'คมนาคม' เตรียมย้าย'หมอชิต' ไปรังสิต ภายในปีนี้ รมว.คมนาคม ประกาศชัดเจน เตรียมย้ายสถานีขนส่งหมอชิตไปไว้ที่รังสิตภายในปีนี้ หลัง ร.ฟ.ท. ทวงพื้นที่คืนสร้างระบบศูนย์ขนส่งรถไฟ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความชัดเจนเรื่องการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตแล้ว โดยจะย้ายออกจากพื้นที่เดิมบริเวณถนนกำแพงเพชร ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เช่าพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากไม่สามารถขยายพื้นที่เพิ่มได้ อีกทั้งร.ฟ.ท. มีแผนพัฒนาศูนย์ขนส่ง ซึ่งจะใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นจุดจอดพักขบวนรถไฟ และเป็นศูนย์รวมของระบบโลจิสติกส์ด้วย โดยหลังจากช่วงวันหยุดสงกรานต์ จะเรียกคณะกรรมการบขส. และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือ พร้อมทั้งกำหนดแผนดำเนินงานที่ชัดเจนเรื่องการหาพื้นที่สร้างสถานีแห่งใหม่
"คงต้องหาพื้นที่แห่งใหม่แทนสถานีขนส่งหมอชิตเดิม ซึ่งมีผลศึกษาเสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณรังสิต หรือบริเวณฟิวเจอร์ปาร์ค ขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ตามหลักการจะเน้นให้อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ส่วนที่ดินนั้น จะให้บขส. ซื้อเอง หรือร่วมทุนกับเอกชน โดยจะพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ขณะนี้จะเร่งจัดทำแผนการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตให้เป็นรูปธรรมชัดเจนภายในปีนี้ เพราะร.ฟ.ท.มีแผนใช้พื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นบขส.ต้องเตรียมวางแผนล่วงหน้า เพื่อหาพื้นที่และก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ รวมทั้งต้องหาข้อสรุปว่าจะยังคงใช้พื้นที่เดิมบางส่วน เป็นที่ตั้งสำนักงานหรือจุดพักรถบางส่วนหรือไม่ หรือจะย้ายออกไปทั้งหมด"
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เบื้องต้นได้หารือนายวุฒิชาติกัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. แล้วว่าจะต้องหาพื้นที่แห่งใหม่สำหรับก่อสร้างสถานี สิ่งสำคัญจะต้องเข้าใจว่า กลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่ใช้บริการ บขส.และรถไฟเป็นกลุ่มเดียวกัน หากระยะต่อไป ร.ฟ.ท. ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพบริการที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น เพราะมีทางคู่ทั่วประเทศ จะทำให้ บขส.ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะการเดินทางโดยรถไฟราคาถูกกว่าและสะดวกกว่า ดังนั้นเรื่องนี้ต้องมองในภาพรวม ส่วนที่ตั้งสถานีขนส่งแห่งใหม่จะต้องอยู่ในแนวรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชนด้วย
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เรื่องการใช้พื้นที่บริเวณถนนกำแพงเพชรที่ตั้งของสถานีขนส่งหมอชิตว่า มีปัญหาเรื่องความแออัด และมีข้อจำกัดไม่สามารถขยายพื้นที่เพิ่ม เติมได้อีก จึงจำเป็นที่จะต้องหาพื้นที่ก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ ขั้นตอนจากนี้ ต้องรอความชัดเจนระดับนโยบาย เพื่อจะเดินหน้าต่อได้ และแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีผลศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือบริเวณรังสิต แต่ต้องพิจารณาว่ามีพื้นที่ที่สะดวกเรื่องการคมนาคมขนส่งด้วย สำหรับแนวทางที่เป็นไปได้อาจเหลือไว้บางส่วน เช่น บางเส้นทาง ซึ่งจะใช้พื้นที่น้อยลง ส่วนรายละเอียดต่างๆต้องหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติในที่สุดก่อน
source : Dailynews voicetv.co.th |
บทความทั้งหมด
|