การวินิจฉัยและการรักษา/ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ/ร.พ.คุณภาพ/การดูแลรูปเครือข่าย


เรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดโดย

น.พ.สำเริง ไตรติลานันท์

พ.บ.อว.เวชศาสตร์ป้องกัน และ อว.เวชศาสตร์ครอบครัว

นายแพทย์ เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานเวชปฏิบัติชุมชน ร.พ.พนมสารคาม

และ แพทย์ ประจำ ร.พ.สร้างเสริมสุขภาพตำบล เขาหินซ้อน

ร.พ.พนมสารคาม ได้เป็นร.พ.คุณภาพ และ ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ แล้ว

อีเมลล์แอดเดรส : tsumruang@hotmail.com

.....................................................................



"วินิจฉัยโรค และ ดูแลรักษา"

1.วินิจฉัยโรคได้อย่างไร นำความรู้มาจาก

บทที่1.การตั้งสมมติฐานเพื่อวินิจฉัย Hypothesis Testing Approach : HTA ใน

หนังสือ "อายุรศาสตร์ฉุกเฉิน" ของ ร.พ.ศิริราช

เป็นวิธีการที่ทำให้รู้ว่าคนไข้ที่มาหาป่วยเป็นอะไร ได้เร็ว และ ถูกต้อง ในภาวะฉุกเฉินนี้ ถ้าวินิจฉัยได้ช้า คนไข้ฉุกเฉิน อาจจะพิการ หรือ เสียชีวิตไปก่อน

เช่นเดียวกันกับภาวะฉุกเฉิน ในภาวะปัจจุบันที่ให้คนไข้ ทั้งอำเภอ มุ่งมาพบแพทย์ที่ ร.พ.อำเภอ เนื่องจากมียา บ้างตัวที่ต้องจ่ายโดยแพทย์ พยาบาลเวชปฏิบัติจ่ายไม่ได้ คนไข้ที่ต้องใช้ยา ที่ต้องสั่งโดยแพทย์ จึงต้องมา พบแพทย์ ที่ ร.พ.จำนวนมาก

ดังนั้น สถานีอนามัยเดิม ที่ไม่มีแพทย์รับผิดชอบ เมื่อพัฒนาเป็น ร.พ.ส.ต.จะต้องมีแพทย์จาก ร.พ.อำเภอนั้นมารับผิดชอบประจำ

ยาทุกตัว ที่ ร.พ.อำเภอมี ร.พ.ส.ต.ก็จะสามารถนำมาใช้ได้ ภายใต้การกำกับดูแลจากแพทย์ผู้รับผิดชอบ จึงทำให้ประชาชนสามารถรับยาเดิม ที่เคยรับ ที่ ร.พ.อำเภอสามารถรับได้ที่ ร.พ.ส.ต. ทำให้ ร.พ.อำเภอ คนไข้ลดลง จากมีประชาชนที่ลำบากในการมารับ จะได้รับที่ ร.พ.ส.ต.ใกล้บ้าน ได้

การใช้วิธีวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ในภาวะฉุกเฉินนี้ ถ้านำมาใช้ในการตรวจคนไข้ที่ ร.พ.อำเภอ จะทำให้คนไข้ได้รับการวินิจฉัย เร็ว ทำให้คนไข้ไม่ต้องรอรับบริการนาน จึงได้ประโยชน์มาก เช่นเดียวกัน

การหาคำวินิจฉัยโรค มีหลักการสำคัญที่จะต้องได้ข้อมูลมาจาก 3 แหล่ง คือ

1.ซักประวัติ

2.ตรวจร่างกาย และ

3.ตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1.การซักประวัติ

1.1 เมื่อคนไข้มาหา

สิ่งแรก จะต้องถาม คือ อาการไม่สบายเป็นอย่างไร (Chief complaint=cc.)อาจมีอาการเดียว หรือ มากกว่าได้ โดยทุกอาการ ต้องมีระยะเวลาด้วย เพราะ จะช่วยการวินิจฉัยได้ จากการรู้ว่าเป็นเฉียบพลัน หรือ เรื้อรัง จะแยกว่าเป็นโรคอะไรได้คร่าว ๆ

เมื่อได้อาการนำนี้ แล้วนำมาตั้งสมมติฐานว่า จะนึกถึงโรคอะไรได้บ้าง

1.2. เมื่อนึกถึงโรคอะไรได้แล้วตามการตั้งสมมติฐาน ข้อ 1.1 ให้นำอาการของโรคที่คิดถึง พร้อมกับ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค นั้น มาซักถามคนไข้ว่ามีหรือไม่

1.3. เมื่อได้รับคำตอบจากคนไข้ มีคำตอบเหมือน โรคใดมากที่สุดก็น่าจะเป็นโรคนั้น

หมายเหตุ:การซักประวัติ ต้องอย่าลืมถามประวัติการแพ้ยา และ โรคประจำตัว ด้วย เพื่อเมื่อให้การรักษา จะได้ไม่มีอันตรายต่อคนไข้

2.การตรวจร่างกายโดยค้นหา สิ่งที่จะตรวจพบของโรคที่ตั้งสมมติฐาน เช่น

นึกถึงโรคตับอักเสบ ก็มองหาว่าตาเหลือง ตัวเหลือง และ ปัสสาวะเหลือง หรือไม่ เป็นต้น

3.ค้นหาการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่จะช่วยสนับสนุน หรือ คัดค้าน โรคตามที่ตั้งสมมติฐาน เช่น สงสัยมาเลเรีย ก็ส่งตรวจเลือดหาเชื้อมาเลเรียในเลือด เป็นต้น

ถ้าทั้ง 3 ข้อมูล เข้า กับโรคใดมากที่สุดก็น่าจะเป็นโรคนั้นนั่นเอง

ในประเทศอเมริกา มี

เวบไซด์บอกเกี่ยวกับอาการ และ อาการแสดง ผลทางห้องปฏิบัติการ ของโรคแต่ละโรค ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบว่า ตนเอง มีอาการ และ อาการแสดงเหมือน โรคใดมากที่สุด ก็สามารถพอรู้ได้ว่า น่าจะป่วยเป็นอะไร และ ควรไปพบแพทย์ประจำตัว หรือ แพทย์ประจำครอบครัว เพื่อรับการรักษาได้ เวบไซด์นั้น คือ เวบ Medlineplus ที่

//www.nlm.nih.gov/medlineplus/encyclopedia.html

หมายเหตุ:

การวินิจฉัยโรค จากการศึกษาวิจัย พบว่า

ซักประวัติอย่างเดียว พูดคุยกัน จะสามารถให้คำวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอะไรได้ถึง 8 คน ใน 10 คน และ

เมื่อตรวจร่างกาย เพิ่มต่อจากซักประวัติ เหมือนโรคอะไร แล้ว ตรวจร่างกายค้นหา เพิ่มจากการพูดคุย จะรู้ว่าป่วยเป็นอะไรได้ เพิ่มอีก 1ใน 10 คน

รวมสรุปได้ว่า ซักประวัติ และ ตรวจร่างกาย โดยไม่ใช้แล็ป เลย หรือ เรียก ว่าการวินิจฉัยข้างเตียง(Bedside Diagnosis) สามารถวินิจฉัยได้ถึง 8+1 = 9 ใน 10 คน หรือ ส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องทำแล็ปเพิ่ม

ดังนั้นการที่แพทย์ออกตรวจ นอก ร.พ. ที่สถานีอนามัย หรือ ร.พ.ส.ต.ในอนาคต จึงสามารถวินิจฉัย หรือ รู้ว่า คนไข้ป่วยเป็นอะไรได้เกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แพทย์สามารถให้การรักษาได้ทั้งหมด

ถึงแม้ไม่รู้ คำวินิจฉัย ก็สามารถให้การรักษาได้ถ้าคิดว่าไม่อันตรายถ้าวินิจฉัยได้ช้า ก็ให้การรักษา ตามอาการ และ นัดตรวจซ้ำ หรือ

ถ้าคิดว่าอันตราย ก็จะเขียนใบส่งต่อไปให้ ร.พ.จังหวัด ด่านสอง หรือ ร.พ.ศูนย์ ด่านสาม ที่มีความสามารถสูงกว่า ตามความเหมาะสมเพื่อให้ได้คำวินิจฉัย

ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดูแลสุขภาพรูปเครือข่าย นั่นเอง เมื่อเข้าสู่ตามระบบจะใช้สิทธิรักษาฟรี โดยรัฐได้ ซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่รักษาที่ใกล้บ้านไม่ได้

2.การดูแลรักษา(Treatment)ต้องแยกว่าป่วยหนักหรือไม่เพื่อ

1..ให้นอนรักษาตัวในร.พ.เมื่อดูว่าคนไข้ป่วยหนัก

2..ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก เมื่อดูว่าไม่หนักมาก นัดมาตรวจซ้ำถ้าไม่ดีขึ้นโดยให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ถ้าไม่ดีขึ้นต้องรีบกลับมาตรวจซ้ำที่เดิมได้เพื่อให้การวินิจฉัยเพิ่มได้

แนวทางการดูแล ไม่ว่าให้นอน ร.พ. หรือ ให้กลับบ้านจะประกอบด้วย

1. Supportive Treatment : รักษาปฐมพยาบาล ให้รอดปลอดภัย ก่อน เรื่องหาคำวินิจฉัยต้องรอเมื่อปลอดภัยแล้ว เช่น
ถ้ามาด้วย ช็อค ความดันวัดไม่ได้ต้องรีบช่วยชีวิตคนไข้ก่อน โดย ให้น้ำเกลือ เพื่อ รักษาความดันให้ผ่านพ้นการช็อค เป็นต้น

2. Specific Treatment : รักษาเฉพาะสำหรับโรคนั้นๆ มีแนวทางที่กำหนดการรักษา(Guideline Treatment)เป็นมาตรฐานการรักษาแน่นอน ที่แพทย์ทุกคนจะต้องรักษาไปแนวทางนี้ ซึ่งจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น แนวทางรักษา ไข้มาเลเรีย คือ การให้ยาฆ่าเชื้อมาเลเรีย ที่เหมาะสม เป็นต้น

3. Symptomatic Treatment : รักษาตามอาการที่คนไข้ไม่สบาย เช่น นอนไม่หลับ ก็ให้ยาช่วยให้หลับพักผ่อน เป็นต้น

4. Palliative Treatment : ในรายที่ป่วยเป็นโรคที่ทราบแล้วว่ารักษาไม่ได้ ต้องเสียชิวิต ให้การรักษาให้ไม่ทุกข์ทรมาน และ มีความสุข ก่อน ที่จะต้องเสียชีวิต ให้ตายอย่างมีความสุข สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

การดูแลคนป่วย ที่มุ่งให้ยารักษาอย่างเดียว ค่าดูแล จะเพิ่มขึ้น ทุกปี ปีละ 20% ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ประเทศเสียงบประมาณไปอย่างน่าเสียดาย จึงต้องมีการพัฒนา ปฏิรูประบบสุขภาพใหม่ เป็น

2.ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Hospital:HPH)

หมายถึง ร.พ.ที่ให้ความรู้คนไข้ ด้วยนอกจากให้ยาอย่างเดียวเหมือนแต่เก่า แต่เปลี่ยนเป็นมุ่งดูแลแบบองค์รวม คือ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาเมื่อเริ่มป่วย และ ฟื้นฟูให้หายป่วยโดยเร็ว ด้วยการให้ความรู้ในหัวข้อ ต่อไปนี้ ได้แก่

1.บอกว่าเขาป่วยเป็นอะไรตามภาษาชาวบ้านเข้าใจได้

2.บอกเขาว่าที่เขาป่วยเพราะเขาไปทำอะไรมาที่ผิดจากการมีสุขภาพดีจึงป่วยให้เขาทราบเพื่อจะได้ไม่ไปทำอย่างเดิมอีก เป็นภาษาชาวบ้าน เช่น มาด้วยปวดหลัง เมื่อถามแล้วพบว่า เกิดจากการก้มหลังยกของที่พื้นเป็นประจำ ต้องบอกเขาว่าสาเหตุปวดหลัง เกิดจากสาเหตุข้างต้น ให้ยกของที่พื้นให้ถูกต้อง

3.บอกว่าเราให้ยาอะไรบ้าง และ ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อป่วยอยู่

4.บอกว่าถ้าทานยาและปฏิบัติตัวดีแล้วไม่หายให้มาดูใหม่ ที่เดิมโดยควรถือยาเก่ามาให้ดูด้วย เพื่อ

จะได้สื่อสารกับคนไข้ง่าย เวลาพูดถึงยาตัวใด จะได้ชี้ที่ซองยา และ ทำให้ทราบว่าคนไข้ทานยาตามที่เราจัดให้หรือไม่ และ ถ้าต้องให้นอนรักษาตัวใน ร.พ. จะได้ใช้ยาเดิมต่อไป ไม่ต้องเบิกยาใหม่ หรือ ต้องเสียเวลากลับไปเอายาเก่ามา เป็นการใช้ยาอย่างคุ้มค่า

การกลับมารักษาที่เดิม เพื่อเป็นการดูแลอย่างต่อเนื่องกับแพทย์ประจำครอบครัว ดีกว่า ไปหา แพทย์ท่านอื่น ซึ่งไม่รู้ประวัติการรักษา ต้องเริ่มรักษาและ ยังใช้สิทธิรักษาฟรี ไม่ได้ด้วย

ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ ด้วยการให้ความรู้ คนไข้ จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ไม่ป่วยด้วยโรคเดิมอีก ยังมีประโยชน์ เมื่อคนไข้ไม่ป่วยบ่อย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะได้ใช้เวลาไปทำด้าน ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และ ฟื้นฟูสุขภาพ ได้มากขึ้น

ร.พ.ที่จะได้รับใบรับรองว่า เป็น

ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ จะต้องปฏิบัติตาม แนวทางการพัฒนาและรับรองการเป็น ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ ของกรมอนามัย

ตัวชี้วัดที่จะบอกว่า ร.พ.ได้ทำหน้าที่เป็นร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ ได้ถูกต้อง ได้แก่

เมื่อคนไข้มารับบริการแล้วจะต้องได้รับความรู้ด้วย ว่า

ป่วยเป็นอะไร

รู้ว่าไปทำอะไรมาจึงป่วย เช่น ไปตากฝนมาเมื่อวาน วันนี้จึงป่วยเป็นหวัด

รู้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างไรมียาอะไรบ้าง, ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรระหว่างป่วย,รู้วิธีที่จะไม่ป่วยเป็นไข้หวัดอีก โดย พยายามหลีกเลี่ยงการโดนฝน เช่น รอฝนหยุด หรือ กางร่ม ฯลฯ และ

รู้ว่าถ้าไม่ดีขึ้นต้องกลับมาตรวจซ้ำ(ตามแนวทางให้คำแนะนำ 4 ข้อที่ ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ ให้

ประโยชน์ ที่ได้จากการเป็น ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ คือ

1.คนไข้น้อยลง จากคนไข้นำความรู้ที่เราให้คำแนะนำ ทำให้ไม่ป่วยง่ายๆเหมือนเดิม เช่น

แทนที่จะให้ยาปวดหลังติดต่อเป็นเดือนๆ เมื่อคนไข้รู้ว่าเป็นอะไร เกิดจากยกของผิดวิธี นำไปปฏิบัติให้ถูก ระยะเวลารักษาจะสั้นลง แทนที่ต้องรับยาเรื่อยๆ กลายเป็นรับยาเพียงครั้งสองครั้งก็หาย

2.ค่ารักษาพยาบาลโดยรวม ของ ร.พ.จะลดลง เมื่อ คนไข้ น้อยลง จากคนป่วยลดลง สุขภาพแข็งแรง ตามแนวทาง"สุขภาพดีถ้วนหน้า ในราคาถูกแบบยั่งยืน"

3.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานสบายขึ้น การลาออกน้อยลง ได้ในที่สุดนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมได้ที่เวบ...

//advisor.anamai.moph.go.th/hph/

3.ร.พ.คุณภาพ คือ ร.พ.ที่มีการกำหนดแนวทางการทำงาน เป็นลายลักษณ์อักษรโดยผู้ปฏิบัติงานนั้นๆ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพ (พ.ร.พ.) ได้ร่วมจัดทำเป็นเอกสารการทำงานอย่างมีคุณภาพ ไว้อ้างอิง ให้กรรมการตรวจสอบภายใน ร.พ.เอง และ ภายนอก(พ.ร.พ.) ใช้ตรวจสอบ ว่า ร.พ.ได้ปฏิบัติตาม แนวทางในเอกสาร ที่ได้รับการรับรองได้ครบถ้วนจริง

ก็จะได้รับใบประกาศรับรอง

"โรงพยาบาลคุณภาพ"

จาก สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพ(พ.ร.พ.)

หลังจากได้ใบรับรองแล้ว จะต้องรักษาคุณภาพไว้ตามที่ได้รับการรับรองต่อไป โดยจะต้องมีการตรวจสอบภายใน จากกรรมการตรวจสอบภายใน ร.พ.เอง เป็นระยะ ให้สามารถคงรักษาคุณภาพ ได้เหมือนที่เขียนไว้ในเอกสาร และ

คณะกรรมการตรวจสอบจากภายนอก จะมีการเข้ามาตรวจสอบ ตามระยะเวลา เพื่อยืนยันคุณภาพ ว่ายังคงมีคุณภาพตามเอกสารอ้างอิงอยู่ ถ้าไม่เป็นไปตามเอกสารอ้างอิงก็จะให้แก้ไข เมื่อแก้ไขได้ ก็จะได้ต่อใบรับรองคุณภาพ ต่อไป ตลอดการตรวจประเมินตามระยะของกรรมการตรวจสอบภายนอก(พ.ร.พ.)

ตัวชี้วัดที่จะบอกว่า ร.พ.ได้ทำหน้าที่เป็นร.พ.คุณภาพ ได้ถูกต้อง ได้แก่

1.คำชม ร.พ.เพิ่มขึ้น คำติ ร.พ.ลดลง (ร.พ.คุณภาพ จะมีตู้รับฟังความคิดเห็นการได้รับบริการทุกจุด ให้คนมารับบริการประเมิน ร.พ.)

2.คนไข้ ปลอดภัย จากการ ลดโรคแทรกซ้อน ลดความผิดพลาด จากการรับบริการลง จากการที่ ร.พ.คุณภาพ ต้องนำความผิดพลาด มาประชุม "การประเมินความเสี่ยง:Risk Management"อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดไม่ให้เกิดซ้ำอีก

3.เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความสบายขึ้น มีการกำกับการทำงานคุณภาพ ด้วยเอกสารอ้างอิง ที่เจ้าหน้าที่จุดนั้นๆ ได้เขียนขึ้นเองร่วมกับกรรมการคุณภาพ มารับรอง และ ตรวจสอบ อย่างใกล้ชิด ถ้าไม่เหมือนตามเอกสารจะได้รับใบให้แก้ไข ทำให้มีเส้นทางทำงานที่ชัดเจน โอกาศผิดพลาด โดนฟ้องร้อง จะน้อยลง

ดูเพิ่มเติม ได้ที่ แนวทางการพัฒนาและรับรองคุณภาพ ของ คณะกรรมการพัฒนาและรับรองคุณภาพ(พ.ร.พ.) ที่เวบ..

//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samrotri&month=01-2007&date=18&group=12&gblog=2

ร.พ.พนมสารคาม ได้รับการพัฒนาและรับรอง เป็นทั้ง ร.พ.คุณภาพ และ ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ แล้ว และ ได้รับการยกย่อง ให้เป็นร.พ.ต้นแบบ จาก กระทรวงสาธารณสุข

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ร.พ.พนมสารคามได้ที่เวบข้อมูลภายใน ร.พ. ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น ร.พ.ส่งเสริมสุขภาพ ที่จะต้องเป็น

"องค์กรแห่งการเรียนรู้" ด้วย

โดยอาศัยช่องทางทางการมีเวทีอินเตอร์เนต ให้เจ้าหน้าที่ ร.พ.ได้ใช้เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นได้ในเวบบอร์ดของ ร.พ. เชิญเข้ามาอ่านเวบบอร์ด ได้ ภายในเวบของข้อมูล ร.พ. ...

//www.cco.moph.go.th/p/

4.การดูแลสุขภาพเป็นรูปเครือข่าย คือ

ปฏิรูประบบสาธารณสุข ให้ไปสู่ "สุขภาพดีในราคาถูก"เหมือน ประเทศอังกฤษ และ ฟินแลนด์ หรือ ประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาระบบสุขภาพ ให้ดีที่สุด ขึ้นนั่นเอง โดยมีสถานพยาบาลด่านแรก ดูแลประชาชน เป็นแพทย์ประจำครอบครัว ดูแลได้ทุกเรื่องทุกโรค เมื่อพบว่าเกินความสามารถก็จะส่งต่อ ไปตามขั้นตอน พบ ด่านสอง หรือ ด่านสาม ตามความเหมาะสม ให้

แทนที่จะให้ประชาชน เลือกว่าจะไปรักษาที่ใด อย่างไร เอง เป็นแพทย์ประจำครอบครัว ดูแลให้ มีหนังสือส่งตัวให้ หรือ ถ้าจำเป็นก็จะจัดหารถส่งให้

เหมือน ที่ ร.พ.พนมสารคาม จัดคลินิกโรคหัวใจ โดยเชิญ แพทย์โรคหัวใจ จาก ร.พ.เกษมราษฏร์ มาตรวจรักษาให้โดย ร.พ.พนมสารคาม จะนัดคนไข้ที่ควรพบแพทย์โรคหัวใจ จำนวน 30-50 คน มาตรวจ ให้ที่ ร.พ.พนมสารคามใกล้บ้านผู้ป่วย ไม่ต้องเดินทางไปถึง ร.พ.เกษมราษฏร์ เมื่อต้องไปตรวจต่อพิเศษ ก็จะรวมกันไปโดย ร.พ.พนมสารคาม จัดรถนำส่งให้ สะดวก โดย ค่าบริการ เป็นไปตามเงื่อนไข สิทธิการรักษาฟรี และ
กำลังจัดหาแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ที่มีคนไข้มาก มาตรวจให้อีก ได้แก่ คนไข้จิตเวช ฯลฯ ตามแต่จะมีคนไข้มากด้านใด

ตัวชี้วัดที่จะบอกว่า มี "การดูแลสุขภาพรูปเครือข่าย" ได้ถูกต้อง ได้แก่

1.คนไข้ สะดวกสบายในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ของรัฐ มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น

2.แพทย์ และ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะได้ทำงาน ที่สบายขึ้นคนป่วยลดลง จากข้อ 1 คนไข้มีสถานพยาบาลที่มีคุณภาพใกล้บ้าน และ ได้รับการเยี่ยมบ้าน ทำให้ได้รับการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข

3.ร.พ.ลดความแออัด มีคนไข้มาร.พ.ลดลง ทำให้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ตามความจริงที่ว่า

ปริมาณงาน จะแปรผกผันกับ คุณภาพของงาน

ดูเนื้อหา"การดูแลสุขภาพรูปเครือข่าย"เพิ่มเติมได้ที่เวบ..

//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samrotri&month=09-2006&date=30&group=1&gblog=3

ดูตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้ระบบเครือข่ายมีแพทย์ประจำครอบครัว ได้ที่

"การดูแลทางด้านสาธารณสุขเบื้องต้น(ระดับปฐมภูมิ)ที่ประเทศอังกฤษและฟินแลนด์ " ที่เวบ...

//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samrotri&month=11-2006&date=16&group=1&gblog=4

และ ด่านแรก มี มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและการมีแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน เป็นแพทย์ผู้ดูแลด่านแรกอยู่ ดูเนื้อหาเพิ่มเติมที่เวบ..

//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samrotri&month=03-2007&date=27&group=1&gblog=5

ถ้าอยากให้เป็นจริงตามแนวทางปฏิรูปคงต้องอาศัยสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ.น.พ.ประเวศ วะสี มี 3 มุม

มุมที่ 1 การให้ประชาชน ได้รับความรู้เรื่องการปฏิรูปสุขภาพจะมีประโยชน์กับการเข้าพบแพทย์ได้สะดวก จะมีแพทย์ประจำตัว ที่ดูแลได้ทุกเรื่อง ทุกโรคในแพทย์คนเดียว(แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเดิม ที่ เปลี่ยนชื่อมาเป็น แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่มีหน้าที่ดูแลคนไข้ประจำที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ หรือ ประชาชนมาเลือกให้เป็นแพทย์ประจำครอบครัว ซึ่งรักษาฟรี รัฐจ่ายค่าบริการแทน) และ

มุมที่ 2ประชาชน ที่ได้รับความรู้แล้วรวมตัวกันเป็นองค์กร โดยมีผู้นำองค์กร นำการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ ซึ่งมีอยู่แล้ว ได้แก่

นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.)ที่มีความสามารถ ซึ่งประชาชน เลือกตั้งเข้ามาบริหารท้องถิ่น

ซึ่งในอนาคต หน่วยงานต่างในตำบลจะต้องอยู่ภายใต้การบริหาร จาก นายกอบต. ประชาชนในตำบลสามารถรวมตัวกัน ขอให้ นายก อบต.ประสานงาน กับ ผู้อำนวยการร.พ.อำเภอ ของตำบลนั้นให้แพทย์ประจำพื้นที่ตำบลนั้น(แพทย์ประจำครอบครัว)มาตรวจที่สถานีอนามัยเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์สุขภาพชุมชน ในช่วงเช้าทุกวัน ส่วนตอนเที่ยงและบ่ายกลับมาดูผู้ป่วยใน ตามพื้นที่ ที่มานอนรักษาตัวในร.พ.ได้ ตามการดูแลรูปเครือข่าย และ ตามแนวทางการมีแพทย์ประจำครอบครัว ได้

มุมที่ 3 การใช้กฏหมาย มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามความรู้ ใน มุมที่ 1 ข้างต้น กฏหมายที่จะเกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.สุขภาพ เป็นกฏหมายซึ่งประเทศเรากำลัง ปฏิรูประบบสุขภาพ ไปสู่การดูแลรูปเครือข่าย ที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นจริง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ได้พบแพทย์ประจำครอบครัว ที่มาตรวจให้ทุกเช้าที่สถานีอนามัย ซึ่งเมื่อพัฒนาจนครบเกณฑ์การเป็นศูนย์สุขภาพชุมชน ก็จะได้ป้ายไปติดที่สถานีอนามัย ที่พัฒนาได้ เปลี่ยนป้าย เป็น ศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นสถานพยาบาลด่านแรก ที่ประชาชนจะเข้าถึงได้สะดวก นั่นเอง

ดูสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เพิ่มเติม ได้ที่ เวบบ์....

//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samrotri&month=01-2007&date=14&group=11&gblog=11

และเวบ..การปฏิรูประบบสุขภาพ และ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่เวบ...

//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=samrotri&month=10-2006&date=02&group=1&gblog=1

........................................................

ปัจฉิมลิขิต

1.เนื่องจาก ร.พ.พนมสารคาม เป็นที่ฝึกสอนทั้งนิสิตแพทย์รังสิต และ ยังมีนิสิตแพทย์ จุฬาฯ มาเรียนบริหาร ร.พ.ด้วย นอกจากนี้ยังมี นักเรียนพยาบาล มาเรียน จึงทำไว้เพื่อ จะได้ ไม่ต้องพิมพ์เอกสารการบรรยาย แจก แต่ ให้เปิดดูทาง เวบไซด์ ได้

2.ผู้เขียน บทความนี้ สามารถเข้ามาแก้ไขได้ตลอดเวลาเมื่อต้องการปรับปรุงบทความให้ดียิ่งขึ้น

3.การทำบทความนี้ ยังมีจุดประสงค์ ไว้เผยแพร่ ให้ผู้สนใจ ที่อยากทราบว่า แพทย์ จะรู้คำวินิจฉัย และ ให้การดูแลเขา อย่างไร ???





Create Date : 25 มีนาคม 2553
Last Update : 5 พฤษภาคม 2553 21:41:19 น.
Counter : 1853 Pageviews.

2 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
การ์ตูนจากกล่องอาหาร สมาชิกหมายเลข 4313444
(14 เม.ย. 2567 04:14:16 น.)
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
AI คืออะไร ? ข้อดีของ AI Technology Robotic เข้ามาช่วยในการผ่าตัด newyorknurse
(19 เม.ย. 2567 02:45:03 น.)
  
โดย: จีนี่ในกระจกแก้ว วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:20:08:56 น.
  
ขอบคุณที่แบ่งปัน ติวเลขออนไลน์
โดย: swkt (tewtor ) วันที่: 11 เมษายน 2554 เวลา:23:41:38 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samrotri.BlogGang.com

samrotri
Location :
ฉะเชิงเทรา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]