การนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ (วิปัสสนา)


🌷 การนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ (วิปัสสนา) 

วันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๑ 

เจริญพร มีความสุขสวัสดีสาธุชนทั้งหลายผู้ใฝ่ใจในพระพุทธศาสนา เพื่อน้อมนำไปสู่สุขที่ปราศจากอามิส นำไปสู่ความมีสติสัมปชัญญะ เพื่อคุ้มครองปกป้องตนให้พ้นจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

สืบเนื่องจากอาตมาภาพได้เทศนาเรื่องที่มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้ให้ความหมายของคำว่าอนัตตา คืออะไรที่เป็นอนัตตาธรรมนั้น ย่อมบังคับบัญชาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าเองไม่อาจหนีพ้นเช่นกัน บังคับบัญชารูปร่างกายที่จิตของพระองค์ได้อาศัยอยู่ให้ตายหรือแตกทำลายไม่ได้ เหตุผลเพียงเพราะเข้าใจผิดไปว่า ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม โดยได้ให้ความหมายไว้ว่า รูปก็คือกาย ส่วนนาม (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) คือจิต ฉะนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไป รูปคือกาย ตายแตกทำลายไป นามคือจิตก็ต้องดับตายหายสูญไปด้วยเช่นกัน คงเหลือแต่ความบริสุทธิ์เฉยๆ เมื่อถูกถามว่าแล้วความบริสุทธิ์ไปตั้งอยู่ที่ไหน ตอบไม่ได้ ได้แต่ชี้ไปโน่นไปนี่ แต่กลับบอกไม่ได้ว่าที่ไหน

ซึ่งขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ข้อที่ ๓ ว่า "สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ แปลว่า การชำระจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ขาวรอบ ล้วนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" เพราะความบริสุทธิ์นั้นเป็นเพียงแค่คุณลักษณะ จะตั้งอยู่ลอยๆ เองไม่ได้ ต้องมีที่ตั้งของความบริสุทธิ์นั้น เช่น น้ำที่บริสุทธิ์สะอาดหมดจด ความบริสุทธิ์ของน้ำต้องตั้งอยู่กับน้ำนั้น หรือทองคำแท้บริสุทธิ์ ๑๐๐% ความบริสุทธิ์เปล่งปลั่งย่อมต้องตั้งอยู่ที่ทองคำนั้นเช่นกัน

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ต้องเรียนรู้ศึกษาหลักธรรมแท้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าเกิดรู้ผิดไปจากความเป็นจริง เหมือนการสวมเสื้อแล้วติดกระดุมเม็ดแรกผิด ย่อมทำให้การติดกระดุมเม็ดอื่นๆ ผิดไปด้วยตลอดแนว

โดยเฉพาะอนัตตาธรรม ที่แปลว่าไม่ใช่ตน เมื่อมีที่ไม่ใช่ ที่ใช่ต้องมี เป็นทวินิยม ส่วนบังคับบัญชาไม่ได้นั้นเป็นเพียงความจริงในเรื่องของโลกเพียงส่วนเดียว ที่ท่านอาจารย์โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วเปล่งพระวาจาออกมา ดังนี้ "ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ แปลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลก มีอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นมีอันดับไปเป็นธรรมดา" นี่หมายถึงสิ่งต่างๆ ในโลก ทั้งที่ไม่มีจิตครองและที่มีจิตครอง เมื่อมีการเกิดขึ้นย่อมต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา 

แต่ในส่วนของที่มีจิตครองอยู่นั้น ยังมีความซับซ้อนเป็นอันมากซ่อนอยู่ เพราะมีทั้งที่บังคับบัญชาได้และที่บังคับบัญชาไม่ได้ ส่วนที่บังคับบัญชาไม่ได้นั้นก็แค่เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย แต่ปัจจุบันนี้วิทยาการก้าวหน้าไปมาก ถึงกับมีการควบคุมในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ตามความต้องการของตน 

ส่วนที่บังคับบัญชาได้นั้น คือการใช้สอยรูปร่างกายนี้เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นจากโลกธรรมทั้งหลาย นั่นคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทางเดินไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด เป็นวัฏฏะวนในโลกอีกแล้ว เพราะจิตได้หลุดพ้นจากความตาย เมื่อไม่ตายก็ไม่มีการกลับมาเกิดอีกอย่างแน่นอน 

อาตมาภาพจึงได้น้อมนำเอาพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว จากพระสูตรมาให้ฟังกัน เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้น จะได้ตัดความลังเลสงสัยในเรื่องปฏิบัติธรรมลงไป

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า เมื่อท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอย่างนี้ว่า พระศาสดามีปกติตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร พระศาสดามีปกติตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในวิญญาณ 

แม้เมื่อท่านทั้งหลายได้ตอบไปอย่างนี้ ก็จะพึงมีกษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง (มีพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศล เป็นต้น) แม้พราหมณ์เป็นบัณฑิตบ้าง (มีจังกีพราหมณ์และตะลุกกะพราหมณ์ เป็นต้น) แม้คหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง (มีจิตตคหบดีและสุทัตตะคหบดีหรืออนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น) แม้สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง (มีสภิยะปริพาชกและปิโลติกปริพาชก เป็นต้น) ถามปัญหายิ่งขึ้นไป 

หากคนผู้เป็นบัณฑิตใคร่ถามว่า ก็พระศาสดาของพวกท่านทรงเห็นโทษอะไร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในวิญญาณ 

ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยาก ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เปลี่ยนแปลง ปรวนแปร ผันแปรเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น 

พระศาสดาของพวกเราทรงเห็นโทษนี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในวิญญาณ เมื่อกำจัดฉันทราคะเสียได้แล้ว โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่เกิดขึ้นที่จิตของตน

พระสารีบุตรยังได้ชี้แนะสั่งสอนนกุลปิตาคหบดี ในนกุลปิตาสูตรว่า 

ปุถุชนเป็นบุคคลได้ชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และมีจิตกระสับกระส่าย ไปด้วยความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากตาย 

เพราะปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ (คนสงบ คนดี คนมีศีลธรรม คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม) ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ 

เมื่อพิจารณาด้วยความยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าตน (จิต) มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
พิจารณาเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีในตน (จิต) 
และดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เรา (จิต) เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปนาม) เป็นของเรา (จิต) 

เมื่อเขาดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรเปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอย่างอื่น โศกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงเกิดขึ้นแก่เขา ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีกายกระสับกระส่าย และมีจิตกระสับกระส่าย ไปด้วยความไม่อยากแก่เฒ่าคร่ำคร่า ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากตายจากโลกนี้ แต่ก็พร้อมที่อยากจะกลับมาเกิดอีก

ส่วนบุคคลแม้ชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่ไม่ชื่อว่ามีจิตกระสับกระส่าย

ดูก่อนนกุลปิตาคหบดี ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ (คนสงบ คนดี คนมีศีลธรรม คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม) 

ย่อมไม่พิจารณาด้วยความยึดมั่นถือมั่น เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน (จิต)
ไม่พิจารณาเห็นตน (จิต) ว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เรา (จิต) เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รูปนาม) และรูปนามเป็นของเรา (จิต) 

เมื่อพระอริยสวกนั้น ไม่ดำรงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็นรูปนามรูปนามเป็นของเรา เมื่อรูปนามนั้นปรวนแปรเปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอย่างอื่น โศกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวกนั้น

คหบดี บุคคลแม้ชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่ไม่ชื่อว่ามีจิตกระสับกระส่ายเป็นอย่างนี้แล

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอย่างนี้ นกุลปิตาคหบดีมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของท่านพระสารีบุตร

จากพระสูตรที่เชื่อมโยงกันนี้ พระสารีบุตรได้เทศนาสั่งสอนอบรมทั้งฆราวาสและพระภิกษุทั้งหลายเช่นเดียวกัน เพื่อให้เข้าถึงรู้ถึงเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงว่า

จิตนั้น เมื่อยึดมั่นถือมั่นเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์ ๕ หรือรูปนามนั้นมาเป็นตน พอรูปนามป่วยก็ว่าเราป่วย พอรูปนามแก่ชราคร่ำคร่าก็ว่าเราแก่ชราคร่ำคร่า พอรูปนามแตกตายทำลายไป ก็ว่าเราตาย 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปุถุชนทั้งหลายโดยมากยังกลัวความตาย ยังไม่อยากตาย แต่อยากเกิดในภพภูมิที่ดียิ่งๆ ขึ้น จึงได้เร่งลงมือทำคุณงามความดีเท่าที่โอกาสเอื้ออำนวยให้ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามสติกำลังของตน 

แต่เมื่อตราบใดที่ยังไม่หมดความยึดมั่นถือมั่น ยังมีอวิชชาตัณหาครอบงำอยู่ เมื่อตายกายแตกทำลายไป จิตย่อมต้องจุติ (เคลื่อน) ออกไปหาภพภูมิใหม่ตามแรงของกิเลสกรรมวิบากที่เข้ามาในวาระสุดท้ายของชีวิต ในรูปของวิญญาณธาตุคือจิต (ธาตุรู้) เพราะแจ้งในอารมณ์ (วิญญาณ) นั้น ที่มายึดโยงอยู่ขณะใกล้ตาย จึงต้องจุติออกไปยังภพภูมินั้นๆ ที่อารมณ์นั้นครอบงำอยู่ เรียกว่าจุติจิต  

มีพระบาลีรับรองไว้ดังนี้ อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโลวา อตฺตภาโว แปลว่า จิตได้ชื่อว่าเป็นตน แต่หลงไปยึดเอาสกลกายนี้เข้าไปด้วย

แต่ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มบางพวกเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริงว่า รูปคือร่างกาย นามคือจิต ทั้งที่นามนั้นคืออาการของจิต ไม่ใช่จิต เมื่อเข้าใจไปตามนี้ พอรูปร่างกายหรือขันธ์ ๕ ตายแตกทำลายไป จิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ย่อมต้องดับตายหายสูญไปด้วย  แล้วก็มีจิตดวงใหม่จุติออกไปหาภพภูมิใหม่แทน กิเลสกรรมวิบากที่เคยได้ทำไว้ของจิตดวงเก่าไปไหน ตามไปด้วยหรือ ถ่ายทอดกรรมกันตอนไหน เพราะจิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว ๒ ดวง จึงไม่มีเหตุผลที่จิตดวงเก่าจะถ่ายทอดกรรมให้จิตดวงใหม่ได้ ที่ไปจุติแทนดวงเก่า 

จึงได้เข้าใจไปว่าพระพุทธเจ้าเองก็หนีไม่พ้นบ่วงแห่งความตาย ถ้าหนีไม่พ้นบ่วงแห่งความตาย พระองค์ต้องกลับมาเกิดอีก แต่เราทุกคนก็รู้กันอย่างชัดเจนว่า พระองค์นั้นไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว เพราะพระองค์ได้ตัดภพชาติหมดสิ้นแล้ว เมื่อไม่ทรงกลับมาเกิดอีก ก็แสดงว่าพระองค์ไม่เคยตาย แต่ที่ตายแตกทำลายไปนั้นคือรูปนามหรือขันธ์ ๕ รูปร่างกายที่พระองค์อาศัยเท่านั้น พระองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า รูปนามหรือขันธ์ ๕ นั้นไม่ใช่เรา (จิต) นั่นไม่เป็นเรา (จิต) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต)

เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เมื่อไม่มีภพเป็นปัจจัย ชาติจึงไม่มี เมื่อไม่มีชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะย่อมไม่มีเช่นกัน 

ดังมีพระบาลีที่มีมาใน มหาปรินิพพานสูตร ต่อไปนี้คือ จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ แปลว่า ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะมิได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้

ผู้ที่มีสติปัญญาทั้งหลายอย่างเช่นเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องเข้าใจว่า มีสิ่งที่มีลักษณะเที่ยงแท้เป็นแก่นสารอยู่สิ่งหนึ่ง คือจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งถึงอีกพระชาติหนึ่ง และพระชาติติดต่อกันไปเป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วนก่อนตรัสรู้ และจิตดวงนี้ได้ยืนตัวเป็นประธานอยู่ทุกชาติไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม 

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่รูปร่างกายที่ถือเอากำเนิดเป็นพระชาตินั้นต่างหาก ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือเปลี่ยนชาติใหม่ทุกชาติ ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวง คือเปลี่ยนใหม่ตามร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมตรัสว่า พระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น ไม่ได้เลย 

เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่จิตชั้นสัมมาสัมพุทโธรู้อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติเกิดแล้วก็ตายไป ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆ โดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว ซึ่งเป็นใจความในพระพุทธพจน์ข้อนี้ และได้ทรงตรัสต่ออีกว่า ตานิ เอตานิ ทิฏฺฐานิ ภวเนตฺติ สมูหตา อุจฺฉินฺนํ มูลํ ทุกฺขสฺส นตฺถิ ทานิ ปุนพฺ ภโวติ แปลว่า บัดนี้ เราได้ถอนเสียซึ่งความเห็นผิดในเรื่องภพ และมูลเหตุแห่งทุกข์ออกเสียหมดสิ้นแล้ว ภพที่จะมาถึงใหม่เป็นไม่มี 

จากนี้ มาต่อกันเรื่อง หัวใจพุทธศาสนา ที่ยังค้างอยู่ของวันพระที่แล้วกัน


🌷 การนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ (วิปัสสนา) 

ถ้ายกพุทธพจน์ที่มีมาในสติปัฏฐานสูตรต่อไปนี้ ขึ้นมาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า เป็นคําสั่งสอนที่เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามัญชนย่อมพิจารณาเห็นตามและชวนให้ลงมือปฏิบัติจริงจังอย่างยิ่ง เพียงแต่ปฏิบัติให้เกิดขึ้นมากๆ ด้วยวิธีกําหนดพิจารณาลมหายใจเข้าออกของตนเองเนืองๆ ก็ย่อมทําให้สามารถปล่อยวางความยินดียินร้าย อันเนื่องด้วยอารมณ์และเป็นผู้ที่หลุดพ้นได้ในที่สุด กล่าวคือ 

"อานาปานสฺสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปาริปุเรนฺติ 
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺตโพชฺฌงฺเค ปาริปุเรนฺติ 
สตฺตโพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปาริปุเรนฺติ แปลว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันบุคคลทําให้เกิดขึ้น ทําให้มากแล้ว ย่อมชื่อว่าทําสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลทําให้เกิดขึ้น ทําให้มากแล้ว ย่อมชื่อว่า ทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลทําให้เกิดขึ้น ทําให้มากแล้ว ย่อมชื่อว่า มีวิชชาทําให้จิตหลุดพ้น ดังนี้" 

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้สติกําหนดลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็สามารถศึกษารู้เรื่องของอารมณ์ต่างๆ และสร้างพลังปัญญาขึ้นมาได้อย่างบริบูรณ์ จัดเป็นสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา ซึ่งทําให้จิตมีความว่องไวในการปล่อยวางความยินดียินร้ายอันเนื่องด้วยอารมณ์ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่อไปจากนี้ จึงเป็นเรื่องการนําผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ คือ ปัญญาสิกขา หรือที่เรียกว่า วิปัสสนา กันอยู่ในทุกวันนี้ ดังนั้น การปฏิบัติในขั้นปัญญาสิกขานี้ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของสมาธิ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ และไม่ต้องกล่าวซ้ำถึงวิธีปฏิบัติสมาธิต่อไปอีก หมายความว่า เมื่อปล่อยวางอาการยินดียินร้ายที่เกิดมาจากอารมณ์ ภายนอกเสียได้ ก็ย่อมทําความสงบร่มเย็นตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นภายในจิตเพียงอย่างเดียวในที่สุดเท่านั้น

อนึ่ง เมื่อได้กล่าวผ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ก็ขอชี้ให้เห็นว่า การตัดความยินดียินร้ายออกไปอย่างฉับพลันของลัทธิเว่ยหล่างก็ดี ฮวงโปก็ดี วิปัสสนาก็ดี ล้วนแล้วแต่ได้ผ่านการปฏิบัติสัมมาสมาธิกันมาอย่างชํานาญดีแล้วทั้งสิ้น จนกระทั่งเกิดคุณธรรมสําหรับสกัดกั้น ความยินดียินร้าย ทําความยินดียินร้ายให้ดับไป และทําไม่ให้ความยินดียินร้ายเกิดขึ้นอีกต่อไปด้วย ดังรายละเอียดที่มีในนิวรณ์บรรพะ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นทีเดียว

ส่วนทางคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น ก็กล่าวไว้ว่า การเจริญปัญญา จะต้องมี ศีล และสมาธิเป็นบาทฐาน โดยใช้สติกํานดรู้ให้ทันอารมณ์ปัจจุบันอย่างหนึ่งอย่างใดในวิปัสสนาภูมิ ๖ ประการ คือ ขันธ์ ๕  อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เพื่อให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง และสามารถปล่อยวางเสียได้ในที่สุด ตามข้อปฏิบัติเรื่องวิสุทธิ ๗ ในวิสุทธิมรรค ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ได้เรียบเรียงไว้

สําหรับเรื่องราวที่ปรากฏในพระพุทธประวัตินั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ ตลอดพุทธกาล ให้เห็น  ให้สมาทาน ให้อาจหาญรื่นเริงในธรรมีกถาว่า 

อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา 
สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ ใหญ่ 
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ 
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ

ซึ่งเหมือนกันทั้งหมด บางทีก็ทรงแสดงธรรมเช่นนี้ที่บ้านของผู้ที่อังคาสพระองค์ให้ฉันภัตตาหารด้วย ผู้ที่ฟังแล้วลงมือปฏิบัติตามเพียงชั่วระยะเวลาที่ฉันเสร็จเท่านั้น ก็ได้บรรลุมรรคผลกันเป็นแถวอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น จุดสําคัญจึงอยู่ที่การลงมือปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา อย่างกว้างขวางพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันรณรงค์ให้นักเรียนและเยาวชนลงมือปฏิบัติ จริงจังและเป็นประจํา ควบคู่กับการเรียนวิชาศีลธรรมภาคทฤษฎีด้วย ก็จะช่วยพัฒนาจิตใจสังคมให้ดีขึ้นได้โดยลําดับ

สําหรับการปฏิบัติธรรมเรื่องปัญญานั้น ฝ่ายพระสูตรมีหลักฐานอยู่หลายแห่งและมากมายทีเดียว ได้กล่าวสอดคล้องต้องกันว่า ให้ระวังรักษาจิตให้บริสุทธิ์ ดังตัวอย่างในพระสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวัคค์ หน้า ๑๘๔ ว่า 

"จิตฺตสงฺกิเลสา ภิกฺขเว สตฺตา สงฺกิลิสฺสนฺติ,  จิตฺตโวทานา สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ, ตสฺมาตีห ภิกฺขเว อภิกฺขณํ สกํ จิตฺตํ ปจฺจเวกฺขิตฺตพฺพํ ทีฆ รตฺตมิทํ จิตฺตํ สงฺกิลิฏฺฐํ ราเคนโทเสนโมเหนาติ 
แปลว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์จะเศร้าหมองก็เพราะจิตเศร้าหมอง  สัตว์จะบริสุทธิ์ผ่องแผ้วก็เพราะจิตผ่องแผ้ว  เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลายพวกท่านจงหมั่นพิจารณาจิตของตนเองบ่อยๆ เนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะ มาตลอดกาลนาน ดังนี้"

พระพุทธองค์ทรงถือว่าจิตเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประธานในธรรมทั้งหลาย  ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้นย่อมตั้งอยู่ที่จิต จึงทรงสั่งสอนให้พระภิกษุรักษาจิตและชำระจิตให้บริสุทธิ์ตลอดพุทธกาล ไม่มีข้อปฏิบัติอย่างอื่นนอกเหนือไปจากนี้เลย

🌷 🌷 🌷 

ประมาณ ๕ เดือนหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ พระองค์ได้ทรงส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ รูป ซึ่งเป็นพระธรรมทูตออกไปประกาศพระศาสนา ทิศละรูปไม่ซ้อนทางกัน ด้วยพระดำรัสที่มักนำเฉพาะตอนที่ถือกันว่าสำคัญมากมาอ้างอิงอยู่เสมอ คือพุทธพจน์ที่ว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก 

ส่วนพระดำรัสเต็มว่า ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ (กายทิพย์) ทั้งที่เป็นของมนุษย์ (กายเนื้อ) แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปร่วมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น (คือศีล) งามในท่ามกลาง (คือสมาธิ) งามในที่สุด (คือปัญญา) จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลี คือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ แต่เพราะไม่ได้ฟังธรรมก็จะเสื่อมไปเสีย ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม

สรุปได้ว่า คนพาลไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ คืออริยมรรค เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้นเมื่อตายไป คนพาลจึงเข้าถึงกาย (การถือปฏิสนธิในกายอื่น) เมื่อยังเข้าถึงกาย เขาจึงไม่พ้นไปจากชาติ (ความเกิด) ชรา มรณะ (ความตาย) โศกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงกล่าวว่าเขาไปไม่พ้นจากทุกข์ 

ส่วนบัณฑิตได้ประพฤติพรหมจรรย์ คืออริยมรรค เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เป็นการสิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้นเมื่อตายไป บัณฑิตจึงไม่เข้าถึงกาย เมื่อไม่เข้าถึงกาย เขาจึงพ้นจากชาติ (ความเกิด) ชรา มรณะ (ความตาย) โศกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราจึงกล่าวว่าเขาพ้นจากทุกข์ 

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความแปลกกัน นี้เป็นความแตกต่างกัน นี้เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างบัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นั่นเอง เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔





Create Date : 30 ตุลาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:39:36 น.
Counter : 368 Pageviews.

0 comments
:: ชีวิตไม่ง่าย :: กะว่าก๋า
(18 ก.ค. 2567 05:13:27 น.)
การสร้างที่ผิด ปัญญา Dh
(18 ก.ค. 2567 00:15:35 น.)
:: จบตรงจุดที่เริ่มต้น :: กะว่าก๋า
(17 ก.ค. 2567 04:45:52 น.)
ขนาดนาม เนื้อนามของรูปธาตุ นามธาตุ ปัญญา Dh
(12 ก.ค. 2567 18:05:31 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]