bloggang.com mainmenu search
 
เอดส์ ( AIDS )

AIDS เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส HIV (human immunodefficiency virus) ซึ่งจะทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงเนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้อ และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ จึงไม่ได้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ แต่จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อ

เนื่องจากไวรัสเอดส์ มิได้ทำให้เกิดโรคกับคนโดยตรง แต่จะทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องเสียหายไป อาการของผู้ป่วยเอดส์จึงไม่มีอาการเฉพาะ ที่จะบอกได้ว่าเป็นโรคเอดส์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อโรค ที่ฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคในผู้ป่วยเอดส์นั้นเป็นเชื้ออะไร ดังนั้นผู้ป่วยเอดส์จึงมีอาการได้มากมายหลายระบบ เช่น ไข้ ผื่นขึ้นตามตัว ปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง ผอมลงและน้ำหนักตัวลออย่างรวดเร็ว หรือมะเร็งบางชนิด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เมื่อใดก็ตามที่เราได้รับเชื้อไวรัส HIV เชื้อไวรัสตัวนี้ก็จะอยู่ในร่างกาย ของเราไปตลอดชีวิต ในปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบวิธีกำจัดเชื้อไวรัสและยังคงไม่สามารถรักษาคนไข้โรคเอดส์ให้หายขาดได้



อาการและอาการแสดง การติดเชื้อ HIV แบ่งได้เป็น 2 ระยะ

ระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อ ไวรัสเพิ่มจำนวนตรวจพบได้หลังติดเชื้อประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักจะยังไม่แสดงอาการของโรค แต่บางรายก็มีอาการไข้ อ่อนเพลีย หรือมีอาการทางประสาท

ระยะสอง เมื่อติดตามผู้ติดเชื้อประมาณ 5 ปี พบว่า แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่ไม่อาการ พบได้ร้อยละ 45 -70
ผู้ที่ติดเชื้อร้อยละ 25 จะแสดงอาการโรคเอดส์อย่างชัดเจนในเวลา 5 ปี

2. กลุ่มที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต

3. กลุ่มมีอาการสัมพันธ์กับโรคเอดส์ กลุ่มนี้จะมีอาการที่บ่งถึงการเพิ่มจำนวนของไวรัส และการติดเชื้อที่ระบบต่าง ๆ อาการที่พบเช่นไข้เรื้อรัง น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน อาจพบอาการท้องร่วงเรื้อรัง หรือมีผื่นคัน

4. กลุ่มที่มีอาการชัดเจนสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นเอดส์ ผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปเช่นเดียวกับกลุ่ม 3 แต่จะมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก แม้รักษาโรคเดิมหายก็มีโอกาสติดเชื้อใหม่หรือเป็นมะเร็งเกิดขึ้นอีก ผู้ป่วยเอดส์ร้อยละ 50 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ร้อยละ 75 เสียชีวิตภายใน 3 ปี และ เกือบทั้งหมดเสียชีวิตภายในเวลา 5 ปี

5. กลุ่มที่มีอาการทางประสาท



การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. ตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือ แอนติบอดี้ (Antibodies) ต่อเชื้อ HIV เป็นวิธีที่นิยมใช้โดยทั่วไป

หลังจากได้รับเชื้อไวรัส ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้) ต่อเชื้อไวรัสนั้น ซึ่งจะเริ่มตรวจพบแอนติบอดี้หลังการติดเชื้อ 3 สัปดาห์ จนถึง 3 เดือน ( โดยปกติร่างกายจะเริ่มสร้าง Antibody หลังจากได้รับเชื้อไปราว 2 สัปดาห์ ระยะ 2-6 สัปดาห์จึงไม่ใช่ระยะฟักตัวของเชื้อ แต่เป็นระยะนับตั้งแต่ได้รับเชื้อ จนถึงระยะที่เชื้อแบ่งตัวออกมาอย่างมากมายในเลือด และเกิดอาการคล้าย ๆ ไข้หวัด ที่เรียกว่า Acute HIV symptoms ถ้าจะเรียกจริง ๆ ต้องเรียกว่าเป็น Window period ซึ่งเป็นระยะที่อาจไม่สามารถตรวจได้ว่า ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้ว )

2. ตรวจหา ชิ้นส่วนของ HIVหรือ แอนติเจน (Antigen)

หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในเซลส์อย่างมาก จนกระทั่งมีปริมาณมากพอที่จะสามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบแอนติเจนได้

วิธีการตรวจซึ่งถือว่าเป็นการตรวจมาตรฐาน สำหรับ HIV คือวิธี ELISA ซึ่งให้ผลดีมาก มี Sensitivity มากกว่า 99.5% แต่ Specificity ไม่ดีนัก

ดังนั้นหากผล ELISA test เป็นบวกหรือไม่แน่ใจควรได้รับการยืนยันโดยวิธี WESTERN BLOT ซึ่งจะให้ผลที่เชื่อถือได้มากกว่า

หากไม่สามารถยืนยันได้โดย WESTERN BLOT ( ผลเป็น INDETERMINATE ) ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจต่อไปโดยวิธี POLYMERASE CHAIN REACTION (PCR) นอกจากนั้นควรตรวจซ้ำใหม่โดย WESTERN BLOT อีก 1 เดือนถัดไป

อย่างไรก็ตาม antibodies ต่อเชื้อ HIV จะตรวจพบได้ในกระแสเลือดหลัง ติดเชื้อแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ดังนั้นในรายที่สงสัยควรตรวจซ้ำหลังจากนั้น อีก 3 เดือน หาก ELISA test ครั้งแรกเป็นผลลบ

การตรวจ PCR แม้จะได้ผลเร็วกว่า Anti-HIV แต่ข้อด้อยของ PCR ก็คือ

1. การตรวจให้ผลบวก ต้องยืนยันซ้ำเสมอ เพราะการตรวจไวมาก อาจมีสิ่งที่เรียกว่า "ผลบวกลวง" ได้

การตรวจแม้จะทำให้ทราบผลได้เร็วกว่า เพราะ PCR จะตรวจพบ HIV antigen ก่อนที่ร่างกายจะสร้าง Antibody เพียงพอที่จะตรวจพบได้โดยการตรวจ Anti-HIV แต่ก็ทราบผลก่อนล่วงหน้าเพียง 2-5 สัปดาห์ ซึ่งระยะเวลาแค่นี้ไม่ได้มีความแตกต่างในแง่ของภูมิคุ้มกัน และการรักษาเลย

2. การตรวจ PCR ของ HIV ทำขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนที่ร่างกายจะสร้าง Anti-HIV จึงมีประโยชน์ในการตรวจผู้ที่จะบริจาคเลือด เพราะจะทำให้ทราบว่ามีเชื้อหรือไม่ก่อนที่ร่างกายจะสร้าง Anti-HIV เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปบริจาคเลือดหลังจากได้รับเชื้อ แต่ร่างกายยังไม่สร้าง Anti-HIV ( ช่วง 2-5 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ ) ถ้าธนาคารเลือดไม่ทราบแล้วนำไปให้ผู้ป่วยก็จะเป็นผลเสียร้ายแรง จุดประสงค์นี้ไม่ควรนำมาประยุกต์ใช้พร่ำเพรื่อเช่นการตรวจหาการติดเชื้อทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นการสิ้นเปลืองแรงงาน เงิน และไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ ในการรักษาด้วย การรู้ก่อน 2-3 สัปดาห์ ไม่ได้ทำให้การรักษาเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด



การติดต่อ

ไวรัสเอดส์ พบได้ในปริมาณสูงในเลือด, น้ำอสุจิ, น้ำหลั่งในช่องคลอด และน้ำหลั่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำไขสันหลัง, น้ำในช่องปอด, น้ำในช่องท้อง, น้ำในช่องเยื่อหัวใจ นอกจากนี้ไวรัสเอดส์ยังพบได้อีกแต่ ในปริมาณน้อยในสิ่งเหล่านี้ เช่น น้ำนม, น้ำมูก, น้ำตา, น้ำลาย, เสมหะ. เหงื่อ, อุจจาระและปัสสาวะ
ดังนั้นไวรัสติดต่อโดย

1. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัสเอดส์

2. การใช้เข็มหรือของมีคมอื่นใดร่วมกับผู้มีเชื้อไวรัสเอดส์ รวมทั้งการรับเลือดจากผู้มีเชื้อไวรัสเอดส์

3. ทารกติดเชื้อไวรัสเอดส์จากมารดาซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือระหว่างคลอด หรือดื่มนมมารดา ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือระหว่างคลอด หรือดื่มนมมารดาที่มีเชื้อไวรัสเอดส์



การป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอดส์

1. งดการสำส่อนทางเพศ

2. หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช้คู่ครองของตนเอง ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

3. สตรีติดเชื้อไวรัสเอดส์ ควรขอคำแนะนำก่อนการตั้งครรภ์

4. หลักเลี่ยงการรับเลือดโดยไม่จำเป็นหากมีความจำเป็น ต้องเป็นเลือดที่ผ่านการทดสอบว่าปราศจากเชื้อไวรัสเอดส์แล้วเท่านั้น และจะปลอดภัยยิ่งขึ้น หากได้รับเลือดจากผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติสำส่อนทางเพศ หรือติดยาเสพติด

5. หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกน รวมทั้งการฝังเข็ม และเจาะหู สักยันต์


แม้ว่าโรคเอดส์ จะเป็นโรคอันตรายร้ายแรง แต่เชื้อไวรัสเอดส์จะไม่ติดต่อจาก การรับประทานอาหารร่วมกัน การสัมผัส กอดรัด จับมือ นั่งใกล้ พูดคุยกับผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ หรือ การใช้ของใช้ที่ไม่มีคมร่วมกัน เช่น หวี เสื้อผ้า หรือการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม อีกทั้งเชื้อไวรัสเอดส์จะไม่ติด ต่อโดยผ่านแมลง เช่น ยุงหรือหมัด
ดังนั้นผู้ป่วยโรคเอดส์ จึงสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมอย่างปกติ



การรักษาโรคเอดส์ในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน ยาที่ใช้ยับยั้งไวรัสโรคเอดส์ (หรือ HIV) แบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มแรก จะเป็นสารประกอบ ที่มีรูปร่างคล้ายกับวัตถุดิบตามธรรมชาติที่ไวรัส HIV ใช้ในการสร้างสารพันธุกรรมเพื่อการเจริญเติบโต แต่สารประกอบดังกล่าว จะมีพิษต่อไวรัส เช่นยาAZT ( Zidovudine )

กลุ่มที่สอง จะขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์โปรตีเอส จึงมีชื่อเรียกกันอย่างกว้างๆว่า "protease inhibitor"

ปัจจุบันได้มีการใช้ยาสองประเภทนี้ ควบคู่กัน ในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะรุนแรง จากการทดลองในผู้ป่วยประมาณ 1,000 คน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา ทั้งสองประเภทพร้อม ๆ กัน จะมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา AZT เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม เอดส์ยังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด การให้ยาถือว่าเป็นเพียงการยืดเวลาให้กับผู้ป่วยเท่านั้น

ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะค้นพบ วิธีชะลอการดำเนินของโรคให้ช้าลง โดยยา anti-virus เช่น AZT และ DDI ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีวิธีใด ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถรักษาได้ผล 100% ดังนั้นในขณะนี้ การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ จึงมุ่งเน้นไปที่จะพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือ การติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น



คำแนะนำการดูแลตนเอง

1. หลีกเลี่ยงการเป็นกามโรค และระวังไม่ให้ได้รับเชื้อเพิ่มมากขึ้น

2. หลีกเลี่ยงการรับเชื้อไวรัส เชื้อราในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้เชื้อเอดส์ในร่างกายทวีจำนวนมากขึ้นและป่วยเร็วขึ้น เช่น
• ไม่อยู่ในที่อับทึบ แออัด
• ไม่เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดภายในบ้าน ใต้ถุนบ้าน ใกล้บ้าน
• ไม่เข้าไปทำความสะอาดสัตว์ เล้าหมู เป็ด ไก่
• ไม่ควรเข้าไปเยี่ยมคนป่วยในโรงพยาบาลหรือเข้าไปใกล้ผู้ป่วยโรคติดต่อ

3. รับประทานอาหารที่สะอาดและ มีประโยชน์ หมั่นกินอาหารโปรตีน โดยเฉพาะไข่ นม และผัก ผลไม้ทุกวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ดิบบางชนิด เช่น แหนมสด ลาบสด ลู่ ปลาร้า ไข่ลวก หากจะกินต้องทำให้สุกทุกครั้ง

4. งดการกินอาหารหมักดอง หรือใช้เครื่องปรุงที่ทำจากการหมักดอง เช่น ซอสต่าง ๆ ซีอิ้ว

5. งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้าเบียร์ งดยาเสพติด

6. หมั่นออกกำลังกาย คลายความเครียด ทำสมาธิ

7. หลีกเหลี่ยงการตั้งครรภ์

8. หมั่นรักษาสุขภาพในช่องปากและฟัน
• แปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ
• กลั้วคอ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
• ถ้ามีอาการของโรคเหงือกและฟันผุ ต้องรีบรักษา
• ตรวจสุขภาพฟันและช่องปากกับทันตแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

9. หลีกเหลี่ยงการใช้ยาที่กดภูมิต้านทาน ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาหม้อ ยาจีน ยาชุด ยาสมุนไพร

10. ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ด้วยการแต่งกายที่ปกปิดผิวหนังให้มิดชิด

11. ควรรับการตรวจสุขภาพทุกเดือน



หมายเหตุ ..

บทความนี้ ผมเก็บไว้นานแล้ว ข้อมูลต่าง ๆโดยเฉพาะ การรักษาก็เปลี่ยนไปพอสมควร ถือว่าเป็นแค่ความรู้เบื้องต้นเท่านั้นนะครับ ..


..............................................

เอดส์ ( AIDS)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=27

 

ข้อควรรู้ก่อนการตรวจโรคเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=26

 

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ ... ของแพทย์ ... แต่ ประชาชน ก็ควรรู้

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=09-09-2012&group=4&gblog=96

 

องค์กรที่ให้บริการปรึกษาและทำงานด้านเอดส์

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-03-2008&group=4&gblog=28



*******************************************


ปี 62 คนกรุงติดเชื้อเอชไอวี เกือบ 8 หมื่นคน -รายใหม่เกินครึ่ง อายุน้อยกว่า 25 ปี
เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 11:09 น.
เขียนโดย
Thaireform
329 Shares
Share
Tweet

ปี 62 กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบ 8 หมื่นคน รายใหม่ 1,190 คน ในจำนวนนี้ 52.8% อายุน้อยกว่า 25 ปี รองผู้ว่ากทม. เผยแผนเฝ้าระวัง พบผู้รับยาต้าน-กดไวรัสสำเร็จ ยังไม่บรรลุเป้า 90% ชูพัฒนาระบบ BSMS มาดูแล

HIV270862

วันที่ 27 ส.ค. 2562 กรุงเทพมหานคร จัดประชุมแนวทางการรายงานเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผ่านระบบ Bangkok Smart Monitoring System:BSMS รุ่นที่ 1 ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ได้ลงนามปฏิญญาเพื่อยุติปัญหาเอดส์ Fast-Track Citis 90-90-90 ในวันเอดส์โลก 1 ธ.ค. 2557 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานภายในปี 2563

การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย 90% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทราบว่า ตนเองติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันทำได้ 92% ส่วน 90% ที่สอง คือ 90% ของผู้ทราบว่าตนเองติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัส ปัจจุบันทำได้ 78% และ 90% ที่สาม คือ 90% ของผู้ได้รับยาต้านไวรัสสามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ปัจจุบันทำได้ 76%

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินงานดังกล่าว พบช่องว่างในการดำเนินงานที่สำคัญ ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 90% ที่สอง และ 90% ที่สาม ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพฯ ในเวลานี้ ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายเพื่อยุติเอดส์ได้ ระบบรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ระบบรายงานการติดตามข้อมูล จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการสนองตอบต่อการดำเนินงาน

ด้วยเหตุนี้กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย จึงได้พัฒนาระบบการรายงานเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผ่านระบบ Bangkok Smart Monitoring System:BSMS โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการรายงาน เพื่อลดภาระงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีประชากรในพื้นที่ 5,676,648 คน เป็นเพศชาย 2,679,453 คน เพศหญิง 2,997,195 คน โดยในปี 2562 คาดการณ์ว่า จากจำนวนประชากรในพื้นที่ทั้งหมด มีกลุ่มประชากรเข้าถึงยากและเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ากลุ่มประชากรอื่น ได้แก่ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย 78,045 คน (กลุ่มเสี่ยงสูง 43,879 คน กลุ่มเสี่ยงต่ำ 34,166 คน ) ชายขายบริการทางเพศ 6,404 คน กลุ่มสาวประเภทสอง 32,380 คน พนักงานบริการทางเพศหญิง 21,778 คน ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 3,189 คน

นอกจากนี้กรงุเทพฯ ยังคาดประมาณว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2562 จำนวน 77,558 คน เป็นรายใหม่ 1,190 คน ในจำนวนรายใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี 628 คน (52.8%) และมีผู้เสียชีวิตภายในปี 2562 จำนวน 1,877 คน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุในปี 2561 มีผู้ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่ 70,747 คน ได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ 55,123 คน และมีผลตรวจพบว่า ปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อยกว่า 1,000 copies/mL 41,893 คน

ส่วนการเฝ้าระวังความชุกการติดเชื้อเอชไอวี พื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบว่า กลุ่มพนักงานบริการทางเพศหญิงในสถานบริการ ติดเชื้อเอชไอวี 0.2% กลุ่มชายตรวจรักษากามโรค 6% กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 16.6% กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตัวแทนของกลุ่มประชากรทั่วไป 0.8% .

ภาพประกอบ:เว็บไซต์ M Thai

# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/

Create Date :26 มีนาคม 2551 Last Update :5 กุมภาพันธ์ 2563 15:25:13 น. Counter : Pageviews. Comments :4