข้ก่อนน้ำมูกไหลมักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางทราบเลยว่าเด็กเป็นหัดแล้วจนเมื่ออาการเพิ่มขึ้นมีไข้สูง ตาแดงก่ำและแฉะ เวลาโดนแสงจะแสบตา ระคายตา ทำตาหยีไอและมีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดงไปหมด นอกจากที่กล่าวมาแล้วเด็กอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3 –4 วันจึงเริ่มมีผื่นจากหลังหูลามไปยังหน้าและร่างกายผื่นจะมีขนาดโตขึ้นและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสังเกตจะพบว่าก่อนวันที่เด็กจะมีผื่นออกตามลำตัวจะมีตุ่มเล็กๆในปากตรงฟันกรามบน ซึ่งเป็นตุ่มเกิดขึ้นเฉพาะโรคหัดเท่านั้น พอผื่นออกได้ประมาณ 1-2 วัน เด็กก็จะมีอาการดีขึ้น

ปัจจุบัน โรคนี้มีวัคซีนป้องกันเป็นวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน และคางทูม ซึ่งเด็กทุกคนควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

5. โรคหัดเยอรมัน (Rubella)

แพทย์ชาวเยอรมันเป็นผู้อธิบายว่าโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ต่างจากหัดเป็นคนแรก จึงเรียกโรคนี้ว่า หัดเยอรมัน ส่วนในบ้านเรามีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าเหือด โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปมักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง

โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลาไวรัส (Rubella virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือ หายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด หรือหัดโดยมีระยะฟักตัวในร่างกาย 14-21 วัน

หัดเยอรมันเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด ลักษณะสำคัญคือ"ผื่น" ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นเม็ดละเอียดสีแดง มองเห็นเป็นปื้นๆหรือจุดๆ กระจัดกระจาย เริ่มต้นขึ้นที่ใบหน้าก่อนจากนั้นจะลุกลามแผ่กระจายลงมาตามหน้าอก ลำตัว แขนขาจนกระทั่งทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน 24ชั่วโมงเท่านั้น และจะหายไปภายใน 3 วันไร้ร่องรอยเหมือนไม่เคยมีมาก่อน ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งสังเกตพบได้ คือต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหูโตซึ่งมักเกิดขึ้นมาก่อนมีผื่นประมาณหนึ่งอาทิตย์ แต่จะคงอยู่ต่อไปอีกภายหลังผื่นหายไปแล้วประมาณ 2 อาทิตย์

ในสตรี อาจมีอาการปวดตามข้อเล็กๆร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นหลายๆ ข้อพร้อมกันระยะเวลาที่ปวดอาจจะเป็นวันจนถึง 2 สัปดาห์ แต่มักไม่เกินหนึ่งเดือน

อย่างไรก็ตามหัดเยอรมันจัดเป็นโรคอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดาหากไวรัสหัดเยอรมันเกิดขึ้นในมารดาขณะตั้งครรภ์ต่ำกว่า 3 เดือนแล้ว ทารกน้อยมีโอกาสพิการสูง และความพิการที่เกิดขึ้นรุนแรงทารกที่เกิดมาจะตาบอด, หูหนวก, หัวใจพิการและที่สำคัญคือ สมองพิการ ปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หากเด็กเหล่านี้คลอดออกมาแล้วไม่ตาย แต่ยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นภาระสำหรับบิดา-มารดาเป็นเวลานานนับสิบปี-ยี่สิบปี จากนั้นจึงจะเสียชีวิตไป

การป้องกันโรคนี้ถือว่าทำได้ง่ายเพียงแต่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันเท่านั้นและหากบังเอิญสตรีคนใดไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ในขณะตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องวิตกกังวลเพราะเท่าที่มีรายงานในโลกนี้ไม่มีทารกรายใดเลยที่พิการด้วยวัคซีนนี้

6. โรคไข้สุกใส (Chickenpox/Varicella)

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าวาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือ Humanherpesvirus type 3 เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัดติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นสุกใสหรืองูสวัดหรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก ระยะฟักตัวในร่างกาย 10-20 วัน

โรคสุกใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้างซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็กพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัดแต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี

อาการของโรคมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อนผู้ป่วยจะมีผื่นซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วัน หลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อนต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนองหลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อนแล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4วัน บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกายดังนั้นจึงพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใสบางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่าอีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส) และเปลี่ยนเป็นโรคสุกใสในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคสุกใสมีใช้แล้วแต่ราคาค่อนข้างแพง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นต้นอาจรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ได้

7. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (AcuteGastroenteritis)

โรคนี้เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและยืนยันถึงภัยอันตรายเนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของเด็กยังมีอัตราที่สูงโดยคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกปีละสามหมื่นถึงห้าหมื่นคนเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือโรตาไวรัส (Rotavirus)

มักพบในเด็กเชื้อโรคนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และมักมีอาการไข้ และอาเจียนบางรายที่เสียน้ำมากอาจช็อค และเสียชีวิตเป็นเชื้อต้นเหตุของลำไส้อักเสบรุนแรงในเด็กอ่อน และเด็กที่มีอายุ 1–3 ขวบ ช่วงที่โรตาไวรัสระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคม–กุมภาพันธ์ ของทุกปี เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายทางปาก และลงไปที่กระเพาะอาหารและแบ่งตัวที่ลำไส้ เด็กที่ติดเชื้อ นอกจากสูญเสียน้ำแล้วยังสูญเสียสารสำคัญที่ช่วยลำไส้ดูดซึมอาหาร

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการใดที่สามารถกำจัดการติดเชื้อหรือการติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพการล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาทำความสะอาด ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีระบบสุขอนามัยที่ดี มีระบบน้ำประปาที่สะอาด ก็ยังไม่สามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคตัวนี้ได้

ดร.รูธ บิชอปผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และยังเป็นผู้ค้นพบโรตาไวรัสเป็นครั้งแรกของโรคกล่าวว่า “โรตาไวรัส เป็นเชื้อที่เต็มไปด้วยปริศนาและยังไม่ทราบว่าทำไมบางคนได้รับเชื้อตัวนี้ แต่มีอาการไม่รุนแรง แต่บางคนมีอาการรุนแรงบางทีพันธุกรรมของมนุษย์ก็มีส่วน"

เมื่อเป็นโรคแพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง คือให้ยาตามอาการ เช่นให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้องยาแก้ไข้ และน้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียเกลือแร่จากการถ่ายและอาเจียนหากร่างกายมีภาวะเครียด แพทย์จะรักษาให้ความดันลดลง

ในปีพ.ศ.2541ผู้ผลิตยารายหนึ่งผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโรตาไวรัสสำเร็จหลังจากผ่านการทดสอบแล้วว่ามีผลป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงอนุมัติให้จำหน่ายในท้องตลาดได้แต่วัคซีนดังกล่าวต้องถูกถอนออกจากตลาด หลังจากพบว่าส่งผลให้เกิดอาการลำไส้กลืนกันแม้ว่าอัตราส่วนของเด็กที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจะมีน้อยมากก็ตาม



โรคที่มากับฤดูหนาว

ลมหนาวมาเยือน หลายคนชอบเดินตากอากาศ เพราะเย็นสบายดี แต่หารู้ไม่ว่าลมหนาวอาจจะนำพาโรคต่างๆ มาสู่ผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก

จึงขอเสนอความรู้เกี่ยวกับโรคที่มักมากับฤดูหนาวให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมพร้อมป้องกันให้ลูก โดย แพทย์หญิงปูชนิยะดา วิเชียรธรรมอายุรแพทย์ ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีหลีกเลี่ยงป้องกัน การรักษาและข้อมูล สาเหตุการเกิดโรคต่างๆ ที่มักพบในช่วงฤดูหนาว ดังนี้

ไข้หวัด..เด็กเล็กต้องระวัง

“ไข้หวัดเป็นโรคแรกที่หลายคนนึกถึงเป็นโรคที่เกิดได้ตลอดทั้งปี พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาวหรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียวและเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้นและเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ

...การติดต่อนั้นเชื้อไวรัสไข้หวัดที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ติดต่อโดยการไอ หรือหายใจรดกันหรือจากการสัมผัส เมื่อมีเชื้อหวัดติดที่มือแล้วไปสัมผัสผู้อื่นเชื้อหวัดก็จะติดคนๆ นั้นและเมื่อนำไปขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้

...อาการของโรคหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 3 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ อาการที่พบบ่อยคือไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นหวัด คัดจมูกน้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้นไอแห้งหรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว ถ้าไอมากอาจทำให้เจ็บบริเวณลิ้นปี่สำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกใสแต่สำหรับเด็กมักมีไข้สูงเฉียบพลัน นอกจากนี้อาจเกิดอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูกถ้ามีอาการเกิน 4วันอาจพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียวหรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว และอาจมีอาการอื่นตามมา

...โรคแทรกซ้อนของไข้หวัดเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลงทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสได้จึงทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบปอดอักเสบ สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้บางรายเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงอักเสบหรือวิงเวียนศีรษะเนื่องจากอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ภายในหูเกิดการอักเสบหรือที่เรียกว่าหวัดลงหู ซึ่งปกติจะหายได้เองภายใน 3 ถึง 5 วันโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดกับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำงานหนัก หรือขาดอาหาร

...เมื่อหายจากไข้หวัดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดนั้นแต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันตามช่วงเวลาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจึงมีข้อจำกัดดังนั้นเราจึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์อื่นได้อีกทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั่นเอง”

ไข้หวัดใหญ่..อันตรายถึงชีวิต

“ไข้หวัดใหญ่นั้นมีอาการรุนแรงกว่าและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไปซึ่งไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาหรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอและ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีมีความรุนแรงน้อยและเกิดการระบาดเฉพาะในวงจำกัด

...เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลกโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวกลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปีและกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่55 ปีขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษเพื่อให้ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าหนาวนี้ก็คือกลุ่มเด็กเล็กซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการรุนแรงจึงถึงขั้นเสียชีวิตได้

…เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักติดต่อทางลมหายใจ ไอ จามหรือหายใจรดกันในที่ที่มีคนอยู่แออัด เช่น โรงเรียน โรงงานนอกจากนี้เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อทางละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลายหรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วนำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้

..สำหรับระยะติดต่อผู้ใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่1 วันก่อนที่จะมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีก 3 ถึง 5วันหลังจากที่มีอาการแล้วในขณะที่เด็กที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วันสำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

..อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงและป่วยนานกว่าโรคไข้หวัดทั่วไปหลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 4 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการที่พบบ่อยคือไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมากและอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอถ้าป่วยอยู่นานอาจมีอาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์แต่รายที่มีโรคแทรกซ้อนเช่นโรคปอดอักเสบก็อาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

…การป้องกันโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่เริ่มต้นตั้งแต่ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเองโดยไม่จำเป็นดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักอนามัย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

…โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปโดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

“ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังมากเกินไป ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอด้วยการสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่นหลีกเลี่ยงการถูกฝนหรืออยู่ในที่อากาศเย็น และไม่ควรอาบน้ำเย็นอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี

...ควรดื่มน้ำมากๆและหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและช่วยลดไข้รวมถึงช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากไข้สูง ควรรับประทานอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวานน้ำส้ม น้ำผลไม้ ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

...เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆโดยเฉพาะเด็กเล็กเพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาอย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว สวมผ้าปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นล้างมือให้สะอาด กลั้วคอบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาด

...หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อยเช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่เพียงเท่านี้ท่านก็สามารถป้องกันตนเองและคนที่ท่านรักให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้แล้วค่ะ”


โรคไข้สุกใสสู่โรคงูสวัด

“นอกเหนือจากโรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัดโรคหัดเยอรมันแล้ว โรคสุกใสเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าหนาวนี้เช่นกันบางท่านอาจไม่คุ้นว่าโรคสุกใสคืออะไร แต่ถ้าพูดว่า อีสุกอีใสก็คงพอจะคุ้นหูกันมากกว่า สมัยก่อนโรคนี้ยังไม่มีทางป้องกันแต่ปัจจุบันมีวัคซีนช่วยป้องกันให้เราปลอดภัยจากโรคนี้ได้ เรามาทำความรู้จักโรคสุกใสกันนะคะ

...โรคอีสุกอีใสหรือไข้สุกใสส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงวัยหนุ่มสาวแต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่แล้วมักจะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็กโรคไข้สุกใสเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ วาริเซลลา หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ ไอจามรดกัน หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่นที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย

...เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาประมาณ10 ถึง 20 วันจึงจะเริ่มมีอาการ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหารมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อนต่อมาจึงเริ่มมีผื่นแดงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1วันหลังจากมีไข้จะเป็นผื่นแดงราบก่อนแล้วจึงเปลี่ยนกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสอยู่ภายในและมีอาการคันตุ่มน้ำใสนี้มักเริ่มขึ้นที่หนังศีรษะตามไรผมก่อน แล้วจึงลามไปที่ใบหน้า แผ่นหลังลำตัว แขนและขา ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนอาจมีตุ่มแผลขึ้นในช่องปากทำให้เจ็บคอ ลิ้นเปื่อย ปากเปื่อยอีกลักษณะที่สำคัญคือตุ่มนูนใสนี้มักจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกายดั้งนั้นจึงพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นขึ้นเป็นตุ่มนูนใส หรือบางที่เป็นตุ่มหนองหรือบางที่ผื่นสุกที่เริ่มตกสะเก็ด เป็นที่มาของชื่ออีสุกอีใส

...การรักษาและวิธีปฏิบัติตัวผู้ที่เป็นโรคไข้สุกใสส่วนมากจะหายเองได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อนโรคไข้สุกใสไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่นเช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอกินยาลดไข้เฉพาะพาราเซตามอลเท่านั้นห้ามกินยาลดไข้ชนิดแอสไพริน เนื่องจากทำให้ตับอักเสบรุนแรงได้

...ควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มคันสุกใสเพราะนอกจากจะกลายเป็นแผลเป็นที่รักษา ยากแล้วยังทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเล็บและผิวหนังจนเกิดโรคผิวหนังแทรกซ้อนได้นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆเช่นที่ปอดจนเกิดฝีในปอดได้ รับประทานอาหารได้ตามปกติทั้งเนื้อนมไข่ เพื่อให้ร่างกายเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรคแต่ควรลดอาหารรสจัดถ้ามีแผลในปาก

...โดยทั่วไปอาการไข้สุกใสจะค่อยๆทุเลาได้เองภายใน 1 ถึง 3 อาทิตย์ในระยะนี้ให้ระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบตับอักเสบ หรือ ติดเชื้อในสมอง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหู หรือไอ หายใจเหนื่อยเจ็บหน้าอก หรือ ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) หรือ ปวดศีรษะมาก ซึมลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

…การป้องกันควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใสโดยตรง ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่นผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม เป็นต้นควรทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆออกกำลังกายสม่ำเสมอ

…ปัจจุบัน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใสโดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ขวบ ปัจจุบันมีวัคซีนรวมของสุกใสและหัด หัดเยอรมัน คางทูมทำให้ถูกฉีดวัคซีนน้อยครั้งลง”


โรคปอดบวมจากการติดเชื้อ

“โรคปอดบวม มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่าโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคนิวโมเนีย เป็นโรคติดเชื้อที่ปอดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียนอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ เช่น เชื้อไมโคพลาสมา และเชื้อราเมื่อปอดติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอดและเกิดปฏิกิริยาจากการทำลายเชื้อโรค ทำให้เซลล์ปอดบวมใหญ่ขึ้น เป็นที่มาของคำว่า “ปอดบวม” นั่นเองเมื่อเชื้อโรคถูกทำลายแล้วจะทำให้เกิดหนองหรือของเหลวท่วมขังอยู่ภายในถุงลมปอดทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย

...โรคนี้พบบ่อยช่วงระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาวหรือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมีนาคม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4ปี รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปดังนั้นเด็กเล็กและผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

...วิธีการติดต่อ หนึ่งโดยการหายใจนำเชื้อโรคเข้าปอดโดยตรงจากการสูดหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อปนอยู่ในละอองฝอยขนาดเล็กโดยเฉพาะบริเวณที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ห้องเรียน โรงภาพยนตร์สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์ผู้อพยพ โรงแรม หอพัก กองทหาร เรือนจำโดยการสำลักเชื้อจากทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่นสำลักน้ำลาย อาหารหรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร ถ้าขณะนั้นร่างกายอ่อนแอหรือกำลังป่วยเป็นไข้หวัดคออักเสบ หรือกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกผู้มีโรคเรื้อรังเช่นร่วมด้วยก็จะทำให้ติดเชื้อโรคปอดอักเสบได้ง่าย

...สอง โดยทางกระแสเลือดซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่อวัยวะอื่นมาก่อนแล้วเชื้อนั้นกระจายไปตามกระแสเลือดแล้วมาที่ปอด ทำให้ปอดติดเชื้อในที่สุด สามการติดเชื้อที่ปอดอาจเกิดจากการลุกลามของเชื้อที่ฝังตัวอยู่ในอวัยวะใกล้กับปอดเช่น ฝีที่ตับแล้วเชื้อโรคนั้นแตกเข้าเนื้อปอดโดยตรง และสี่โดยการแพร่เชื้อจากมือจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนไปสัมผัสผู้อื่น

...ระยะติดต่อ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าเชื้อในเสมหะทั้งจากปากและจมูกจะมีปริมาณน้อยและเชื้อไม่ร้ายแรงพอที่จะทำให้เกิดโรคได้สำหรับเด็กที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ ก็สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อได้จึงต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน

...อาการโรคปอดบวม ไข้ ไอ หายใจเร็วหอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจแรงจนรูจมูกบาน หรือหายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋มและถ้าเกิดหลอดลมภายในปอดตีบ ก็ะอาจได้เกิดเสียงหายใจวี๊ดรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว และถ้าหายใจลำบากอยู่นานจะทำให้ขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย หรือซึมลงหรือหมดสติในที่สุด”

การรักษาและการป้องกันโรคปอดบวม

“การรักษาทั่วไป แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ แต่ถ้ารายที่หอบมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดรับประทานอาหารทางปากเพื่อป้องกันการสำลักควรให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอควรให้ยาขยายหลอดลมสำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ดพิจารณาให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปีเพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ผู้ป่วยไออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุดควรทำกายภาพทรวงอก เพื่อช่วยระบายเสมหะให้ถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้นให้การรักษาอื่นๆ ตามอาการ เช่น ยาลดไข้

...การรักษาเฉพาะ ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยทั่วไปไม่มียารักษาที่เฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการให้รักษาตามอาการรวมถึงการบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม เช่นการเคาะปอด การดูดเสมหะการฝึกไอให้มีประสิทธิภาพแต่สำหรับกรณีที่ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียารักษาเฉพาะเช่นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วยถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะให้เร็วที่สุดและเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิดโดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาคลินิกในการตัดสินใจเลือกยาปฏิชีวนะนั้น

...การป้องกันโรคปอดบวมควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำเด็กเล็กไปในสถานที่ดังกล่าว หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น ไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงไปอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยแนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

...สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีมีความปลอดภัยสูง และสามารถฉีดพร้อมกันได้ กรณีที่ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลให้ฉีดวัคซีนก่อนกลับบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อของทางเดินหายใจในครั้งต่อไป”

คำแนะนำเพิ่มเติม

“จากสถานการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมารวมถึงอากาศที่แปรปรวนและฤดูฝนที่ยาวนานส่งผลให้เราอาจมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิลดต่ำลง หรือมีหน้าหนาวยาวนานกว่าปกติควรดูแลสุขภาพเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเปียกชื้นสูงกว่าที่อื่นทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วัด โรงเรียนหากไม่ป้องกันให้ดีแล้ว อาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย”

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

โรคหน้าฝน ... (นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง)

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-06-2016&group=4&gblog=123

โรคหน้าหนาว ...นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=19-12-2017&group=4&gblog=134

โรคหน้าร้อน โรคลมแดด

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-04-2016&group=4&gblog=11

Create Date :19 ธันวาคม 2560 Last Update :21 ธันวาคม 2560 15:37:39 น. Counter : 2896 Pageviews. Comments :1