ลงท้าย เธออาจเป็น รมต.ต่างประเทศ สั่งการประธานาธิบดี!
ลงท้าย เธออาจเป็น รมต.ต่างประเทศ สั่งการประธานาธิบดี!


ขอนำเนื้อหาเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา
ข่าวในแวดวงการทูตจากพม่าบอกว่า อองซานซูจี ตัดสินใจ
หยุดผลักดันกับทหารให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัวเองได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว

ขอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศดีกว่า

เพราะอย่างไรเสียในฐานะเป็นหัวหน้าพรรค NLD ที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา เธอก็มีตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการเป็น “ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล” อยู่แล้ว

ดังนั้นภายในวันที่ 10 มีนาคม (เลื่อนเร็วขึ้นจากวันที่ 17 มีนาคม) เราก็จะรู้ว่าเธอจะเสนอใครในพรรคหรือนอกพรรคเป็นประธานาธิบดี และเธอจะยอมให้ฝ่ายทหารเสนอใครเป็นรองประธานาธิบดี

การเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ จะทำให้เธอสามารถนั่งในสภาความมั่นคงแห่งชาติ เคียงข้างประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสองคน อีกทั้งยังสามารถประกบผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีที่กองทัพเป็นผู้แต่งตั้งสามตำแหน่ง คือมหาดไทย กิจการชายแดนและกลาโหมอีกด้วย

แปลว่าอย่างไรเสียอองซานซูจีก็จะมีส่วนร่วม ในการบริหารประเทศอย่างเต็มพิกัด ไม่ว่าเธอจะยอมรับตำแหน่งใดในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ตาม

ที่สำคัญคือในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ เธอจะเป็นตัวแทนของพม่าในเวทีสากลทั้งหลาย และในการประชุมสุดยอดระดับโลก เธอก็ประกบประธานาธิบดีไปทุกหนทุกแห่งได้

ดังนั้น อำนาจและบารมีของเธอก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง เพราะกองทัพยังไม่ยอมร่วมมือในการยกมือในสภา ให้ได้เสียงเกิน 75% เพื่อแก้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเลย

ส่วนเธอจะเลือกใครเป็น “นอมินิ” ในตำแหน่งประธานาธิบดี ยังเป็นประเด็นที่คาดการณ์กันอย่างร้อนแรงในแวดวงการเมืองพม่า 

ผมได้ยินชื่อไม่ต่ำกว่า 6 ชื่อที่ได้รับการเอ่ยขานว่าอาจเป็นคนที่อองซานซูจีเสนอให้มานั่งตำแหน่งนี้

หนึ่งในชื่อที่ซุบซิบกันในสภากาแฟคือ U Htin Kyaw ลูกชายของปัญญาชนพม่าที่มีเมียคือ Su Su Lwin ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับอองซานซูจี

แต่ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี อองซานซูจีก็จะเป็นผู้บริหารประเทศเคียงคู่กับผู้นำกองทัพ ที่ดูเหมือนจะมีข้อตกลงกันแล้ว ว่าผู้บัญชาการทหารบกนายพลมินอ่องหลาย จะได้รับการต่ออายุหลังเกษียณไปอีก 5 ปี

นี่คือสูตร “ปรองดองแห่งชาติ” ที่เธอได้พยายามเจรจาต่อรองมาหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่แล้วเพื่อให้ประเทศพม่าสามารถเปลี่ยนผ่าน จากเผด็จการทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือน เพื่อก้าวเข้าสู่ระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือแตกแยก จนกลายเป็นความวุ่นวายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก

ความสมานฉันท์จะต้องขยายตัวไปสู่ชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศด้วย จึงจะทำให้พม่าเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น เพราะแม้จะมีลงนามสงบศึกมาก่อนหน้านี้ แต่ความสงสัยคลางแคลงก็ยังมีอยู่ในหลาย ๆ กลุ่ม ไม่เชื่อในความจริงใจของกองทัพที่จะเลิกรบราฆ่าฟันกัน

อองซานซูจีจำเป็นต้องยื่นมือออกไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์อย่างจริงจัง เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์คราวนี้ มีผลประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

หากสูตรออกมาอย่างนี้ พม่าจะเป็นประเทศแรกที่มี “รัฐมนตรีต่างประเทศ” ที่สั่งการ “ประธานาธิบดี” ได้โดยไม่มีใครบอกว่าเป็นการ “ล้วงลูก” เป็นอันขาด!





Create Date : 03 มีนาคม 2559
Last Update : 3 มีนาคม 2559 21:57:00 น.
Counter : 697 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Fairness.BlogGang.com

justice0009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]

บทความทั้งหมด