แนะนำหนังสือ 2 สวัสดีค่ะ ทุก ๆ ท่าน ขา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีธุระจำเป็นต้องไปธนาคาร ผ่านร้านหนังสือซึ่งไม่ค่อยจะได้แวะเข้าไปแล้ว เพราะไม่ค่อยจะมีสตางค์ สุดท้ายก็อดที่จะซื้อหนังสือจนได้.... ว่าจะไม่แล้วเชียว ความที่ว่า...เคยอยากเรียนสถาปัตย์ เห็นหนังสือเล่มนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะต้องอ่าน จะสรุปย่อมาเล่า ก็คงจะสู้มืออาชีพไม่ได้ หนังสือเล่มนั้นก็คือ 'ก้าวเข้าสู่ควอร์เตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต' โดย หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ข้อความที่คัดมานี้ มาจาก จุดประกาย วรรณกรรม ... จักรรถ จิตรพงศ์ ... 'ก้าวเข้าสู่ควอ ร์เตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต' ... //www.bangkokbiznews.com/jud/wan/ 20041002/news.php?news=column_14944335.html (แต่รู้สึกว่า link จะชำรุด) -ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ ค่ะ พรานอักษร ชื่อเรื่อง.... สู่ควอร์เตอร์สุดท้าย หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ บายไลน์... ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี บางครั้งบางคราวที่เราอยากจะหยุดเวลาเอาไว้เพื่อสิ่งดีๆ ที่อยู่ตรงหน้า ณ นาทีนั้น จะได้ไม่ลอยหายลับไป และหลายครั้งหลายคราวเช่นกันที่เราไม่อาจทำเช่นนั้นได้ นอกจากเก็บสิ่งเหล่านั้นเอาไว้เป็นความทรงจำ บทบันทึกจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยให้วันเวลาดังกล่าวเลือนหายไปตามเข็มนาฬิกา ทั้งหมดเป็นหน่วยความคิดที่ผุดพรายขึ้นในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ก้าวสู่ควอร์เตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต" อัตชีวประวัติของ หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่เพิ่งก้าวข้ามหลักชัยในชีวิตราชการไป พร้อมด้วย เตช บุญนาค ราชเลขาธิการ และจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ณ ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น 5 อาคารนานมีบุ๊คเฮาส์ เมื่อไม่นานมานี้ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ออกตัวว่า การที่เกิดมาเป็นหลานปู่ (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์) หลานตา (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) นั้น ไม่ได้แปลว่าตนเองจะเป็นผู้วิเศษแต่อย่างใด ในความเป็นจริงนั้น ตนเองเป็นเด็กขี้โรค เรียนหนังสือปานกลาง แต่บังเอิญเกิดมาในรั้วในวังเท่านั้น "เนื้อหาในควอร์เตอร์แรกนี้ ประเด็นก็คือ ผมเป็นคนที่ไปเรียนในประเทศอังกฤษเป็นเวลา 7 ปี จึงมีความเป็นคนอังกฤษอยู่ในตัวเองมาก มีเพื่อน และความทรงจำดีๆ ที่นั่นเยอะ เมื่อกลับมาตั้งใจไว้ว่าจะหาโอกาสกลับไปที่นั่นอีก ก็ได้ให้สัญญากับตัวเองเอาไว้ว่า 5 ปีจะกลับไปครั้งหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยทำสำเร็จเลย เคยแวะกลับไปเยี่ยมดูบรรยากาศเก่าๆ ก็เป็นการค้นพบสัจธรรมว่า ชีวิตคนเราเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของเวลาจริงๆ ความจำเป็นของเราทำไมมันถึงสำคัญกับตัวเราอย่างยิ่ง ทั้งที่ในห้วงเวลาโลกนั้นมันแทบไม่มีค่าอะไรเลย ข้อคิดเหล่านี้ก็ได้นำไปเน้นกับงานวัฒนธรรมคิดย้อนกลับมาที่ประเทศไทยเองก็จะพบว่า ที่เมืองไทยเรามีคนอาศัยอยู่มาเป็นเวลากว่าหมื่นๆ ปีมาแล้ว ที่สำคัญก็คือกี่พันกี่หมื่นปีที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงระยะเวลาเพียง 3 ชั่วคนเท่านั้น ที่จะช่วยกันจรรโลงรักษาและสร้างสรรค์ ความเป็นมนุษย์ ศิลปวัฒนธรรม และมรดกทางเชื้อพันธุ์ต่างๆ ให้ดำรงอยู่ต่อไปในมิติเวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ สิ่งที่นึกออกตามมาก็คือ อยากจะให้คนเราทุกวันนี้เลิกยึดติดกันเสียที" ที่มาของชื่อหนังสือว่า เกิดจากการดูอเมริกันฟุตบอลที่แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลาการแข่งขัน อีกทั้งเป็นแนวของการวางแผนทางวัฒนธรรมที่ต้องวางเป็นชั่วคน ไม่ใช่ 5 ปี 10 ปี แต่เป็นการมองถึง 20 ปี เคยมีคนกล่าวไว้ว่า การที่เราต้องการให้คนที่เกิดมาเป็นแบบไหน เราต้องดูกันตั้งแต่ตอนเกิดมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ ซึ่งโดยส่วนตัวมีการวางแผนเอาไว้ว่าจะมีอายุให้ถึง 80 ปี ให้ได้ แบ่งเป็น 4 ช่วงก็จะได้ช่วงละ 20 ปีพอดี โดยวางแผนเอาไว้ว่างานเขียนในช่วงควอร์เตอร์แรกนี้จะแจกในงานแซยิดตัวเอง สำหรับชื่อหนังสือที่ใช้คำว่าควอร์เตอร์ เพราะต้องการจะสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ แต่คำในภาษาไทยที่ใช้แล้วสื่อออกมานั้นยังหาไม่ได้ เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งทักท้วงเอาไว้ว่าทำไมไม่ใช้เสี้ยวในความคิดของตนก็ยังรู้สึกว่าเสี้ยวมันก็ยังไม่ใช่สี่ เลยใช้คำทับศัพท์ว่าควอร์เตอร์เพราะเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่าเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ ส่วนภาพปกที่เป็นรูปวาดได้ให้ช่างจินตนาการออกมาว่าหน้าตาตอนอายุ 80 จะเป็นอย่างไร ต้องขอบคุณช่างคนนั้นด้วยที่วาดออกมาแล้วเป็นหน้าที่ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนราชินีอย่าง เตช บุญนาค แสดงความรู้สึกที่มีต่อ 'คุณชายจักร' ว่า การที่เพื่อนคนหนึ่งเขียนบันทึกเกี่ยวกับความทรงจำแบบนี้ออกมา ก็เป็นการช่วยให้เพื่อนที่เคยมีความทรงจำร่วมกันนั้นได้ระลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ขึ้นมาด้วย สำหรับตนเองจะชอบบทส่งท้ายที่ว่า "การที่ผมดั้นด้นเดินทางไปไกล เพื่อแสวงหาร่องรอยของความทรงจำที่จดจำไว้ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนั้น ข้อเท็จจริงที่ได้พบก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วตามครรลองและบริบทของมันเอง ไม่มีประโยชน์ที่เราจะถวิลหาสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป ประสบการณ์ในร้าน สตาร์ ออฟ อินเดีย เผยสัจธรรมข้อนี้ให้แก่ผม จากบัดนั้นเป็นต้นไป ผมก็มีความรู้สึกเหมือนตื่นจากภวังค์ สลัดของเก่าทิ้งไป นำสติและจิตใจของตนเองให้กลับมาอยู่ในปัจจุบันและมองสู่อนาคตต่อไป" เนื้อหาโดยรวมเมื่อได้อ่านจะทำให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นความมหัศจรรย์มากสำหรับการที่เมืองๆ หนึ่งจะเปลี่ยนไปได้ขนาดนั้น "รูปถ่ายภายในหนังสือก็จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเรื่องราวต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น" ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ เสริม "สิ่งต่างๆ เป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงช่วงอายุคนเดียวเท่านั้น สำหรับเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยรุ่นยุคนี้กับวัยรุ่นยุคก่อนนั้นคงต้องออกตัวว่าคุยไม่ค่อยได้เพราะจะอยู่ในกลุ่มเล็กๆ โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชินกับคนกลุ่มใหญ่เพราะจะรู้สึกอาย และช่วงนั้นผมอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่เป็นชาวต่างประเทศที่อังกฤษเป็นหลัก จะรู้เรื่องของคนอังกฤษดีกว่า" สีสันของหนังสือเล่มนี้จะเป็นความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากวัยเด็กขึ้นมาสู่วัยผู้ใหญ่ ช่วง 20 -40 ก็จะเริ่มจริงจังขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าจะเล่าถึงความจำเป็นในการสืบสกุล เช่นช่วงควอร์เตอร์ที่สอง ค่อนข้างจะติดมาในเรื่องการหาคู่ครอง ซึ่งกว่าจะเลือกได้ก็ข้ามทวีปเลยทีเดียว นอกจากนั้นในควอร์เตอร์ที่สอง ยังจะบอกถึงวิธีการเลี้ยงลูก เรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ชีวิตการรับราชการ ทำงานจนกระทั่งไปสู่จุดพลิกผัน ในการทำงานหลังจากที่ซ่อมองค์พระธาตุพนม ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ประหลาดๆ ตามมา โดยจะมีเรื่องราวของปาฏิหาริย์เยอะ ส่วนควอร์เตอร์ที่สาม เรื่องเกี่ยวกับเมืองนอกก็จะเข้ามา ศูนย์วัฒนธรรม ความสนุกในการทำงานในโรงละคร จนไปถึงการก้าวสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำหรับควอร์เตอร์ที่สี่นั้น ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ เปิดเผยว่า จริงๆ วางแผนเอาไว้ สองอย่างด้วยกันคือ อย่างแรกเป็นการเขียนควอร์เตอร์ที่สองและสามให้จบเร็วๆ เมื่อเขียนจบก็จะเขียนบันทึกต่อไปว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในควอร์เตอร์ที่สี่นี้ โดยตกลงกับภรรยาเอาไว้ว่าจะแจกในงานวันเกิดอายุครบ 80 ปี หรือวันเผาก็ว่ากันไป โดยจะยึดแบบอย่างจากสมเด็จปู่ (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์) ที่เขียนไดอารีทุกวันจนกระทั่งเขียนไม่ได้ในที่สุด 'ก้าวเข้าสู่ควอร์เตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต' อัตชีวประวัติของปลัดกระทรวงวัฒนธรรมคนแรกในยุคปัจจุบัน สายสกุลรุ่นที่สามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องราวในบทบันทึกของกาลเวลาที่หมุนไปจะยังคงอยู่ในตัวอักษรเป็นการเก็บรายละเอียดของชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนโลกการศึกษาในยุคเก่ากลางเก่าใหม่ของอังกฤษ เป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น สะท้อนความคิดมุมเดิมภายหลังการเสวนาระหว่างเดินทอดน่องท่ามกลางมหานครยามเย็นจาก 'คุณชายจักร' ทั้งระยะเวลาหกสิบปีในชีวิต ก็สั้นนิดเดียวเมื่อเทียบกับการเดินรุดหน้าต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของกาลเวลา ![]() อย่าลืมไปทำบุญ ทำทาน และก็เวียนเทียน เผื่อคนไกลบ้านด้วยนะคะ สาธุ สาธุ
![]() โดย: jaa_aey
![]() |
บทความทั้งหมด
|
ลิงก์ที่ให้มาเข้าไม่ได้จริงๆด้วย
อยากเห็นหน้าปกหนังสือน่ะค่ะ