Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
 
9 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
สั่งแบน มือถือ 'บ้านเลขที่ 280' !!!

นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 111 คนถูกเรียกขานกันว่า "คนบ้านเลขที่ 111" วันนี้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ในตลาดไทยมากกว่า 280 รุ่นถูกเพิกถอนใบอนุญาต การเรียกว่า"มือถือบ้านเลขที่ 280"จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
       
       แต่ความแปลกอยู่ที่มือถือทั้ง 280 รุ่นวางขายในไทยมานานหลายปีแล้ว แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพิ่งจะมาเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่หลายคนบอกว่า "iPhone 4 ปลอม สองซิม ดูฟรีทีวีได้" กลับไม่ถูกลงดาบ
       
       ที่มาของความแปลกเหล่านี้กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อ กสทช. มีมติเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมจำนวนกว่า 280 รุ่นจาก 27 บริษัทตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผลจากการเพิกถอนทำให้ผู้ประกอบการที่ถือครองเครื่องใน 280 รุ่นที่ถูกประกาศ ต้องส่งคืน กสทช. เพื่อทำลายทิ้ง และห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายในประเทศไทย
       
       การจะตอบความเห็นเหล่านี้ต้องย้อนไปมองความจริงที่เกิดขึ้น ที่่ผ่านมา บริษัทไทยที่ต้องการนำเข้าเครื่องมาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย จะต้องยื่นหลักฐานเพื่อขอใบรับรองอุปกรณ์จาก กสทช. เพื่อเป็นใบอนุญาตในการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นนั้นๆอย่างถูกต้อง ทุกอย่างเป็นเช่นนี้มาตลอดกระทั่งช่วง 2 ปีหลัง กสทช. เริ่มตรวจสอบหลักฐานอย่างจริงจัง จนพบว่ามีโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์โทรคมนาคมในตลาดไทยที่ยื่นเอกสารผลทดสอบไม่ถูกต้องเกือบ 300 รุ่น แฝงตัวในตลาดให้คนไทยเลือกซื้ออย่างสนุกสนาน
       
       ถามว่าทำไมผู้ค้ามือถือจีนบางรายรอดพ้นพิษถอนใบอนุญาต ขณะที่บางรายมีชื่อสินค้าติดในรายการเพิกถอนใบอนุญาตมากเกือบ 10 รุ่น เรื่องนี้เป็นเพราะ กสทช. ได้ส่งสารเตือนผู้ผลิตเหล่านี้แล้ว บางรายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขณะที่บางรายไม่ดำเนินการใดๆ มหกรรมเชือดไก่ให้ลิงดูจึงเกิดขึ้น
       
       20 มิ.ย. 2555 กสทช. มีคำสั่งเพิกถอนใบรับรองโทรคมนาคม-อุปกรณ์ 280 รุ่นจาก 27 บริษัท เหตุเพราะ 27 บริษัทนี้ยื่นเอกสารผลทดสอบเท็จ เรื่องนี้ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยสาเหตุของการเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าว่าเป็นเพราะ กสทช. ตรวจพบการใช้รายงานผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการทดสอบของต่างประเทศ แต่ไม่ได้ออกโดยห้องปฏิบัติการทดสอบของต่างประเทศจริง
       
       ส่วนหนึ่งของ 280 รุ่นที่ถูกเพิกถอนนั้นเป็นมือถือเฮาส์แบรนด์ที่ชาวไทยรู้จักดีและได้รับความนิยมระดับหนึ่ง ทั้งแบรนด์อาม่า, แบรนด์เจโฟน (ของบริษัท เจมาร์ท) และแบรนด์ทีดับบลิวแซดซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่หลักร้อย โทรศัพท์มือถือบางรุ่นของแบรนด์เหล่านี้มีการปลอมแปลง-แก้ไข-เปลี่ยนแปลง-ลดทอน-แต่งเติมเนื้อหาข้อมูลในรายงานผลการทดสอบให้ผิดแผกจากต้นฉบับ
       
       ตัวอย่างเช่น บริษัทส่งโทรศัพท์มือถือให้ห้องปฏิบัติการทดสอบ 3 รุ่น แต่ส่งเอกสารเป็น 5 รุ่น เป็นต้น

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ฑิตพล จันทร์อุไร จากแบรนด์ไอ-โมบายที่ไม่โดนสั่งแบนสักเครื่อง
ฑิตพล จันทร์อุไร ผู้จัดการฝ่ายอำนวยการผลิตภัณฑ์ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย อธิบายว่าขั้นตอนการขอใบอนุญาตเพื่อจำหน่ายมือถือแต่ล่ะรุ่นในประเทศไทยนั้นมี 2 วิธีหลัก ทางแรกคือนำเครื่องที่จะนำเข้ามาจำหน่าย ส่งให้ กสทช. นำไปทดสอบ วิธีนี้ใช้เวลาในการขอใบอนุญาตค่อนข้างนาน ทำให้บริษัทส่วนใหญ่เลือกวิธีที่ 2 นั่นคือการขอใบอนุญาตโดยแนบรายงานการทดสอบผลิตภัณฑ์ (Test Report) จากห้องทดลองที่ได้มาตรฐาน ให้กับ กสทช. ซึ่งในส่วนนี้จะเสียเวลาน้อยกว่า เพราะ กสทช. จะสามารถตรวจสอบกับศูนย์ทดสอบว่ามีการทดสอบจริงหรือไม่เท่านั้น
       
       'การประกาศยกเลิกที่เกิดขึ้น ต้องดูว่าผู้ผลิตแต่ละรายนำผลทดสอบมาจากห้องทดลองที่ใด และห้องทดลองเหล่านั้นผ่านมาตรฐานของกสทช.ในการตรวจสอบอุปกรณ์ที่มีคลื่นความถี่ หรือตรวจสอบว่ามีการนำเครื่องรุ่นนั้นๆไปทดสอบจริงหรือไม่ ซึ่งทางกสทช. เริ่มตรวจสอบและแจ้งเรื่องนี้มากว่า 2 ปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ดำเนินการแก้ไข จนในที่สุดจึงสั่งห้ามจำหน่ายในประเทศไทย'
       
       ไอ-โมบายเป็นเฮาส์แบรนด์รายใหญ่ของไทยที่ไม่มีชื่อในบัญชีดำ 280 รุ่นของ กสทช. เช่นเดียวกับเฮาส์แบรนด์รายอื่นอย่างจีเน็ท ซึ่งทำตลาดมือถือจากจีนราคาประหยัดสไตล์เดียวกัน
       
       อย่างไรก็ตาม ฑิตพลเชื่อว่าในอนาคต เฮาส์แบรนด์เหล่านี้จะสามารถหาช่องทาง และทำตามขั้นตอนการขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้สามารถนำเครื่องรุ่นใหม่เข้ามาจำหน่ายได้ตามปกติ เท่ากับเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับดีลเลอร์ในระยะสั้น แปลไทยเป็นไทยคือการลงดาบของ กสทช.ในครั้งนี้จะไม่มีผล"ล้างบางมือถือจีนราคาประหยัด"หรือก่อเกิดผลกระทบในอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว
       
       ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเฮาส์แบรนด์ที่อยู่ในบ้านเลขที่ 280 นี้ไม่ใช่ผู้เล่นหลักในตลาด
       
       นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ถูกจัดระเบียบรวม 27 รายจะสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ได้ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งทางปกครอง ทั้งหมดมีทางเลือก 2 ทางคือ 1. ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้นำออกนอกประเทศภายใน 30 วัน (นับแต่วันที่ประกาศ 20 มิ.ย.) และ 2. ทำลายเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่มีในครอบครองขณะนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศเช่นกัน
       
       กสทช.ย้ำว่าการเพิกถอนใบอนุญาตครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำมือถือรุ่นดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายได้อีก พร้อมกับยืนยันว่า การเพิกถอนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพของโทรศัพท์มือถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่
       
       อ่านไม่ผิด ฟังก็ไม่ผิด กสทช.เพิกถอนใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 280 รุ่นในตลาดไทยเพราะเอกสารผิดไม่ใช่เพราะคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ 
       
       กสทช. ประกาศให้ผู้บริโภคยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ได้ตามปกติ แต่หากผู้ใช้พบปัญหาหรือได้รับผลกระทบจากการใช้งาน ก็สามารถดำเนินการร้องเรียนกับองค์กรผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ได้โดยตรง (สายด่วน 1200)
       
       ดังนั้นขอให้คนไทยอย่าตื่นตัดสินว่ามือถือเหล่านี้คือตัวอันตรายที่ต้องหนีให้ไกล แต่ใครที่ซื้อมาใช้งานแล้วจะต้องระวังไว้ด้วยเพราะเครื่องเหล่านี้มีความเสี่ยงไม่ได้ผ่านการทดสอบอย่างถูกต้อง เบื้องต้นสินค้าเหล่านี้มีการรับประกัน 1 ปีเหมือนโทรศัพท์ทั่วไป ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ตั้งเงื่อนไขไว้เพื่อเรียกความมั่นใจจากผู้บริโภค
       
       แต่ทุกอย่างล้วนมองได้หลายมุม ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยนำเข้าจากประเทศจีนพร้อมกับเอกสารรับรองจากคู่ค้าในจีน โดยหลายรายไม่ทราบว่าเอกสารตรวจสอบสินค้าจากห้องแล็บเป็นเอกสารปลอม จุดนี้ถือเป็นความผิดโดยสุจริตที่ต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง
       
       ตรงนี้ กสทช. ต้องคิดให้ได้แล้วว่า การตัดสินเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่ การให้ความรู้หรือสร้างมาตรฐานแก่ผู้นำเข้าโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเป็นเรื่องจำเป็นเพียงใด ขณะเดียวกัน กสทช.ก็ควรพิจารณาตัวเองว่าต้องปรับปรุงการทำงานให้มีความรวดเร็วฉับไวสมกับเงินเดือนที่ได้รับหรือเปล่า
       
       แม้ว่า กสทช. จะอ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่เมื่องมองในมุมกลับ การประกาศเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ 280 รุ่นในวันนี้สร้างความตระหนกให้คนไทย ส่วนใหญ่กังวลเรื่องคุณภาพ (ทั้งที่ กสทช. เพิกถอนเพราะเรื่องเอกสาร และระบุว่าไม่สามารถตัดสินเรื่องคุณภาพของสินค้าได้) แถมยังทำให้คนไทยมีตัวเลือกในตลาดมือถือราคาประหยัดน้อยลงไปอีก มีเพียงแบรนด์หลักไม่กี่แบรนด์ที่ไม่ได้รับผลกระทบ และเรียกว่าได้รับประโยน์จากการเพิกถอนใบอนุญาตครั้งนี้ไปเต็มๆ
       
       ขอให้เรื่องราวของ"มือถือบ้านเลขที่ 280"เป็นบทเรียนให้ กสทช. ปรับปรุงนโยบายทำงานที่คุ้มครองประชาชนให้มากขึ้น เพราะบอกตามตรงว่า การเพิกถอนครั้งนี้อาจไม่ได้เกิดประโยชน์ในมุมผู้บริโภคเลย หากกสทช.แค่เพิกถอนใบอนุญาตแล้วจบ แต่ถ้าเป็นปฐมบทของการกำกับดูแลให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อผู้บริโภคจริงๆ ก็ยังพอรับได้
       
       ***รู้หรือไม่
       
       - ปัจจุบันมีปริมาณการนำเข้าโทรศัพท์มือถือเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 16 ล้านเครื่อง
       
       - เพียงครึ่งวันของวันที่ กสทช. ประกาศมติต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ (3 ก.ค.) สถิติผู้บริโภคที่โทรเข้ามาสอบถามยังสายด่วน กสทช. 1200 ในประเด็นมือถือบ้านเลขที่ 280 มีจำนวนกว่า 20 ราย ส่วนใหญ่แสดงความจำนงต้องการคืนเครื่องโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ กสทช. ประกาศว่ามีปัญหา และขอเงินคืนจากเจ้าของแบรนด์ที่ซื้อมาใช้งาน



Create Date : 09 กรกฎาคม 2555
Last Update : 9 กรกฎาคม 2555 7:28:18 น. 0 comments
Counter : 974 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.