พระนิพพาน


🌷 พระนิพพาน

วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๒

เจริญสุขท่านสาธุชนทั้งหลาย ที่ใฝ่ใจน้อมเอาธรรมะเข้ามาสู่ตน โอปนะยิโก เพื่อปรารภความเพียร ให้รู้ถึงเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงแก่นแท้พระศาสนาแล้วทำให้นึกถึงหัวใจพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตของตนเอง ให้รู้จักการปล่อยวางอารมณ์ความยึดมั่นถือมั่นออกไป 

ส่วนลัทธิและศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ก็แทบไม่แตกต่างไปจากพุทธศาสนาเลย คือ สอนให้ละชั่ว ทำความดี ส่วนทางด้านจิตใจนั้น สอนให้สวดมนต์อธิษฐานจิต ด้วยการร้องขอเอาจากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนนับถือ ช่วยดลบันดาลความสุข ความมีโชค ความร่ำรวย ความปลอดภัยไร้โรคา ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว 

ที่แตกต่างกันนั้นตรงนี้ คือ พุทธศาสนาอยู่ในหลักเหตุผล ให้ฝึกฝนอบรมจิตของตนจนบริสุทธิ์หมดจด เข้าสู่วิมุตติสุข จิตหลุดพ้น ได้มรรคผลนิพพาน ตามสติกำลังของตน 

พระองค์ทรงตรัสว่าถ้าการร้องขอหรืออธิษฐานแล้วได้ผล จะไม่มีคนจนอยู่ในโลกนี้เลย แต่ก็ยังมีพุทธศาสนิกชนที่ยังมีกำลังใจอ่อนนั้น ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ยังหนีไม่พ้นการร้องขอจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพราะเป็นการง่าย เป็นการลงทุนที่น้อย หวังผลจากอารมณ์ความรู้สึกคิดได้มาก แต่ความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถามว่าบุคคลเหล่านั้นไม่รู้หรือ ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่ารู้ ในสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงต้องการ เพราะพระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบปราณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ (นึกเดาเอา) ละเอียด บัณฑิต (ผู้มีกิเลสเบาบาง) เท่านั้น จึงจะรู้ได้ 

เพราะเหตุนี้ชาวพุทธส่วนมากจึงเพียงเข้าวัด ถวายทาน รักษาศีล ในวันสำคัญๆ ทางศาสนาเท่านั้น ส่วนการภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญาในทางจิตใจ เพื่อความวิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันเกินวิสัยที่ตนจะกระทำได้ เพราะคิดไปเอง โดยมากที่ให้ทานรักษาศีล ก็เพียงเพราะกลัวความตกต่ำลำบากในชีวิตปัจจุบัน และอนาคตกาลอันยาวไกลไปถึงภพหน้า ด้วยการอธิษฐานจิตขอเอาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระที่วัดนั่นเอง  โอกาสที่เป็นไปได้นั้นมีอยู่ เฉพาะกับบุคคลที่เคยได้กระทำกรรมอันสืบเนื่องด้วยสิ่งนั้น สะสมไว้ก่อนมาแล้ว  ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้วว่า บางคนไปอธิษฐานไปขอไว้ที่นั่นที่นี่แล้ว บรรลุผลอันตนเองต้องการ ก็เที่ยวเดาส่งไปเลยว่า เกิดจากการที่ตนเองอธิษฐานและขอไว้ ซึ่งเป็นการคิดเองเออเองของตนเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว กิเลสกรรมวิบากที่ตนได้เคยสะสมไว้ ได้กระทำไว้ต่างหาก ที่ส่งผลให้เกิดสิ่งที่ขอนั่นแหละ เที่ยงแท้แน่นอนที่สุด 

ส่วนบุคคลอีกจำพวก ที่เคยได้มีสายบุญสายกรรมสัมผัสกับหลักธรรมที่แท้จริง อันคือจิตมาก่อน ย่อมต้องกำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรมแท้ ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดในการสืบต่อ ในการเพียรประคองจิตของตน ให้อยู่ในฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ จนเป็นวสี เพราะเป็นส่วนสำคัญมากในการเดินมรรคจิตสู่อริยมรรคนั่นเอง 

ส่วนมากแล้วได้ชื่อว่า เพียงแค่ได้สัมผัสกับหลักธรรมที่แท้จริงเท่านั้น คือเพียงแค่เคยภาวนาได้ และได้รับผลความอัศจรรย์ทางจิตมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว ก็เข้าใจไปว่านั่นตนเองได้แล้ว และก็ปล่อยปละละเลยในสิ่งที่เคยได้นั้น ด้วยขาดความเพียรอย่างต่อเนื่อง ทำให้การภาวนาในโอกาสต่อๆ ไปเหมือนการเริ่มต้นใหม่ทุกๆ ครั้งไป เพราะจำทางเดินของจิตไม่ได้ นานวันไปก็จะล้าไปเอง เพราะอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยังครอบงำจิตอยู่

ในบางรายนั้น ไม่มีสายบุญสายกรรมเก่าสะสมไว้มาก เมื่อสัมผัสได้ถึงหลักธรรมที่แท้จริง กลับกลัวไปเองว่า เมื่อภาวนาต่อไปอีก เดี๋ยวตนเองจะหมดกิเลสไปซะ เพราะตนเองยังอยากมีกิเลสอยู่ โดยเข้าใจผิดด้วยคิดเองเออเองเท่านั้น ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว การจะสำรอกอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปจากจิตนั้นได้ ไม่ใช่ของง่ายๆ เลย บุคคลผู้ที่สำรอก อวิชชา ตัณหาอุปาทานได้นั้น แม้อารมณ์เพียงนิดก็เจือติดจิตของตนไม่ได้ นั่นแหละของจริง 

และยังมีความเข้าใจผิดอย่างไม่น่าให้อภัยเลย เรื่องการปฏิบัติกรรมฐานภาวนา สืบเนื่องจากไปฟังไปเชื่อบุคคลผู้ที่ตัวเองยังภาวนาไม่เป็น เพราะไม่รู้จักจิต เพียงเพราะคำพูดและความน่าเชื่อถือของผู้พูดนั้น ตรงกับจริตตรงใจของตนที่คิดไว้เท่านั้น ทั้งที่ในกาลามสูตร พระพุทธองค์ได้กล่าวว่า มา ภพฺพรูปตาย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เหตุเพราะผู้พูดควรเชื่อได้ ลักษณะดี อยู่ในฐานะที่ดี พระองค์ทรงให้ฟังด้วยดี แล้วสมาทานนำไปปฏิบัติ แต่ที่สำคัญคือ ผู้รู้ต้องไม่ติเตียน

มีพุทธพจน์ในสมาธิสูตร ดังนี้ "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (หรือผู้ที่มีจิตสงบ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์แล้ว) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง" 

หลักธรรมที่แท้จริงคือจิตที่ตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ที่ยังสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ ย่อมได้ชื่นชมอรหัตตผล ส่วนผู้ที่ยังสัมมาสมาธิเพียงบางส่วน ย่อมได้ชื่นชมผลส่วนที่เหลือ  กล่าวได้ว่าสัมมาสมาธิไม่เป็นหมันเลย เพราะความเพียรมีผล ความพยายามมีผล

บุคคลผู้ที่ลงมือภาวนาได้สัมผัสหลักธรรมที่แท้จริงเพียงแตะๆ เท่านั้น อย่างน้อยก็ได้ฆราวาสธรรม เป็นหลักธรรมของผู้ครองเรือน มี ๑. สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒. ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตน รู้จักข่มใจควบคุมอารมณ์ ๓. ขันติ ความอดทน ๔. จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่แบ่งปัน มีน้ำใจ 

ส่วนบุคคลผู้เข้าถึงสัมผัสหลักธรรมที่แท้จริงยิ่งๆ ขึ้นไป ย่อมได้ผลตามลำดับขั้น อันมี เทวธรรม พรหมสมบัติ นิพพานสมบัติ สืบเนื่องจากการลงมือปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั่นเอง

ต่อจากนี้ เรามาเข้าสู่ หัวใจพระพุทธศาสนา อันต่อจากวันพระที่ผ่านมา (วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) เป็นตอนสุดท้าย

🌷 พระนิพพาน 

คําว่า พระนิพพาน นี้ เป็นคําที่ออกหน้าออกตามากกว่าคําอื่นในภาคโลกุตรธรรม และเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ชาวพุทธอธิษฐานขอให้บรรลุถึง แต่ในทางธรรมะใช้คําอื่นอีกหลายคําเรียกแทนเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน เช่น มทนิมฺมทาโน (ดับความมัวเมา)  ปิปาส วินโย (กําจัดความกระหาย)  อาลยสมุคฺฆาโต (ตัดความห่วงอาลัย)  วฏฺฏูปจฺเฉโท (ตัดวัฏฏะ) ตณฺหกฺขโย (สิ้นตัณหา) วิราโค (สิ้นความยินดี) นิโรโธ (ดับกิเลส) คือพระนิพพาน

ในหนังสือปุพพสิกขาวรรณนาได้บรรยายไว้ว่า พระนิพพานเป็นธรรมอันละเอียด สุขุมลุ่มลึกอันใครๆ ไม่สามารถจะชี้แจงแสดงได้ แม้แต่พระบรมศาสดาและพระอรหันต์สาวกก็ไม่สามารถแสดงได้ แต่ท่านเหล่านี้จะรู้ได้เฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่ใช่วิสัยที่คนอื่นจะรู้ตามได้ ดังรายละเอียดปรากฏอยู่แล้วนั้น ถ้าผู้ที่อ่านพบเห็นเข้า ใช้สติปัญญาไตร่ตรองดูให้ดีแล้ว จะดูกระไรๆอยู่ ในข้อที่ว่า พระบรมศาสดาและพระอรหันต์สาวกชี้แจงให้เห็นไม่ได้ ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนอย่างชัดเจนว่า พระองค์ได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว และชาวพุทธทุกคน ทุกท่าน ต่างก็เชื่อสนิทว่าพระองค์ได้บรรลุถึงพระนิพพานจริงๆ เช่นนั้น

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว คําว่า นิพพาน เป็นคําสมมุติบัญญัติที่มีมาในศาสนาอื่นก่อนศาสนาพุทธ เช่น ศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงหรือได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาเหนือบุคคลธรรมดาด้วยกัน มีอยู่ ๕ ประการ คือ การได้ครอบครองกามคุณ ๕ อย่างเพียบพร้อม การเข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน  ตติยฌาน  จตุตถฌาน ศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นพระนิพพาน

ส่วนคําว่า นิพพาน ในพระพุทธศาสนานั้น มิได้หมายความเหมือนศาสนาอื่น ดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว เรายอมรับกันว่าพระนิพพานเป็นธรรมชั้นสูงสุดเหนือโลกียธรรมทั้งหลาย และเป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนานี้ สําหรับผู้ที่เบื่อทุกข์ต่างๆ ในโลก จะได้เข้าถึงด้วยการลงมือปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาอย่างแรงกล้า และต่างก็คิดว่าเมื่อได้เข้าถึงพระนิพพานแล้ว ก็จะหมดทุกข์ในโลก ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายต่อไปอีก

🌷 พระนิพพานอยู่ที่ไหน? 

ถ้าสังเกตดูพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องพระนิพพาน และทางไปสู่พระนิพพานทุกบท ทุกตอน และทุกเรื่องให้ดีแล้ว จะเห็นว่าพระองค์ได้ทรงชี้ให้ทุกคนค้นหาพระนิพพานในอัตตภาพอันประชุมพร้อมด้วยรูปนามนี้เอง มิได้ทรงชี้ให้เที่ยวหาออกไปภายนอก แต่ประการใดทั้งสิ้น ดังตัวอย่างคําพังเพยของผู้รู้ที่กล่าวตามๆ กันมาว่าดังนี้คือ "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นิพพานนั้นก็อยู่ไม่ไกล้ไม่ไกล เพียงหายใจก็ได้ยิน" เป็นต้น เรายอมรับกันว่าถูกต้องเสียด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระนิพพานอันเป็นสภาพธรรมที่มีแก่นสารก็ย่อมอยู่ในอัตตภาพร่างกายและจิตใจของเรานี้เอง ไม่ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว ดังที่เล่าเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น อุปมาดังก้อนเพชรที่หมกตัวรวมอยู่กับแท่งหินใหญ่ในภูเขา ฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องค้นหาเพชรจากแท่งหินในภูเขา ไม่ใช่ไปค้นที่อื่น ข้อนี้ฉันใด พระนิพพานก็มีรวมอยู่ในอัตตภาพร่างกายและจิตใจเหมือนกัน ดังนั้น จึงต้องค้นหาพระนิพพานภายในอัตตภาพร่างกายและจิตใจของเรานี้ จะไปค้นหาพระนิพพานจากที่อื่นไม่ได้ ข้อนี้ก็ฉันนั้น ซึ่งสอดคล้องกับคําสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างยิ่ง

เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ล่วงมานานมาก และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายทาง หลายทอด ดังนั้น เมื่อพูดถึงพระนิพพานขึ้นมา ก็ย่อมมีรายละเอียดผิดเพี้ยนกันไปมาก บ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา บางที่ก็อธิบายว่า พระนิพพานเป็นเมืองแก้วเมืองสวรรค์ ทําให้ผู้ฟังนึกเลยออกไปถึงแสงสีอันวูบวาบของเพชรนิลจินดาก็มี บางที่ก็สอนว่า ในพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรปลอดจากสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสภาพว่างๆ แต่ไม่ชี้ชัดลงไปว่าอยู่ที่ไหนก็มี บางที่ก็สอนเปรียบพระนิพพานกับความร้อนเย็นว่าข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ยังร้อนอยู่ ไม่ใช่พระนิพพาน ต้องปล่อยข้าวให้เย็นเสียก่อน จึงจะนิพพานก็มี 

บางที่ก็สอนว่าในอัตตภาพอันประชุมพร้อมด้วยรูปและนามนี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักชิ้น คือหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ซ้ำยังกล่าวโทษผู้ที่พูดว่ามีอะไรเป็นแก่นสารรวมอยู่ในอัตตภาพนี้ว่า เห็นผิดอย่างร้ายแรงทีเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็หมายความว่า จะต้องออกไปค้นหาพระนิพพานที่อื่น ภายนอกอัตตภาพร่างกายและจิตใจ อาจจะต้องออกไปค้นหาตามห้วยหนองคลองบึง ท้อง ทะเล เมฆหมอก หรือตามป่าเขาลําเนาไพร แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ แต่ยังไม่มีใครชี้ที่อื่นภายนอกให้ค้นหาพระนิพพานอย่างแน่นอนได้สักแห่งหนึ่ง ทําให้ผู้ฟังเกิดความสับสน จับจุดสําคัญในความหมายของคําว่า พระนิพพาน ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวพุทธจึงเพียงแต่ขอให้ถึงด้วยการอธิษฐานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้ถึงจริงๆ เลย

🌷 พระนิพพานในทัศนะของพระพุทธโฆษาจารย์

พระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพระอรรถกถาจารย์ในพระพุทธศาสนา ได้ให้ทัศนะเรื่องพระนิพพาน ไว้ดังนี้คือ

พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่มโนภาพที่จิต เนรมิตขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง

อันหนวดเต่าเขากระต่าย เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาในครั้งไหนๆ แต่กาลก่อน อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่อย่างแท้จริง แต่พระนิพพานนั้น ไม่ใช่หนวดเต่าเขากระต่าย เพราะว่าพระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง

บรรดาสังขารทั้งหลาย มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป แต่พระนิพพานนั้น ไม่ปรากฏในการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป แต่ปรากฏความเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดอนันตรกาล

🌷 พระนิพพานในทัศนะของพระอภิธรรม

ในพระอภิธรรมนั้น ถือว่า "จิตคือวิญญาณขันธ์" หมายความว่า เมื่อพูดถึงจิตขึ้นมาแล้ว จะต้องมีอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งเป็น "สังขารธรรม" อยู่เสมอ จะแยกออกจากอารมณ์ไม่ได้ ดังนั้น จึงเข้าใจว่า จิตหรือวิญญาณขันธ์จะต้องดับลงเสียก่อน จึงจะบรรลุถึงพระนิพพานได้ พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายเป็นแต่เพียงหมดกิเลสเท่านั้น ต้องรอให้จิตดับตายหายสูญไปเสียก่อน จึงจะบรรลุถึงพระนิพพาน หมายความว่าพระอรหันต์จะบรรลุถึงพระนิพพาน เมื่อตายแล้ว เพราะไม่ยอมรับหลักธรรมว่า สามารถปฏิบัติธรรมเพื่อแยกเอาอารมณ์ออกจากจิตได้  ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าได้ปฏิบัติสัมมาสมาธิจนย่างเข้าสู่สภาพที่สิ้นสุดจากอารมณ์ที่เรียกว่า โคตรภูญาณ ก็ยังถือว่าต้องยึดพระนิพพานเข้ามาเป็นอารมณ์ของจิตอีกต่อไป

ในคัมภีร์พระอภิธรรมถือว่า จิตไม่ใช่นิพพาน นิพพานไม่ใช่จิต ดังนั้นในพระนิพพานจึงไม่มีจิต ใครมีจิตอยู่จึงบรรลุถึงพระนิพพานยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ฟังจึงจับจุดสําคัญ เรื่องนี้ว่า เมื่อบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงสภาพดับตายหายสูญอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในพระสูตรไม่ได้กล่าวไว้เช่นนี้

🌷 พระนิพพานในทัศนะของพระสูตร

ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระสูตรสําคัญๆ ทั้งหลายนั้น เช่น อนัตตลักขณสูตร เป็นต้น ถือว่าจิตหลุดพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิง เป็นแก่นสารของพระศาสนา เป็นนิพพาน หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาจนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่บรรลุถึงพระนิพพาน และรู้ว่าตนเองจิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุด ไม่มีกิเลสอันใดตกค้างอยู่อีกต่อไปตนได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้วด้วย

พระพุทธอุทานที่ได้ทรงเปล่งออกภายใต้ต้นโพธิ์ เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ๆ ว่า "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมซฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า พระนิพพานก็คือจิตที่สิ้นการปรุงแต่ง หรือจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง ผู้ที่ปฏิบัติถึงสภาวะเช่นนี้แล้ว ย่อมรู้อยู่ว่า "ตนได้บรรลุพระนิพพานแล้วด้วยกันทุกคน" ทั้งนี้แสดงว่า ในพระนิพพานนั้น มีจิตที่สะอาดอยู่ด้วย เพราะสิ่งปรุงแต่งที่ทําให้จิตสกปรกได้ดับไปหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น พระนิพพาน คือ ความสะอาดของจิต จึงอยู่คู่กับจิต เป็นธรรมดา

เราสามารถกล่าวยืนยันอย่างแข็งแรงได้ว่า ไม่มีผู้ใดสามารถแยกสีเหลืองสุกปลั่ง ซึ่งแสดงความบริสุทธิ์ของทองคําออกไปเป็นคนละส่วนจากเนื้อทองคําได้ ฉันใด พระนิพพาน ซึ่งประกาศความบริสุทธิ์ของจิต ก็มิอาจทําให้อยู่แยกเป็นคนละส่วนจากจิตได้ ฉันนั้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องสงเคราะห์คําอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ที่ว่า "เมื่อได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว จิตนั้นก็ดับไปหมดสิ้น" ดังนี้คือ สิ่งที่ปรุงแต่งจิต ที่เรียกว่า "จิตสังขาร"เท่านั้นที่ดับไปอย่างหมดสิ้น คงเหลือสภาพจิตที่บริสุทธิ์อยู่ในพระนิพพานนั้นตลอดไป มิฉะนั้น ก็ย่อมทําให้เกิดความสงสัยคลุมเครือจนเสียเหตุผลได้ว่า ความบริสุทธิ์ที่เหลือไว้ให้เรียกว่าพระนิพพานนั้น ตั้งอยู่กับอะไร? กล่าวคือ ความบริสุทธิ์มีอยู่อย่างลอยๆ หาที่ตั้งไม่ได้

ความจริงมีอยู่ว่า ถ้าน้ำบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ก็ตั้งอยู่กับน้ำจํานวนนั้น ถ้าจิตบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ก็ย่อมต้องตั้งอยู่กับจิตนั้น  ถ้าสงเคราะห์ให้ทั้งจิตผู้รู้และอารมณ์ที่ปรุงแต่งดับหมดแบบเถรตรงแล้ว ย่อมเสียเหตุผลดังที่กล่าวมานี้เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมก็ผิดจากสภาวะที่เป็นจริง คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ตัวตลอดเวลาว่า ได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว (คือมีจิต "รู้" อยู่ด้วยเสมอ) จิตไม่ได้ดับ แต่รู้ว่าสิ่งที่ปรุงแต่งจิตได้ดับหายไปแล้ว

เรื่องนี้สามารถยกอุปมาอุปมัยขึ้นเปรียบเทียบให้เห็นได้อย่างชัดเจนดังนี้คือ สมมุติว่า เอาน้ำจํานวนหนึ่งเทลงในอ่างน้ำ แล้วคอยสังเกตดูอย่างละเอียดที่สุด เราจะเห็นว่า นับตั้งแต่เริ่มเทน้ําลงในอ่างเป็นต้นมา น้ําจะมีอาการกระเพื่อมหวั่นไหวไปมาในอ่างอย่างแรง จนกระทั่งเทเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นต่อมา ความกระเพื่อมหวั่นไหวจะลดลงสู่ระดับราบเรียบในที่สุด ถ้าเรากวนน้ํานั้นอีกครั้งหนึ่ง น้ําก็ย่อมกระเพื่อมหวั่นไหวตามไปอีก ถ้าหยุดกวนน้ํานั้น ความกระเพื่อมหวั่นไหวก็จะลดลงสู่ระดับราบเรียบเหมือนครั้งแรกอีก

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อเรากวนน้ํา น้ําก็จะกระเพื่อมหวั่นไหว เมื่อเราหยุดกวน น้ําก็จะหยุดกระเพื่อมและลดตัวลงสู่ระดับราบเรียบทุกครั้ง ไม่ว่าจะทําเช่นเดียวกันนี้กี่ครั้งก็ตาม ทั้งนี้แสดงว่า ความกระเพื่อมหวั่นไหวเป็นสภาพใหม่ที่น้ําถูกปรุงแต่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ส่วนสภาพราบเรียบลงเป็นเส้นระดับเป็นสภาพเดิมของน้ํา ที่มีอยู่โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งให้มีให้เป็นแต่ประการใด หมายความว่า เมื่อสิ้นการปรุงแต่งเมื่อใด น้ําจะต้องคืนตัวลดระดับลงมาราบเรียบเองเสมอทุกครั้ง ข้อนี้ฉันใด

จิตที่ฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปเพราะถูกอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งนั้น เพราะความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ถ้าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ เสียแล้ว อารมณ์ก็ย่อมไม่สามารถปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพเดิมอันผ่องใสไปได้ จิตก็กลับคืนเข้าสู่สภาพบริสุทธิ์ สะอาดเหมือนเช่นเดิม หมายความว่า จิตไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่ดับหายไป คือสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งให้จิตเสียคุณภาพ เช่นเดียวกับความกระเพื่อมหวั่นไหวหายไปจากน้ํา ดังที่อุปมาอุปมัยไว้นี้ทุกประการ

🌷 พุทธภาษิตต่างๆ ที่แสดงเรื่องพระนิพพาน

๑. โย น ลิมฺปติ กาเมสุ สีติภูโต นิรูปธิ แปลว่า ผู้ใดสิ้นอุปธิ ไม่ติดในกามทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นผู้เย็นแล้ว ....... (สคาถวรรค) 

๒. อเนญฺชํ นหาตกํ พุทฺธํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหมฺณํ แปลว่า เราเรียกผู้ที่มีจิตไม่หวั่นไหว  ฟอกล้างแล้ว  ผู้รู้แล้ว นั้นว่าเป็นพราหมณ์  ……… (พระธรรมบท)

๓. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า จิตของผู้ใดไม่โศก  สิ้นกิเลสดุจดังสินธุลีแล้ว เป็นจิตเกษม โลกธรรมถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหว นี่คือมงคลอันสูงสุด ......... (มงคลสูตร)

๔. อกิญฺจนํ อนาทานํ เอตํ ทีปํ อนาปรํ นิพฺพานํ อิติ นํ พฺรูมิ ชรามจฺจุปริกฺขยํ แปลว่า ความไม่กังวล ความไม่ยึดถือ (ในอารมณ์) นี้คือที่พึ่ง อย่างอื่นจากนี้ไม่มี อย่างนี้แหละเรากล่าวว่าเป็นนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งความแก่และความตาย ........ (โสฬสปัญหา) 

เพราะฉะนั้น จึงสามารถกล่าวสรุปได้ว่า พระนิพพานเป็นเรื่องที่สามารถนํามาพูดจากันให้รู้เรื่องได้ เพื่อให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ดังนั้น จึงทําให้ชาวพุทธเชื่อถืออย่างมั่นใจว่า พระนิพพานคือจิตที่สะอาดบริสุทธิ์  หมดกิเลสเพราะสิ้นการปรงแต่งจากอารมณ์ต่างๆ อย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงเป็นสิ่งที่มีจริงและเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างยิ่ง

วิทยานิพนธ์ทั้งหลายที่เรียบเรียงขึ้นโดยอ้างอิงทฤษฎีที่มีผู้เขียนไว้ในตําราต่างๆ นั้น เราจะเห็นได้ว่าบางทีก็เป็นสิ่งไม่อาจแลเห็นได้ และบางทฤษฎีก็อาจถูกหักล้างจากนักตรรกวิทยาในภายหลังได้ แต่ก็จําเป็นต้องเชื่อเพื่อผลประโยชน์ในการได้วุฒิบัตร ดังกล่าวเหล่านี้ ยังน่าเชื่อถือน้อยกว่าพระนิพพานในพระพุทธศาสนาตั้งหลายเท่าเสียอีก

🌷 🌷 🌷 

เราพอสรุปได้ว่า มีเพียงศาสนาพุทธเท่านั้น ที่เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ เป็นปริโยสานคือที่สุด มีพระบาลีธรรมบท ดังนี้  "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" เป็นเพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางเดินสู่ความหลุดพ้นจากอวิชชาตัณหา อุปาทาน บรรลุพระนิพพาน อันเป็นบรมสุขแล 

มรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักธรรมสำคัญที่มีในพุทธศาสนาเท่านั้น และผู้ปฏิบัติตามย่อมพบกับความสงบอย่างแท้จริง มีพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตร แสดงไว้ดังนี้ 

"ดูก่อน สุภัททะ ในธรรมวินัย (ศาสนา) ใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ย่อมไม่มี สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔

ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ย่อมมี สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔

จำเพาะในธรรมวินัยนี้ (คือศาสนาพุทธ) เท่านั้น ที่มีมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ดังนั้น ในธรรมวินัยนี้จึงมี สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔

ลัทธิอื่น (ศาสนาอื่น) ว่างเว้นจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง (ไม่มีสมณะ) ถ้าภิกษุนี้พึงอยู่โดยชอบ (คือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘) โลกจะไม่พึงว่างเว้นจากพระอรหันต์เลย" สาธุ

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔




Create Date : 29 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:40:48 น.
Counter : 963 Pageviews.

0 comments
:: ชีวิตคือการพบเจอและการเลือก :: กะว่าก๋า
(19 ก.ค. 2567 05:09:21 น.)
การสร้างที่ควร ปัญญา Dh
(18 ก.ค. 2567 08:39:08 น.)
:: คิลานะ :: กะว่าก๋า
(15 ก.ค. 2567 22:00:43 น.)
แต่ถ้าอ่านแล้ว เข้าใจแล้ว จะทำไปเพื่ออะไร 9 อ๋อ เข้าใจล่ะ 450 เมื่อมาเรียนรู้ทางธรรมพิจารณาต สมาชิกหมายเลข 7881572
(15 ก.ค. 2567 16:16:46 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]