กรกฏาคม 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
12 กรกฏาคม 2556

รักร้าวๆของเจ้านาย ตอนสอง


            ใครๆคงจำได้ดีถึงข่าวคราวในปี 2001 ที่อดีตมหาดเล็กต้นห้องคนสนิท Paul Burrell ถูกตำรวจสก๊อตแลนด์ยาร์ดตามไปจับตัวถึงในบ้าน แจ้งข้อหายักยอกทรัพย์สินของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ หลังจากที่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุทางรถยนต์
            ข้อหานี้ ทางฝ่ายกรมวังในราชวงค์วินเซอร์ร่วมกันเป็นโจทย์พร้อมกับเหล่าพี่น้องในตระกูลสเปนเซ่อร์

            หลังจากที่ตำรวจได้บุกค้นบ้านพัก และได้ทำการรื้อค้น จนสามารถรวบรวมเข้าของเครื่องใช้ต่างๆ
            ที่มีทั้งรูปภาพ ซีดี จดหมาย กระเป๋าเดินทางขนาดย่อม ฯลฯ ได้มากถึง สามร้อยกว่ารายการ
            หลักฐานที่ได้เหล่านั้นทำให้ พอล เบอเรล ตกเป็นจำเลยทางขบวนการยุติธรรมทันทีอย่างไม่ข้อแม้ใดๆ
            และนอกจากนั้น เขาได้กลายเป็นไอ้ผู้ร้าย ที่ทรยศได้แม้แต่กับนายตัวเอง ต่อสายตาคนทั้งโลก
            ไม่มีใครเลยที่จะเสียเวลามาฟังข้อความจากปากคำของอดีตคนรับใช้ ที่พร่ำร้องว่า ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์
            ไม่มีใครเลยที่จะล่วงรู้เรื่องราวอันแสนยุ่งเหยิง และ ความไร้คุณธรรม ภายใต้หลังกำแพงวังเคนซิงตันหรือ แม้กระทั่งในพระตำหนักไฮโกรฟ

            และ..หลังจากที่พอล อดีตมหาดเล็กต้นห้องต้องต่อสู้ยืนหยัดเพื่อความถูกต้องในชั้นศาล จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว บ้านที่อยู่ก็เกือบถูกธนาคารยึด
            มาเรีย ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากซึ่งเป็นอดีตข้าหลวงรับใช้ในสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ ได้นำเครื่องประดับออกเร่ขาย อีกทั้งต้องยอมไปทำงานเป็นแม่บ้านเพื่อเป็นการหารายได้
            ความคับแค้นได้ประเดประดังเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่า เขาได้พยายามส่งจดหมายไปร้องขอความเป็นธรรม จาก องค์มกุฏราชกุมาร เจ้าฟ้าชาย ชารลส์
            เจ้าชายวิลเลี่ยม เจ้าชายเฮนรี่ อดีตเจ้านายเก่า ก็หาได้ผลอย่างใดไม่ นอกจาก ความว่างเปล่าไม่มีเสียงตอบรับใดๆกลับมา
            จนครั้งหนึ่ง..เขาเกือบตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองให้พ้นๆไปจากความอัปยศที่ได้รับ

            และในขั้นตอนสุดท้ายของคดี และในไม่กี่ชั่วโมงที่ศาลใกล้สรุปตัดสิน ทุกอย่างกลับพลิกผันไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะ สมเด็จพระราชินีเพิ่งทรงนึกขึ้นมาได้ว่า..
            พอล ได้รับอนุญาติจากพระองค์เองในการเก็บรักษาเครื่องใช้ส่วนตัวของเจ้าหญิงไดอาน่า
            ฉะนั้น..ด้วยพระเสาวนีย์ผ่านกรมวังลงมาถึงศาล..การตัดสินจึงกลายเป็นว่า
            พอลคือผู้บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาทั้งปวง ท่ามกลางความตะลึงงันและผิดหวังของเหล่าโจทย์ครอบครัวสเปนเซ่อร์ที่จ้องเตรียมพร้อมที่จะขย้ำเขาให้แหลกไปคามือ



            โดยเรื่องนั้นมีอยู่ว่า...
            หลังจากที่เจ้าหญิงไดอาน่า สิ้นพระชนม์ไปได้ไม่นาน
            พอลได้เข้ามาขอพบสมเด็จพระราชินีเป็นการส่วนตัวที่
            พระราชวังบัคกิ้งแฮม เพื่อที่จะทูลขอคำปรึกษาในเรื่องสิ่งของ เครื่องใช้ ที่เป็นของเจ้าหญิงที่ยังคงค้างอยู่ในที่พักคือ แฟลตพระตำหนักเลขที่ 8 และ 9
            ในบริเวณพระราชวังเคนซิงตัน
            (พอล คืออดีตมหาดเล็กต้นห้องของพระองค์มาก่อนที่จะขอย้ายไปทำงานรับใช้ให้กับเจ้าฟ้าชายชารลส์และเจ้าหญิงไดอะน่า)
            ในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลพระตำหนัก เขาทนเห็นพี่สาวทั้งสองของเจ้าหญิง คือ เลดี้ซาร่าห์ เลดี้เจน รวมทั้ง นาง ฟรานซ์ ชานด์ คีดด์ ผู้เป็นมารดา
            เข้ามาทำการรื้อค้นและหยิบสิ่งของออกไปโดยพลการ

            ที่สำคัญคือ นางฟรานเซส ได้ถือโอกาสเข้าไปที่โต๊ะทรงพระอักษรและทำการรื้อค้นจดหมายโต้ตอบต่างๆ รวมทั้ง เอกสารอื่นๆ
            ถือวิสาสะอ่านแล้วเลือกทำลายได้ทำการส่งเข้าเครื่องตัดไปเป็นจำนวนนับสิบๆฉบับ
            เขาจึงต้องรีบมาทูลให้ เพื่อถามว่าจะให้เขาได้ดำเนินการอย่างไร ต่อสิ่งของและจดหมายต่างๆที่เป็นเรื่องส่วนตัวและจดหมายโต้ตอบที่สำคัญอื่นๆ
            ที่ได้เหลือรอดพ้นและคงอยู่ในความดูแลของเขาในขณะนั้น

            สมเด็จพระราชินี ได้ตรัสย้อนถามว่า แล้วพอลคิดว่าจะแก้ใขเรื่องนี้ได้อย่างไร?
            เขาจึงทูลขอประทานอนุญาต เก็บรักษาด้วยตัวเอง เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ที่อาจใช้อำนาจของการเป็นพี่เป็นน้องเอาไปค้าหาผลประโยชน์ในทีหลัง
            สมเด็จฯ ทรงเห็นด้วย และประทานอนุญาตตามที่เขาขอในที่สุด

            เขาใช้เวลาทูลถวายรายงานถึงเรื่องราวอื่นๆถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจ้าหญิงไดอาน่าต่อสมเด็จพระราชินีในวันนั้นเกือบสามชั่วโมง กว่าจะกลับออกมาได้
            และด้วยความเห็นชอบนี้ คือที่มาของ สิ่งของหลายกล่องที่ถูกค้นพบในบ้านของเขา

            แต่ ที่ว่า สามร้อยกว่าชิ้นนั้น
            มันรวมไปถึงของขวัญต่างๆที่เขา และครอบครัว ได้รับตลอดเวลานับสิบปีที่เป็นข้าทาสรับใช้ของ
            เจ้าหญิงและพระโอรสด้วยความซื่อสัตย์

            หลังจากที่คดีเสร็จสิ้น พอลได้เสียความรู้สึกอย่างแรงในตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมา ที่เขาเปรียบเสมือนถูกลอยแพให้ประสบกับมรสุมโดยตามลำพัง
            ในช่วงตลอดชีวิตของเขาที่เป็นมหาดเล็กรับใช้เจ้านายทุกพระองค์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ มหาดเล็กรับใช้ส่วนพระองค์ให้กับเจ้าหญิงไดอาน่า
            เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คน ที่เป็นคนที่ได้ไปเห็น..ไปดูแลและอัญเชิญพระศพกลับมาจากฝรั่งเศส
            เจ้าชายทั้งสองพระองค์นั้น เขาก็เลี้ยงดูมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
            ความร้าวฉานระหว่างเจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์นั้น เขาก็ซึมซับอยู่เต็มอก
            จนสมเด็จพระราชินีได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น"อัศวิน" ให้แก่เขา ในการทำงานด้วยความซื่อสัตย์ มั่นคงต่อราชวงค์มาตลอด 20 ปี

            แต่ไฉน..ยามที่เขาถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม จนต้องเกือบติดคุกติดตะราง วิ่งขึ้นลงศาลเป็นเวลาแรมปี เจ้าฟ้าชายที่เคยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรกลับไม่เหลียวแล
            ทั้งๆที่พระองค์สามารถยืนยันในความบริสุทธิ์ของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะของต่างๆที่เขาถูกกล่าวหาว่าขโมยไปนั้น
            ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นของขวัญที่พระองค์
            ทรงประทานมาให้แทบทั้งสิ้น เช่น พวกซีดี หรือเกมส์ของเล่นต่างๆ จากเจ้าชายสองพระองค์ ,พวกรูปภาพฝีพระหัตถ์ และพระฉายาอื่นๆ จากเจ้าฟ้าชายชารลส์

            ถ้าไม่มีพระราชเสาวนีย์จากองค์สมเด็จพระราชินีในวาระจวนเจียนติดคุกเช่นนั้น เขาและครอบครัวจะทำอย่างไร?


            นี่คือสาเหตุหลักๆในการที่เขาได้เขียนหนังสือ The Royal Duty ออกมาตีแผ่ความจริง ให้โลกรู้ว่า
            เจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ สตรีที่เลอโฉม เพียบพร้อมไปด้วยทุกสิ่งที่โลกต้องอิจฉา..หากแต่ใครจะรู้ได้เล่า ว่า เบื้องหลังเบื้องลึกนั้น พระองค์เป็นสตรีที่โชคร้ายและน่าสงสารที่สุดในโลกเช่นกัน




หลังจากที่หนังสือได้ออกมาวางตลาดไม่นาน เสียงขานรับเกินความคาดหมายถึงขนาดอาจมีการรื้อฟื้นเบื้องหลังการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นขึ้นมาใหม่
            เพราะ จากจดหมายที่พระองค์ได้ทรงด้วยลายพระหัตถ์มอบให้พอลไว้ดูแล ได้นำออกมาเปิดเผยเป็นครั้งแรก
            พระองค์ได้ทรงเขียนไว้ถึงเรื่องอาจมีการลอบปลงพระชนม์จาก XXXXX โดยการใช้รถยนต์ให้ดูประหนึ่งอุบัติเหตุ เพื่อที่เจ้าฟ้าชายชารลส์ และคามิลล่าจะได้ครองรักกันได้ต่อไป
            และจดหมายปิดผนึกอื่นๆ ที่ว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้หรอกว่า พระองค์ทรงกรรแสงมากเพียงใด แต่ก็ตบท้ายไว้ว่า "ฉันจะไม่มีวันยอมแพ้อย่างเด็ดขาด"

            ชีวประวัติของเขานั้น น่าทึ่งนัก..จากเด็กบ้านนอกจนๆได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในพระราชวัง
            โดยเริ่มจากตำแหน่งพนักงานธรรมดา จนไปถึงมหาดเล็กส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระราชินี ซึ่งตลอดเวลานั้นมีเรื่องให้ต้องอ่านไป.ยิ้มไป..มากมาย

            เช่นเรื่องสิ่งที่สำคัญส่วนพระองค์ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชาววัง เรียงตามลำดับความสำคัญมากสุดไปจนถึงน้อยสุด
            คือ ม้า,สุนัข,พระสวามี,พระโอรสและพระธิดา
            การเขียนของเขานั้นมาจากเรื่องจริงที่เขาพบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
            แต่ความจริงที่เกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาว รวมไปถึงเรื่องชู้สาวอื่นๆนั้นทำให้ใครหลายคนที่เกี่ยวข้องแทบทนฟังไม่ได้ เพราะมันช่างเป็นการ"แฉ" แบบหมดเปลือกจนน่าอับอาย
            แม้แต่ เจ้าชายวิลเลี่ยม ได้ทรงออกมาโต้ว่า..
            "ช่างอกตัญญูอย่างเลือดเย็นเสียจริงๆ นายพอล เบอเรลล์เป็นแค่คนรับใช้ ไม่มีหน้าที่จะต้องมาอ้างว่าเขียนหนังสือขายเพื่อปกป้องพระเกียรติให้กับเสด็จแม่ หน้าที่นี้มันควรเป็นของเรา..สองพี่น้อง"
            ทันทีที่ที่ประโยคนี้ได้หลุดออกไป..พอลก็สวนกลับทันทีว่า..
            "ถ้าพระราชวงค์มีน้ำพระทัยช่วยเหลือตั้งแต่ทีแรก เรื่องราวก็ไม่บานปลายมาถึงขนาดนี้ เพราะอย่างไรเสียความจงรักภักดีของเขาที่มีต่อเจ้าหญิงนั้นมิได้ลดน้อยลงไปเลยแม้แต่นิด"




            และ พอล ได้ถามถึงในสิ่งที่อยู่ในใจเขามานานต่อหน้าสื่อทั้งหลายว่า
            "ในขณะที่เจ้าหญิงไดอาน่า ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจอย่างองค์เป็นเกลียว สร้างชื่อเสียงให้กับพระราชวงค์ พระองค์กลับได้รับแต่ความชอกช้ำจากเสียงตำหนิติเตียน รวมไปถึงการขัดขวาง รวมทั้งอุปสรรคต่างๆสารพัดจากคนวงในพระราชสำนัก
            แต่..ทีกับนาง คามิลล่า ปาร์คเกอร์ โบวลส์ ที่พยายามผลักดันอุ้มชูให้เป็นข่าวกันนักน่ะ หล่อนเคยสร้างคุณงามความดีอะไรมาหรือ?"


            จากหนังสือ{The Royal Duty}เล่มนี้ นักวิจารณ์หลายๆคนได้วิจารณ์ว่า ภาพพจน์ของคนอังกฤษที่มีต่อพระราชวงค์นั้นอาจเปลี่ยนไปในทางไม่ดีมากขึ้นไปกว่าเดิม
            อาจถึงขนาด"สิ้นศรัทธา"เลยทีเดียว
            เพราะในอดีตจากผลโพลล์ที่เคยถามประชาชนว่าในกรณีสวรรคตของเจ้าหญิงไดอาน่า เป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม
            หนึ่งในสี่เท่านั้นที่เชื่อว่า เป็นฆาตกรรม แต่ตอนนี้กลายเป็นเกินครึ่งไปแล้ว

            สื่อได้บอกว่า..ประชาชนแทบทั้งเกาะอังกฤษได้กลับมาเห็นใจและเข้าใจในความคับแค้นที่พอลได้รับ และแน่นอนว่า..พวกเขาเหล่านั้นได้มองเห็นตัวตนที่แท้จริงของเจ้าฟ้าชายชารลส์ ว่า ยามดีก็ใช้ แต่ยามมีภัยไม่ปกป้อง

            และผลสรุปของสื่อที่ออกมาตรงกัน ในเรื่องที่สมเด็จพระราชินีทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาโอบอุ้มในเกือบวาระสุดท้ายนั้น เพราะทรงเล็งเห็นแล้วว่า
            ขืนปล่อยให้พอลถูกกดดันมากกว่านี้ เขาอาจ"แฉ"เรื่องอื่นๆต่อไปที่เสียหายต่อราชวงค์แบบแก้ไขไม่ได้เลยทีเดียว เพราะ เพียงแค่เขาแย้มๆมาว่า
            มหาดเล็กคนหนึ่งถูก"ตุ๋ย"โดยหนึ่งในสมาชิกของพระราชวงค์ เล่นเอาเรียกเสียงฮือฮาจากนักข่าวไปทั่วโลก
            แต่จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะ ในหนังสือนั้นเรียบเรียงถ้อยคำที่แสดงออกถึงการเทิดทูนสมเด็จพระราชินีและพระสวามีเจ้าชายฟิลลิปอย่างน่าประทับใจ


            พอล เบอเรล นับว่าเป็นคนที่โชคดีกว่าใครอีกหลายล้านคนในสหราชอาณาจักรฯ เพราะ จากเด็กในครอบครัวชุมชนชาวเหมืองเมือง Derbyshire มาทำงานในพระราชวังเพียงแค่ไม่กี่ปี จนก้าวเข้ามาในอยู่ตำแหน่งของมหาดเล็กต้นห้อง คอยถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิดให้กับสมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธ

            เริ่มแรกนั้น..หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนทางด้านคหกรรมศาสตร์ (ด้านอาหารและจัดเลี้ยง) และต่อด้วยวิชาการโรงแรม ในวิทยาลัยประจำเมืองจนจบหลักสูตรแล้ว..เขาก็พร้อมที่จะออกไปหางานทำตามที่ได้ร่ำเรียนมา
            เป้าหมายสองแห่งที่เขาได้ไปสมัครงานในการเป็นบันไดไต่เต้าขั้นแรก นั่นก็คือ.. Cunard ที่เป็นองค์กรบริหาร เรือสำราญท่องสมุทร QE 2 ในแผนกจัดเลี้ยงบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม

            และเป้าหมายที่สองคือ..สำนักงานในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม ในแผนกพนักงานรับใช้ทั่วไป ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ มักต้องใช้คนงานมากมายหลายร้อย มีการเปิดรับสมัครอยู่ตลอดเวลา
            วันที่เขาได้มีโอกาสได้เดินผ่านพ้นเขตพระราชฐานเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์นั้น เขาจำได้ว่า เขาอยู่ในชุดเสื้อสูทสีเข้มตัวเก่งด้วยอาการที่ยิ่งกว่าตัวลีบ..
            ยามที่ต้องเกินผ่านระเบียงที่ลาดด้วยพรมสีแดง ไปยังชั้นที่หนึ่งอันที่ที่ตั้งของสำนักงาน

            ผู้สัมภาษณ์ คือ Mr. Michael Timms รองหัวหน้าฝ่ายปกครองด้านบริการ..เพียงไม่กี่นาทีที่ประจันหน้า เขาก็รู้ได้เลยว่า
            งานที่เขาเฝ้าใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กนั้น มันหลุดลอยหายวับไปกับตา
            เพราะผู้สัมภาษณ์ถามเขาด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่ชาเย็นว่า..
            "คุณบังอาจนั่งลงก่อนได้อย่างไร..ในเมื่อผมยังไม่ได้เชื้อเชิญ" เพราะด้วยความประหม่า เขาจึงลืมไปสนิท และ..
            "คุณไม่รู้จักการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่บ้างหรืออย่างไร?" เพราะเขาลืมลงท้ายประโยคด้วยคำว่า " Sir."
            และทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เขาได้คาดไว้ คือ สองอาทิตย์ต่อมา จดหมายจาก สำนักงานในพระราชวัง
            ด้วยข้อความว่า..ยังไม่มีงานที่เหมาะสมให้ในตอนนี้

            ส่วนทางเรือเดินสมุทร QE 2 ก็เงียบ....ไม่มีข่าวคราวจากองค์กร Cunard ตอบกลับมาแต่อย่างใด



            เขาจึงใช้เวลาว่างระหว่างนั้นไปหางานทำในกลุ่มโรงแรมเล็กๆ เพื่อเป็นการฆ่าเวลา
            จนกระทั่ง..ในฤดูหนาวของปีเดียวกันนั้น คือปี 1976 เมล์มาพร้อมกันถึงสองฉบับ..เพียงแต่ฉบับที่เรียกตัวจากเรือ QE 2 นั้น แม่ของเขาแอบเอาไปซ่อนไว้ เพราะเธอไม่ต้องการให้เขาต้องเดินทางไกลรอนแรมจากบ้านนานนับเดือนนับปี
            เหลือเพียงแต่ จดหมายตอบรับการเข้าทำงานของเขา จาก พระราชวังบั๊คกิ้งแฮม



            งานแรกที่ได้รับมอบหมาย คือ พนักงานรับใช้ทั่วไป ที่มีดูแลเสื้อผ้า ขัดเงากระดุมเครื่องแบบของมหาดเล็กหลวง
            และเพียงไม่กี่เดือนต่อมา เขาได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นพนักงานช่วยเสริฟในยามที่มีการจัดเลี้ยง

            เขาจำได้ดีว่า..ในครั้งแรกที่เขาได้มีโอกาสเสริฟน้ำชาแก่หมู่พระราชวงค์นั้น เขาประหม่าจนแทบยืนไม่อยู่ ทั้งๆที่หน้าที่เขาเพียงแค่ยืนระวังตรง ในมือถือถาดน้ำชาเพียงอย่างเดียว มหาดเล็กเสริฟทำหน้าที่นำไปรินถวาย

            เขาต้องท่องจำคำตักเตือนที่ถือเป็นกฏเหล็กให้อยู่ในสมองไปมา..ว่า.ห้ามสบพระเนตร หรือ จ้องพระพักตร์พระองค์ใดเป็นอันขาด !!
            ซึ่งพนักงานทุกคนต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

            จนไม่นานต่อมา โชคได้เป็นของเขาอีกครั้ง ในการเลื่อนขั้นไปเป็นมหาดเล็กรับใช้ในพระราชฐาน ซึ่งเขาต้องเริ่มฝึกหัดงานและเรียนรู้ในกิจวัตรประจำวันเพิ่มเติม
            เช่น..นาฬิกาปลุกนั้นเป็นของ"ต้องห้าม" ในพระราชวัง เพราะ นี่คือหน้าที่ของมหาดเล็กที่ต้องทำหน้าที่ของตัวต่อจ้าวนายตามเวลาเป๊ะ เช่น
            เวลาปลุก คือ เวลาที่มหาดเล็กรับใช้ต้องเชิญเครื่องเสวยเทียบพระแท่น และถ้ายังไม่ตื่นบรรทม ขั้นตอนต่อไปคือ เดินไปรูดพระวิสูตรให้มีแสงสว่าง
            เข้ามาในห้องอันเป็นสัญญาณเตือน
            จากนั้นก็เตรียมเครื่องสรง เรื่องนี้ได้มีเล่าว่า หลอดยาสีพระทนต์ของเจ้าฟ้าชายชารลส์จะมีกุญแจที่ทำเป็นรูปขนนก(อันเป็นสัญญลักษณ์แห่งเวลส์)
            ที่ใช้สอดคีบเข้าที่ปลายหลอดเมื่อยามจะใช้ก็หมุนกุญแจ(ซึ่งคล้ายกับกุญแจของที่เปิดปลากระป๋อง) ยาจะออกมาในจำนวนพอดีกับแปรงสีพระทนต์
            และเตรียมเครื่องทรง พร้อมฉลองพระบาท ให้เรียบร้อย

            หน้าที่และการปฏิบัติงานของมหาดเล็กรับใช้และมหาดเล็กต้นห้องทั้งหมด ขึ้นตรงกับกรมวังหรือ Lord Chamberlain เป็นผู้ควบคุมดูแลตารางการทำงานให้ตรงกับพระราชกรณียกิจในแต่ละวัน
            และเพียงสองปี..เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกครั้ง อันถือว่าสูงสุดของการเป็นมหาดเล็กรับใช้ นั่นคือ เขาถูกเลือกให้ประจำหน้าที่ถวายงานรับใช้ประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธ


            พอลเล่าว่า สมเด็จพระราชินี ทรงทำพระองค์แบบธรรมดาที่สุดกับข้าราชบริพาร
            วันใดก็ตามที่ต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
            ลิฟท์ส่วนพระองค์จะเปิดออกที่ชั้นล่าง.. พร้อมกับการถวายความเคารพจากนางพระกำนัลและหมู่มหาดเล็กที่ยืนคอยรับเสด็จอย่างเป็นงานเป็นการ
            แต่ยามที่เสด็จกลับเข้ามา..พระองค์มักยืนรีรอที่หน้าลิฟท์ คอยเล่าเรื่องสนุกๆที่ได้ไปพานพบในวันนั้นกับผู้ที่คอยรับก่อนเสด็จขึ้นสู่ที่ประทับชั้นบนเสมอๆ

            ครั้งหนึ่งในหน้าที่ของเขาระยะแรกๆ..
            เขาถึงกับตกใจเมื่อยามที่เข้าไปถวายพระสุทธารสในห้องทรงพระอักษร และพบว่า พระองค์ประทับทรงงานแต่บนพระเศียรนั้น ทรงพระมหามงกุฏแห่งอังกฤษที่มีแสงเพชรเจิดจ้า ส่งประกายระยิบระยับไปทั่วห้อง

            แต่ทรงฉลองพระองค์ลำลอง แถมรองพระบาทนั้นเป็น"แตะ"สีชมพูที่มีขนปุกปุย
            เขายืนมองและนึกขันในใจ
            จนพระองค์ต้องมีกระแสรับสั่งว่า
            "เธอยิ้มอะไรหรือ พอล"
            เขาจึงได้สติ ทูลไปว่า.."อยากให้พระองค์ได้ทรงเห็น ในภาพที่กระหม่อมได้เห็นอยู่ในเวลานี้พะยะค่ะ"

            สาเหตุนั่นคือ สมเด็จพระราชินีมักต้องเตรียมการซ้อมให้เคยชินการส่วนพระองค์ก่อนเสด็จเต็มยศในงานรัฐสภาประจำปีเสมอๆ
            เพราะพระมหามงกุฏนั้นมีน้ำหนักเท่ากับถุงน้ำตาลหนักหนึ่งปอนด์สองถุงวางซ้อนอยู่ด้วยกัน..

            หน้าที่ประจำวันของเขานั่นคือ เวลา 7 โมงเช้า เขาจะต้องพาคุณสุนัขพันธ์คอร์กิทั้งเก้าออกเดิน คุณๆเหล่านั้นเป็นตัวเมียเสียแปด คุณตัวผู้มีเพียงตัวเดียว
            และต้องพากลับก่อนเวลาแปดโมงเช้า เพาระนั่นคือเวลาที่ต้องส่งคุณๆทั้งเก้าเข้าพบสมเด็จพระราชินีในห้องบรรทมพร้อมกับถาดเครื่องเสวย

            เวลา 9 โมงเช้า คือเวลาที่เขาต้องรับคุณๆทั้งเก้าที่ค่อยโผล่ออกมาทีละตัวจากประตูห้องพระบรรทม และออกพาเดินเพื่อออกกำลังอีกครั้ง
            การพาสุนัขหลายตัวเดินนั้น..ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะพละกำลังของพวกคุณๆรวมกันช่างมหาศาลใช่ย่อย



            ครั้งหนึ่งในฤดูหนาว ที่ทางเดินปกคลุมไปด้วยหิมะ ขณะที่กำลังกึ่งยื้อกึ่งยุดเล่นชักเย่อกับพวกคุณๆนั้น เขาเสียหลักลื่นล้มหลังฟาดจนหมดสติไปนานเท่าไหร่ไม่มีใครรู้
            หากแต่..ทันทีที่เขาได้ฟื้นรู้สึกตัว..ลืมตาขึ้น เขาก็พบกับ พระพักต์ของสมเด็จพระราชินี ตามด้วยเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ซึ่งพระองค์ตรัสถามด้วยความห่วงใยว่า
            "พอล...พอล..เธอเป็นอะไรมากไหม?"
            เขาจึงมาทราบว่า เขาหมดสติไปประมาณสิบนาที จนพระองค์ได้เสด็จมาพบ จากนั้นก็ทรงเรียกแพทย์หลวงมารับไปรักษา
            โชคดี..ที่มีมหาดเล็กคนอื่นๆไปตามพวกคุณๆทั้งเก้าที่วิ่งกระเจิดกระเจิงไปในหิมะกลับมาโดยปลอดภัยทั้งหมด !!


            เวลาที่ทรงพระสำราญของสมเด็จพระราชินี นั่นคือยามที่พระองค์ได้ดูแลพวกคุณๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่ทรงป้อนอาหารสู่ปากพวกเขาเรียงตัวด้วยพระหัตถ์
            มักเป็นของเหลือจากโต๊ะเสวย หรือภาพที่เขาเห็นจนชินตา นั่นคือ สมเด็จฯทรงเตรียมคลุกอาหารเข้าด้วยกันแบบผสมนั่นนิดนี่หน่อยก่อนที่จะแบ่งลงในกาละมังพลาสติกสีเหลืองเก้าใบ และทรงเรียกชื่อพวกคุณๆให้มาประจำตำแหน่งทีละตัว








            ในช่วงเวลาพระสำราญนี้ พระองค์มักเล่าเรื่องประทาน โดยมักขึ้นต้นว่า.."พอล เธอรู้ไหมว่า..มีเรื่องประหลาดนะ?" หรือ "พอล เธอรู้ไหมว่า เมื่อวานฉันไปเจอกับใคร?"
            หรือ "มีเรื่องตลกจะเล่าให้เธอฟังละ..พอล" หรือที่เด็ดสุด..ก็คือ "พอล..เธอรู้มั๊ย..ว่าม้าของฉันเข้าวินชนะเลิศที่..."

            อย่างครั้งหนึ่ง..ในเวลาอาหารของพวกคุณๆ พระองค์ทรงเล่าเรื่องที่น่าตื่นเต้นแห่งประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งประทาน ดังนี้ว่า
            " เธอรู้มั๊ยว่า..ฉันได้รับจดหมายจากคนหนึ่ง..ที่เขาเล่ามาว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าชารลส์ที่หนึ่งถูกบั่นพระเศียร ครั้งที่เกิดกบฏเมื่อปี 1649 (วันที่ 30 มกราคม 1649 ที่ หน้าลาน ปราสาท Whitehall))
            ในขณะนั้น..เศษชิ้นส่วนของกระดูกพระศอนี้ได้กระเด็นออกมา บรรพบุรุษของเขาเก็บได้และรักษาเอาไว้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน พวกเขาได้ส่งคืนมาให้ฉันด้วยละ"
            "แล้วพระองค์ทรงทำอะไรต่อไปกับของที่ส่งมาถวายพะยะค่ะ?" เขาถามด้วยความตื่นเต้น
            "ฉันคงทำอะไรไม่ได้ไปดีกว่า การที่ต้องส่งคืนให้กับเจ้าของที่แท้จริงน่ะซิ พอล..ฉันขอให้เจ้าหน้าที่เปิดหีบพระศพและเอาไปเก็บไว้รวมกัน"
            ทรงเล่าต่อว่า..พระเศียรได้ถูกเย็บกลับคืนที่ตั้งแต่ครั้งนั้น และสภาพการเก็บของหีบศพนั้นมิดชิดดีมาก ถึงขนาดที่ว่า พระมัสสุยังคงติดอยู่เชียวนะ"


            พระมัสสุ = หนวด



            เรื่องคุณๆทั้งเก้านี่มักมีเรื่องเล่าได้ไม่จบ
            เช่นเรื่องการกัดกันกับคุณๆสุนัขของเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ หรือ ของเจ้าฟ้าชายเอดเวิร์ด
            ซึ่ง ครั้งหนึ่ง คุณจอลลี่ ของสมเด็จพระราชินี ถึงกับต้องส่งโรงพยาบาลพร้อมทั้งการกลับมาด้วยการเย็บแผลที่ท้องถึงยี่สิบเข็ม
            ส่วนเขาและมหาดเล็กคนอื่นๆที่เข้าไปแยกการต่อสู้นั้น โดนไปด้วยคนละแผลสองแผล

            สมเด็จทรงได้รับข่าวนี้หลังจากเสด็จกลับจากการเลี้ยงกระยาหารค่ำ ..
            และนั่นคือ ครั้งแรกที่เขาได้เห็นพระองค์ทรงตกพระทัยจนเก็บพระอาการไม่อยู่
            แต่เพียงครู่ยามผ่านไป ทรงเสด็จกลับไปที่ห้องฉลองพระองค์และเสด็จกลับมาพร้อมกับยาแก้ปวดสองเม็ดที่ส่งประทานให้กับเขา
            ตรัสว่า.."นี่ยา พอล..ไปกินซะจะได้หายเร็วๆ"

            ยามที่พวกคุณๆเกิดดื้อขึ้นมา ส่งเสียงรบกวนพระโสต สมเด็จฯมีการตวาดกลับบ้างเหมือนกัน ซึ่งได้ผลอย่างเหลือเชื่อที่พวกคุณๆต่างทำหูตูบ นิ่งเงียบกริบกันไปตามๆกัน

            ยามที่ทรงงาน..ก็พวกคุณๆนี่อีกเช่นกันที่นอนกันระเกะระกะ ตรงโน้นตรงนี้ทั่วห้องไปหมด
            พระสวามี เจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอร์ก ต้องทรงก้าวพระบาทโหย่งๆข้ามตัวนั้นตัวนี้ เริ่มตั้งแต่เสด็จเข้าประตูมา ..พระองค์ถึงกับบ่นดังๆให้เข้าพระกรรณสมเด็จฯว่า
            "รำคาญเจ้าพวกนี้จัง..ทำไมต้องเลี้ยงกันมากมายอย่างนี้นะ?"
            สมเด็จฯตรัสตอบสวนทันทีไปว่า.."แต่..ที่รักคะ นี่มันเป็นของรักของหวงสุดสวาทขาดใจของฉันนะ"


            เรื่องขำๆในวังนั้นก็ไม่ใช่น้อย เช่นเรื่องการขโมยดื่มเหล้ายินของพนักงานซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ..
            ครั้งหนึ่งมหาดเล็กคนหนึ่งแอบเหลียวหน้าเหลียวหลังดูทิศทางลมเป็นอย่างดี ก่อนที่จะกระดกเหล้าเข้าปาก
            ทันทีที่หน้าแหงนขึ้นเพราะอาการสาดเหล้า ตาทั้งคู่ของเขาก็เจอกับสิ่งที่มองมาจากช่องหน้าต่างข้างบน
            นั่นคือ พระเนตรที่คมกริบของสมเด็จพระราชินี !!

            เจ้าหมอนั่นแทบสำลักเหล้าออกมาจากเดี๋ยวนั้น..แต่ก็ไม่ได้ทรงตรัสตำหนิอะไรเลยแม้แต่นิด นอกจากสายพระเนตรนั้นมีแววติติงอยู่หน่อยๆ
            เพราะพระองค์ทรงเข้าพระทัยดีว่า เหล่าคุณพนักงานและมหาดเล็กนั้นถูกปิดกั้นจากโลกภายนอกพอสมควร ก็ต้องมีการแอบหาทางออกกันบ้างในยามที่ปลอดคน

            แต่ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในพระตำหนักที่พระราชวัง
            แซนดริงแฮม..ที่ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่
            นั่นก็คือ ในระหว่างที่สมเด็จฯทรงเสด็จลงมาทำอาหารป้อนพวกคุณๆอยู่ที่ระเบียงห้องชั้นล่าง..ประตูได้เปิดผางออก พร้อมทั้งมหาดเล็กอาวุโสนายหนึ่งเดินเมามายตุเป๋ตุปัด แทบจะเหยียบลงบนหลังพวกคุณๆที่หมอบกันอยู่กระจัดกระจาย
            สมเด็จฯทรงยืนตะลึง ในพระหัตถ์ทรงถือช้อนส้อมเงินค้างอยู่อย่างครบครัน
            เจ้าหมอนั่นไม่ได้สติแม้แต่นิดเดียวว่า...ใครที่ยืนอยู่ตรงหน้า..แถมยังเรอออกมาเอิ้กหนึ่ง ก่อนเดินเป๋ออกไป..!!
            สมเด็จฯทรงทอดพระเนตรตามพร้อมทั้งเลิกพระขนงขึ้นนิดหน่อย และหันมาป้อนอาหารพวกคุณๆต่อเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
            นับว่ามหาดเล็กคนนั้นรอดตัว..โชคดีไป

            แต่ทีกับเขา..ไม่ยักกะโชคดีอย่างนั้นบ้าง
            ครั้งหนึ่ง เขาได้ยกถาดเหล้ายินออกจากพระที่ เพราะเข้าใจว่า พระองค์เสวยเสร็จแล้วและกำลังจะเสด็จไปเปลี่ยนฉลองพระองค์แต่ที่ไหนได้..นางพระกำนัลในห้องภูษามาลาได้มาเล่าให้เขาฟังว่า..
            สมเด็จฯทรงบ่นไปตลอดทางว่า..
            "ไอ้บ้า..ไอ้บ้านั่น มันยกเอาแก้วเหล้าของฉันออกไป..เพิ่งผสมเสร็จใหม่ๆด้วย..ทำทุเรศจริงๆเลย"


            เมื่อเดือน กันยายน 1980 สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ และพระราชวงค์ทั้งหมดได้เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบัลมอรัล
            พอลได้ตามไปถวายการรับใช้ด้วยตามหน้าที่

            ในเช้าของวันหนึ่งซึ่งเขาจำได้ดีว่าเป็นวันเสาร์ ณ.บริเวณพระตำหนัก เขาได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่งที่
            ดูท่าทางเหมือนกับพยายามมองหาทางไปยังห้องที่พัก เพราะว่าเธอผู้นั้นพยายามไล่สายตาไปยัง
            ป้ายชื่อที่ติดอยู่หน้าห้องที่มีประตูเรียงติดๆกัน
            เขาจึงเดินเข้าไปเสนอให้ความช่วยเหลือ และจำได้ดีว่า เธอคือ เลดี้ไดอะน่า แขกเชิญของเจ้าฟ้าชายชารลส์ โดยที่เธอกล่าวขอโทษขอโพยอย่างเกรงใจ
            เพราะความที่ไม่เคยชินกับสถานที่นี้มาก่อน
            ซึ่งพอลตอบไปว่า กรุณาอย่างเกรงใจ ถ้าต้องการอะไรเรียกใช้เขาหรือมหาดเล็กคนไหนก็ได้ ทุกคนยินดีเสมอ
            และเขาได้พาเธอกลับไปยังที่พักรับรองส่วนตัว..ที่จัดไว้ในชั้นล่าง
            เสร็จสิ้นแล้ว..เขาหันไปดูที่ป้ายชื่อหน้าประตูอีกครั้ง ก่อนที่จะหันหลังออกมา ป้ายนั้นเขียนว่า
            เลดี้ ไดอะน่า สเปนเซอร์ อย่างชัดเจน..

            และถัดจากห้องนั้นไปไม่กี่ก้าว ก็เป็นระเบียงไปสู่ห้องอีกห้องหนึ่งซึ่งป้ายหน้าห้องเขียนไว้ว่า
            “มกุฏราชกุมาร เจ้าชายแห่งเวลส์“
            พอลจำได้ดีว่า ในตอนนั้นมีเหตุการณ์ที่ค่อนข้างขลุกขลักนิดหน่อย กล่าวคือ
            พอลลีน ต้นห้องที่ได้รับการมอบหมายให้คอยรับใช้เลดี้ ไดอะน่า ได้หิ้วชุดราตรีสีดำเข้ามา
            พร้อมทั้งเปรยด้วยความเป็นกังวลว่า
            "แย่จริง นายหญิงของฉันเอาเครื่องแต่งตัวมาชุดเดียวนี่เอง แต่ต้องอยู่ที่นี่ถึงสามวัน จะทำอย่างไรกันดีละนี่?”

            เพราะ ในชีวิตในวังนั้น เพียงแค่ต้องรู้จักเรียกขานพระนาม,พระยศ, เวลาน้ำชา, การสนทนาเวลาร่วมโต๊ะเสวย,การแต่งตัวให้ถูกต้องแค่นี้สำหรับแขกเชิญเด็กสาวอายุเพียง 19 ปีที่มีสถานะเป็นแค่ครูโรงเรียนอนุบาลอย่างเลดี้ไดอะน่าก็นับว่าเป็นงานหนักหนาสาหัสเอาการอยู่แล้ว
            เรื่องเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการปรากฏตัวทุกครั้ง เธออาจนึกไม่ถึง
            แต่เผอิญว่า โชคดีที่ในสามวันของการเป็นแขกเชิญเกียรติยศครั้งนั้นมีอาหารเย็นแบบนั่งโต๊ะเพียงครั้งเดียว นอกนั้นเป็นการเลี้ยงแบบบาบีคิว ซึ่งใช้ชุดลำลองได้
            ตอนนั้นไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่า สุภาพสตรีผู้นี้ จะมากลายเป็น “เลดี้ได“ที่เป็นที่รู้จักกันก้องโลกในฐานะ พระคู่หมั้นของเจ้าฟ้าชายชารลส์ มกุฏราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรในเวลาไม่นานต่อมา


            ชาววังทุกคนต่างยังเชื่อว่า หญิงผู้โชคดีผู้นั้นน่าจะเป็น เลดี้ อามานดา พระญาติสนิทฝ่ายลอร์ด เมานต์แบตตัน ถึงกับมีการพนันขันต่อกันวุ่นวาย
            จวบจน ปลายปี 1980 เสียงของการต่อรองเริ่มโอนเอียง เมื่อเห็นว่า ช่างเครื่องทองประจำพระองค์ นายเดวิด ธอมัส
            ได้นำพระธำมรงค์มาให้เลือก เพื่อพิธีการหมั้นที่จะมีขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1981

            ขั้นตอนคือ สมเด็จพระราชินีเป็นองค์ชี้นำถึงความสวยงามเหมาะสม และส่งต่อเพื่อถามความคิดเห็นของเจ้าฟ้าชายชารลส์ ถ้าพระองค์เห็นดีด้วย
            นั่นคือ การเสร็จสิ้นของการคัดเลือกพระธำมรงค์
            ฝ่ายพระคู่หมั้น หรือ เลดี้ ไดอะน่า ได้แต่รับทราบ..
            ไม่มีส่วนรู้เห็นช่วยเลือกด้วยเลยแม้แต่นิด
            ซึ่งพระองค์เคยบ่นกับเขาในหลายปีทีหลังว่า..
            “ถ้าให้ฉันเลือก..ฉันไม่เอามาหรอกนะ ใหญ่โตเทอะทะขนาดนี้ ฉันชอบอะไรที่ดูเรียบและออกแนวเก๋มากกว่า“

            หลังจากพิธีการหมั้นเสร็จสิ้น ในฐานะพระคู่หมั้น เลดี้ได ต้องเข้ามาพำนักในพระราชวังบัคกิ้งแฮม เป็นระยะเวลาถึงห้าเดือน ก่อนที่จะมีพิธีอภิเษกสมรส
            ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น เจ้าฟ้าชารลส์ต้องเสด็จไปทรงภาระกิจที่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาหนึ่งเดือน
            ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่น่าอึดอัดยิ่งสำหรับคนที่เคยอยู่อย่างเสรี
            สิ่งเดียวที่เธอทำได้นั่นก็คือพยายามพาตัวเข้าใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชินีให้มากที่สุด

            อาทิตย์ละครั้งที่เลดี้ได ได้โทรสายในติดต่อไปยังฝ่ายราชเลขานุการในพระองค์พร้อมกับคำถามที่ว่า
            "ในวันนี้ สมเด็จฯทรงมีแขกร่วมโต๊ะเสวยหรือไม่คะ? "
            ซึ่งถ้าข้อความนี้ได้ผ่านถึงไปยังพระกรรณแล้วละก็ พระองค์มักตรัสตอบลงมาว่า
            “บอกไดอะน่าให้มาร่วมโต๊ะกับฉันได้เลย เวลา สองทุ่มสิบห้านะ“
            ซึ่งแน่นอนว่า อาหารมื้อนั้นๆย่อมฝืดคอเป็นธรรมดา เพราะความที่ยังไม่เคยชินต่อระบบและระบอบต่างๆ
            และ เลดี้ได ยังคงต้องขานพระนามอย่างเต็มยศเสมอ จนกว่าหลังจากพิธีอภิเษกฯแล้ว จึงจะได้รับอนุญาติให้เรียกว่า
            “มามา“ ส่วนเจ้าชายฟิลลิป ก็คือ“ปา“ เช่นเดียวกับพระโอรสและพระธิดาอื่นๆ


            สิ่งต่อไปที่เลดี้ไดต้องเรียนรู้ให้เข้าใจด้วยความหนักแน่น
            นั่นก็คือ ภาระและหน้าที่ที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งภายในและภายนอกของพระราชวังซึ่งสมเด็จพระราชินีนั้นทรงทราบเป็นอย่างดีว่ามันหนักหนาสาหัสมากมายขนาดไหน
            เพราะพระองค์ได้ผ่านและต่อสู้กับมันมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ และทรงเข้าใจไปเองว่า เลดี้ได ที่เกิดมาจากครอบครัวขุนนาง ใกล้ชิดกับพิธีการระเบียบแบบแผนในพระราชวังมากพอสมควร น่าที่จะปล่อยเดี่ยวได้
            ถึงกับตรัสว่า “เราเชื่อใจ ว่า คนที่จะมารับตำแหน่งเจ้าหญิงแห่งเวลส์อย่างเธอ ต้องทำได้เป็นอย่างดี"

            ก่อนพิธีอภิเษกฯเพียงสองวัน ทางสำนักพระราชวังบั๊คกิ้งแฮมได้จัดงานเลี้ยงรับรองแขกสำคัญระดับผู้นำประเทศประมาณหนึ่งพันคน
            พอลได้เขียนเล่าว่า ในบรรดาแขกสุภาพสตรีทั้งหมด คนที่สวยเด่นเป็นสง่าอย่างไม่มีใครเกิน แม้แต่ว่าที่เจ้าสาวอย่างเลดี้ไดก็หาเทียบรัศมีความงามได้ไม่
            นั่นคือ เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโค พระราชินีของเจ้าชายเรเนียร์ (ผู้ซึ่ง ในอดีตคือ ดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูด นามว่า
            เกรซ เคลลี่)

            เลดี้ได..รู้สึกชื่นชมและประทับใจตัวเจ้าหญิงเกรซมาแต่ไหนแต่ไร อีกทั้ง“ อดีต"ที่มายืนในจุดนี้ก็เกือบคล้ายๆกัน จึงชวนสนทนาขอคำปรึกษาถึงเรื่องภาระและหน้าที่ต่างๆที่ต้องมีตามมาในวันข้างหน้า
            เจ้าหญิงเกรซตอบว่า..“อย่าไปกังวลกับอนาคตเลย..ต่อไปต้องเจอกับสิ่งที่แย่ๆกว่านี้อีก ซึ่งเราต้องถือเป็นบทเรียนที่ค่อยเรียนค่อยรู้ไป"



            จากนั้นคือวันที่ 29 กรกฏาคม 1981 คือวันอภิเษกสมรสครั้งยิ่งใหญ่ เป็นวันที่ประชาชน 750 ล้านคนได้เปิดเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อเป็นสักขีพยานในความรักของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์
            เสียงเพลง God Save the Queen และ God Bless the Prince of Wales ดังกระหึ่มทั่วเกาะอังกฤษตลอดทั้งอาทิตย์นั้น

            การฮันนีมูนของคู่บ่าวสาวนั้นเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ ที่พระตำหนัก บัลมอรัล ที่ทั้งคู่ได้ทำองค์ตามสบาย เช่นการอ่านหนังสือ เดินเกี่ยวก้อยชมสวน
            ชวนเพื่อนๆมาจัดงานสังสรร เฮฮา

            เพียงแต่ในช่วงนั้น..เจ้าหญิงได้พบว่า กระดุมข้อพระกรคู่โปรดของพระสวามี เป็นอักษร รูปตัว C สองตัวใขว้กันอยู่
            ซึ่งคำตอบมีว่า เป็นของขวัญจากหญิงที่พระองค์“เคย“รัก และบัดนี้ก็คืออดีต เพราะ เธอได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว
            แน่นอนว่า เจ้าหญิงได รู้ได้ทันทีว่า หล่อนคือ คามิลลา หญิงผู้ที่มีเสียงซุบซิบอื้อฉาวคนนั้น
            และสิ่งเดียวที่ถือว่าเป็นการ“แก้ลำ“ นั่นก็คือ
            เจ้าหญิงได้สั่งทำตราประจำพระองค์
            ประทับในเครื่องทรงพระอักษรต่างๆ ด้วยตัวอักษร C
            ใขว้กับอักษร D ที่อยู่ใต้รูปมงกุฏอันเป็นสัญญลักษณ์

            หลังจากการอภิเษกในระยะสองปีแรก เจ้าหญิงไดพยายามที่จะมีส่วนรวมในกิจกรรมของพระสวามี หากแต่เรื่องการล่าสัตว์(กวางตัวผู้)อันเป็นประเพณีสืบทอดนั้น มันช่างโหดร้ายเกินไปสำหรับพระองค์
            เมื่อพูดถึงการ"ล่า" เจ้าฟ้าชายชารลส์เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในเรื่องนี้ทีเดียว
            พอลเล่าว่า ครั้งหนึ่งที่เขาได้ยินเสียงตะโกนเรียกให้ไปช่วย และรีบรุดลงไปพบกับเจ้าชายยืนอยู่กลางห้องโถง ฉลองพระองค์ในชุดตกปลา
            ในพระหัตถ์ทั้งสองมีปลาซัลมอนขนาดยักษ์อยู่ข้างละตัว และทรงตรัสว่า
            "เอ้า มารับไปที เอาไปให้พ่อครัวเตรียมทำเป็นอาหารเย็นนี้นะ" พอลพยายามรับปลาทั้งสองจากพระพัตถ์ แต่ก็ไม่มีความสามารถ เพราะตัวปลาลื่นไหลหล่นจากมือ หลุดแล้วหลุดอีก
            พระองค์ทอดพระเนตรแล้วเกิดความรำคาญ ตรัสว่า
            "เอ้า..ทำเลอะเทอะหมดแล้ว มานี่..จะสอนให้ถือ นี่ดูนี่นะ" แล้วพระองค์ก็ทรงสอนให้เขารู้จักเอานิ้วเกี่ยวเข้าที่เหงือกปลาหิ้วออกไปได้อย่างสะดวก

            และไม่ใช่เฉพาะกับเจ้าฟ้าชายชารลส์พระองค์เดียวเท่านั้น แม้แต่สมเด็จพระราชินีท่านก็ทรงคงไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิมของชาวสก๊อตในการ"ล่า"
            เช่นครั้งหนึ่ง ในฤดูกาลล่าสัตว์เช่นกัน สมาชิกพระราชวงค์องค์หนึ่งได้กลับออกมาจากป่าตามเวลาที่จะต้องร่วมโต๊ะเสวย หากแต่ร่างของเขานั้นมีเลือดเปรอะเปื้อน
            เขาทูลพระองค์ไปตามความจริงว่า "กวางนั้นยังไม่ตาย หากแต่บาดเจ็บและหนีไปได้"
            สมเด็จจึงรับสั่งว่า "ถ้างั้นก็กลับไปตามหาเดี๋ยวนี้ จัดการให้เสร็จสิ้น อย่าไปทรมานเขา"
            เพราะความเชื่อถือในประเพณีที่ว่า นั่นคือ ล่าต้องล่าให้ตาย มิฉะนั้นจะเป็นการทรมานสัตว์อย่างแสนสาหัส
            สรุปว่า พระญาติผู้นั้นก็กลับออกไปป่าและต้องไม่กลับเข้ามาจนกว่าจะจัดการภาระกิจให้เสร็จสิ้น



            จากการถวายงานปฏิบัติรับใช้สมเด็จพระราชินีและพระสวามี เจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอร์คมาสิบเอ็ดปี
            พอลสามารถกล่าวได้ว่า
            องค์สมเด็จฯ แม้ว่าจะเป็นประมุขของประเทศก็จริง หากแต่พระสวามีนั้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน ทั้งสองพระองค์เป็นคู่ที่คอยเกื้อหนุนกันในทุกๆด้าน
            ต่างมีหน่วยงานที่ต้องดูแลเป็นของตัวเอง ไม่เคยสักครั้งที่เขาได้ยินเสียงทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดอกขัดใจเยี่ยงสามีภรรยาคู่อื่นๆ

            มิหนำซ้ำ ชีวิตส่วนพระองค์ภายในรั้วในวังนั้น เจ้านายสั่งงานที่แท้จริงนั้นคือ พระสวามี เจ้าชายฟิลลิป ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานเลี้ยงเล็กเลี้ยงใหญ่
            แบบลำลองหรือแบบเคร่งพิธีการ
            ถ้าใครลองทูลถามกับสมเด็จฯ พระองค์มักบอกปัดให้ไปถามกับพระสวามีแทบทุกครั้ง
            และ เจ้าชายฟิลลิป นั้น ใครต่อใครต่างก็รู้ดีว่า พระองค์ค่อนข้างเคร่งครัดเจ้าระเบียบมากมายขนาดไหน ถ้าใครทำอะไรไม่ถูกใจเป็นได้เกิดเรื่องใหญ่
            เหล่ามหาดเล็กนั้นต่างเคยโดนกริ้วด้วยเสียงสนั่นแบบฟ้าผ่า..หรือเคยโดนปิดประตูปึงปังใส่หน้ากันมาแล้วเป็นแถวๆ
            แต่กับพวกผู้หญิงฝ่ายในแล้ว..พระองค์มักไม่ค่อย"เคร่ง"สักเท่าไหร่

            ส่วนสมเด็จพระราชินีนั้น..สำหรับเขาแล้ว พระองค์ทรงมีความเมตตากรุณาประทานให้อย่างไม่มีสิ้นสุด นับตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาล
            หรือ การให้เกียรติต่อแม่ของเขาที่จัดว่าเป็นคนบ้านนอกให้เข้ามาร่วมงานคริสต์มาสในวัง หรือ แม้กระทั่งจัดงานแต่งงานอย่างใหญ่โตให้กับเขาและมาเรีย( ผู้ซึ่งเป็นพนักงานรับใช้เช่นกัน)
            ทรงเป็นเจ้าภาพโดยเชิญแขกที่เป็นเชื้อพระวงค์เกือบทั้งหมดให้มาเป็นสักขีพยาน ที่สำคัญทรงอนุโลมยกเว้นในกฏเหล็กของพระราชวังให้กับเขาเป็นกรณีพิเศษ
            และเป็นครั้งแรก
            นั่นคือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องลาออก คงยังอยู่รับใช้ถวายงานได้ทั้งคู่

            จนหลังจากที่เจ้าหญิงไดได้ทรงมีพระโอรสถึงสองพระองค์ คือเจ้าชายวิลเลี่ยม และ เจ้าชายเฮนรี่ แล้ว ในพระตำหนักไฮโกรฟอันเป็นที่ประทับใหม่ของครอบครัวเวลส์นั้นต้องการคนที่ไว้ใจมาช่วยดูแลถวายงาน เจ้าชายและเจ้าหญิงจึงขอให้เขาและมาเรียไปช่วยงานในฐานะพ่อบ้านแม่บ้าน โดยที่เจ้าฟ้าชายชารลส์ได้กราบบังคมทูลต่อสมเด็จด้วยองค์เอง

            ซึ่งประจวบเหมาะต่อสถานะของครอบครัวของเขาพอดี
            มาเรียต้องการมีที่พักเป็นสัดส่วนแบบครอบครัวเพราะเขาทั้งสองได้มีบุตรชายคนแรก ชื่อว่า Alexander Paul Burrell ที่ถือกำเนิดในปี 1985 ซึ่งก็ไล่เลี่ยกับ
            เจ้าชายเฮนรี่ที่ประสูติในปี 1984
            และการที่ครอบครัวเล็กๆของเขาจะไปตั้งต้นใหม่ในอาณาบริเวณของพระตำหนักไฮโกรฟ ก็นับว่าสะดวกด้วยประการทั้งปวง

            แต่การที่จะไม่ได้อยู่รับใช้สมเด็จพระราชินีนั้น เป็นเรื่องที่เขาทำใจได้ยากมาก
            หากแต่..พระองค์ได้เป็นฝ่ายตรัสว่า
            "ไปเถิด ไปทำงานช่วยเจ้าชายและเจ้าหญิง เพราะสักวันหนึ่งที่ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้ว เขาก็ต้องขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีแทน เธอก็ต้องวนกลับมาทำงานเดิมๆในที่เดิมๆอย่างนี้อีกนั่นแหละ และเธอจะได้มีความสุขอยู่พร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก..ไปเถอะ ฉันอนุญาต"
            ตอนนั้นคือ ปี 1987 ที่เขาได้เตรียมตัวเข้าไปทำงานที่พระตำหนักไฮโกรฟ แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างต่างๆถึงความระหองระแหงของเจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์เริ่มหนาหูขึ้น

            จนฝ่ายในที่ใกล้ชิดได้เรียกเขาไปถามถึงด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า แน่ใจมากน้อยแค่ไหนที่คิดจะเปลี่ยนเจ้านายในครั้งนี้ เพราะจากข่าวต่างๆที่เข้ามานั้นไม่ค่อยดี
            แต่..พอลได้ตอบกลับไปว่า มาถึงบัดนี้ เขาถอยออกไปไม่ได้อีกแล้ว นอกจากต้องเดินหน้าต่อไป !!







 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2556
1 comments
Last Update : 12 กรกฎาคม 2556 12:44:17 น.
Counter : 8364 Pageviews.

 

ขอบคุณคะ สนุกมาก รออ่านต่อนะคะ

 

โดย: xyzjung IP: 157.7.205.214 14 ตุลาคม 2557 11:18:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


WIWANDA
Location :
กรุงเทพ United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 99 คน [?]




[Add WIWANDA's blog to your web]