จริงไหมที่ว่าลูกเลี้ยงได้แต่ตัว
จริงไหมที่ว่าลูกเลี้ยงได้แต่ตัว

ครั้งนึงมีคุณพ่อท่านนึงมาบ่นเรื่องพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของลูกสาวกับเจนแล้วบอกว่า "ที่เขาว่าลูก เลี้ยงได้แต่ตัวมันก็จริงละ"


ถ้าถามว่าเด็กจะดีหรือไม่เพียงใดนั้นขึ้นกับการเลี้ยงดูหรือว่าเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้ว (ทางศาสนาอาจเรียกว่า กรรมเก่า ทางวิทยาศาสตร์ก็คงเกี่ยวข้องกับยีนหรือโครโมโซม)

เรื่องนี้ถ้าถกกันก็ต้องบอกว่าไม่มีทางได้ข้อยุติ ถามเจนๆก็คิดเหมือนคนส่วนใหญ่ว่าก็ทั้งคู่ แต่เจนเชื่อว่าการเลี้ยงดูมีผลมากกว่าและไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยละ 70 (ความคิดเห็นส่วนตัว)


เจนบอกคุณพ่อว่า ที่บ้านคุณแม่เจนมีมะม่วงอยู่ต้นนึง จริงๆก็ไม่รู้ว่าพันธุ์อะไร แต่ที่บ้านจะเรียกว่า มะม่วง "มัน" ซึ่งย่อมาจาก "ตามใจมัน" เนื่องจากคุณแม่เจนท่านรดน้ำใส่ปุ๋ยเหมือนกันทุกปีตลอด แต่บางปีลูกมะม่วงรสชาติก็ออกมัน บางปีก็ออกเปรี้ยว บางปีก็ออกลูกเยอะ บางปีก็ออกน้อย แต่ที่แน่ๆคือมะม่วงต้นนี้ไม่เคยออกลูกเป็นมะนาว ไม่เคยออกลูกเป็นมะพร้าวและไม่เคยออกลูกเป็นส้มโอ

ถ้าเปรียบเด็กเป็นต้นมะม่วงก็หมายความว่าต่อให้เด็กได้รับความรัก การอบรมสั่งสอน การศึกษามาเท่าๆกันก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะ "ได้ดี" เท่ากันในทุกๆอย่าง แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกำหนดขีดจำกัด พื้นฐานทางจิตใจ ความสามารถในด้านต่างๆรวมทั้งความฉลาดทางอารมณ์ของพวกเขา

เจนบอกคุณพ่อว่า เจนไม่ได้คิดตำหนิอะไรคุณพ่อเลยนะ แต่ที่คุณพ่อบอกเจนว่า "ลูกเลี้ยงได้แต่ตัว"

คุณพ่อก็ลองคิดดูว่าที่ผ่านมาคุณพ่อเลี้ยง "ใจ" ของน้องเขาด้วยหรือเปล่า คุณพ่อไม่ต้องตอบเจนก็ได้ แต่ลองคิดดูว่าที่ผ่านมาตั้งแต่ลูกเกิดเราเลี้ยงลูกกันเองหรือส่งไปให้คนอื่นเลี้ยง (เจนไม่ได้ตำหนิคนที่ส่งลูกไปให้คนอื่นเลี้ยงและเข้าใจว่าทุกคนมีข้อจำกัดแตกต่างกัน แต่ต้องการบอกว่าสิ่งนี้มีผลกับเด็ก) เราให้แค่เงินกับหาโรงเรียนให้ หรือว่าเอาใจใส่ทางจิตใจลูกไปด้วย ลูกสุข ทุกข์ เหงา เศร้าเราสัมผัสและใส่ใจมากน้อยแค่ไหน เคยแสดงความรักกับลูกไหม เคยลงโทษลูกด้วยอารมณ์ไหม เวลาลูกร้องไห้ทำยังไง เคยบอกลูกว่า เขาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตพ่อแม่ หรือ ถ้าย้อนเวลาได้ฉันจะเอาขี้เถ้ายัดปากแก สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นคำตอบได้ว่าเราเลี้ยงใจเขามากแค่ไหนและเราจะ "ได้ใจ"เขามากแค่ไหนเช่นเดียวกัน

เจนเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูกและลูกทุกคนก็รักพ่อแม่ แต่ต่างฝ่ายจะรักกันมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการประพฤติปฎิบัติตัวของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

และถ้าเชื่อว่าลูกไม่ดีเพราะกรรมเก่า แล้วกรรมอันนั้นเล่าใครเป็นคนสร้างขึ้นมา

ถ้าลูกไม่ดีเพราะยีน หรือโครโมโซมในตัวลูก แล้วลูกถือกำเนิดจากอะไรไม่ใช่อสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุดผสมกับไข่ของคนที่คุณรักที่สุดหรอกหรือ



อีกอย่างคือจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลเด็กๆมาต้องบอกว่าเด็กทุกคนล้วนมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้นมากบ้าง น้อยบ้าง สาหัสบ้าง เบาๆบ้างแตกต่างกันไป

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือหลายต่อหลายครั้งปัญหาเหล่านี้ของเด็กไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือคอขาดบาดตายอะไร

พฤติกรรมบางอย่างของเด็กนั้นแม้อาจจะไม่เหมาสมแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายถึงขนาดปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้

แต่ปัญหาหรือพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อผู้ใหญ่เข้ามาจัดการโดยขาดความเข้าใจ จากเรื่องเล็กๆ เรื่องที่อีกไม่นานพวกเขาก็จะผ่านพ้นไปได้อยู่แล้ว กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่โต หรือแม้ปัญหานี้จะหมดไปแต่กลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่อีกหลายสิบอย่างแทน

สิ่งที่เจนอยากบอกคือ


"อย่าเพิ่มปัญหาโดยการแก้ปัญหา"


มีคนเคยถามเจนว่าการที่เจนทำโทษเด็กที่มาสาย,เอาขนมมากินบนห้อง,แต่งตัวตามอำเภอใจ โดยการให้กระโดดตบ,คัดลายมือ หรือคุกเข่า(ในห้องแอร์) มันลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้จริงหรือ

ก็ต้องบอกว่าได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่ใช้ทั้งหมดและจริงๆเจนเชื่อว่าผลที่ได้นั้นมาจากการอบรมสั่งสอนที่เราทำควบคู่กันไปเสียมากกว่า

บางคนก็บอกว่าปัญหาเหล่านี้แก้ไม่เห็นยากเลยแค่เปลี่ยนเป็นลงโทษแบบประจาน คุกเข่าตากแดด หรือฟาด แค่นี้ก็แก้ได้แล้ว

เจนก็เชื่อว่าถ้าทำแบบนั้นปัญหาสามอย่างนี้จะหมดไป แต่ปัญหาใหม่อีกหลายสิบอย่างจะเข้ามาแทน
หนีเรียน โกหก เก็บกด ต่อต้านสังคม มองโลกในแง่ร้าย เจ้าคิดเจ้าแค้น หัวรุนแรง บ้าอำนาจ หรือพอมีอิสระก็ใช้ไม่เป็นจนทำลายชีวิตตัวเองและคนรอบข้างจะวิ่งเข้ามาแทน แม้ปัญหาเหล่านี้อาจไม่เกิดกับเด็กทุกคน(และหลายคนเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว)และอาจไม่ส่งผลกระทบกับเจนโดยตรงแต่เจนคิดว่าสิ่งที่ได้นั้นไม่มีค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องเสี่ยงและเป็นการไม่ยุติธรรมที่เราจะผลักปัญหาเหล่านี้ไปให้สังคมแทน

หรืออย่างลูกเจนเอง ตอนเด็กๆน้องอิ๊กชอบดูดนิ้วโป้ง พลิกตำราก็แล้ว ใช้สารพัดวิธีก็แล้ว (ถึงขนาดแฟนเจนเอานิ้วลูกมาลองดูดบ้าง บอกมันอาจจะมีสารเคมีอะไรบางอย่างที่อร่อยมากๆซึมออกมาจนลูกติดใจ) สุดท้ายก็แก้ไม่ได้ ก็ได้แค่ดุลูกเวลาที่เห็น

บางคนก็บอกว่าแก้ไม่ยากให้เอาน้ำพริกเผาทา บางคนก็บอกให้ตบปาก หรือถือไม้ไว้ดูดเมื่อไหร่ก็ฟาดได้เลย

เจนก็เชื่ออีกเช่นกันว่าถ้าทำแบบนั้นคงจะแก้ปัญหาเรื่องลูกดูดนิ้วได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งปัญหาใหม่ลงไปในหัวใจของลูกอีกเป็นสิบ

เรื่องดูดนิ้วสุดท้ายพอลูกโตขึ้นอาการนี้ก็หายไปเอง ถ้าถามว่าหายได้ยังไง เจนคิดว่าส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ "วัย" ของลูก



สิ่งหนึ่งที่เป็นกฎของธรรมชาติคือช่วงระยะเวลาต่างๆในชีวิตมนุษย์ ร่างกาย ฮอร์โมน หรือสัญชาตญาณภายในเองก็มีส่วนที่เป็นตัวทำให้เกิดปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กเล็กๆอมข้าวมีไม่น้อย เด็กประถมอมข้าวนี่หายาก ส่วนเด็กมัธยมอมข้าวตั้งแต่ดูแลมายังไม่เคยเจอ

ซนเป็นลูกลิง (ในเด็กสองขวบ) ติดเพื่อน สนใจเพศตรงข้าม (ในวัยรุ่น) อาการเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงผลักดันจากสัญชาตญาณภายในตามแต่ช่วงระยะเวลา

การที่เด็กเล็กๆซนเป็นลูกลิง ไม่ใช่เพราะพวกเขาอยากลองดีหรือท้าทาย และการที่ตอนคุณสอนแล้วเขาพยักหน้ารับปากแต่สุดท้ายก็ไม่ทำตาม ไม่ใช่เพราะพวกเขาจงใจไม่รักษาสัญญา หรืออยากทำให้คุณเสียหน้า แต่เป็นเพราะสมองส่วนของเหตุและผลของพวกเขายังพัฒนาไม่เต็มที่

การที่ลูกสาววัยรุ่นเปลี่ยนไปจากเด็กที่เชื่อฟัง ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด กลายเป็นเด็กช่างเถียง ติดเพื่อน สนใจเพศตรงข้าม ไม่ใช่เพราะว่าเขาอยากทำให้คุณเสียใจ ไม่ใช่เพราะเขาเห็นเพื่อนสำคัญกว่าครอบครัว ไม่ใช่เพราะเขาอยากเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสัตว์มีนอที่ชอบดับไฟ แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนในตัวเด็ก

จริงอยู่ที่มนุษย์สามารถควบคุมสัญชาตญาณภายในหรือเอาชนะใจตัวเองได้ แต่ในช่วงระยะเวลาที่ต้องต่อสู้กับมัน บางครั้งเราก็ล้ม บางครั้งเราก็พลาด บางครั้งเราก็ปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือเรา เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นกำลังใจ คอยช่วยประคับประคองให้เด็กผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ไป ไม่ใช่เอาแต่ด่าหรือพูดแต่ว่าลูกฉันต้องไปในทางที่เลวร้ายแน่ๆ และถ้าเด็กพลาดเราก็ต้องพร้อมที่จะให้อภัย ไม่ใช่พร้อมที่จะเหยียบย่ำซ้ำเติม และบอกลูกและตัวเองว่า "ถึงเราจะแพ้ศึกแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะแพ้สงคราม" (We Lost the Battle but not the War -- Charles De Gaulle)



การที่เจนบอกแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไม่ใส่ใจ ละเลย เพิกเฉยต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กหรือยอมให้เด็กทำทุกอย่างตามอำเภอใจหรือทำผิดต่อหน้าต่อตา แต่สิ่งที่อยากบอกคือปัญหาของเด็กทุกอย่างนั้นไม่ว่าเราจะแก้ด้วยวิธีไหนเราต้องคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วยไม่ใช่มุ่งหวังแค่จะกำจัดปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว

ถ้าเปรียบเหมือนอาการปวดเข่า ถ้าเราเป็นเราก็ต้องกินยา ทายา ฝังเข็ม หาหมอหรืออะไรก็ตาม แต่คงไม่มีใครปวดเข่าปุ๊บก็บอกตัวเองว่า "ตัดขาเลยดีกว่าง่ายดี" และถ้าถึงขั้นจะต้องตัดขาเราก็ต้องแน่ใจว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ดีกว่านั้นแล้วๆมันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำจริงๆ



หลายครั้งเจนฟังเรื่องของผู้ปกครองที่บอกว่าลูกตัวเองมีปัญหาแต่สุดท้ายแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า

ปัญหาเกิดจากการที่พ่อแม่คิดไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาทั้งๆที่มันไม่ใช่ปัญหา

เช่น เด็กเล็กๆติดตุ๊กตา ลูกสาววัยรุ่นบ้าดารา ลูกชายบ้าฟุตบอล

สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อเด็กสนใจสิ่งเหล่านี้จนละเลยกิจวัตรประจำวันและหน้าที่ของตัวเอง

ตราบใดที่เด็กยังรับผิดชอบชีวิตตัวเองในส่วนของเขาได้ และยังแยกแยะความฝันกับความจริงออก สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัญหา

แต่มันจะเป็นปัญหาในทันทีเมื่อผู้ใหญ่คิดเอาเองว่านี่คือปัญหาและตั้งหน้าตั้งตาที่จะ "ซ่อมในสิ่งที่มันไม่ได้พัง"


(บทความนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ไม่ใช่งานวิจัยหรือเอกสารทางวิชาการ คุณพ่อคุณแม่จะคิดเห็นเช่นไรนั้นขอได้โปรดใช้วิจารณญาณตัดสินใจด้วยตัวเอง)



เจน




Create Date : 03 กรกฎาคม 2554
Last Update : 3 กรกฎาคม 2554 14:03:39 น.
Counter : 1105 Pageviews.

2 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
คำว่า "ซ่อมในสิ่งที่มันไม่ได้พัง" ตรงมากๆเลยคะ คุณเจน
เพราะตลอดเวลา พ่อแม่แบบเราๆหลายคนกำลังทำสิ่งนี้อยู่

โดย: แม่ตา IP: 58.9.82.145 วันที่: 24 กรกฎาคม 2554 เวลา:6:09:07 น.
  
"อย่าเพิ่มปัญหาโดยการแก้ปัญหา"

.
.


ผมว่าหลายๆนิสัย
ลูกจำจากเรา
โดยเราไม่รู้ตัว

เวลาเป็นนิสัยที่ไม่ดีของเรา
เราปล่อยผ่าน
แต่พอสิ่งนี้ไปเกิดกับลูก
เราไม่เคยปล่อยผ่านเลยนะครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:9:17:11 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Janeandik.BlogGang.com

JanE & IK
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]

บทความทั้งหมด