Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
27 กันยายน 2550
 
All Blogs
 

พึงละความโกรธ




พระพุทธภาษิต
โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ
สํโยชนํ สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตํ นามรูปสฺมิมสชฺชมานํ
อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ ทุกฺขา


คำแปล
บุคคลพึงละความโกรธ สละความถือตัว
ล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกถึง
บุคคลเช่นนั้น
ผู้ไม่ข้องในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล


อธิบายความ
๑. พึงละความโกรธ
ความโกรธเป็นอย่างไร รู้จักกันดีอยู่แล้ว ที่ทรงสอนให้ละความโกรธ ก็เพราะความโกรธมีโทษมาก - มีโทษตั้งแต่ตัวผู้โกรธเอง
และผู้ถูกโกรธ ที่มีโทษแก่ตัวเองนั้น เช่น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ทำให้น้ำย่อยอาหารไม่ออกมาตามปกติ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มือสั่น
ปากสั่น ขาดการควบคุมตน บางคนควบคุมตัวเองไม่ได้เลย ผลที่ออกมาคือการด่า การทุบตี หรือประหารผู้อื่น เมื่อกระทำลงไปเช่นนั้น
แล้ว พอหายโกรธก็เสียใจ แต่ทำคืนไม่ได้เสียแล้ว อาจต้องถูกจองจำทำโทษเป็นเวลานานปี เสียชื่อเสียงเกียรติยศ เสียอนาคตอันควรจะ
รุ่งโรจน์
ความโกรธทำให้สติปัญญามืดมน ความโกรธเหมือนเมฆหมอกมาบังแสงสว่างคือดวงปัญญา สมดังที่พระศาสดาตรัสไว้ว่า
"อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โกโธ สหเต นรํ - เมื่อใดความโกรธครอบงำบุคคลแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมมืดมน" ดังนี้ เมื่อมืดมนก็เหมือนคนเดิน
ในที่มืดไม่รู้ทางควรเว้นหรือควรเดิน ตกหลุมบ่อ และถูกขวากหนามได้ง่ายเป็นอันตรายแก่ตนเอง นี่คือส่วนที่เป็นโทษแก่ตนเอง
ส่วนที่เป็นโทษแก่ผู้อื่นนั้น คือ เมื่อผู้โกรธไปด่าว่าเขาอย่างเจ็บแสบ หรือไปประหารเขา ย่อมทำให้เขาโกรธเคือง ก่อความทุกข์
ให้แก่เขา หากเขาต้องตายไปเพราะการประหารนั้น ลูกเมียของเขาก็เดือดร้อนประมาณมิได้ เรียกว่าก่อทุกข์ให้คนจำนวนมาก
มารดาบิดาของเขาก็พลอยเดือดร้อนด้วย ยิ่งรายที่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ลูกเมียเพียงตัวคนเดียวแล้ว พ่อแม่ลูกเมียของเขาจะได้ใครเลี้ยง
ลองคิดดูเถิดว่าคนเหล่านั้นจะลำบากสักปานใด แม้มารดาบิดาของผู้โกรธเอง ก็ย่อมจะถึงทุกข์โทมนัสหาน้อยไม่ เมื่อรู้ว่าลูกของตน
ต้องได้รับโทษทัณฑ์ ต้องติดคุกตะราง ไปลำบากยากแค้น
ความโกรธเป็นของไม่ดี ก่อทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นมากมายฉะนี้ ท่านจึงสอนให้ละเสีย ทรงแสดงอานิสงส์ว่าผู้ละความโกรธ
ได้แล้วย่อมนอนเป็นสุข และไม่ต้องเศร้าโศก ส่วนวิธีละความโกรธนั้น ท่านแสดงไว้มากในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จะขอยกมากล่าวพอได้ใจ
ความดังนี้
วิธีละความโกรธตามนัยวิสุทธิมรรค
(๑) ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธและเห็นคุณของขันติและเมตตาก่อน เพราะบุคคลจะไม่สามารถละสิ่งที่ตน
ยังไม่เห็นโทษได้
(๒) ให้แผ่เมตตาไปในตนและคนอื่นว่า ขอให้ตนมีความสุขและสรรพสัตว์ทั่วโลกจงมีความสุข ที่แผ่เมตตาให้ตนนั้น เพื่อให้ตน
เป็นพยานว่า ตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
(๓) เพื่อบรรเทาความแค้นเคือง พึงแผ่เมตตาไปยังบุคคลผู้เป็นศัตรูคู่เวรบ่อยๆ จนใจของผู้แผ่อ่อนโยนลง
(๔) ถ้ายังไม่หาย พึงระลึกถึงพระพุทธโอวาทในกกจูปมสูตรบ่อยๆ ข้อความแห่งกกจูปโมวาทนั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย หากโจรใจ
เหี้ยมพึงเอาเลื่อยมาเลื่อยเธอให้ขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ถ้าผู้ใดยังคิดประทุษร้ายโจรนั้นอยู่ ผู้นั้นยังหาชื่อว่าทำตามโอวาทเราไม่ -
"อนึ่ง ผู้ใดโกรธตอบ ผู้นั้นเลวกว่าผู้โกรธก่อน ผู้ไม่โกรธตอบ ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธตัวแล้ว แต่
ส่วนตนเป็นผู้มีสติสงบเสงี่ยมอยู่ ชื่อว่าประพฤติตนเป็นประโยชน์แก่คนทั้งสองฝ่าย คือทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น"
(๕) ทรงเปรียบคนขี้โกรธเหมือนฟืนเผาผี ที่ไฟติดทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ จะจับข้างทั้งสองก็ร้อน จะจับตรงกลางก็เหม็น
(๖) ถ้ายังไม่หายโกรธ ก็พึงระลึกถึงความดีของเขาบ้าง คือโดยปกติคนๆหนึ่งย่อมมีอะไรดีอยู่บ้าง แม้ไม่มากสักอย่างหนึ่ง
พึงระลึกถึงส่วนดีอันนั้นของเขา แล้วบรรเทความโกรธเสีย
(๗) ถ้ายังไม่หายโกรธก็พึงโอวาทตนบ่อยๆ (ถ้าเป็นพระ) ก็พึงโอวาทว่า สู้อุตส่าห์ละโลกียสุขทั้งปวงซึ่งเป็นสิ่งที่ละได้โดยยาก
มาแล้ว ไฉนจึงยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธเล่า ฯลฯ คนเป็นเวรกันทำทุกข์ให้ท่านที่กาย เหตุไฉนจึงลงโทษตนเองที่ใจเล่า
ความโกรธทำให้ใจของท่านเป็นทุกข์มิใช่หรือ? (ในข้อ ๗ นี้มีความละเอียดน่าสนใจมาก ยกมาเล็กน้อยพอเป็นตัวอย่าง)
(๘) ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่านสอนให้พิจารณาถึง กัมมัสสกตา คือความที่สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นของของตน ใครทำกรรมเช่น
ใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมเช่นนั้นเอง คือจักปรากฎด้วยกรรมของตนเอง เราเป็นผู้โกรธก็จักต้องได้รับผลแห่งความโกรธนี้เอง ฯลฯ
(๙) ถ้ายังไม่หายโกรธ ก็พึงอนุสรณ์ถึงพระจริยาของพระศาสดาที่เคยทรงลำบากมา เคยทรงทุกข์ทรมานเพราะการกระทำ
ของผู้อื่นมากมายหลายชาติหลายประการ แต่หาได้ทรงผูกโกรธหรือผูกเวรต่อผู้ใดไม่ เช่นสมัยที่ทรงเป็นช้างรักษาศีล ทรงยอมให้
พรานตัดงาถึง ๓ ครั้ง แต่หาได้มีใจประทุษร้ายในพรานนั้นไม่ ในข้อนี้ ท่านประมวลมาซึ่งจริยาของพระศาสดามากหลายในอดีต
เช่น สีลวชาดก เรื่องขันติวาทีดาบส จูฬธรรมปาลชาดก ฉัททันตชาดก เรื่องมหากบี่ (ลิงใหญ่) เรื่องภูริทัตตชาดก เรื่องจัมเปยยกนาคราช
เรื่องสังขปาลนาคราช เป็นต้น
(๑๐) ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่านสอนให้พิจารณาถึงความยาวของสังสารวัฏ ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ คนที่ไม่เคยเป็นมารดา บิดา
บุตรธิดา พี่ชาย พี่หญิง น้องชาย น้องหญิงและญาติสายโลหิตมิตรสหายเป็นไม่มี เขาเป็นศัตรูคู่เวรกับเราในชาตินี้ แต่ชาติก่อนๆ เขา
อาจเคยเป็นมารดาบิดาเป็นต้น ผู้มีอุปการะช่วยเหลือเกื้อกูลเรา บางทีอาจเคยยอมสละชีวิตเพื่อช่วยเหลือเราก็ได้
(๑๑) ถ้ายังไม่หายโกรธ ก็พึงระลึกถึงอานิสงส์ของเมตตาที่พระทศพลทรงแสดงไว้ ๑๑ ประการ มีหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เป็นต้น
(๑๒) ถ้ายังไม่หายโกรธอีก ท่านสอนให้แยกธาตุ คือ พิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา
มันเพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะโกรธอะไรเล่า
(๑๓) ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่าสอนให้เผื่อแผ่แบ่งปัน คือให้ของแก่ผู้ที่เราโกรธ หรือรับของที่เขาให้ หากทำได้ดังนี้ ความโกรธเกลียด
ย่อมระงับไปอย่างแน่นอน

ท่านแสดงอานุภาพของทานไว้ว่า
"ทานเป็นเครื่องฝึกคนที่ยังไม่ได้รับการฝึก ยังประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จ ทายกย่อมบันเทิงด้วยการให้ ฝ่ายปฏิคาหกย่อมนอบน้อม
ถนอมน้ำใจด้วยปิยวาจา"
ท่านจะเห็นว่า วิธีการของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ทันสมัยเพียงใด ข้าพเจ้าได้เคยอ่านตำราจิตวิทยาเกี่ยวกับผลร้ายของความโกรธ
และอุบายเอาชนะความโกรธมาหลายบทหลายสำนวน เห็นว่ามิได้เกินคำแนะนำที่ทางพระพุทธศาสนาได้ให้ไว้นี้เลย พระธรรมนั้นเป็น
สวากขาตธรรมจริงๆ

๒. พึงสละความถือตัว
ความถือตัวแปลมาจากคำว่า "มานะ" แปลอีกอย่างหนึ่งว่า ความทะนงตน ส่วนมานะที่คนทั่วไปใช้ เช่น "จงมานะพยายาม" นั้น
ไม่ใช่มานะที่กำลังพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นคำมีความหมายเพี้ยนไป คนไทยเข้าใจความหมายไปอีกทางหนึ่งว่า "พยายาม"
ท่านสอนไม่ให้มีมานะว่า สูงกว่าเขา เสมอเขา หรือต่ำกว่าเขา เพราะเมื่อถือตัวว่าเราสูงกว่าก็ทำให้ดูหมิ่นเขา เมื่อถือตัวว่าต่ำกว่า
เขา ก็อาจริษยาเขา หรือแสดงอาการน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อถือตัวว่าเสมอเขาก็อาจเป็นเหตุให้แข่งดีกัน แก่งแย่งกัน ชิงกันเป็นใหญ่หรือยกตน
ให้เด่น
ธรรมดามีอยู่ว่า ไม่มีใครที่สูงกว่าผู้อื่น หรือมีความรู้ความสามารถดีกว่าผู้อื่นโดยประการทั้งปวง อาจเป็นอย่างนั้นได้คือสูงกว่าหรือ
มีความรู้ความสามารถมากกว่าก็เพียงในด้านใดด้านหนึ่ง คือในบางเรื่องเท่านั้น เช่น ก. มีความสามารถกว่า ข. ในเรื่องดนตรี แต่ข. มี
ความสามารถมากกว่า ก. ในด้านงานเกษตร ดังนี้เป็นต้น แม้คนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เป็นนายเป็นลูกน้องของกันและกัน ก็มิได้หมายความ
ว่า นายจะมีความสามารถเหนือลูกน้องไปทุกด้าน นายอาจมีความสามารถในด้านบริหาร แต่เมื่อต้องพิมพ์หนังสือราชการ นายอาจสู้เสมียน
พิมพ์ไม่ได้หรือเมื่อต้องกวาดสำนักงาน ล้างส้วม นายอาจทำให้ดีเท่าภารโรงไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น
คนเรามีความรู้ความสามารถกันไปคนละอย่าง เมื่อรวมกันเข้าจึงนำภาระของสังคมไปได้ เปรียเหมือนอวัยวะน้อยใหญ่ในตัวคน
ทำให้คนเป็นคนอยู่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยามกัน ควรเห็นว่า ทุกคนทำหน้าที่ของตนเพื่อจรรโลงสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป
โดยปกติ สัตวโลกมีอัสมิมานะ หรือมานะ ด้วยกันทุกคน โดยปริยายเบื้องสูง หมายถึงความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา ตัวเรา หรือที่
ท่านเรียกตามสำนวนจิตวิทยาว่า "ปมเขื่อง - superior complex" พูดอย่างท่านแอดเลอร์ (นักจิตวิทยา ศิษย์ของซิกมันต์ ฟรอยด์) ก็ว่า
มีความรู้สึกที่จะทำตัวให้เด่น เมื่อใดการทำตนให้เด่นนั้น ถูกกีดขวางไม่ให้ดำเนินไป เมื่อนั้นปมด้อยก็เกิดขึ้น อันที่จริงปมด้อยก็มิใช่อะไรอื่น
มันคือปมเขื่องที่ลดลงนั่นเอง เหมือนความเย็นคือความร้อนที่ลดลง คนมีปมด้อยในเรื่องใด มิได้หมายความว่า ปมเขื่องในเรื่องนั้นของเขา
จะไม่มี แต่มีอยู่น้อย เราจะเห็นได้ว่า เมื่อไปเจอคนที่มีปมด้อยในเรื่องนั้นกว่า เขากลับแสดงปมเขื่องได้ทันที ตัวอย่างนักเรียนภาษาอังกฤษ
เมื่ออยู่ต่อหน้าครูผู้สอนภาษาอังกฤษ เขาจะรู้สึกด้อย เพราะความรู้ในภาษาอังกฤษของเขาสู้ครูไม่ได้ แต่พอลับหน้าครู ได้อยู่ในหมู่นักเรียน
ชั้นต่ำกว่า เขากลับมีปมเขื่องในเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะสามารถทำตนให้เด่นได้ อธิบายให้นักเรียนชั้นต่ำกว่าฟังได้อย่างภาคภูมิ นี่แสดง
ว่า ปมด้อยก็คือปมเขื่องที่ลดลงนั่นเอง
มิตรสหายที่คบกันอยู่ได้นาน และต่างถูกอกถูกใจกันนั้น ก็เพราะต่างฝ่ายต่างก็หล่อเลี้ยงอัสมิมานะ หรือปมเขื่องของกันและกันไว้ได้
ถ้ายิ่งฝ่ายใดยอมลดตนลงให้ ego ของอีกฝ่ายหนึ่งเด่นขึ้นมากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นที่รักที่ปรานีของฝ่ายนั้นมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าใครไปข่ม
อัสมิมานะ หรือปมเขื่องของเขาเข้าโดยที่เขาไม่ได้ยินยอมเอง เขาก็จะต้องเจ็บใจเห็นเป็นว่า ดูถูกันและต้องเลิกคบกัน ท่านจะเห็นว่า
มานะมีความหมายในชีวิตมนุษย์และสัตว์เพียงใด
ท่านพุทธทาส ภิกฺขุ (อินทปัญโญ) ได้กล่าวไว้ในเรื่อง "ปมเขื่องส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกรรมชั่ว" ตอนหนึ่งว่า
"อัสมิมานะ หรือความรู้สึกที่เป็นตัว "ปมเขื่อง" อันนี้เอง เป็นมูลเหตุอันสำคัญชั้นรวมยอดของการทำความชั่ว การทำความดี หรือ
ทั้งทำบุญและทำบาป แต่เป็นความตรงกันข้ามกับการเข้าถึงพุทธธรรมหรือนิพพาโดยตรง"
ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สละเสีย มันเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง สละเสียได้แล้วจะมีความสุข ดังที่พระองค์ทรงเปล่งอุทาน
เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ ว่า "อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ - สละอัสมิ มานะเสียได้นั่นแลเป็นบรมสุข"
คนที่ต้องทะเลาะวิวาทกัน ต้องรบราฆ่าฟันกัน ก็เพราะกิเลตัวนี้เป็นมูลเดิม ถ้าละมันได้อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ละได้
ก็จะมีความสุขอย่างยิ่ง ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยเรื่องของโลกใดๆ

๓. ล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย
สังโยชน์ แปลว่า กิเลสที่เกี่ยวเกาะหรือหน่วงเหนี่ยวสัตว์ไว้ในภพ ไม่ให้อิสระไปจาภพ ทรงแสดงไว้ ๑๐ ประการ เป็นเบื้องต่ำ
(โอรัมภาคิยะ) ๕ เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยะ) ๕ ดังนี้
สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ คือ
๑. สักกายทิฏฐิ - ความเห็นในตัวตน ความยึดมั่นในตัวตน
๒. วิจิกิจฉา - ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัย และในทางดำเนินให้ถึงนิพพาน
๓. สิลัพพตปรามาส - ความลูบคลำศีลและพรตหรือวัตร
๔. กามราคะ - ความกำหนัดในกาม
๕. ปฏิฆะ - ความหงุดหงิด กระทบกระทั่งทางใจ
๓ ประการแรกพระโสดาบันและพระสกทาคามีละได้ ๒ ประการหลังพระอนาคามีละได้

สังโยชน์เบื้องสูง ๕ คือ
๑. รูปราคะ - ความติดใจในรูปฌาน หรือรูปภพ
๒. อรูปราคะ - ความติดใจในอรูปฌาน หรืออรูปภพ
๓. มานะ - ความทะนงตัว ความถือตัว
๔. อุทธัจจะ - ความฟุ้งซ่าน
๕. อวิชชา - ความไม่รู้
๕ อย่างนี้ พระอรหันต์ละได้

คำว่าล่วงสังโยชน์ ก็คือข้ามพ้นสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ เมื่อข้ามพ้นแล้ว ย่อมไม่ข้องในนามรูป ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กังวลอีกต่อไป
ด้วยประการฉะนี้ ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงเขา ทุกข์ย่อมไม่ติดตามเขา ไม่เบียดเบียนย่ำยีเขา เรื่องนี้ พระศาสดาทรงแสดงแก่พระนางโรหิณี
พระญาติของพระองค์เอง มีเรื่องย่อดังนี้ :-


เรื่องประกอบ เรื่องพระนางโรหิณี
เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ สมัยนั้น พระอนุรุทธะเถระไปเมืองกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วย
ภิกษุบริวาร ๕๐๐ รูป พวกพระญาติทราบข่าวการมาของท่าน จึงพากันมาหาท่าน เว้นแต่พระนางโรหิณี พระเถระเมื่อไม่เห็นพระนาง
จึงถามพระญาติว่า พระนางโรหิณีไปไหน?
ท่านทราบจากพระญาติว่า พระนางโรหิณีไม่เสด็จมาเพราะความละอายที่เป็นโรคผิวหนัง พระเถระจึงให้เชิญพระนางมาและ
แนะนำให้ทรงทำบุญ
"ทำอย่างไรท่าน?" พระนางตรัสถามพระพี่ชาย (พระนางโรหิณีเป็นพระน้องนางของพระอนุรุทธะ มีพี่น้อง ๓ คนด้วยกันคือ มหานาม
อนุรุทธะ และโรหิณี ทรงเป็นพระราชโอรสธิดาของอมิโตทนะ พระอนุชาของพระจ้าสุทโธทนะ)
พระเถระจึงบอกอุบายให้ว่า ให้สละเครื่องประดับออกจำหน่าย ได้เงินมาเท่าใดให้นำมาทำโรงฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ ขอให้พระญาติ
ที่เป็นชายช่วยกันดำเนินการสร้างโรงฉันให้เรียบร้อย
พระนางโรหิณีขายเครื่องประดับได้กหาปณะมาหมื่นกหาปณะ ทรงสละให้สร้างโรงฉันทั้งหมด ทำเป็นสองชั้น เมื่อเสร็จแล้ว
พระนางได้ปัดกวาดโรงฉันเป็นประจำ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ถวายโภชนียขาทนียาหารแก่ภิกษุสงฆ์ โรคผิวหนังของนางค่อยๆ หายไปทีละน้อย
ด้วยอาศัยให้บุญช่วย
ต่อมาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก เสด็จมาเสวยที่โรงอาหารของพระนางโรหิณี เสวยเสร็จแล้วตรัสถามหาเจ้าของทาน
เมื่อพระนางโรหิณีมาเฝ้าแล้ว จึงตรัสถามว่า ทราบไหมว่าโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นนั้นเพราะอะไร? พระนางทูลตอบว่า ไม่ทราบ พระพุทธองค์
จึงตรัสว่าเกิดขึ้นเพราะความโกรธ
"หม่อมฉันทำกรรมอะไรไว้ พระเจ้าข้า?" พระนางทูลถาม
พระศาสดาจึงทรงแสดงปุพพกรรมของพระนางโรหิณี ดังนี้

ปุพพกรรมของพระนางโรหิณี
ความว่า ในอดีตกาล พระนางโรหิณีเกิดเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี มีจิตริษยาหญิงนักฟ้อนคนหนึ่งของพระราชา
จึงทำเองด้วย ให้คนอื่นทำด้วย ซึ่งกรรม คือการเอาผงเต่าร้าง หรือหมามุ่ยใหญ่ โรยลงที่ตัวของหญิงนักฟ้อนนั้น เป็นทำนองเย้ยหยันเล่น
และให้คนเอาผงเต่าร้างไปโปรยไว้บนที่นอนของหญิงนักฟ้อนนั้น
หญิงนักฟ้อนนั้นคันมาก เป็นผื่นพุพองขึ้นมาทันที ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส นี่คือปุพพกรรมของพระนางโรหิณี
พระศาสดาทรงเล่าเรื่องนี้แล้วจึงตรัสต่อไปว่า
"บุคคลพึงละความโกรธ พึงสละความถือตัวเสีย" เป็นต้น ตามที่พรรณนามาแล้วแต่ต้น
พระนางโรหิณี สดับพระธรรมเทศนาแล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล มีสรีระเกลี้ยงเกลาดังทองคำในขณะนั้นเอง จุติจากอัตตภาพ
นั้นแล้วไปเกิดในภพดาวดึงส์ เป็นเทพธิดาที่รูปงามมาก จนเทพบุตร ๔ องค์ต้องแย่งกัน ไม่อาจตกลงกันได้ จึงพากันไปหาท้าวสักกะ
จอมเทพแห่งชั้นดาวดึงส์ให้ช่วยตัดสิน ท้าวสักกะถามทีละองค์ว่ามีความรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นนา
องค์ที่ ๑ ทูลว่า ใจเต้นเหมือนกลองศึกยามสงคราม
องค์ที่ ๒ ทูลว่า ใจแล่นไปเร็วเหมือนกระแสน้ำที่ตกจากภูเขา
องค์ที่ ๓ ทูลว่า ตาของเขาเหมือนตาปู
องค์ที่ ๔ ทูลว่า ใจของเขาหวั่นไหวเหมือนธงบนยอดเจดีย์
ท้าวสักกะเห็นนางแล้วรักเหมือนกัน จึงกล่าวว่า "ความรู้สึกของท่านทั้งหลายยังพอระงับได้ก่อน แต่ฉันเอง ถ้าไม่ได้นางจะต้องตาย
เอาทีเดียว เพราะฉะนั้นจงให้ฉันเถอะ"
เทพบุตรทั้ง ๔ จึงพร้อมใจกันถวายนางแก่ท้าวสักกะ ปรากฎว่า นางเป็นที่รักที่พอพระทัยของท้าวสักกะยิ่งนัก

คัดจากหนังสือ ทางแห่งความดี
-----------------------------------------------------------------------




 

Create Date : 27 กันยายน 2550
8 comments
Last Update : 27 กันยายน 2550 9:23:18 น.
Counter : 906 Pageviews.

 

 

โดย: kampanon 27 กันยายน 2550 10:22:02 น.  

 

แวะมาเยี่ยมครับ

 

โดย: โทมัส IP: 203.150.192.176 27 กันยายน 2550 21:57:24 น.  

 

จะเข้ามาขอบคุณที่เข้าไปอวยพรวันเกิดที่บ้านนะคะ ขอให้มีความสุขมากๆเช่นเดียวกันค่ะ

 

โดย: This road is mine 28 กันยายน 2550 0:36:00 น.  

 

ยาวจังค่ะ ยังอ่านไม่จบเลย ค่อยมาอ่านใหม่นะคะ

 

โดย: เนระพูสี 28 กันยายน 2550 12:50:37 น.  

 


ขอบคุณค่ะ

สุขสงบนะคะ

 

โดย: ทิวาจรดราตรี 29 กันยายน 2550 20:41:55 น.  

 

แวะมาขอบคุณสำหรับคำอวยพร

และขอให้ จขบ. มีความสุขมากๆ เช่นกัน

และแวะมาชวนไปเที่ยวเมือง Ntg. ด้วยกันนะคะ

 

โดย: ข้ามขอบฟ้า 30 กันยายน 2550 4:44:46 น.  

 

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาทักทายกันค่ะ ขอให้บุญรักษาให้ทุก ๆ ท่านมีความสุขความเจริญนะคะ อ่านและฟังธรรมะกันค่ะ

 

โดย: ธิธารา 30 กันยายน 2550 16:34:52 น.  

 


 

โดย: M IP: 58.181.232.100 19 ธันวาคม 2550 14:17:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ธิธารา
Location :
สุโขทัย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add ธิธารา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.