สื่อโทรทัศน์กับเด็ก - ระวังในสิ่งที่ไม่อันตรายแต่กลับเปิดโอกาสให้สื่อพิษร้ายมาทำลายลูกหรือเปล่า
"ทำไมให้ลูกดูคันหู" "ให้ลูกเล่นวีดีโอเกมส์ไม่กลัวลูกก้าวร้าวติดเกมส์หรือไง" "ชั่วฟ้าดินสลายมีฉากแบบนั้นให้ลูกดูได้ยังไงเดี๋ยวก็ใจแตกกันพอดี"

หลายต่อหลายครั้งที่เจนได้ยินคำถามแบบนี้ แล้วเจนก็ต้องตอบกลับไปว่าสำหรับเด็กโตและวัยรุ่น เจนคิดว่าสิ่งที่เด็กเห็นไม่สำคัญเท่ากับว่าเด็กรู้สึกยังไงกับเรื่องนั้น

สิ่งที่น่ากลัวจริงๆสำหรับเด็กโตและวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่เด็กเห็นแต่เป็นเรื่องเลวร้ายที่เด็กเห็นโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายต่างหากหรือบางทีต้องบอกว่าเด็กเห็นและคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยซ้ำ

กระบวนการรับรู้จากสิ่งที่เด็กเห็นหรือพูดง่ายๆว่าเด็กรู้สึกยังไงกับสิ่งที่เขาเห็นนั้นสำคัญกว่าสิ่งที่เด็กเห็นมากมาย เพราะเด็กจะเห็นว่าสิ่งนั้นดีหรือร้ายเหมาะสมหรือไม่ น่าเลียนแบบหรือน่ารังเกียจ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขาสอนให้เขามองมันในแบบไหน

ถ้าคุณอ่านแล้วไม่เข้าใจหรือคิดว่าสิ่งแวดล้อมการปลูกฝังอบรมสั่งสอนมาเกี่ยวข้องอะไร

ลองดูรูปในความคิดเห็นที่2 (เจนพยายามเอามาแทรกตรงนี้แล้วแต่ไม่สำเร็จ)



ลองอ่านบรรทัดแรกเขียนว่ายังไง เอ บี ซี ใช่ไหม

แล้วบรรทัดที่สองละ สิบสอง สิบสาม สิบสี่ ใช่หรือเปล่า

ดูเลขสิบสามกับตัว บี สิ มันต่างกันตรงไหน แล้วถ้าลองเอาบีบรรทัดบนกับสิบสามบรรทัดล่างสลับที่กันคุณจะอ่าน เอ สิบสาม ซี แล้วก็สิบสอง บี สิบสี่หรือเปล่า?


คุณอ่านบรรทัดบนเป็นตัวอักษรและบรรทัดล่างเป็นตัวเลขหมดเพราะอะไร สิ่งแวดล้อมใช่ไหม ซึ่งในที่นี้ก็คือตัวประกบที่อยู่ข้างหน้าและหลังมัน

และถ้าเปรียบเลขสิบสามเป็นสิ่งเลวร้ายและอักษรบีเป็นสิ่งที่ดี เด็กจะมองสัญลักษณ์ตัวนั้นเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับว่าตัวประกบหน้า(คือการปลูกฝังจากที่บ้านและคนที่ดูแล)กับตัวประกบหลัง(คือ คนรอบข้าง เพื่อน คนอื่นๆในสังคมที่มีอิทธิพลกับเด็ก)เป็นอย่างไรต่างหาก

เด็กก็เหมือนกันเขาจะรู้สึกยังไงกับเพลงสัปดน ผู้ชายที่มีเมียหลายคน เจ้าพ่อที่อยู่เหนือกฏหมาย เด็กจะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นดีหรือไม่ จะเลียนแบบหรือต่อต้านขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่และคนรอบข้าง ปลูกฝังความคิด ทัศนคติและสร้างกระบวนการคิดยังไงให้กับเด็ก

และเมื่อพูดถึงสิ่งดีๆที่ควรให้เด็กสัมผัส หลายครั้งผู้ใหญ่ก็มักมองแต่อะไรที่สุดโต่งเกินไป อย่างถ้าพูดถึงหนังที่ควรให้เด็กดู คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงแต่หนังประเภท "หน้าที่เด็กดี" หรือ "สารคดีว่าด้วยการเป็นลูกและนักเรียนที่ดี" อะไรทำนองนั้น ถามว่าหนังประเภทนี้ดีไหมบอกเลยดี แต่ถ้าถามต่อว่าเด็กสนใจไหมก็ต้องบอกว่า ถ้ามีหนังเรื่อง หน้าที่พลเมืองดี เข้าฉายคุณสนใจจะตีตั๋วไปดูแค่ไหนเด็กก็สนใจแค่นั้นละ

ส่วนตัวเจนเองตอนนี้ลูกกำลังโตเป็นวัยรุ่น เจนก็พยายามที่จะหาหนังที่เกี่ยวกับคุณค่าชีวิตในวัยรุ่นหรือในวัยเด็กที่สื่อให้เข้าใจได้ว่า ชีวิตของเรามีคุณค่าได้โดยไม่ต้องแต่งตัวประหลาดๆ ทำอะไรเรียกร้องความสนใจหรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม แล้วถ้าการที่ไม่ได้ไปแข่งเกมส์โชว์ ไม่เคยได้รางวัล ไม่ได้สวย ไม่ได้รวยที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด อย่างหนังเรื่อง Flipped หรือ แฟนฉัน เจนว่าก็เป็นหนังที่ใช้ได้เรื่องนึงเลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงหนังครอบครัวที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว คนส่วนใหญ่มักคิดถึงแต่หนังที่มีแม่ที่แสนดีที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อลูก พ่อในดวงใจที่เสียสละทุกอย่างให้กับลูกได้ ลูกที่รักและเทิดทูนบูชาพ่อแม่เหนือสิ่งอื่นใด

ถามว่าหนังแนวนี้ดีไหมก็ต้องบอกว่าดีอีกนั่นแหละ แต่ปัญหาคือเด็กบางคนดูแล้วกลับมาตั้งคำถามว่า "ทำไมพ่อแม่เราไม่เห็นรักเราไม่เห็นดีกับเราเท่านี้เลย" สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นการเพิ่มความรู้สึกในทางลบของเด็กกับครอบครัวมากกว่าเดิม

มีหนังครอบครัวเรื่องนึงที่เจนชอบมาก หนังเรื่องนี้ไม่มีแม่ที่ให้ทุกอย่างกับลูกได้ ไม่มีลูกที่ทำทุกอย่างตามใจแม่ ไม่มีพี่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้อง ไม่มีลูกสะใภ้ที่รักพ่อแม่แฟนเหมือนพ่อแม่ตัวเอง

หนังเรื่องนี้มีแม่ที่เห็นแก่เงินมากกว่าลูกในบางที มีลูกที่เห็นแฟนดีกว่าครอบครัวในบางครั้ง มีพี่ที่เรียกร้องให้น้องเชื่อฟังทั้งๆที่ตัวเองติดยา มีลูกสะใภ้ที่กระโดดเข้าใส่พี่สาวแฟนทันทีที่เห็นหน้า

The Fighter จะบอกคุณว่าคุณค่าของครอบครัวไม่ได้อยู่ที่ทุกคนสมบูรณ์แบบ แต่อยู่ที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของอีกฝ่ายได้ต่างหาก และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเสียสละเพื่อคนที่ตัวเองรักจริงๆ พวกเขาก็สามารถละทิ้งความเห็นแก่ตัวและทิฐิมานะได้

เจนอาจจะคิดไม่เหมือนใคร เวลาเด็กมาปรึกษาหรือมาระบายในสิ่งที่เจนคิดว่าพ่อแม่ทำไม่ถูก ทำเกินไป สุดโต่งไปหรือไม่พยายามเข้าใจลูกเลย เจนจะไม่บอกเด็กว่าพ่อเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวเพราะฉะนั้นพ่อจะทำอะไรก็ไม่ผิด ค่าน้ำนมแม่หนึ่งหยดชดใช้จนตายก็ไม่สิ้น

แต่เจนจะบอกเด็กว่าพ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดาคนนึง ที่มีรัก โลภ โกรธ หลงเหมือนคนทั่วไป แต่พวกเขาเป็นคนที่รักและหวังดีที่สุดกับหนูไม่ใช่หรือลูก ถึงแม้บางครั้งพวกเขาจะแสดงความหวังดีแบบผิดๆหรือแสดงความรักด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราดหรือด้วยคำพูดที่รุนแรง

และถ้าเด็กถูกกระทำในสิ่งที่เลวร้ายมากๆ เจนจะไม่บอกให้เด็กให้อภัย แต่จะบอกว่าอดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่คิดถึงมันจะดีกว่าไหม "มนุษย์เจ็บปวดจากความทุกข์แค่ครั้งเดียว แต่เจ็บปวดจากความคิดเป็นล้านครั้ง" หนูจะหยิบมีดมาแทงตัวเองซ้ำๆทำไม ส่วนเรื่องนั้นถ้าหนูยังเจ็บแค้น ยังอภัยให้ไม่ได้ ยังไม่สามารถรักพ่อแม่ได้เต็มหัวใจ ก็ไม่ต้องไปฝืนใจ หนูไม่ผิด หนูไม่ใช่คนที่ไม่ดี อกตัญญูหรือเจ้าคิดเจ้าแค้นแต่อย่างใด เพราะจริงแล้วการที่ต้องฝืนใจให้อภัยในสิ่งที่ยังทำใจไม่ได้หรือถูกบังคับให้ๆอภัยนั้นมีแต่จะยิ่งทำให้เจ็บปวดมากยิ่งขึ้นไปใหญ่




ส่วนในเด็กเล็กๆเจนยอมรับว่าเด็กเล็กๆมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบจากสิ่งที่เขาเห็นในทีวีมากกว่าเด็กโตหลายเท่า และจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกับเด็กโต

สำหรับเด็กเล็กเจนเห็นว่าเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ที่ดูแลเด็กที่จะคัดกรองแต่สิ่งที่ดีๆหรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยให้กับเด็ก

ถึงตอนนี้คุณอาจจะกำลังนึกว่าต้องอย่าให้เด็กเล็กดูภาพยนต์ที่มีฉากกินเหล้า เล่นการพนัน หรือฉากกอดจูบกัน

แต่คุณอาจจะแปลกใจถ้าเจนจะบอกคุณว่าการ์ตูนฝรั่งเรื่องที่มี หนูสีน้ำตาลกับแมวสีเทา ที่เป็นคู่ปรับกันนั้นเป็นสื่อที่ควรให้เด็กเล็กๆอยู่ห่างๆอย่างที่สุด

เจนคิดว่าหลายคนคงเคยดู หนูเอาค้อนฟาดแมวแล้วดาวขึ้น หนูผลักเปียโนมาทับแมวแล้วแมวตัวแบนเป็นปลาหมึกบด หนูเอาไฟช็อตแมวแล้วแมวกระพริบเป็นรูปโครงกระดูก

เมื่อเด็กเล็กๆเห็นพวกเขาแยกแยะไม่ได้ ถ้าโชคดีเด็กไม่เลียนแบบก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ลองนึกภาพว่าถ้าเด็กเอาค้อนทุบหัวกระต่าย ผลักของหนักๆทับลูกแมว หรือเอาหางน้องหมาไปแหย่ปลั๊กไฟ ผลที่ได้คงไม่เหมือนในการ์ตูนแน่ๆ

อีกอย่างนึงคุณเคยดูหนังตลกบางเรื่องไหม คนปกติเอาถาดตีหัวคนแคระ คนแข็งแรงเอาไม้ตีคนพิการ และทุกคนก็หัวเราะ พวกเขาทำราวกับว่าการได้กลั่นแกล้งหรือรังแกคนที่อ่อนแอกว่าตนเป็นเรื่องสนุกสนานเป็นเรื่องที่ใครๆก็ทำได้ และน่าชื่นชม

เมื่อเด็กเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและคนรอบข้างหัวเราะอย่างมีความสุข แล้วมีเหตุผลอะไรที่เด็กจะต้องรู้สึกว่าการรังแกเพื่อนที่อ่อนแอที่อนุบาลเป็นสิ่งเลวร้าย หรือถ้ามีโอกาสฉันไม่ควรจะทำละ

หลายครั้งเจนเห็นว่าเรามัวแต่ป้องกันสิ่งที่ไม่มีพิษมีภัยแต่กลับปล่อยให้สิ่งที่เลวร้ายเดินเข้ามาทักทายเด็กๆของเราอย่างง่ายดาย

การปิดกั้นไม่ให้เด็กเห็นโลกแห่งความเป็นจริงตามวัยที่เขาควรจะได้เห็นนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการเขี่ยปัญหา เพราะไม่ช้าก็เร็วเด็กก็ต้องพบเจอสิ่งเหล่านั้นอยู่ดี

เจนเห็นด้วยว่าพ่อแม่มีหน้าที่ปกป้องลูกจากความโหดร้ายของโลกใบนี้ในตอนที่ลูกยังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

การปกป้องคือการสอนให้ลูกรู้จักสิ่งเลวร้ายแต่ไม่ยอมปล่อยให้สิ่งเลวร้ายนั้นมาทำอันตรายกับลูก ถ้าเปรียบก็เหมือนสอนให้ลูกรู้ว่างูหน้าตาเป็นยังไง มีพิษมีภัยมากแค่ไหนแต่ไม่ยอมให้ลูกยื่นมือเข้าไปในกรง

แต่เท่าที่เห็นมาพ่อแม่หลายคนไม่ได้ปกป้องแต่กลับกีดกัน

การกีดกันนั้นคือการเอาแต่คอยห้ามหรือสร้างกำแพงมาปิดกั้นลูกจากโลกแห่งความเป็นจริงไว้ ถ้าเปรียบกับเรื่องงูก็เหมือนบอกว่างูก็เหมือนกับปลาไหลหรือจริงแล้วงูไม่มีอยู่ในโลก

การทำแบบนั้นเมื่อถึงเวลาที่เด็กต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง ต้องพบเจอคนที่เลวร้ายหรือสิ่งที่เลวร้าย หลายต่อหลายครั้งก็สายเกินไป และกว่าที่เด็กจะเข้าใจได้ว่านั่นคือสิ่งที่เลวร้ายพวกเขาก็มักจะกลายเป็นเหยื่อไปเสียแล้ว



เจน



Create Date : 08 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2554 10:23:49 น.
Counter : 1287 Pageviews.

5 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
โดย: JanE & IK วันที่: 8 พฤศจิกายน 2554 เวลา:10:24:48 น.
  
Yes! Right
โดย: deco_mom วันที่: 8 พฤศจิกายน 2554 เวลา:12:10:05 น.
  
สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้จัก ฝันดีๆ
โดย: nooblue88 วันที่: 8 ธันวาคม 2554 เวลา:3:57:01 น.
  
ขอบคุณคะ
เจนคุณน่ารักมาก
ความคิดคุณงดงามมากคะ
โดย: มาย IP: 118.173.46.0 วันที่: 14 มกราคม 2555 เวลา:17:31:24 น.
  
หลายสิ่งที่เราซ่อนความรุนแรงเอาไว้ในการ์ตูน

ผมเคยลองเปิดเกมส์โหดๆให้ลูกดูนะครับ
ดูไปด้วย สอนไปด้วย
อธิบายไปด้วย

สุดท้า่ยเขาก็รู้ว่าเกมส์นั้นรุนแรง
และไม่เรียกร้องให้เปิดดูอีกเลย

"มันรุนแรงเกินไปป่ะป๊า"


แต่จะซึมซับในใจอย่างไร
ไม่สามารถตอบได้ครับ แหะๆๆ


ผมคิดว่าสำคัญกว่าการรับข้อมูล
คือการมีเครื่องมือที่สามารถแยกแยะข้อมูล
ถ้าเครื่องกรองและคัดกหรองข้อมุลในตัวเรามีคุณภาพ
ข้อมูลที่ส่งผ่านมาจะมากมายมหาศาลหรือเป็นข้อมุลด้านลบเพียงใด
ก็ไม่อาจทำให้เราไขว้เขวได้ครับ

แต่สำหรับเด็กเรื่องนี้อาจจะยากสักนิดนึง
และควรมีผู้ใหญ่คอยดูแลด้วย

ปัญหาคือ ถ้าผู้ใหญ่ไม่แยกแยะด้วย อันนี้อันตรายครับ

ผมว่าเนื้อหา ท่าทาง คำพูดในละครไทย
กับคำพูด ท่าทีของ สส.เวลาอภิปรายในสภา

รุนแรงซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าการ์ตูนทอมแอนด์เจอรี่อีกนะครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:7:29:42 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Janeandik.BlogGang.com

JanE & IK
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]

บทความทั้งหมด