การเขียนวิจารณ์ที่ดี อ่านแล้วชื่นชอบ
ก็เลยอยากเอามาให้ชื่นชมน่ะค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของเด็ก


มหาลัย' เหมืองแร่ : จากชีวิตที่สูญค่า สู่ความจริงที่เปี่ยมค่า


ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนคำกล่าวที่อาจินต์ ปัญจพรรค์เคยจารึกลงไว้ในคำนำหน้าหนึ่งของหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีนามว่า “เหมืองแร่” ที่ว่า “เรื่องราวเรื่องนี้ไม่มีแอคชั่น”

ความที่ผมเพิ่งกลับมาจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คงไม่แปลกถ้าความสนใจที่ผมมีให้ตัวหนังจะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ผมเขียนบทความนี้ขึ้น อันที่จริงก่อนอื่น ผมต้องยอมรับว่าด้วยวัยที่ยังอยู่ใน “วัยรุ่น” ของตัวเอง ไม่น่าจะทำให้ผมเกิดความรู้สึกนิยมชมชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาได้ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดของผมก็คือเงินจำนวน – ห้าร้อยห้าสิบบาท – ที่ตัวผมเองลงทุนไปกับการซื้อหนังสือชุดเหมืองแร่ฉบับ Collector’s Edition สำนักพิมพ์มติชน มาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด ซึ่งแถมพกมาพร้อมกับตั๋ว 2 ใบของภาพยนตร์เรื่องนี้

เห็นกันชัดๆ ว่าจุดเริ่มต้นของการสัมผัสกับประสบการณ์อันน่าประทับใจของเรื่องราวในเหมืองแร่สำหรับผม แตกต่างไปจากสิ่งที่อาจินต์ ปัญจพรรค์เคยเผชิญมาโดยสิ้นเชิง ผมไม่ใช่ชายผู้ซึ่งโดนเด้งออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ในทางตรงกันข้ามผมกับกำลังจะต้อง Entrance ภายใต้กรอบระบบใหม่ที่แปลกประหลาดในปีที่กำลังจะมาถึงนี้) แต่ถึงกระนั้นตัวภาพยนตร์ก็ยังคงสามารถทำให้เราสามารถซึมซับเรื่องราวทั้งหมดด้วยความรู้สึกอิ่มเอมไม่ต่างอะไรกับเดินทางมุ่งสู่พังงาด้วยตนเอง

หนังเปิดฉากแรกด้วยสิ่งที่เรียกได้ว่าความล้มเหลวของชายผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งเลือกที่จะเนรเทศตัวเองออกไปจากความวุ่นวายในเมืองเพื่อจุดประสงค์หลักในการพิสูจน์ตนเอง ถึงแก่นของความสามารถที่ไม่สามารถตีค่าได้ด้วยใบปริญญา โลกของเหมืองแร่เปิดรับอาจินต์ตั้งแต่ที่เขายังเดินทางไปไม่ถึงเหมือง สภาพสังคมและภูมิศาสตร์ที่แตกต่างจากเมืองกรุงโดยสิ้นเชิงผลักดันให้ชีวิตของอาจินต์เดินไปตามเส้นทางอันแสนทุรกันดาร สู่สถานที่ซึ่งขัดเกลาทั้งจิตใจ ความคิดและระดับความสามารถของอาจินต์ตลอดระยะเวลา 3 ปี 11 เดือน สู่ตัวละครอันมีเสน่ห์มากมายมหาศาลที่เป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญของการใช้ชีวิตในสังคม

ในส่วนของเรื่องราว ผมมองว่าเหมืองแร่คือเรื่องราวของคนที่ดูเหมือนว่าจะโชคร้าย แต่ความจริงแล้วกลับโชคดี ชีวิตในทุกๆ สัดส่วนที่ผู้กำกับจิระ มะลิกุลสื่อออกมาในที่นี้ถือว่าเป็นผลงานที่สมดุล ลงตัวและเหมาะสม ทั้งเรื่องตลกโปกฮา คติชีวิตที่ถ่ายทอดออกมาทางเรื่องราว รวมไปถึงเรื่องเสียๆ หายๆ ดังเช่น การพนันแกล้มเหล้าเคล้าสุรา เป็นตัวอย่าง เพราะนี่แหละคือชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องต่อเติมเสริมแต่ง หรือแม้กระทั่งตัดทอนส่วนที่แลดูไม่เป็นแนวทางของศีลธรรมทิ้งไป ชีวิตของอาจินต์คือชีวิตที่หลายๆ คนอาจจะไม่ต้องการเผชิญไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่ภาพที่เห็นนั้นก็ต้องยอมรับว่านี่คือหนึ่งในประเภทของชีวิตที่เรียกได้ว่า รากฐานของชีวิตของผู้คนผู้ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้

ไม่แปลกที่ผู้กำกับจิระ จะต้องการเปลี่ยนตัวหนังสือในหน้ากระดาษให้ออกมาเป็นตัวละครที่โลดแล่นอยู่บนแผ่นฟิล์มเป็นอย่างยิ่ง อาจจะเพราะด้วยความน่าประทับใจของเรื่องราวหรือองค์ประกอบที่สมบูรณ์ในตัว ผู้กำกับจิระที่ถือว่าสอบผ่านเป็นครั้งที่ 2 แล้วหลังจากผลงานซึ่งน่าประทับใจใน “15 ค่ำเดือน 11” ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม หาผู้กำกับเมืองไทยสักคนได้ยากเหลือเกิน ที่จะเลือกเรื่องราวซึ่งตัวเองเห็นว่าโดนจริงๆ มาดัดแปลงเป็นตัวหนังที่ได้รับความคาดหวังเอาไว้สูงอย่างเช่นเรื่องนี้ และความทุ่มเทของผู้กำกับรายนี้นี่เองที่เป็นอีกหนึ่งก้าวของวงการภาพยนตร์ไทย

กับภาพที่ออกมากระจ่างตาสุดๆ งานกล้องใช้ประโยชน์จากทุกๆ สถานที่ ซึ่งเข้ากับเรื่องราวและนำมาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพอใจ ทิวทัศน์ของชนบทไทยเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วถูกเรียงร้อยเอาไว้ด้วยกันด้วยรายละเอียดที่ถือว่าเป็นแนวหน้าของเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน สิ่งที่ตัวภาพยนตร์สื่อออกมาในอย่างเต็มความสามารถในที่นี้ก็คือความพยายามของผู้สร้างเองที่เด่นชัดในทุกๆ องค์ประกอบ ไล่ตั้งแต่ด้านดนตรีประกอบไปจนถึงงานโปรดัคชั่นที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าที่คาดเอาไว้เดิมมากมายนัก

จะมีที่น่าติบ้างก็เห็นจะเป็นตรงที่การตัดต่อ ภาพยนตร์ดำเนินไปข้างหน้าด้วยภาพที่ค่อยๆ มืดลงจนกลายเป็นจอสีดำบ่อยครั้งเสียจนผู้ชมแทบจะไม่เห็นความสร้างสรรค์ใดๆ หลังจากที่หนังเดินทางผ่านครึ่งชั่วโมงแรกไป นี่เป็นจุดเดียวที่ทำให้ผมค่อนข้างรู้สึกรำคาญใจไม่ต่างกับเมื่อตอนชม “โหมโรง” ซึ่งถึงแม้จะทดแทนด้วยงานภาพและเรื่องราวที่มีความน่าสนใจในฉากต่อๆ ไป แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนได้ดูภาพยนตร์ที่เรียบลื่นตลอดทั้งเรื่อง

สำหรับผมซึ่งเดิมตั้งความหวังเอาไว้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างสูงอยู่พอสมควร สิ่งที่ได้กลับคืนมาคือความพอใจที่ถึงแม้จะมีจุดบกพร่องอยู่บ้างแต่ก็มีอยู่น้อยนิด กับเรื่องราวที่น่าประทับใจ คงไม่ยากที่ผู้คนทั่วไปจะนิยมชมชอบหนังเรื่องนี้หากเพียงว่าพวกเขาได้มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ - - ภาพยนตร์ที่เป็นอีกหนึ่งศิลปะที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย

ที่มา คลิกที่นี่



Create Date : 19 พฤษภาคม 2548
Last Update : 19 พฤษภาคม 2548 19:29:37 น.
Counter : 943 Pageviews.

0 comments
: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - ชัมบาลา : กะว่าก๋า
(11 ม.ค. 2568 05:42:07 น.)
Re dell'abisso affrettati from UN BALLO IN MASCHERA by Giuseppe Verdi ปรศุราม
(8 ม.ค. 2568 11:03:55 น.)
#สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ newyorknurse
(12 ม.ค. 2568 00:10:07 น.)
"ยุ่งยาก" อาจารย์สุวิมล
(13 ม.ค. 2568 07:37:03 น.)

Nthisreal.BlogGang.com

Nothing Is Real
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด