โลกเตรียมรุมซักไทย ปมละเมิดสิทธิมนุษยชน กลางเวทียูเอ็น ปลัดยธ.นำคณะแจง


โลกเตรียมรุมซักไทย ปมละเมิดสิทธิมนุษยชน กลางเวทียูเอ็น ปลัดยธ.นำคณะแจง

ขอนำเนื้อหาเรื่องนี้จากมติชนรายวันมารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

7

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีในวันที่ 11 พฤษภาคม คณะผู้แทนไทยนำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จะนำเสนอรายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (ยูพีอาร์) รอบที่ 2 ในการประชุมคณะทำงานยูพีอาร์ สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสว่า เรื่องดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 พฤษภาคม เพื่อขออนุมัติหลักการท่าทีที่จะนำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงาน ภายหลังประเทศไทยส่งรายงานตามกลไก ยูพีอาร์ รอบที่ 2 ให้แก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การรายงานครั้งนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นการรายงานของทุกประเทศที่เป็นสมาชิก

“ที่ประชุม ครม.วันที่ 10 พฤษภาคม จะพูดคุยกันว่าเราจะชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่เรารายงานในที่ประชุมยูพีอาร์ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจริงๆ หากดูตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ จะเห็นว่าเรื่องบางเรื่องต่างประเทศยังคงเข้าใจเราผิด โดยเฉพาะหลักการทางสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เราก็คงจะถือโอกาสนี้อธิบายความข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” พล.ต.สรรเสริญกล่าว

ทั้งนี้ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นำคณะประมาณ 30 คน จากไทย เพื่อรายงานและชี้แจง ในการประชุมทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (ยูพีอาร์) รอบที่ 2 ในการประชุมคณะทำงานยูพีอาร์ แห่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

สมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 14 ประเทศ ได้ยื่นคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในไทย ล่วงหน้า บางประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ได้เสนอคำถามเกี่ยวกับม.112

ต่อไปนี้คือบางส่วนจากคำถามที่ได้ยื่นล่วงหน้า

เบลเยียม

รัฐบาลไทยจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับที่ได้ลงนามไปเมื่อปี 2012 เมื่อใด? รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาที่จะให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่?

รัฐบาลไทยพิจารณาที่จะยกเลิกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และจะรับรองว่าพลเรือนทุกคนจะถูกพิจารณาคดีในศาลพลเรือนและจะได้รับการเคารพสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) หรือไม่?

รัฐบาลไทยพิจารณาที่จะตอบรับคำร้องขอในการเยือนจากคณะผู้เขียนรายงานพิเศษหรือไม่?

เบลเยียมยินดีที่กระทรวงยุติธรรมของไทยเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่น่าห่วงกังวลในการคุ้มครองนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยสามารถอธิบายถึงมาตรการคุ้มครองพิเศษดังกล่าวที่จะส่งผลและนำไปบังคับใช้อย่างไร?

สาธารณรัฐเช็ก

ไทยกำหนดกรอบเวลาที่จะให้การรับรอง อนุญาสัญญาป้องกันการทรมานและจัดตั้งกลไกระดับชาติเพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าวหรือไม่

ไทยได้มีการดำเนินการที่จะยุติการข่มเหง สอดส่อง และการกระทำในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นการข่มขู่คุกคามนักเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่มุ่งป้องกันการเกิดความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมต่อบุคคลเหล่านั้นหรือไม่?

รัฐบาลไทยจะทบทวนกฎหมายเพื่อรับประกันการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้ไอซีซีพีอาร์หรือไม่?

ภายใต้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คสช.ได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดต่อสถาบัน การก่อจลาจล ปลุกระดมฝูงชน สนับสนุนการแบ่งแยกและละเมิดคำสั่ง คสช.ในศาลทหารแทนศาลพลเรือน ในประเด็นนี้ไทยจะทบทวนแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าพลเรือนทุกคนจะถูกพิจารณาคดีในศาลพลเรือนและได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการประกันตัวภายใต้พันธกรณีของไทยที่มีต่อไอซีซีพีอาร์หรือไม่?

ขอให้รัฐบาลไทยช่วยให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ค่ายปรับทัศนคติ และหลักสูตรปรับทัศนคติ และการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

ลิกเตนสไตน์

จากที่ไทยกลับมาพิจารณาจะเข้าร่วมในศาลอาญาระหว่างประเทศ หากเป็นเช่นนั้น ไทยจะมีขั้นตอนดำเนินการอะไรบ้างในการรับรองธรรมนูญกรุงโรมฉบับปี ค.ศ.2010

เนเธอร์แลนด์

กรณีการพิจารณาในศาลทหาร

มีพลเรือนกี่รายแล้วที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557 เป็นต้นมามีพลเรือนกี่รายที่ถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารหรือถูกเจ้าหน้าที่ทหารไปตรวจสอบยังบ้านพักนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557

กรณีเสรีภาพในการแสดงออก

รัฐบาลจะให้การรับรองอย่างไรว่าทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อสาธารณะได้โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกตอบโต้ด้วยกำลังทหารหรือถูกลงโทษ เพื่อเป็นหลัก ประกันว่าจะสามารถอภิปรายโต้แย้งได้อย่างเปิดเผยและอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีการจัดลงประชามติว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ

เหตุใดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงถูกนำมาใช้แทนที่จะเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา และ คณะตุลาการมีขอบเขตแค่ไหนในการใช้ดุลพินิจในคดีหมิ่นประมาท

แผนการใดที่รัฐบาลจะนำมาใช้เพื่อยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารและการกักตัวในที่คุมขังของกองทัพ และในการโอนย้ายคดีทั้งหมดของพลเรือนที่เผชิญการพิจารณาคดีต่อศาลทหารมายังศาลพลเรือน และเพื่อปรับแก้กฎอัยการศึกและพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร เพื่อป้องกันการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

ไทยมีมาตรการอย่างไรในการสอบสวนและป้องกันการข่มเหงหรือทารุณกรรมต่อผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการประมงในอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานอพยพ

แผนการใดที่ไทยจะนำมาใช้ในการในการสอบสวนกรณีการทารุณกรรมทางภาคใต้ที่มีการ กล่าวหาว่ากระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และหากข้อกล่าวหานั้นยังคงมีอยู่ จะมีมาตรการในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างไร

สหรัฐอเมริกา

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อห้ามที่เกินกว่าเหตุในการแสดงออกถึงสิทธิพลเมืองและรับประกันถึงกระบวนการทางการเมืองที่เปิดกว้างและครอบคลุม ซึ่งยินยอมให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ขอถามว่าไทยมีขั้นตอนอย่างไรในการรับรองว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบจะได้รับการเคารพในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมนี้ และมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไรที่รัฐบาลจะดำเนินการให้ประชาชนทั่วไปสามารถอภิปรายหารือถึงคุณสมบัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ขอแสดงความกังวลต่อคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 13/2559 ในเรื่องการขยายขอบเขตอำนาจการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในของกองทัพ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิกถอนคำสั่งและจำกัดการใช้อำนาจการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเหล่านี้ไว้กับหน่วยงานของพลเรือนที่เหมาะสม ขอถามว่ามาตรการใดที่ไทยนำมาใช้เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่มีการขยายขอบเขตเหล่านี้โดยมิชอบ และรับรองว่าไทยจะเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เรายังเป็นกังวลเกี่ยวกับข้อห้ามที่เกินกว่าเหตุในการรวมกลุ่มอย่างเสรี ซึ่งรวมถึงสิทธิในการประท้วง เช่นเดียวกับรายงานเรื่องการใช้แรงงานบังคับที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงบนเรือประมงและอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล ขอถามว่าไทยมีความคืบหน้าในการสอบสวน ดำเนินคดี และพิพากษาผู้กระทำความผิดรายบุคคลในเรื่องการใช้แรงงานบังคับมากน้อยแค่ไหน

เยอรมนี

เยอรมนียินดีที่ไทยให้ที่พำนักแก่ผู้อพยพ แต่ดูเหมือนมีความจำเป็นที่จะต้องให้สถานะทางกฎหมายแก่คนเหล่านี้ด้วย ดังนั้นแล้ว เราขอถามว่า ไทยมีความตั้งใจที่จะลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 และออกกฎหมายกลางระดับประเทศที่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายที่เพียงพอต่อผู้อพยพ

สวีเดน

รัฐบาลไทยมีแผนการที่จะจัดการกับข้อกังวลต่อกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

ไทยยอมรับคำแนะนำในการพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งแรกที่จะเชิญคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ คำร้องขอดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อใดจึงจะมีการยื่นคำเชิญนี้มาอย่างเป็นทางการ

ไทยมีมาตรการอะไรบ้างที่มีแผนจะดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้เขียนรายงานพิเศษด้านสถานการณ์การค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ รวมถึงการขจัดสื่อลามกอนาจารเด็กและการค้ามนุษย์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

นอร์เวย์

เรารับทราบว่าไทยได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ โดยมีคำร้องขอให้มีการเยือนของผู้เขียนรายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่รอการตอบรับอยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะกำหนดวันที่ชัดเจนในการให้ผู้เขียนรายงานพิเศษเยือนไทยได้เมื่อใด

รัฐบาลไทยจะมีมาตรการอย่างไรในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ขัดแย้งทางภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการรายงานเรื่องการทารุณกรรม การจำกัดเสรีภาพในการพูดและไร้ซึ่งการสอบสวนการหายตัวโดยถูกบังคับ

-รัฐบาลไทยจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในการนำพิธีสารปาเลร์โมไปปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ติดตามและดำเนินคดีกับบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์

สวิตเซอร์แลนด์

หลักปฏิบัติในการควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติที่รัฐบาลไทยใช้คืออะไร รัฐบาลแน่ใจได้อย่างไรว่าหลักปฏิบัติในการปรับทัศนคติสอดคล้องกับพันธกรณีที่มีภายใต้ไอซีซีพีอาร์

รัฐบาลไทยจะรับประกันในหลักการที่จะไม่ส่งผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกลับไปถูกดำเนินคดีในกรณีอย่างไร

สเปน

ภายใต้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 13/2559 การป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลโดยปราศจากคำสั่งศาลและเจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีหากปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ รัฐบาลไทยจะป้องกันและมีบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจอย่างไร

การใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต รัฐบาลไทยจะส่งเสริมบทบาทของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในการส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างไร ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยมีกลไกอะไรที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีการเยียวยาเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดดังกล่าวนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีบทลงโทษบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ กระทำผิดอย่างไร




Create Date : 12 พฤษภาคม 2559
Last Update : 12 พฤษภาคม 2559 17:06:33 น.
Counter : 4956 Pageviews.

0 comments
รถซื้อแกง จะไปแรงได้ไงจ๊ะ multiple
(3 ก.ย. 2567 15:43:21 น.)
 Food For Fun : Hot Wok Return #94 เดือนเมษายน -"กินเพลินเกินห้ามใจ" กุ้งอบวุ้นเส้นโรสแมรี่  multiple
(30 เม.ย. 2567 06:00:20 น.)
ติดป้าย สมาชิกหมายเลข 4313444
(6 มี.ค. 2567 10:31:40 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Fairness.BlogGang.com

justice0009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]

บทความทั้งหมด