****ทำความดีวันละนิดจิตแจ่มใส**** ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา สิ่งที่ตามเราไปมีเพียงแต่บุญและบาป
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
29 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด


O อานุภาพแห่งพระพุทธศาสนา

เราต่างเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา.....เพราะพระพุทธศาสนาจริง ๆ
ดีได้เพียงนี้ ไม่ดีน้อยกว่านี้.....เพราะพระพุทธศาสนา
ร้ายเพียงเท่านี้ ไม่ร้อยไปกว่านี้.....เพราะพระพุทธศาสนา เราจะไม่เป็นเช่นนี้

พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวไว้มีความว่า
“ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นให้ดี”

       เป็นการเตือนด้วยถ้อยคำอันไพเราะยิ่งนัก ควรนักที่จะได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ควรรักษาตนนั้นให้ดี ขอให้ทบทวนคำเตือนนี้ให้เสมอ จะรู้สึกว่าเป็นคำเตือนที่สุภาพอ่อนโยน ไพเราะลึกซึ้ง เปี่ยมด้วยเมตตา

       เมื่อทบทวนคำเตือนนี้แล้ว ก็น่าจะนึกเลยไปให้ได้ความเข้าใจว่าท่านผู้กล่าวคำเตือนได้เช่นนี้ ต้องมีจิตใจสูงส่ง มีเมตตาปรารถนาดีอย่างที่สุดต่อเราทุกคน

       จึงควรเทิดทูนความเมตตาของท่าน ให้ความสนใจและปฏิบัติให้เป็นไปตามคำของท่าน เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีตอบแทนพระคุณ และน้ำใจงดงามที่ท่านมีต่อเราทั้งหลาย และท่านผู้นั้น คือ พระพุทธเจ้า

O ความจริงที่ควรระลึกถึงอย่างสม่ำเสมอ

       เรารักตัวเรา คนอื่นก็รักตัวเขา เราไม่อยากให้ใครทำเช่นไรกับเรา คนอื่นก็ไม่อยากให้เราทำเช่นนั้นกับเขา เราอยากให้คนอื่นทำดีกับเราอย่างไร คนอื่นก็อยากให้เราทำดีกับเขาอย่างนั้น ขอให้พยายามคิดถึงความจริงนี้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะมีสตินึกได้ จะเป็นคุณแก่ตนเองอย่างยิ่ง การคิดพูดทำทั้งหมดจะเป็นไปอย่างดีที่สุด ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น


O เพราะรักตนอย่างยิ่งนั่นเอง

จึงเป็นผู้ประพฤติ ปฏิบัติดี เพื่อให้ตนเป็นคนดี

       การสามารถรักษาจิตใจ รักษาวาจา รักษาการกระทำ ให้เป็นไปเพื่อไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการทำเพื่อผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการถือว่าผู้อื่นเป็นที่รักของตน แต่เป็นการทำเพื่อตนเอง เป็นการถือว่าตนเป็นที่รักของตนอย่างยิ่ง ไม่มีความรักอื่นเสมอด้วยความรักตน

       ผู้ที่สามารถรักษากาย วาจา ใจ ตนให้ดีได้นั้นก็คือ “ผู้ที่รักตนอย่างยิ่ง” นั่นเอง เพราะรักตนอย่างยิ่งจึงประพฤติดีปฏิบัติดีเพื่อให้ตนเป็นคนดี ผู้ที่ถือเอาการได้มาด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่เลือกสุจริต ทุจริต ไม่ใช่คนรักตนเอง ผู้ที่มีกิริยาวาจาหยาบคายก้าวร้าว ทิ่มแทงหลอกลวง ไม่ใช่คนรักตนเอง

       ไม่ใช่คนที่จะทำให้ตนเองสวัสดีได้ ตรงกันข้ามที่ทำเช่นนั้นเป็นการไม่รักตนเอง แม้คนจะคิดว่าการที่ทำเพราะไม่รักผู้อื่นก็ตาม แต่ความจริงแท้เป็นการไม่รักตน เป็นการทำให้ตนต่ำทราม

       เมื่อจะคิดชั่วพูดชั่วทำชั่วเมื่อใด ขอให้นึกถึงตนเอง นึกว่าตนเป็นที่รักของตน จึงไม่ควรทำลายตนเหมือนตนเป็นที่รังเกียจเกลียดชังอย่างยิ่ง จนถึงต้องทำลายเสีย การคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว เป็นการทำลายตนอย่างแน่แท้


O ความดีความชั่วเป็นปัจจัยสำคัญให้สังคมวุ่นวาย

       สังคมแห่งมนุษยชาติบางคราวสงบเย็น บางคราวเดือนร้อนวุ่นวาย ก็เพราะมีความดีความชั่วเป็นปัจจัยสำคัญ พระพุทธศาสนาจึงมุ่งแนะนำสั่งสอนให้ประกอบความดี ละเว้นความชั่ว และอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้ว ซึ่งจะผลักดันให้ทำความดี ส่วนจิตใจชั่วทรามย่อมนำให้สร้างความชั่วเสียหายยังแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น


O ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี

       ทุกชีวิตมีเวลาจำกัด อย่างมากไม่เกิดร้อยปีก็จะต้องละร่างนี้ ละโลกนี้ไป อย่าผัดวันประกันพรุ่งที่จะทำความดี เพราะถ้าสายเกินไปเมื่อไร ก็ตนเองนั่นแหละจะต้องได้เสวยผลของการไม่กระทำกรรมดี ไม่มีผู้ใดอื่นจะรับผลของความดีความชั่วที่ตนเองทำไว้ เจ้าตัวเองเท่านั้น จักเป็นผู้รับผลของความดี ความชั่วที่ตนทำ


O อย่ายอมให้ความชั่วมีอำนาจแบ่งเวลาในการทำดี

       ความดีก็ตาม ความชั่วก็ตาม เป็นสิ่งที่ทำได้ทุกเวลา แต่จะทำสองอย่างพร้อมกันไม่ได้ ต้องทำทีละอย่าง จึงต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำอย่างไหน จะทำความดีหรือจะทำความชั่ว อย่างมีใจอ่อนแอโลเลเพราะจะทำให้พ่ายแพ้ต่ออำนาจของความชั่ว ยอมให้ความชั่วมีอำนาจแย่งเวลาที่ควรทำความดีไปเสีย ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง จะเป็นการแสวงหาทุกข์โทษภัยใส่ตัว อย่างไม่น่าทำ


O ตนนั่นแหละ เป็นผู้นำพาชีวิตของตน

       พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวไว้แปลความว่า “ตนเทียวเป็นคติของตน” คือ ตนนั้นแหละ จักเป็นผู้พาตนเองไป ไปดีไปชั่ว ไปสว่างไปมืด ไปอย่างไรก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ตนจะพาตนเองไป ที่มักกล่าวกันว่าคนนั้นพาคนนี้ไปดีไม่ดีนั้น ไม่ถูกต้องตามความจริง

       ไม่มีผู้ใดจะพาใครไปไหนได้ นอกจากเจ้าตัวเองจะเป็นผู้พาตัวเองไป ผู้อื่นเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น แม้ตัวเองไม่พาตัวเองไปดีแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดอื่นจะสามรถพาไปดีได้อย่างแน่นอน หรือแม้ตัวเองไม่พาตัวเองไปชั่วแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดอื่นจะสามารถพาไปชั่วไปอย่างแน่นอน เช่น มีผู้มาชวนให้ทำบุญ แม้ตัวเองไม่ทำตาม ก็จะไม่ได้ทำบุญ

       ไม่ว่าในเรื่องใดทั้งนั้น ถ้าตัวเองไม่เห็นดีเห็นงามตามไปด้วยแล้ว ไม่ทำตามแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดมานำได้ ตนเองเท่านั้น จักนำตนเองไปได้ทุกที่ทุกทาง ทั้งที่ดีทั้งที่ชั่ว ตนเองจึงสำคัญนัก ตนจึงเป็นคติของตนจริง


O ทุกชีวิต ล้วนปรารถนาไปสู่ที่ดีที่สว่าง

       ทุกคนควรตั้งปัญหาถามตนเอง ว่าชอบจะพาตนเองไปสู่ที่ดีหรือไปสู่ที่ชั่ว ไปสู่ที่สว่างหรือไปสู่ที่มืด คำตอบน่าจะตรงกันทั้งหมด ว่าทุกคนชอบจะพาตนไปสู่ที่ดีที่สว่าง ไม่ใช่ไปสู่ที่ชั่ว ไปสู่ที่มืด

       เมื่อรู้คำตอบปัญหาเช่นนี้ ก็ต้องรู้ต่อไปว่า ผู้นำ คือ ตนเองนั้น จะต้องรู้ทางไปสู่ที่ดีที่สว่างให้ถนัดชัดแจ้งถูกต้อง ไม่เช่นนั้ก็จะพาตนไปไม่ถูกต้องดังปรารถนา นั่นก็คือ ต้องรู้ว่าทำอย่างไร จึงจะไปสู่ที่ดีที่สว่าง ไม่หลงไปสู่ที่ชั่วที่มืด

       เราเป็นพุทธศาสนิก มีโอกาสดีอย่างยิ่ง มีโอกาสดีกว่าผู้อื่น พระพุทธศาสนาแสดงทางดีทางสว่างไว้ชัดแจ้งละเอียดลออ ดีน้อยดีมาก สว่างน้อยสว่างมาก มีแสดงไว้แจ้งชัดในพระพุทธศาสนา

       พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นแจ้งทุกสิ่งทุกอย่างได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ เพื่อพุทธศาสนิกได้ดำเนินรอยพระพุทธบาทได้ถูกต้อง ได้ไปถึงที่ดีที่สว่างโดยไม่ต้องคลำทางด้วยตนเองให้ลำบาก สำคัญที่ว่าพุทธศาสนิกจะต้องศึกษาพระธรรมคำที่พระพุทธองค์ทรงสอนและต้องปฏิบัติตาม


O ผู้ปรารถนาความดี ความสว่างแห่งชีวิต

พึงดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสั่งสอน

       พระพุทธองค์ทรงตามประทีปไว้แล้ว ให้เราเห็นทางดำเนินไปสู่ที่ดีที่พ้นทุกข์ เราจงอย่าปิดตาจงลืมตาดูแสงประทีปนั้น ให้เห็นทางสว่างด้วยแสงแห่งพระมหากรุณา แล้วพากันน้อมรับพระมหากรุณานั้นดำเนินไปตามทางที่สว่าง จักไม่พบอันตรายที่ย่อมแอบแฝงอยู่ในความมืด

       ความสำคัญจึงมิได้อยู่ที่แสงประทีป ซึ่งพระพุทธองค์ทรงจุดประทานไว้ด้วยพระมหากรุณาเท่านั้น แต่ต้องอยู่ที่ตนเองของทุกคนด้วย ถ้าพากันปิดตาไม่แลให้เห็นแสงประทีป ก็อาจจะเดินไปสู่ที่มืดที่ชั่ว ที่มีอันตรายร้อยแปดประการได้

       แต่ถ้ากาพันลืมตาขึ้น ดูให้เห็นทางอันสว่างไสว แล้วเดินไปตามทางนั้น ก็ย่อมจะเดินไปสู่ที่สว่าง ไปสู่ที่ดี พ้นภยันตรายมากมีทั้งหลาย


O พึงอบรมตนให้เป็นคติ คือทางที่ดีของตน

       ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะมีหนทางชีวิตที่มืด มีแต่ปรารถนาหนทางชีวิตที่สว่าง ดังนั้นต้องอบรมตนให้รู้จักทาง ทางมืดก็ให้รู้ ทางสว่างก็ให้รู้ ทางไปสู่ที่มืดก็รู้ ทางไปสู่ที่สว่างก็รู้ รู้ทางแล้วยังไม่พอ ต้องศึกษาวิธีเดินทางให้ดีด้วย

       เดินทางสว่างนั้นท่านเดินกันอย่างไรต้องศึกษาให้ดี เดินอย่างไรจะเป็นการเดินทางมืด และต้องรู้ว่าขึ้นชื่อว่าทางมืดต้องมีอันตรายแอบแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่พึงเดินไปอย่างส่งเดช อบรมใจให้ดีให้ตาสว่าง จะได้เดินถูกทาง สามารถนำไปดีได้ ทำตนให้เป็นคติคือทางที่ดีของตนได้






Free TextEditor


Create Date : 29 ตุลาคม 2551
Last Update : 29 ตุลาคม 2551 14:46:07 น. 3 comments
Counter : 397 Pageviews.

 
O ทุกชีวิต ล้วนตกเป็นเครื่องมือของกรรม

       ความรังเกียจหรือความนิยมยกย่องคนที่ชั่วและคนดี ได้รับเป็นผลแห่งกรรมของตน ไม่ใช่เป็นอะไรอื่น ความรังเกียจที่คนชั่วได้รับ เป็นผลแห่งกรรมชั่ว ความนิยมยกย่องที่คนดีได้รับ เป็นผลแห่งกรรมดี คนทั้งหลายรวมทั้งตัวเราทุกคน เป็นเครื่องมือของกรรมที่จะเป็นเหตุให้ผลของกรรมชั่วและผลของกรรมดีปรากฎชัดเจนขึ้นเท่านั้น

       ผู้มีปัญญาไม่นิยมคำว่า ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ เพราะเป็นความไม่ถูกต้อง ความเสื่อมทั้งหลายเกิดจากความนิยมนี้ได้มากมาย


O ผู้ยินดีในความถูกต้อง พึงอบรมตนให้มีสัมมาทิฐิ

       แม้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในจิตใจตนได้แล้ว การปฏิบัติที่ถูกต้องก็ย่อมจะต้องตามมาอย่างแน่นอน เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ คือ ทุกสิ่งเป็นไปตามอำนาจความเห็นถูกเห็นผิดของใจ

       การอบรมความเห็นให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบ
ไม่ให้เป็นมิจฉาทิฐิ.....ความเห็นผิด จึงเป็นความสำคัญที่สุดของผู้ยินดีในความถูกต้อง

       ใจของเราทุกคนนี้สำคัญนัก สติก็สำคัญนัก ปัญญาก็สำคัญนัก เมตตากรุณาก็สำคัญนัก ทั้งหมดนี้ไม่ควรแยกจากกัน มีใจก็ต้องให้มีสติ ต้องให้มีปัญญา ต้องให้มีกรุณา ประคับประคองกันไปให้เสมอ อย่าให้มีสิ่งอื่นนอกจากสติปัญญาและเมตตากรุณาเข้ากำกับใจ

       สติและปัญญาพร้อมเมตตากรุณานั้น เมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ จะทำให้ใจมีสัมมาทิฐิ.....ความเห็นชอบได้ ตรงกันข้าม แม้ใจขาดสติปัญญา และเมตตากรุณา ก็จะทำให้มีมิจฉาทิฐิ.....ความเห็นผิดได้ง่าย


O สติปัญญา เมตตากรุณา สำคัญยิ่งแก่ทุกชีวิต

       สติ ปัญญา และเมตตา กรุณา เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของทุกคน เป็นสิ่งช่วยให้คนเป็นคนอย่างสมบูรณ์ขึ้น งามพร้อมขึ้นจึงพึงเพิ่มพูนทั้งสติ ปัญญา และเมตตา กรุณา ซึ่งสามารถอบรมได้พร้อมกัน ให้เกิดผลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

       ก่อนจะพูดจะทำอะไร พึงมีสติรู้ว่าแม้พูดแม้ทำลงไป จะเกิดผลอะไรตามมา เป็นความเสียหายแก่ผู้ใดหรือไม่ ต้องใช้ปัญญาในตอนนี้ให้พอเหมาะพอควร พร้อมทั้งใช้เมตตากรุณาให้ถูกต้อง เว้นการพูดการทำที่จะเป็นเหตุแห่งความกระทบกระเทือนใจผู้ฟังโดยไม่จำเป็น

       พระพุทธเจ้าทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณา ทรงตั้งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาเพื่อจิตใจ ผู้เป็นพุทธศาสนิกพึงคำนึงถึงความจริงนี้ให้อย่างยิ่ง จะคิด จะพูด จะทำอะไร มีสตินึกถึงจิตใจผู้เกี่ยวข้อทั้งหลาย อย่าให้ได้รับความชอกช้ำโดยไม่จำเป็น


O ที่พึ่งของชีวิต อันไม่มีที่พึ่งใดเปรียบได้

       พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเพื่อจิตใจโดยแท้ เป็นศาสนาที่ทะนุถนอมจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจให้ห่างไกลจากความเศร้าหมองทั้งปวง อันจักเกิดแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง

       ศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้จริง ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าว่า ทรงมีพระหฤทัยละเอียดอ่อนและสูงส่งเหนือผู้อื่นทั้งปวง ความอ่อนโยนประณีตแห่งพระหฤทัย ทำให้ทรงเอื้ออาทรถึงจิตใจสัตว์โลกทั้งหลาย ทรงแสดงความทะนุถนอมห่วงใยสัตว์น้อยใหญ่ไว้แจ้งชัด

       สารพัดที่ทรงตรัสรู้อันจักเป็นวิธีป้องกันจิตใจของสัตว์โลก สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณาพร่ำชี้แจงแสดงสอนตลอดพระชนม์ชีพที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เช่นนี้แล้วไม่ควรหรือที่พุทธศาสนิกทุกถ้วนหน้า จะตั้งใจสนองพระมหากรุณาเต็มสติปัญญาความสามารถปฏิบัติตามที่ทรงสอน

       เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย ด้วยการแนะนำบอกเล่าให้รู้จัก ให้เข้าใจว่า สมเด็จพระพุทธศาสดานี้ทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณาจึงทรงอบรมพระปัญญา จนถึงสามารถทรงยังให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นได้ เป็นที่พึ่งยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทั้งหลายได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีที่พึ่งอื่นใดเปรียบได้


O ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

พึงรำลึกในพระคุณและน้ำใจของพระพุทธองค์

       ทุกคนที่เคยประสบความขัดข้องในชีวิต ปรารถนาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างที่สุด เมื่อมีผู้ใดมาให้ความช่วยเหลือแก้ไขความขัดข้องนั้นให้คลี่คลาย.....ช่วยให้ร้ายกลายเป็นดี แม้มีจิตใจที่กตัญญูรู้คุณ ผู้ได้รับความช่วยเหลือด้วยเมตตา ให้ผ่านพ้นความมืดมัวขัดข้อง ย่อมสำนึกในพระคุณและน้ำใจ

       ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบแทน พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่เหนือความกรุณาทั้งหลายที่ทุกคนเคยได้รับมาในชีวิต แม้ไม่พิจารณาให้ประณีตก็ย่อมไม่เข้าใจ แต่แม้พิจารณาให้ประณีตด้วยดี ย่อมไม่อาจที่จะละเลยพระคุณได้ ย่อมจับใจในพระคุณพ้นพรรณนา


from : )

//www.dhammajak.net/book-somdej3/8.html




Free TextEditor


โดย: you4lucky วันที่: 29 ตุลาคม 2551 เวลา:14:48:10 น.  

 
ถูกต้อง
มนุษย์เป็นผู้ถูกความทุกข์ หยั่งเอาแล้ว จริงๆ ด้วย

ขอบคุณที่นำธรรมมาฝาก จ๊ะ


โดย: บ้าได้ถ้วย วันที่: 29 ตุลาคม 2551 เวลา:22:49:09 น.  

 
ขอบคุณทำนำมาแบ่งปันค่ะ


โดย: bow_relax วันที่: 30 ตุลาคม 2551 เวลา:14:36:31 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

you4lucky
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะคะ
Friends' blogs
[Add you4lucky's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.