นารายณ์ราชนิเวศ จำลองนารายณ์ราชนิเวศ โมเดลนารายณ์ราชนิเวศนี้ ทำไว้นานมากแล้วครับ และเคยทำมาโพสท์ในบล๊อกไว้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ตอนนั้นเกิดความผิดพลาด (ของผมเอง) ปรากฏว่าข้อมูลในบล็อกที่ทำไว้เกือบสิบปี หายหมดเลย ก็เลยต้องทำใหม่ โชคดีที่เก็บกู้ได้บางส่วนครับ คราวนี้ก็เลยเอามาเก็บไว้ใหม่ จำลองพระที่นั่งสำคัญสององค์ในพระราชวัง คือดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท และสุทไธสวรรย์มหาปราสาท ครับ องค์แรกเป็นท้องพระโรงกลาง องค์ที่ 2 เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ พระนารายณ์ราชนิเวศนี้ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2175 - พ.ศ. 2231) ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับสำราญพระอิริยาบถนอกกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วยฝ่ายหน้าฝ่ายใน และหอพระ ครบถ้วนตามองค์ประกอบพระราชวังสยามตามราชประเพณี ทรงโปรดพระราชวังแห่งนี้มาก ในคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า เปนพระราชนิเวศน์ทรงประทับในพระบาทสมเด็จพระนารายนมหาราชในระดูร้อนและระดูหนาว 6 เดือนเสมอเปนเนืองนิจ จนสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนารายนมหาราชแล้ว ภายหลังต่อมาก็เปนที่ประทับบ้างเปนครั้งเปนคราวเนืองๆ ส่วนที่สำคัญที่สุดในพระราชวังแห่งนี้ได้แก่ ท้องพระโรงกลางสำหรับออกว่าราชการ นั่นคือ พระที่นั่งดุสิตสวรรย์ธัญญมหาปราสาท สร้างขึ้นในพ.ศ.2209 เป็นพระที่นั่งตึกก่ออิฐถือปูนขนาดย่อม ส่วนของผนังเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทย และเปอร์เซีย คือการเจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีจากภายนอก เนื่องจากระบบไทย ใช้ผนังและเสารับน้ำหนัก การเจาะช่องเปิดขนาดใหญ่เป็นไปได้ยาก อาคารไทยประเพณีแท้ๆ จึงแทบไม่มีประตูหน้าต่าง หรือมีก็จะน้อยมาก แต่พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ฯองค์นี้ กลับเจาะช่องเปิดที่โถงท้องพระโรงจำนวนมาก ถึงด้านละ 4 ช่อง ด้านหน้าอีก 3 ช่อง เป็นช่องปลายแหลมทรงกลีบบัว ตามอิทธิพลศิลปะอิสลาม ซึ่งแพร่หลายเข้ามาในอยุธยาผ่านบรรดาพ่อค้าและขุนนางแขก โดยทั่วไปแล้ว เราจะคุ้นเคยกับปราสาทจัตุรมุข หรืออาคารยอดที่มีผังแบบกากบาท ที่มียอดมณฑปแหลมอยู่ตรงกลาง หรือไม่ก็เป็นปราสาทที่มีสองแขนยาว อีกสองแขนสั้น (คล้ายๆพระที่นั่งสุทไธสวรรย์บนกำแพงพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ) แต่พระที่นั่งองค์นี้กลับลดทอนรูปแบบลง ด้วยการตัดแขนด้านหนึ่งออก จาก 2 แขน เหลือเพียงแขน หรือมุขเดียวทางด้านที่เป็นโถงด้านหน้า ส่วนกระเปาะที่ประดิษฐานยอดมณฑป เป็นส่วนที่ตั้งพระราชบัลลังก์ยกพื้นสูง โดยพระเจ้าแผ่นดินจะประทับบนสีหบัญชรสูง มีพระแกลเปิดและปิดได้ในตำแหน่งที่สูงกว่าข้าราชบริพารมาก ภายในโถงท้องพระโรง มีบันทึกว่าประดับด้วยกระจกจำนวนมาก สั่งมาจากฝรั่งเศส และตกแต่งลวดลายด้วยทองดอกบวบ ซึ่งคงจะแวววับตามรสนิยมศิลปะบาโรคที่เจริญขึ้นในยุโรปในยุคร่วมสมัยกัน ภายหลังกระจกเหล่านี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือให้ลอกออกไปประดับมณฑปพระพุทธบาทที่สระบุรี และคงจะสูญไปในไฟเมื่อตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อพวกจีนคลองสวนพลูยกกันออกไปลอกทองที่พระพุทธบาท ในคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงพระที่นั่งองค์นี้ไว้เพียงสั้นๆ ว่า พระที่นั่งทั้งสององค์นี้ (ดุสิตสวรรย์ธัญญมหาปราสาท และสุทไธสวรรย์มหาปราสาท ตั้งอยู่ใกล้ๆกัน) มีมุขซ้อน 4 ชั้น มีฝาทั้ง 4 ด้าน ![]() ![]() ภาพนี้มองจากพระลานครับ ในส่วนโถงท้องพระโรงมีขนาดค่อนข้างเล็ก แม้ว่าจะเจาะหน้าต่างโปร่ง เชื่อว่าคงใช้รับแขกส่วนพระองค์มากกว่า ที่น่าสนใจคือ พระราชนิเวศแห่งนี้ มีการเล่นมุมมองทางสายตา ด้วยการเว้นพื้นที่ว่างทางด้านหน้า ให้เป็นพระลานกว้างขวาง อาจเป็นบริเวณสำหรับผู้ติดตาม หรือข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่เมื่อเปิดประตูออก ก็จะแลเห็นองค์พระมหากษัตริย์ได้อย่างชัดเจน ![]() ภาพด้านบนนี้ เป็นมุมมองจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์มหาปราสาท ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชฐานชั้นในกลางอุทยาน เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเสด็จสวรรคตบนพระที่นั่งองค์นี้ จะเห็นว่าส่วนพื้นจะต่ำเตี้ยกว่าพระที่ีนั่งดุสิตสวรรย์ธัญญมหาปราสาท เพราะแต่เดิมจะมีน้ำพุ และสระน้ำที่มุมทั้งสี่ของพระที่ันั่ง ภายในองค์พระที่นั่งเองก็ประดับตกแต่งด้วยเขามอ มีธารน้ำเล็กๆไหลตามท่อ วิ่งเข้าไปในฐานไพที รวมทั้งวิ่งเข้าไปในพระปรัศว์ซ้ายขวา ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ สำหรับสรง หรือประทับสำราญอิริยาบถ แต่เดิมพระที่นั่งองค์นี้ คงจะสวยงามและเย็นชื่นใจด้วยไอน้ำ เนื่องจากเมืองลพบุรีอากาศจะร้อนมาก เทคโนโลยี่นี้ เชื่อว่าได้อิทธิพลมาจากแขกเปอร์เซีย หรือแขกโมกุลครับ พระราชวังต่างๆในอินเดีย ก็มีระบบหล่อเย็นเช่นนี้ ![]() ภาพด้านบนเป็นดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทครับ ทุกวันนี้ซากยังเหลือค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถจำลองเครื่องหลังคาได้ ส่วนกระเบื้องที่มุง ใช้กระเบื้องเคลือบสีเหลืองครับ พวกฝรั่งเศสกล่าวว่า เมื่อมองดูไกลๆ คล้ายกับองค์พระที่นั่งมุงด้วยหลังคาทอง กระเบื้องเหล่านี้ มี 2 ประเภท คือ สั่งมาจากเมืองจีน และผลิตเองในไทย ซึ่งจากการขุดค้นก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ หากมีเวลา ลองเดินไปดูด้านหลังองค์พระที่นั่ง อาจจะพบเศษกระเบื้องเก่าๆ ตกหล่นอยู่บ้างก็ได้ครับ (ผมไปมาเมื่อไม่นานมานี้ ยังคงเหลืออยู่บ้าง) ![]() ![]() พระที่นั่งสุทไธสวรรย์มหาปราสาท จากมุมสูงครับ คาดว่าเป็นพระที่นั่งแขนเดียวเช่นเดียวกับ ดุสิตสวรรค์ฯ เนื่องจากผังที่เหลืออยู่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่ใช่จตุรมุข จึงเข้าใจว่า น่าจะมีรูปแบบใกล้เคียงกัน โดยยอดปราสาทเลื่อนจากกึ่งกลางไปอยู่ด้านท้ายอาคารแทน ![]() ภาพสุดท้ายเป็นพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ยามค่ำคืน สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดที่แห่งนี้มาก ทรงลงมือขุดดินปลูกต้นไม้เอง มีจำพวกส้มและมะนาว ในสวนรอบๆพระที่นั่ง นอกจากสระน้ำพุที่มุมทั้ัง 4 แล้ว ยังตามโคมเครื่องหอม โคมประทีปไว้ตลอดทาง ในจดหมายเหตุ "สำเภากษัตริย์สุไลมาน" ที่ทูตอิหร่านได้เข้ามาถวายพระราชสาส์นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระราชวังเมืองละโว้ ได้บรรยายถึงท้องพระโรงแห่งนี้ว่า ตรงทางเข้ามายังท้องพระที่นั่งนั้นมีบันไดหลายขั้นขึ้นมาสูงจากพื้นประมาณสามศอก ตัวอาคารเองนั้นประกอบด้วยห้องยาวๆห้องเดียวที่มีหลังคาหน้าจั่ว ห้องโถงยาวประมาณสิบศอก กว้างหกศอกพื้นห้องทำด้วยไม้ เพดานและผนังภายในห้องทาสีกุหลาบ และสีแสดมีกระจกเงาหกบานติดอยู่กับผนัง และห้องกระจกอันสดใสนี้ส่องแสงแวววามเหมือนกับทองใบส่วนในสุดของห้องโถงบุด้วยแผ่นดีบุก และตกแต่งด้วยกระเบื้องชุบทองพระที่นั่งของกษัตริย์เป็นเหมือนกับธรรมาสน์ขนาดใหญ่ ซึ่งถอดเอาบันไดธรรมาสน์ออกไปทำด้วยไม้ พื้นผิวด้านนอกทั้งหมดบุด้วยแผ่นทองด้านซ้ายและขวามีบันไดซึ่งกษัตริย์ใช้เป็นทางเสด็จขึ้นมาบนเฉลียงหน้ามุขหน้ามุขนี้ตกแต่งอย่างหรูหราด้วยม่านผ้าทองยกดอก เป็นที่ตั้งฐานบัลลังก์จริงไว้ มีทวารอีกบานหนึ่งอยู่ด้านหน้าหลังของอาคารทั้งหมด และมีประตูประดับทองสองบานนำไปสู่พระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินประทับรอพวกเราอยู่บนบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว แล้วอาคารสองข้างคืออะไรครับ
โดย: VET53
![]() เป็นห้องสรงสองข้างที่มีน้ำพุไหลอยู่ข้างในครับ
โดย: ปลาทองสยองเมือง (ปลาทองสยองเมือง
![]() เป็นพระราชฐานที่ทำให้เข้าใจอยุธยา ในมุมที่ไม่คุ้นเคยนะครับ
เพราะมีรูปแบบศิลปะที่ผสานแนวคิดนอกภูมิภาดเยอะมาก โดย: Amon Bunn IP: 110.164.140.152 วันที่: 8 กรกฎาคม 2554 เวลา:15:27:10 น.
มีหลายศิลปะปนๆกันครับ ทั้งฝรั่งแขก
โดย: ปลาทองสยองเมือง IP: 58.11.26.86 วันที่: 8 กรกฎาคม 2554 เวลา:22:04:49 น.
|