สติปัฏฐาน ๔


🌷 สติปัฏฐาน ๔ 

วันพฤหัสบดีที่ ๔ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ 

เจริญพรพุทธบริษัททั้งหลาย ขอให้มีความสุขสวัสดี ให้มีความเจริญในธรรมแท้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

การได้ฟังพระธรรมเทศนาบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นการคอยเตือนจิตเตือนใจของตนให้ระมัดระวัง ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ผู้ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้นั้น ไม่ให้คลาดเคลื่อนจากภพชาติที่ดีเลิศประเสริฐนั้น 

คราวนี้ผู้ปฏิบัติธรรมเองก็มีที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง ผู้ที่ภาวนาได้แล้ว เดินตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คอยระวังรักษาจิตของตนให้รู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ คือรู้อยู่ที่รู้ ไม่ให้ไปรู้อยู่ที่เรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามากระทบ คอยประคองจิตของตน ให้มีวิตกวิจาร วิตกคือยกจิตขึ้นสู่ฐาน วิจารคือประคองจิตของตนไว้ที่ฐานเสมอๆ เป็นการเดินตรงต่อมรรคผลนิพพานซึ่งเป็นเรื่องต้องอาศัยความเพียรเป็นอย่างมาก 

ส่วนผู้ที่ภาวนาได้แล้วแต่ยังติดอยู่ในนิมิต มีฤทธิ์ทางใจ มักไปรู้เห็นในเรื่องราวต่างๆ ทางนิมิต ถ้าผู้ปฏิบัติผู้นั้นไม่รู้จักละวางนิมิตที่ปรากฏขึ้นมาบ่อยๆ นั้น เมื่อติดแล้วย่อมถอนยาก เรื่องแบบนี้มีเกิดขึ้นมานานและบ่อยมาก ขอยกคำกล่าวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) ดังนี้ 

แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่ง อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่ เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่า ตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง และใครเคยเกิดเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง หลวงปู่ว่า เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้ว ทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้รวดเร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลดีที่ได้รับก็คือทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตกต่ำ แล้วก็ตั้งจิตตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้งย่องในผลบุญของตน ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น เป็นอีกอย่างนึงต่างหาก 

ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรทั้งนั้นก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีลสมาธิปัญญาอย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ (มีในกาลามสูตร) การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง

หลวงปู่ยังแนะนำวิธีเข้าถึง อธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนให้เข้าถึงสัจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ได้น่าฟังน่าคิดด้วยว่า คิดเท่าใดๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงจะรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้

พอจะสรุปได้ว่า จิตคือธาตุรู้ ความคิดคืออารมณ์ที่จิตไปรู้อยู่ติดอยู่กับความคิดหรืออารมณ์นั้นๆ ต่อเมื่อพรากจิต (ธาตุรู้) เปลื้องจิตออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นๆ ได้ (หยุดคิด) มารู้อยู่ที่รู้ (ฐานที่ตั้งของสติ) การจะพรากจิตเปลื้องจิตออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้นั้น ต้องอาศัยการนึกระลึกลงไปที่กาย (หมวดหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔) เพื่อเป็นการสร้างสติปัฏฐาน (สติตั้งอยู่ที่ฐาน) อย่างต่อเนื่องเนืองๆ 

แต่ในปัจจุบันการเรียนธรรมะกันจนเห็นว่า จิตนั้นเป็นธรรมชาติเกิดดับ เหลวไหล บังคับบัญชาไม่ได้ จิตตายหายสูญ และในอัตภาพของคนเราอันประชุมพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรมนี้ ไม่มีอะไรเป็นสาระ ปราศจากแก่นสาร ไร้ประโยชน์ มีแต่สิ่งสกปรกลามกปฏิกูล เป็นของสูญ หาชิ้นดีอะไรไม่ได้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น นี่แหละจึงเป็นความเห็นถูกเห็นชอบที่นิยมกันอยู่ จึงหลุดพ้นจากสัสตทิฏฐิได้ เป็นของพุทธศาสนา 

ทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นเพราะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้าไปจนความหมายที่แท้จริงเลือนหายไป ซึ่งมีมาในสัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร ที่พระมหากัสสปะได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องสัทธรรมปฏิรูป (คำสอนแปลกปลอม)

คราวหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ที่วัดเชตวัน พระมหากัสสปะได้เข้าเฝ้าถึงที่ประทับ ได้ทูลถามว่า เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อย ภิกษุได้สำเร็จอรหันต์มีมาก แต่เวลานี้ (เอตรหิ) สิกขาบทมีมาก ภิกษุได้สำเร็จพระอรหันต์กลับมีน้อย อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น

มีพระดำรัสตอบว่า กัสสปะเรื่องนี้เป็นอย่างนี้คือ เมื่อเหล่าสัตว์เสื่อมทรามลง สัทธรรมเสื่อมถอย สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุสำเร็จอรหันต์จึงมีน้อยลง สัทธรรมปฏิรูป (คำสอนแปลกปลอม) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกอยู่ตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป ต่อเมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมก็จะเลือนหายไป 

กัสสปะ เหมือนหนึ่งว่า ทองเทียม (ชาตรูป ปฏิรูปกัง) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำแท้ (ชาตรูปัง) ก็ยังไม่หายไป ต่อเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองแท้จึงหายไป สัทธรรมก็เช่นกัน ตราบใดที่สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป เมื่อใดที่สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น เมื่อนั้นสัทธรรมจึงเลือนหายไป โมฆบุรุษทำให้สัทธรรมเลือนหาย (อันตรธาน) 

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ยังสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ แท้จริงแล้วโมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหากเกิดขึ้นมาทำให้สัทธรมเลือนหายไป เหมือนเรือจะอับปางก็เพราะต้นหน (คนนำทาง) เท่านั้น สัทธรรมเลือนหายไปด้วยเหตุอย่างนี้ 

พุทธบริษัทที่ทำให้สัทธรรมเลือนหาย กัสสปะ เหตุฝ่ายเสื่อม ๕ อย่างต่อไปนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่อความเลือนหายไปแห่งสัทธรรม นี่คือการที่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ๑. ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๒. ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๓. ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๔. ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา (สิกขา ๓) ๕. ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ เหตุฝ่ายเสื่อม ๕ อย่างเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่อความเลือนหายแห่งสัทธรรม

จากสัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร จะเห็นได้ว่าเพราะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งคำสอนต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ตามมติความถูกใจของพวกตน โดยเฉพาะในเรื่องของจิต ในเรื่องของอนัตตา เพราะมีการตีความให้ความหมายผิด จนทำให้ความหมายที่ถูกต้องคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เช่น ไม่มีอยู่จริง ไม่มีตัวตน โนอัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็เกิดความผิดพลาดขึ้นมาจนได้ ด้วยให้ความหมายของคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา แปลว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) กลับหมายรวมเอาพระนิพพานเข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สิ่งใดเป็นอนัตตา พวกเธอจงละเสียซึ่งสิ่งนั้นเสีย 

ส่วนในอนัตตลักขณสูตร พระองค์ทรงให้ความหมายไว้ชัดเจนยิ่ง โดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา ธรรมเหล่านี้ไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา ทุกฺขา ธรรมเหล่านี้เป็นทุกข์ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต) ดังนี้

และตอนที่พระองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ได้มีพุทธอุทาน ดังนี้ "ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ แปลว่า เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี มารู้จักตน (จิตอันเป็นที่พึ่งอาศัย) เข้าด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากจิตสงบ เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุข และทุกข์ ดังนี้"

เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อมีที่ไม่ใช่ตน พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ต้องมีที่ใช่ตน พึ่งพาอาศัยได้ ดังเรามักจะได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวตักเตือนบุตรหลานของตนที่เข้าสู่วัยทำงานแล้วว่า เมื่อไหร่ถึงจะเป็นตัวเป็นตนเสียที ทั้งที่เจ้าตัวก็นั่งฟังเฉยอยู่ที่นั่นด้วย ตัวตนในอีกนัยยะหนึ่ง ไม่ใช่รูปร่างกายที่เป็นตัวตนจับต้องได้ แต่เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ขอยกคำกล่าวของท่านอาจารย์ไชยทรง จันทรอารีย์ ดังนี้

อนัตตา เป็นความรู้ความเห็นของพระอริยเจ้าโดยตรง คนสามัญไม่รู้จัก ก็เพราะพระอริยเจ้าท่านรู้จักอัตตา คือจิตที่ฝึกฝนอบรมดีแล้ว เป็นตัวเป็นตนเป็น ที่พึ่งที่อาศัยของใครๆ ได้ ส่วนสามัญชนไม่รู้จักอัตตา เพราะยังปล่อยจิตปล่อยใจไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง (จิต) ตามที่ต้องการ มากน้อยแล้วแต่บุคคล เนื่องจากไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมด้วยภาวนานุโยค จิตจึงไม่มีพลังมากพอที่จะพึ่งพาอาศัยได้ ในยามถูกกิเลสครอบงำ จึงได้เที่ยวจับผิดๆ ไม่ถูกอัตตา (ที่พึ่งอาศัย) สักที 

ครั้นได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษว่า ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม อันมีรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) บุคคลผู้มีปัญญาก็คลำหาอัตตา ที่พึ่งอาศัย ได้ถูกต้อง แต่คนบาปหนากลับบอกว่า อัตตา ตัวตน ไม่มี 

อุปมาดั่งคนที่เข้าไปยึดถืออาศัยบ้านอยู่ คนย่อมไม่ใช่บ้านและบ้านย่อมไม่ใช่คน ข้อนี้ฉันใด จิตที่อาศัยอยู่กับขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงแยกกล่าวให้ละเอียดได้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่ใช่จิต แต่จิตเป็นผู้รู้อยู่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเกิดขึ้นที่จิตแล้วก็ดับไปจากจิต นามขันธ์ทั้ง ๔ ล้วนเป็นอาการของจิตที่แสดงออกมาเมื่อจิตรับอารมณ์ต่างๆ กันทางช่องหน้าต่างบ้านที่ตนอาศัยอยู่ ช่องหน้าต่างทั้ง ๖ ช่องเปรียบเหมือนอายตนะทั้ง ๖ (ช่องทางรับอารมณ์)

จากนี้ เราก็เข้าเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา ต่อจากวันพระที่แล้ว (๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔)

🌷 สติปัฏฐาน ๔ (การใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง)

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้เสด็จออกประกาศเป็นศาสนาไปในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลของชมพูทวีป หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีชื่อเรียกได้หลายอย่างตามความเหมาะสม และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ทรงผ่านไปนั้นๆ เช่น ทางสายกลางบ้าง ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง อริยมรรคบ้าง มรรคมีองค์ ๘ บ้าง  ศีลสมาธิปัญญาบ้าง ซึ่งพระอรรถกถาจารย์เรียกว่า วิปัสสนา

ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับของชาวพุทธ นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่รวบรวมข้อปฏิบัติทั้งหลายไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด เพราะฉะนั้น พระสูตรดังกล่าวนี้  จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระศาสนา ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริง ประโยชน์ย่อมผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เหมือนดังไม่ได้พบพระศาสนาทีเดียว

ที่ว่าใช้สติอย่างไม่ขาดสายให้เข้าไปตั้งอยู่ในที่ ๔ แห่ง คือ เมื่อมีสิ่งใดหรืออารมณ์อย่างใดเกิดขึ้นก็ตาม ให้รักษาควบคุมสติให้ตั้งมั่นอยู่ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยไม่ให้คลาดเคลื่อนไปอยู่ที่อื่นเลย จึงสามารถตัดอารมณ์กับอาการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ต่างๆ ได้ ถ้าสามารถรักษาสภาวการณ์เช่นนี้ไว้ได้ตลอดไปแล้ว จิตก็หลุดพ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเลือกฐานใดไว้เป็นที่ตั้งของสติก็ตาม ย่อมกระเทือนและส่งผลกระทบไปถึงฐานอื่นที่เหลือ และทำให้ผู้ปฏิบัติคลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์กับการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ (โลก) ตามลำดับเหมือนกันหมด

ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายซึ่งจะเข้ามาถึงจิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทางฐานกาย เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทางฐานเวทนา เมื่อรู้สึกทุกข์สุขทางเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่งฐานจิต ให้ยินดียินร้ายขึ้น เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆ จากภายนอกมาประกอบเป็นฐานธรรมขึ้น ซึ่งจะต้องละวางออกไปให้หมดสิ้น จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากความเศร้าหมองเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

🌷 ธรรมะที่เกื้อกูลการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

จากที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่าในขณะที่อารมณ์เข้ามากระทบอายตนะทางหนึ่งทางใดนั้น ย่อมกระเทือนฐานทั้ง ๔ อย่างทั่วถึงกันเข้าไปสู่จิต และย่อมทำให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมามากบ้างน้อยบ้าง ตามความรุนแรงและความประทับใจที่มี

ดังนั้น คุณธรรมเรื่องขันติ (ความอดทน) จึงมีความจำเป็นสำหรับรองรับในเบื้องต้น ในเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ หมายความว่า ถ้าขาดคุณธรรมเรื่องขันตินี้เสียแล้ว การปฏิบัติสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาจะไม่มีทางสำเร็จได้โดยง่าย ได้แก่ ตีติกขาขันติ อดทนต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวน ยั่วยุ อย่างหนึ่ง อธิวาสขันติ อดทนต่อความลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย และทุกขเวทนาต่างๆ  และธีติขันติ อดทนต่อความหนาวร้อน หิวกระหาย และหน้าที่การงาน รวม ๓ ประการเหล่านี้ด้วย

อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ มี ๒๑ บรรพะ แบ่งออกเป็น

กายานุปัสสนา (ฐานกาย) มี ๑๔ บรรพะ ดังนี้คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ธาตุ ๑ และป่าช้า ๙
เวทนานุปัสสนา (ฐานเวทนา) มี ๙ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกัน
จิตตานุปัสสนา (ฐานจิต) มี ๑๖ ข้อ แต่นับรวมเป็นบรรพะเดียวกันะ
ธัมมานุปัสสนา (ฐานธรรม) มี ๕ บรรพะ คือ นิวรณ์ห้า ๑ ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑

เมื่อรวมทั้ง ๔ ฐานแล้ว จึงมีอารมณ์รวม ๒๑ บรรพะ สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของสติเวลาปฏิบัติ ซึ่งต่างกว่าอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มาในวิสุทธิมรรคของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไม่มีกสิณ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อรูป ๔ รวมอยู่ด้วย 

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติยังติดข้องอยู่ จิตนั้นก็ชื่อว่าเป็นสัตว์อยู่ แต่ถ้าปล่อยวางเสียได้ก็ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังที่ตรัสไว้ในตอนต้นของพระสูตรว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา แปลว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย นั้นทีเดียว

สำหรับอารมณ์สมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ที่มีมาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นปกรณ์พิเศษนอกพระไตรปิฎกนั้น มีกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ รวม ๔๐ อย่างเหล่านี้ มีผลเพียงทำให้จิตผู้ปฏิบัติสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ และยึดอารมณ์นั้นๆ อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นจึงไม่เกิดปัญญาปล่อยวางแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ผู้ที่หวังความหลุดพ้น จึงต้องเพิกอารมณ์เหล่านี้เสีย แล้วหันมาใช้อารมณ์ ๒๑ บรรพะ อย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น

อารมณ์ข้ออสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อานาปานสติ ๑ ในสมถะกัมมัฏฐาน ๔๐ ดังกล่าวเหล่านี้ พอจะสงเคราะห์เข้ากับอารมณ์ในกายานุปัสสนาได้ เพราะเหมือนกัน จึงเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญาได้

อารมณ์ที่มีอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ รวม ๒๑ บรรพะ ดังที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้ สงเคราะห์ลงเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยมีสัมมาสมาธิเป็นประธานได้ เมื่อจิตมีสมาธิอยู่ อกุศลก็ย่อมเข้าปรุงแต่งไม่ได้

ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องเป็นประจำจนเคยชิน สำรวมระวังตัวอยู่เป็นประจำ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติของตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง แบบที่เรียกกันว่า ไปเข้ากัมมัฏฐานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ออกจากกัมมัฏฐานเสียเด็ดขาด คือทิ้งวิธีปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ไม่ฝึกใช้สติกำกับการกระทำต่างๆ ไว้ด้วยตลอดเวลา กิเลสทั้งหลายก็ย่อมพากันหลั่งไหลเข้าสู่จิตของผู้นั้น ตอนออกจากกัมมัฏฐานนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่นับถือปฏิบัติ ใช้สติตามระลึกอย่างไม่ขาดสายเข้าไปในอารมณ์ที่มีอยู่ในฐานทั้ง ๔ จะได้ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสเข้าสู่จิตได้แม้แต่วินาทีเดียว

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการออกจากกัมมัฏฐานตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรือที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่วัดหรือสำนักใดก็ได้ เพียงแต่ปฏิบัติจนรู้จักจิต จับทางเดินของจิต และจำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว 

ใครปฏิบัติมาก สำรวมระวังจิตไว้ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์มาก ใครปฏิบัติน้อย สำรวมระวังไม่ดี ก็ย่อมได้ประโยชน์น้อย และใครไม่ปฏิบัติเลย ขาดความสำรวมระวังจิตอย่างสิ้นเชิง ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนานี้ ไม่ได้อยู่ที่การบวชและห่มผ้าเหลืองแต่ประการใดทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่องสติปัฏฐาน ๔ จึงสามารถตรวจสอบที่จิตของตนเองว่า เมื่อมีอารมณ์มากระทบเมื่อใดแล้ว มีพลังสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นหรือไม่ กล่าวคือตัดความยินดียินร้ายออกไป และทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ได้หรือไม่ ดังนี้

🌷 🌷 🌷 

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระศาสนาปฏิรูปไปนั้น ก็คือเรื่องของจิต เพราะจิตนั้นเป็นธาตุรู้ ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย เมื่อรู้ผิดไปจากความเป็นจริง พอตายลงก็จุติ (เคลื่อนออกไป) สู่รูปร่างกายอื่น ก็หลงยึดเอารูปร่างกายใหม่ว่า เป็นตัวตน เป็นของตน เมื่อมีการยึดถือขึ้นมา ก็แสดงอาการยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่อารมณ์ความรู้สึกนั้นที่เข้ามากระทบ 

เมื่อมีเรื่องน่ายินดีก็ประสบกับสุขเวทนา ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมเพ้อหา ย่อมผูกจิตติดใจในฉันทราคะ มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต สะสมราคะไว้ในจิตโดยไม่รู้ตัว 

เมื่อยินร้ายเกิดขึ้นก็ประสบกับทุกขเวทนา ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ ร่ำไร รำพัน คร่ำครวญ งมงาย มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต สะสมความขัดเคืองไว้ในจิตโดยไม่รู้ตัว 

เมื่อประสบกับอทุกขมสุขเวทนาที่เรียกว่าเฉยโง่นั้น ย่อมไม่รู้เท่าทันในความเกิดขึ้น ความดับไป คุณโทษ และวิธีสลัดเวทนานั้นตามความเป็นจริง มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต สะสมความไม่รู้จริงไว้ในจิตโดยไม่รู้ตัว

อาการดังกล่าวนี้จิตรู้มั๊ย ย่อมต้องรู้ จึงได้จดจำ (สัญญา) ยินดีก็รับไว้ ยินร้ายก็ผลักไสออกไป ที่จดจำไว้เพื่อเก็บไว้ปรุงแต่งต่อไปในครั้งคราวต่อๆ ไป (สังขาร) เมื่อปรุงแต่งจนพอใจแล้วก็ถูกเก็บไว้เป็นวิญญาณ คือแจ้งในอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นกับอายตนะต่างๆ เพราะไปเข้าใจเอาอาการของจิตคือนามขันธ์ ๔ อันมี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นจิต จึงได้เข้าใจว่าจิตเป็นของเหลวไหล บังคับบัญชาไม่ได้ 

ส่วนจิตที่รู้ถูก คือรู้เห็นตามความจริงในอริยสัจ ๔ เมื่อยินดียินร้ายเกิดขึ้น ก็มีพลังจิตมากพอที่จะปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้จิตยินดียินร้ายออกไปจากจิตของตนได้ เวทนาย่อมดับ เมื่อเวทนาดับ ตัณหาย่อมดับไปด้วย เป็นวิราคธรรมคือธรรมที่แยกแล้ว (จิตได้แยกออกจากอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์)

ขอนำคำกล่าวของกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ ไว้ดังนี้

จิตเดิมเป็นธรรมแท้    ไม่ผันแปรแลเวียนวน
ประเสริฐสุดในสากล   เป็นตัวตนไม่เกิดตาย
ขันธ์ห้านั้นเกิดดับ  คำนวณนับก็มากหลาย
จิตเดิมนั้นไม่ตาย      ไม่ยักย้ายและถ่ายเท
ใครรู้เพียงแค่ขันธ์   ความรู้นั้นยังอ่อนแอ
ผู้ใดรู้จิตแท้              ผู้นั้นแลคือโพธิญาณ
เอวัง.
      
พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔






Create Date : 05 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:39:52 น.
Counter : 526 Pageviews.

0 comments
การสร้างที่ผิด ปัญญา Dh
(18 ก.ค. 2567 00:15:35 น.)
17 กค 67 Live วัดป่าภูไม้ฮาว mcayenne94
(17 ก.ค. 2567 19:31:28 น.)
ขนาดนาม เนื้อนามของรูปธาตุ นามธาตุ ปัญญา Dh
(12 ก.ค. 2567 18:05:31 น.)
: ธรรมTrip 2 รวมมิตรรวมใจ : กะว่าก๋า
(11 ก.ค. 2567 05:47:59 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]