Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
15 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
ศิลปะของการดับทุกข์ ตอนที่1 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ






..... แม้ว่าท่านได้มรณะภาพแล้ว.....แต่คำสอนท่านจะอยู่ในใจเราชาวพุทธตลอดไป.......
*************************************************
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา

วันอาทิตย์เป็นวันว่างจากงานฝ่ายกาย เราก็ชวนกันมาวัดเพื่อทำงานฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ กายกับจิตนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาความเหนื่อยกายก็เกี่ยวกับความเหนื่อยจิตด้วย จิตเหนื่อยกายก็พลอยเหนื่อยไปด้วย ร่างกายอ่อนแอ จิตก็พลอยอ่อนแอไปด้วย เราจึงต้องทำให้สมดุล คือให้เกิดความพอดี ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต แต่ว่าส่วนมากเรามักจะสนใจเรื่องของกาย ไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องทางจิตมากนัก เวลาไม่มีปัญหาอะไรไม่เป็นไร แต่ว่าเวลามีเรื่องมีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อไม่ได้เตรียมตัวทางใจไว้ ปัญหาที่เกิดนั้นมันก็รุนแรง

ความจริงเรื่องมันไม่รุนแรง แต่ว่าความรู้สึกของเรามันรุนแรงเพราะเราไม่ได้เตรียมรับสถานการณ์ไว้ก่อน เมื่อไรเกิดขึ้นมันก็เป็นความทุกข์หนักในชีวิต ดังที่เป็นอยู่แก่คนทั่วๆไป ที่ได้เกิดเป็นเช่นนั้นขึ้นมาก็เพราะว่าเราไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อนในเรื่องทางจิตทางวิญญาณ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร หรือมาแก้กันในปัญหาเฉพาะหน้าบางทีมันก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า

ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ต่อสู้มีการเตรียมตัว เช่นทหารก็ต้องเตรียมตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องฝึกการรบให้มีความเก่งกล้าสามารถ ให้รู้จักใช้อาวุธที่จะต้องใช้ เข้าใจยุทธวิธีในการที่จะต่อสู้ข้าศึก ฝ่ายเสนาธิการก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับสถานการณ์ไม่ใช่ไปเตรียมกันตอนที่มีข้าศึกประชิดเมือง แต่ต้องเตรียมแผนล่วงหน้าไว้ว่าเราจะทำอย่างไร ถ้าข้าศึกมาทางด้านนั้นมาด้านโน้นจะทำอย่างไรหรือว่าข้าศึกสมัยปัจจุบันนี้ไม่ใช่มันเดินเข้ามาเหมือนสมัยก่อน แต่ว่าเขาลอยมาในท้องฟ้า มากระโดดร่มลงไป ในบ้านในเมือง หรือมาทางเรือบินมาทิ้งระเบิด ก็ต้องเตรียมไว้ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรเมื่อเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น จะต่อสู้อย่างไร จะป้องกันอย่างไร ทุกอย่างต้องพร้อมเมื่อมีความพร้อม พอข้าศึกมารุกรานก็พอจะต่อสู้เอาตัวรอดได้ แต่ว่าถ้าไม่ได้เตรียมพร้อม เอาตัวไม่รอด ก็พ่ายแพ้แก่ข้าศึก บ้านเมืองก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่น อันนี้ที่เราเห็นได้ง่ายก็เพราะขาดการเตรียมตัว

ที่นี้เรื่องชีวิตของแต่ละบุคคล ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวไว้ให้พร้อมเมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเราก็มีความทุกข์หนัก ไม่รู้ว่าจะแก้ความทุกข์นั้นอย่างไรปัญหาเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องรุนแรงทั้งนั้นไม่รู้จะแก้อย่างไร แม้จะมาฟังพระเทศน์สอนให้คิดนึกในทางที่จะแบ่งเบาความทุกข์ทางใจ ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้หัดทำไว้ก่อน เหมือนนักมวยที่ไม่ได้ฝึกการชกไว้ก่อน ขึ้นไปบนเวทีก็ทำท่าไม่ถูกต้อง ฝ่ายที่เขาฝึกไว้ดีแล้ว ก็ชกล้มคว่ำคะมำหงาย นับสิบแล้วก็ยังลุกไม่ขึ้น อันนี้เป็นการเสียเปรียบ

ในชีวิตเราแต่ละคนนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเตรียมไม่พร้อมเราก็ต้องเสียเปรียบตลอดเวลา เสียเปียบแก่ข้าศึกที่มาโจมตีตัวเรา คือความทุกข์นั่นเอง ความทุกข์มาโจมตีเมื่อไหร่เราก็เสียเปรียบแก่ความทุกข์เพราะเรานึกไม่ได้ที่จะต่อสู่กับความทุกข์เหล่านั้น ไม่มีปัญญาที่จะคิดไม่มีสติที่จะนึกจะเตรียมตัวเพื่อการต่อสู้ อย่างนี้ในทางพระท่านถือว่าอยู่ด้วยความประมาท

อยู่ด้วยความประมาท ก็คือ ขาดการวางแผนในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ได้คิดไว้ว่าอะไรมันจะเกิด และเมื่อเกิดขึ้นเราจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไรไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน ก็ถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว เราอาจจะถูกข้าศึกโจมตีโดยไม่รู้ตัวบ่อยๆ พอถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว ก็กลับตัวไม่ทัน เกิดการตกอกตกใจ ขวัญหนีดีฝ่อ เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าในการที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้น นี่เป็นปัญหาเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราทั่วๆไปไม่ว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ก็ย่อมมีสภาพเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมในเรื่องอย่างนี้

“เตรียมพร้อม” ก็คือเตรียมหาธรรมะไว้ใช้เป็นเครื่องป้องกันตัวไม่ให้ตกไปสู่ภาวะแห่งความตกต่ำทางจิตใจ จึงต้องเข้าวัดฟังธรรมอ่านหนังสือทางศาสนา เพื่อให้เกิดความรู้ก่อน เมื่อมีความรู้แล้วก็ต้องเอาความรู้นั้นไปใช้ในชีวิตของเราต่อไป เอาไปใช้แก้ปัญหา

การเรียนการรู้กับการปฏิบัติ ต้องใช้สัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาเรียนรู้แล้วไม่ปฏิบัติ ก็เรียกว่ายังไม่เกิดประโยชน์แก่ตัวเราที่จะใช้ป้องกันความทุกข์ความเดือดร้อนไม่ให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนแล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ เช่นเรามาฟังธรรมก็ดี มาสวดมนต์ตอนเช้าตอนเย็นอะไรก็ตาม บทสวดมนต์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นบทเตือนใจให้เราได้คิดได้นึกถึงเรื่องธรรมชาติ ธรรมดาของชีวิต ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นมันมีการเกิดขึ้น เป็นอยู่ เป็นไปอย่างไรอะไรเป็นของเที่ยง อะไรเป็นของไม่เที่ยง อะไรเป็นสภาพอย่างไรต้องเตรียมตัวเอามาคิดมานึกไว้บ่อยๆ

เวลาสวดนั้นสวดรวมกัน แต่ว่าเราก็ต้องไปพิจารณาด้วยตัวเราเอง เป็นเรื่องเฉพาะคนที่จะต้องนั่งคิดนั่งนึกตรึกตรองในคำเหล่านั้นเช่น คำที่เราสวดว่า.....

รูปปาทานักขันโธ - รูปที่เข้าไปยึดถือนั้นเป็นความทุกข์...

เวทนูปาทานักขันโธ - เวทนาที่เข้าไปยึดถือนั้นเป็นความทุกข์..สัญญาที่เข้าไปยึดถือไว้เป็นความทุกข์... สังขารที่เข้าไปยึดถือไว้เป็นความทุกข์... วิญญาณที่เข้าไปยึดถือไว้เป็นความทุกข์... เราก็ต้องเอามานั่งคิดพิจารณาว่ามันเป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอุปาทาน

อุปาทาน นั้นหมายความว่า เข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา ที่สำคัญก็คือนึกว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ที่ท่านพุทธทาสพูดภาษาง่ายๆ ว่าตัวกู-ของกู ใครฟังแล้วก็นึกว่าเป็นคำที่ค่อนข้างจะเป็นชาวบ้านมากไปหน่อย แต่ว่าเป็นคำที่ง่ายที่สุดว่า ตัวกู-ของกู คนเรามี“ตัวกู”ก่อน แล้วก็มี“ของกู”ขึ้นมา ในภาษาบาลีเรียกว่า อหังการ มมังการ

อหังการ คือ สำคัญว่าตัวมีตัวเป็น สำคัญว่าตัวเป็นก่อน แล้วก็สำคัญว่าตัวมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ คือ มีตัวสำหรับรองรับแล้วมีอะไรเกิดขึ้น ตัวก็เข้าไปรับเอาสิ่งนั้น รับเอาว่าเป็นของฉันขึ้นมา อะไร ก็เป็นของฉันไปหมด นี่เราคิดไปอย่างนั้น ความคิดอย่างนั้นมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เป็นอุปาทาน คือ สร้างตัวยึดถือ ความยึดถือนั้นเป็นตัวอุปาทาน

ไม่ว่าเราจะไปยึดถืออะไร ที่นั้นมันก็จะทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้นมา เช่น ยึดถือในเรื่องปัจจัยเงินทองว่าเป็นของฉัน มันก็เป็นทุกข์เพราะเงินนั้น รถของฉัน บ้านของฉัน อะไรของฉัน มีมากมายหลายเรื่องหลายอย่างที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้น ถ้าเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉันเป็นของฉันขึ้นมาไอ้ตัวยึดถือนันแหละมันเป็นความทุกข์ขึ้นมาเพราะเกิดความยึดถือว่าเป็นตัวฉันเป็นของฉันแล้ว ก็เกิดความหวงแหนในสิ่งนั้นไม่อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างอื่น อยากให้เป็นของเราเสียตลอดเวลา ถ้ามันเป็นอื่นไปเราก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดว่าเป็นของฉันมันก็เกิดความทุกข์

เคล็ดของความทุกข์มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เราเข้าไปยึดมันถือมันในเรื่องนั้นๆให้สังเกตดูให้ดี สังเกตที่ใจของเรา ถ้าอะไรไม่ใช่ของเรา เราไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนอะไรหรือเราไม่ได้ยึดถือว่าเป็นของเรา มันจะแตกจะหักจะเป็นอะไรไปเราก็เฉยๆ เพราะไม่ใช่ของเรา

แต่ถ้าหากว่าเป็น“ของเรา”ขึ้นมา เข็มสักเล่มหนึ่งเราก็ยังเป็นทุกข์เพราะเข็มเล่มนั้น เพราะว่าเข็มเล่มนั้นเป็น“ของฉัน”เป็น“ของเรา”ขึ้นมา นี่แหละคือความยึดถือ ที่พระท่านสอนว่า...

รูปปาทานักขันโธ-รูปที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวทุกข์

ถ้ารูปเฉยๆ มันก็ไม่เป็นทุกข์แก่เรา แต่เป็นทุกข์ตามสภาพของมันหมายความว่ามันทนอยู่ไม่ได้ในสภาพอย่างเดียว มันต้องเปลี่ยนไปเพราะสิ่งทั้งหลายไม่เทียง มีความเปลี่ยนแปลง มีความทุกข์โดยสภาพ ไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง นั่นมันคือรูปเรื่องธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น

แต่ว่าคนเรามักจะหลงผิดเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆไม่ได้คิดในแง่ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ได้คิดในแง่ว่ามันเป็นทุกข์ ไม่ได้คิดในแง่ว่ามันเป็นอนัตตา แต่เราคิดว่ามันเที่ยง มันเป็นสุข มันเป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา แล้วเข้าไปยึดถือในสิ่งที่เป็นนั้น แล้วก็มีของอื่นเข้ามาประกอบทำให้ความยึดถือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามีเพียงอย่างเดียวก็ยึดถือน้อย ถ้ามีมากความยึดถือมันก็มากขึ้นตลอดเวดา

เด็กเกิดใหม่ๆ นี่คงจะไม่มีความยึดถืออะไรให้สังเกตดูเด็กตัวน้อยๆ เราจะเห็นว่าเขาไม่ได้ยึดถืออะไร ยังไม่มีความยึดมั่นในจิตใจ ยังไม่มีความรู้สึกอะไรมากนัก มีความต้องการก็น้อย คือต้องการนม พอดื่มนมเสร็จแล้วก็หลับไปเท่านั้นเอง หลับแล้วก็ตื่นขึ้น ถ้าไม่หิวก็นอนเฉยๆ ใครจะเข้ามาทำอะไรไม่มีอะไร นั่นคือสภาพเด็กอ่อน










Create Date : 15 ตุลาคม 2550
Last Update : 15 ตุลาคม 2550 10:48:13 น. 1 comments
Counter : 709 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ
มีเรื่องดีๆ มาอ่านอีกแล้ว
เราก็คิดถึงท่านเหมือนกันค่ะ เสียงของท่านยังแว่วอยู่ในหูเลยค่ะ


โดย: เนระพูสี วันที่: 15 ตุลาคม 2550 เวลา:12:52:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธิธารา
Location :
สุโขทัย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add ธิธารา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.