ความรู้พื้นฐานสำหรับการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ (ตอนที่4) Options2 : Call options
ในตอนที่ 4 นี้ เราจะเริ่มเจาะลึกในตัว options ในเรื่องของหน้าตาและคุณสมบัติว่า มันคืออะไร เราทำอะไรกับมันได้บ้าง โดยตัวแรกที่จะพูดถึงคือ call options ลองอ่านดูนะครับ

Call option ความหมายจริง ๆ คือ สิทธิในการซื้อ (สินค้าหรือสินทรัพย์) ที่ราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า และเมื่อถึงเวลาสิ้นสุดสัญญา ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขอซื้อสินทรัพย์นั้นในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่แรก (ไม่สนใจว่า ในวันนั้นราคาที่ซื้อขายกันในตลาดจะเป็นเช่นไร) และหากราคาที่ตกลงกันไว้ ไม่น่าพึงพอใจ (เช่นหาซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวในตลาดได้ถูกกว่าการใช้สิทธิ ผู้ซื้อก็มีสิทธิที่จะไม่ใช้สิทธิได้ หรือที่เรียกว่าการฉีกใบจองทิ้ง ในตัวอย่างเรื่องใบจองคอนโดในตอนที่ 1 ได้

จะเห็นได้ว่าผู้ซื้อ สามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ใช้สิทธิ ผู้ขาย มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม อย่าลืมนะครับ 2 คนนี้เป็นคู่สัญญากัน นั่นหมายความว่า ผู้ซื้อจะใช้สิทธิ เมื่อคิดว่า ใช้แล้วตัวเองมีกำไร (และผู้ขายก็ต้องยอมรับการเป็นฝ่ายขาดทุน เพราะต้องขายสินทรัพย์ในราคาต่ำ ๆ ในขณะที่ราคาตลาดของสินทรัพย์สูง) แต่กรณีที่ผู้ซื้อคิดว่าการใช้สิทธิจะทำให้ตัวเองขาดทุน (ราคาสินทรัพย์ในตลาดต่ำ ๆ ) ผู้ซื้อเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ ผู้ขายก็ไม่สามารถไปบังคับอะไรกับผู้ซื้อให้ใช้สิทธิได้ ต่างจากกรณี futures ที่ยังไงก็ต้องปฏิบัติตามสัญญา

คำถามก็คือ ผู้ขายจะได้อะไร ถ้าต้องเป็นเบี้ยล่างตลอด ลองเทียบกับตัวอย่างการซื้อใบจองคอนโดในตอนที่ 1 นะครับ ผู้ขายใบจอง คงไม่ขายใบจองในราคา 3 หมื่น และให้ชำระ2.97 ล้านบาท ในวันสิ้นสุดสัญญาสำหรับคอนโดที่มูลค่า 3 ล้านบาท หากมีความเสี่ยงอย่างที่กล่าวข้างต้น แต่ผู้ขายอาจตั้งราคาใบจองที่ 5 หมื่นบาท(ขอคิดค่าธรรมเนียม 2 หมื่นบาท) หากเกิดกรณีที่ราคาคอนโดตกอย่างมาก ผู้ซื้อตัดสินใจที่จะไม่ใช้สิทธิ ผู้ขายก็จะได้ 5 หมื่นบาทไปกินฟรี ๆ หรือหากมีการใช้สิทธิและทำให้ผู้ขายขาดทุน (เช่นราคาคอนโดขึ้นไปที่ 3.03 ล้านบาทในวันสิ้นสุดสัญญา) ผู้ขายก็ต้องขายในราคา 3ล้านบาทเหมือนเดิม (โดยผู้ซื้อชำระเงินเพิ่ม 2.97 ล้านบาท) หรือขาดทุนไป 3 หมื่นบาท แต่เนื่องจากได้เงินมา 5 หมื่นบาทในตอนแรก รวมกับ 2.97 ล้านบาท เป็น 3.02 ล้านบาท ก็เลยทำให้ขาดทุนเพียง 1 หมื่นบาท ไอ้ 2 หมื่นบาทที่เขาตั้งราคามากกว่าราคาปกติ อันนั้นเรียกว่า premium ครับ เป็น buffer ในการลดการขาดทุนของผู้ขาย options ในกรณีที่ผลเป็นไปในทางลบ (สำหรับผู้ขาย)

ยกแต่ตัวอย่าง แต่ไม่เข้าเรื่อง call options ของ set50 ซะที เอาเรื่องจริง ๆ แล้วนะครับ ผมเริ่มที่ชื่อของมันก่อน จำตอนที่ 2 ที่เราพูดถึงเรื่องชื่อ futures ได้ไหมครับ ถ้าชื่อ S50H11 หมายถึง future ดัชนี set50 ที่หมดอายุในเดือนมีนาคม 2011 ตัวย่อของ call options จะมีตัวเพิ่มมา 4 ตัวต่อท้ายครับ คือตัวแรกจะเป็น C หรือ P เพื่อบอกว่าเป็น call option หรือ put option อีก 3 ตัวจะเป็นเลข ที่ลงท้ายด้วย 0 หมายถึงราคาดัชนีที่ตกลงจะซื้อขายกัน ลองดูนะครับ

S50H11C730 หมายถึง Call option ที่ตกลงกันว่าผู้ซื้อมีสิทธิจะซื้อดัชนี SET50 ที่ 730 โดยสัญญาจะสิ้นสุดเมื่อวันสิ้นเดือนของเดือนมีนาคม 2011 -> แปลกันได้ไหมครับ ลองอีกตัวนึง
S50M11P720 หมายถึง Put option ที่ตกลงกันว่าผู้ซื้อมีสิทธิจะขายดัชนีSET50 ที่ 720 โดยสัญญาจะสิ้นสุดเมื่อวันสิ้นเดือนของเดือนมิถุนายน 2011 (อย่าเพิ่งไปสนในคำว่า สิทธิจะซื้อ สิทธิจะขาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แตกต่างกันของ call option และ put option นะครับ)
เดี๋ยวตอนจบจะมี quiz ไว้ลองคิดกันนะครับ ไม่มีเฉลย ทดสอบว่าเราอ่านตัวย่อของ option ได้หรือยัง

คราวนี้ไอ้ตัวอักษรคำแปลที่ยืดยาวมันหมายความว่าอย่างไรในภาษามนุษย์ ผมเอา S50H11C730 เป็น model นะครับ เราไม่ต้องคุยเรื่องความหมาย 6 ตัวอักษรแรกแล้ว (S50H11) เพราะมันบอกว่า อ้างอิงกับอะไร และหมดอายุเมื่อไหร่ เอา 4 ตัวหลังเน้น ๆ แล้วกัน

C730 หมายถึงว่า ถ้าดัชนี Set50 เกิน 730 เราจะซื้อดัชนีได้ที่ 730 หรือเหมือนกับซื้อของถูกในขณะที่ราคาในตลาดแพงกว่านั้น เช่น เมื่อสิ้นสุดสัญญา ดัชนีไปอยู่ที่ 750 เราจะได้ส่วนต่างคือ 20 (คิดถึงกรณี condo นะครับ) แต่ถ้าดัชนีต่ำกว่า 730 เราก็จะเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ (เพราะถ้าใช้ ก็จะเหมือนกับซื้อคอนโดราคาเดิม ในขณะที่ในตลาด เราหาราคาคอนโดที่ถูกกว่านั้นได้)

มีประเด็นที่อยากให้ทราบคือ อนุพันธ์ สามารถหักล้างราคาได้เลย ไม่เหมือนกรณีที่เราจองคอนโด แม้ว่า เราจะได้ราคาดี (ได้ราคาเดิม ในขณะที่ราคาตลาดมันขึ้นไปอีก) แต่เราต้องจ่ายเงินค่าคอนโดเต็มจำนวน โอนคอนโดเป็นชื่อเรา ประกาศขาย เมื่อหาคนซื้อได้ ก็ต้องไปโอน เสียภาษี ฯลฯ
แต่สำหรับกรณี อนุพันธ์ เขาจะให้หักล้างราคาได้เลย คือเทืยบกับตลาดแล้ว เธอกำไรเท่าไร เอาไปเลย จบ ดังนั้น ในตัวอย่าง เมื่อได้ส่วนต่าง 20 จุด ก็รับไปเลย แล้วจุดนึงมีมูลค่าเท่าไรละ คำตอบคือ 200 บาทต่อ1 จุด ครับ
มีสิ่งที่ผมอยากให้ลองหัดทำก็คือ pay-off table เป็นการทำตารางแสดงการได้รับกำไร-ขาดทุนในการซื้อ(หรือขาย) option ทำใน Excel ได้ครับ ทำแล้วจะเข้าใจมากขึ้น และในเวลา trade จริงผมก็ยังทำในบางกรณี

วิธีการเป็นอย่างนี้ครับ จากตัวอย่าง C730 สมมุติว่าดัชนีตอน ณวันที่ซื้อคือ 725 ราคาที่มีคนเสนอขายคือ 15 (จำได้ไหมครับ ที่ผมบอกว่าดัชนีจุดละ 200 บาท) หรือคิดเป็นราคา 3,000 บาท ต่อ 1 สัญญา
ทำตารางดังนี้ครับ


เราเอามูลค่าที่เราซื้อคือ 15 เป็นต้นทุน และถ้าดัชนีในวันสิ้นสุดสัญญาอยู่ที่ 745 เราจะซื้อดัชนีที่ราคาที่ตกลงไว้คือ 730 บวกกับต้นทุนตอนแรกคือ 15 จุด รวมเป็น 745 และได้สินค้าในราคา 745 (ตามดัชนีในวันปิด) หรือเท่ากับไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุน

คราวนี้เพิ่มช่องอีกหน่อยให้มันเป็นเลขที่ลงตัวนะครับ โดยเพิ่ม 740 และ 750 เข้าไป
แล้วก็คำนวณค่า (ถ้าเป็น excel ก็ทำสูตรเลย ถ้าไม่เป็นคิดด้วยมือก็ได้ครับ

คราวนี้ทำเพิ่มทุก 10 จุดเลย เอาตั้งแต่ 700-800


สังเกตตรงบริเวณที่ตั้งแต่ 730 ลงไปนะครับ ถึงแม้ดัชนีจะต่ำไปเท่าไร แต่ผู้ซื้อจะไม่ใช้สิทธิ หรือยอมเสียแค่ ต้นทุนที่ซื้อเท่านั้น

ขอยกไปต่อคราวหน้านะครับ เพราะเนื้อหาเริ่มเยอะ ค่อย ๆ อ่าน ถ้าสงสัยถามได้เลยนะครับ จะcomment หรือ หลังบ้านก็ได้



Create Date : 06 มกราคม 2554
Last Update : 6 มกราคม 2554 12:24:06 น.
Counter : 3263 Pageviews.

13 comments
  
ขอบคุณครับ เริ่มงงได้ที่แล้วครับ
ลองไปดูของจริงทีเวป tfex งงใหญ่เลย
ไงช่วยเขียนอธิบายการดูตารางนี้ด้วยนะครับ
//www.tfex.co.th/tfex/dailyMarketReport.html?locale=th_TH

โดย: kob IP: 124.121.224.250 วันที่: 6 มกราคม 2554 เวลา:14:25:52 น.
  
อย่าเพิ่งไปดูตารางนั้นครับ เพราะมันเป็นตารางที่มี call และ put และมีทุก strike price ที่มีขายในตลาด
สิ่งที่ผมเขียน มันเป็นแค่ call ตัวเดียว ที่ strike price 730 ถ้าทำความเข้าใจได้ ก็สามารถประยุกต์ใช้กับ call option ได้ทุกตัวครับ

ในตารางนั้นที่ตัวเลขมันเยอะ เพราะมันมีราคาสูง ต่ำ เปิด ปิด bid offer last done เหมือนหุ้น ก็เลยยิ่งงงเข้าไปใหญ่

ถ้าดูที่ Call730 (หาเลข 730 แล้วดูฝั่งซ้ายมือ เพราะฝั่งขวามือคือ ข้อมูลของ put730)
ราคาล่าสุดที่ซื้อขายกันคือ 27.50 หมายถึงว่า ถ้าเราเป็นคนซื้อราคานั้น จุดที่จะเท่าทุนคือ ดัชนีต้องอยู่ที่ 730+27.50=757.50 ในวันสิ้นสุดสัญญา ถ้าสูงกว่านั้นก็จะเริ่มได้กำไร ส่วนกรณีขาดทุนก็คือ ไม่เกิน 27.50*200=5500 บาทต่อสัญญาครับ
โดย: krit587 IP: 61.19.205.4 วันที่: 6 มกราคม 2554 เวลา:14:33:12 น.
  
ขอบคุณมากครับ
โดย: มือใหม่ IP: 122.201.42.18 วันที่: 6 มกราคม 2554 เวลา:21:00:44 น.
  
ขอบคุณมากคับ จะรอตอนต่อไปนะคับ
โดย: kitti IP: 110.49.193.200 วันที่: 6 มกราคม 2554 เวลา:21:35:53 น.
  
ขอบคุณมากครับ
โดย: มือใหม่ IP: 122.201.42.18 วันที่: 6 มกราคม 2554 เวลา:21:56:50 น.
  
อธิบายได้เข้าใจง่ายดีครับ ติดตามต่อนะครับ
ขอบคุณครับผม
โดย: chess IP: 58.9.185.226 วันที่: 8 มกราคม 2554 เวลา:22:55:59 น.
  
สมมติกรณี อีก 1 วันจะครบสัญญา จากดัชนีอยู่ที่ 740 ขาดทุน 5 จุด ควรปิดสถานะก่อนหมดสัญญา 1 วัน หรือไม่(ถ้าปิดได้) หรือปล่อยให้ครบสัญญาไปเลย จะขาดทุน 15 จุด
โดย: U1000 IP: 58.8.153.69 วันที่: 18 มกราคม 2554 เวลา:20:57:57 น.
  
@U1000 ถ้าดัชนีอยู่ที 740 และเราขาดทุนอยู่ 5 จุด
ในวันที่หมดสัญญา หากดัชนีไม่เปลี่ยนก็ขาดทุน 5 จุดเหมือนเดิมครับ

คือเราซื้อ call730 พอมันปิดที่ 740 เราก็จะได้กำไรจากการที่ราคาสูงกว่า strike price 10 จุด แต่หักค่าซื้อ 15 จุด เลยขาดทุน 5 จุด

ผมตอบตรง ตามที่ถามหนือเปล่าครับ
โดย: krit587 วันที่: 18 มกราคม 2554 เวลา:21:48:37 น.
  
คือผมมองในกรณีคาดว่าจะลงต่อ จะได้มีเงินเหลือ

ถ้าเช่นนั้น กรณีถือจนครบสัญญา แล้วขาดทุนแค่ 5 จุด เราก็ได้เงินคืนจากโบรกเกอร์ 10*200 เพราะโบรกฯจะโทรถามเราว่าจะใช้สิทธิ์หรือไม่ ถ้าใช้ก็เพิ่มเงินไป ถ้าไม่ใช้ก็จะปิดสถานะให้แล้วจ่ายเงินที่เหลือให้ ผมเข้าใจถูกมั้ยครับ
โดย: U1000 IP: 58.8.83.79 วันที่: 19 มกราคม 2554 เวลา:1:10:37 น.
  
@U1000 กรณีที่ถือจนหมดอายุ Broker จะเลือกว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกค้าครับ ในกรณีนี้คือใช้สิทธิดีกว่า เพราะยังได้เงินคืน
Broker จะไม่โทรถามครับ

ส่วนกรณีที่คาดว่า มันจะลงต่อ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราอ่ะครับ ถ้าคิดว่าลงต่อก็ควรขาย แต่บางคนอาจคิดว่า มันอาจ rebound ถือต่อก็ได้ เป็นเรื่องอนาคตที่ไม่มีใครรู้จริง
โดย: krit587 วันที่: 19 มกราคม 2554 เวลา:10:00:00 น.
  
ชักเริ่มสนุกละ ขอบคุณค่ะ ติดตามต่อค่ะ
โดย: 3am IP: 183.89.205.126 วันที่: 23 มกราคม 2554 เวลา:18:36:52 น.
  
ลงชื่อเข้าห้องเรียนค่ะ เปงนักเรียใหม่ จะตามไประดับ intermediate level ให้ได้เร็วๆๆ นี้จ๊ะ
โดย: genie (จีนี) IP: 10.0.2.208, 125.25.252.13 วันที่: 22 มิถุนายน 2554 เวลา:4:44:53 น.
  
มาถึงบทนี้ น้ำตาไหลเลย
โดย: kenkoong IP: 58.9.6.137 วันที่: 15 มกราคม 2556 เวลา:17:43:07 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Krit587.BlogGang.com

krit587
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]

บทความทั้งหมด