นับถอยหลังรอวันสูญของบาตรบุแห่งชุมชนบ้านบาตร ![]() "ใกล้เกลือกินด่าง" เป็นสำนวนที่ผมนึกถึงขึ้นมาทันทีหลังจากที่ได้เข้าไปเดินถ่ายรูปในชุมชนบ้านบาตรซึ่งเป็นชุมชนเก่าที่ยังคงสืบทอดวิชาชีพการทำบาตรพระด้วยมือที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศ ... และถ้าคิดให้ไกลไปอีก ก็คงจะเหลือแห่งเดียวในโลก ที่ว่าใกล้เกลือกินด่างเพราะตัวผมเองเป็นคนกรุงเทพฯ ได้ยินชื่อบ้านบาตรมาตั้งนานแต่ไม่เคยรับรู้ถึงความหมายและความเป็นไปของชุมชนที่อยู่คู่มากับพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาที่ผมนับถือมาตั้งแต่เกิดเลยแม้แต่น้อย ![]() ชุมชนบ้านบาตรตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเมรุปูน ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง และถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดกรุงเทพมหานคร แล้วคนในชุมชนนี้เล่า เป็นใครมาจากไหน ถึงได้มาทำบาตรพระอยู่ที่นี่ แนวความคิดในเรื่องบรรพบุรุษและการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านบาตร มีแตกต่างกันออกไป ซึ่งยังไม่มีใครกล้าที่จะระบุได้อย่างชัดเจนนัก บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่เสียกรุงให้กับพม่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงโปรดฯให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีและขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ.2326 ชาวบ้านบาตรรุ่นแรกจึงได้พร้อมกันมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณนี้ แนวคิดนี้มีพื้นฐานมาจากข้อความในพงศาวดารฉบับหนึ่ง ที่กล่าวถึงตลาดค้าบาตร ถลกบาตร ที่อยู่หน้าวัดพระมหาธาตุกลางกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชุมชนทำบาตรพระในกรุงเทพฯ และกรุงศรีอยุธยาอาจมีความเกี่ยวเนื่องกันบางประการก็เป็นได้ อีกแนวความคิดหนึ่งก็เชื่อว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ชาวเขมรที่เชี่ยวชาญการทำบาตรพระได้ถูกกวาดต้อนเข้ามา และโปรดเกล้าฯ ให้มาอยู่ตรอกเขมรและบ้านบาตร ![]() ป้ากฤษณา แสงไชย จากการได้พูดคุยกับป้ากฤษณา แสงไชย เจ้าของร้านหัตถกรรมไทยโบราณ ซึ่งคุณป้าเองก็เป็นช่างทำบาตรที่สืบทอดวิชาการทำบาตรมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เล่าว่าตระกูลของป้าเป็นคนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา และไม่เคยได้รับการบอกเล่าว่ามีเชื้อสายเขมรมาแต่อย่างใด ในการรับรู้ของป้ากฤษณา คุณป้าเล่าว่า เดี๋ยวนี้การทำบาตรของชุมชนที่นี่เปลี่ยนไปเยอะมาก เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการทำบาตรเชิงอุตสาหกรรมที่ได้ปริมาณมากและต้นต่ำที่เรียกว่า "บาตรปั๊ม" ที่หาซื้อกันได้ในราคา 100 กว่าบาท เข้ามาตีตลาด "บาตรบุ" ของชุมชนที่มีราคาเริ่มต้นถึง 800 บาท ทำให้ช่างทำบาตรรวมทั้งคนรุ่นหลังหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ กันหมด หลงเหลือช่างทำบาตรจริงๆ ไม่ถึง 20 คน ![]() ลุงสมบัติ บัพชาติ ผู้คว้ารางวัลสินค้า OTOP ประจำเขต เมื่อสมัยก่อนประมาณ 30-40 ปี ถ้าใครมาที่ชุมชนบ้านบาตร จะได้ยินเสียงค้อนตีบาตรดังทั่วทั้งชุมชน ช่างแต่ละบ้าน แต่ละคนจะมีแบ่งหน้าที่ต่างกันไป เช่น บ้านนี้ตีขอบบาตร บ้านนี้ขึ้นรูปบาตร บ้านนี้แล่นบาตร บ้านนี้ลายบาตร เป็นขั้นตอนเรียงลำดับกันไป วันหนึ่งๆ สามารถผลิตออกไปขายได้ 20-30 ใบ ซึ่งผมว่า 20-30 ใบที่ว่านี้นับว่าเยอะมากนะ เพราะขั้นตอนการทำบาตรทั้ง 21 ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความชำนาญ ความอดทนอย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีจำนวนช่างน้อยลง บาตรใบหนึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึง 1-2 อาทิตย์ ป้ากฤษณาเล่าว่าเมื่อก่อนเหล็กที่นำมาใช้ตีบาตรจะใช้เหล็กที่ได้จากถังยางมะตอยที่มีคนเอามาขายให้ ช่างก็จะเอามาตัดให้เป็นแผ่นแล้วใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเท้าช้างตีให้เป็นแผ่นเรียบๆ ซึ่งเหล็กถังยางมะตอยจะไม่หนามาก นำมาตีบาตรได้ง่าย แต่ในปัจจุบันเหล็กที่นำมาใช้จะไปหาซื้อมาจากร้านแถวๆ วัดดวงแขย่านหัวลำโพง ซึ่งจะเลือกเหล็กที่มีความหนามากกว่าถังยางมะตอย ทำให้ได้บาตรที่มีความคงทน เคาะแล้วมีเสียงดังกังวานซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบาตรบุที่ไม่เหมือนกับบาตรปั๊ม ![]() ลุงอำพร ทะนานทอง ช่างตีบาตรที่ทำบาตรมามากกว่า 50 ปี จากสถานการณ์ความต้องการบาตรบุในปัจจุบันที่ลดน้อยลงด้วยเหตุผลของต้นทุน ประกอบกับค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มทุนของช่างทำให้ดูเหมือนว่าอาชีพการทำบาตรบุจะถูกนับถอยหลังใกล้เลขศูนย์เข้าไปทุกขณะ ทางออกที่ดูยังไม่หรูหรามากนักก็คือการดัดแปลงวิชาชีพของตนเองทำบาตรขนาดเล็กๆ มาเป็นสินค้า OTOP เพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชม ซึ่งสนนราคาก็อยู่ที่ประมาณ 500 - 600 บาตรต่อใบ ซึ่งบาตรพระขนาดเล็กๆ นี้คุณลุงสมศักดิ์ บัพชาติ ช่างตีบาตรในชุมชนก็เคยไปเอารางวัลชนะการประกวดสินค้า OTOP 4 ดาว ระดับเขตมาได้ ![]() ศาลพ่อปู่ครู ครูของช่างทำบาตรทุกคน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าปัจจัยภายนอกที่มีส่วนทำให้การทำบาตรบุที่ชุมชนบ้านบาตรถูกให้ความสำคัญลดน้อยลง ความขัดแย้งกันภายในชุมชน จากเดิมที่เคยเป็นชุมชนมีความสามัคคีทำงานกันเป็นระบบขั้นตอน ช่างฝีมือทุกคนมีรายได้กระจายกันทั่วถึง เมื่อมีอิทธิพลของบาตรปั๊มเข้ามา เป็นผลให้ช่างทำบาตรหันไปประกอบอาชีพอื่น ช่างที่เหลือหาทางออกด้วยการทำบาตรเป็นสินค้าที่ระลึก OTOP เกิดการแย่งงานและการขายตัดราคากัน จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ขาดความสามัคคี ปัจจัยนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อวิชาชีพ และยิ่งเป็นสิ่งท้าทายความสามารถของผู้นำชุมชนที่จะเข้ามาพัฒนาความรู้และวิชาชีพในระยะยาวต่อไป ![]() ผมเดินออกมาจากชุมชนบ้านบาตรด้วยความรู้สึกหลายๆ อย่างที่ปะปนกันอยู่ในหัวสมอง มีทั้งรู้สึกปลื้มกับความรักในวิชาชีพของคนที่นี่ รู้สึกดีถึงน้ำใจและรอยยิ้มของช่างทุกๆ คนที่ให้การต้อนรับ รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นเพราะรับความรู้ต่างๆ นานาและได้รับรู้ถึงความรู้สึกจากคนที่นี่ และรู้สึกเสียดายถ้าหากว่าการนับถอยหลังของชุมชนบ้านบาตรจะไปถึงเลขศูนย์จริงๆ ![]() แวะไปชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ อัลบั้มบ้านบาตร นะครับ จะหาโอกาศไปครับ
จะไปถ่ายภาพแล้วเอาเรื่องราวของเค้ามาเผยแพร่กับสื่อด้วย โดย: aodbu
![]() |
บทความทั้งหมด
|
ขอบคุณสำหรับที่ไปเม้นท์ happy birthday ที่บ้านผมครับ