****ทำความดีวันละนิดจิตแจ่มใส**** ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา สิ่งที่ตามเราไปมีเพียงแต่บุญและบาป
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
21 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
การเห็นอริยสัจ นั้น เห็นอย่างไร ?โดยคุณดังตฤณ

การเห็นอริยสัจ นั้น เห็นอย่างไร ?โดยคุณดังตฤณ
คำถามที่จะถามต่อไปนี้เป็นคำถามที่หลวงตานุ่มฝากถามมาคือ

...การเห็นอริยสัจ นั้น เห็นอย่างไร ?

...การเห็นสังโยชน์ นั้น เห็นอย่างไร ?

รบกวนคุณดังตฤณ ช่วยให้คำตอบ คำอธิบาย ที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ด้วยครับ ผมจะได้ส่งคำตอบกลับไปให้หลวงตา ขอบคุณครับ

********************************************

เนื้อความ :

ขออภัยด้วยครับที่ตอบคุณจตุรนต์ช้าไปนิดหนึ่งช่วงอาทิตย์ก่อนไม่มีโอกาสเข้าไปอ่านทุกกระทู้โดยเฉพาะกระทู้ ของคุณจตุรนต์


การเห็นอริยสัจจ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะมีทั้ง การเห็นระดับเข้าใจ (คือปุถุชนเข้าใจแนวคิดว่าอริยบุคคลเห็นอะไร และอย่างไร)กับการเห็นระดับเข้าถึง (คืออริยบุคคลจริง ๆ เห็นธรรมะทั้งที่เป็นทุกข์และที่สิ้นทุกข์)


การเห็นในระดับเข้าใจ

คือทราบว่านิยามของทุกข์เป็นอย่างไรนับแต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย การร้องไห้คร่ำครวญและที่สุดคือทราบว่าสภาพอันเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นอันได้แก่กายใจนี้เอง เป็นตัวทุกข์ทั้งแท่ง(นี้คือทุกข์ อันเป็นความจริงข้อแรกของอริยสัจความจริงข้อนี้ควรกำหนดรู้ให้ทั่วถึงและขึ้นใจไม่ใช่ร้องไห้ขึ้นมาทีหนึ่งจึงเห็นว่าเป็นทุกข์)


การรู้นิยามทุกข์อย่างเดียวยังไม่พอ ต้องรู้นิยามของเหตุแห่งทุกข์ด้วยว่าได้แก่ความทะยานอยาก ไม่ว่าจะอยากได้ อยากมี อยากเป็นหรือกระทั่งอยากไล่ อยากเสีย อยากไม่เป็นพูดง่าย ๆ ขึ้นชื่อว่าอยาก ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุแห่งความทุกข์เพราะหล่อเลี้ยงความยึดมั่นว่าดี น่าชอบใจ ยึดมั่นว่าเลว ไม่น่าชื่นชมไว้หากไม่ทราบว่ามูลเหตุแห่งทุกข์คืออะไรท่าทีของการมองทุกข์ก็จะต่างไปมุมมองเกี่ยวกับความสิ้นทุกข์ก็จะไม่ครอบจักรวาลด้วยเพราะเราจะมุ่งทำลายทุกข์หนึ่งด้วยการหารูปแบบน่าพึงใจกว่ามาทดแทนและจะไม่เชื่อเรื่องการดับทุกข์อย่างเด็ดขาดชนิดไม่กลับกำเริบอีกเพราะไม่อาจคลำไปได้ถึงต้นตออันเป็นนามธรรมแท้จริง(นี้คือทุกขสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ อันเป็นความจริงข้อสองของอริยสัจความจริงข้อนี้ควรละ ด้วยวิถีทางอันมั่นใจได้ว่าลึกพอจะถอนรากถอนโคน)


เมื่อสามารถเห็นได้และคล้อยตามด้วยเหตุผลว่าเพราะ "อยาก" จึง "ยึด"ก็จะคลี่คลายเป็นความเข้าใจในลำดับต่อมาว่าถ้าละความอยากได้ก็หมดความยึดไม่มีตัวยึด ก็แปลว่าไม่มีทุกข์ มีแต่สภาพอะไรเกิดขึ้นแล้วดับไปแบบต่างคนต่างอยู่ จิตมีความสัมพันธ์กับรูปโดยสักแต่ว่ารู้ไม่ใช่สัมพันธ์กับรูปโดยอาการยึดมั่น ดิ้นรน เร่าร้อน(นี้คือทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ อันเป็นความจริงข้อสามของอริยสัจ)


แต่ก่อนที่จะหมดอยาก หมดยึด ก็ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่จงใจเอาเล่น ๆ ทว่าต้องทำให้เกิดความฉลาดทางจิต ทำให้จิตปลดพันธนาการที่มีอยู่ได้จริงนั่นก็คือต้องกระทำจิตให้ค่อย ๆ หมดความเป็นที่ตั้งของสิ่งร้อยรัดทั้งหลายเหมือนทำผนังให้ยุ่ยจนกระทั่งไม่อาจเป็นที่ตั้ง ที่เกาะเกี่ยวของขอยึดทั้งหลายโดยย่นย่อคือให้สะอาดด้วยศีล ตั้งมั่นด้วยสมาธิและรู้ชัดด้วยปัญญา ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย สิ่งนั้นย่อมดับลงเป็นธรรมดาเมื่อจิตอยู่ในสภาพอันเป็นศีล สมาธิ และปัญญาเช่นนี้ในที่สุดย่อมหมดอยาก และละความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ชนิดไม่กลับกำเริบเป็นร้อนขึ้นได้อีก(นี้คือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรคอันเป็นหนทางดับทุกข์ ความจริงสุดท้ายในอริยสัจ)



การเห็นในระดับเข้าถึง

ทุกคนมีเส้นทางเดียวกันคือมรรค ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔มรรค ๘ และสติปัฏฐาน ๔ เป็นอันเดียวกัน แต่เรียกต่างกันตามมุมมองกล่าวคือมรรค ๘ จะเริ่มตั้งหลักกันที่ความเข้าใจว่าชีวิตคืออะไร ควรเป็นไปอย่างไร ข้อปฏิบัติใดบ้างที่เป็นคุณเรียกว่าบอกกันเป็นข้อ ๆ ว่าจะตบแต่งจิตอย่างไรให้เหมาะสมนับแต่ตอบคำถามตนเองได้ว่า "จะไปไหน"ตอบคำถามตนเองได้ว่า "ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้งอย่างนี้"เช่นถ้าเจอข้อกังขาว่าอะไรเป็นอัตตาที่แท้จริงต้องตอบได้อย่างมีเหตุผลขึ้นใจว่าไม่มีอะไรเป็นอัตตาเลยเพราะทุกสิ่งไม่เที่ยง บัญชาให้เป็นดังใจโดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้และแม้แต่สิ่งที่เที่ยงเช่นนิพพาน ก็ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครควบคุมให้เป็นไปทุกอย่างสักแต่เป็นสภาวะตามเหตุปัจจัย (เช่นภพชาติ)หรือเป็น "อสภาวะ" ตามที่เป็นอยู่แล้ว (เช่นนิพพาน)ถ้าใครถามว่าเป็นชู้กับเมียชาวบ้านดีไหม อดใจไม่ไหวและเข้าใจว่าแค่การมีปฏิสัมพันธ์ทางกาย คงไม่บาปกรรมอะไรนักหนาก็ต้องตอบได้อย่างมีเหตุผลว่าที่บาปนั้นไม่ใช่ดูเฉพาะที่กายเปรอะเปื้อนแต่ดูที่จิตสกปรกด้วยอาการเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจหรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เกิดความรู้สึกผิดอันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ที่มีมโนธรรมหากจิตผู้ใดมีสภาพอันปลอดจากความเห็นผิด มีความสะอาดพร้อมที่จะพัฒนาขึ้นเป็นสติเห็นกายใจเป็นไตรลักษณ์มีความมั่นคงทางจิตใจ มีกำลังมากพอจะตัดกิเลสให้ขาดก็ได้ชื่อว่าจิตอยู่ในมรรค ๘ หรือผู้ใดพอใจจะเรียกว่าจิตเป็นมรรคก็ได้


ส่วนสติปัฏฐาน ๔ จะเริ่มตั้งหลักกันที่การลงมือปฏิบัติต้องใช้อะไรเป็นเครื่องมือเหนี่ยวนำให้เกิดสติมีสติอย่างไรจึงเหนี่ยวนำให้เกิดปัญญาปล่อยวาง ละความยึดมั่นถือมั่นได้จี้ลงไปตั้งแต่ระดับคำถามว่า "จะให้เริ่มตรงไหน?"คือมีการกำหนดรู้ลมหายใจเป็นหลักออกตัวเพื่อให้เกิดสติเข้ามาในขอบเขตของกาย มีความพร้อมจะเห็นกายชัดคือเห็นกายไม่เที่ยงผ่านอิริยาบถน้อยใหญ่(ไม่ใช่สักแต่เห็นกายทื่อ ๆ โดยไม่ทราบจะเห็นเป็นของไม่เที่ยงอย่างไร)เห็นกายตามจริงว่าไม่น่ารัก ไม่น่าเสพผ่านการพิจารณาปฏิกูลในกาย(ไม่ใช่สักแต่สั่งตัวเองให้เลิกยึดกายว่าไม่เอา ๆ โดยไม่ถอนต้นเหตุคือหลงนึกว่างาม)เห็นกายตามจริงว่าไม่ใช่ตัวตน สักแต่เป็นธาตุมาประชุมกัน(ไม่ใช่สักแต่คิด ๆ เอาว่ากายไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่มีรายละเอียดว่าทำไมไม่ใช่)เห็นกายตามจริงว่าเป็นอันเดียวกับศพ วันหนึ่งจะต้องผุพังไป(ไม่ใช่สักแต่จินตนาการเอาว่าวันหนึ่งเราต้องตายแต่เห็นซึ้งเข้าไปถึงกระบวนการแห่งมรณภาพทีเดียวว่ามีธรรมดาเป็นอย่างไร)


ระหว่างแห่งความเพียรเพื่อละความยึดมั่นในกายก็สามารถเพียรเพื่อละความยึดมั่นในความรู้สึกนึกคิดไปด้วยตั้งต้นง่ายที่สุดคือดูความรู้สึกสุขทุกข์ ว่าไม่เที่ยงดูว่าสุขทุกข์อันเกิดจากการภาวนา น่าใคร่กว่าสุขทุกข์อันเกิดจากผัสสะทางโลกเมื่อดูสุขทุกข์เป็น เห็นสักว่าเป็นภาวะจิตจะเริ่มเข้าใจว่าดูสภาวะละเอียดกว่านั้นได้อย่างไรเช่นสภาวจิตที่มีราคะ โทสะ โมหะ ง่วงงุน ฟุ้งซ่านเมื่อแต่ละภาวะถูกรู้ด้วยสติที่ถูกต้อง ก็จะแสดงความแปรปรวนให้เห็นเป็นธรรมดาเมื่อเห็นความแปรปรวนของแต่ละภาวะบ่อยเข้า ก็ถอนความเห็นว่าเป็นตัวตนไปเองแม้แต่ขณะแห่งความนึกคิด ก็แยกแยะได้ว่าอย่างนี้สัญญา อย่างนี้สังขารสัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยงไม่ใช่นึกคิดขึ้นมาแล้วถูกครอบงำด้วยความรู้สึกว่ามีเราคิดจิตหลงไปว่ามีผู้คิดในสัญญาและสังขาร


นอกจากเห็นสภาวะหยาบ ไล่ตั้งแต่กาย เวทนา ลงมาถึงสภาวจิตและความนึกคิดก็ต้องมีความเป็นกลาง รู้แม้กระทั่งอาการ "ยึด" เพียงละเอียดเท่าใยแมงมุมเช่นเหมือนเห็นทุกสภาวธรรมโดยความไม่เที่ยงได้หมดแล้วคล้ายวางความยึดได้หมดแล้วแต่ยังมีแม้ "อาการรอมรรคผล" หรืออาการ "สงสัยว่าจะมีอะไรต่ออีก"ก็ต้องพิจารณาว่านั่นยังเป็นภาวะปรุงแต่งอันเป็นมูลแห่งอัตตา เป็นมูลแห่งการยึดเมื่อยังรอ แม้เหมือนไร้โลภ ก็ต้องมีผู้รออยู่ในจิตเมื่อยังสงสัย แม้บางเฉียบเพียงใด ก็ต้องมีผู้คิดคำนึงวกวนอยู่ในจิตเหมือนดาล แม้บางเพียงใด ถ้าวางอยู่ในที่ขัดประตู ก็กั้นไว้ไม่ให้ประตูเปิดได้ต่อเมื่อจิตทรงอยู่ด้วยองค์อันเป็นเครื่องตรัสรู้ครบถ้วนโดยเฉพาะอุเบกขา อันเป็นสภาพที่จิตทำตัวเป็นธรรมผู้สักแต่เห็นธรรมจริง ๆ ตรงนั้นจึงเรียกว่าเป็นการตัดขาด "เครื่องพันธนาการร้อยรัด"หรือสังโยชน์ข้อว่าด้วยความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวตนได้ขาดเปรียบเหมือนการยกเอาดาลออก เพื่อให้ประตูเปิดออกรู้เห็นสิ่งที่อยู่นอกประตู



การเห็นสังโยชน์

ชั้นแรกก็คือเห็นเข้ามาที่สภาพอันเป็นโซ่ตรวนผูกมัดรัดร้อยจิตไว้สังโยชน์อันกระทำกายใจให้เป็นที่ตั้งของอุปาทาน ของความยึดติดเป็นตัวตนพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดคือเห็นธรรมชาติแห่งอาการยึดมั่นในจิตเห็นอาการที่จิตยึดมั่นถือมั่น นับแต่หยาบที่สุด เข้ามาถึงละเอียดที่สุดและถ่ายถอนเสียได้เป็นขั้น ๆ ด้วยหลักการตามลำดับของสติปัฏฐาน ๔


หากปราศจากการเห็นชัดในระดับเริ่มหรือปราศจากความเป็นกลาง ขาดความฉลาดรู้เท่าทันธรรมอันละเอียดอ่อนก็จะมีอาการ "ยึด" อันเป็นหัวหน้าของสังโยชน์ไม่ขาดสาย


ถ้ารวบรัดให้ง่ายที่สุดทั้งอริยสัจและสังโยชน์ก็คงจะเป็นการตั้งสติรู้อยู่กับปัจจุบันเห็นว่ายึดอันไหนก่อน ก็ถอนความยึดอันนั้นก่อนส่วนวิธีถอน ก็คือตั้งมุมมองไว้ว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน น่าระอา



ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองเฉพาะตัวและคงไม่ใช่คำตอบที่ย่อยง่ายที่สุด หรือเที่ยงตรงที่สุดนะครับ

จากคุณ : ดังตฤณ [ 5 ส.ค. 2545 ]


//www.dharma-gateway.com/ubasok/dangtrin/misc-81.htm




Create Date : 21 ตุลาคม 2551
Last Update : 21 ตุลาคม 2551 14:58:36 น. 0 comments
Counter : 441 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

you4lucky
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะคะ
Friends' blogs
[Add you4lucky's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.