Memento : คุณจัดระบบความคิดของตัวเองได้ดีหรือยัง?
Memento
คะแนน IMDB : 8.6/10 (165,096 votes) , ส่วนตัว : 9/10 คะแนน

บทความต่อไปนี้เป็นการแสดงถึงการดำเนินเรื่องของหนังเรื่องนี้ ซึ่งโดยปกติแล้ว เราจะต้องอ่านบทความจาก (1) - (15) แต่หนังเรื่องนี้เล่าย้อนไป-มา อย่างน่าปวดหัว ดูจบแล้วฝึกสมอง ฝึกจัดกระบวนการทางความคิด ได้ดีทีเดียว
ปล. มีข่าวว่า เคยมีผู้ที่ชมหนังเรื่องนี้แล้วทำให้ระบบสมองมีปัญหามาแล้ว เนื่องจากใช้การคิดมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นคนที่ดูไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ต้องไปคิดตามหนังมาก ปล่อยให้มันผ่านไป
Reviewed by: แกนชาย อันโตนี่
(15) ดังที่ผมพยายามจำลองวิธีการเล่า ของหนังเรื่องนี้ให้ได้สัมผัส โดยใช้รูปแบบเล่าย้อน จากย่อหน้าท้ายขึ้นบน ในส่วนของตัวอักษรสี ผมจึงอยากให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมอง เอาหนังเรื่องนี้ไปทำการทดลองวิจัยดูว่า จะทำอันตรายต่อการจัดระบบการคิด ของสมองคนดู ถึงขนาดสูญเสียตัวตนไปได้หรือไม่ หากดูติดต่อกันหลาย ๆ รอบ
(1)Mementoเป็นหนังสืบสวนซ่อนเงื่อน ที่สื่อเรื่องลึกซึ้ง ด้วยวิธียอกย้อนและซับซ้อน!!! จึงยากที่จะดูรอบเดียวรู้เรื่อง แต่ก็มีคุณค่าในการขบคิด เพื่อย้อนสำรวจตัวตนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อไม่ให้คุณเสี่ยงต่อการสูญเสียตัวตนอันบริสุทธิ์ขณะดูหนัง แล้วพลาดสิ่งที่หนังต้องการสื่อไป ผมขออธิบายสิ่งที่ควรรู้ ก่อนดูภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ วิธีการเล่าเรื่องของ Memento
(14) ผลพวงที่คนดูต้องรับบทหนักกว่าตัวละครก็คือ คนดูต้องกลับกระบวนความคิดของสมอง ย้อนตามหนังไปด้วย จนผมรู้สึกได้ถึงความปั่นป่วนในสมอง ขณะที่ดูหนัง เพราะหนังเล่าเรื่องด้วยวิธีที่ฝืนธรรมชาติ ของระบบคิดของมนุษย์ ดังที่ผมพยายามจำลองวิธีการเล่าของหนังเรื่องนี้ให้ได้สัมผัส โดยใช้รูปแบบเล่าย้อน จากย่อหน้าท้ายขึ้นบน ในส่วนของตัวอักษรสี
(2) วิธีการเล่าเรื่องของ Memento ถือได้ว่าเป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ แห่งการเล่าเรื่องที่น่าทึ่ง จนผมต้องให้คะแนนแป๊ะเจี้ยะในส่วนนี้ฟรี ๆ 1 ดาว หนังเล่าลำดับเวลาสวนทางกันเป็น 2 ทิศทาง เหมือนหัวลูกศรพุ่งเข้าหากัน ระหว่าง ภาพสีที่เดินย้อนจากอนาคต กับ ภาพแฟลชแบ็กขาวดำ ที่เดินหน้าจากอดีต มาบรรจบกัน ณ ปัจจุบัน
(13) ข้อมูลในความทรงจำระยะยาวนั้น ถูกเก็บไว้ในส่วนลึกของกลีบสมอง สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลายาวนาน และบรรจุข้อมูลได้มาก ตัวอย่างเช่น การที่เราจำเสียงเคาะโต๊ะได้ การที่เราจำตัวเองได้ เป็นต้น ปัญหาของคนดู อยู่ที่การใช้ความทรงจำระยะสั้นขณะดูหนัง เมื่อมาเจอกลวิธีการเล่า ที่สามารถทำให้คนดูมีสภาวะเสมือนสูญความทรงจำระยะสั้น เหมือนตัวละครเลนนาร์ด (กาย เพียรซ) นักสืบบริษัทประกันภัย ที่ต้องมาสืบหาตัวฆาตกรที่ฆ่าเมีย แต่คนดูไม่มี memento สำหรับบันทึกแบบเลนนาร์ด จึงค่อนข้างยากในการเข้าใจหนัง และผลพวงที่คนดูต้องรับบทหนักกว่าตัวละครก็คือ คนดูต้องกลับกระบวนความคิดของสมอง ย้อนตามหนังไปด้วย
(3) 1. ภาพแฟลชแบ็กขาวดำที่เดินหน้าจากอดีตสู่ปัจจุบัน (ผมจำลองการเล่าภาคขาวดำด้วยตัวอักษรปกติ ซึ่งเล่าจากย่อหน้าบนลงล่างตามปกติ) เป็นการเล่าเหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยเริ่มจาก เลนนาร์ด ตื่นขึ้นในห้องพักโรงแรม เมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่แล้ว
(12) ข้อมูลในความทรงจำระยะสั้น จะเก็บไว้ในเปลือกสมอง สามารถรักษาไว้ได้ในชั่วระยะเวลาอันสั้น และบรรจุข้อมูลได้จำกัด ตัวอย่างเช่น การจำหมายเลขโทรศัพท์ชั่วเวลาไม่กี่วินาที เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลในความทรงจำระยะยาวนั้น ถูกเก็บไว้ในส่วนลึกของกลีบสมอง
(4) เลนนาร์ด ตื่นขึ้นในห้องพักโรงแรม เมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่แล้ว เราจะได้เห็น เลนนาร์ดในภาคขาวดำนี้ พูดโทรศัพท์กับใครคนหนึ่ง เกี่ยวกับคนที่มีอาการเหมือนเขา คือ แซมมี่ แจนคิส (สตีเฟน โทโบโลวสกี้) ที่ปรากฎชื่อในรอยสักบนมือของเลนนาร์ดว่า "REMEMBER SAMMY JANKIS" [ยังงงไม่พอ ภายในภาพแฟลชแบ็กขาวดำ ยังมีการแฟลชแบ็กซ้อนเกี่ยวกับเรื่องของ แซมมี่ ที่เลนนาร์ดพูดถึงนี้ (การแฟลชแบ็กซ้อน ก็เหมือนกับเครื่องหมายวงเล็บซ้อนนี้)] ภาพขาวดำของเลนนาร์ด ก็คือ ภาพความทรงจำระยะสั้น ที่เลนนาร์ดลืมไปแล้ว ตลอดช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา
(11) จนกระทั่งมาหักมุมตอนจบ ได้อย่างขี้โกงที่สุดในโลก คือ หนังไม่เผยข้อมูลให้คนดูเห็นชัด ๆ แล้วค่อยหักมุมในภายหลังโดยที่คนดูไม่เฉลียวถึงสิ่งที่เห็นชัด ๆ นั้น เช่นในเรื่อง The Sixth Sense, Scream, Fight Club เป็นต้น แต่ Memento กลับใช้วิธีปกปิด ไปจนถึงปลอมแปลงข้อมูล เป็นเกมนักสืบที่ไม่แฟร์กับคนดู ซึ่งมี memento เพียงอย่างเดียวคือ สมอง การเก็บข้อมูลในความทรงจำของสมอง นั้นมีแตกต่างกันใน 2 รูปแบบ คือ ข้อมูลในความทรงจำระยะยาว กับข้อมูลในความทรงจำระยะสั้น
(5) ภาพขาวดำของเลนนาร์ด ก็คือ ภาพความทรงจำระยะสั้น ที่เลนนาร์ดลืมไปแล้ว ตลอดช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา มีความสำคัญ ในการเป็นตัวคั่นเหตุการณ์ ในภาพสีที่เล่าย้อนกลับนั้น ออกเป็นช่วง ๆ เหมือนกับช่วงละ 15 นาทีของความทรงจำระยะสั้น ที่เลือนหายไปของเลนนาร์ด
(10) แต่ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ไม่ยอมให้เครื่องมือกับคนดู เพื่อใช้จดจำพายุข้อมูลที่หนังโหมระดมป้อนใส่เราอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นจะว่าไปแล้ว คนดูไม่เพียงตกอยู่ในสภาวะเดียวกับเลนนาร์ด แต่อยู่ในสภาวะที่สาหัสยิ่งกว่า แถมหนังยังจงใจสร้างความสับสน จงใจเล่นเกมล่อหลอกให้เรางง ทั้งแอ็กติ้ง คำพูด ที่ดูแล้วราวกับว่าตัวละครกับผู้กำกับ สมคบคิดกัน จนกระทั่งมาหักมุมตอนจบได้อย่างขี้โกงที่สุดในโลก
(6) 2. ภาพสีที่เดินย้อนจากอนาคตสู่ปัจจุบัน โดยสมมุติจุดเริ่มต้นของอนาคตคือ เหตุการณ์ที่ เลนนาร์ด ยิง เท็ดดี้ (โจ เพนโตเลียโน) ตาย ในตอนเปิดหนัง ก่อนจะย้อนลำดับเวลา ไปเหตุการณ์ก่อนหน้านี้หนึ่งฉาก (ยังงงไม่พอ ช่วงเล่าย้อนนี้ ยังมีการแทรกภาพแฟล็ชแบ็ก ไปถึงสาเหตุที่ทำให้เขาสมองเสื่อมอีกด้วย) ภาพสีจะเล่าย้อนกลับทีละฉาก ๆ ควบคู่ไปกับภาพขาวดำที่เดินหน้าทีละฉาก ๆ
(9) แล้วเราจะจดจำตัวตนที่แท้จริงของเราได้อย่างไร ?สภาวะของเลนนาร์ด นั้นตรงข้ามของพระเอกในเรื่อง Groundhog Day ที่คนอื่นเสมือนถูกรีเซ็ทตัวตนใหม่สำหรับเขาทุก ๆ 1 วัน เขาสามารถหาประโยชน์จากคนอื่นในวันนี้ แล้วพรุ่งนี้คนนั้นก็ลืม แต่เลนนาร์ด เป็นผู้ถูกรีเซ็ทตัวตนใหม่ทุก ๆ 15 นาที เขาจึงถูกคนอื่นหาประโยชน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเดี๋ยวเขาก็ลืม ดังนั้น เลนนาร์ด จึงมีกล้องโพราลอยด์สำหรับจดจำคน และสถานที่ มีปากกาสำหรับจดโน้ตสิ่งที่ต้องทำ มีรอยสักสำหรับข้อเท็จจริง ที่ไม่ต้องการให้บิดเบือน วัตถุหรือข้อความ อันเป็นเครื่องมือเตือนความจำเหล่านี้ เรียกว่า momento แต่ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ไม่ยอมให้เครื่องมือกับคนดู เพื่อใช้จดจำพายุข้อมูลที่หนังโหมระดมป้อนใส่เราอย่างไม่หยุดยั้ง
(7) ภาพสีจะเล่าย้อนกลับทีละฉาก ๆ ควบคู่ไปกับภาพขาวดำที่เดินหน้าทีละฉาก ๆ เป็น 2 ทิศทางวิ่งเข้าหากัน ตัดสลับกันไปทั้งเรื่อง (โดยมีแฟลชแบ็กเป็นภาพสี เหตุการณ์ตอนเกิดอุบัติเหตุ แทรกเป็นระยะ ๆ) จนกระทั่งลำดับเวลามาบรรจบกัน แล้วหนังจึงเปิดเผยเงื่อนงำที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด
(8) หากมองในเรื่องเนื้อหา Momento สามารถกระตุ้นให้เราต้องตั้งคำถามเชิงปรัชญากับตัวเองว่า เราคือใคร ตัวตนของเราเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองหรือไม่ ความรู้สึก และความทรงจำของเรา ถูกบิดเบือนจากคนรอบข้างหรือไม่ เปลี่ยนไปจากตัวเราเองหรือไม่ แล้วเราจะจดจำตัวตนที่แท้จริงของเราได้อย่างไร
Create Date : 29 พฤศจิกายน 2550 |
|
3 comments |
Last Update : 4 ธันวาคม 2550 17:54:03 น. |
Counter : 3284 Pageviews. |
|
 |
|
เทียบกับ 21 Grams เรื่องไหนดูยากกว่ากัน